fbpx
ความเท่าเทียมในความไม่เท่าเทียม : ชีวิตแม่บ้านไทยในสหราชอาณาจักร

ความเท่าเทียมในความไม่เท่าเทียม : ชีวิตแม่บ้านไทยในสหราชอาณาจักร

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ เรื่อง

 

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่สนใจในปรากฏการณ์การแต่งงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่โลกวิชาการไทยให้ความสนใจมาเป็นเวลานับสิบปี อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่ผ่านมามักตั้งคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจในการย้ายถิ่นของหญิงไทยไปต่างประเทศ โดยช่องทางการแต่งงาน โดยมุ่งศึกษาที่แรงจูงใจของผู้หญิงจากภูมิภาคอีสาน ที่ต้องการย้ายไปอยู่ต่างประเทศเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

งานวิจัยหลายฉบับได้ศึกษาแล้วว่า แรงจูงใจของหญิงไทยในการแต่งงานกับชาวต่างประเทศ ไม่ได้มีเรื่องของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงค่านิยมชายเป็นใหญ่ในบริบทของไทยที่กดผู้หญิงให้ต้องรับภาระทางครอบครัว ประกอบกับบทบาทหญิงชายที่ยังไม่เท่าเทียม ล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผู้หญิงเสาะหาหนทางสู่ชีวิตที่ดีกว่าเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากคำถามวิจัยหลักเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ คือผู้หญิงหลายคนให้ความเห็นว่าพวกเธอรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในสหราชอาณาจักรนั้นมี ‘ความเท่าเทียม’ มากกว่าเมื่อพวกเธอใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า “ชีวิตของผู้หญิงไทยหลังจากแต่งงานและย้ายถิ่นแล้วเป็นอย่างไร?” กลับไม่มีคำอธิบายมากนัก

ในฐานะนักศึกษาปริญญาเอกที่มาใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน ผู้เขียนมีความสนใจในประเด็นนี้ และมีโอกาสทำงานวิจัยเกี่ยวกับชีวิตของผู้หญิงไทยในต่างประเทศหลังจากที่แต่งงานและย้ายถิ่นแล้ว โดยเน้นในเรื่องของความกินดีอยู่ดี (wellbeing) และชีวิตครอบครัว ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ผู้หญิงไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในสหราชอาณาจักรจำนวน 30 คน และเก็บข้อมูลจากผ่านสอบถามจากผู้หญิงไทยอีก 300 คนทั่วสหราชอาณาจักร

จากนี้ไปคือข้อค้นพบที่น่าสนใจ

 

ข้อจำกัดและเสน่ห์ของชีวิตในสหราชอาณาจักร

 

ตัวเลขทางสถิติอาจให้ภาพง่ายๆ กับเราได้ว่า ประเทศพัฒนาแล้วมีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ หรือความเท่าเทียมทางเพศมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา แต่ในสังคมที่ ‘เท่าเทียม’ กว่านั้น ก็ยังมีประเด็นปัญหาทางสังคมซ่อนอยู่ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ย้ายถิ่นซึ่งเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศ

จากสถิติของ UNDP (Inequality-adjusted Human Development Index) พบว่า ลำดับความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การศึกษา และสุขภาพของสหราชอาณาจักร อยู่ในลำดับที่ 14 ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 83[1] ทว่าในสังคมบริติชเอง ก็ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่าสังคมของพวกเขานั้นยังมี ‘ชนชั้น’ อยู่ ซึ่งการศึกษาเกี่ยวกับชนชั้นทางสังคมของสหราชอาณาจักร ล่าสุดสามารถแบ่งชนชั้นทางสังคมถึง 7 ชนชั้นเลยทีเดียว[2] [3]

อย่างไรก็ดี ในบทความนี้จะกล่าวถึงความเท่าเทียมในเชิงอัตวิสัย (subjective) โดยให้ความสำคัญกับความเห็นของผู้ให้สัมภาษณ์เป็นหลัก โดยเปรียบเทียบระหว่างความเท่าเทียมในไทยและสหราชอาณาจักรจากความเห็นของผู้ให้สัมภาษณ์ และเหตุผลว่าทำไมพวกเธอถึงรู้สึกเช่นนั้น

อันดับแรก การย้ายถิ่นของผู้หญิงไทยไปต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของพวกเธอในหลายด้าน ตั้งแต่การปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ การปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ การทำความรู้จักผู้คนใหม่ๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนอาชีพใหม่

