fbpx

‘ความซื่อสัตย์’ บนเส้นทางการต่อสู้ของระบอบเกียรติยศในสังคมไทย: อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

หากผู้คนยังจดจำวาทะ ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ของพลเอก สุจินดา คราประยูรได้ เหตุการณ์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 2566 ก็จะเป็นที่จดจำถึงเรื่องการตระบัดสัตย์ต่อประชาชนเช่นกัน

แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไล่เรียงมานับจากการเลือกตั้ง 2566 จะชวนทำให้หลายคนที่ติดตามข่าวการเมืองรู้สึกสลดจนถึงซึมเศร้า แต่อย่างน้อยการไล่ทวงถามการรักษาคำพูดจากผู้เข้าสู่อำนาจทางการเมืองก็เป็นเครื่องยืนยันว่าประชาชนมองเห็นอำนาจของตัวเองที่ไม่ใช่แค่เพียงเสี้ยววินาทีของการกากบาทเลือกตั้งแล้วยื่นอำนาจให้นักการเมืองเอาไปใช้ได้ตามใจชอบ

อย่างน้อยนี่อาจเป็นสัญญาณยืนยันว่าผู้คนต้องการความซื่อสัตย์และหลักการที่ถูกต้อง ไม่ใช่การเมือง ‘แบบไทยๆ’ เหมือนที่เป็นมา

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาโดยมุ่งศึกษาเรื่องความซื่อสัตย์ในสังคมไทยคือ ด้วยรัฐและสัตย์จริง : ระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด จริยธรรมแห่งรัฐ และความซื่อสัตย์ที่ผันแปร โดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

ศ.ดร.อรรถจักร์ศึกษาประวัติศาสตร์ระบอบอารมณ์ความรู้สึกเรื่องความซื่อสัตย์ (integrity) ในสังคมไทยแต่ละช่วงเวลา โดยมองว่าความซื่อสัตย์สัมพันธ์กับระบอบเกียรติยศ (regimes of honor) ที่สัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจที่เป็นลำดับชั้น จึงถูกทำให้เป็น ‘ความซื่อสัตย์จงรักภักดี’ ต่อผู้ที่เหนือกว่า และฝังอยู่ในระบอบอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน แต่ขณะเดียวกันเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงเกิดความรู้สึกอีกกระแสคือ ความซื่อสัตย์ที่อยู่บนฐานคิดเรื่องความเท่าเทียม และการต่อสู้ทางความคิดเรื่องความซื่อสัตย์สองกระแสนี้ก็ยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน

101 สนทนากับ ศ.ดร.อรรถจักร์ ถึงแนวคิดในหนังสือด้วยรัฐและสัตย์จริง การทำความเข้าใจเรื่องความซื่อสัตย์ผ่านระบอบอารมณ์ความรู้สึก และชวนมองเรื่องความซื่อสัตย์ในการเมืองไทยที่อยู่เบื้องหน้า

ทำไมจึงเลือกศึกษาระบอบอารมณ์ความรู้สึกเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ความรู้สึกแบบอื่น

ผมสนใจประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึกมานานพอสมควร ที่ผ่านมาไม่ได้ทำงานเป็นระบบนัก แต่แทรกเข้าไปในการสอนหนังสือ ทั้งเรื่องความรัก ความเกลียด ความกลัว ความสนใจอีกส่วนหนึ่งเกิดจากที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เริ่มพูดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่ผลักดันมนุษย์มาตั้งแต่ในงานช่วงแรกๆ ของท่าน

ส่วนเหตุที่เลือกศึกษาเรื่องความซื่อสัตย์ เพราะผมสนใจเรื่องความซื่อสัตย์มานานมาก คนไทยมักจะคิดถึงเรื่องความซื่อสัตย์ เน้นกันมากทีเดียว ในขณะที่ผมรู้สึกว่าคนไทยไม่ค่อยซื่อสัตย์ คนไทยมีปัญหามากมายในเรื่องนี้ แต่ตอนนั้นผมก็ยังตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร ประจวบเหมาะกับที่อาจารย์มิ่งสรรพ์ ขาวสอาดเสนอว่าต้องการทำความเข้าใจเรื่องนี้ (ภายใต้แผนงานวิจัยคนไทย 4.0) ผมจึงรับศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก

ในอนาคตถ้ายังมีแรงผมคงจะขยับทำเรื่องอารมณ์ความรู้สึกอื่นไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะเติมความรู้ในสังคมไทย เพราะเราขาดการศึกษาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาตลอด เรามักจะอธิบายอารมณ์ความรู้สึกสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว คุณจะรู้สึกอย่างไรก็รู้สึกไป อีกด้านหนึ่งก็โยนไปเป็นอกาลิโกเลย เช่น มนุษย์มีกิเลส แต่จริงๆ แล้วความรู้สึกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งๆ อารมณ์ความรู้สึกในแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ผมอยากจะผลักดันให้เกิดการศึกษาอารมณ์ความรู้สึกแต่ละช่วงเวลาในประวัติศาสตร์

เรื่องความซื่อสัตย์ที่อาจารย์ศึกษาอยู่ในความหมายของ ‘integrity’ เป็นหลัก ซึ่งในภาษาอังกฤษเราอาจจะพอเข้าใจความหมายของมัน แต่พอแปลเป็นภาษาไทยก็มีคนแปลคำนี้ไว้หลากหลาย บางทีก็แปลว่า ‘ความรับผิดรับชอบ’ ทำไมอาจารย์จึงมองว่าความหมายของ integrity คือความซื่อสัตย์

