fbpx

ชะตากรรมของศาลากลางหลังเก่าสะท้อนอะไร

เมื่อตอนต้นเดือนกรกฎาคม ผมได้มีโอกาสไปเมืองน่าน เรื่องหนึ่งที่ได้ยินคนน่านร่ำลือกัน แต่ยังไม่เป็นข่าวตอนนั้นคือ กระทรวงมหาดไทยตัดสินใจอนุญาตให้เอกชนดูแลศาลากลางหลังเก่า (ซึ่งเป็นหลังที่สอง ก่อนหน้านั้นมีอีกหลังที่สร้างขึ้นเป็นหลังแรก ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน) โดยมูลนิธิรักษ์ป่าน่านที่มีนายบัณฑูร ล่ำซำ เป็นรองประธาน ตั้งใจจะทำเป็น ‘หอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ล้านนาตะวันออก’

สถานการณ์หักมุมจากเมื่อแรกสุดจะมอบพื้นที่นี้ให้กับ อบจ.น่าน แต่ประเมินแล้วคงเกินกำลัง ก่อนกลายเป็น อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)) ซึ่งมีเมืองเก่าน่านเป็นหนึ่งในเขตพื้นที่พิเศษในความดูแล อพท. จะเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาปรับปรุง ตั้งงบไว้กว่า 200 ล้านบาท โดยต้องนำเอาแบบแปลนมาผ่านคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่านด้วย ถือเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องเมืองเก่า ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ประกอบด้วยตัวแทนหลายภาคส่วน และให้วัฒนธรรมจังหวัดเป็นเลขานุการ (แตกต่างจากคณะกรรมการชุดเดียวกันนี้ในจังหวัดอื่นที่ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดทำหน้าที่ฝ่ายเลขา)

ตอนนั้นฟังดูก็ไม่ยักรู้สึกถึงความไม่สบายใจของคนพื้นที่ บางเสียงออกจะชื่นชมยินดีด้วยซ้ำ เพราะมูลค่าโครงการที่เอกชนทุ่มทุนฟังดูมากกว่าที่ภาครัฐจะลงทุนทำเองหลายเท่าตัว รวมไปถึงได้ตระเตรียมงบสำหรับการบริหารจัดการไว้พร้อมสรรพ

กระทั่งกลางเดือนสิงหาคมจึงเริ่มมีข่าวภาคประชาชนคัดค้านโครงการนี้ปรากฏในสื่อออนไลน์ ข้อกังวลมี 2 ประเด็นใหญ่คือ ตามแผนจะมีการรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ทั้งหลัง ไม่เก็บตัวอาคารเก่าไว้เลย และทำไมจึงยกให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์ แทนที่จะเป็นหน่วยงานรัฐ

ส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหากับการมอบพื้นที่สาธารณะของรัฐให้เอกชนดูแล ถ้าเป็นไปอย่างรอบคอบ มีส่วนร่วม และตรงไปตรงมา โดยเฉพาะหากประชาชนได้ใช้ประโยชน์เสียยิ่งกว่าอยู่ในมือของรัฐแต่กลับถูกปล่อยร้างหรือบริหารจัดการไม่ได้เรื่อง ที่พูดแบบนี้ เพราะเคยเห็นตัวอย่างอันน่าเศร้าจากกรณีบ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่มาแล้ว บ้านเก่าหลังนี้ได้รับการปรับปรุงเป็นศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ดำเนินการภายใต้มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง ทว่า ต่อมาถูกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานฟ้องขับไล่ เนื่องจากนโยบายของผู้บริหารที่ย้ายมาอยู่ใหม่ประสงค์จะใช้เป็นบ้านพักตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิม ในที่สุดมูลนิธิก็แพ้คดีในศาล ต้องออกจากพื้นที่ พร้อมชดใช้ค่าขาดประโยชน์การใช้พื้นที่อีกเป็นจำนวนเงินหลายแสน เวลาผ่านไป 5-6 ปี สภาพทุกวันนี้คือ รั้วปิดตาย ตัวบ้านทรุดโทรม หญ้าขึ้นรกรุงรัง

กำเนิดศาลากลางกับการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การก่อตัวของระบบราชการแบบใหม่ในหัวเมืองประเทศราชแทนที่เจ้าเมืองเดิมในยุครัฐจารีตตลอดช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เป็นผลทำให้เกิดอาคารของรัฐที่จัดสร้างขึ้นโดยฝ่ายสยามเพื่อใช้ในกิจการสาธารณะ หรือที่เรียกกันภายหลังว่า ‘ศาลากลาง’

ศาลากลางนับว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างแบบใหม่ เพราะแต่เดิมอาศัยศาลาที่ตั้งอยู่ในบริเวณจวนเจ้าเมืองไว้ว่าราชการต่างๆ เวลาไม่มีการงานก็ใช้ศาลาดังกล่าวเป็นศาลชำระความได้ เห็นได้จากเรือนจำสำหรับนักโทษก็มักอยู่ในบริเวณจวนนั่นเอง ค่อนข้างอเนกประสงค์ อาจเป็นสถานที่แจ้งข่าวสาร หรือใช้ทำกิจกรรมอื่นของเมืองก็ได้

อย่างไรก็ดี ศาลากลางจังหวัดที่เราคุ้นเคยมีจุดเริ่มต้นหลังจากตั้งกระทรวงมหาดไทยแล้ว ในยุคเริ่มแรกมีทั้งศาลากลางเมือง และศาลากลางมณฑล ยังไม่มีศาลากลางจังหวัด เพราะจังหวัดเป็นส่วนราชการที่เกิดขึ้นภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเปลี่ยนชื่อหน่วยการปกครองจากคำว่า ‘เมือง’ เป็น ‘จังหวัด’ เมื่อปี 2456

อาคารศาลากลางเริ่มแรกจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสถานที่ทำงานของหน่วยงานรัฐบาลและข้าหลวงที่ถูกส่งมาประจำเมืองหรือมณฑล ว่ากันว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ซึ่งชี้ที่ปลูกสร้างศาลากลางแทบทุกเมืองที่มีในยุคนั้น

ศาลากลางยุคแรกสามารถจำแนกรูปแบบทางสถาปัตยกรรมออกได้ 2 รูปแบบคือ รูปแบบมาตรฐานของกรมโยธาธิการที่พบเป็นส่วนใหญ่ เขียนแบบโดยล็อก ดิษยนิยม มีทั้งก่ออิฐฉาบปูนและใช้ไม้เป็นหลัก รวมถึงยังมีหลายขนาด (ความสูงอาคารตั้งแต่ชั้นเดียวถึง 2 ชั้น) อย่างจังหวัดปทุมธานี (2460) อุบลราชธานี (2461) กับรูปแบบอิทธิพลตะวันตกที่พบเพียงบางจังหวัด เช่น เชียงราย (2443) นครพนม (2458) เชียงใหม่ (2462) โดยมีเกร็ดว่าศาลากลางจังหวัดนครพนมหลังเก่าก็เอาต้นแบบมาจากศาลากลางเชียงรายหลังแรกที่ออกแบบและควบคุมการสร้างโดยหมอบริกส์ มิชชันนารีคนสำคัญที่มีบทบาทนำในการพัฒนาเมืองเชียงรายยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง เพื่อแสดงออกถึงความทันสมัยที่สยามนำเข้ามาให้แก่พื้นที่ชายพระราชอาณาเขต

อาคารศาลากลางจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สถาปนาขึ้นในห้วงนั้นอย่างแยกไม่ออก นอกจากศาลากลางแล้ว อาคารราชการสยามในยุคนั้นยังมีโรงพัก ศาล เรือนจำ ฯลฯ แทบทั้งหมดทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมความสงบเรียบร้อยในท้องที่ต่างๆ เป็นด้านหลัก

ศาลากลางจังหวัดในฐานะศูนย์กลางการปกครองส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด

ภายหลังคณะราษฎรปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองได้จัดระเบียบราชการบริหารของประเทศให้ชัดเจนขึ้น แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม ส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดกับอำเภอ และส่วนท้องถิ่นคือ เทศบาล

