fbpx
ภาษามลายูกับการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาษามลายูกับการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2)

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

อ่าน ภาษามลายูกับการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1)

 

แม้ว่าในปัจจุบัน ภาษามลายูจะเป็นภาษาที่มีผู้พูดมากที่สุดในอาเซียน แต่ชะตากรรมของภาษามลายูในแต่ละรัฐชาติกลับแตกต่างกันออกไป ในบางประเทศภาษามลายูมีสถานะเป็นภาษาแห่งการรวมชาติและสร้างชาติ หรือแสดงให้เห็นถึงพหุสังคมที่ยอมรับและอนุญาตให้มีความแตกต่างหลากหลาย แต่ในบางประเทศ ภาษามลายูกลับมีสถานะเป็นภาษาของผู้ต่อต้านรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น ในบางกรณีภาษามลายูยังเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้ไฟความขัดแย้งทั้งในและระหว่างประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

จากภาษามลายูสู่ภาษามาเลเซีย: ภาษาของภูมิบุตรที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

 

“การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนคำว่าภาษามลายูเป็นภาษามาเลเซียในช่วงต้นเดือนมิถุนายน[1] คือการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวมลายูเพื่อความสามัคคีในประเทศนี้”

(Utusan Melayu, วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2007) [2]

 

จากข้อความที่ยกมา Annual Bakhri Harun หยิบยกมาจากหนังสือพิมพ์รายวันของมาเลเซียชื่อว่า Utusan Melayu สะท้อนถึงมุมมองที่แสดงให้เห็นว่า การเรียกภาษาประจำชาติมาเลเซียว่า ‘ภาษามาเลเซีย’ แทนที่จะเป็น ‘ภาษามลายู’ เป็นการเสียสละของคนมลายู เพราะหากใช้คำว่า ‘ภาษามลายู’ ย่อมหมายถึงภาษาและอัตลักษณ์ของกลุ่มคนมลายู ผู้เป็นเจ้าของดินแดนมลายู แต่ทว่า ‘ภาษามาเลเซีย’ เป็นภาษาของทุกคนในประเทศมาเลเซีย ไม่ใช่แค่ภาษาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนการเรียกชื่อ ‘ภาษามลายู’ และ ‘ภาษามาเลเซีย’ มีการเปลี่ยนกลับไปกลับมา ซึ่งการเปลี่ยนจาก ‘ภาษามลายู’ เป็น ‘ภาษามาเลเซีย’ ในปี 2007 ไม่ใช่ครั้งแรก ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปี 1973 เรียกว่าภาษามลายู ช่วงปี 1973-1986 เรียกว่าภาษามาเลเซีย ช่วงปี 1986 ถึงเดือนมิถุนายน 2007 กลับไปเรียกว่าภาษามลายู และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2007 จนถึงปัจจุบันเรียกว่าภาษามาเลเซีย อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปยังคงเรียกว่าภาษามลายูอยู่ โดยในปี 1956 มีการก่อตั้ง ‘สภาภาษาและห้องสมุด’ (Dewan Bahasa dan Pustaka) ขึ้น เพื่อรับผิดชอบการพัฒนาภาษามลายูในด้านต่างๆ ตั้งแต่ก่อนหน้าที่มาเลเซียจะได้รับเอกราชในปี 1957

ภาษามลายูที่พัฒนามาเป็นภาษามาเลเซีย ซึ่งเป็นภาษาราชการและภาษาประจำชาติของมาเลเซีย มีที่มาแตกต่างจากภาษามลายูในอินโดนีเซีย นั่นคือประเทศมาเลเซียใช้ภาษาของคนกลุ่มชาติพันธุ์มลายูซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศเป็นภาษาประจำชาติ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีภาษาประจำชาติคือภาษาของคนมลายูซึ่งไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ แม้ไม่ได้มีการห้ามคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น จีน อินเดีย อาหรับ หรือ ไทย ใช้ภาษาของตน แต่รัฐมาเลเซียให้ความสำคัญกับภาษามลายูอย่างยิ่ง ภาษามลายูถูกระบุในมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญว่า “ภาษาประจำชาติคือภาษามลายู” การกำหนดเช่นนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจแก่คนกลุ่มอื่น เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งเป็นคนกลุ่มหลักอีกสองกลุ่มของประเทศ เพราะมาเลเซียเป็นประเทศที่มีลักษณะพหุสังคมประกอบด้วยชนสามกลุ่มหลักได้แก่ มลายู จีน และอินเดีย ซึ่งแต่ละกลุ่มมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นอกจากนี้ ความเหนือกว่าของชาวมลายูยังได้รับการตอกย้ำด้วยสถานะ ‘ภูมิบุตร’ หรือ ‘ภูมิปุตรา’ (Bumiputera) ด้วย