ตอนเริ่มต้นผมพยายามคิดถึงความซื่อสัตย์ในความหมายของ honesty ซึ่งผมคิดว่า honesty ในสังคมไทยยังพอจะมีอยู่ แต่เป็นความซื่อสัตย์เล็กๆ น้อยๆ เช่น เราเก็บกระเป๋าเงินได้และเอาไปคืนเขา แล้วได้รับการยกย่องมากมาย ความซื่อสัตย์แบบนี้มีความหมายไม่มากนักในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคม ผมจึงพยายามจะค้นไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่ามีความซื่อสัตย์แบบอื่นไหม ผมพบว่าสิ่งที่สังคมไทยขาดจริงๆ คือความรับผิดชอบ กลับกัน หากเราแปล integrity ว่า ‘ความสัตย์ซื่อ’ ความหมายมันจะไม่ตรงกับซื่อสัตย์

ดังนั้น ถ้าเราลองขยับความหมายของความรู้สึกที่เราควรจะมีในสังคมไทย ทั้งความสัตย์ซื่อที่จะมีต่อตัวเอง ต่อวิชาชีพ ต่อคนอื่น นี่คือความหมายของความซื่อสัตย์ที่สังคมไทยอยากจะเห็น ผมจึงนิยามใหม่ว่า honesty เป็นส่วนย่อยๆ ของความสัตย์ซื่อที่ใหญ่กว่าคือ integrity

จากนั้นผมก็ลองไปดูในเอกสารประวัติศาสตร์ อ่านเอกสาร อ่านทฤษฎีไปเรื่อยๆ จนคิดว่าควรมามองที่คำว่า integrity แต่เราจะเรียกมันในภาษาไทยว่าอย่างไร ในหนังสือผมใช้คำว่า ‘ความซื่อสัตย์’ เรื่อยมาเลย จนกระทั่งหลังจากอาจารย์นิธิเสียชีวิต ผมกลับมานั่งอ่านงานของท่าน พบว่าท่านแปล integrity ว่า ‘ความสัตย์ซื่อ’ คำนี้น่าจะทำให้เกิดความหมายที่ชัดเจนขึ้น

การพูดถึง honesty จะเชื่อมกับส่วนอื่นๆ ได้น้อย แต่เมื่อพูดถึง integrity เราจะเห็นความเชื่อมโยงกว้างขวางขึ้น และอยู่บนฐานเดียวกับ honesty ด้วย ซึ่งถ้าเริ่มศึกษาจากคำนี้จะทำให้ผมเข้าใจสังคมไทยได้ดีขึ้น ผมจึงเลือกใช้คำว่า integrity ในความหมายว่าความซื่อสัตย์ เพื่อขยับคนอ่านไปว่าเราต้องคิดมากกว่าความซื่อสัตย์ที่เขารณรงค์ทั่วไปว่าความซื่อสัตย์เป็นสมบัติของคนดี เราต้องมองไปให้ไกลมากขึ้น

เมื่อมองความหมายของความซื่อสัตย์ในสังคมไทยร่วมสมัย อาจารย์แบ่งคำนี้ว่ามีสองกระแสคือ ‘ความจงรักภักดี’ กับ ‘ความเท่าเทียม’ ทางแยกของสองคำนี้คืออะไร

ช่วงที่ศึกษาผมก็ดูว่าเมื่อวางความซื่อสัตย์อยู่ในบริบทแต่ละช่วงเวลาแล้วมันไปเชื่อมกับอะไรที่ใหญ่กว่าหรือไปเชื่อมสิ่งอื่นที่ทำให้ความหมายของความซื่อสัตย์มีพลังขึ้นมา

สมมติว่าผมวางความซื่อสัตย์ไว้ตรงกลาง แล้วก็พยายามอ่านเอกสารเพื่อมองว่ามันเชื่อมกับอะไร เพื่อที่จะทำให้เราเห็นได้ว่า อ๋อ ความซื่อสัตย์ไปเชื่อมกับความคิดชุดนี้มันจึงมีพลังต่อมนุษย์ มีพลังผลักดันให้มนุษย์ตัดสินใจทำนั่นนี่ ถ้าไม่มีความเชื่อมโยงนี้เราจะเห็นความซื่อสัตย์เป็นแค่ก้อนกลมๆ ที่ไม่มีความหมายอะไร

ผมพบว่าทางแยกที่สำคัญคือเมื่อเริ่มเกิดรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เรื่อยมา ความซื่อสัตย์ถูกผูกโยงเข้ากับความสัมพันธ์ในระบบการเมืองขณะนั้น คือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับไพร่ เจ้ากับขุนนางกับไพร่ เจ้ากับข้าราชการกับประชาชน ความซื่อสัตย์ถูกแปลงไปเพื่อทำให้เกิดการเชื่อมต่อของคนให้อยู่กับอำนาจสูงสุดได้อย่างสบายใจ และอำนาจสูงสุดก็สบายใจที่สามารถควบคุมคนได้ จุดเริ่มต้นที่เป็นทางแยกแรกของความซื่อสัตย์ที่ผูกอยู่กับความจงรักภักดี คือผูกอยู่กับรัฐสมัยใหม่ที่สร้างบนองค์อธิปัตย์ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