จังหวัดที่ถือเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคจะมีสำนักงานจังหวัด และสำนักงานของส่วนราชการต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับราชการของกระทรวง ทบวง กรมประจำในจังหวัด ในช่วงต้นบริหารงานใช้รูปแบบคณะในชื่อกรมการจังหวัด ต่อมาจึงมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดทั้งหมด

ศาลากลางจังหวัดกลายเป็นที่ตั้งรวมกันของสำนักงานราชการส่วนภูมิภาคระดับจังหวัดทุกหน่วยให้อยู่ภายในอาคารหลังเดียวกัน ซึ่ง ณ ขณะนั้นก็ยังไม่ได้มีหน่วยงานมากมายอะไรจึงรวมกันอยู่ได้

ในแง่การออกแบบ ศาลากลางที่สร้างยุคนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีความเป็นไทยมากขึ้น โดยใช้รูปแบบเดียวกันคือเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ค่อนข้างสะท้อนอุดมการณ์ชาตินิยม ความสูงตั้งแต่ 2-3 ชั้น ขึ้นกับลำดับความสำคัญ และอัตราเจ้าหน้าที่ของจังหวัดนั้นๆ

ภายหลังได้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในแต่ละห้วงเวลา กอปรกับมีการเพิ่มกำลังคนในภาครัฐ ซึ่งมิใช่แค่ส่วนภูมิภาค แต่รวมถึงส่วนกลางที่ขยายบทบาทออกไปทั่วประเทศด้วย โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็นที่เป็นยุคสมัยแห่งการพัฒนาเพื่อสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ กลายเป็นว่าศาลากลางหลายที่มีทั้งสำนักงานราชการส่วนภูมิภาคกับส่วนกลางอยู่ปนกัน ลำพังพื้นที่ของศาลากลางจึงไม่เพียงพอรองรับ สถานที่เดิมคับแคบแออัด จึงต้องก่อสร้างอาคารศาลากลางใหม่ทดแทน ศาลากลางน่านที่เป็นประเด็นก็สร้างขึ้นในปี 2511 หรือไม่ก็ต่อเติมอาคารหลังเดิมให้ใหญ่ขึ้น 

ถึงกระนั้น หน่วยงานที่เพิ่มมาภายหลังก็จำเป็นต้องก่อสร้างอาคารของตนขึ้นใหม่ตามพื้นที่ราชพัสดุที่ขอใช้ได้ ขณะที่บางหน่วยต้องการพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่จึงต้องย้ายที่ทำการออกจากอาคารศาลากลางเพื่อจัดสร้างอาคารที่ทำการเอกเทศ ก่อให้เกิดปัญหาความไม่สะดวกในการประสานงานระหว่างส่วนราชการด้วยกันเอง เพราะตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจาย และสร้างความยากลำบากในการติดต่อราชการของประชาชน เนื่องจากต้องไปติดต่อหลายที่ ประกอบกับศาลากลางมักมีทำเลตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นใน และมีขนาดบริเวณไม่ใหญ่นัก จึงมีปัญหาที่จอดรถไม่พอ และการจราจรแออัดขึ้น ไม่สามารถขยับขยายได้อีกแล้ว

ส่วนราชการที่มีที่ทำการอยู่ภายในอาคารศาลากลางค่อนข้างแน่ก็คือ สำนักงานจังหวัด คลังจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด ประมงจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด (ตอนนั้นเป็นส่วนภูมิภาค) เป็นต้น ขณะที่ส่วนราชการที่มีอาคารที่ทำการเอกเทศไม่พ้นแรงงานจังหวัด เกษตรจังหวัด ขนส่งจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด (ขณะนั้นก็ยังเป็นส่วนภูมิภาคเช่นกัน) เป็นต้น

แม้แต่ระเบียบงานสารบรรณยังกำหนดให้หน่วยงานในราชการส่วนภูมิภาคที่ขึ้นกับจังหวัดโดยตรงใช้ที่อยู่ศาลากลางในหนังสือภายนอก ถึงแม้ว่าสำนักงานของหน่วยนั้นจะไม่ได้ตั้งอยู่ในศาลากลางก็ตาม

