fbpx

สงครามความทรงจำ Attack on Titan, ประวัติศาสตร์ไทย และนิยาย 24-7/1

***บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ Attack on Titan และนิยาย 24-7/1

Attack on Titan[1] เป็นปรากฏการณ์สำคัญในฐานะวัฒนธรรมป็อปของยุคสมัยที่โด่งดังไปทั่วโลก สำหรับคนทั่วไปอาจเห็นภาพที่คุ้นตากับยักษ์ไททัน ทีมสำรวจพร้อมอุปกรณ์เคลื่อนไหวสามมิติ และกำแพงเมืองสูงตระหง่านกว่า 50 เมตร หรือกระทั่งการแปลงร่างเป็นไททันอันน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งความแปลกตาและความคุ้นเคย บทความนี้จะใช้การ์ตูนเป็นตัวตั้งต้นเพื่อนำไปสู่บทสนทนาในสังคมไทยผ่านพระราชพงศาวดาร และนิยายที่มีศูนย์กลางอยู่นอกเมืองหลวงเล่มหนึ่ง

การครอบครองพื้นที่และความรุนแรงใน Attack on Titan

พลังทำลายล้างทางกายภาพเป็นอำนาจที่ฉาบอยู่บนผิวหน้าอย่างที่รู้กันดี ระเบิดนิวเคลียร์ที่ใช้ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดถึงความน่าสะพรึงกลัวที่มนุษยชาติพึงกระทำต่อกัน

ในจักรวาลของ Attack on Titan แล้ว เกาะพาราดีส์ในสายตาของชาวโลกคือเกาะปีศาจ ที่แห่งนั้นคือที่อยู่อาศัยของชาวเอลเดียที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อน บัดนี้พวกเขาถูกจองจำอยู่บนเกาะแห่งนั้น ขณะที่คนในเกาะแห่งนั้นไม่รู้เลยว่า ตนเป็นเผ่าพันธุ์ที่ถูกรังเกียจ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีมนุษยชาติอาศัยอยู่นอกเกาะ พวกเขาไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าน้ำทะเลคืออะไร ข้อจำกัดเชิงพื้นที่ที่วางอยู่บนฐานความรุนแรงคือสิ่งที่พันธนาการพวกเขาอยู่ นั่นคือ กำแพงขนาดมหึมาที่เชื่อกันว่าถูกสร้างเพื่อป้องกันยักษ์ไททันที่อยู่นอกกำแพง

พวกเขาไม่เพียงถูกทำให้เชื่อ แต่กองกำลังติดอาวุธที่เรียกกันว่า ‘หน่วยสำรวจ’ ผู้ออกไปปฏิบัติการนอกกำแพงเป็นผู้ผ่านประสบการณ์เฉียดตายด้วยตา หู รวมไปถึงประสาทสัมผัสทั้งหลาย ทั้งกำแพงขนาดใหญ่และไททัน ล้วนเป็นอุปสรรคของพวกเขาที่จะย่างก้าวออกไปจากเขตปลอดภัย

ขณะที่มนุษยชาตินอกเกาะก็แย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกัน มาเลย์เป็นประเทศมหาอำนาจทางการทหารที่มีความสัมพันธ์กับเกาะพาราดีส์และชาวเอลเดียที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์กับปีศาจในสถานการณ์หนึ่ง หรือเจ้ากับทาสในสถานการณ์หนึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น มาเลย์ที่พยายามจะรักษาอำนาจของจักรวรรดิของตนยังพยายามขยายอำนาจทางทหารออกไปทั่ว ที่แย่กว่านั้นคือ ชาวเอลเดียที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิมาเลย์กลายเป็นคนชั้นต่ำ เป็นลูกหลานของปีศาจที่สามารถแปลงร่างเป็นไททันได้ ดังนั้นจึงต้องถูกจับแยกออกจากสังคมมนุษย์ทั่วไป

พวกเขาถูกเก็บไว้ในพื้นที่กักกัน ต้องสวมปลอกแขนแบบเดียวกับยิวในยุคนาซีเรืองอำนาจ และด้วยลักษณะทางชีววิทยา พร้อมทั้งวิทยาการบางประการ พวกมาเลย์สามารถเปลี่ยนชาวเอลเดียให้เป็นไททันได้ ทั้งในแง่การทำโทษ นั่นคือกลายเป็นไททันไร้สติปัญญา ไม่สามารถควบคุมตัวเอง หรือจดจำตัวเองได้อย่างที่ควร