หลังจากนั้น ความซื่อสัตย์เริ่มขยายลงไปกำกับผู้คนอย่างกว้างขวางมากขึ้น กำกับขุนนาง เมื่อเปลี่ยนเป็นข้าราชการก็กำกับข้าราชการ เรื่อยมาจนกระทั่งขยายมาสู่ราษฎร แบบเรียนจำนวนมากจะชี้ให้เห็นว่าเราต้องจงรักภักดี คำว่าจงรักภักดีเริ่มมีความหมายคาบเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ในสังคมไทยจะมีคำว่าซื่อสัตย์จงรักภักดีหรือจงรักภักดีซื่อสัตย์ที่ใช้ประกอบกัน นี่คือทางเดินแรกของความซื่อสัตย์กับความจงรักภักดี สองอย่างนี้ผนวกเชื่อมกันเป็นระบบใหญ่ที่ครอบคุมทั้งหมด ผมใช้คำว่า ‘ระบอบเกียรติยศ’

ท้ายที่สุด ความซื่อสัตย์ไม่ใช่เพียงแค่ความซื่อสัตย์ แต่ความซื่อสัตย์สัมพันธ์อยู่กับระบอบเกียรติยศที่มีความหมายต่อชีวิตผู้คนในสังคม ถ้าพวกเราสัตย์ซื่อกับตัวเอง คนอื่นยอมรับเรา คนอื่นให้เกียรติเรา เราให้เกียรติคนอื่น อันนี้คือสิ่งที่ผมเชื่อมให้เห็นว่าเป็นระบอบเกียรติยศขึ้นมา อันนี้คือทางเริ่มต้น

พอมาถึง 2475 ก็มีการต่อสู้เรื่องนี้ คือมีความพยายามจะดึงระบอบเกียรติยศชุดนี้ให้ออกมาจากโครงสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ทำได้ไม่สำเร็จเท่าไหร่ มันจึงหายไป และกลายเป็นความซื่อสัตย์จงรักภักดีเรื่อยมา

ขณะเดียวกันทางแยกที่สำคัญของความจงรักภักดีในช่วงสมัยใหม่คือประมาณปี 2530-2540 สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือ โครงสร้างทางสังคมการเมืองที่ลดหลั่นกันเป็นลำดับชั้นเริ่มพังลง มนุษย์เริ่มสัมพันธ์กันแบบที่รู้สึกว่าเท่าเทียมกันมากขึ้น ชนชั้นกลางที่เลี้ยงชีพด้วยความสามารถส่วนตัวขยายตัวมากขึ้นๆ และเขาเริ่มมีสำนึกในตัวเองมากขึ้น สำนึกในศักยภาพตัวเอง สำนึกในความสามารถตัวเอง แล้วเริ่มที่จะตั้งคำถามกับลำดับชั้น (hierarchy) มากขึ้น ในกระบวนการนี้คำว่าความซื่อสัตย์ก็เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มไม่ใช่ความจงรักภักดี เริ่มไม่ใช่ความซื่อสัตย์ที่หมายถึงแค่ว่าไม่โกงของเขา มันเริ่มโยงมาสู่ชีวิตของเขาว่าชีวิตของเขาจะมีความหมายก็ต่อเมื่อต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเขาเอง ซื่อสัตย์ต่อการดำรงชีวิตของเขา ซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณของเขา ผมสนใจอาชีพช่างทั้งหลาย เพราะอย่างน้อยที่สุดเขาจะต้องรักษาลูกค้า แต่ความจริงนั่นคือการรักษาตัวตนไว้กับงานช่างนั้นๆ

คำใหม่ที่ใช้กันมากขึ้นในระยะหลังคือ ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง คำนี้กินความกว้างขวาง นอกจากซื่อสัตย์ต่ออารมณ์ความรู้สึกตัวเอง เช่น เกลียดก็แสดงออกว่าเกลียด แต่ผมคิดว่าความซื่อสัตย์ต่อตัวเองรวมถึงว่า หากเราทำงานนี้เราก็ทำให้เต็มที่ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ช่วงปี 2530-2540 การพูดเรื่องความซื่อสัตย์ต่อตัวเองขยายตัวอย่างมากและขยับไปสู่คำว่า integrity

สำนึกเรื่องระบอบเกียรติยศเพิ่งเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนช่วง 2530–2540 แสดงว่าช่วงก่อนหน้านั้นระบอบเกียรติยศเกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำก่อนใช่ไหม

ระบอบเกียรติยศแบบความจงรักภักดีถูกใช้ในชนชั้นนำเพื่อผูกตระกูลเจ้าเข้าด้วยกัน ต่อมาขยับสู่ขุนนาง และขยายจนกลายเป็นระบอบเกียรติยศหลักของสังคมไทย ในช่วงรัชกาลที่ 9 มีการพยายามสถาปนาระบอบเกียรติยศของความซื่อสัตย์แบบจงรักภักดีให้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ในหนังสือผมพูดถึงการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ แล้วยังมีเรื่องการมอบเหรียญชาวเขาที่ให้ชาวเขาไว้ใช้ต่อรองกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะมาไล่พวกเขาออกจากพื้นที่ ดังนั้นการนำคนเข้ามาอยู่ภายใต้เหรียญหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทั้งหมดนี้คือการสถาปนาระบอบเกียรติยศหลักของสังคมไทยที่ทำไว้อย่างมั่นคง

นอกจากความซื่อสัตย์แบบจงรักภักดีแล้ว อีกกระแสก็คือความซื่อสัตย์ภายใต้กรอบความคิดเรื่องความเท่าเทียม ความคิดเรื่องความเท่าเทียมนี้เริ่มต้นที่ 2475 ใช่ไหม

