fbpx
24-7/1: ประวัติศาสตร์ การเขียนประวัติศาสตร์ นิยาย และการเมืองไทย

24-7/1: ประวัติศาสตร์ การเขียนประวัติศาสตร์ นิยาย และการเมืองไทย

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

หากจะกล่าวถึงนักเขียนอีสานรุ่นใหม่ที่น่าสนใจแล้ว ชื่อและผลงานของ ภู กระดาษ ควรถูกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ผลงานของเขามีความน่าสนใจในฐานะที่เป็นการนำเสนอภาพและการตีความอีสานจากอดีตจนถึงปัจจุบันเสียใหม่ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชุดความรู้ความเข้าใจของ ‘กรุงเทพฯ’ หรืออีสานฉบับทางการที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยชนชั้นนำกรุงเทพฯ นั่นเอง

ท่าทีของการไม่ประนีประนอมกับกรุงเทพฯ และชุดความรู้ความเข้าใจอีสาน ที่มักจะถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ จากชนชั้นนำกรุงเทพฯ ปรากฏอยู่ในงานของ ภู กระดาษ อย่างเสมอมั่นและตลอดมา

อย่างไรก็ตาม นวนิยาย ‘24-7/1’ เล่มนี้ สามารถอ่านได้ในฐานะ ‘นิยาย’ ที่เป็นเรื่องแต่ง เรื่องอ่านเล่น และสามารถเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวของมันได้โดยไม่รู้สึกถูกยัดเยียดว่าเป็นนวนิยายการเมืองเล่มโตๆ แม้จะมีประเด็นทางสังคม การเมือง และประวัติศาสตร์ก็ตาม เผลอๆ อาจจะลืมไปเลยว่า นี่คือนวนิยายที่มีความยาวเจ็ดร้อยห้าสิบหน้าด้วยกัน 

 

ประวัติศาสตร์ไทยของชนชั้นนำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและหมู่บ้านโนนทองดี

 

การเขียนประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์นิพนธ์เป็นสิ่งที่โดดเด่นในนวนิยายเรื่องนี้ กล่าวคือเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวและหมู่บ้านด้วยโครงเรื่องของการเขียนประวัติศาสตร์ที่ ‘ลอกเลียน’ มาจากโครงเรื่องของประวัติศาสตร์รัฐไทยฉบับทางการหรือฉบับชนชั้นนำกรุงเทพฯ ดังจะเห็นได้จากจุดเริ่มต้นของหมู่บ้านโนนทองดี ที่เริ่มต้นจากการฆ่า “คำมี” ของ “คำดี” เพราะคำมีคุ้มคลั่งหรือวิกลจริต ทำให้คำดีกลายมาเป็นผู้นำของหมู่บ้าน จนกระทั่งเขาสามารถสร้าง “อาณาจักรวงศ์คำดี” ได้อย่างสถาพรและมั่นคงมาจนถึงสิบรุ่น

โครงเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ในตัวเรื่องยังให้ข้อมูลว่าช่วงเวลาที่คำมียกครัวอพยพมาที่โนนทองดีตรงกับช่วงยุคธนบุรีในประวัติศาสตร์ของรัฐไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น คือเมื่อคำดีฆ่าคำมีและอพยพยกครัว ‘ข้ามลำห้วย’ มาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ก็เป็นเรื่องราวที่ตรงกับโครงเรื่องประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ

การให้ความสำคัญกับพัฒนาการของตระกูลวงศ์คำดีที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับหมู่บ้านโนนทองดีนั้น เปรียบได้กับขนบของการเขียน ‘พงศาวดาร’ ซึ่งมาจากคำว่า ‘พงศา’ และ ‘อวตาร’ รวมกัน หมายความว่าเรื่องของวงศ์อวตาร ซึ่งก็คือเรื่องราวของพระมหากษัตริย์นั่นเอง ดังนั้นประวัติศาสตร์รัฐไทยฉบับชนชั้นนำกรุงเทพฯ จึงเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์และพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ภู กระดาษ ทำไม่ใช่การนำเอาเหตุการณ์ในพงศาวดารมาล้อแล้วเปลี่ยนเป็นตัวละครในนิยายของเขา แต่เป็นการใช้วิธีการแบบเดียวกันในการวางโครงเรื่อง