คนเหล่านี้จะถูกนำไปฉีดยาที่บรรจุสารที่ทำให้เป็นไททันที่ท่าเรือเกาะพาราดีส์ แล้วถีบลงลงมาจากที่สูง ผลลัพธ์ก็คือ พวกเขาจะกลายเป็นไททันไร้สติปัญญาที่อาศัยอยู่รอบๆ กำแพงยักษ์นั่นเอง ส่วนชาวเอลเดียที่ผ่านด่านการฝึก จะถูกเลือกให้กลายเป็นไททันอาวุธสงครามเพื่อช่วยรบให้กับจักรวรรดิ ในแง่นี้ ชาวเอลเดียจึงกลายเป็นทั้งเหยื่อความรุนแรง และเครื่องมือก่อความรุนแรง โดยที่มีจักรวรรดิมาเลย์ควบคุมอย่างเข้มงวด

อำนาจการควบคุมอดีตและความทรงจำ ชัยชนะที่แท้จริง

การสร้างเกาะพาราดีส์ให้เป็นเมืองป้อมปราการแบบยุคกลางของยุโรป ได้ลวงตาให้ผู้อ่านเข้าใจไปแต่แรก พร้อมกับการลวงตามผู้คนในเกาะ ผู้คนในเกาะมีลักษณะคล้ายกับตัวละครใน The Truman Show (1998) ที่ไม่รู้เลยว่าตนมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมและพล็อตเรื่องที่กำหนดไว้แล้ว เพียงแต่ว่า คนทั้งโลกไม่ได้ล้วงลึกเข้าไปดูการถ่ายทอดสดชีวิตของพวกเอลเดีย

แล้วเหตุใด คนทั้งโลกถึงทนให้ชาวเอลเดียถูกกดขี่ได้ล่ะ ทั้งบนเกาะพาราดีส์ และทั้งในฐานะทาสของชาวมาเลย์ นั่นก็เพราะผลงานการเขียนประวัติศาสตร์ของผู้มีอำนาจนั่นเอง

คนทั้งโลกได้รับการเล่าขานผ่านโครงเรื่องประวัติศาสตร์ชุดหนึ่ง ที่เล่าว่าเมื่อร้อยปีมาแล้ว จักรวรรดิเอลเดียใช้พลังอมนุษย์ไททันที่เกิดจากหญิงสาวที่ชื่อยูมีร์ จักรวรรดิอันชั่วร้ายได้ก่อสงครามและความรุนแรงสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวโลก และควบคุมโลกไว้ เมื่อไร้ศัตรูให้เข่นฆ่า เหล่าไททันก็รบกันเอง ต่อมารู้จักกันในนาม ‘มหาสงครามไททัน’ โดยตระกูลที่ถือครองพลังไททันทั้ง 8 พวกอมนุษย์เหล่านั้นสู้รบกันมาอย่างยาวนาน จนมีนักรบมาเลย์ที่ชื่อว่าเฮลอส สามารถยุติสงครามได้ด้วยการล่อลวงให้พวกเอลเดียฆ่ากันเองและร่วมมือกับตระกูลไทเบอร์ผู้ครองไททันตระกูลหนึ่ง และกดดันให้กษัตริย์ฟริทซ์หลบหนีไปกบดานและขังอมนุษย์เหล่านั้นไว้บนเกาะพาราดีส์ เฮลอสกลายเป็นวีรบุรุษจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

ว่ากันว่ามีไททันกว่าสิบล้านตนที่อยู่บนเกาะ หากเหล่าไททันถูกปลดปล่อยอาจจะทำลายมนุษยชาติได้ นี่คือสิ่งที่คนทั่วโลกรับรู้ ทำให้ชาวเอลเดียกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกรังเกียจราวกับปีศาจ ที่น่าหดหู่กว่านั้นคือ ชาวเอลเดียทั้งหลายยังถูกหล่อหลอมให้เชื่อว่าตัวเองคือลูกหลานปีศาจ ที่ต้องยอมต้อยต่ำเพื่อชดใช้กรรมให้กับบรรพบุรุษของตนเสมอมา นี่คือพลังของการเขียนประวัติศาสตร์เวอร์ชันแรก

