fbpx

ความย้อนแย้งในสงครามรัสเซียบุกยูเครน

สถานการณ์ล่าสุดของสงครามรัสเซียบุกยูเครนจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ คือการเดินทางมาพบปะเจรจาตัวต่อตัวของ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ กับลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกลาโหม สหรัฐฯ ที่เดินทางมาอย่างเงียบเชียบเพื่อพบประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน ตามมาด้วยในวันที่ 30 เมษายน แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กับคณะไปเยี่ยมพบปะกับประธานาธิบดีเซเลนสกีด้วยอีกคณะหนึ่ง

คณะผู้นำการเมืองระดับสูงของสหรัฐฯ ได้ไปเยี่ยมเยียนยูเครน หลังจากที่ผู้นำระดับสูงของนาโตและประเทศสหภาพยุโรปหลายประเทศ รวมถึงอังกฤษ ได้ไปให้กำลังใจและตอบแทนที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีปรากฏตัวทางจอวิดีโอในรัฐสภาของหลายประเทศเหล่านั้นก่อนนี้แล้ว

มีคำถามว่าแล้วเมื่อไรประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ จะเดินทางไปเยี่ยมบ้าง แน่นอนคำตอบจากฝ่ายความมั่นคงและราชการลับก็คือ ไม่มีทางให้ประธานาธิบดีไบเดนเดินทางไปยังพื้นที่อันมีการต่อสู้ทางอาวุธร้ายแรงกับฝ่ายตรงข้ามอยู่อย่างแน่นอน ดังนั้นการออมชอมเพื่อไม่ให้เสียมิตรไมตรีและคำมั่นสัญญาที่มีต่อกันจึงให้ผู้นำหมายเลขสองออกไปทำการแทน

ไม่มีการให้ข่าวตอนที่ผู้นำระดับสูงสหรัฐฯ เดินทางไปยูเครน เพราะฝ่ายสืบราชการลับกำกับการเดินทางและความปลอดภัย การบินไปพบเซเลนสกีจึงดำเนินไปอย่างปิดลับ ลงเครื่องที่โปแลนด์ แล้วนั่งรถไฟที่หน้าต่างติดฟิล์มสีดำจนมองไม่เห็น ลงรถที่สถานีเมืองเคียฟ แล้วตรงเข้าไปยังที่ทำการของประธานาธิบดียูเครน กระทั่งเจรจากันเสร็จเรียบร้อยและเดินทางกลับถึงสนามบินโปแลนด์แล้ว ทั้งสองผู้นำระดับสูงอเมริกันจึงเริ่มการให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวเรื่องการเดินทางไปเยี่ยมเซเลนสกี

สถานะของการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนปัจจุบันจึงมาถึงบทที่สอง เมื่อจุดหมายแรกแต่ดั้งเดิมของปูตินไม่ประสบผลสำเร็จ คือไม่อาจยึดและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลยูเครนภายใต้เซเลนสกีได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะนั้นสหรัฐฯ ยังไม่แสดงท่าทีอย่างเอาจริงเอาจังว่าจะทำอะไรกับสถานการณ์ ‘บุก’ ยูเครน นอกจากให้กำลังใจและประเมินท่าทีของรัสเซียก่อน เมื่อแผนการแรกไม่ประสบความสำเร็จและยูเครนเริ่มแสดงความสามารถในการต้านกำลังและการโจมตีอย่างหนักของกองทหารรัสเซียได้บ้างแล้ว สหรัฐฯ จึงเริ่มแสดงท่าทีในการให้ความช่วยเหลือ ไม่แต่ทางด้านกำลังใจเท่านั้น หากขยายออกไปยังด้านกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย จนประธานาธิบดียูเครนออกปากขอให้นาโตและอเมริกาทำการปิดน่านฟ้าเหนือยูเครน ไม่ให้เครื่องบินรัสเซียบินผ่านได้ ซึ่งคำขอนี้ถูกปฏิเสธอย่างทันทีจากประธานาธิบดีไบเดน เพราะว่าการกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการประกาศสงครามโดยตรงกับรัสเซียนั่นเอง อันเป็นเส้นแบ่งหรือเส้นแดงที่ข้ามไม่ได้ เพราะการปะทุขึ้นของสงครามระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ย่อมหมายความว่านำไปสู่การเกิด ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ นั่นเอง