ในแง่หนึ่งเราอาจพิจารณาได้ว่า วิธีการเขียนประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำกรุงเทพฯ หรือประวัติศาสตร์รัฐไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีอิทธิพลต่อการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือเรียกได้ว่าเป็นเรื่องเล่าแม่บทชุดใหญ่ที่เป็นต้นแบบให้กับการเขียนประวัติศาสตร์ชุดอื่นๆ ดังนั้นมันจึงมีสถานะเหนือกว่าเรื่องเล่าทุกๆ ชุดที่ดำรงอยู่ในจักรวาลของเรื่องเล่า

แต่ใน ‘24-7/1’ สถานะของเรื่องเล่าแม่บทไม่ได้มีความเหนือกว่าเรื่องเล่าของครอบครัววงศ์คำดีและหมู่บ้านโนนทองดีแต่อย่างใด ภู กระดาษ แสดงให้เห็นถึงการลดทอนความสำคัญของเรื่องเล่าแม่บท ผ่านการผสมผสานกับเรื่องเล่าที่เป็นนิทาน ตำนานท้องถิ่น เช่นเรื่องปลาดุกเผือกยักษ์ หรือเรื่องพี่น้องสองคนที่กินข้าวจนพ่อแม่ต้องหลอกเอาไปฆ่าในป่า โครงเรื่องประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำกรุงเทพจึงมีสถานะไม่แตกต่างไปจากนิทานท้องถิ่น ที่เป็นแก่นแกนในขนบของการเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการเล่าประวัติของครอบครัววงศ์คำดีถึง 10 รุ่น กับประวัติการสร้างบ้านแปงเมืองของหมู่บ้านโนนทองดีมีความจงใจอยู่ไม่น้อยที่จะทำให้ ‘โครงเรื่องของครอบครัวและหมู่บ้านในอีสาน’ กับ ‘โครงเรื่องประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำกรุงเทพ’ เป็นสิ่งที่ขนานกัน ไม่ยอมให้โลกทัศน์แบบชนชั้นนำกรุงเทพฯ มีอิทธิพลเหนือกว่าความเป็นอีสานอย่างที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยซึ่งปล่อยให้โลกทัศน์ของชนชั้นนำกรุงเทพมีบทบาทเหนือกว่าในทุกๆ ด้านของการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

 

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์โลก
ประวัติศาสตร์ของวิถีการผลิต
และหมู่บ้านโนนทองดี

 

แม้นวนิยายจะให้ความสำคัญกับการเล่าประวัติศาสตร์ของครอบครัวและหมู่บ้านที่สัมพันธ์กันกับรัฐไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ขณะเดียวกัน ภู กระดาษ ยังนำเสนอความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์โลกในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

ถ้าประวัติศาสตร์หมายถึงชุดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา วิธีการเล่าเรื่องของ ภู กระดาษ คือการนำเอาเหตุการณ์ 4 ชุดในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมาทาบทับ เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่าง ทั้งในเรื่องพื้นที่ หรือการเปรียบเทียบโลกที่พัฒนาก้าวไปข้างหน้ากับโลกที่ก้ำกึ่งว่าควรจะเป็นแบบไหนดีระหว่างการรักษาจารีตประเพณีเดิมกับการก้าวไปข้างหน้าแบบโลกสมัยใหม่

ประวัติศาสตร์โลกที่ ภู กระดาษ นำเสนอในนวนิยายจึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกับหนังสือประมวลประวัติศาสตร์โลก แต่เป็นประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตของมนุษยชาติ สิ่งนี้คือสิ่งที่ ภู กระดาษ พยายามชี้ให้เห็นผ่านตอนที่กล่าวถึงการเริ่มเปิดค้าขายกับคนต่างถิ่นมากขึ้นของหมู่บ้านโนนทองดี

“ประเทศตะวันตก หรือในอังกฤษ นับว่าหัวรถจักรไอน้ำ ระบบราง และเหมืองถ่านหินได้กลายเป็นของคู่กันไปแล้ว และหลังจากรุ่งเรืองมั่งคั่งจากการล่าอาณานิคม การเข่นฆ่า แย่งชิงทรัพยากรของชนพื้นเมืองในประเทศใต้อาณานิคม การค้าขายอย่างไม่เป็นธรรมหรือการทูตแบบเรือปืน…อังกฤษก็เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม…” (หน้า 352)

