fbpx

หนึ่งปีของระเบียบโลกที่สุดขั้ว: ความระส่ำระสายอย่างเด็กไร้เดียงสา…ใครคือคนผิด

ผมติดตามสถานการณ์การสู้รบในยูเครนตั้งแต่วันแรกที่รัสเซียบุกโจมตีอย่างเหนือความคาดหมาย เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินประกาศในเวลาหกโมงเช้าของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้วว่า รัสเซียได้ลงมือใน ‘ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร’ ในยูเครนแล้ว เป็นการโจมตีอย่างสายฟ้าแลบ เพราะแม้แต่ผู้นำทหารและการเมืองถึงเศรษฐกิจของประเทศก็ไม่มีใครรู้ระแคะระคายมาก่อน ฝ่ายนำในรัฐบาลจึงรู้พร้อมๆ กับชาวบ้านบนถนนกลางกรุงมอสโก

แปลกใจเหมือนกันเพราะปกติผมไม่ค่อยชอบข่าวและเรื่องราวของสงคราม ไม่ว่าในประวัติศาสตร์หรือในปัจจุบัน นอกจากจำเป็นต้องรู้เพื่อจะได้วิเคราะห์สถานการณ์ด้านอื่นๆ ได้อย่างไม่ผิดพลาดมากนัก อาจเพราะผมไม่มีความรู้ทางเทคโนโลยีและเทคนิคการทหารอะไรทำนองนั้น ทำให้ข่าวสงครามเป็นเรื่องที่ไม่ประเทืองปัญญานัก แต่คราวนี้สงครามพิเศษของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย สะกดความสนใจผมได้ ในประเด็นของการท้าทายระเบียบโลกโลกาภิวัตน์ ที่รัสเซียไม่เห็นด้วยและต้องการสร้างระเบียบโลกใหม่ขึ้นมา

ที่น่าสนใจกว่านั้นอีกได้แก่การจุดประกายให้แก่ความรู้ประวัติศาสตร์ คือทำให้ความเข้าใจในอดีตของการปะทะสังสรรค์กันระหว่างรัสเซียที่เป็นจักรวรรดิในอดีตกับยุโรปที่เป็นรัฐประชาชาติที่กำลังสร้างระบบสมัยใหม่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 มีความสำคัญขึ้นมา ตอนนั้นจักรวรรดิรัสเซียภายใต้พระเจ้าปีเตอร์มหาราชและพระนางแคทเธอรีนมหาราชินี (ซึ่งมาจากครอบครัวเจ้าในปรัสเซีย) ซึ่งลงมือปฏิรูปประเทศในครรลองของสำนักปรัชญาแสงสว่างของยุโรป โดยรับเอาหลักการของลัทธิเสรีนิยมเข้ามาใช้ในด้านหลักของการปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม แต่รากฐานเศรษฐกิจยังเป็นแบบโบราณคือระบบทาสกสิกรที่ล้าหลัง ซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงรั้งการปฏิรูปรัสเซียไม่ให้บรรลุเหมือนประเทศยุโรปได้ นักคิดและปัญญาชนรัสเซียในศตวรรษที่ 19 ไม่มีใครที่ไม่ถกเถียงและเสนอทางออกว่า “จะเป็นตะวันตก zapadnichestvo (westernism) หรือจะเป็นสลาฟ (Slavophile)”