แต่ประวัติศาสตร์อีกชุดได้ต่างออกไป นั่นคือผู้ที่หยุดยั้งสงครามมหาไททันไม่ใช่เฮลอส แต่เป็นกษัตริย์ฟริทซ์ที่ 145 ผู้เบื่อหน่ายต่อสงคราม เขาจึงจับมือกับตระกูลไทเบอร์เอาตัวเข้าแลกเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ และสร้างเฮลอสขึ้นมาเป็นวีรบุรุษปลอมๆ เพื่อสร้างให้โครงเรื่องที่น่าเชื่อถือ และมีความเป็นไปได้ กษัตริย์ยังได้สาบานไว้ว่า จะมีเพียงแค่สายเลือดราชวงศ์ที่สามารถใช้พลังไททันบรรพบุรุษในการควบคุมไททันทุกตัวบนโลกได้ ในมุมนี้ กษัตริย์ฟริทซ์ต่างหากควรจะเป็นฮีโร่ตัวจริง

ดังนั้น ที่ผ่านมาชาวเอลเดียจึงกลายเป็นแพะรับบาปตามพล็อตประวัติศาสตร์เช่นนี้ ผ่านการพร่ำสอนในโรงเรียน กฎหมาย การควบคุมผู้คน ชาวเอลเดียในมาเลย์ต้องสวมปลอกแขน ภายใต้การเหยียดหยาม จึงพบว่า ชาวเอลเดียไม่น้อยต้องตายอย่างไม่สมควรโดยน้ำมือชาวมาเลย์ เมื่อพวกเขาเป็นยิ่งกว่าจัณฑาลในจักรวาลผืนนี้ และยิ่งไปกว่านั้นคือ พวกเขาถูกทำให้รู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลาจากกรรมที่พวกเขาไม่ได้ก่อ แต่เป็นบรรพบุรุษผู้ชั่วร้ายในประวัติศาสตร์ บางคนเลือกที่จะเชื่อเพราะต้องการอยู่รอดปลอดภัยจากการสอดส่องของทางการมาเลย์ ในลักษณะเดียวกับพวกนาซีสอดส่องจับผิดชาวยิว

เมื่อมีการกดขี่ ก็ย่อมมีการต่อสู้ มีชาวเอลเดียที่อาศัยอยู่มาเลย์ไม่น้อยที่คิดจะกอบกู้ชาวเอลเดีย กริชา พ่อของเอเรน เยเกอร์ ตัวเอกก็เป็นหนึ่งในนั้น ชีวิตที่โหดร้ายในมาเลย์ทำให้เขาปฏิเสธประวัติศาสตร์แบบเป็นทางการ และปะติดปะต่อประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นใหม่และใช้สั่งสอนพรรคพวก และซีค ลูกของเขาอีกคนเพื่อหวังว่าจะให้เขาเป็นผู้กอบกู้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แผนกอบกู้ของเขาถูกเปิดโปงด้วยซีคผู้จงรักภักดีต่อมาเลย์ เพราะเขาวางตัวเองไม่ลงกับพล็อตประวัติศาสตร์อีกชุดที่พ่อเขาพยายามเล่าให้ต่างออกไป ซีควัยเด็กผู้เปราะบางไม่ได้เติบโตมาด้วยความอบอุ่น แต่ถูกป้อนความแค้นฝังเข้าไปในหัวตั้งแต่วัยเยาว์ สิ่งที่ได้คือ การปฏิเสธการดำรงอยู่ของประวัติศาสตร์อีกชุด เช่นกันกับการขายพ่อแม่และเขาให้กับมาเลย์ จุดจบของพ่อและแม่คือ การถูกส่งไปเกาะพาราดีส์เพื่อถูกทำให้เป็นไททันไร้สติปัญญา

ขณะที่ชาวเอลเดียบนเกาะพาราดีส์ก็ถูกหล่อหลอมมาด้วยประวัติศาสตร์ความทรงจำชุดที่สาม นั่นคือ เป็นโลกที่ไม่มีมนุษยชาติอยู่นอกกำแพง อยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าไททันที่คุกคามพวกเขาอยู่คือ ชาวเอลเดียด้วยกัน และไททันไม่น้อยเป็นญาติพี่น้องของคนในกำแพงเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น การยึดครองอำนาจ จึงมิได้ตัดสินด้วยกำลังและความรุนแรง เท่ากับ การสร้างความทรงจำ เขียนประวัติศาสตร์เพื่อให้การใช้กำลังและความรุนแรงนั้นมีความชอบธรรมต่างหาก