หลังจากที่ยุทธการ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ ของปูตินไม่ประสบผลสำเร็จและเริ่มยืดเยื้อย้วยไปยังเรื่องอื่นๆ เริ่มมีการวิเคราะห์วิจารณ์สังเคราะห์ปัญหารัสเซียยูเครนกันมากมายเอิกเกริก กินความตั้งแต่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ จักรวรรดิและรัฐชาติ การเปลี่ยนระบอบปกครองประเทศ บทบาทของปัจจัยเศรษฐกิจการค้าการเงินระหว่างประเทศ อิทธิพลของลัทธิชาตินิยม และพลังทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มากจนอ่านไม่ทัน ประเด็นที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่เรื่องของการสู้รบตบมือทางการทหารหรือทางการทูต หากแต่เป็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านระบอบสังคมและเศรษฐกิจการเมือง รวมความคือการเปลี่ยนแปลงประเทศและสังคมทั้งหมดโดยสิ้นเชิงที่เป็นผลจากสงคราม การประลองกำลังอย่างน่าหวาดเสียวครั้งนี้ระหว่างสองมหาอำนาจของโลกจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของระบอบสังคมอะไร

ทั้งนี้เพราะว่าทั้งสองมหาอำนาจต่างเป็นภาพตัวแทน (representative) และความเป็นจริงของสังคมโลกขณะนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ เป็นภาพตัวแทนของระบบเสรีนิยมและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ฝ่ายรัสเซียเป็นภาพตัวแทนของระบบอัตตาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจทุนไม่เสรี แต่ที่ประหลาดกว่าในยุคสงครามเย็น ก็คือทั้งสองฝ่ายและกองเชียร์ล้วนยอมรับและสมาทานระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและคติเสรีบางอย่าง นั่นคือไม่มีการต่อสู้ขัดแย้งในทางอุดมการณ์ทางการเมืองแบบแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว ระหว่างอุดมการณ์สังคมนิยมกับทุนนิยมเสรี แม้รูปแบบการเมืองประชาธิปไตยก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพียงแต่ไม่ทำตามแบบเสรีนิยม หากแต่พยายามสร้างระบบประชาธิปไตยแบบไม่เสรีในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมา เช่น แบบรัสเซีย แบบไทย แบบเมียนมา แบบจีน แบบอียิปต์ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ผมมองว่าคือการต่อสู้และยกระดับการต่อสู้ขึ้นไปสู่การเป็นคำตอบหรือโมเดลให้แก่บรรดาประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบเสรีนิยมและทุนนิยมแบบตะวันตก

เมื่อปี 1917 การปฏิวัติยิ่งใหญ่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ (บอลเชวิก) เสนอรูปแบบทางเลือกของรัฐและรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของมวลชนคนชั้นล่างเป็นครั้งแรกให้แก่ประชาชนและประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย ด้วยการโค่นล้มระบอบอัตตาธิปไตยภายใต้พระเจ้าซาร์และกลไกอำนาจรัฐเก่าของพวกขุนนางและเจ้าที่ดิน หนังสือที่บันทึกประวัติศาสตร์โลกช่วงนี้ไว้คือ ‘สิบวันเขย่าโลก’ (Ten Days That Shook the World) โดยจอห์น รีด นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าอเมริกันที่ไปถึงรัสเซียเพื่อทำข่าวสำคัญในวันนั้น

การปฏิวัติสังคมนิยมภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (บอลเชวิก) ที่มีเลนินเป็นผู้นำสำคัญ คือประวัติศาสตร์ช่วงที่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองของประเทศอย่างขนานใหญ่และมีผลกระเทือนไปทั่วโลก ครั้งนั้นสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นรัฐสังคมนิยมแรกของโลกก่อกำเนิดขึ้นมา ด้วยการรวบรวมเอาบรรดานครรัฐใหญ่น้อยที่เคยอยู่ใต้อำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิพระเจ้าซาร์ให้เข้ามาอยู่ร่วมกันภายใต้ร่มธงลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีความเป็นชาติ มีแต่ชนชั้นกรรมาชีพและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เป็นการสร้างความฝันที่เคยอยู่แต่ในเทพนิยายและนิทานให้บังเกิดเป็นความจริงขึ้นมา ไม่ต้องบอกก็เดาได้ว่า อุดมการณ์ปลดปล่อยชนชั้นกรรมกรและสร้างสังคมนิยมเป็นคำขวัญที่สั่นสะเทือนโลกและขบวนการปฏิวัติไปแทบสิ้นศตวรรษที่ 20

แต่วันนี้ในศตวรรษที่ 21 รัสเซียภายใต้ปูตินกำลังเสนอรูปแบบและอุดมการณ์ที่ตรงกันข้ามกับ ‘การปฏิวัติเดือนตุลาคม’ โดยสิ้นเชิง แทนที่การปลดปล่อยประชาชน เขาเสนอโซ่ตรวนและคุกตะรางให้แก่คนที่รักเสรีภาพและความเป็นอิสระ แทนที่พลังของประชาสังคม คืออำนาจผูกขาดของกลุ่มคณาธิปไตยและทุนผูกขาดโดยรัฐ นี่เองที่ยูเครนประกาศก้องไปทั่วโลกว่าการต่อสู้ของพวกเขา ไม่ใช่เพื่อตัวเอง หากแต่เพื่อคนทั้งโลกที่ใฝ่หาและต้องการเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน

ก่อนหน้านี้ ที่เป็นการท้าทายอย่างยิ่งคือระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม ซึ่งสหภาพโซเวียตเร่งยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายสมัยพระเจ้าซาร์ โดยมีเคียฟเป็นเมืองใหญ่และสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เป็นเมืองแรกที่เริ่มเดินรถรางไฟฟ้าในเมือง นับเป็นที่สามของโลก ตอนนั้นคนเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจโลกมีการต่อสู้กันสองแบบคือแบบทุนนิยมเสรีกับแบบสังคมนิยม ในขณะที่สหรัฐฯ จะกลายเป็นตัวแบบหรือโมเดลของระบบทุนนิยมเสรี สหภาพโซเวียตก็จะกลายมาเป็นตัวแบบของระบบสังคมนิยมที่บรรดาโลกที่สามจ้องมองว่าจะเลือกไปทางไหน นั่นคือโลกภายใต้ ‘สงครามเย็น’ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ที่มีอิทธิพลและผลกระทบต่อทิศทางการสร้างรัฐและสร้างชาติในประเทศโลกที่สามรวมทั้งไทยด้วย จนกระทั่งคลื่นของความคิดเรื่องเสรีภาพและอิสรภาพค่อยๆ ซึมเข้าไปในขบวนการกรรมาชีพในยุโรปตะวันออก จนเกิดกระแสการประท้วงต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์จากภายใน

