fbpx
มนุษย์ เผด็จการ บนโลกที่พลิกผัน

มนุษย์ เผด็จการ บนโลกที่พลิกผัน

ธร ปีติดล เรื่อง

 

An Artist of the Floating World

 

“ขอโปรดอย่าเข้าใจผิดครับแม่ ผมไม่ได้มีความต้องการใดๆ ที่จะไปนั่งตรงจุดที่พ่อนั่งอยู่ คอยสอนสั่งลูกชายแต่ในเรื่องเงินทองและการทำบัญชี แม่จะภูมิใจกับตัวผมหรือถ้าผมเป็นเช่นนั้น … ตอนที่ผมบอกแม่ว่าผมมีความฝัน ผมหมายถึงผมฝันที่จะได้มีชีวิตที่มีคุณค่ามากกว่าชีวิตแบบนั้น”

โอโนะบอกกับแม่ เมื่อพ่อยื่นคำขาดไม่ให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางที่เขาใฝ่ฝัน เขาปฏิเสธความตั้งใจของพ่อที่จะให้ลูกชายคนโตอย่างเขาเป็นผู้สืบทอดกิจการการค้าของครอบครัว และก้าวเดินออกแสวงหาความสำเร็จให้กับความฝันของตนเองในการเป็นจิตรกร

โอโนะเป็นตัวละครหลักในนวนิยายเรื่อง An Artist of the Floating World ของนักเขียนผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนล่าสุด คาซูโอะ อิชิกูโระ นวนิยายดังกล่าวเป็นผลงานลำดับที่สองของอิชิกูโระ ถูกเขียนขึ้นในขณะที่อิชิกูโระยังไม่ได้ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จัก อิชิกูโระเองให้ความสำคัญกับนวนิยายเรื่องนี้ในฐานะผลงานที่ช่วยให้เขาได้พัฒนารูปแบบการเขียนของตนเอง จนกลายเป็นแบบอย่างให้กับงานเขียนชิ้นหลังๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

Kazuo Ishiguro, An Artist of the Floating World
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ goodreads

An Artist of the Floating World เล่าถึงชีวิตของโอโนะในฐานะจิตรกรผู้ใช้ชีวิตผ่านความผกผันทางการเมืองอันสำคัญยิ่ง – การก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองและการพ่ายแพ้สงครามของประเทศญี่ปุ่น โดยโอโนะมีบทบาทสำคัญในฐานะศิลปินผู้สร้างผลงานสนับสนุนการก่อสงครามของประเทศตนเอง

“บอกฉันสิ เจ้าเต่า” โอโนะวัยหนุ่มกล่าวกับเพื่อนผู้ทำงานศิลปะอย่างเชื่องช้าจนได้รับฉายาดังกล่าว

“นายไม่เคยมีความฝันเลยหรือว่าวันหนึ่งนายจะได้สร้างงานศิลปะที่มีความสำคัญยิ่ง ฉันไม่ได้หมายถึงแค่งานที่จะมีแต่ศิลปินแบบพวกเรามานิยมชมชอบหรอกนะ ฉันหมายถึงงานที่สำคัญจริงๆ งานศิลปะที่สร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้กับผู้คนในชาติของเรา”

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจแต่แรกเริ่มของโอโนะ ประกอบกับพรสวรรค์ของเขา โอโนะประสบความสำเร็จกับการพัฒนาตนเองบนเส้นทางของจิตรกร เขาก้าวไปเป็นศิษย์เอกของจิตรกรชื่อดัง ทั้งยังเริ่มมีผลงานที่ได้รับการจัดแสดงสู่สาธารณะ แต่กระนั้นโอโนะก็ยังรู้สึกว่าชีวิตมีบางอย่างขาดหายไป เขาพยายามแสวงหาคุณค่าอะไรที่มากกว่าแค่การผลิตงานศิลปะที่งดงาม

จนเมื่อโอโนะได้พบกับมัตซึดะ ตัวแทนจากสมาคมการจัดแสดงผลงานศิลปะ ผู้มีความคิดทางการเมืองเข้มข้น เขาก็ได้คำตอบที่แสวงหา