มายาคติที่ว่าผู้หญิงไทยแต่งงานไปอยู่ต่างประเทศแล้วสุขสบาย ได้ถูกหักล้างจากงานวิจัยหลายฉบับ ถึงแม้ว่าค่าตอบแทนในต่างประเทศจะสูงกว่าไทยหลายเท่า แต่ค่าครองชีพในต่างประเทศ รวมถึงการส่งเงินกลับมาเลี้ยงดูคนทางบ้าน ก็ถือเป็นภาระที่หนักหน่วงสำหรับหญิงไทยในต่างประเทศเช่นกัน

งานวิจัยต่างๆ ยังพบอีกว่าผู้หญิงไทยเผชิญกับภาวะ ‘ลดทักษะ’ (deskilling) โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง อาชีพส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงไทยได้ทำในสหราชอาณาจักรจะอยู่ในภาคบริการ โดยในงานวิจัยของผู้เขียนพบว่าอาชีพที่ผู้หญิงไทยได้ทำ 10 อันดับแรกคือ

 

  1. พนักงานทำความสะอาด
  2. ผู้ช่วยในครัว หรือพนักงานเสิร์ฟ
  3. นักบำบัดด้านความงาม หรือช่างเสริมสวย
  4. พนักงานโรงงาน
  5. พยาบาล
  6. แม่บ้าน
  7. พนักงานขาย
  8. ช่างทำผม
  9. ผู้ช่วยพยาบาล
  10. ผู้ดูแลคนป่วย

 

งานวิจัยเกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่นหลายชิ้น แสดงให้เห็นว่า โอกาสด้านอาชีพของผู้ย้ายถิ่นมักถูกจำกัดเชิงโครงสร้าง ในกรณีของคนไทยในสหราชอาณาจักร ถ้าคุณไม่รู้ภาษาอังกฤษ หรือมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่ใช่คนผิวขาวหรือชาวยุโรป ก็อาจถูกกีดกันไม่ให้ทำงานได้

แม้ผู้หญิงไทยหลายคนมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือโทจากประเทศไทย แต่ก็ยังต้องยอมรับว่าการหางานให้ตรงกับสิ่งที่เรียนมานั้นเป็นเรื่องยากในต่างประเทศ บางคนมั่นใจว่าภาษาอังกฤษของตนเองอยู่ในระดับดี เพราะเคยทำงานกับชาวต่างประเทศตอนอยู่ไทย แต่กลับไม่สามารถหางานที่ตรงกับวุฒิของตัวเองได้ ผู้ให้สัมภาษณ์รายหนึ่งให้ความเห็นว่า เป็นเพราะเธอนั้น “ดูเป็นคนเอเชีย”

ในทางกลับกัน ผู้หญิงที่ทำอาชีพในภาคบริการตั้งแต่อยู่ที่ไทย จะไม่รู้สึกกระทบมากนักเมื่อต้องเข้ามาทำงานในภาคเดิม แต่อาจรู้สึกดีขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะค่าตอบแทนเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวและมีสวัสดิการที่ดีพร้อม แต่สำหรับผู้หญิงที่เคยทำงานในระดับวิชาชีพในไทยแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่กระทบจิตใจและความมั่นใจในตัวเองอย่างมาก เมื่อต้องยอมรับกับการทำงานในภาคบริการ

หากมองในเชิงความสัมพันธ์ข้ามชาติแล้ว ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ดูจะไม่มีความเท่าเทียมเอาเสียเลย แต่ถึงกระนั้น ผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนก็ยังรู้สึกว่าพวกเธออยู่ในสังคมที่เท่าเทียม

 

ความเท่าเทียมที่ไม่เท่ากัน : ข้อแตกต่างระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร

 

แม้ว่าอาชีพส่วนใหญ่ของผู้หญิงไทยจะถูกจำกัดอยู่ในภาคบริการ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในสหราชอาณาจักร อายุ ไม่ใช่คุณสมบัติในการสมัครงาน ผู้หญิงไทยอายุ 40-50 สามารถสมัครเพื่อทำงานในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร หรือในร้านค้าต่างๆ ได้ ซึ่งนี่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้หญิงไทยหลายคน มองว่าพวกเธอมี ‘โอกาส’ มากกว่าตอนอยู่ที่ประเทศไทย

นอกจากจะไม่ได้มองอายุเป็นข้อจำกัดแล้ว รูปร่างหน้าตาก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดเช่นกัน ทุกคนมีสิทธิ์เท่าๆ กันในการสมัครงานในภาคบริการ อีกข้อคือในสหราชอาณาจักร ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร คุณก็จะถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ยศถาบรรดาศักดิ์ไม่ได้เป็นสิ่งแบ่งแยกชนชั้น ไม่มีระบบอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนบอกว่าพอใจกับความเท่าเทียมในลักษณะนี้

ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งซึ่งจบปริญญาตรีจากไทย และปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในลอนดอน กล่าวว่าเธอรู้สึกเป็น ‘อิสระ’ มากกว่าเมื่ออยู่ในอังกฤษ ความอิสระในความหมายของเธอ คือเธอไม่จำเป็นต้องเป็น ‘คนรวย’ ไม่ต้องสนว่าใครจะพูดอย่างไร กระทั่งญาติโกโหติกาจะว่าอย่างไร พูดง่ายๆ ว่าไม่ต้องทำตัวให้โก้หรูดูดี หรือใช้ของแพงเพื่อแสดงสถานะของตน

เธอบอกว่า ‘ความรวย’ คือความสำเร็จในความหมายของคนไทย แต่สำหรับชาวบริติช ความสำเร็จคือการมีครอบครัว มีบ้าน มีรถ ที่พอเพียงกับฐานะ เช่นเดียวกับการมีอาชีพการงานที่ดี มีครอบครัวที่อบอุ่น นี่คือความสำเร็จและความสุขของคนในประเทศนี้

ความเท่าเทียมที่ไม่เท่ากันระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร ยังเห็นได้ชัดจากบริการด้านสาธารณสุข ในสหราชอาณาจักรซึ่งบริหารโดย NHS (National Health Service) นั้น ทุกคนจะได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากเงินที่นำมาบริหารนั้นเป็นภาษีของประชาชน ทุกคนต้องเข้าคิวตามลำดับ ถึงแม้คุณจะเจ็บปางตาย หรือไม่ว่าคุณจะเป็นลูกใคร คุณก็ต้องรอถ้าหากเตียงยังไม่ว่าง (เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินจริงๆ)

ขณะที่ในประเทศไทย ระบบเส้นสายในโรงพยาบาลยังมีให้เห็นได้ทั่วไป ถ้าคุณเป็นลูกตาสีตาสาก็ต้องนั่งรอต่อไป ในขณะที่ผู้มีเงินหรือสถานะทางสังคมมักได้รับบริการก่อน

 

ความรู้สึกเหยียดตนเอง : แผลลึกของการเหยียดเชื้อชาติ

 

เรื่องที่ว่ามาสะท้อนให้เราเห็นอะไรในภาพใหญ่ ?

สำหรับผู้เขียนแล้ว การศึกษาว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนเหล่านี้ตัดสินใจย้ายถิ่น อาจไม่เพียงพอ แต่ควรจะถามต่อไปด้วยว่า อะไรทำให้ผู้ย้ายถิ่นยังคงพำนักอยู่ในประเทศนั้นๆ ต่อไป

ในที่นี้อาจมองได้ว่า ความไม่เท่าเทียมในประเทศไทยได้ผลักไสให้พวกเธออกไป ขณะที่ความเท่าเทียมในสหราชอาณาจักรที่ดูเหมือนว่าจะมีมากกว่า ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้พวกเธออยากใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นต่อ

ทว่านอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ ผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนยังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติอยู่เนืองๆ ข้อมูลที่ผู้เขียนได้จากการสัมภาษณ์และการทำแบบสอบถาม พบว่าเหตุการณ์การเหยียดเชื้อชาติที่เกิดกับผู้หญิงไทยโดยตรง เช่น การทำร้ายทางกายและวาจา การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม มีไม่มากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่น่าแปลกใจกว่านั้น คือข้อค้นพบที่ว่าผู้ให้สัมภาษณ์หลายคน กลับมีภาวะที่เรียกว่า ‘การเหยียดตนเอง’ (internalised racism)

นักวิชาการให้คำจำกัดความของการเหยียดตนเองว่าเป็น “การยอมรับถึงความเชื่อทางสังคมในแง่ลบ และการเหมารวมโดยกลุ่มประชากรส่วนน้อยเอง”[4] ผู้ให้สัมภาษณ์จำนวนหนึ่งให้ข้อมูลว่า พวกเธอไม่เคยโดนดูถูกเหยียดหยามหรือถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม แต่ “มีความรู้สึก” ว่าชาวบริติช “มอง” พวกเธออย่างเหยียดหยามและดูถูก