สภาพความแตกต่างและกลุ่มคนที่ล้าหลังภายใต้ระบอบอัตตาธิปไตยของพระเจ้าซาร์เป็นอุปสรรคต่อการสร้างระบบทุนนิยม พัฒนาการทางเศรษฐกิจในรัสเซียจึงไม่เท่ากัน มีระบบการผลิตเกษตรกรรมที่ล้าหลัง ขาดคนชั้นกลางที่มีบทบาททางการเมือง ทั้งหมดนี้ทำให้การใส่อาณาจักรรัสเซียเข้าไปในกรอบโมเดลของระบบโลกหรือระบบระหว่างประเทศใดๆ ล้วนประสบความยากลำบากและไม่ค่อยบรรลุได้ง่ายนัก แม้หลังจากการปฏิวัติสังคมนิยมยุติวิวาทะโต้เถียงกันดังกล่าวลงได้ แต่การเสนอหนทางและความคิดใหม่ให้แก่โลกว่ารัสเซียเป็นสังคมใหม่ของชนกรรมาชีพ ของชนชั้นกรรมกรทั่วโลก ก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก กระทั่งถึงวาระสุดท้ายของระบบโซเวียต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสถาปนาสหภาพโซเวียตและความคิดสังคมนิยมในระบบการเมืองการปกครองสร้างแรงสะเทือนไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมทั่วโลกที่กำลังจะเป็นเอกราชและหลังเอกราช มันเป็นนวัตกรรมใหม่ล้ำยุคที่หลายคนเคยได้ยินคนเก่าคนแก่เล่าขานตำนานเรื่องสังคมในอุดมคติ ไม่ว่าจะเป็นโลกพระศรีอาริย์ ยูโทเปีย ที่คนเท่าเทียมกันและปรารถนาอะไรก็ได้โดยไม่ต้องทำงานหนักที่ถูกขูดรีด ทว่าหนทางการสร้างสังคมนิยมในรูปธรรมนั้นยากลำบากและซับซ้อนกว่าในจินตนาการยิ่งนัก รัฐบาลสังคมนิยมภายใต้การนำของเลนินและโจเซฟ สตาลินเปลี่ยนทิศทางและเนื้อหาของสังคมนิยมไปอย่างกู่ไม่กลับ รอยแยกและความเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมยิ่งขยายกว้างและลึกกว่าที่คิด ความหวาดกลัวในพลานุภาพของรัฐคอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐฯ สร้างมายาคติของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่น่าหวาดกลัวที่สุดยิ่งกว่าผีปีศาจตนใดในโลก นำไปสู่การเกิด ‘สงครามเย็น’ ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมกับสหภาพโซเซียตและบรรดารัฐสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกที่ตกอยู่ภายใต้การกำกับครอบงำของมอสโก

ระหว่างนั้นสหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักที่รวมศูนย์ไปที่การทหารมากกว่าการผลิตสินค้าทั่วไป โมเดลเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับระบบทุนนิยมโลกแบบตะวันตก กระทั่งนวัตกรรมด้านวัฒนธรรม การศึกษา และภูมิปัญญาก็ไม่ติดตรึงคนทั่วโลก จนถึงวาระสุดท้ายของการดำรงอยู่ของสหภาพโซเวียตในปี 1989 ซึ่งก็แปลกเหมือนกันเพราะประธานาธิบดีกอร์บาชอฟผู้ตัดสินใจปฏิรูประบอบโซเวียตใหม่นั้น จริงๆ แล้วเกิดมีความสว่างทางความคิดความเชื่อทางเสรีนิยม คือเคารพในความเป็นมนุษย์ของปัจเจกชน ยอมรับในเสรีภาพด้านต่างๆ ของประชาชน มันเป็นความย้อนแย้งอย่างไม่น่าเชื่อว่าวาระสุดท้ายของสหภาพโซเวียตมาถึงเมื่อลัทธิเสรีนิยมและมนุษย์นิยมเข้าครองใจของผู้นำสูงสุดได้

จากนั้นสหภาพโซเวียตแตกกระจายออกเป็นสหพันธรัฐอิสระ ระยะแรกยังดำเนินไปภายใต้ความต้องการของมอสโก เมื่อทุกประเทศเริ่มพัฒนาระบบเศรษฐกิจตลาดแบบทุนนิยม การติดต่อสัมพันธ์กับตลาดทั่วโลกทำให้พวกนั้นตระหนักถึงอนาคตของการสร้างประเทศว่า ต้องออกไปจากจักรวรรดิเก่าที่ครอบงำพวกเขามานับร้อยปี กระบวนการสร้างรัสเซียให้เป็นชุดมาตรฐานแบบเสรีนิยมตะวันตกที่ปูตินและคณะได้กระทำมาก็น่าสนใจ เขามีคณะที่ปรึกษาหลายคน ล้วนเป็นกระบี่มือหนึ่งในแผ่นดินทั้งนั้น บรรดาคนที่เรียกว่า Pitertsy (หรือ the Petersburg boys หมายถึงพวกที่มาใหม่) เช่น แนวเสรีนิยมใหม่อย่าง Chubais, Kudrin และ Gref ฝ่ายปฏิบัติการข่าวกรอง เช่น Sechin, Ivanov, Yakunin หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงเช่น Patrushev และ Bortnikov ฝ่ายกฎหมายได้แก่ Medvedev และ Kozak ฝ่ายมหาเศรษฐีที่เป็นลูกสมุนได้แก่ Timchenko และพี่น้อง Rotenberg ในวงจรนี้ ความร่ำรวยส่วนบุคคลมาจากการทำงานของทุกคน ไม่มีเส้นแบ่งอันชัดเจนระหว่างพวกเสรีนิยมทางเศรษฐกิจออกจากเครือข่ายผู้กุมอำนาจรัฐ (Statist siloviki) การสะสมความมั่งคั่งและทรัพย์สินโดยส่วนตัวจึงประกอบเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในทุกด้าน แต่ก่อรูปเป็นเหมือนกองที่ไร้ระเบียบมากกว่าเป็นแบบตระกูล (หรือกงสี)

