fbpx

ASTEROID CITY จักรวาลย้อมสี บนละครเวทีแห่งแสงเงา

นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง The Royal Tenenbaums ที่ออกฉายเมื่อ ค.ศ. 2001 ผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ก็ดูจะประกาศแนวทางการสร้างงานภาพยนตร์ในแบบเฉพาะตัวที่ชัดเจนมากขึ้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจ้างดารา-นักแสดงดัง ๆ มารับบทมวลหมู่แบบยกชุด (ensemble) กันจนล้นจอ ลีลาการแสดงที่เล่นล้อไปกับแนวตลกหน้าตาย ไม่มุ่งเน้นความเป็นธรรมชาติ ตัวละครเด็กฉลาดมาดเนิร์ดที่เหมือนจะขาดไม่ได้ และที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดก็เห็นจะเป็นแนวทางการกำกับภาพที่จัดวางตัวละครลงตำแหน่งเฟรมตามผืนระนาบ ขนาบเส้นสมมาตรบ้าง ไม่สมมาตรบ้าง หากวางน้ำหนักให้กับองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างประณีต ขีดเขียนเกลี่ยระบายด้วยสีโทนพาสเทลอุ่นๆ สบายตา ในลีลาที่ละม้ายคล้ายคลับกับงานหนังสีของดาวตลกชั้นครูชาวฝรั่งเศสอย่าง ฌาคส์ ทาที (Jacques Tati)

เมื่อมาถึงผลงานล่าสุดอย่างเรื่อง Asteroid City (2023) ที่เพิ่งจะเปิดตัวรอบปฐมทัศน์ไปในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 76 ประจำปี 2023 ผู้กำกับเวส แอนเดอร์สัน ก็ยังคงรักษาลายเซ็นเฉพาะตัวที่สร้างชื่อให้เขาไว้ได้ทุกประการ แต่ในงานชิ้นนี้เขามิได้นำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อภาพยนตร์ที่เขาถนัดแต่เพียงอย่างเดียว หากยังหลอมรวมจักรวาลแห่งศิลปะการแสดงละครเวทีถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์เข้ามาอีกมิติหนึ่ง ในรูปแบบที่เขายังไม่เคยทำมาก่อนด้วย

Steve Carell in director Wes Anderson’s ASTEROID CITY, a Focus Features release. Credit: Courtesy of Pop. 87 Productions/Focus Features

ส่วนเนื้อหา Asteroid City ว่าด้วยกระบวนการสร้างงานละครเวทีที่มีชื่อว่า Asteroid City ซึ่งผู้ชมมีโอกาสชมผ่านส่วนที่เป็นสีของหนัง ในขณะที่ฉากเบื้องหลังงานสร้างต่างๆ หลังม่านละครจะเล่าผ่านส่วนสีขาว-ดำ ตัวละครหลักคือมือเขียนบท คอนราด เอิร์ป ซึ่งแสดงโดย เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน (Edward Norton) เป็นผู้ประพันธ์เรื่องราวทั้งหมดใน Asteroid City ซึ่งเขาเล่าความคิดเบื้องหลังและแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน พร้อมๆ กับการเปิดเผยรสนิยมทางเพศที่แท้จริงของตัวเองผ่านความสัมพันธ์กับนักแสดงหนุ่มที่มารับบทนำในบทละครของเขา บทที่ว่านั่นคือ ออกี สตีนเบ็ค แสดงโดย เจสัน ชวาร์ตซ์แมน (Jason Schwartzman) ช่างภาพสงครามพ่อม่าย ที่ได้ขับรถพา วูดโรว ซึ่งรับบทโดย เจค ไรอัน (Jake Ryan) บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์น้อย ติดสอยห้อยตามมากับบุตรสาวคนเล็กอีกสามราย มาเข้าค่าย Junior Stargazer เพื่อรับเหรียญรางวัลและดูดาวกันที่ Asteroid City โดยพักกันที่รีสอร์ตละแวกใกล้เคียง ในงานเดียวกันนี้ยังมีดารา-นักแสดงสาว มิดจี แคมป์เบลล์ ซึ่งแสดงโดย สการ์เล็ตต์ โจฮันส์สัน (Scarlett Johansson) พาลูกสาวนาม ไดนาห์ แสดงโดย เกรซ เอ็ดวาร์ดส์ (Grace Edwards) มาร่วมรับรางวัลด้วย ทั้งออกี-มิดจีและวูดโรว-ไดนาห์ มีโอกาสได้ใกล้ชิดกัน สานความสัมพันธ์จนเกิดเป็นประกายรักในใจของคนสองรุ่น ท่ามกลางความวุ่นวายของเหล่าตัวละครมากมายหลากหลายที่มาร่วมเข้าค่ายนักดาราศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งนี้ โดยยังมีการตัดสลับไปยังการทำงานของผู้กำกับละคร ชูเบิร์ต กรีน แสดงโดย เอเดรียน โบรดี (Adrien Brody) ขณะที่เขากำลังทำงานกับคนเขียนบทและนักแสดงที่ไม่เข้าใจในบทบาทที่ตนเองกำลังเล่นอยู่ในส่วนสีขาว-ดำ