ประวัติศาสตร์ไทย กับ เบื้องหลังความทรงจำเกี่ยวกับอยุธยาของคนรัตนโกสินทร์

แล้วมันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยตรงไหนล่ะ? คงต้องกลับมาย้ำว่า การเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาสักชุดหนึ่ง เลี่ยงไม่พ้นอยู่แล้วว่าจะวางอยู่บนฐานผลประโยชน์ของใคร โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มักจะสะท้อนจุดยืนของผู้มีอำนาจแต่ละยุคสมัย งานเขียนคลาสสิกของนิธิ เอียวศรีวงศ์ อย่าง ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา ได้เปิดประเด็นให้เห็นการเมืองของการเขียนประวัติศาสตร์ วิธีการที่พูดอย่างรวบรัดที่สุดก็คือ เอาต้นฉบับพระราชพงศาวดารที่เขียนในสมัยอยุธยา กับรัตนโกสินทร์มาเทียบกัน แล้วจับพิรุธว่า ที่เขียนเพิ่มเติมมาในยุคหลังคืออะไร ไอ้การเขียนเพิ่มมานี่แหละ เป็นข้อที่ทำให้นักเรียนประวัติศาสตร์ ‘เอ๊ะ’ สงสัยถึงข้อสนเทศที่เขียนทีหลังว่า จริงหรือไม่ ถ้าไม่จริง อะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการกระทำนั้นๆ

นิธิ ได้เน้นให้เห็นว่ากลุ่มอำนาจนำทางการเมืองกลุ่มสุดท้ายของอยุธยา ที่เรารู้จักกันในภายหลังว่า ‘ราชวงศ์บ้านพลูหลวง’ ได้ถูกเขียนขึ้นใหม่อย่างไรในยุครัตนโกสินทร์ พระราชพงศาวดารที่นิพนธ์ขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ที่ถูกนำมาวิเคราะห์ ได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (พ.ศ.2337) และ พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ (พ.ศ.2338)

สร้าง ‘ความจริง’ ใหม่ ราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้นต้นด้วยความโหดร้ายและลงท้ายด้วยความอ่อนแอ

ถ้าพูดให้เวอร์เข้าก็คือ พระราชพงศาวดารยุครัตนโกสินทร์ได้สร้าง ‘ความจริง’ อีกชุดหนึ่งให้แก่ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (ซึ่งก็มีทัศนะว่าแนวคิดเกี่ยวกับราชวงศ์ก็เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในยุครัตนโกสินทร์แล้วด้วยซ้ำ) ด้วยราชวงศ์นี้ไม่มีความเหมาะสมในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง นักรบ โดยเฉพาะศูนย์กลางแห่งบรมเดชานุภาพ และในฐานะขององค์อุปถัมภ์ของพระพุทธศาสนา เพื่อให้เห็นภาพจะยกตัวอย่างมาดังนี้[2]  