การแข่งขันกันทางส่วนตัวและการย้ายข้างเป็นอุปสรรคต่อมัน เปิดช่องให้ปูตินโยกย้ายตำแหน่งและจัดแบ่งดุลในผลประโยชน์ได้ตามใจเขา ในฐานะของผู้กำกับความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักระหว่างรัฐกับทุนในขอบเขตทั้งหมด นาย Gleb Pavlovsky ‘นักเทคนิคทางการเมือง’ ที่ปรึกษาชาญฉลาดคนหนึ่งของปูติน อธิบายทรรศนะและมุมมองเบื้องหลังการปกครองรัฐดังกล่าวนี้ว่า

“ปูตินคือบุคลิกของโซเวียตผู้เข้าใจการมาถึงของระบบทุนนิยมในหนทางแบบของโซเวียต เราถูกสั่งสอนมาเหมือนกันว่า ลัทธิทุนนิยมนั้นคืออาณาจักรของพวกนักปลุกปั่น (demagogues) เบื้องหลังพวกนั้นคือเงินก้อนมหึมา และกลไกทางทหารซึ่งหมายมุ่งที่จะควบคุมโลก มันเป็นภาพที่กระจ่างแจ้ง เป็นภาพที่ง่ายธรรมดาและข้าพเจ้าคิดว่าปูตินก็มีความคิดนี้ในหัวของเขา ไม่ใช่อุดมการณ์ทางการแต่เป็นแบบสามัญสำนึก นั่นคือแน่นอนฟังเหมือนกับว่าพวกเราคือไอ้โง่ เราพยายามสร้างสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น เมื่อเราควรจะหาเงิน เพราะว่าเมื่อเราหาเงินได้มากกว่าของพวกนายทุนตะวันตกแล้ว จากนั้นเราก็สามารถซื้อพวกนั้นมาได้ หรือเราสามารถสร้างอาวุธที่พวกนั้นไม่มี นั่นคือทั้งหมดนี้ มันเป็นเกมที่เราแพ้ เพราะว่าเราไม่ได้ทำในหลายสิ่งที่เป็นเรื่องปกติธรรมดา เราไม่ได้สร้างชนชั้นนายทุนของเราเองขึ้นมา เราไม่ได้ให้โอกาสแก่นักล่าเหยื่อที่พรรณนาแก่เราในการปรากฏและขย้ำกินเหยื่อของพวกเขา เหล่านี้คือความคิดของปูติน และข้าพเจ้าไม่คิดว่ามันเปลี่ยนไปมากนักนับแต่นั้นมา”

เมื่อปูตินเริ่มกำจัดพวกคณาธิปไตยเก่าสมัยเยลต์ซิน ที่ปรึกษาบอกแก่เขาว่า การกำจัดพวกนั้นให้หมดไปนั้นทำไม่ได้ เพราะว่าไม่มีผู้ประกอบการที่มีฝีมือมากพอที่จะมาแทนที่พวกนั้นในรัสเซีย พวกนั้นคือคนถือเงินทุน ถือสติปัญญาและเทคโนโลยีไว้ รัฐจึงต้องเก็บไว้และใช้ประโยชน์จากพวกนั้นให้มากที่สุด รัสเซียภายใต้ปูตินจึงประสบความสำเร็จในการหาและสร้างรูปแบบและหนทางของการสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดแบบทุนนิยมที่ไม่เป็นเสรีนิยม ความอัศจรรย์ของระบบทุนนิยมคือการที่มันรับใช้ใครก็ได้ที่สามารถสร้างส่วนเกินจากระบบการผลิตได้