ขณะที่อังกฤษเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หมู่บ้านโนนทองดีในยุคแรกเริ่มของคำดี เคร่งครัดและละเอียดลออกับการส่งส่วยบรรณาการให้กับเมืองผู้ปกครองอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในยุคของคำมี ทุกสามเดือน คำดีและผู้รับใช้ใกล้ชิดจะนำเครื่องบรรณาการเต็มหลังม้าไปส่งยังเมืองผู้ปกครอง” (หน้า 352) ภู กระดาษ ใช้วิธีเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ความเป็นไปโลก เพื่อแสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านโนนทองดีห่างไกลกับความก้าวหน้าทางสังคมอย่างไรบ้าง และไม่ว่าวิถีการผลิตในโลก หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโลกตะวันตกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะดีหรือร้ายประการใดก็ตาม ก็ไม่ส่งผลมากนักต่อหมู่บ้านโนนทองดี เพราะเทคโนโลยีในการผลิต วิถีการผลิตยังคงห่างไกลจากคำว่า ‘เจริญก้าวหน้า’

การให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงของวิถีการผลิตในประวัติศาสตร์โลกมีข้อที่น่าพิจารณา แทนที่จะใช้การเทียบเคียงกับเหตุการณ์สำคัญหรือไล่เรียงไปตามขนบของประวัติศาสตร์นิพนธ์ ภู กระดาษ กลับคัดเลือกเอา ‘วิถีการผลิต’ มาเป็นแก่นแกนในการอธิบายความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปในประวัติศาสตร์โลก

ดังนั้น เขาไม่เพียงแค่ตีความประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างอีสานและรัฐไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่เท่านั้น แต่ยังตีความประวัติศาสตร์โลกใหม่ ในลักษณะที่ว่า ความเจริญก้าวหน้าของโลกนั้นเป็นไปเพราะความขัดแย้งทางการผลิตและการเปลี่ยนแปลงของวิถีการผลิต ทำให้ความสัมพันธ์ในการผลิตเปลี่ยนแปลงไปจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปสู่ทุนนิยม แต่ในท้ายที่สุด ทุนนิยมก็กลายเป็นความขัดแย้งในวิถีการผลิตครั้งใหม่ของมนุษยชาติ และประเด็นเรื่องทุนนิยมก็เป็นสิ่งที่เขาได้วิพากษ์เอาไว้อย่างชัดเจนในนวนิยายเล่มนี้

ท่าทีในการวิพากษ์ทุนนิยมของ ภู กระดาษ ไม่ได้ปิดประตูใส่ทุนนิยม แต่เห็นข้อโอกาสบางอย่างของทุนนิยมและข้อจำกัดในการปฏิวัติของนักสังคมนิยม

“น้องสาวเล่าต่อไปถึงข้อวิจารณ์ในครั้งนั้นว่าเราต้องไม่ปฏิเสธทุนนิยมและตั้งอยู่บน ความสำเร็จของทุนนิยมซึ่งถือเป็นสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์ และการจะเกิดชุมชนหรือสังคมเช่นนั้นได้ก็ด้วยการปฏิวัติโดยชนชั้นแรงงานเท่านั้น เพราะไม่มีเหล่านายทุนคนไหนยอมเสียในสิ่งที่พวกเขาครอบครองอยู่ไปง่ายๆ และการปฏิวัติโดยชนชั้นแรงงานก็เกิดขึ้นจริงในกาลต่อมา แต่สังคมนิยมที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นก็ล้มเหลว นำมาสู่ความทุกข์ของผู้คนอย่างมหาศาลและผู้คนก็เข็ดหลาบ เปิดช่องโหว่ให้ระบบทุนนิยมเข้าโจมตี ยึดครอง และสถาปนาตนเองขึ้นมาได้อย่างเบ็ดเสร็จ…นับจากนั้นก็ไม่มีการปฏิวัติโดยชนชั้นแรงงานอย่างถอนรากถอนโคนอีกต่อไปจวบจนปัจจุบัน” (หน้า 116-117)

ดูเหมือนว่าทุนนิยมจะเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของผู้คนแทบจะทุกมิติ และเราก็หาได้ตระหนักถึงมันว่าได้กดขี่ขูดรีดเราอย่างไร