คำนี้เริ่มจาก 2475 แล้วขยายสู่กลุ่มคนกว้างขวางมากขึ้น ในด้านหนึ่งสังคมไทยหนีไม่พ้นการอยู่ภายใต้สองกรอบใหญ่ หนึ่งคือกรอบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือกลุ่มความจงรักภักดี อีกกรอบหนึ่งอยู่ข้างล่างและพยายามดึงเอาความคิดของ 2475 มาปรับใช้ตลอด น่าสนใจว่าระบอบเกียรติยศสองกระแสนี้มีความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลง โดยที่ระหว่างนั้นก็ประกวดประชัน (contesting) กันอยู่ตลอดเวลา

ในหนังสือผมตัดเรื่อง 2475 ออกไป เพราะมีคนพูดเยอะแล้ว เรื่องที่ใส่เอาไว้คือการพูดถึงกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะปัญญาชนคนหนึ่งที่พยายามจะสถาปนาระบอบเกียรติยศใหม่ที่ตรงกันข้ามกับระบอบเกียรติยศหลักของสังคมไทย

การที่ผมบอกว่าระบอบเกียรติยศสองกระแสนี้ประกวดประชันกันนั้น มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกของคนที่หลายครั้งเขาไม่ได้คิดชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนว่าต้องต่อสู้เรื่องระบอบเกียรติยศกับอีกกระแสหนึ่ง เช่น ในการเลือกตั้งที่คน 14 ล้านคนเลือกพรรคก้าวไกล เขาอาจไม่ได้คิดชัดเจน แต่เขารู้สึกไม่ชอบความไม่เท่าเทียมและไม่ชอบสิ่งสูงส่ง เขารู้สึกว่าเราควรจะต้องเท่ากันมากขึ้น ดังนั้น ระบอบเกียรติยศที่ก้าวไกลไม่ได้ตั้งใจเสนอ คือระบอบเกียรติยศที่ทำให้คนรู้สึกถึง integrity บนฐานของความเท่าเทียมกัน บนฐานของความสามารถส่วนตัวของปัจเจก

ผมไม่คิดว่าก้าวไกลคิดชัดเจนกับประเด็นนี้จนกระทั่งเสนอขึ้นมา แน่ละว่าก้าวไกลคิดเรื่องความไม่เท่าเทียมเป็นอย่างมาก แต่เขาคงไม่ได้คิดไปถึงว่าต้องต่อสู้เรื่องความไม่เท่าเทียมเพื่อสร้างระบอบเกียรติยศ

ในอดีตระบอบเกียรติยศเป็นสิ่งที่ใช้ยึดโยงชนชั้นนำด้วยกันเอง แล้วในปัจจุบันระบอบเกียรติยศในหมู่ชนชั้นนำมีความเปลี่ยนแปลงไปไหม หรือกระทั่งว่ายังมีอยู่หรือไม่

ตอนนี้มันลงมายึดโยงเครือข่ายชนชั้นนำที่ไม่ใช่กลุ่มชนชั้นนำตามประเพณี เพราะชนชั้นเจ้าเหลือจำนวนน้อยมากแล้ว แต่ขณะเดียวกันระบอบเกียรติยศขยายลงมาสู่เครือข่ายนักธุรกิจ เครือข่ายนักการเมือง และเครือข่ายข้าราชการ

ระบอบเกียรติยศชนิดนี้ยังมีอยู่ในชนชั้นนำและขยายตัวลงมา แต่เริ่มถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือในการปกปิดความชั่วของคนมากขึ้น หมายถึงคนชั่วที่แสดงตนเป็นคนซื่อสัตย์จงรักภักดี แล้วคุณก็จะกลายเป็นคนที่อยู่ในระบอบเกียรติยศชุดหนึ่งที่คุณจะสามารถยืดอกอยู่ในสังคมได้

การที่ความซื่อสัตย์ภายใต้กรอบคิดเรื่องความจงรักภักดีขยายตัวจากชนชั้นเจ้ามาสู่เครือข่ายอื่นในสังคมนั้นต้องเป็นอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ หรือเป็นแค่การแสดงออกเพื่อได้อยู่ในระบอบเกียรติยศนี้ สำคัญไหมว่าคนที่อยู่ในระบอบเกียรติยศนี้ต้องรู้สึกแบบนั้นจริงๆ

ผมพยายามจะคิดเรื่องนี้แต่พิสูจน์ไม่ได้ ในหนังสือเล่มนี้ก็มีส่วนที่ชวนคิดว่าเป็นการอ้างเพื่อให้มีอำนาจหรือเป็นความจงรักภักดีจริง ตัวระบอบเกียรติยศนี้ส่วนหนึ่งมีทั้งคนที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีจริง อีกส่วนหนึ่งคือคนที่ไม่ honesty อะไรทั้งสิ้น แต่มาอ้าง integrity กับความจงรักภักดี ถามว่าส่วนไหนเยอะกว่ากัน ผมคิดว่าส่วนหลังนี้อาจจะมีสัดส่วนมากขึ้นๆ เหมือนการลิปซิงก์ (lip-sync) เพื่อให้ตนเองเข้าไปอยู่ในระบอบเกียรติยศนี้ได้

ทำไมผมจึงคิดว่าส่วนหลังเยอะกว่า ผมกำลังคิดถึงเรื่องที่มีคนที่ต่อสู้ขับไล่ทักษิณมายาวนาน ถึงวันหนึ่งแต่ละฝ่ายก็กลืนเลือดได้ง่ายๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำในพรรคเพื่อไทยเรื่อยลงมาจนถึงพี่น้องที่เจ็บปวดกับการถูกฆ่า รวมถึงคนเสื้อแดงด้วย ไม่ว่าไพร่หรืออำมาตย์ วันนี้คุณกลับยอมรับได้