การเหยียดตนเองในลักษณะที่ว่ามา มีผลมาจากภาพเหมารวมของ ‘เมียฝรั่ง’ ที่ผู้หญิงไทยมักได้ยินได้ฟังจากสื่อ ทั้งสื่อในสังคมไทยและในสังคมต่างประเทศ

คำว่า ‘เมียฝรั่ง’ โดยตัวมันเองนั้น ไม่ได้มีความหมายลบแต่อย่างใด แต่การพูดถึงเมียฝรั่งในสื่อมวลชน รวมถึงฝั่งอนุรักษนิยมไทยในอดีตว่าเป็น ‘ปัญหาทางสังคม’ มักถูกเชื่อมโยงเข้ากับการค้าประเวณีและความเสื่อมโทรมของลัทธิบริโภคนิยม ส่งผลให้คำๆ นี้ยังมีโทนแง่ลบมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับภาพของภรรยาชาวไทยในอังกฤษ ที่ถูกนำไปล้อเลียนในรายการตลกชื่อดังอย่าง Little Britain ในปี 2005 ซึ่งนำเสนอภาพภรรยาชาวไทยที่เป็นตัวละครหนึ่งในเรื่องว่า ถูกซื้อมาและไม่ฉลาด (ชื่อของเธอคือ Tingtong Macadangdang) ก็นับเป็นอีกภาพหนึ่งที่ทำให้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าชาวบริติชมองพวกเธอในลักษณะนั้น

นอกจากนี้ การเหยียดตนเอง ยังมีแนวโน้มทำให้การกระทำที่เหยียดเชื้อชาติจริงๆ มีความเบาบางลง ตัวอย่างเช่น ผู้ให้สัมภาษณ์บางคนกล่าวว่า บางครั้งตนเองถูกตะโกนใส่ว่า “ออกจากประเทศนี้ไปซะ” โดยชาวบริติชผิวขาว แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก โดยเห็นว่า “เป็นเรื่องเล็กน้อย” และ “ไม่มีอะไร” เพราะมองว่าตนเองไม่ใช่ชนชาติบริติช และต้องเจียมเนื้อเจียมตัวในฐานะที่เป็นเพียงผู้ที่ย้ายถิ่นเข้ามาเท่านั้น แต่การยอมรับการกระทำดังกล่าว เป็นการทำให้การกระทำลักษณะนี้กลายเป็นเรื่องปกติ (normalise) ไปได้

นักจิตวิทยามองว่าการเหยียดตนเองนั้นเป็น ‘ความบาดเจ็บทางจิตใจ’ ที่ร้ายแรงที่สุด (psychological injury)[5] อันเป็นผลจากการจากเหยียดเชื้อชาติ เพราะชนกลุ่มน้อยที่มีบาดแผลดังกล่าวนั้น เชื่อสนิทใจไปแล้วว่าตนเองไม่ดีพอและควรจะอยู่ในที่ทางของตนเองเท่านั้น การมองว่าเชื้อชาติของตนเองด้อยกว่าทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย ไร้เกียรติ และส่งผลให้ขาดความมั่นใจในการดำรงชีวิตได้

ถึงแม้ว่าการย้ายไปอยู่ประเทศสหราชอาณาจักร จะทำให้ผู้หญิงไทยหลายคนเข้าถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจได้มากกว่า หรือได้รับสวัสดิการต่างๆมากกว่าตอนที่อยู่ไทย แต่ก็ยังต้องประสบพบเจอกับอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตอีกมาก  ขณะเดียวกันการเหยียดเชื้อชาติ แม้จะดูไม่ร้ายแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ในสหราชอาณาจักร

แต่ที่อันตรายมากกว่านั้น คือการที่ผู้หญิงไทยหลายคน ‘เชื่อ’ ว่าตนสมควรถูกมองในแง่ลบ และยอมรับว่าการเหยียดเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา

 

เชิงอรรถ

[1] “Human Development Reports.” Human Development Data (1990-2015) | Human Development Reports, hdr.undp.org/en/composite/IHDI.

[2] “Huge Survey Reveals Seven Social Classes in UK.” BBC News, BBC, 3 Apr. 2013, www.bbc.com/news/uk-22007058.

[3] Savage, Mike, et al. “A new model of social class? Findings from the BBC’s Great British Class Survey experiment.” Sociology 47.2 (2013): 219-250.

[4] R. Williams, David, and Ruth Williams-Morris. “Racism and mental health: The African American experience.” Ethnicity and health 5.3-4 (2000): 243-268.

[5] Speight, Suzette L. “Internalized racism: One more piece of the puzzle.” The Counseling Psychologist 35.1 (2007): 126-134.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save