ด้วยโครงเรื่องที่มีกลิ่นอายของความเป็นไซ-ไฟ ทั้งยังย้อนยุคไปยังช่วงปี 1950s ณ เมืองกลางทะเลทรายในสหรัฐอเมริกา เปิดโอกาสให้ผู้กำกับสามารถรังสรรค์เนรมิตฉากหลังแห่งนคร Asteroid City ด้วยสีสันและองค์ประกอบภาพในแบบฉบับเฉพาะตัวออกมาได้สวยงามไม่แพ้ผลงานเรื่องก่อนๆ ทุกช็อต ทุกเฟรมได้รับการออกแบบมาอย่างละเอียดประณีต และแม้โดยพื้นฐานแล้วจะแลดูประดิษฐ์จัดวางประกอบสร้างกันอย่างไร ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นความจงใจในเชิงสไตล์ที่ให้ภาพชัดเลยว่าจักรวาลของ Asteroid City ในจินตนาการของเวส แอนเดอร์สันนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ลีลาภาพของหนังจึงหนักแน่น คงเส้นคงวา ตั้งแต่นาทีแรกจนถึงนาทีสุดท้าย และไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เล่าด้วยภาพสีหรือส่วนที่เป็นภาพขาวดำ เขาก็ทำออกมาได้งดงามสะดุดตาไม่เหมือนใคร มีความเป็น ทาโบล วิวองต์ (tableau vivant) หรือการจำลองภาพเขียนโดยใช้หมู่มนุษย์จริงๆ มาโพสท่านิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว สามารถสุ่มจับภาพ ณ หมุดเวลาใดๆ มาใช้เป็นภาพประชาสัมพันธ์หนังได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาเลือกเลยทีเดียว

(L to R) Fisher Stevens, Jeffrey Wright, Tony Revolori, and Bob Balaban in director Wes Anderson’s ASTEROID CITY, a Focus Features release. Credit: Courtesy of Pop. 87 Productions/Focus Features

อย่างไรก็ดี ในขณะที่งานภาพของ Asteroid City โดดเด่นจนกลายเป็นส่วนที่แข็งแรงมากที่สุดของหนัง ในส่วนของตัวบทภาพยนตร์ซึ่งแอนเดอร์สันเขียนคู่กับ โรมัน คอปโปลา (Roman Coppola) กลับไม่ได้เข้มข้นอลังการเทียบเท่ากับงานภาพของหนัง เนื้อหาส่วนที่ว่าด้วยกิจกรรมการเข้าค่ายนักดาราศาสตร์น้อยก็เหมือนมีหน้าที่เป็นเพียงเวทีสำแดงพฤติกรรมความคิดอ่านสุดเนิร์ดของเหล่าสมาชิกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์อย่างไร้ความหมาย ไม่ได้เห็นเลยว่าพวกเขามาเข้าค่ายครั้งนี้เพื่อเรียนรู้อะไรนอกเหนือจากจะได้มารวมตัวกัน ด้านเรื่องราวความรักระหว่างตัวละครคู่หลักสองวัยก็ดำเนินไปอย่างพอจะคาดเดาได้ ไม่มีอะไรชวนให้เซอร์ไพรส์ แต่นั่นก็ยังไม่น่าผิดหวังเท่าเรื่องราวความสูญเสียมารดาและภรรยาในครอบครัวของออกีที่หนังดูจะเล่นล้อแบบทีเล่นทีจริงจนไม่ชวนให้รู้สึกสะเทือนใจ ยิ่งการมาถึงของกองทัพอเมริกันและผู้บัญชาการ รวมถึงการปรากฏตัวของมนุษย์ต่างดาวก็หาได้มีเงื่อนงำที่จะทำให้รู้สึกระทึกหรือตื่นเต้นใดๆ เนื้อหาทั้งหมดของหนังจึงเหมือนค่อยๆ ดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมาย แกว่งมาแกว่งไประหว่างจำนวนตัวละครที่โผล่มาเข้าฉากมากล้นจนเกินไป ทำให้สูญเสียโฟกัสเรื่องราวหลักของหนัง