เมื่อเห็นพวกที่สวิงไปแบบนี้ ผมคิดว่าถ้าอย่างนั้นแล้วการอ้างความจงรักภักดีหรือการอ้างความเท่าเทียมนั้นเป็นการลิปซิงก์หรือเปล่า แต่สัดส่วนคนที่ลิปซิงก์เรื่องความจงรักภักดีมีมากขึ้น คือยังมีคนจงรักภักดีอยู่แหละแต่ผมเชื่อว่าลดลง

เมื่อวิธีคิดเรื่องความซื่อสัตย์จงรักภักดีลดน้อยลงในสังคมจะส่งผลต่อวิธีการมองเรื่องความซื่อสัตย์ในภาพใหญ่ของสังคมไทยหรือไม่

ผมคิดว่ามีผลแน่ ส่วนหนึ่งที่ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพื่อบอกกับผู้ที่เข้าไปมีอำนาจว่า ถ้าหากคุณคิดถึงเรื่องความซื่อสัตย์แบบธรรมดา โดยไม่คิดถึงระบอบเกียรติยศ สังคมไทยจะไม่มีวันแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ทั้งเรื่องคอมมิชชัน เรื่องการโกงทุกระดับ ผมอยากเตือนคนที่เข้าไปมีอำนาจว่าถ้าคุณอยากจะสร้างสังคมที่คนเข้าใจซึ่งกันและกัน คนมีความสัตย์ซื่อกับตัวเอง ไม่ละเมิดคนอื่น เคารพคนอื่น ไว้ใจสังคมได้ ไว้ใจคนได้ เช่นนั้นแล้วจำเป็นต้องคิดถึงความสัตย์ซื่อในแง่ที่เป็นระบอบเกียรติยศ เช่น กระทรวงศึกษาต้องคิดกันใหม่ แบบเรียนเรื่องหน้าที่พลเมืองต้องบอกว่าคนที่จะได้รับเกียรติยศของสังคมนั้นคือคนที่จะต้องเป็นอย่างไร หากเขียนหนังสือเด็กประถมก็อาจจะใช้การยกตัวอย่าง ไม่ใช่แค่บอกว่าจนแล้วให้กินข้าวกับไข่ต้ม มันมักง่าย

ถ้าหากเราคิดถึงระบอบเกียรติยศชุดใหม่ที่มีความซื่อสัตย์แบบเท่าเทียม จะเพิ่มโอกาสที่สังคมไทยเคลื่อนไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่เราไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ลองนึกถึงสังคมญี่ปุ่นที่ผ่านมา เรารู้สึกไว้ใจคนและไว้ใจสังคมญี่ปุ่นได้ เราคาดหมายได้ว่าเราจะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมถูกต้องตลอดเวลา เพราะเรารู้สึกว่าเขามี integrity

เรื่องความซื่อสัตย์ที่อาจารย์ศึกษาเป็นภาพขยายของคำว่า ‘ความดี’ หรือเปล่า เมื่อคำว่าความดีเป็นนามธรรมและขึ้นอยู่กับมุมมองของกลุ่มคน เช่น ความจงรักภักดีก็ถือว่าเป็นความดีในคนกลุ่มหนึ่ง แต่พอเรามองมันผ่านเรื่องความซื่อสัตย์แล้วมันดูจับต้องได้ชัดเจนมากกว่าการพูดถึงความดี

ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้ แต่ถ้าให้คิดต่อ เรื่องความซื่อสัตย์แบบที่ผมเสนอ หากเราสร้างให้มันเป็นระบอบเกียรติยศขึ้นมาได้ก็จะเป็น ‘ความดีงาม’ คือความดีงามในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ระหว่างคนกับสังคม คนจะไม่เอาเปรียบกัน ฉะนั้นมันก็จะเป็นส่วนที่ไปขยายคำว่าความดีให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงคนทำความดี เราจะนึกถึงการทำบุญ มีเมตตากรุณา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันไม่ใช่ระบอบเกียรติยศที่ให้ความหมายกับคน แต่ถ้าพูดถึง integrity จะเริ่มให้ความหมายกับคนมากขึ้น ถ้าเราสร้างระบอบเกียรติยศนี้ได้คงจะไปเปลี่ยนความหมายของ ‘คนดี-ความดี’ ในสังคมไทยให้มีความหมายมากกว่าที่พูดถึงคนดีตอนนี้

กปปส. ก็พูดถึงคนดีในความหมายที่เป็นความจงรักภักดีเป็นหลักด้วยซ้ำ ถ้าเราปล่อยให้สังคมไทยพูดเรื่องคนดี-ความดีแบบนี้ไปเรื่อยๆ ท้ายสุดแล้วมันจะไม่มีความหมายต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของคน มีอย่างเดียวก็คือคุณรอจ้องว่าใครพูดผิดหูก็แจ้ง 112 แค่นั้นเอง

ทำนองเดียวกันผมคิดว่าความดีคล้ายกับความซื่อสัตย์ที่ว่ามันต้องเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ ไม่มีอะไรที่เราเรียกว่าดีแล้วลอยอยู่เดี่ยวๆ แต่ตอนนี้เรากำลังทำแบบนั้นอยู่ ซึ่งมันก็พัง