 ในที่สุดกำแพงเบอร์ลินก็ถูกพังทลายลงในปี 1989 ตามมาด้วยการประกาศสลายสหภาพโซเวียตโดยประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ผู้พยายามพลิกระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมให้เข้ากับสถานการณ์ทุนนิยมโลก แต่ดูเหมือนสภาพการณ์สายและช้าไปแล้ว ช่วงเปลี่ยนผ่านจากประธานาธิบดีกอร์บาชอฟไปถึงเยลต์ซิน นำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่อาจยอมรับได้อย่างสันติและสมานฉันท์ จนถึงการใช้กำลังทหารเข้าช่วยในการก่อรัฐประหาร แต่ถูกปราบด้วยกำลังทหารอีกฝ่าย นี่คือระยะของความแปรปรวนไร้ระเบียบอย่างยิ่ง เพราะการเปลี่ยนจากระบบสังคมนิยมซึ่งมีพื้นฐานและทฤษฎีความเชื่ออย่างหนึ่ง ไปสู่ระบบทุนนิยมเสรีซึ่งมีรากฐานและธรรมเนียมปฏิบัติอีกชุดหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน บรรดาคนที่มีอำนาจและผลประโยชน์จากระบบหนึ่งย่อมไม่อาจยอมรับการทำลายพื้นฐานอันเดิมของพวกเขาลงไป ตอนนั้นมีคนเปรียบเปรยให้เห็นสภาพปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมว่า การทำให้ระบบทุนนิยมไปเป็นสังคมนิยม ก็เหมือนการทำปลาที่อยู่อ่างให้เป็นซุปปลา ส่วนการทำให้ระบบสังคมนิยม กลับมาเป็นระบบทุนนิยมนั้นก็เปรียบเสมือนการทำซุปปลาให้กลับมาเป็นปลาในอ่าง มันเป็นไปแทบไม่ได้ และนี่คือหนทางอันวิบากของการพัฒนาระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในรัสเซียหลังการสลายของรัฐสังคมนิยม

น่าสนใจว่าไม่มีใครเสนอการวิพากษ์ทฤษฎีการสร้างระบบทุนนิยมและประชาธิปไตยในรัสเซียว่าเป็นปัญหาทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ อย่างที่เคยเป็นปัญหาโลกแตกในขบวนการปฏิวัติและต่อสู้ของพรรคและกลุ่มซ้ายในโลกที่สาม พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้ประธานเหมา เจ๋อตง เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเสนอแนวทางการปฏิวัติที่ต้องทำให้เป็นแบบท้องถิ่นหรือแบบจีน แม้ว่าทฤษฎีชี้นำอย่างลัทธิมาร์กซ์และเลนินจะเป็นสัจธรรมก็ตาม แต่ก็ต้องตัดเกือกให้เข้ากับตีน ไม่ใช่ตัดตีนให้เข้ากับเกือก จึงเกิดทฤษฎีปฏิวัติของจีนว่าต้องเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สภาพทางชนชั้นของสังคมจีนก่อน อันได้แก่สังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ต้องปลุกระดมชาวนาให้เข้าร่วมการต่อสู้เป็นกำลังหลักไม่ใช่กรรมกรอย่างในยุโรป แม้หลังจากปฏิรูปประเทศภายใต้คำขวัญ ‘สี่ทันสมัย’ ของเติ้ง เสี่ยวผิง จนเปิดประเทศให้แก่ทุนภายนอก จีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังต้องวิเคราะห์เพื่อหาระบบทุนนิยมที่เข้ากับเกือกแบบจีนก่อน ไม่ใช่ว่าทุนอะไรก็ได้

ตรงกันข้ามนับแต่เปิดประเทศ ฝ่ายนำของรัสเซียเปิดให้บรรดานายทุนทุกแบบดำเนินการอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียเวลาไปเดินตามกระบวนการสะสมทุนแบบบุพกาลให้เสียเวลา รัสเซียก้าวข้ามด้วยการทำให้ทุนยึดอำนาจรัฐไปด้วยโดยผ่านกลไกและกลุ่มผู้นำการเมืองในรัฐ ไม่ต้องอาศัยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์อีกต่อไป เพราะหันไปอาศัยระบบตลาดเสรีแล้ว ราวทศวรรษใต้เยลต์ซิน ระบอบทุนโจราธิปไตยก็ก่อรูปและเติบใหญ่พร้อมกับการขยายการผลิตและบริโภคแบบตลาดเสรี ตามมาด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่ผกผันตามกระแสเศรษฐกิจโลก คนชั้นล่างต่างรับเคราะห์กรรม สิ่งที่ขาดคือประชาสังคมหรือภาคประชาสังคม จึงมีแต่รัฐและกลไกรัฐที่เป็นระบบราชการ คนที่ขึ้นมาปรับแก้ทำให้ระบบทุนรัสเซียมีประสิทธิภาพและสามารถทัดเทียมกับทุนตะวันตกได้คือวลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเยลต์ซิน พร้อมทั้งเก็บรับบทเรียนด้านลบทั้งหลายเอาไว้ รอเวลาที่เขาจะกวาดล้างพวกคณาธิปไตยเดิมทั้งหลายลง แล้วสร้างคณาธิปไตยใหม่ที่เป็นของเขาเองขึ้นมา