การมาของนโยบายจัดระบบศูนย์ราชการ

ปัญหาสารพัดข้างต้นนำไปสู่แนวคิดเรื่องศูนย์ราชการจังหวัด มีวัตถุประสงค์รวมเอาหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มาไว้ในบริเวณเดียวกัน เพื่อให้เป็นทั้งศูนย์กลางการบริหารราชการ และอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน โดยมีศาลากลางจังหวัดเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งลักษณะทางสถาปัตยกรรมของศาลากลางในระยะหลังสามารถแสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้บ้าง

รัฐบาลตลอดห้วงทศวรรษ 2530-2540 หันมาให้ความสำคัญกับการจัดระบบศูนย์ราชการในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองหลัก ดำเนินการใน 20-30 จังหวัดก่อน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการส่วนภูมิภาคทำหน้าที่รับผิดชอบ และให้แต่ละจังหวัดวางแผนการใช้ที่ดินของหน่วยงานของรัฐ และจัดทำผังแม่บทศูนย์ราชการของจังหวัด ตัวอย่างพื้นที่ศูนย์ราชการที่ถูกใช้เป็นหลัก เช่น ที่เชียงรายอยู่แถวบ้านฝั่งหมิ่น สุโขทัยมีรอบทุ่งทะเลหลวง หรือระยองอยู่ที่ตำบลเนินพระ

ถึงกระนั้นกลับพบว่าหลายจังหวัดกำหนดไว้หลายแห่ง และเอาเข้าจริงก็มีหน่วยงานไปขอใช้มันทุกแห่ง ซึ่งไม่ตรงกับแนวคิดศูนย์ราชการข้างต้นอย่างยิ่ง อย่างที่เชียงราย เมื่อถึงคราวต้องสร้างศาลากลางใหม่อีกครั้งกลับเลือกที่ดินผืนใหญ่ริมน้ำกกเป็นที่ตั้ง ไม่ยอมไปใช้ที่ศูนย์ราชการฝั่งหมิ่นที่มีหน่วยงานตั้งสำนักงานรออยู่ก่อนแล้วมากมาย ทำให้หน่วยราชการตั้งแยกกันอยู่คนละมุมชานเมืองในพื้นที่สองบริเวณ

ผมลองสอบถามรุ่นน้องที่ทำงานอยู่ศาลากลางเชียงใหม่ บอกว่าปัจจุบันเหลือหน่วยงานที่อยู่ในอาคารเดียวกันไม่เยอะแล้ว 10 กว่าหน่วยแค่นั้น ส่วนพื้นที่บริเวณที่เป็นศูนย์ราชการทั้งหมดน่าจะมีอีกประมาณ 40 หน่วย คิดเป็นเพียง 1 ใน 5 ของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดเชียงใหม่ (ที่มีรวมแล้วอย่างน้อย 250 หน่วยขึ้นไป) ยังห่างไกลจากความเป็นศูนย์ราชการตามที่มุ่งหวัง 

ศูนย์ราชการที่จัดสร้างขึ้นใหม่ส่วนใหญ่มีการย้ายที่ตั้งออกไปนอกตัวเมืองไกลจากที่ตั้งเดิมมาก เนื่องด้วยต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่คิดเผื่อการขยายตัวภายภาคหน้า บางจังหวัดถึงกับต้องสร้างในพื้นที่ชนบทห่างไกลสุดกู่ เช่น ศาลากลางจังหวัดลำพูนแห่งใหม่ห่างจากศาลากลางหลังเก่าถึง 20 กว่ากิโลเมตร บนเส้นทางที่มุ่งออกไปจังหวัดลำปาง เหมือนไม่ได้ห่วงความสะดวกของประชาชนในการเดินทางมาแต่อย่างใด โดยเฉพาะคนที่ต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะ ศูนย์ราชการที่หวังอำนวยความสะดวกกลับกลายเป็นผลักภาระให้ประชาชน