“ตาสองข้างของนายยังไม่เปิดเลยโอโนะ” มัตซึดะกล่าว

“ฟังนะ ทุกวันนี้ญี่ปุ่นของเราไม่ได้เป็นประเทศล้าหลังที่มีแต่คนเป็นชาวนาแล้ว เราเป็นประเทศที่มีแสนยานุภาพทัดเทียมกับประเทศตะวันตก … แต่เราก็ยังยอมให้คนของเราต้องลำบาก ให้ลูกหลานของเรายังไม่มีอันจะกิน เราปล่อยให้พวกนักธุรกิจคอยแต่แสวงหาความร่ำรวยให้ตัวเอง ปล่อยให้พวกนักการเมืองคอยโกหกหลอกลวง … มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้างมหาอาณาจักรของเราที่มั่งคั่งไม่ต่างไปจากพวกอังกฤษหรือฝรั่งเศส เราจะต้องใช้ความเข้มแข็งของเราขยายอำนาจไปสู่ประเทศอื่นๆ ให้ญี่ปุ่นยืนอยู่ในจุดเดียวกับชาติมหาอำนาจในโลกได้เสียที”

คำกล่าวของมัตซึดะสร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญให้กับชีวิตของโอโนะ นวนิยายไม่ได้เล่ารายละเอียดของช่วงเวลาที่เขาผันตัวเองไปทำหน้าที่เป็นจิตรกรผลิตผลงานโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสนับสนุนการก่อสงครามมหาเอเซียบูรพาของญี่ปุ่น แต่ได้เล่าถึงวันที่เขาตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางดังกล่าว – วันที่เขากล่าวลาอาจารย์ของเขา

“อาจารย์ ฉันเชื่อว่าในเวลาที่มีปัญหาต่างๆ มากมายเช่นในตอนนี้ จิตรกรก็ควรจะเรียนรู้ที่จะรู้จักคุณค่าของบางอย่างที่มากไปกว่าการแสวงหาความสุขที่จะเลือนหายไปพร้อมๆ กับวันใหม่ในแต่ละวัน มันไม่จำเป็นเลยที่จิตรกรอย่างเราจะต้องคอยอยู่แต่ในโลกที่ปิดจากภายนอก สามัญสำนึกบอกฉันว่าฉันไม่ได้ต้องการจะเป็นจิตรกรในโลกที่ล่องลอยแบบนี้ไปตลอดกาล”

มนุษย์กับเผด็จการ

การกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ของคนอย่างโอโนะเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในงานวิชาการช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คนจำนวนมากมีคำถามค้างคาในใจว่า ทำไมระบอบที่โหดร้ายและกดขี่ข่มเหงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เช่นระบอบนาซีในเยอรมนี และฟาสซิสต์ในอิตาลี ถึงได้มีผู้คนสนับสนุนมากมาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ประชาธิปไตยเบ่งบานอยู่หลายทศวรรษในประเทศส่วนใหญ่ความพยายามในการอธิบายผู้สนับสนุนเผด็จการก็ได้รับความสนใจน้อยลง

แต่โลกก็มีความสามารถเสมอในการหมุนเวียนกลับมาสู่จุดที่ไม่ไกลจากเดิม ปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วงสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก กลับพบว่าการเดินบนเส้นทางการเมืองแบบประชาธิปไตยกำลังต้องสะดุดลง ในขณะที่ความนิยมในผู้นำแบบเผด็จการกลับเพิ่มมากขึ้น ซ้ำร้าย สำหรับบางประเทศ เผด็จการทหารสามารถกลับมาปกครองประเทศได้เกือบครึ่งทศวรรษและยังดูเหมือนจะอยู่ในอำนาจต่อไปอีกยาวนาน

ท่ามกลางความแปรผันเช่นนี้ ชวนให้หยิบยกคำอธิบายเกี่ยวกับการกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนระบอบเผด็จการของคนอย่างโอโนะมาพิจารณาอีกครั้ง