แล้วความซื่อสัตย์สัมพันธ์กับการสร้างประชาธิปไตยไหม

สัมพันธ์กันมากทีเดียว ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่เราสามารถเชื่อมั่นกันและกัน มีกระบวนการเลือกตั้งที่จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีเหตุมีผลพูดคุยกันได้ มองเห็นซึ่งกันและกันและเราอยู่ร่วมกันโดยยอมรับความแตกต่างได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าหาก integrity ขยายตัวมากขึ้นจะทำให้เราสามารถมีความเชื่อมั่นทางสังคม (social trust) สูงมากขึ้นกับคนทุกๆ กลุ่ม ความเชื่อมั่นทางสังคมคือฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้เราทั้งสังคมเคลื่อนไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้

ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลนี้คืออะไร นี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นเลยว่าท้ายที่สุดแล้วสังคมสูญเสียความเชื่อมั่นทางสังคมกับพรรคการเมืองใหญ่ ก็คือพรรคเพื่อไทย เช่น การตั้งคำถามว่าเรื่องที่พูดนี้เป็นเทคนิคการหาเสียงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่แก้ 112 หรือเรื่องปฏิรูปกองทัพที่เปลี่ยนไปใช้คำว่า ‘เป็นการพัฒนาร่วมกัน’ ทำให้เขาถูกวิจารณ์ว่าไม่ตรงปก เพราะคุณไม่มี integrity คุณจึงทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยที่ไม่ละอาย และการทำได้โดยไม่ละอายนี้คุณก็ไปโยงกับ ‘อำนาจทางวัฒนธรรม’ ที่เหนือกว่า

การที่พรรคเพื่อไทยมีการผิดคำพูดต่อประชาชนหลายเรื่องนั้นส่งผลอย่างไรต่ออารมณ์ความรู้สึกของสังคม โดยเฉพาะเมื่อเพื่อไทยเคยเป็นพรรคที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาก

ทุกคนต่อว่าพรรคตรงกันว่าเพื่อไทยโกหก แต่จากคำว่าโกหก ผมอยากบอกว่าพรรคเพื่อไทยได้สูญเสีย integrity ไปแล้ว การสูญเสีย integrity ส่งผลมากกว่าแค่การโกหกทั่วไป เมื่อคุณสูญเสียความเชื่อมั่นที่สังคมมีให้คุณแล้วมันแก้ไขกลับคืนไม่ได้ง่ายๆ แบบที่เขาคิดว่าถ้าเอาเงินเข้ากระเป๋าชาวบ้านแล้วจะแก้ปัญหาได้

สิ่งที่คุณต้องทำจากนี้คือ คุณต้องหวนคืนไปสู่ความสัตย์ซื่อหรือ integrity คุณเคยโกหกอะไรไว้แล้วพอเป็นรัฐบาลก็ค่อยๆ ขยับกลับมา อย่าไปอ้างว่าเพราะเราไม่ได้ถูกเลือกมาเป็นเสียงข้างมากจึงทำไม่ได้ นั่นยิ่งสูญเสีย integrity ไปอีก

ระบอบเกียรติยศแบบความเท่าเทียมของพรรคเพื่อไทยถูกทำลายไปด้วยเป้าหมายการเป็นรัฐบาลครั้งนี้ คนที่วิจารณ์ทั้งหมดก็เห็นว่าเพื่อไทยสูญเสียต้นทุนครั้งใหญ่ และผมคิดว่าต้นทุนครั้งใหญ่นี้คือความเชื่อมั่นทางสังคมที่คุณทำลายมันไปแล้ว

ตอนนี้เรื่องความซื่อสัตย์เป็นโจทย์ใหญ่ของการเมืองไทยหรือไม่ ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ถกเถียงกันมากว่าเราจะรักษาคำพูด มีความซื่อสัตย์ต่อหลักการ หรือจะ practical เพื่อจะได้เดินหน้าอยู่ในการเมืองแบบไทยๆ ได้

คนในสังคมไทยเริ่มคาดหวังมากขึ้นว่าคุณต้องทำตามสิ่งที่พูด แต่ขณะเดียวกันในวันนี้คนไทยจำนวนหนึ่งยอมกลืนเลือด เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะเรียกร้องให้เพื่อไทยมี integrity ดังนั้นที่พรรคเพื่อไทยยังยืนอยู่ได้ก็คือเขาคิดว่าคนไทยเป็นพวกปฏิบัตินิยม ยืดหยุ่น ซึ่งอาจจะเป็นจริงก็ได้ ผมอาจจะผิดก็ได้ เพียงแต่ถ้าดูจากกระแสวิจารณ์ ผมคิดว่าสังคมไทยต้องการคนที่มี integrity มากขึ้นๆ

เมื่อก่อนเราอาจจะยอมรับนักปฏิบัตินิยมที่ไม่มี integrity ได้ เช่น โกงก็ได้แต่เอามาแบ่งด้วยนะ แต่ตอนนี้เราเริ่มต้องการอะไรมากกว่านั้น คนเริ่มเรียกร้องมากขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งคือความตายของอาจารย์นิธิแสดงให้เห็นว่า ผู้คนสื่อสารกับอารมณ์ความรู้สึกของ integrity แบบนิธิ เอียวศรีวงศ์กว้างขวางมาก ช่วงหลังจากอาจารย์นิธิเสียชีวิตมีคนจัดงานรำลึกถึงท่านหลายงาน แล้วผมไปอ่านคอมเมนต์ในวิดีโอที่ถ่ายทอดสดงานรำลึกต่างๆ ผมคิดว่าความเห็นเหล่านั้นสื่อสารถึงความรู้สึก integrity ในสังคมมากขึ้น

