fbpx
ภาษามลายูกับการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1)

ภาษามลายูกับการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1)

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“ชาวสยามมีความเชื่อคล้ายกับชาวมุสลิมแต่พวกเขาบริโภคเนื้อหมู และเดินทางไปไหนมาไหนโดยไม่สวมเสื้อผ้า บุรุษและสตรีคนใหญ่คนโตมักสวมเสื้อตัวสั้นๆ ทำจากผ้าบางความยาวถึงสะดือ เรียกว่า “บาซู” พวกเขาโพกศีรษะด้วยผ้าตวลบัน ภาษาของพวกเขามีคำภาษามาเลย์ปนอยู่จำนวนมาก” [1]

 

จากข้อความที่ยกมา แสดงให้เห็นว่าภาษามลายูเคยมีบทบาทสำคัญในดินแดนสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังมีอิทธิพลอยู่ในภาษาไทยจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากคำศัพท์หลายคำที่เราๆ ท่านๆ อาจจะนึกไม่ถึงว่ามีที่มาจากภาษามลายู เช่น คำว่า ทุเรียน มาจากคำว่า durian ซึ่งไม่ใช่ภาษาอังกฤษ คำนี้มาจากคำว่า duri ที่แปลว่าหนาม พอเติม an เข้าไปก็แปลว่า “ผลไม้ที่มีหนาม” หรือคำว่า เงาะ หรือ rambutan ก็มาจากคำว่า rambut ที่แปลว่า ผม หรือ ขน เมื่อเติม an ก็แปลว่า “ผลไม้ที่มีขน” และยังมีคำอีกมากมายที่มีรากศัพท์มาจากภาษามลายู เช่น ศัตรู, ราชา, สะเต๊ะ, บุหลัน, ตุนาหงัน, บุหงา, หมวกกะหลาป๋า, เมฆ, (โจร) สลัด [2] ฯลฯ นอกจากนี้ คำบางคำในภาษาถิ่นภาคใต้ก็เป็นคำที่มาจากภาษามลายู เช่น ย่าหมู ที่แปลว่า ฝรั่ง ก็มาจากคำว่า jambu ในภาษามลายู ย่านัด หรือ หย่านัด ที่หมายถึงสับปะรดก็มาจากคำว่า nanas ในภาษามลายู เป็นต้น

 

ภาษามลายูคืออะไร?

 

ภาษามลายู หรือ ภาษามาเลย์ เป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ซึ่งใช้ในดินแดนประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบริเวณรอบๆ มากว่าหนึ่งพันปี ภาษามลายูมีต้นกำเนิดที่ไหนยังไม่ทราบแน่ชัด บางทฤษฎีชี้ว่า แหล่งกำเนิดภาษานี้อยู่บริเวณเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน และยังพบหลักฐานจารึกภาษามลายูในสมัยอาณาจักรศรีวิจายาหรือศรีวิชัย ที่เมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ภาษามลายูถูกใช้อย่างแพร่หลายในบริเวณเกาะสุมาตรา และคาบสมุทรมลายูถึงชายฝั่งกาลิมันตันและสุลาเวสี อาณาจักรต่างๆ ต่างก็ใช้ภาษามลายูในการเขียนชั้นสูง โดยเฉพาะอาณาจักรมะละกาที่เฟื่องฟูขึ้นมาแทนที่อาณาจักรศรีวิจายา ภาษามลายูในการเขียนชั้นสูงคือภาษามลายูคลาสสิก ส่วนภาษามลายูที่ใช้ในการติดต่อระหว่างกลุ่มต่างๆ และการค้าทั่วคาบสมุทรมลายูไปจนถึงฟิลิปปินส์เรียกว่า ‘ภาษามลายูตลาด’ หรือ ‘ภาษามลายูล่าง’