ผู้เขียนขอสำรวจคำอธิบายสองแบบที่ถูกใช้ตอบคำถามว่า เหตุใดผู้คนจำนวนมากถึงกลายเป็นผู้สนับสนุนหลักของระบบฟาสซิสต์ในยุโรปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

คำอธิบายชุดแรกอยู่บนฐานของข้อสังเกตสำคัญที่ว่า ผู้สนับสนุนหลักของระบบฟาสซิสต์ในช่วงเวลานั้นเป็นกลุ่มชนชั้นกลางระดับล่าง (petite bourgeoisie) ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มอาชีพ เช่น เจ้าของกิจการขนาดเล็ก ลูกจ้าง ข้าราชการที่ไม่ได้มีรายได้สูงนัก กลุ่มวิชาชีพครูและนักบัญชี ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบอยู่ที่เส้นทางของพัฒนาการทางสังคม เยอรมนีและอิตาลีไม่ได้ก้าวผ่านเส้นทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมทุนนิยมและสังคมสมัยใหม่อย่างเป็นขั้นตอน แต่กลับก้าวกระโดดผ่านขั้นตอนสำคัญเช่นการปฏิวัติขึ้นมามีบทบาททางการเมืองของชนชั้นกลาง (bourgeoisie revolution)

เส้นทางการพัฒนาเช่นนี้สร้างความลักลั่นในโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ได้กลายเป็นทุนนิยมอุตสาหกรรม สังคมของพวกเขากลับยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ความทันสมัยโดยสมบูรณ์ แต่ยังเต็มไปด้วยสภาพเก่าเก็บของสังคมจารีตและระบบการเมืองล้าหลัง ความขัดแย้งกันในโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่แวดล้อมนี้เองที่กลายไปเป็นสภาวะที่ผลักดันคนชั้นกลางระดับล่างไปสู่ระบบฟาสซิสต์

ในสภาวะดังกล่าว ชนชั้นกลางระดับล่างกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่แวดล้อมพวกเขาได้ ภายใต้ระบบทุนนิยม พวกเขากลายเป็นกลุ่มที่ถูกบีบจากการขยายบทบาทของกลุ่มทุนและแรงงาน ในขณะที่ในทางการเมือง พวกเขาก็ยังไม่สามารถปรับตัวไปเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่ได้

ความลักลั่นบนเส้นทางของพัฒนาการทางสังคม ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองได้กลายเป็น “ผู้แพ้” และหันเหสู่การเป็นพลังต่อต้านสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่แวดล้อมตนเอง

หากลองนำคำอธิบายนี้มองย้อนไปตีความชีวิตของโอโนะ ความลักลั่นในสภาพเศรษฐกิจการเมืองของญี่ปุ่นก็คงเป็นสภาวะที่เขาต้องประสบเช่นกัน ชีวิตตั้งแต่เยาว์วัยจนถึงวัยหนุ่มของโอโนะต้องอยู่ในสภาพเศรษฐกิจที่เขามองไม่เห็นที่ทางของตนเองอย่างชัดเจน เขารังเกียจชีวิตพ่อค้าของพ่อว่าไม่ได้มีคุณค่าใดให้น่าภูมิใจ แต่เมื่อหันไปสู่การเป็นจิตรกร ชีวิตการทำงานของเขากลับเริ่มจากการทำงานให้กับธุรกิจผลิตภาพวาดญี่ปุ่นเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ต้องเขียนภาพวาดในสภาพประหนึ่งการผลิตในระบบอุตสาหกรรม แม้เมื่อได้ผันตัวเองไปเป็นศิษย์เอกของจิตรกรชื่อดัง ก็ยังดูเหมือนว่าเขายังไม่อาจหาที่ทางที่จะมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำได้ เมื่อโอกาสถูกหยิบยื่นมาให้เขาได้เห็นตัวเองในฐานะพลังที่จะก้าวข้ามสภาพแวดล้อมอันน่าเหนื่อยหน่ายเหล่านี้ เขาจึงไม่ลังเลที่จะก้าวไปในทางนั้น