เมื่อยึดกุมกฎกติกาของระบบทุนนิยมได้ ปูตินก็ท้าทายอำนาจของทุนนิยมตะวันตก คราวนี้ไม่ใช่ด้วยพลังของสังคมนิยม หากแต่ใช้ระบบทุนนิยมของตะวันตกนั่นเองในการต่อสู้ เพียงแต่เขาไม่สนใจมิติด้านเสรีนิยมของมัน ตรงกันข้าม รัสเซียของปูตินกำลังต่อกรด้วยระบบอัตตาธิปไตย (autocracy) ที่ก่อนนี้คือพระเจ้าซาร์ บัดนี้คือปูตินกับชนชั้นนายทุนผูกขาดของรัฐ ด้วยภูมิหลังการทำงานที่เขาชอบมากแต่แรกคือเป็นสายลับเคจีบีอันทรงอำนาจของรัฐ ปูตินไม่ไว้ใจใครและลงมือกำจัดก่อนที่พวกต่อต้านจะเกิด สองทศวรรษที่เขาอยู่ในอำนาจและตำแหน่งประธานาธิบดี (สลับกับการลงไปเป็นนายกรัฐมนตรี) รัสเซียไม่มีประชาสังคมเสรี ไม่มีสื่อมวลชนเสรี ไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชนเสรี ไม่มีชนชั้นนายทุนอิสระ ด้านหนึ่งดูเหมือนกลับไปคล้ายกับสภาพสังคมในยุคสหภาพโซเวียตที่ม่านเหล็กปิดคลุมทั้งสังคม อีกด้านที่ไม่เหมือนและให้พลังท้าทายอย่างมหันต์คือการไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นอนาคตของคนแบบใหม่ในสังคมไร้ชนชั้น

ปูตินกับคณะตอกย้ำว่าหลักการสำคัญของรัสเซียทุกคนและทุกองค์กรคือ “ความปลอดภัย มั่นคง และผลประโยชน์แห่งชาติ” เพื่อเอาชนะยุทธศาสตร์ของตะวันตกที่ต้องการทำให้รัสเซียพ่ายแพ้ การเน้นความมั่นคงของรัสเซียหนีไม่พ้นที่ต้องหันกลับไปหาและชูเป็นจุดหมายในอนาคตของรัสเซีย คือการสร้างจักรวรรดิแห่งยูเรเซียที่มีรัสเซียเป็นศูนย์กลางโดยมีบรรดารัฐเล็กๆ ชายขอบที่เป็น ‘ปีกตะวันออก’ ของยุโรปเป็นดาวบริวารทำหน้าที่ปราการชายแดน นั่นเป็นจุดหมายแต่ดั้งเดิมของจักรวรรดิพระเจ้าซาร์เมื่อต่อกรกับประเทศยุโรป ประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอย แต่คราวนี้ปูตินอ้างว่านั่นเพื่อเป็นปราการของความมั่นคงปลอดภัยของรัสเซียจากอำนาจคุกคามของนาโตและสหรัฐฯ

ผมเข้าใจความคิดทางการเมืองของปูตินมากขึ้นจากคำกล่าวในการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา (State of the Nation) ในวันที่ 21 ก.พ. นายปูตินกล่าวรายงานสถานการณ์ของประเทศว่ากำลังอยู่ในความยากลำบาก ภารกิจในปีที่ผ่านมาเป็น “การพิทักษ์รักษาประชาชนของเราในดินแดนประวัติศาสตร์ เพื่อที่จะประกันความมั่นคง ขจัดภยันตรายที่มาจากระบอบยูเครน” ปมของการอธิบายสงครามในยูเครนแตกต่างกันระหว่างรัสเซียกับตะวันตก สำหรับรัสเซียความเข้าใจปัญหานี้ต้องเริ่มที่จุดเปลี่ยนสำคัญของรัฐบาลยูเครนภายใต้ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิชที่รัสเซียสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่แล้วฝ่ายต่อต้านออกมาประท้วงซึ่งมอสโกเชื่อว่าได้การสนับสนุนของสายลับตะวันตกเข้าโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้งของนายวิกเตอร์ ยานูโควิชด้วยการประท้วงใหญ่ จนนำไปสู่การ ‘ปฏิวัติไมดาน’ หรือปฏิวัติสีส้มในปี  2014 ที่ประธานาธิบดียานูโควิชต้องหนีออกนอกประเทศ นั่นคือความพ่ายแพ้ทางการเมืองของปูตินในยูเครน เป็นพื้นฐานของปัญหาฐานะและอนาคตของยูเครนที่จะพัฒนาต่อไป