ทุกวันนี้ มีผู้พูดภาษานี้ประมาณ 300 ล้านคน (จากจำนวนประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 650 ล้านคน) เป็นภาษาที่มีคนพูดได้มากที่สุดในอาเซียน ภาษามลายูยังเป็นภาษาทางการที่ใช้ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน โดยในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ภาษามลายูจะมีชื่อเรียกว่า ภาษามาเลเซียและภาษาอินโดนีเซียตามลำดับ ส่วนในประเทศสิงคโปร์และบรูไนเรียกว่าภาษามลายู อีกทั้งภาษาดังกล่าวยังเป็นภาษาของคนกลุ่มชาติพันธุ์มลายูในภาคใต้ของประเทศไทยด้วย

บทบาทของภาษามลายู ภาษามาเลเซีย หรือภาษาอินโดนีเซียที่สำคัญยิ่งคือ ทำให้คนที่พูดภาษาต่างกันสามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ เพราะในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือแม้แต่บรูไน ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์และภาษา ในอินโดนีเซียมีภาษาพูดมากถึง 700 กว่าภาษา [3] ซึ่งในบางครั้ง ภาษาของแต่ละกลุ่มแตกต่างกันมากจนไม่สามารถเข้าใจกันได้ หากไม่มีภาษากลาง ทำให้เรามักจะเห็นคนที่สามารถพูดได้ทั้งภาษากลุ่มชาติพันธุ์ของตน กับภาษาทางการหรือภาษาประจำชาติได้เป็นปกติ ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้คือ ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่ออกมาแถลงและสื่อสารกับประชาชนชาวสิงคโปร์ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยภาษาอังกฤษ จีน และมลายู

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ การที่ประเทศอินโดนีเซียกำหนดให้ภาษามลายู ซึ่งเป็นภาษาของชาติพันธุ์มลายูที่ไม่ใช่ชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ เป็นภาษาประจำชาติ ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ชวาเป็นคนกลุ่มใหญ่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และเป็นกลุ่มที่กุมอำนาจทางการเมืองมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม

 

ภาษามลายูในฐานะภาษากลางในหมู่เกาะมลายู (Malay Archipelago)

ในยุคก่อนอาณานิคม ภาษามลายูเป็นภาษากลางในการสื่อสารและติดต่อค้าขายของผู้คนในหมู่เกาะมลายู (ครอบคลุมอาณาบริเวณที่เป็นที่ตั้งของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน ติมอร์-เลสเต และพื้นที่ส่วนใหญ่ของปาปัวนิวกินีในปัจจุบัน) ที่มีความแตกต่างหลายหลายทางชาติพันธุ์ แต่ภาษามลายูที่ใช้กันในช่วงเวลานั้นไม่มีมาตรฐานเดียวกัน มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ อีกทั้ง หลังจากที่อาณาจักรมะละกาล่มสลายก็ขาดศูนย์กลางที่จะทำให้เกิดมาตรฐานกลางของภาษามลายู จึงมีการพูดและการเขียนภาษามลายูในหลายรูปแบบ ทั้งใช้ตัวอักษรอาหรับ ละติน และชวา

เมื่อเจ้าอาณานิคมมาถึงดินแดนในภูมิภาคนี้ พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากให้คนพื้นเมืองใช้ภาษามลายูต่อไป ภาษามลายูจึงเป็นภาษากลางทั้งในทางการค้าและภาษาในระบบราชการ ขณะเดียวกัน เจ้าอาณานิคมก็พยายามให้คนพื้นเมืองเรียนภาษาของเจ้าอาณานิคมด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ชนชั้นสูงหรือผู้ที่ได้รับการศึกษาสามารถพูดภาษาดัตช์หรือภาษาอังกฤษได้ดี

 

ภาษามลายูในฐานะภาษาของนักชาตินิยม

 

เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ได้อธิบายไว้ใน ชุมชนจินตกรรม ว่า ภาษาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สร้างสำนึกร่วมหรือจินตกรรมร่วมเกี่ยวกับชาติของผู้คนในสังคมขึ้นมา การที่เจ้าอาณานิคมให้คนพื้นเมืองใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางทำให้ภาษามลายูค่อยๆ พัฒนา และกลายเป็นภาษาที่มีมาตรฐานขึ้นจากภาษามลายูตลาดที่เคยใช้กันก่อนหน้าการมาถึงของอาณานิคม