แม้ไม่อาจนำมาใช้อธิบายสภาพการหันไปสู่เผด็จการของหลายประเทศในปัจจุบันโดยตรง แต่คำอธิบายลักษณะนี้ก็ยังมีประโยชน์ คำถามถึงลักษณะของเส้นทางการพัฒนาที่ผลักดันให้คนสนับสนุนระบบเผด็จการนั้นยังใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย การตั้งข้อสังเกตถึง “ผู้แพ้” จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองที่หันกลายมาเป็นพลังต่อต้านระบบที่แวดล้อม ก็ยังเป็นแนวทางการวิเคราะห์ที่ร่วมสมัย

แต่คำอธิบายเช่นนี้ก็มีจุดอ่อนที่ควรคำนึงถึงไม่น้อย โดยเฉพาะการให้น้ำหนักมากกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองในฐานะปัจจัยผลักดันให้คนกลายเป็นผู้สนับสนุนระบบเผด็จการ โดยอาจมองข้ามบทบาทของปัจจัยอื่นๆ เช่น บทบาทของอุดมการณ์ชาตินิยม รวมไปถึงการเน้นย้ำถึงคุณค่าของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งล้วนมีความสำคัญยิ่งในหมู่ผู้สนับสนุนระบบฟาสซิสต์

คำอธิบายอีกชุดหนึ่งคืองานวิชาการของนักวิชาการชื่อดัง Hannah Arendt ซึ่งตั้งคำถามถึงที่มาทางสังคมของสังคมที่มีลักษณะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) เช่นเยอรมนีภายใต้ระบอบนาซี

สำหรับ Arendt พลังทางสังคมที่สนับสนุนให้ระบอบฟาสซิสต์เรืองอำนาจไม่ได้มาจากฐานของชนชั้น แต่มาจากฐานของกลุ่มคนจำนวนมหาศาลที่เรียกว่า “มวลชน” (masses)  มวลชนแตกต่างจากชนชั้นตรงที่มวลชนไม่ได้มีโครงสร้างอันใดยึดเหนี่ยวพวกเขาเข้าไว้ด้วยกัน ในขณะที่สมาชิกของชนชั้นยึดโยงตนเองเข้ากับผลประโยชน์ทางชนชั้น มวลชนเปรียบเสมือนปัจเจกจำนวนมากมายที่ล่องลอยอยู่โดยปราศจากสมาชิกภาพใดๆ กับสังคมที่แวดล้อม

เหตุอันใดคนจำนวนมหาศาลในเยอรมนีถึงได้กลายสภาพไปเป็นมวลชน?

Arendt ชี้ให้เห็นว่า มวลชนในเยอรมันเป็นผลผลิตของเส้นทางที่พลิกผันของสังคมตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บนเส้นทางดังกล่าว ผู้คนเยอรมันต้องก้าวผ่านความผันแปรและความสูญเสียมากมาย เช่น การปฏิวัติ ความพ่ายแพ้ในสงคราม สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การล่มสลายของจักรวรรดิ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากสูญเสียที่ทางเดิมของตนเองในสังคม กลายสภาพเป็นปัจเจกที่แปลกแยกและไม่อาจรู้สึกมีส่วนร่วมได้กับสังคมและการเมืองที่แวดล้อม

สำหรับ Arendt การเกิดขึ้นของมวลชนเป็นสภาพที่เอื้อให้ระบบฟาสซิสต์ขยายพลังอำนาจได้อย่างแข็งขัน สิ่งที่ระบบระบบฟาสซิสต์หยิบยื่นให้กับมวลชนคือโครงสร้างใหม่ โครงสร้างที่จะมาแทนที่ระบบเก่าที่พวกเขาทำได้เพียงแต่อยู่กับมันอย่างเลื่อนลอยและแปลกแยก

คำโฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการมีประสิทธิภาพในการชักจูงมวลชนได้ ก็เพราะมวลชนไม่ได้มีคุณค่าหรือความสัมพันธ์ทางการเมืองใดให้ยึดมั่นไว้แต่แรก