งานของอาจารย์นิธิเป็นงานที่กระชากพรมออกจากตีนผู้คน แปลว่าคุณเคยเชื่อแบบหนึ่งแล้วอาจารย์นิธิกระชากพรมจนคุณล้มและคุณก็เริ่มคิดถึงมุมใหม่ การตายของอาจารย์นิธิชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ต้องการ integrity

ถ้ามองไปที่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่เลือกสนับสนุนพรรคไม่ว่าหลักการจะเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างไร นี่คือความจงรักภักดีต่อพรรคหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

อย่างน้อยที่สุดผมคิดว่าทักษิณมีพลังมากๆ จากการให้โอกาสกลุ่มคนที่กลายมาเป็นเสื้อแดง โดยมีหัวใจคือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค รวมทั้งเงินกองทุนหมู่บ้าน คนจำนวนมากยอมรับและยอมแลกทุกอย่างกับการขึ้นมาของเพื่อไทยและการกลับบ้านของทักษิณ  ในด้านหนึ่งนี่คือความจงรักภักดีต่อทักษิณและหลักการของทักษิณ ทักษิณจะถูกบวกด้วยหลักการอยู่เสมอ ทักษิณมี charisma ที่ดึงดูดใจเฉพาะ แต่ก็มี 30 บาทรักษาทุกโรคติดเป็นแบรนด์ด้วยเช่นกัน

หากถามว่าคนกลุ่มนี้คิดอย่างไร ผมคิดว่าเป็นความซื่อสัตย์ต่อตัวเองภายใต้กรอบความจงรักภักดีอีกแบบหนึ่ง มีคำอธิบายจากผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเขาบอกว่า อย่างไรก็ตามเราต้องเคารพประชาชน เมื่อประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยมา เราก็ต้องเคารพเขา ประโยคนี้ก็ใช้ได้ในแง่ว่านี่คือระบอบเกียรติยศอันใหม่ที่เชื่อมโยงกับความเท่าเทียมระดับหนึ่ง แต่ยังยืนอยู่ภายใต้ผู้นำ

ขณะเดียวกันผมคิดว่าคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกรับไม่ได้ เพียงแต่วันนี้อยู่ในภาวะซึมทางการเมือง ก็ปล่อยให้เพื่อไทยเขาเดินไป

ถ้าย้อนมองเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่เลือกตั้งมาจนถึงปัจจุบันมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ทั้งหมดนี้สร้างอารมณ์ความรู้สึกแบบไหนให้กับสังคม

ในช่วงเดือนแรกหลังเลือกตั้ง คนที่เลือกก้าวไกล 14 ล้านเสียงบวกกับคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยอีกจำนวนหนึ่ง อาจจะสัก 3 ล้านเสียง เขาตื่นเต้นคิดว่าก้าวไกลจะมีโอกาส เริ่มรู้สึกถึงความหวัง เกิดความหวังใหม่ทางสังคมที่จะมาแก้ไขปัญหาที่เราเจอ รู้สึกว่าจะได้เจอกับคนที่มี integrity และจะแก้ปัญหาโครงสร้างให้เรา นั่นคืออารมณ์เบื้องต้น

แต่ทันทีที่อารมณ์เหล่านั้นถูกหักลงด้วยการที่เพื่อไทยฉีกเอ็มโอยู คนจำนวนมากรู้สึกรันทด นำมาสู่ความรู้สึกซึมทางการเมือง รู้สึกเซ็งกับการเมือง เบื้องหลังความรู้สึกเซ็งคือเขารู้สึกว่าเลือกตั้งไปก็แค่นั้น เสียงเราเป็นเพียงคนตัวเล็กตัวน้อย ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เรารู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้ เราถูกพวกข้างบนทำร้าย ปิดกั้นเราทุกอย่าง พอรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ เราตัวเล็กตัวน้อย จึงเกิดสภาวะซึมทางการเมือง

ช่วงก่อนเลือกตั้งรายการโทรทัศน์ทุกรายการต้องพูดเรื่องการเมือง เพราะคนสนใจเยอะมาก แต่ทันทีที่จัดตั้งรัฐบาลแล้ว รายการโทรทัศน์เขาก็รู้อารมณ์ของสังคม เขาเริ่มเปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่นและมาถูกกระตุ้นอีกเมื่อเกิดกรณีกำนันนกที่สะเทือนสังคมและชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยเรียกร้อง integrity เรียกร้องตำรวจที่ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ

แรกเริ่มที่อาจารย์สนใจศึกษาเรื่องนี้เพราะมองว่าสังคมไม่มีความซื่อสัตย์ แต่ดูแล้วตอนนี้สังคมกำลังพยายามสร้างมันขึ้นมาหรือเปล่า

ใช่ เรากำลังจะสร้างความซื่อสัตย์หรือเรียกร้องให้คนในสังคมทุกหน่วยทุกกลุ่มต้องสร้าง integrity ขึ้นมา เพื่อที่เราจะได้อยู่ร่วมกันโดยที่รู้ว่าถ้าเลือกทำแบบนี้จะได้รับผลอะไร

สังคมประชาธิปไตยกำลังจะสร้างความซื่อสัตย์แบบ integrity ขึ้นมาและหวังว่าเราจะสร้างกันได้ การรื้อระบบตำรวจอาจจะทำให้เกิดการสร้าง integrity ในกลุ่มตำรวจ รื้อทหารก็ทำให้มี integrity ในระบบทหาร ซึ่งถ้าหากสร้างจนเป็นระบอบเกียรติยศได้แล้ว ผมเชื่อว่าระบอบเกียรติยศนี้จะไปกำกับให้คนไม่กล้าคอร์รัปชัน