นอกจากนี้ การวางรากฐานการศึกษาแบบสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคอาณานิคมยิ่งทำให้ภาษามลายูมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เช่น การพิมพ์ การไปรษณีย์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และระบบขนส่งสมัยใหม่ ยิ่งทำให้ภาษามลายูแพร่หลายและถูกใช้มากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดระบบมาตรฐานของภาษามลายู โดยเฉพาะทุนนิยมการพิมพ์ ที่ได้ส่งเสริมการแพร่หลายของภาษามลายูผ่านการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์และนวนิยาย ยิ่งมีคนอ่านออกเขียนได้ ก็ยิ่งมีการพิมพ์มากขึ้น ยิ่งมีการพิมพ์มากขึ้น การแพร่หลายของการใช้ภาษามลายูแบบมาตรฐานก็ยิ่งมีมากขึ้น และกลับไปส่งเสริมให้เกิดองค์กรชาตินิยมและการเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมตามมา ภาษามลายูตลาดที่เคยถูกใช้เพื่อการสื่อสารและการค้าจึงกลายเป็นภาษาของการเมืองสมัยใหม่

 

จากภาษามลายูสู่ภาษาอินโดนีเซีย 

 

พัฒนาการด้าน ‘สื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายู’ และ ‘การศึกษาสมัยใหม่’ ทำให้เกิดการขยายตัวและเปลี่ยนภาษามลายูแบบภูมิภาคให้เป็นภาษามลายูสมัยใหม่หรือภาษาอินโดนีเซียในที่สุด โดยหนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับแรกๆ เกิดขึ้นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่อมาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ จำนวนผู้อ่านที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดหนังสือพิมพ์ภาษามลายูเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่สื่อสิ่งพิมพ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะเป็นของชาวดัตช์เกือบทั้งหมด จนช่วงปลายทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 หนังสือพิมพ์ของคนพื้นเมืองจึงเริ่มเกิดขึ้นที่สุมาตราและชวา ตามมาด้วยยุคเฟื่องฟูของสื่อสิ่งพิมพ์ มีทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายอื่นๆ โดยมีเจ้าของเป็นทั้งคนพื้นเมือง ชาวจีน และชาวดัตช์

ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1910 เกิดองค์กรทางสังคมและการเมืองขึ้นในดินแดนดัตช์อีสอินดิส เช่น องค์กร Budi Utomo, Sarekat Islam หรือ Indische Sociaal Democratische Vereeniging (ISDV) ที่พัฒนาไปเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งพวกนักการเมืองในองค์กรแบบใหม่เหล่านี้ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารกับมวลชน และ Volksraad (สภาประชาชน) ที่ดัตช์ตั้งขึ้นในปี 1918 ก็ใช้ภาษามลายูในการประชุมเช่นกัน นี่หมายความว่าภาษามลายูไม่ได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นภาษามลายูมาตรฐานเท่านั้น หากยังเป็นภาษาทางการเมืองด้วย ภาษามลายูกลายเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและความสมัยใหม่ โดยเฉพาะเมื่อผสมกับการใช้ภาษาดัตช์ และภาษามลายูยังถูกนักชาตินิยมนำมาใช้ตั้งชื่อองค์กร พรรคการเมือง หนังสือพิมพ์ วารสาร ฯลฯ จากที่ก่อนหน้านี้ใช้ภาษาดัตช์

คำว่า ‘อินโดนีเซีย’ มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกและละตินคำว่า Indus ที่หมายถึง อินเดีย และ  nésos ที่หมายถึง เกาะ เป็นคำที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักวิชาการตะวันตกได้คิดชื่อเรียกกลุ่มคนในหมู่เกาะอินเดียหรือหมู่เกาะมาเลย์ว่า Indunesians และ Malayunesians ในแวดวงวิชาการเริ่มมีการใช้คำว่า Indonesia หมายถึงหมู่เกาะมาเลย์ แต่นักวิชาการชาวดัตช์นิยมใช้คำว่า Maleische Archipel หรือ Nederlandsch Oost Indië  (the Netherlands East Indies) มากกว่า หลังจากปี 1900 คำว่า Indonesia เริ่มเป็นที่นิยมใช้ในหมู่นักวิชาการนอกประเทศเนเธอร์แลนด์