หากจะลองเปรียบเทียบคำอธิบายของ Arendt กับชีวิตของโอโนะที่กลายเป็นมวลชนให้กับระบบฟาสซิสต์ในญี่ปุ่น อาจมีข้อโต้แย้งว่าเส้นทางของสังคมญี่ปุ่นนั้นไม่ได้เผชิญความผันแปรมากมายเช่นเยอรมนี แต่กระนั้นความผันแปรที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของมวลชนก็อาจมีได้หลากหลาย การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในสังคมญี่ปุ่นที่โอโนะได้เติบโตขึ้นมาก็อาจเป็นสภาพที่ทำให้เขาขาดโครงสร้างใดๆ ให้ยึดเหนี่ยว เมื่อมองเช่นนี้ ความรู้สึกล่องลอยที่โอโนะพยายามหลีกหนีก็อาจสะท้อนสภาพการเป็นมวลชนของเขา

อย่างไรก็ดี ควรเอ่ยถึงจุดอ่อนของคำอธิบายเรื่องมวลชนเช่นกัน แม้ว่าคำอธิบายนี้จะมีพลังเมื่อมองย้อนกลับไปที่สังคมที่ผ่านความพลิกผันมากมายเช่นเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่คำอธิบายเดียวกันกลับดูจะใช้ได้ยากในบริบทอื่น มีข้อโต้แย้งจากงานศึกษาหลายชิ้นในภายหลังว่า ปัจเจกที่รู้สึกว่าตนเองไร้สิ่งยึดเหนี่ยวไม่ได้มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนเผด็จการมากไปกว่าปัจเจกที่รู้สึกว่าตนเองมีโครงสร้างทางสังคมไว้คอยยึดถือแต่อย่างใด

หากมองในภาพรวม คำอธิบายทั้งสองชุดต่างมองเห็นถึงความสำคัญของเส้นทางการพัฒนาประเทศในฐานะเงื่อนไขที่สร้างสภาพผลักดันให้คนหันไปสนับสนุนเผด็จการ แต่คำอธิบายทั้งสองแตกต่างกันในการวิเคราะห์สภาพผลักดัน คำอธิบายชุดแรกเน้นไปที่ความลักลั่นของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ทำให้คนรู้สึกแปลกแยกและหันไปแสวงหาการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่คำอธิบายชุดที่สองเน้นไปที่การล่มสลายของโครงสร้างสังคมที่มีมาแต่เดิม อันเป็นสภาวะที่สร้างมนุษย์อันไร้สิ่งยึดเหนี่ยวและเปิดทางให้กับความรุ่งเรืองของเผด็จการ

บนโลกที่พลิกผัน

เมื่อมองจากมุมอดีตผ่านประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสู่เผด็จการมักจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ระบบฟาสซิสต์ในเยอรมนีและญี่ปุ่นจบลงด้วยการพ่ายแพ้สงครามและความสูญเสียมหาศาล ในขณะที่ระบบเผด็จการในหลายประเทศจบลงไปพร้อมกับสภาพการกดขี่ข่มเหงและความเหลวแหลกที่ถูกเปิดโปงในภายหลัง

แล้วชีวิตของผู้คนที่เคยเป็นพลังสนับสนุนระบบเผด็จการแปรเปลี่ยนตามการเมืองที่พลิกผันอย่างไร?

นวนิยาย An Artist of the Floating World เล่าถึงชีวิตหลังเผด็จการไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ในช่วงเวลาหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม สถานภาพของโอโนะก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ความนิยมชมชอบและความเคารพนับถือที่เขาเคยได้รับในช่วงที่เป็นพลังสนับสนุนสงคราม แปรเปลี่ยนกลับกลายเป็นความเกลียดชังจากคนรุ่นหลัง

เมื่อโอโนะได้พบกับชายหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจกับลูกสาวของเขา ชายหนุ่มกล่าวว่า