ถ้าเรารู้ว่าเราโกงแล้วแบ่งคนอื่น เราจะยังมีชื่อเสียง มีเกียรติยศอยู่ คนก็พร้อมที่จะโกง แต่ทันทีที่รู้ว่าถ้าโกงแล้วคนจะรุมด่าเรา ชื่อเสียงเกียรติยศเราจะตกต่ำ การตัดสินใจโกงก็จะลดลง ถ้าเกิดระบอบเกียรติยศแบบนี้ได้ ตำรวจก็จะไม่มีวันจะไปกินเหล้ากับกำนันนก 20 กว่าคน

สังคมไทยมีความกลัวคำว่า ‘คนดี-ความดี-จริยธรรม’ แล้วเมื่อเราศึกษาเรื่องความซื่อสัตย์-จริยธรรม ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ตกอยู่ในหล่มการเมืองคนดี

ไม่รู้ (หัวเราะ) ถ้าเราเดินไปอย่างนี้ วิพากษ์ทุกอย่างไปเรื่อยๆ ในอนาคตอำนาจที่ใช้กำกับการลงโทษเมื่อเราพูดสิ่งที่ต้องห้ามก็จะลดลง การที่ทนายอานนท์ นำภาพูดในม็อบแฮร์รี พอตเตอร์ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการพูดในสิ่งที่คนรุ่นผมไม่กล้าพูดมานานมาก ตอนนี้คนรุ่นใหม่พูดมากขึ้น พูดในโซเชียลมีเดีย พูดในที่อื่นๆ มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะสลัดเราให้พ้นบ่วงที่จะลงโทษเรา ซึ่งจะพ้นเมื่อไหร่ผมไม่รู้ แต่ตอนนี้คำว่าคนดีถูกขยี้จนเละไปแล้ว เหมือนที่มีการใช้คำว่า ‘คนดีย์’ นี่คือการเปลี่ยนวิธีคิดคน หวังว่าเราจะหลุดบ่วงนี้ในเวลาที่ไม่นานนัก

เรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องกันไหม พอฝ่ายหนึ่งครอบครองการนิยามความหมายของคำว่าคนดีที่เอาไปใช้ในเชิงจงรักภักดี ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อยากพูดเรื่องนี้ จนในวันนี้ผู้สนับสนุนเพื่อไทยก็บอกว่าการเล่นการเมืองไม่ต้องขาวสะอาดก็ได้ ไม่ต้องเป็นคนดี เรื่องนี้เกี่ยวข้องกันไหม

ผมมองโลกแบบมีความหวังว่า ในอีกไม่นานนักเราคงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เรามีชุดคำที่จะมาอธิบายความรู้สึกใหม่ได้ชัดเจนมากขึ้น คำว่า คนดี-ความดี อาจจะต้องมีคำอื่นมาประกอบ เช่น คนดีเพื่อประชาชน อันนี้ผมคิดขึ้นมาเร็วๆ เพียงแต่ว่ามันจะไม่ใช่คนดีแบบที่เราเข้าใจในทุกวันนี้ มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ส่วนเรื่องพรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นคนที่มีอิทธิพลในเพื่อไทยคิดแบบนี้ ผมจะบอกให้หยุดการแก้ตัวแบบนี้ ยิ่งแก้ตัวยิ่งเสีย เพราะฉะนั้นไม่ต้องแก้ตัว ก็ทำงานไป หากมีใครถามก็ตอบว่าให้ดูที่ผลงาน การสูญเสียความเชื่อมั่นของสังคมมันลึกมากจนกระทั่งคุณพูดอะไรก็เสียหมด

จากที่คุยกับอาจารย์มาจะเห็นว่า ความรู้สึกเรื่องความซื่อสัตย์ขึ้นอยู่กับการนิยามของแต่ละกลุ่มคน แล้วส่วนตัวอาจารย์ให้ความหมายคำว่าความซื่อสัตย์อย่างไร

หากคิดถึงความซื่อสัตย์ที่กระจายไปมีความหมายที่หลากหลายในคนแต่ละกลุ่ม แล้วถามว่าจะจัดวางผมอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดผมมี integrity ในวิชาชีพของผม

หน้าที่อย่างแรกของผมคือสอนหนังสือ ผมนิยามเป้าหมายของการเป็นครูที่สำคัญที่สุดคือทำให้นักเรียนรู้ในสิ่งที่เราสอน นี่คือความซื่อสัตย์หลัก เวลาสอนบางทีผมก็ด่านักเรียนที่ไม่ยอมทำงาน ทั้งหมดก็เพื่อเป้าหมายอันเดียว ผมจะไม่มีจริยธรรมแบบที่ว่าต้องพูดจาเพราะ แต่ผมซื่อสัตย์ในความเป็นครูของผม คือทำให้มึงรู้ให้ได้ ทำอย่างไรให้มึงเข้าใจในสิ่งที่กูอยากให้มึงเข้าใจ

อีกหน้าที่คือผมเป็นพลเมืองไทย ผมก็พยายามจะพูดในสิ่งที่ควรพูดและพูดได้โดยไม่ติดคุก นี่คือ integrity ในปัจเจกชนที่สำคัญที่ผมปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่ผมใจไม่ถึงเท่าหลายๆ คน ผมกับอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล โดนคดี ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ แต่คดีของเราเป็นปลายเล็บถ้าเทียบกับคนโดน 112 เราโดนคดีเพียงเพราะแค่พูดว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร เราต้องพูด แต่จะให้เราพูดแบบเด็กรุ่นใหม่ก็บอกตรงๆ ว่ายังใจไม่ถึง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save