ภูมิบุตร แปลตรงตัวว่า ลูกของแผ่นดิน ซึ่งหมายถึงชาวมลายูและคนพื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย มาตรา 153 (1) ของรัฐธรรมนูญระบุว่า “เป็นภาระหน้าที่ของพระราชาธิบดีต้องพิทักษ์สถานภาพพิเศษของคนมลายูและภูมิบุตร (Bumiputera) ของรัฐซาบาห์และรัฐซาราวัค และผลประโยชน์ของคนกลุ่มอื่นๆ ที่ได้กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ” รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ชาวมลายูมีสิทธิเหนือกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น เรื่องที่ดิน ตำแหน่งราชการ โควตาด้านการศึกษา นำไปสู่ความไม่พอใจของคนจีนต่อประเด็นดังกล่าวอย่างยิ่ง

ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มลายูและจีนอันเนื่องมาจากสถานะภูมิบุตรดำเนินไปสู่จุดสูงสุดในเหตุการณ์วันที่ 13 พฤษภาคม 1969 หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1969 ซึ่งพรรคพันธมิตร (Parti Perikatan) [3] ซึ่งประกอบด้วยพรรค UMNO, สมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน (MCA) และสภาชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย (MIC) พ่ายแพ้การเลือกตั้งในบางเขต ขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งถึง 38 ที่นั่ง จากที่เคยได้เพียง 2-5 ที่นั่ง พรรคฝ่ายค้านจึงได้จัดการเฉลิมฉลองชัยชนะจนกลายเป็นเหตุกระทบกระทั่งระหว่างชาวมลายูและชาวจีน จนลุกลามบานปลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่โต มีการปะทะกันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และลุกลามไปตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ผลของเหตุจลาจลทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 200 คน บาดเจ็บอีกกว่า 400 คน ถูกจับกว่า 9,000 คน ยวดยานพาหนะเสียหายกว่า 200 คัน ซึ่งเหตุการณ์วันที่ 13 พฤษภาคม 1969 นับเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของมาเลเซียจนถึงทุกวันนี้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ภาษามลายูได้ถูกเปลี่ยนเป็นภาษามาเลเซียในปี 1973 เพื่อลบสำนึกที่ว่าภาษามลายูเป็นภาษาของคนมลายูเท่านั้น แต่เป็นภาษาของคนทุกกลุ่มโดยไม่แบ่งแยก จึงกล่าวได้ว่าการเมืองเกี่ยวพันและส่งผลต่อการเรียกภาษามลายู

อีกหนึ่งภาษาที่มีสถานะและบทบาทสำคัญในประเทศมาเลเซียคือ ‘ภาษาอังกฤษ’ แต่ในขณะเดียวกัน นี่ก็ก่อให้เกิดคำถามจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศมาเลเซียว่า เพราะเหตุใดภาษาของกลุ่มตนจึงไม่ได้รับการยกย่องเฉกเช่นที่ภาษาอังกฤษได้รับ

 

ภาษามลายูในพหุวัฒนธรรมของชาติสิงคโปร์ 

 

“เรากำลังจะมีชาติที่เป็นพหุเชื้อชาติในสิงคโปร์ เราจะทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง นี่ไม่ใช่ชาติมลายู ไม่ใช่ชาติจีน ไม่ใช่ชาติอินเดีย ทุกคนจะมีที่ทางของตนเอง ความเท่าเทียม, ภาษา, วัฒนธรรม, ศาสนา……และท้ายที่สุด, ให้เรา, เป็นชาวสิงคโปร์โดยแท้จริง – ผมไม่สามารถเรียกตัวเองว่าชาวมาเลเซียได้ในตอนนี้ – เรารวมตัวกันโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ, ภาษา, ศาสนา, วัฒนธรรม”

ลี กวน ยู, 9 สิงหาคม 1965[4]

 

สองปีหลังจากที่รวมกับมาเลเซียในปี 1963 สิงคโปร์ได้แยกตัวออกจากมาเลเซียในปี 1965 สุนทรพจน์ของลี กวนยูคราวแยกตัวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าลี กวนยูจะนำพาชาติสิงคโปร์ไปสู่ทิศทางใด นโยบายพหุวัฒนธรรมถูกนำมาใช้ในประเทศสิงคโปร์ ภาษาราชการในสิงคโปร์มี 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, มลายู, จีน (แมนดาริน) และ ทมิฬ และภาษาประจำชาติได้แก่ ภาษามลายู แม้ว่าชาวมลายูจะมีสัดส่วนประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ชาวจีนมีประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดราวเกือบ 6 ล้านคน เพลงชาติและคำขวัญของสิงคโปร์ก็ใช้ภาษามลายู

ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่พูดสองภาษา หนึ่งคือภาษาอังกฤษซึ่งถือเป็นภาษากลาง และสองคือภาษาแม่ซึ่งเป็นภาษาที่สองที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับภาษาราชการทุกภาษา ดังจะเห็นได้จากการแปลเอกสารทางการเป็นทุกภาษา ตลอดจนป้ายตามสถานที่และถนนหนทางต่างๆ ก็มีถึง 4 ภาษาเช่นเดียวกัน สำหรับภาษามลายูมาตรฐานแบบภาษาเขียนถูกวางรูปแบบตั้งแต่ปี 1977 แต่ในการสื่อสารแบบใช้ในชีวิตประจำวันแบบไม่เป็นทางกาi ภาษามลายูในสิงคโปร์จะมี 3 ประเภทได้แก่

1) ภาษามลายูกัมปุง (bahasa Melayu kampung) ซึ่งถูกใช้โดยชาวมลายูทั่วไปที่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน

2) ภาษามลายูการค้า (bahasa Melayu dagang) เป็นภาษามลายูของผู้ที่ไม่ใช่ชาวมลายู ซึ่งภาษามลายูประเภทนี้ยังถูกเรียกอีกชื่อว่า ‘ภาษามลายูตลาดง’ ด้วย

และ 3) ภาษามลายูบาบา (Bahasa Melayu Baba) เป็นภาษามลายูที่ถูกใช้โดยกลุ่มชาวจีนเปอรานากัน[5]

 

ภาษามลายู ศัตรูของรัฐไทย?

 

“ชาวมลายูถูกห้ามไม่ให้แต่งกายตามวัฒนธรรมมลายู ห้ามไม่ให้ตั้งชื่อมลายู ห้ามพูดภาษามลายู และห้ามนับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนั้น สภาวัฒนธรรมยังได้ออกคำสั่งห้ามใช้ภาษามลายูในสถานที่ราชการทุกแห่ง เจ้าหน้าที่ที่พูดภาษามลายูก็ถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดกับชาวบ้านที่มาติดต่อราชการอย่างเด็ดขาด ดังนั้นชาวมลายูจำเป็นต้องรู้ภาษาไทยเพื่อใช้ติดต่อกับทางราชการ”

อิบรอฮีม ชุกรี (นามแฝง) [6]

 

ในขณะที่ภาษามลายูในอินโดนีเซียและมาเลเซียคือภาษาของนักชาตินิยม ภาษาในการรวมชาติและสร้างชาติ ภาษามลายูในสิงคโปร์คือภาษาของการยอมรับการดำรงอยู่ของความแตกต่างหลากหลาย แต่ภาษามลายูในดินแดนทางตอนใต้ของประเทศไทยกลับมีสถานะตรงกันข้าม ภาษามลายูของคนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามในดินแดนที่เคยเป็นรัฐอิสระปาตานีในยุคอาณานิคมมีชะตากรรมที่ผิดแผกไปจากรัฐอื่นๆ คือแม้ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศมหาอำนาจตะวันตก แต่ถูกยึดครองโดยอาณาจักรสยามแทน

ภาษามลายูเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ที่สำคัญของชาวมลายูปาตานี และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาตลอดช่วงระยะเวลาประวัติศาสตร์ปาตานีที่สัมพันธ์กับรัฐไทย ภาษามลายูที่ถูกใช้โดยผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และในอำเภอนาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เรียกว่า ภาษามลายูปาตานี ภาษามลายูท้องถิ่นปาตานี หรือภาษามลายูถิ่นปาตานี และยังมีคำเรียกแบบไม่เป็นทางการว่าภาษายาวี ส่วนภาษาที่ใช้ในพื้นที่บริเวณตอนใต้ของไทยมีความใกล้เคียงกับภาษามลายูที่ใช้ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งไม่เหมือนภาษามลายูมาตรฐานที่ใช้กันในบริเวณอื่นของประเทศมาเลเซีย

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ความขัดแย้งดำเนินมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทำสงครามตีปาตานี ยึดครองเป็นเมืองขึ้น จนกระทั่งผนวกปาตานีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นความไม่ลงรอยทั้งในเรื่องการจัดการบริหารปกครอง ศาสนา และวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน และยังได้เกิดหลายเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลระหว่างรัฐไทยกับชาวปาตานี ความทรงจำของชาวปาตานีที่เกี่ยวกับบาดแผลทางประวัติศาสตร์นี้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อปลุกความรู้สึกชาตินิยมปาตานีให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐไทยในฐานะเจ้าอาณานิคม