  1. จุดเริ่มต้นของราชวงศ์บ้านพลูหลวงมาจากการรัฐประหารจากสมเด็จพระนารายณ์ ที่เชื่อกันว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่ง ดังนั้น การใช้กำลังยึดอำนาจอย่างโหดเหี้ยม แสดงให้เห็นถึงการไร้ความชอบธรรม ทั้งยังเนรคุณต่อกษัตริย์
  2. กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มักถูกวัดด้วยไม้บรรทัดมาตรฐานทางศีลธรรมของพุทธศาสนาอยู่เสมอ การใช้ชีวิตที่ละเมิดศีลธรรมจึงถูกเน้นย้ำ เช่นเดียวกับบุคลิกส่วนตัวที่เหี้ยมโหดผิดมนุษย์มนา เช่น พระเจ้าเสือที่มีงานอดิเรกละเมิดศีลข้อปาณาติปาตาฯ อย่างการล่าสัตว์ ตกปลา, เสพน้ำจันท์ขาวเป็นนิจ, ยินดีในการสังวาสกับสตรีที่ยังไม่ถึงวัยมีประจำเดือน และหากสตรีนางใดอดทนมิได้ ก็อาจถึงฆาต ถูกฆ่าตายคาที่ได้ ส่วนพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระที่ว่ากันว่าโปรดเสวยปลาตะเพียน จนทรงออกกฎหมายห้ามราษฎรกินปลาตะเพียน ถึงกับมีโทษปรับ 5 ตำลึง หากละเมิดกฎหมายทำให้ประชาราษฎร์เดือดร้อน
  3. ความอ่อนแอของกษัตริย์ก่อนสิ้นอยุธยา ก็ถูกตอกย้ำเช่นกัน พระเจ้าเอกทัศน์ถูกสร้างภาพให้มีความเขลา การป้องกันอยุธยาจากพม่าได้ในครั้งแรกได้ก็ไม่ใช่เพราะความสามารถในการรบของกองทัพอยุธยา แต่เป็นเพราะอาการป่วยหรือบาดเจ็บของพระเจ้าอลองพญาที่ยกทัพมา ซึ่งขัดกับข้อสนเทศจากพระราชพงศาวดารสม้ยอยุธยาที่กล่าวไว้ว่า การต้านทานของอยุธยามิได้อ่อนแอและสับสน การป้องกันพระนครก็เป็นไปอย่างกล้าหาญ
  4. ไม่ใช่เพียงกษัตริย์รายบุคคล แต่เป็นกลุ่มก้อนของราชวงศ์ที่มีปัญหา เมื่อข้อสนเทศพยายามชี้ว่า ราชวงศ์พลูหลวงขาด ‘บรมเดชานุภาพ’ ในการปกครอง ด้วยการเล่าเรื่องให้ชาวบ้านเข้าไปชื่นชมพระบารมีของพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่าผู้รุกรานอย่างออกหน้าออกตา นั่นหมายถึง การแสดงออกถึงความไม่ชอบธรรมของกษัตริย์อยุธยาเสียแล้ว สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่มักถือกันว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งก็ถูกดิสเครดิตว่า แม้จะมีช้างดีอยู่หลายเชือก แต่ก็มีเชือกหนึ่งป่วยขนาดเอาไว้ไม่อยู่ ต้องเอาไปปล่อยป่า นั่นคือสัญลักษณ์ของความเสื่อมแห่ง ‘บรมเดชานุภาพ’
  5. การตอกฝาโลงด้วยการบรรยายถึงเค้าลางอาเพศต่างๆ หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงชะตากรรมของราชวงศ์บ้านพลูหลวงว่า ได้มาถึงกาลสูญสิ้นแล้ว ภาพความปั่นป่วน ความไม่สืบเนื่องของรัฐบาลอยุธยา และเน้นการชิงอำนาจกันอย่างรุนแรงและนองเลือดคือสัญญาณของหายนะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความรุ่งเรืองของอยุธยาถือว่าได้จบสิ้นลงแล้วเพราะราชวงศ์บ้านพลูหลวง

‘ความจริง ที่เพิ่งสร้าง กษัตริย์และราชวงศ์ใหม่ กับกรุงเทพฯ ในฐานะ ศูนย์กลางจักรวาลและความดีงามแบบพุทธศาสนา

ในพระราชพงศาวดารยังมีบทบาทในการก่อรูปตัวตนเจ้านายราชวงศ์จักรีขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่การแก้ไขข้อความที่อาจเสื่อมเสียเช่น รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ และวังหน้าเมื่อครั้งเป็นพระยาอนุชิตราชา ถูกส่งไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในปี 2312 แต่ไม่สำเร็จ ก็แก้เป็นว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวทั้งคู่ยกทัพไปตีเสียมเรียบ แล้วระหว่างนั้นมีข่าวว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (หรือพระเจ้าตาก) สวรรคต จึงยกทัพกลับมา แต่กษัตริย์กลับไม่เอาโทษเพราะเห็นแก่ความจงรักภักดี ทั้งที่การกระทำดังกล่าวต้องตามลักษณะกบฏศึก

หลักฐานแวดล้อมชี้ว่าในปี 2312 ไม่น่าจะมีการยกทัพสยามไปตีเขมร หรือศึกอะแซหวุ่นกี้ที่พิษณุโลกที่เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ (หรือรัชกาลที่1 และวังหน้า ในเวลาต่อมา) พ่ายแพ้อย่างไม่เป็นขบวน “ฝ่ายกองทัพทั้งปวงก็แตกกันเป็นอลหม่าน”

ขณะที่ข้อสนเทศยุครัตนโกสินทร์เขียนถึงการที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีเพื่อแสดงให้เห็นถึงบุญญาบารมี ทั้งที่เข้าขั้นขบถศึกเช่นกันในความเป็นจริง และการแพ้ศึกครั้งนั้น ก็ไม่น่าที่จะทำให้ได้รับการปูนบำเหน็จให้กินตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก[3] ซึ่งบางคนชี้ว่า ตำแหน่งนี้อาจไม่มีอยู่จริงเสียด้วยซ้ำ แต่ถูกเขียนเพิ่มเติมมาในชั้นหลังเพื่อเฉลิมเกียรติยศ