Scarlett Johansson in director Wes Anderson’s ASTEROID CITY, a Focus Features release. Credit: Courtesy of Pop. 87 Productions/Focus Features

ยิ่งส่วนที่ตัดไปเล่าถึงเบื้องหลังการสร้างงานละครเวทีในฉากสีขาวดำทั้งหลาย ก็ดูจะเป็นกิมมิคทะลุมิติที่มิได้ขยับขยายทรรศนะมุมมองของการข้ามสื่อระหว่างภาพยนตร์และละครเวทีที่ลึกซึ้งอะไร ดูแล้วก็ชวนให้รู้สึกว่าทั้งเวส แอนเดอร์สันและโรมัน คอปโปลาเองก็ไม่ได้ ‘อิน’ ไปกับ ‘ศาสตร์’ และ ‘ศิลป์’ แห่งละครเวทีมากขนาดนั้น การนำเสนอภาพเบื้องหลังจึงยังตื้นเขินเหมือนเป็นมุมมองจากคนนอก จนอดคิดไม่ได้ว่าผู้กำกับเลือกใส่มา เพื่อหาข้ออ้างในการรังสรรค์ฉากขาวดำให้ตัดกับส่วนที่เป็นสีของหนัง ไม่ได้ตั้งใจจะวิพากษ์ธรรมชาติพื้นฐานที่แตกต่างกันจริงๆ ของศิลปะการแสดงสองแขนงนี้

เอาง่ายๆ ลำพังเพียงเนื้อหาบทละครที่เกี่ยวกับการเข้าค่ายดูดาว Junior Stargazer ตามที่ปรากฏในหนัง หากเอามาทำเป็นละครเวทีตามที่ผู้กำกับแบ่งองก์แบ่งฉากเอาไว้ มีหวังว่ามันจะออกมาเป็นละครที่ไม่เห็นจะชวนรื่นเริงบันเทิงใจ เล่นได้ไม่ถึงสัปดาห์ก็อาจจะต้องถอดการแสดงออกจากโปรแกรมไปแล้ว คือบทละคร หรือจริง ๆ คือบทภาพยนตร์ของ Asteroid City ไม่ได้ลุ่มลึกเข้มข้นเหมือนละครเวทีโดยทั่วไป ไม่มีเหลี่ยมมุม (intrigue) ไม่มีเงื่อนงำ (suspense) ที่จะเลี้ยงความสนใจผู้ชมได้ ทั้งยังกระจัดกระจายห่างไกลจากสถานะการเป็นบทละครชั้นยอด! ยิ่งกว่านั้นก็คือผู้กำกับเวส แอนเดอร์สัน เลือกแล้วที่จะให้นักแสดงทุกรายแสดงอารมณ์ในลักษณะ ‘หน้าตาย’ ซึ่งย่อมสูญเสียความรู้สึกอันเป็นธรรมชาติไปโดยปริยาย ก็ยิ่งเป็นการ ‘ผลัก’ คนดูให้ถอยห่างจากตัวละครทุกๆ ราย จนยากเหลือเกินที่จะเกิดอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวของพวกเขา ‘เรื่องเล่า’ ทั้งหมดใน Asteroid City จึงยังมีความ ‘ปลอม’ อยู่สูง ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่สามารถ ‘สนุก’ ไปกับการติดตามเรื่องราวได้ ชวนให้รู้สึกเสียดายว่าผู้เขียนบทอย่างเวส แอนเดอร์สันและโรมัน คอปโปลา น่าจะให้ความสำคัญกับส่วนการ ‘เล่าเรื่อง’ ของหนังให้เทียบเท่ากับความ ‘มลังเมลือง’ ด้านภาพ

สุดท้ายก็มาถึงคำถามว่า แล้วเราควรจะประเมินอย่างไร กับหนังที่มีองค์ประกอบบางส่วนทำออกมาได้ดีจนน่าใจหาย ในขณะที่บางองค์ประกอบก็ยังไม่เป็นโล้เป็นพายไม่เป็นสับปะรด แน่นอนว่านี่อาจจะยังเป็นหนังที่ ‘ไม่สมบูรณ์’ แต่ถ้าส่วนที่ดีของมันมันจะงดงามจน ‘ทะลุ’ ได้ถึงขนาดนี้ มันก็ยังควรค่าที่จะเสียเวลาหาโอกาสดูกันอยู่ไหม แล้วส่วนไหนที่ยัง ‘บ้ง’ ก็ค่อยมาบ่นมาทัวร์ลงกันต่อไปตามอัธยาศัยเพราะอย่างน้อยเราก็จะยังได้ประทับใจกับส่วนดีๆ ของมัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save