“ในบางครั้งผมก็คิดเหมือนกันว่ายังมีคนอีกมากมายที่ควรจะแสดงความรับผิดชอบกับความผิดที่พวกเขาก่อขึ้นด้วยการจบชีวิตของตนเองเสีย … คนพวกนี้หลายคนได้กลับมายืนอยู่ในที่ๆ พวกเขาเคยอยู่ในช่วงสงคราม ทั้งที่พวกเขาไม่ได้ต่างอะไรเลยจากพวกอาชญากรสงคราม”

และเมื่อโอโนะถามกลับไปว่าผู้คนที่ได้ต่อสู้เพื่อประเทศชาติด้วยความจงรักภักดีจะถูกตราหน้าเป็นอาชญากรสงครามได้อย่างไร คำตอบที่เขาได้รับจากชายหนุ่มรุ่นลูกก็คือ

“แต่ท่านครับ พวกเขาก็คือคนกลุ่มที่พาประเทศของเราไปสู่ความล้มเหลวเช่นกัน มันย่อมถูกต้องหากพวกเขาจะยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และมันย่อมเป็นความขี้ขลาดหากพวกเขากลับเลือกจะไม่ยอมรับผิด ยิ่งเมื่อความผิดนั้นเกิดกับคนทั้งประเทศ คนที่ไม่ยอมรับผิดก็ย่อมถือเป็นคนที่ขี้ขลาดกว่าใครทั้งหมด”

โอโนะใช้เวลาช่วงหลังสงครามเผชิญหน้าความขัดแย้งกับคนรุ่นหลัง เขารู้สึกว่าแม้กระทั่งคนในครอบครัวเองก็ไม่ได้มองเห็นความสำเร็จในชีวิตของเขาอย่างเพียงพอ เขาเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามด้วยความฉงน คนรุ่นหลานหันไปนิยมชมชอบตัวละครจากภาพยนตร์อเมริกันมากกว่าวีรบุรุษจากประวัติศาสตร์ของชาติตนเอง

มากไปกว่านั้น สภาพการณ์ที่ผ่านเข้ามายังบังคับให้เขาต้องต้องหันกลับไปเผชิญกับอดีตของตนเองอยู่เสมอ เมื่อถูกขอร้องจากลูกสาว โอโนะต้องกลับไปพบลูกศิษย์ที่ตัวเขามีส่วนทำให้ถูกจับด้วยข้อหาเป็นกบฏต่อรัฐบาลในช่วงสงคราม ความคิดของเขาเต็มไปด้วยความขัดแย้งว่าควรจะมองการกระทำในอดีตของตนเองอย่างไร เขาควรจะยอมรับว่าทั้งหมดที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นความผิดพลาดหรือไม่

วันหนึ่งโอโนะถูกร้องขอจากอดีตลูกศิษย์คนสนิท ผู้เคยช่วยผลิตงานสนับสนุนสงคราม ให้ช่วยเขียนจดหมายแนะนำเข้าทำงาน แต่ลูกศิษย์คนนั้นกลับขอร้องให้เขาช่วยปฏิเสธการมีส่วนร่วมของตนในผลงานสนับสนุนสงครามของโอโนะ โอโนะปฏิเสธคำขอร้องจากลูกศิษย์

“ชินทาโร่ (ชื่อของลูกศิษย์คนนั้น) ทำไมนายถึงไม่กล้าเผชิญกับอดีตของตนเองเสียล่ะ ตัวนายเองก็เคยได้รับการยอมรับอย่างมากมายกับผลงานในอดีตชิ้นนั้น แม้ว่าทุกวันนี้โลกจะมองผลงานของนายไม่เหมือนเดิม แต่นายก็ไม่เห็นจะต้องโกหกตัวเอง”

ความขัดแย้งในจิตใจรวมถึงการต่อสู้กับความผิดพลาดในอดีตของผู้ที่เคยสนับสนุนเผด็จการเช่นโอโนะ เป็นสภาพที่ยังไม่ได้ถูกอธิบายไว้ในงานวิชาการเท่าไรนัก Hannah Arendt เองได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของมวลชนในช่วงหลังจากการล่มสลายของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จในเยอรมนีเอาไว้บ้าง แต่สำหรับเธอแล้วความเป็นมวลชนไม่ได้สลายไปพร้อมกับระบบเผด็จการ เมื่อเผด็จการล่มสลาย มวลชนก็เพียงแต่กลับไปสู่สภาวะอันล่องลอย กลับไปเป็นมนุษย์ไร้สิ่งยึดเหนี่ยวอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น โดยไม่สามารถเข้าใจได้ถึงความผิดพลาดในอดีตของตน