นอกจากนั้น หลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเมืองหลวง สร้างวัง ขุดคลอง ก่อกำแพงเมืองขึ้นมาแล้ว ในทางจินตนภาพแล้วก็มีความพยายามก่อรูปขึ้นมาไม่แพ้กัน การแต่งพระราชพงศาวดารเพื่อชี้ให้เห็นถึงอดีตอันเน่าเฟะในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ได้เป็นฐานสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ราชอาณาจักรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ได้เปิดตัว ซึ่งไม่มีอะไรจะเหมาะไปกว่าอุดมการณ์พุทธศาสนาแบบเถรวาท

กรุงเทพฯ นี่เองที่ถูกวางให้เป็นศูนย์กลาง ‘จักรวรรดิ’ แห่งใหม่ แม้จะประกอบด้วยมนุษย์ที่มีอวิชชาและความทุกข์ก็ตาม แต่ด้วยการปกครองของกษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ ที่เอื้อให้คนทั้งหลายสั่งสมปัญญาและประกอบกุศลกรรมเพื่อก้าวเข้าสู่วิถีทางอุดมคติของชีวิตตามคติพุทธศาสนานั่นก็คือ ‘นิพพาน’ การจะเป็นเช่นนั้น กษัตริย์จึงมีหน้าที่ดูแลคนใน ‘จักรวรรดิ’ ให้มีชีวิตถูกต้องตามหลักการของพุทธศาสนา[4] 

ขณะที่กษัตริย์ก็มีอำนาจทางธรรมประดุจหนึ่งจะเป็นพระธรรมิกราช ปกครองแผ่นดินด้วยความเป็นธรรม[5] ภาพจำลองของโครงสร้างจักรวาลของอยุธยาที่ได้สูญสิ้นไปแล้วนั้น ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ หากย้อนกลับไปที่การก่อสร้างสัญลักษณ์ทางกายภาพ จะพบว่าได้กำหนดให้วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นศูนย์กลางจักรวาลแห่งใหม่ของโลก จุดนั้นเรียกว่า ‘ศีรษะแผ่นดิน’ บริเวณนั้นจึงเป็น ‘แผ่นดินแรก’ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก และเป็น ‘แผ่นดินสุดท้าย’ ที่จะถูกทำลายไปเมื่อวันสิ้นโลก ศีรษะแผ่นดินรองรับการเกิดขึ้นของสิ่งดีงามไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พุทธสาวก พระจักรพรรดิราช ล้วนจะต้องมาจุติ ณ บริเวณนี้ [6] การยกคุณงามความดีทั้งหลายในอุดมคติจึงได้สร้างความจริงเช่นนี้ขึ้นมาบนข้อเปรียบเทียบกับการสิ้นสุดลงอย่างแท้จริงของมหาอาณาจักรอยุธยา

24-7/1 นิยายปลอมพงศาวดาร อีกชุดของเรื่องแต่งบนแผ่นดินอีสาน

หากนิยาย ทุ่งมหาราช จะได้เล่าถึงชีวิตและความเป็นไปของรื่นที่ตั้งตัวและสร้างอิทธิพลจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา 24-7/1[7] ก็โฟกัสอยู่ที่เขตอีสาน เส้นของเรื่องได้ย้อนไปถึงราวทศวรรษ 2350 ชี้ให้เห็นถึงการอพยพของผู้คนจากดินแดนประเทศราชของสยามแถบลุ่มน้ำโขง มาสร้างครอบครัวอันมั่งคั่งที่หมู่บ้านโนนทองดีด้วยอำนาจของตระกูลวงศ์คำดี

นิยายได้ฉายภาพในระดับชีวิตประจำวันของอำนาจ การเข่นฆ่า เซ็กซ์ ความรุนแรง การควบคุมคนด้วยความกลัว เป็นขุมอำนาจของพลังของพวกเขา การตั้งถิ่นฐานใหม่ การขึ้นเป็นผู้นำ และการทรยศ ถูกเล่าขึ้นมาราวกับเป็นพระราชพงศาวดารในบางราชอาณาจักร อำนาจที่บ่มเพาะจากความกลัวจากรุ่นสู่รุ่น