นโยบายจากนั้นของปูตินเป็นมาตรการตอบโต้การรัฐประหารของประชาชน (แต่รัสเซียเรียกว่า ‘รัฐประหารโดยทหาร’) ตั้งแต่สนับสนุนและจัดตั้งมวลชนในเขตดอนบาสถึงไครเมียซึ่งอยู่ทางตะวันออกและใต้ของยูเครนเป็นดินแดนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลกลางในคีฟมานานแล้ว กลุ่มต่อต้านคีฟออกมาเรียกร้องให้ผนวกเข้ากับรัสเซีย พวกนั้นถูกปราบทำให้รัสเซียส่งกำลังมาช่วยและต่อมาเข้ายึดไครเมีย จุดที่โต้แย้งกันระหว่างฝ่ายตะวันตกกับรัสเซียจึงอยู่ที่ตรงนี้ รัสเซียมองว่ารัฐบาลที่เอียงข้างมอสโกถูกคว่ำ เพราะตะวันตกมายุแหย่และให้การช่วยเหลือในการประท้วง เขาจึงกล่าวว่า “ยูเครนและดอนบาสกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการโป้ปดมดเท็จ” โดยกล่าวโทษชาติตะวันตกที่ถอนตัวจาก ‘ข้อตกลงพื้นฐาน’ ของการอยู่ร่วมกัน รวมทั้งขยายเครือข่ายพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ทั้งหมดนั้นคือการปิดล้อมรัสเซียด้วยประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย “ผมขอย้ำว่ามันคือพวกเขาที่น่าถูกประณามในสงครามนี้ และพวกเราก็ใช้กำลังเพื่อหยุดยั้งมัน” นายปูตินกล่าวท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องจากผู้ฟัง

สังเกตว่าจากจุดยืนของรัสเซียการใช้กำลังอย่างร้ายแรงในยูเครนไม่ใช่ความผิดหรือการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นปัญหาภายในที่คนยูเครน (ตะวันออก) ถูกปราบปรามจากรัฐบาลคีฟ รัสเซียเป็นเพียงคนเข้าไปทำให้ความผิดกลายเป็นความถูกต้อง กล่าวคือรัสเซียกำลังปกป้องชีวิตประชาชน และรัสเซียไม่ได้ทำสงครามกับประชาชนยูเครน แต่เปรียบคนเหล่านี้เป็น ‘ตัวประกัน’ ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น กำลังจึงเป็นความชอบธรรม

อีกวาทกรรมของปูตินซึ่งตอกย้ำตลอดเวลาคือเรื่องหน้าที่ของรัสเซียในการ ‘จัดการกับรัฐบาลนีโอนาซี’ ของยูเครน นี่เป็นอีกประเด็นที่ผมงุนงงหลายวันว่าลัทธินาซีเข้ามาเกี่ยวพันกับความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร เพื่อจะประกาศให้โลกรู้ว่า รัฐบาลเลือกตั้งที่เซเลนสกีได้รับชัยชนะนั้นไม่ใช่รัฐบาลที่ชอบธรรม หากมาด้วยการปราบปรามประชาชนที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ปูตินใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือเพื่อจำลองภาพให้ง่ายต่อการรับรู้ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีภายใต้ระบอบนาซีของฮิตเลอร์บุกสหภาพโซเวียต กองทัพรัสเซียต่อสู้จนเอาชนะนาซีเยอรมันได้ในที่สุด ในความทรงจำทางการเมือง ยูเครนเป็นสมรภูมิใจกลางที่คนรัสเซียยังเรียกขานมาถึงปัจจุบันว่า ‘สงครามเพื่อมาตุภูมิอันยิ่งใหญ่ระหว่างปี 1941-45’ (the Great Patriotic War of 1941-45) เป็นแนวหน้าที่กองทัพแดงทำการโจมตีรุกกลับต่อกองทัพเยอรมัน ‘วันชัยสมรภูมิ’ (9 พ.ค.) จึงเป็นวันชาติของสหภาพโซเวียตและมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อวาดภาพของรัฐบาลยูเครนขณะนี้ว่าเป็น ‘นาซีใหม่’ ก็ไม่ต้องอธิบายว่ามันเลวทรามต่ำช้าอย่างไรที่ต้องกำจัดออกไปในทุกวิถีทาง