การกดขี่อัตลักษณ์มลายูเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงที่มีการใช้นโยบายรัฐนิยมสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการห้ามชาวมลายูในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นมลายู ตั้งแต่ห้ามการแต่งกายแบบมลายู ห้ามใช้ชื่อบุคคลเป็นภาษามลายูหรืออาหรับ และห้ามใช้ภาษามลายู ในทางตรงกันข้าม ภาษามลายูก็ถูกหยิบยกเพื่อสร้างความรู้สึกชาตินิยมมลายู ทั้งในกลุ่มคนทั่วไปและกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องเอกราชให้กับปาตานี  ภาษามลายูจึงมีสถานะเป็นภาษาของผู้ต่อต้านรัฐ เป็นภาษาของความเป็นอื่น และเป็นภาษาต้องห้ามสำหรับรัฐไทย

ในปัจจุบัน รัฐบาลของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้ประกาศให้ ‘พหุวัฒนธรรม’ เป็นแนวนโยบายเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาความความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ภาษามลายูปาตานีในโรงเรียนตาดีกา สถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา[7]  คนในพื้นที่ก็สามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์มลายูได้อย่างเสรี ทั้งการใช้ภาษามลายูและการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม โดยที่ไม่ถูกคำสั่งห้ามจากรัฐบาลอีกต่อไปและยังได้รับการส่งเสริมอีกด้วย จนกระทั่งมีคนมลายูในพื้นที่มีความเห็นว่าอัตลักษณ์มลายูเข้มแข็งมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา[8]

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการแสดงออกอัตลักษณ์มลายูก็มีขอบเขตจำกัดอยู่ที่ด้านศาสนาและวัฒนธรรมเท่านั้น หากอัตลักษณ์มลายูไปแตะประเด็นอ่อนไหว เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และทางการเมือง ก็จะถูกห้ามเช่นเดิม เช่น การใช้คำว่า ‘ปาตานี’ ซึ่งเชื่อมโยงกับชื่ออาณาจักรปาตานีในยุคจารีต กลายเป็นคำต้องห้ามที่รัฐไทยไม่อนุญาตให้ใช้ แต่ก็ไม่อาจห้ามการใช้ในระดับชุมชนทั่วไปได้[9] จึงอาจกล่าวได้ว่า การใช้นโยบายพหุวัฒนธรรมของรัฐไทยเป็นการใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ และขาดความจริงใจในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดำเนินมายาวนาน

 

ส่งท้าย: ภาษามลายู ภาษายาวี ภาษารูมี และ บาฮาซา (Bahasa) แตกต่างกันอย่างไร? 

 

นอกจากภาษามลายูจะถูกเรียกชื่อว่าเป็น ภาษาอินโดนีเซีย ภาษามาเลเซีย ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับชื่อเรียกภาษามลายูอื่นๆ อีก เช่น ภาษามลายูที่ใช้ในภาคใต้ของไทยคือภาษามลายู หรือ ภาษายาวี (Jawi) หรือ ภาษารูมี (Rumi) ทุกคำคือคำตอบที่ถูกต้อง โดยตามความเข้าใจและการอธิบายของนักวิชาการหลายท่าน ภาษามลายูที่เขียนด้วยตัวอักษรอาหรับเรียกว่า ‘ยาวี’ หรือ ‘ภาษายาวี’ ส่วนภาษามลายูที่เขียนด้วยตัวอักษรโรมันเรียกว่า ‘รูมี’ หรือ ‘ภาษารูมี’ ดังนั้น ยาวีหรือภาษายาวีคือชื่อเรียกตัวอักษร ไม่ใช่ภาษาพูด จึงไม่มี ‘การพูดภาษายาวี’ หรือ ‘คนยาวี’

อย่างไรก็ตาม มีคำอธิบายว่า ‘ภาษายาวี’ เป็นคำที่ชาวอาหรับใช้เรียกภาษามลายู-ชวา และคำว่า ‘คนยาวี’ ยังถูกใช้เรียกคนมลายูด้วย โดยมีที่มาจากคำเรียกของชาวอาหรับที่เรียกชาวมลายู-ชวาว่า ‘คนยาวี’ ในปัจจุบันชาวอาหรับก็ยังคงเรียกชาวมุสลิมจากอุษาคเนย์ว่า ‘คนยาวี’ ในความหมายว่าเป็นคนในโลกชวา-มลายู ไม่ว่าชาวมุสลิมนั้นจะอาศัยอยู่ที่ใดหรือใช้ภาษามลายูหรือไม่ เนื่องจากเป็นที่รับรู้มาแต่นมนานว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ใช้ภาษามลายูหรือชวาเป็นภาษากลาง[10]

ชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเรียกภาษาอินโดนีเซียว่า ‘ภาษาบาฮาซา’ หรือ ‘บาฮาซา’ ซึ่งย่อมาจากคำว่า ‘บาฮาซาอินโดนีเซีย’ ที่แปลว่า ภาษาอินโดนีเซีย และเป็นที่รับรู้กันว่าเมื่อกล่าวว่า ‘บาฮาซา’ เช่น “พูดบาซาฮาได้” หมายถึง “พูดภาษาอินโดนีเซียได้” อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวอินโดนีเซียแล้ว คำว่า ‘บาฮาซา’ มีความหมายแค่ว่า ‘ภาษา’ เท่านั้น ชาวอินโดนีเซียจะพูดเต็มๆ ว่า ‘บาฮาซาอินโดนีเซีย’ ไม่ได้ย่อเป็น ‘บาฮาซา’ เช่นที่คนต่างชาตินิยมใช้กัน

ภาษามลายูมาตรฐาน (โดยเฉพาะภาษาเขียน) นับได้ว่าเป็นภาษาของกลุ่มประเทศหมู่เกาะ ได้แก่บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีเพียงกลุ่มคนที่ใช้ภาษามลายูในทางภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่เคยมีภาษามลายูมาตรฐานเช่นเดียวกับภาษามลายูในที่อื่นๆ ถ้าหากว่ามีคนจากบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และคนมลายูจากประเทศไทยนั่งโต๊ะเดียวกัน กลุ่มคนที่จะสื่อสารกับคนจากชาติอื่นๆ ได้น้อยที่สุดก็คือคนมลายูจากไทยนั่นเอง

จะเห็นว่า ภาษามลายูมีบทบาทสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะมีตำแหน่งแห่งที่ในการเมืองของประเทศต่างๆ แล้ว ภาษามลายูยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่แม้ว่าจะไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงแบบที่ใครหลายคนคาดหวัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โอกาสในการทำธุรกิจและการลงทุนด้านต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนจะเปิดกว้างมากขึ้น และภาษามลายูก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจเพื่อนบ้าน รวมถึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดไปสู่โอกาสต่างๆ ในกลุ่มประเทศที่พูดภาษามลายูด้วย


 

เชิงอรรถ

[1] ปี ค.ศ. 2007

[2] Annual Bakhri Harun, “Bahasa Melayu ke Bahasa Malaysia?,” Siasah Daily เข้าถึงได้ที่ http://siasahdaily.blogspot.com/2007/08/bahasa-melayu-ke-bahasa-malaysia.html

[3] ต่อมาพรรคพันธมิตร ถูกแทนที่ด้วยแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ในปี 1973

[4] Transcript of a Press Conference given by the Prime Minister of Singapore, Mr. Lee Kuan Yew, at Broadcasting Hose, Singapore, at 1200 Hours on Monday 9thAugust, 1965. เข้าถึงได้ที่ https://www.nas.gov.sg/archivesonline/data/pdfdoc/lky19650809b.pdf

[5] เปอรานากัน (peranakan) หมายถึง กลุ่มคนที่เป็นลูกครึ่งมลายู-จีนที่มีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างมลายูและจีน ชาวจีนเปอรานากันพบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของไทย

[6] อิบรอฮีม ชุกรี (นามแฝง), ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี, หะสัน หมัดหมาน และมะหามะซากี เจ๊ะหะ (แปล), ดลมนรรจ์ บากา (เรียบเรียง), ปัตตานี: โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, 2541, หน้า 47.

[7] “รัฐบาลแจงปมภาษามลายูในภาคใต้ ย้ำส่งเสริมวัฒนธรรมที่หลากหลาย,” โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เข้าถึงได้ที่ https://www.posttoday.com/politic/news/607977

[8] Ajirapa Pienkhuntod, “Islam and Yawi Language: Domains for Expression and Promotion of Malay Identity in the Deep South of Thailand,” Kyotoreview, issue 27 เข้าถึงได้ที่ https://kyotoreview.org/issue-27/islam-yawi-language-thailand-2/

[9] เรื่องเดียวกัน

[10] กัณหา แสงรายา, “มลายู-ยาวีเรียกอย่างไรดี?,” สำนักข่าวอิศรา เข้าถึงได้ที่ https://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/4962-มลายู-ยาวี-เรียกอย่างไรดี.html

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save