หรือเราคืออุรังอุตังตัวนั้น

หรือเราคืออุรังอุตังตัวนั้น

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

https://www.youtube.com/watch?v=R4zzbwM07bw

 

มีคลิปวิดีโอคลิปหนึ่งแพร่หลายมากในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่เคยทนดูได้จนจบสักครั้ง เป็นคลิปที่อุรังอุตังตัวหนึ่งในป่าที่เกาะบอร์เนียวในอินโดนีเซีย วิ่งโซเซบนต้นไม้ใหญ่ที่เพิ่งโดนโค่น ปรี่เข้าหาเจ้ารถแทรคเตอร์ยักษ์ตัวการ พยายามสุดกำลังที่จะหยุดยั้งมือเหล็กที่กำลังขยุ้มลงมาไม่ให้ทำร้ายต้นไม้ของมัน บ้านของมัน แต่ก็สู้แรงมือเหล็กยักษ์นั้นไม่ไหว ตัวตกกลิ้งร่วงลงสู่พื้นดิน

ดูถึงตอนนี้ทีไรต้องปิด ทนไม่ไหว

เหมือนมีอะไรขึ้นมาจุกในคอ มันโกรธๆๆๆ ทั้งโกรธทั้งสงสารจนน้ำตาซึม ต้องรีบไถหน้าจอไปอ่านโพสต์ต่อไป เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง จนต้องถามตัวเองว่าทำไม

หรือว่าเราคืออุรังอุตังตัวนั้น

ปัญหาเร่งด่วนในบ้านเมืองเราทุกวันนี้คืออะไร เผด็จการทหารที่กดขี่ประชาชน นักการเมืองฉ้อฉล ระบบราชการรวมศูนย์ วัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบพวกพ้อง ความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฎิบัติ บริโภคนิยมสุดโต่ง หรืออุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม?

ถูกทั้งหมด ที่ร้ายกาจก็คือแต่ละอย่างไม่ได้มาเดี่ยวๆ แต่มาเป็นชุด รวมพลังกันเป็นพายุเข้าถล่มจนพินาศเป็นหน้ากลอง แน่นอนย่อมมีคนที่ไม่ยอมแพ้ พยายามต่อสู้ในวิถีของตนเพื่อการเมืองที่เห็นหัวประชาชน เพื่อวัฒนธรรมที่เห็นคุณค่ามนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน พยายามลดการใช้สิ่งของเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม พยายามรักษาธรรมชาติ รักษาความหลากหลายทางธรรมชาติ รักษาโลก

แต่ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ สู้แค่ไหนก็ไม่เห็นทางชนะ

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความโหดร้ายของมนุษย์ที่กระทำกับธรรมชาติมันมหันต์นัก ไม่ว่าจะพยายามเท่าไร ก็ยากจะแก้ไขได้ทันการ มีคนกลุ่มเล็กๆ พยายามสู้ให้คนเล็กคนน้อยได้มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง ให้สังคมมีความโปร่งใสยุติธรรม ให้เคารพและรักษาธรรมชาติ ขณะที่เครื่องจักรของระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ทำลายล้างธรรมชาติยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งด้วยพลังมหาศาล

คนสู้ก็ก้มหน้าก้มตาสู้ตัวเป็นเกลียว แต่พอเงยหน้าขึ้นมาอีกทีน้ำแข็งที่ขั้วโลกก็อาจละลายหมดแล้ว น้ำท่วมโลก มหาสมุทรพัง ดินพัง น้ำพัง ผู้คนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

คนที่เดือดร้อนคือคนเล็กคนน้อยที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลก คนที่มีอำนาจก็ยังสามารถใช้เงินใช้เทคโนโลยีสร้างบริเวณพิเศษแยกตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้แน่นอน

สังคมส่วนใหญ่เหมือนกบในหม้อน้ำที่ค่อยๆ ต้มให้เดือด ตอนน้ำค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิก็เฉย ซึ่งเข้าใจได้อยู่ การมีชีวิตในสังคมที่ไร้ความยุติธรรมทำให้แต่ละคนต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด สิ่งที่จะทำให้ตนเองและครอบครัวอยู่รอดปลอดภัยได้ คือเงินตัวเดียวเท่านั้น จึงไม่ได้สนใจปัญหาโลกร้อน ปัญหาสภาพภูมิอากาศ หรือมลพิษที่เกิดจากระบบอุตสาหกรรมและการเมืองฉ้อฉลที่มุ่งปล้นทรัพยากร มุ่งฆ่าธรรมชาติ เพราะเห็นเป็นปัญหาไกลตัว