“คนส่วนใหญ่ได้กลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมแล้ว เป็นผู้มีส่วนร่วมหรือรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมอย่างแยกออกจากกันไม่ได้แล้ว…รู้สึกเหมือนได้เป็นผู้ประกอบการเอง ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากคนรับจ้างทำงานเลี้ยงชีพ และมันไหลเวียนอยู่เช่นนี้จนทำให้พวกเขาหมดเรี่ยวแรงต่อต้านหรือแข็งขืน…. เจ้าของที่แท้จริงก็คือเจ้าของที่แท้จริง ไม่เปลี่ยนแปลง ตลาดยังคงเป็นตลาดอยู่ เป็นของพวกเขา และรัฐบาลก็ยังคงเป็นรัฐบาลอยู่เช่นเดิม รับใช้พวกเขาอย่างสุดใจ ทุกอย่าง และปล่อยให้มันเป็นไป ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ใช่ไหม” (หน้า 116-117)

 

ครอบครัววงศ์คำดีและสงครามเย็น

 

ประวัติศาสตร์โลกและทุนนิยมมาบรรจบกันในนวนิยายเรื่องนี้ผ่านเรื่องเล่าของครอบครัว ‘วงศ์คำดี’ ภู กระดาษ พยายามชี้ให้เห็นว่า ‘ครอบครัว’ คือหน่วยทางสังคมที่พื้นฐานที่สุด เล็กที่สุด และสำคัญที่สุดในการสะสมทุน สะสมความมั่งคั่ง อีกทั้งยังเป็นกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐและมีส่วนสำคัญในการสร้างพลเมืองที่รัฐพึงประสงค์

“ตระกูลฝั่งแม่ของผมเป็นตระกูลเก่าแก่ เป็นตระกูลใหญ่ ตามสิมเป็นผู้ได้รับการเคารพนับถืออย่างที่สุดของหมู่บ้าน หรือแม้แต่แม่ของผมก็ไม่ต่างกันในปัจจุบัน ตระกูลของเราสืบเชื้อสายกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษอย่างไม่เคยขาดสาย คนรุ่นแรกที่ก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นมาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนคือพ่อเทียดคำดีซึ่งเป็นต้นตระกูลของพวกเรา พวกเราเป็นตระกูลมั่งคั่งและร่ำรวยมีทุกอย่างเพียบพร้อมมาแต่ไหนแต่ไร ไม่มีอะไรต้องปิดบัง…” (หน้า 30)

การขยายความมั่งคั่งของตระกูลวงศ์คำดีมาพร้อมกับการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐและการเข้ายึดครองปัจจัยการผลิต ความมั่งคั่งของวงศ์คำดีมีเพิ่มมากขึ้นในยุคของ “สิม” พ่อของ “ศรีสกุล” หลังจากที่เขาร่วมมือกับรัฐไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในการต่อสู้กับ ‘คอมมิวนิสต์’ ในช่วงสงครามเย็น เขาก็ได้โอกาสในการทำธุรกิจค้าไม้เถื่อนและรับเหมาก่อสร้างโดยมีทหารคอยช่วยเหลือสนับสนุนและเป็นหุ้นส่วนกัน “เงินทองต่างๆ หลั่งไหลมาจากรัฐบาลเผด็จการชนชั้นนำกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลั่งไหลมาจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกทอดหนึ่ง” (หน้า 404)

นอกจากนี้ สิมยังได้ไปชักชวนครอบครัวจีน “แซ่อึ้ง” ร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วย แม้สุดท้ายธุรกิจดังกล่าวจะต้องจบลงไปเพราะรัฐบาลเผด็จการทหารถูกโค่นล้มในช่วง 14 ตุลา 2516 กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เงินทองทั้งหลายที่สะสมมาก่อนหน้าของตระกูลวงศ์คำดีหายไป หรือแทบไม่ส่งผลต่อตระกูลแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับช่วยทำให้พวก “วงศ์คำดี” สามารถขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและสังคมให้กว้างขวางขึ้นไปอีก

การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น รัฐไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทุ่มสรรพกำลังมากมาย ซึ่งเกือบทั้งหมดได้รับทุนและการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การทหาร เศรษฐกิจ และการทำสงครามจิตวิทยามาจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้สงครามเย็นยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถาบันกษัตริย์กลับมามีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยอีกครั้งหลังจาก 2475