ตรงนี้เองที่อธิบายความเชื่อมั่นและปรารถนาของปูตินในการกรีธาทัพเข้าบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เพราะบัดนี้เขามีทั้งอำนาจทหารและอำนาจทุนในมือ พอจะรับมือกับการต่อกรไม่ว่าในรูปแบบใดๆ กับตะวันตกได้ แบบฝึกหัดเรื่อง ‘จะทำอะไรดีกับยูเครน’ (What Is to Be Done?) เป็นการตอบโจทย์ที่ดำรงอยู่กับรัสเซียมานานนับศตวรรษ ตั้งแต่ยุคกลางมาถึงยุคสมัยใหม่ ในประวัติศาสตร์ยุคแรกนครรัฐเคียฟอยู่เคียงข้างนครรัฐรุสที่เริ่มมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย จนเข้าบุกและทำลายเคียฟลงไปหลายครั้ง ด้วยการที่อยู่บนเส้นทางสำคัญในการค้าทางไกลกับภายนอก จากภาคใต้ไปถึงคาบสมุทรยุโรปและทะเลดำ ต่อขึ้นไปถึงดินแดนตอนกลางและบนของผืนดินอันกว้างใหญ่ที่สมบูรณ์ด้วยการเพาะปลูกธัญพืชและเกษตกรรมต่างๆ การยึดครองเคียฟได้จึงหมายถึงการคุมเส้นทางการค้าการแลกเปลี่ยนสำคัญของยุโรป และนี่เองก็มาเป็นจุดหมายที่ไม่ได้ประกาศของรัสเซียใต้ปูติน ว่าทำไมถึงต้องใช้กำลังมหาศาลในการเข้าพิชิตและครอบครองประเทศยูเครนอีกวาระหนึ่ง เพราะถ้าหากมอสโกต้องการแสดงให้โลกประจักษ์ในความเหนือกว่าของระบอบปกครองอัตตาธิปไตยแบบปูติน ก็ต้องครอบครองความเป็นเจ้าเหนือภูมิภาคยูเรเชียนี้ให้ได้ก่อน พลังการผลิตของระบอบเศรษฐกิจทุนแบบรัสเซียถึงจะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้

ความย้อนแย้ง (paradox) ในสงครามครั้งนี้คือ เป็นการต่อสู้ที่ไม่ได้วางอยู่บนฐานทางอุดมการณ์และความแตกต่างในระบอบสังคมและเศรษฐกิจ ทุกฝ่ายใช้ประโยชน์จากระบบทุนนิยมและเทคโนโลยีที่มากับมันในการเอาชนะคู่ต่อสู้ ทั้งหมดเพื่อจุดหมายเดียวคือการรักษาตนเองและทำลายศัตรู ว่าไปแล้วนี่คือความคิดและจุดหมายของสงครามแบบโบราณกระทั่งมาถึงยุคสมัยใหม่ ที่มิติความคิดการเมืองและอุดมการณ์ที่วางอยู่บนฐานคิดเชิงเหตุผลปัจเจกชนเข้ามามีน้ำหนักและให้ความชอบธรรมแก่การปฏิบัติทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ จนเกิดกติกาเวสต์ฟาเลียมาถึงองค์การสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

คำถามคือรัสเซียจะพาเรากลับไปสู่การทำสงครามแบบโบราณและกติกาแบบอำนาจคือธรรม ที่ทำลายทุกอย่างเพื่อเอาชนะเท่านั้นหรือ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save