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เดือดร้อนแสนสาหัสจากฝุ่นพิษ ผู้คนตกใจเพราะไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน แต่พอหมอกพิษผ่อนคลายเพราะมีกระแสลมมาช่วย ก็ลืมปัญหา เลิกผลักดันให้รัฐลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง เอาไว้ปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยโวยกันอีกที ไม่สนใจแม้ต่างจังหวัดยังคงผจญกับฝุ่นพิษอย่างหนักเหมือนเดิม

เราอยู่กันแบบนี้ จะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อน้ำในหม้อเดือดแล้ว ไม่มีทางรอด

จะทำอย่างไรกันดี

อุรังอุตังตัวเล็กๆ มีแค่สองมือเปล่า แต่กล้าเผชิญหน้ากับรถแทรคเตอร์ยักษ์ แทนที่จะหนีกลับวิ่งเข้าสู้ มันคือตัวแทนของคนที่พยายามต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิด วิถีชีวิต เผ่าพันธุ์ ธรรมชาติ เป็นการต่อสู้กับระบบทำลายล้างอันมหึมา ระบบที่ทำงานเหมือนเครื่องจักร ไร้ใจไร้วิญญาณ ประสานฟันเฟืองทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อไล่รื้อและทำลายล้างชีวิตเจ้าของถิ่น เจ้าของบ้าน ทำลายระบบนิเวศที่พยุงโลกไว้ทั้งโลก ทำร้ายสัตว์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แลกกับความมั่งมีชั่วครู่ชั่วยามของคนแปลกหน้าจำนวนแค่หยิบมือ

มันเป็นตัวแทนความพยายามของคนเล็กคนน้อยที่สู้ตายกับความไม่ยุติธรรม

เมื่อเห็นเจ้าอุรังอุตังร่วงลงสู่พื้นดิน หมดหนทางต่อสู้ จะให้ทนดูต่อได้อย่างไร

ครั้งล่าสุดที่เห็นวิดีโอคลิปนี้ เป็นช่วงที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าพยายามต่อสู้กับกฎหมายที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลักดันเข้าสู่สภาเพื่อเพิ่มอำนาจตัวเอง และเพื่อลงโทษคนที่อยู่ในป่าให้หนักหน่วงกว่าเดิม ทั้งๆ ที่ชุมชนเหล่านั้นส่วนใหญ่รักษาป่ามาตลอด และวิถีทำไร่ทำนาดั้งเดิมของเขาก็ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยทำลายป่าอย่างที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ใส่ร้าย

กฎหมายใหม่นี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อุทยานล้นฟ้า ทุกคนที่อยู่ในป่าผิดกฎหมายหมดแม้จะอยู่มาก่อน แค่จะเก็บเห็ดขุดหน่อไผ่เพื่อยังชีพ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตเป็นทางการ จะโดนปรับสูงสุด 500,000 บาท จำคุกสูงสุด 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และเจ้าหน้าที่จะเป็นคนกำหนดว่าเก็บอะไรได้ไม่ได้ ได้จำนวนเท่าไหร่ เก็บได้ในเวลาไหน ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรทั้งนั้น

และไม่มีการกล่าวถึงชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหรือคนพื้นเมืองที่อยู่ในป่าเลย แม้จะอยู่มาก่อนการประกาศอุทยาน เป็นการตัดสิทธิที่มีเคยมีมาในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายอื่นๆ ตามกฎหมายอุทยานใหม่นี้ ถึงจะมีวิถีชีวิตเรียบง่ายรักษาป่ามาตลอดก็ไม่สำคัญ ถ้าแผ้วถางทำไร่หมุนเวียนตามวัฒนธรรมประเพณีก็ต้องโดนจับ อัตราจำคุก 4-20 ปี ปรับสี่แสนถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะให้ชาวป่าชาวดอยอยู่กันอย่างไร

ไม่เพียงเท่านั้น กฎหมายใหม่นี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่อุทยานเข้าตรวจค้นบ้านเรือนประชาชนได้โดยไม่ต้องใช้หมายศาล และสามารถรื้อทำลายได้โดยไม่ต้องผ่านขบวนการยุติธรรมทางศาล