สำหรับสภาวะการเมืองที่ผันแปรอยู่ในปัจจุบัน น่าสนใจว่าความผันแปรจะนำพามนุษย์ผู้หลงอยู่บนกระแสต่างๆ ไปพบปะกับสภาวะอันใด และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้สนับสนุนเผด็จการจะมองการกระทำในอดีตของตนเองเช่นไร จะใช้ชีวิตอยู่กับชนรุ่นหลัง และกับมุมมองต่อการกระทำของตนในอดีตที่อาจเปลี่ยนไปอย่างไร

ใน An Artist of the Floating World อิชิกูโระเขียนให้โอโนะในวัยชราเล่าเรื่องในอดีตของตนเองด้วยความทรงจำที่เลือนราง หลายสิ่งที่เขาคิดว่าเกิดขึ้นนั้น แท้จริงอาจเป็นแค่ความทรงจำที่คลาดเคลื่อน แม้แต่สถานการณ์ที่ผลักดันให้เขาต้องเผชิญความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตนเองในอดีตนั้น หลายครั้งก็เป็นสถานการณ์ที่คนรอบข้างไม่ได้มองเห็นเหมือนกับเขา

หากชีวิตที่ล่องลอยของจิตรกร เคยเป็นแรงผลักดันในการแสวงหาคุณค่าความหมายแห่งชีวิตของโอโนะ ความผันแปรที่แวดล้อมชีวิตของเขาก็หาได้พาตัวเขาออกไปจากความล่องลอยนั้นได้ แต่กลับคอยดึงให้เขากลับคืนสู่ชีวิตที่ล่องลอยอีกครั้ง หากแต่เป็นความล่องลอยที่เกิดขึ้นบนความพลิกผันทางการเมืองที่ทำให้คุณค่าที่เคยแสวงหากลับกลายเป็นความเลวร้ายที่ทุกคนอยากจะลืมเลือน

ในฉากสุดท้ายของนิยาย แม้ความชราจะทำให้โอโนะมองชีวิตที่ผ่านมาของตนด้วยความทรงจำที่เลือนราง เหตุการณ์หลายอย่างพร่าเลือนไปกับความล่องลอยของโลกที่เขาไม่อาจหลีกพ้น แต่วันหนึ่งเมื่อเขาได้ย้อนกลับไปสู่ที่แห่งเดิมที่เคยบอกลาอาจารย์ กลับเกิดความรู้สึกบางอย่างเอ่อล้นขึ้นมา

ในวันนั้น เขารู้สึกได้ถึงความสุข “ความสุขที่มาจากการได้รับรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองได้พยายามทำนั้นมันมีความหมาย” เขาระลึกขึ้นได้ว่าคนที่ไม่ได้เคยพยายามใช้ชีวิตในเส้นทางแบบเขานั้นคงไม่อาจเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ “เพราะคนเหล่านั้นก็คงไม่อาจเข้าใจได้ว่าการต้องเสี่ยงทุกอย่างเพื่อไขว่ขว้าขีวิตที่อยู่เหนือกว่าความสามัญธรรมดานั้นเป็นอย่างไร”

อ้างอิง

Ishiguro, Kazuo (2018). An Artist of the Floating World. 30th Anniversary Edition. Faber and Faber

Arendt, H. (1976). The Origins of Totalitarianism. London: Harcourt.

Baehr, P. (2007). The “Masses” in Hannah Arendt’s Theory of Totalitarianism. The Good Society, 16(2), 12-18.

Eley, G. (1983). What Produces Fascism: Preindustrial Traditions or a Crisis of a Capitalist State. Politics & Society, 12(1), 53-82.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save