กรณีนี้ ภู กระดาษ ได้ทำให้ข้อเสนอของงานวิชาการหลายๆ ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับสงครามเย็นกับรัฐไทยและชนบทอีสานปรากฏตัวขึ้นอย่างมีชีวิตชีวาในนวนิยายของเขา ดังจะเห็นได้จากความมั่งคั่งและอำนาจของตระกูล “วงศ์คำดี”ที่เพิ่มมากขึ้นหลังสงครามเย็น

ด้านการปลูกฝังอุดมการณ์ของรัฐผ่านครอบครัวซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดปรากฏในตัวเรื่องว่า “ที่บ้านใหญ่ แม่ยกคำว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เอาไว้เหนือศีรษะเสมอ บอกสอนผมกับน้องสาวให้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์อยู่เสมอและตลอดมาตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่” (หน้า 57)

ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับอุดมการณ์ของรัฐจึงเป็นสิ่งที่ชวนให้ขบคิดต่อไปได้อีกว่าในชีวิตประจำวันของเรา ความรู้สึกนึกคิดทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคมนั้นถูกบ่มเพาะมาอย่างไรจากสถาบันครอบครัว

 

ศรีสกุลและอำนาจที่ฟื้นคืนชีพ

 

“แม่ของผมคือผู้ชี้เป็นชี้ตายในครอบครัวหรือในบ้านใหญ่ของเรา จัดการทุกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและเรียบร้อยเสมอมา ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก ร่างกายเนื้อหนังยังเต่งตึง จนผมกับแกร่างกายร่วงโรยและแก่เฒ่าเกือบทันกันแล้วในตอนนี้…” (หน้า 32)

ตัวละครสำคัญอย่าง “ศรีสกุล” จากตัวเรื่องสามารถเข้าใจได้ว่า เธอน่าจะเกิดในปี 2490 (เพราะเธอพบรักกับนายทหารหนุ่มที่เข้ามาในหมู่บ้านเพื่อทำงานต่อต้านคอมมิวนิสต์ในปีที่รัชกาลที่ 9 และพระราชินีเสด็จออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เมื่อปี 2505 ขณะนั้นเธอมีอายุสิบห้าปี) ซึ่งเป็นปีที่เกิดรัฐประหารโดย กลุ่มผิน ชุณหะวัณ และคณะ การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการยุติบทบาททางการเมืองของกลุ่มคณะราษฎรโดยสิ้นเชิง คณะราษฎรกลายเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและยังทำให้กลุ่มขั้วอำนาจเก่าอย่างกลุ่มอนุรักษนิยม กษัตริย์นิยม และกลุ่มทหารกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง

เมื่อพิจารณาบทบาทของศรีสกุลในเรื่องที่ต้องเป็นผู้นำ ‘บ้านใหญ่’ ของ “วงศ์คำดี” ตั้งแต่อายุยังน้อย เธอจึงมีความเข้มงวด โหดเหี้ยม และเด็ดขาด ในฐานะผู้นำของตระกูลทรงอิทธิพลมากที่สุดในหมู่บ้าน ลูกบ้านคนไหนมาขอกู้เงินแล้วไม่มีเงินจ่าย ก็นำโฉนดที่ดินมาค้ำไว้ แม้ที่ดินนั้นตกเป็นของศรีสกุล แต่ชาวบ้านก็ยังคง ‘ได้รับอนุญาต’ ให้ทำมาหากินบนที่ดินผ่านการจ่ายค่าเช่า ดังนั้นที่ดินจำนวนมากในหมู่บ้านและอำเภอ หรือขยายไปในระดับจังหวัดจึงเป็นของศรีสกุลเสียส่วนมาก ชาวบ้านจึงอยู่ภายใต้ ‘แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง’ ของศรีสกุล เพราะในแง่หนึ่ง เธอช่วยเหลือทุกคนอย่างไม่เลือกหน้าเช่นกัน อำนาจและอิทธิพลที่ศรีสกุลมีต่อชาวบ้านเป็นทั้งพระเดชและพระคุณ ผู้คนต่างยอมรับโดยไม่มีใครตั้งคำถามหรือแม้แต่จะสงสัยในอิทธิพลของเธอ