หนักยิ่งกว่ากฎอัยการศึกโดยทหารในสามจังหวัดภาคใต้เสียอีก

แต่ก็ยังอนุญาตให้นายทุนทำเหมืองในอุทยานได้

เครือข่ายชาวบ้านพยายามต่อสู้เพื่อหยุดยั้งพ.ร.บ.นี้เต็มกำลัง แต่ก็ไร้ผล

จะเกิดอะไรขึ้นกับคนหลายล้านคนที่อยู่ในป่าหลังจากนี้

ชาวบ้านเดือดร้อนแสนสาหัสแน่ๆ และอย่าหวังว่าพื้นที่ป่าจะเพิ่มขึ้น รัฐบาลยังคงมุ่งหน้ามอบที่พื้นที่ป่าให้อุตสาหกรรมต่างๆ เข้าใช้ประโยชน์ ไล่คนพื้นที่ให้หน่วยงานรัฐสร้างเขื่อน ขุดอ่างเก็บน้ำ สร้างถนนผ่าป่า ในขณะที่กรมอุทยานก็เร่งพัฒนาพื้นที่รับนักท่องเที่ยว ด้วยกฎหมายใหม่ให้อำนาจในการเก็บเงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการท่องเที่ยงไว้ใช้เองโดยไม่ต้องคืนคลัง

ในช่วงสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ทั้งรัฐบาลทหาร ทั้งสภานิติบัญญัติที่ทหารตั้งขึ้นมา รีบเร่งออกคำสั่งและกฎหมายที่เพิ่มอำนาจรัฐ รับใช้ทุน และทำร้ายประชาชนออกมาเป็นชุด นอกจาก พ.ร.บ.อุทยาน ก็เช่นการอนุญาตให้ใช้สารเคมีที่เป็นพิษในการเกษตรต่อ ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นห้าม มีการอนุมัติให้สร้างเขื่อนในป่าสมบูรณ์ อนุญาตให้โรงงานขนาดเล็กไม่ต้องขออนุญาตต่ออายุใบประกอบกิจการ และออกกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ที่เอื้อต่อการละเมิดสิทธิโดยไม่แยแสกระแสค้านของประชาชน

ทั้งนี้ไม่นับ พ.ร.บ.ข้าว ที่พยายามจะให้ชาวนาเป็นทาสบริษัทยักษ์ใหญ่ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ และจะบังคับให้เกษตรปลูกพืชตามที่รัฐกำหนดเท่านั้น ซึ่งถึงรัฐบาลจะยอมถอยเพราะแรงต้าน แต่ก็อาจกลับมาอีกเมื่อไรก็ได้

ประชาชนจะต่อสู้เพื่อรักษาป่า รักษาสิ่งแวดล้อม รักษาสิทธิเสรีภาพของตนเองได้อย่างไร เมื่อรัฐทำตัวเป็นแทรคเตอร์ยักษ์ทำลายธรรมชาติให้ราบพณาสูรเพื่อแผ้วทางให้นายทุนเสียเอง

คิดจะต่อสู้หรือ กี่คนแล้วที่หายไปเฉยๆ ไม่นับที่โดนคดีจนหมดอิสรภาพ

ที่แย่พอๆ กับการออกกฎหมายที่ทำร้ายประชาชน คือการไม่ยอมออกกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้รัฐใช้การซ้อมทรมาน ทำร้าย อุ้มหายประชาชน อย่างที่เคยเป็นมา

ใครๆ ก็รู้ว่าการซ้อมทรมานเป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตลอดในการบังคับให้สารภาพ คนจนและแพะจึงล้นคุก การอุ้มหายยังเป็นวิธีกำจัดศัตรูทางการเมืองที่ได้ผล เพราะเจ้าหน้าที่ต้องสงสัยไม่เคยต้องได้รับโทษ

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ต้องการหยุดยั้งปัญหานี้ แต่ก็อย่างที่คาด ความพยายามของผู้ต้องการความยุติธรรมโดนสอยร่วงเหมือนเจ้าอุรังอุรังตัวนั้น

กลับมาที่ พ.ร.บ.อุทยาน ผลร้ายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องละเมิดสิทธิและทำร้ายคนอยู่ในป่า กฎหมายนี้ยังทำให้เราใกล้หายนะทางธรรมชาติมากขึ้นจากปัญหาโลกร้อน

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศระบุว่า ในพื้นที่ป่าที่คนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการป่าตามวิถีของบรรพบุรุษดั้งเดิม สามารถรักษาความสมบูรณ์ของป่าไว้ได้อย่างดี ผิดกับการจัดการป่าโดยรัฐที่ผลักคนในพื้นที่ออกไป จึงมีการรณรงค์ให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ เคารพสิทธิของชุมชนดั้งเดิม และสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน

แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไทยก็ยังยืนยันจะเขียนกฎหมายกำจัดชาวบ้านเพื่อรักษาอำนาจตนเอง