ความเป็นไปของศาลากลางหลังเก่า

เมื่อมีการย้ายศาลากลางไปยังสถานที่แห่งใหม่ที่เรียกว่าศูนย์ราชการแล้ว คำถามที่ตามมาย่อมไม่พ้นแล้วเราจะทำอย่างไรกับศาลากลางหลังเก่า ซึ่งจากที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนพบข้อมูลดังตาราง

จังหวัดศาลากลางหลังแรกศาลากลางหลังที่สอง
เชียงใหม่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (เทศบาลนครเชียงใหม่)ศูนย์ราชการกระทรวงการคลังจังหวัดเชียงใหม่ (กระทรวงการคลัง)
เชียงรายพิพิธภัณฑ์​ภาพเจียงฮาย (อบจ.เชียงราย)วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
น่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (กรมศิลปากร)หอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก (มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน)
จังหวัดศาลากลางเก่า
ลำปางมิวเซียมลำปาง (เทศบาลนครลำปาง)
พะเยาศูนย์ราชการ (หลายหน่วยงาน)
แม่ฮ่องสอนศูนย์ราชการ (หลายหน่วยงาน)
ลำพูนอยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
แพร่ยังคงใช้หลังเดิม หลังใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ

ศาลากลางจังหวัดอื่นที่พอทราบเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี, ศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี, พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี, ศูนย์ท่องเที่ยวอยุธยา, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี, ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นจังหวัดหนองคาย, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา, อาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต 

แน่นอนว่ามีบางแห่งที่ปิดถาวรไปเลยก็มี

ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าจังหวัดส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนอาคารศาลากลางเดิมไปในลักษณะของแหล่งเรียนรู้ ไม่ว่าใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์ มิวเซียม ศูนย์ประวัติศาสตร์ หรือหอศิลปวัฒนธรรมก็จัดว่าอยู่กลุ่มนี้เช่นเดียวกัน หน่วยงานรับผิดชอบแตกต่างกันไป ครบทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น  บางแห่งทำออกมาได้ดีมากๆ อย่างมิวเซียมลำปาง ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผลงานของท้องถิ่น แต่บางแห่งก็ทำได้ไม่สมกับตัวอาคารที่ทรงคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์เอาเสียเลย ขณะที่อีกหลายจังหวัดยังคงใช้งานเป็นอาคารสำนักงานต่อไป แต่ส่งมอบพื้นที่ให้หน่วยงานรัฐอื่นเข้าใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ปัจจัยกำหนดย่อมเกี่ยวพันกับกลุ่มคนในท้องถิ่นที่มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของรัฐในทางนโยบาย เช่น บทบาทของพระสงฆ์เชียงรายกรณีขอใช้ศาลากลางหลังที่ 2 ทำเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ รวมไปถึงมูลนิธิรักษ์ป่าน่านในคราวนี้ด้วย

ในอนาคตหลีกเลี่ยงมิได้ที่จะต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็มเหนือการจัดการพื้นที่ เพื่อให้คนท้องถิ่นได้ตอบคำถามข้างต้นด้วยตัวเอง ซึ่งก็คงไม่ใช่แค่เรื่องศาลากลาง


อ้างอิง

  • กฤษณะ ปินะพัง และ ทรงยศ วีระทวีมาศ, “ความหมายของสัญลักษณ์ครุฑกับความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมศาลากลางยุคมณฑลเทศาภิบาล กรณีศึกษามณฑลเทศาภิบาลในอีสาน,”  วารสารวิจัยและสาระสถาปัตยกรรม/การผังเมือง ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 (2564), จาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jars/article/view/240043/167184 
  • จักรพันธ์ ม่วงคร้าม, (2555), สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในเมืองเชียงรายภายใต้บทบาทของมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • นิติ เชื้อสถาปนศิริ, (2544), ความหมายทางการเมืองของลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารราชการไทย: กรณีศึกษาศาลากลางจังหวัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • สันทัสก์ อาจสาคร, (2529), แนวทางการกำหนดที่ตั้งการจัดผังบริเวณ และการจัดพื้นที่อาคารศาลากลาง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save