บทบาทของศรีสกุลที่มีต่อคนในครอบครัวนั้นเป็นทั้งผู้นำของตระกูลและหัวหน้าครอบครัว เพราะ บุญครอง สามีของศรีสกุล ก็สมัครใจเป็นผู้ตามที่ซื่อสัตย์จงรักภักดี ส่วนบทบาทแม่ของชัยศิริและศศิธรนั้น เธอเป็นแม่ที่เข้มงวดและเด็ดขาดเช่นเดียวกับการเป็นผู้นำของตระกูลและหมู่บ้าน คอยกำกับให้คนในครอบครัวเป็นไปตามสิ่งที่เธอต้องการเสมอ อะไรที่ศรีสกุลต้องการจากลูกๆ เธอต้องได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ชัยศิริเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็น ‘ลูกแม่’ ตรงกันข้ามกับศศิธรที่ยืนอยู่ตรงข้ามแม่ตลอด

ศรีสกุลมีวิธีจัดการปัญหาลูกทั้งสองคนแตกต่างกัน สำหรับชัยศิรินั้น เขาถูกควบคุมและกำกับชีวิตทั้งโลกทัศน์และชีวทัศน์มาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเรื่องของความปรารถนา ชีวิตของชัยศิริต้องอยู่ในสิ่งที่ถูกต้องและตามครรลองของศรีสกุลอยู่เสมอ มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ชัยศิริไม่ยอมศรีสกุล นั่นคือการแต่งงาน ชัยศิริเลือกคนรักของเขาเอง แม้ศรีสกุลจะพยายามหว่านล้อมและใช้กำลังมากเพียงใดก็ไม่เป็นผล

ในขณะที่ศศิธร แม้พยายามเลือกทางเดินของตัวเองตั้งแต่ต้น แต่ก็ไม่สามารถต้านทานความต้องการของศรีสกุลได้ ในฐานะแม่ เธอใช้ทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง เช่น การส่งคนไปทำลายโครงการในฝันของศศิธร หรือการร่วมมือกับลูกเขยเพื่อบีบบังคับให้ลูกสาวมีทายาทสืบสกุล แม้ศศิธรพยายามจะสู้จนถึงหน้าสุดท้ายของนวนิยายเล่มนี้ก็ตาม แต่สุดท้าย ศศิธรก็ต้องใช้ชีวิตอย่างจำยอมต่อความต้องการของแม่บังเกิดเกล้า แม้ไม่ถึงกับยอมว่าจะมีทายาทให้ แต่ศศิธรก็ตระหนักแล้วว่าชีวิตนี้ไม่ใช่ของเธอ

ชะตากรรมของชัยศิริและศศิธรชี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นว่า ชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจที่ทั้งดิบเถื่อนและไม่สามารถลุกขึ้นมาตอบโต้หรือตั้งคำถามใดๆ ได้นั้นเป็นสิ่งที่แฝงฝังอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา และถึงแม้ว่าศศิธรจะตระหนักถึงอำนาจดังกล่าว แต่เธอก็ไม่สามารถขัดขืนได้เช่นกัน เพราะอำนาจเช่นนี้กระทำต่อเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ตลอดเจ็ดวัน ตลอดหนึ่งสัปดาห์ มันค่อยๆ นวดเราและทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ดังที่เกิดขึ้นกับชีวิตของชัยศิริ และประเด็นที่น่าสนใจที่สุด คืออำนาจลักษณะนี้อยู่ในรูปแบบของ ‘ครอบครัว’

ความเป็นครอบครัวคืออำนาจที่น่ากลัวที่สุด เพราะเราไม่สามารถตั้งคำถามหรือสงสัยในความรักความผูกพัน ที่แท้จริงแล้วมีลักษณะของการกดขี่บีฑาอยู่ในทุกลมหายใจ

เมื่อเราพิจารณาบทบาทของศรีสกุลที่มีต่อตระกูล หมู่บ้านและครอบครัวแล้ว หากไปพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราจะเห็นได้ว่า ศรีสกุลเกิดมาพร้อมกับการกลับมาของอำนาจทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยม กษัตริย์นิยมและกลุ่มทหาร ซึ่งมีวิธีการใช้อำนาจในการควบคุมปกครองไม่ต่างอะไรกับการใช้อำนาจของศรีสกุล ดังนั้น บทบาทของศรีสกุลคือการแสดงให้เห็นวิธีการอันสลับซับซ้อนที่กลุ่มอำนาจเก่าใช้อย่างแยบยลในการจัดการประเทศนี้

 