ล่าสุดมีวิจัยชิ้นใหญ่ออกมาให้ความหวังกับโลก เป็นงานของนักนิเวศวิทยา Thomas Crowther และทีมนักวิจัยที่ ETH Zurich มหาวิทยาลัยในสวิตเซอร์แลนด์ ผลวิจัยระบุว่าถ้าเราปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นอีก 1.2 ล้านล้านต้นในป่า ในอุทยาน หรือในที่ดินที่รกร้างอยู่ตอนนี้ ต้นไม้ที่ได้จะสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้เป็นจำนวนมหาศาล สามารถลบผลเสียที่มนุษย์ส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปในบรรยากาศตลอดทั้งทศวรรษที่ผ่านมาได้

ต้นไม้จึงเป็นอาวุธวิเศษสุดที่จะต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

แล้วรัฐไทยทำอะไร แทนที่จะสนับสนุนหาหนทางให้คนในป่ามีหน้าที่รักษาป่า และปลูกป่าเพิ่มเพื่อรักษาความสมดุลย์ของธรรมชาติ กลับทำร้ายคนเหล่านี้ และยกผืนป่าให้นายทุนทำลาย เสร็จแล้วก็ต้องใช้เงินภาษีจำนวนมหาศาลมาเยียวยาประชาชนเมื่อโดนภัยธรรมชาติต่างๆ ทำร้ายกลับ

คิดว่าเจ้าหน้าที่จะปลูกป่าเมื่อไล่คนออกไปแล้วหรือ

มาดูว่าเขาปลูกป่ากันอย่างไร เขาจะเคลียร์พื้นที่จนโล่นเตียน แล้วเอาต้นกล้าจากธุรกิจต้นกล้าที่ทำให้คนหลายคนร่ำรวยมาปลูก ถ่ายรูปเสร็จก็จบ หรือไม่ก็ไล่ชาวบ้านเพื่อให้นายทุนเช่าที่ปลูกต้นไม้โตเร็วหรือปาล์มน้ำมันเพื่อส่งเข้าโรงงาน นิเวศป่าโดนทำลายโดยสิ้นเชิง ไม่มีสัตว์ป่าเหลือ แต่ยังกล้าเรียกว่าป่า แล้วเอาตัวเลขมาบอกผู้คนว่ามีป่าเพิ่ม

เมื่อทุนต้องการยึดป่าไปสร้างเหมือง สร้างเขื่อน สร้างเขตอุตสาหกรรม สนับสนุนให้ชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพดทำอาหารสัตว์ หรือแม้แต่ในกรณีสร้างบ้านพักศาลที่ดอยสุเทพ แทนที่จะค้าน ผู้พิทักษ์ป่าที่เคร่งครัดกับคนจนกลับมีแต่ความเงียบ

เป็นอย่างนี้ตลอดมา แต่สังคมก็ยังเลือกที่จะเชื่อนิทานเรื่องรัฐเป็นผู้พิทักษ์ป่า และชาวบ้านเป็นผู้ทำลาย ยังยอมให้ออกกฎกติการวบอำนาจจัดการป่าโดยไม่ฟังเสียงค้าน ตัดโอกาสการฟื้นฟูป่าโดยให้ชุมชนเจ้าของป่าดั้งเดิมมีส่วนร่วม

ในโลกออนไลน์ เมื่อเราไม่พอใจอะไรไถหน้าจอโทรศัพท์หนีได้ น่าเศร้าที่ในโลกความเป็นจริงก็ไม่ผิดกันนัก ความโหดร้ายความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นทุกวัน แต่ตราบใดที่ไม่เกิดกับเราเอง มันง่ายกว่าที่จะทำเป็นมองไม่เห็น เพราะการต่อสู้ในระบบที่บิดเบี้ยวนี้ มีแต่จะผจญแรงกดดัน การข่มขู่ มีแต่ความเดือดร้อนตามมา

แต่คนที่โดนกระทำไม่มีทางเลือกมากนัก เมื่อเลือดเข้าตาก็ต้องสู้ตาย และไม่ต่างจากอุรังอุตังตัวนั้น เมื่อปะทะกับระบบใหญ่ที่แสนโหดร้าย คนแล้วคนเล่าต้องร่วงลงดิน

ที่ทนดูวิดีโอคลิปความพ่ายแพ้ของอุรังอุตังนี้ไม่ได้ คงไม่ใช่เพราะแค่โกรธแทนผู้ที่พยายามจะต่อสู้กับความอยุติธรรม ไม่ใช่แค่โกรธระบบที่โหดร้าย แต่โกรธตัวเอง และรู้สึกละอายแก่ใจ ไม่อยากดูเพราะไม่อยากรับความจริงว่า ทั้งๆ ที่เห็นความอยุติธรรมและความเจ็บปวดของผู้คนอยู่กับตา เห็นความพินาศอยู่ข้างหน้า แต่ทำอะไรไม่ได้เลย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save