นิยายได้สร้างความสมเหตุสมผลของการกดขี่ว่า เหตุที่ผู้คนยอมเป็นขี้ข้า ยอมถูกพรากลูกเอาไปทำเมีย ก็เพราะความหวาดกลัวที่ถูกสร้างขึ้นและทำให้เห็นอยู่ตำตา จนพวกเขาไม่กล้าต่อกร บทเรียนของการทรยศมีให้เห็นแล้วว่า พวกมันต้องชดใช้หนี้เลือดด้วยความโหดเหี้ยมเพียงใด ลานลงโทษหรือลานประหารริมลำห้วยที่สร้างขึ้นสมัยหำทอง ได้กลายเป็นสักขีพยานของพื้นที่แห่งอำนาจสะกดคนสยบด้วยบันทึกเลือดและเสียงครวญครางโหยหวนจากความเจ็บปวด

ความน่าสนใจก็คือ การนองเลือดเพื่อใช้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงความหวาดกลัว ถูกตัดออกจากความทรงจำฉบับทางการของคนในวงศ์ตระกูล วิธีการนี้อาจไม่ต่างจากวิถีการชำระพระราชพงศาวดาร ความเลวร้ายจึงถูกเล่านอกวงสนทนาอย่างเป็นทางการ หรือไม่ก็แอบเล่ากันในที่ลับตา จากพ่อแก่คำดี ทองมา ทองสา อำคา หำทอง สิม มาจนถึงศรีสกุล พวกเขาคือผู้นำรุ่นต่างๆ

เส้นทางประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านและวงศ์ตระกูลเผยให้เราเห็นประวัติศาสตร์นอกกรุงเทพฯ ที่ตีคู่กันมากับความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยุคประเทศราช การรวมศูนย์อำนาจเข้ากรุงเทพฯ ช่วงต้น การกลายเป็นพื้นที่สีแดงช่วงสงครามเย็น มาจวบถึงยุครัฐประหาร 2557 ตระกูลวงศ์คำดีผ่านร้อนผ่านหนาว กอบโกยความมั่งคั่งจากโอกาสและเส้นสายทางการเมือง และการขูดรีดแรงงานด้วยระบบพระเดชและพระคุณ บ้านใหญ่ให้ได้ทั้งความกินดีอยู่ดี และความหนาวยะเยือกของความหวาดกลัวที่จะมีชีวิตอยู่

เช่นเดียวกับประเทศชาติ ในตระกูลยังมีคนที่ขวางโลก เห็นการกดขี่และการเอารัดเอาเปรียบของตระกูลวงศ์คำดีเป็นเรื่องที่น่าสะอิดสะเอียน ‘เดือน’ ศศิธร น้องสาวบักเสือ ปฏิเสธสถาบันครอบครัวแบบเดิม แม้จะจำยอมผ่านพิธีสมรสเพื่อความพึงพอใจของแม่ สุดท้ายการปฏิเสธที่จะมีทายาท มันคือการต่อสู้ระหว่างเธอกับอำนาจชายเป็นใหญ่ในตระกูล เธอยังข้ามเส้นศีลธรรมไปด้วยการมีอะไรกับเพื่อนที่เป็นนายธนาคาร อย่างไม่สนใจว่าสามีเธอจะรับรู้

แต่การพยศของเดือนทำให้เธอถูกปราบ ถูกควบคุมและเป็นแม่ของเธอ ศรีสกุลที่ใช้อำนาจและอิทธิพลให้เธอจนมุม ความน่ากลัวของอำนาจที่เธอคุกคามทำให้คนไม่กล้าคบหาเดือน โรงสีไม่รับซื้อข้าวเปลือกจากโครงการที่เป็นอุดมคติที่เธอวาดหวังไว้ ผิดกับ ‘เสือ’ ลูกรักของแม่ แม้จะเคยทำผิดร้ายแรงในยามหนุ่ม แต่เสือล้วนได้รับการให้อภัย เพราะเขาถูกวางตัวเป็นทายาทผู้สืบทอดความมั่งคั่งของวงศ์ตระกูล ท้ายเรื่อง เขากลับมาบ้านเกิด และสวมรอยอีแม่ และเป็นผู้นำตระกูลวงศ์คำดีกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม Make โนนทองดี Great Again