เฮย์เดน ไวต์ และการเขียนนิยายของลูกหลานวงศ์คำดี

 

ในส่วนสุดท้ายของตัวเรื่องที่เล่าเรื่องของคนรุ่นลูกของชัยศิริหรือรุ่นหลานของศรีสกุลซึ่งได้ยินได้ฟังเรื่องราวของตระกูลวงศ์คำดีจากปากพ่อ แม่ อา ปู่ ย่า มาตลอด พวกเขาเห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้ต้องถูกบันทึกเอาไว้ แต่จะบันทึกอย่างไรให้คนในวงกว้างได้รับรู้และเข้าใจ พวกเขาพยายามประมวลเรื่องราวต่างๆ ทั้งการฟัง การค้นคว้า สังเกต หรือกล่าวได้ว่าพวกเขานั้นใช้วิธีเดียวกับนักวิชาการประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยาในการเก็บข้อมูลของตระกูลวงศ์คำดี แต่สุดท้ายก็เลือกนำเสนอออกมาในรูปแบบของนวนิยาย

เราอาจเข้าใจได้ว่าในส่วนสุดท้ายนี้เองเป็นการอธิบายวิธีการทำงานของ ภู กระดาษ ในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ที่นำเอาทั้งข้อเท็จจริงและจินตนาการมาผสมผสานรวมกัน ก่อนจะสร้างเป็นโลกอีกแบบเพื่อนำเสนอความจริงขึ้นมา วิธีการดังกล่าวดูเหมือนว่าไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรสำหรับงานวรรณกรรมที่ต้องการเสนอประเด็นทางสังคม แต่สิ่งที่น่าสนใจที่แท้จริง คือความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการเขียนสองแบบที่มาปะทะสังสรรค์กันอยู่ในงานวรรณกรรม

จากตัวเรื่องจะเห็นว่า รูปแบบและวิธีการเขียนที่แตกต่างกันสุดขั้วอย่างประวัติศาสตร์และนวนิยายถูกทำให้อยู่ระนาบเดียวกันและมีสถานะที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งเคยมี ‘เฮย์เดน ไวต์’ นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 พยายามเสนอว่าแนวคิดและวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ดังกล่าวไม่แตกต่างจากรูปแบบการเขียนเรื่องแต่ง กล่าวคือนักประวัติศาสตร์ต่างก็ใช้กลวิธีแบบเดียวกับนักเขียนนิยายในการเขียนประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ วิธีคิดของนักประวัติศาสตร์นั้นแทบไม่แตกต่างอะไรกับนักเขียน เช่น การตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การมีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองในการเขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์ไม่ได้ปลอดไปจาก ‘อคติ’ ที่ทำให้งานเขียนทางประวัติศาสตร์ขาดความเป็นกลางอย่างที่ชอบกล่าวอ้างอยู่เสมอตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ ภู กระดาษ ทิ้งเอาไว้ในส่วนสุดท้ายของนวนิยาย คือความพยายามในการกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวหันมาเข้าใจอดีตตามสิ่งที่พวกเขาได้ยินได้ฟังและนำไปครุ่นคิดต่ออย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นความจริงแบบไหน หรือความจริงนั้นจะถูกเล่าอย่างไรก็ตาม มันคือภาระของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องสร้างอนาคตของตัวเองขึ้นมา อนาคตอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ เพราะ “นวนิยายเรื่องนี้จบลงอย่างบริบูรณ์แล้ว ส่วนที่เหลือนับจากนี้คือการอ่าน การแก้ไข ขัดเกลา รื้อ และเขียนใหม่อีกครั้งและอีกครั้งโดยคุณ โดยฉัน หรือโดยพวกเรา จนกว่าจะเป็นที่พึงพอใจที่สุดของทุกคน ไม่ใช่จนกว่าจะดีที่สุดแต่อย่างใด” (หน้า 749)

คนรุ่นก่อนหน้าพวกเขาได้พยายามต่อสู้แล้ว แต่ไม่เป็นผล และมันได้จบสิ้นไปแล้ว เหลือแต่เรื่องราวของวงศ์คำดี ซึ่งไม่ว่าจะถูกตีความในฐานะสังคมไทย ประเทศไทย หรือเป็นเพียงเรื่องแต่งก็ตาม มันจะถูกอ่านใหม่ เขียนใหม่ และมันจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save