น่าสนใจว่าศัพท์การเมืองของรัสเซียที่ใช้ในการป้ายสีฝ่ายตรงข้าม ไม่มีอย่างของขวาไทย เช่น ‘ชังชาติ’ ‘ล้มเจ้า’ ‘ทำลายชาติ’ ทั้งนี้เพราะการรวมชาติเป็นรัสเซียหนึ่งเดียว ซึ่งเริ่มแต่สมัยพระเจ้าซาร์ รัสเซียเป็นจักรวรรดิไม่สำเร็จและไม่เคยพัฒนาสู่การเป็นรัฐชาติ ในความหมายของการมีคนชั้นกลางและปัญญาชนมากพอในการรองรับและเสนอความคิดลัทธิชาตินิยมรัสเซียขึ้นมาได้ ในศตวรรษที่ 19 บรรดาปัญญาชนและนักเขียนที่ต่อมาชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก นิยมความคิดแบบตะวันตก ในขณะที่คนกว่าค่อนประเทศยังอ่านไม่ออก การสร้างคนรัสเซียขึ้นมาก็ไม่ค่อยมีน้ำหนักมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่ยังเป็นทาสกสิกร พูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่รัสเซียกว่าครึ่งค่อนประเทศ มีแต่พวกขุนนางและคนชั้นสูงเท่านั้นที่พูดรัสเซีย จักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตจึงไม่เคยเป็นดินแดนของคนชาติรัสเซียชาติเดียว หากแต่เป็นอาณาจักรของคนหลายชาติและภาษา ดังนั้นคติเรื่องการเกิดและสร้างรัฐประชาชาติที่รวมหลายชนชาติเข้ามาด้วยกันเพื่อเป็นชาติเดียวจึงไม่เกิด

รัสเซียตั้งแต่สมัยจักรวรรดิพระเจ้าซาร์หวาดกลัวความคิดลัทธิชาตินิยมมาก เพราะมันกระเทือนความชอบธรรมของอำนาจศูนย์กลาง ไม่สนับสนุนความคิดความเป็นชาติ แต่ยอมรับชาติพันธุ์ (ethnic) เราจึงไม่เคยได้ยินได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ลัทธิชาตินิยมรัสเซีย’ (Russian nationalism) ที่เป็นของชาวบ้าน มีแต่ชาตินิยมทางการ (official nationalism) อัตลักษณ์ความเป็นชาติก็ไม่มี สมัยสหภาพโซเวียตก็ไม่รับความเป็นรัฐอิสระของจอร์เจียและยูเครน นี่เองที่ทำให้วลาดิเมียร์ ปูตินกล่าวย้ำตลอดเวลาท่ามกลางความงงงวยของคนนอกรัสเซียว่า ทำไมยูเครนจึงไม่ใช่รัฐ ไม่สมควรเป็นรัฐของคนยูเครนเอง

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมพอเข้าใจได้ว่า ทำไมปูตินจึงไม่ยอมรับการเจรจายุติสงครามในยูเครน ถ้าจะเจรจาก็ต้องว่ากันในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ ในยูเครน ถามว่าแล้วประเด็นอะไรที่เขาต้องการเจรจาด้วยมากที่สุด ตอบว่าคือเมื่อสหรัฐฯ และนาโตยอมรับว่าพวกเขาคือผู้ผิดในปัญหานี้

มองจากมุมของประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงประเทศและสังคมรัสเซียจากจักรวรรดิโบราณมาเป็นรัฐสมัยใหม่ ในที่สุดต้องอาศัยทฤษฎีและความคิดตะวันตกที่เป็นปฏิปักษ์กับลัทธิเสรีนิยม นั่นคือลัทธิมาร์กซ์ที่เลนินนำมาชี้นำในการปฏิวัติสังคมนิยมและสถาปนารัฐคอมมิวนิสต์ขึ้นมา แต่รัฐสังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียตก็ไม่สามารถฝ่ากระแสระบบทุนนิยมโลกออกไปได้ ปัจจุบันรัสเซียภายใต้การนำของปูตินที่ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ แม้ใช้ความคิดจากตะวันตกในการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจบ้าง แต่ไม่ใช่ด้านหลัก ตรงกันข้ามเขากลับไปรื้อฟื้นคติความเชื่อของรัสเซียยุคจักรวรรดิโบราณ ด้วยตรรกะเดียวว่าสหรัฐฯ และนาโตกำลังใช้ยุทธศาสตร์ในการทำลายล้างรัสเซียลงไป

ถนนทุกสายจากนี้ไปจึงมุ่งสู่การเผชิญหน้ากันอย่างเป็นปฏิปักษ์ระหว่างระบอบเสรีนิยมกับอัตตาธิปไตยและอำนาจนิยม

หมายเหตุ – ชื่อเรื่องเลียนจากชื่อหนังสือของเลนินเรื่อง Left-wing Communism: An Infantile Disorder (1920)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save