กลายเป็นว่า คนรุ่นหลังของตระกูลนี่เองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ พวกเขาไม่เชื่อในอำนาจอันไร้ความชอบธรรม พวกเขาสืบเสาะ จดบันทึกอดีตอันไม่น่าอภิรมย์ของตระกูลวงศ์คำดี มากไปกว่านั้น พวกเขาแต่งมันขึ้นมาเป็นนิยาย เป็นนิยายที่ร่วมกันแต่ง ราวกับเกมแต่งนิทาน คือแต่ละคนจะแต่งไปจนหมดมุข ไร้พลังจะเขียนต่อ คนต่อๆ มาก็จะเข้ามาเขียนเพิ่มเติม ผู้แต่งเหล่านี้เป็นลูกสาวและลูกชายของบักเสือ นั่นคือ หนูนุ่น หนูนวล และอาร์ม ขณะที่ก็มีลูกหลานของชาวบ้านแถวนั้นที่เข้ามาร่วมด้วยอย่าง ปิ่น พลอย ไท ฝ้าย ผู้เขียนให้พื้นที่กับพวกเขาน้อย แต่ถือว่ามีน้ำหนักมากอย่างไม่น่าเชื่อ

24-7/1 จึงกลายเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า จากการปะติดปะต่อกันของชุดความจริงและจินตนาการที่มันพร่าเลือนเข้าหากัน ภายใต้การเล่าเรื่องที่ไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ อย่างสิ้นเชิง กรุงเทพฯ เป็นเพียงแค่ฉากแบ็กกราวน์สกปรกอย่างการทำรัฐประหาร หรือไม่ก็การกล่าวถึงวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในอุดมคติของพวกอนุรักษนิยมที่หาได้มีอำนาจอย่างเด็ดขาดในหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเพียงเครื่องมือของพวกเขาในการเข้าถึงและธำรงอำนาจให้ดำรงอยู่ต่อไป

เมื่อการเขียนประวัติศาสตร์ คือการดวล

ประวัติศาสตร์ไม่เคยเป็นความจริงชุดเดียวที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง แม้ว่ามันจะถูกอ้างว่าเป็นเช่นนั้นเพื่อให้ความชอบธรรมในฐานะคัมภีร์อดีตแห่งชาติก็ตาม อันที่จริงมันคือสมรภูมิที่ผู้คนต่างแย่งชิงอำนาจเพื่อสถาปนาความทรงจำของสังคมขึ้นมา

สงครามการแย่งชิงและสร้างความทรงจำครั้งใหญ่ของประชาชนไทย ถูกเขียนขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง นั่นคือ ประวัติศาสตร์บนฐานปฏิวัติสยาม 2475 และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่พยายามนำเสนอประวัติศาสตร์ประชาชนในช่วงสงครามเย็น เพื่อโต้แย้งกับประวัติศาสตร์ศักดินา ชนชั้นนำอนุรักษนิยม จุดเด่นของทั้งคู่ก็คือ การกลับไปนิยามว่าประวัติศาสตร์แท้จริงแล้วเป็นของผู้ใดกันแน่ กระนั้น จากช่วงเวลาทั้งสอง ประวัติศาสตร์ชุดนี้ก็ยังไม่สามารถตั้งมั่นเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก มิพักว่า การตั้งคำถามกับอดีตยังอาจกลายเป็นภัยทางการเมืองและสวัสดิภาพของชีวิต เมื่อความทรงจำที่เสนอมาไม่ลงรอยกับประวัติศาสตร์กระแสหลักแห่งชาติที่คนบางจำพวกอยากให้เชื่อ และอยากให้มันเป็นไปตามนั้น ในสังคมที่ไม่ได้มีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างที่มันควรจะเป็น


[1] Attack on Titan หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า Shingeki no Kyojin เดิมเป็นมังงะที่เขียนขึ้นโดย Hajime Isayama ในช่วงปี 2552-2564 ก่อนจะถูกสร้างเป็นอนิเมะในปี 2556 ล่าสุด อนิเมะช่วงสุดท้ายกำลังดำเนินการฉายอยู่

[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : มติชน, 2543), น.30-35

[3] นิธิ เอียวศรีวงศ์, เรื่องเดียวกัน, น.63-64

[4] สายชล สัตยานุรักษ์, พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (.. 2325-2352) (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), น.228-229

[5] สายชล สัตยานุรักษ์, เรื่องเดียวกัน, น.224-228

[6] ชาตรี ประกิตนนทการ, “คติสัญลักษณ์ “ศีรษะแผ่นดิน” วัดพระเชตุพนฯ การสถาปนาศูนย์กลางโลกพุทธศาสนาสมัยรัชกาลที่ 1”, ศิลปวัฒนธรรม 31: 6 (เมษายน 2553) : 108-109

[7] ภู กระดาษ (นามแฝง), 24-7/1 (กรุงเทพฯ : มติชน, 2563)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save