นักเรียนชาวพื้นเมืองที่ถูกส่งไปศึกษาต่อที่เนเธอร์แลนด์เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้คำว่า ‘อินโดนีเซีย’ แพร่หลาย โดยในปี 1908 นักเรียนกลุ่มนี้ร่วมกันก่อตั้ง ‘สมาคมชาวหมู่เกาะอินเดียตะวันออก’ (Indische Vereeniging) โดยยังใช้ภาษาดัตช์เป็นชื่อสมาคม ต่อมาในปี 1924 สมาคมได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘สมาคมชาวอินโดนีเซีย’ (Perhimpunan Indonesia) แทนที่ด้วยภาษามลายูและปรากฏคำว่า ‘อินโดนีเซีย’ เมื่อนักศึกษาเหล่านี้กลับบ้านเกิดก็นำเอาคำว่า ‘อินโดนีเซีย’ มาใช้ และให้ความหมายใหม่คือความหมายทางการเมืองขึ้นมา

หมุดหมายที่สำคัญที่สุดคือการประชุมสภาเยาวชนอินโดนีเซีย ที่จัดโดยสโมสรนักเรียนอินโดนีเซีย (Perhimpunan Pelajar-pelajar Indonesia – PPPI) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1928 การประชุมนี้ได้มีนักชาตินิยมจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและนอกเกาะชวาเข้าร่วมจำนวนมาก ในการประชุม ประธานของสโมสรนักเรียนได้ประกาศ ‘คำสาบานของเยาวชน’ (Sumpah Pemuda) ซึ่งมีใจความสำคัญว่า ดินแดนที่เป็นอาณานิคมของดัตช์จะรวมกันเป็นดินแดนเดียวคือดินแดนอินโดนีเซีย ชาติเดียวคือชาติอินโดนีเซีย และภาษาเดียวคือภาษาอินโดนีเซีย

‘ภาษาอินโดนีเซีย’ จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ตุลาคม 1928 แต่ในทศวรรษ 1920 ‘ภาษาอินโดนีเซีย’ ไม่ได้มีความแตกต่างจาก ‘ภาษามลายู’ ที่ต่อมาเป็นภาษาทางการของประเทศมาเลเซีย ความแตกต่างจะปรากฏชัดในเวลาต่อมา เมื่อทั้งสองประเทศปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมและกลายเป็นประเทศเอกราชแล้ว

 


 

[1] เฮลมุท ลูคัส (บรรณาธิการ), อธิคม แสงไชย, มาเรีย ปรีเปรม และ ณรงเดช พันธะพุมมี (ผู้แปล), คริสตอฟ คาร์ล แฟร์นแบร์เกอร์: ชาวออสเตรียคนแรกในปตานีและกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2167-2168, กรุงเทพ: ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า170-171. อย่างไรก็ตาม ผู้แปลได้อธิบายในเชิงอรรถว่า “ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดกันในกรุงศรีอยุธยามีคำยืมจากภาษามาเลย์น้อยมาก ที่แฟร์นแบร์เกอร์รู้สึกว่าภาษาไทยได้รับอิทธิพลจากภาษามาเลย์มากนั้น อาจเป็นเพราะข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มคนที่ทำงานและอาศัยอยู่ที่ท่าเรือและบริเวณใกล้เคียง หลายคนเป็นชาวมาเลย์หรือต้องติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวมุสลิมอยู่เป็นประจำ จึงทำให้สามารถพูดภาษามาเลย์ได้คล่อง”

[2] คำว่า “สลัด” ในโจรสลัด มาจากคำว่า selat ซึ่งแปลว่า “ช่องแคบ”

[3] ดูรายละเอียดภาษาต่างๆ ที่ใช้ในประเทศอินโดนีเซียได้จาก “Indonesia” ใน Ethnologue: Languages of the World, Twenty-first edition เข้าถึงได้ที่ https://web.archive.org/web/20190626224541/https://www.ethnologue.com/country/ID/languages

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save