fbpx
การเดินทางของตุ๊กตาวิเศษ : บทสะท้อนความรุนแรงทางเพศต่อเด็กในสังคมไทย

การเดินทางของตุ๊กตาวิเศษ : บทสะท้อนความรุนแรงทางเพศต่อเด็กในสังคมไทย

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่องและภาพ

 

ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้นพร้อมกับข้อความที่ฟังแล้วเหมือนมีก้อนอะไรบางอย่างวิ่งขึ้นมาจุกที่คอ

“นักจิตวิทยาจากจังหวัดแถวภาคกลางแจ้งมาว่า มีเคสเด็กอายุ 7 ขวบถูกพ่อแท้ๆ ข่มขืน เด็กเล่าเหตุการณ์ค่อนข้างเลื่อนลอย เจ้าหน้าที่กลัวว่าจะเป็นการให้ข้อมูลจากจินตนาการ ทำให้ยากในการวางแผนช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ เจ้าหน้าที่ขอตุ๊กตา 1 คู่ พี่ช่วยเพ้นท์หน้ากับตัดชุดให้ด่วนเลยได้ไหม”

“ได้สิ” ฉันตอบกลับโดยไม่ลังเล เพราะรู้ว่าภารกิจนี้สำคัญมากเพียงใด

คืนนั้น…อุปกรณ์เพ้นท์หน้าตุ๊กตาและเศษผ้าสำหรับตัดชุดถูกหยิบมากองเต็มห้อง ฉันลงมือเพ้นท์หน้าตุ๊กตาให้ดูน่ารักมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่มันเป็นงานที่ไม่ง่ายนักเพราะตุ๊กตามีอวัยวะบางอย่างแตกต่างจากตุ๊กตาเด็กเล่นทั่วไป

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ ฉันนั่งมองตุ๊กตาในมือด้วยหัวใจสั่นไหว น้ำตาซึมออกมาจากขอบตาด้วยรู้ว่า ทั้งคู่กำลังจะออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่สำคัญกว่าตุ๊กตาแสนสวยตัวไหนในโลกใบนี้ เพราะพวกเธอคือตุ๊กตาวิเศษ…ตุ๊กตาที่มีอวัยวะสำหรับใช้สืบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศนั่นเอง

 

ตุ๊กตาวิเศษชายหญิงที่ผู้เขียนแต่งหน้าและตัดชุดให้สำหรับส่งไปช่วยการพิจารณาคดีเด็กอายุ 7 ขวบถูกพ่อแท้ๆ ข่มขืน

 

 การเดินทางร่วมกับตุ๊กตาวิเศษ

 

14 กุมภาพันธ์ 2560  วันแห่งความรักที่ผ่านมา มีคนแท็กการ์ดเชิญมาให้ที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของฉันใจความว่า

“ขอเชิญร่วมตัดเย็บตุ๊กตาเพื่อมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและนักจิตวิทยาใช้ประกอบการสืบถามข้อเท็จจริงจากเด็กผู้เสียหายในคดีเกี่ยวกับการทารุณกรรมทางเพศ”

หลังจากอ่านข้อความจบ หัวใจของฉันเต้นแรงขึ้นมาทันที  เพราะฉันเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการเย็บตุ๊กตาและพอจะมีทักษะในการเย็บตุ๊กตาอยู่บ้าง แต่ที่ผ่านมา ฉันเย็บตุ๊กตาเพื่อความสุขส่วนตัวเท่านั้น ฉันคิดว่าการได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้คงจะทำให้การเย็บตุ๊กตาที่ฉันชื่นชอบมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิม  เพราะเป็นการเย็บตุ๊กตาเพื่อ “บรรเทาบาดแผล” ในหัวใจดวงน้อยแทน

“ในกระบวนการสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศทั้งหมด เด็กจะต้องผ่านการเล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ หลายครั้ง ซึ่งมักส่งผลในระดับจิตใต้สำนึก ทำให้เด็กบางคนฝันร้ายซ้ำเรื่องเดิมเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุ เช่นฝันว่ามีปีศาจในห้องน้ำ หรือเด็กบางคนปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน เพราะหวาดกลัวจนไม่สามารถกลั้นหนักเบาได้ การใช้ตุ๊กตาวิเศษจะช่วยให้เด็กไม่ต้องตอกย้ำความเจ็บปวดจากการเล่าเรื่องซ้ำ เพราะในห้องสอบสวนคดีจะมีการบันทึกกล้องวิดีโอเก็บไว้ และมีการสอบถามเพิ่มเติมในบางคำถามภายหลังเท่านั้น”

วิภา กรรณสูต นักจิตวิทยาประจำบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดลพบุรี เล่าถึงสภาพจิตใจของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศให้ฟัง

ตามปกติ คดีล่วงละเมิดทางเพศ หากเกิดกับผู้ใหญ่ก็นับเป็นเรื่องยากในการบอกเล่าให้คนอื่นฟังอยู่แล้ว และหากเหตุการณ์เกิดขึ้นกับเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี โอกาสเล่าเรื่องราวออกมาให้ใครฟัง ยิ่งยากกว่าหลายเท่า เพราะลำพังจะพูดให้เป็นประโยคบอกเล่าธรรมดา เด็กบางคนยังพูดไม่ปะติดปะต่อกัน ผู้ใหญ่อาจคิดว่าเด็กพูดจากจินตนาการของตนเอง เสียงของเด็กเล็กจึงเป็นเสียงที่แทบไม่มีใครได้ยิน ยกเว้นจะมีคนใกล้ชิดสังเกตเห็นความผิดปกติ เด็กผู้ประสบเหตุจึงมีโอกาสหลุดพ้นจากขุมนรกได้เร็วขึ้น

ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดกับน้องฟ้า (นามสมมติ) เด็กหญิงวัย 4 ขวบ ซึ่งอยู่ในวัยอนุบาล 1 พ่อแม่ของเด็กแยกทางกัน เด็กจึงถูกฝากเลี้ยงไว้กับป้าและลุงเขย เด็กน้อยถูกลุงใช้นิ้วสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศโดยที่เด็กยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าลุงทำอะไรกับร่างกายของเธอ วิรัชดา ปิงเมือง นักสังคมสงเคราะห์จากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ หรือ บ้านพิงใจ เป็นผู้ได้รับแจ้งเหตุจากโรงเรียนอนุบาลเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า

“เคสนี้ครูประจำชั้นเป็นคนสังเกตเห็นตอนอาบน้ำให้เด็กก่อนกลับบ้านว่าอวัยวะเพศของเด็กบวมแดงกว่าเด็กคนอื่น และเด็กมีอาการเซื่องซึมจนเห็นได้ชัด ครูจึงถามเด็กว่าไปทำอะไรมา เด็กจึงเล่าว่า ลุงเอานิ้วมาแหย่ของหนู พอครูได้ยินปุ๊บก็ตกใจรีบแจ้งมาที่เรา พอทราบเหตุ ป้ารู้สึกรังเกียจหลาน แต่เข้าข้างลุงแทน เพราะลุงเองก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ข่มขืนเด็ก แค่ใช้นิ้วสอดใส่ ซึ่งจริงๆ แล้วมีโทษเทียบเท่ากับการข่มขืน เราจึงต้องแยกเด็กมาไว้ในความดูแล พอเด็กรู้ว่าไม่ต้องกลับไปที่บ้านหลังนั้นอีก เด็กก็แสดงสีหน้าดีใจอย่างชัดเจน”

เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กทุกคนต่างพูดตรงกันว่า ยิ่งเด็กอายุน้อยเท่าไหร่ การสืบหาข้อเท็จจริงยิ่งยากมากเท่านั้น เริ่มต้นจากคำเรียกแทนอวัยวะเพศของแต่ละบ้านก็ยังไม่เหมือนกัน เช่น บางบ้านเรียก จิ๋มกับจู๋ บางบ้านเรียก น้องสาวกับน้องชาย เป็นต้น และหากผู้เสียหายเป็นเด็กต่างชาติที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ชัดเจน การสืบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศยิ่งน่าปวดหัวมากขึ้นไปอีกหลายเท่า เพราะต้องใช้ล่ามแปลภาษาซึ่งข้อมูลมักถูกลดทอนลงไประหว่างการแปลความหมาย

“ก่อนหน้านี้เราต้องใช้เทคนิคหลายอย่างกว่าจะได้ข้อมูลจากเด็ก เพราะเด็กยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า การข่มขืนคืออะไร เทคนิคที่เรานำมาใช้ คือ การวาดรูประบายสีครอบครัวของฉันเพื่อให้เด็กเล่าเรื่องเกี่ยวกับสมาชิกในบ้าน แล้วค่อยๆ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งเด็กส่วนใหญ่มักไม่อยากเล่าให้คนแปลกหน้าฟัง ปัญหาของการสอบถามเด็กอีกอย่างหนึ่งคือ การถามเรื่องวันเวลาเกิดเหตุ เพราะเด็กเล็กๆ จะยังไม่รู้จักว่าวันไหนคือวันอะไร เทคนิคที่เราใช้ คือ ถามว่าวันนั้นดูการ์ตูนหรือละครเรื่องอะไร เพราะสามารถเช็คช่วงเวลาได้เช่นกัน”

นับตั้งแต่วันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ฉันได้กลายเป็นอาสาสมัครคนหนึ่งที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับงานเย็บตุ๊กตาวิเศษมากขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่งานแต่งหน้า ทำผม ตัดชุด ไปจนถึงช่วยปรับแพทเทิร์นใหม่ให้ตุ๊กตาตัวเล็กมีนิ้วมือครบทั้งห้านิ้ว และเมื่อมีเคสต้องการใช้ตุ๊กตาเมื่อไหร่ ฉันก็จะทำหน้าที่จัดเตรียมตุ๊กตาที่อาสามัครร่วมเย็บตัวตุ๊กตาเอาไว้แล้ว ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน และรีบส่งมอบตุ๊กตาไปปฏิบัติภารกิจอย่างเร็วที่สุด

แม้ว่าภารกิจนี้จะมีทั้งสุขและเศร้าปะทะกันอยู่ในหัวใจ แต่ฉันก็ดีใจที่ได้ร่วมเดินทางไปกับตุ๊กตาวิเศษ เพราะมันทำให้งานเย็บตุ๊กตาที่ฉันรักมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิม

 

พนักงานสอบสวนหญิงในหลายพื้นที่ได้รับแจกจ่ายตุ๊กตาวิเศษเพื่อไปใช้ในการสืบสวนสอบสวน

 

ครอบครัวที่บิดเบี้ยว

 

ฉันเคยเชื่อมั่นมาตลอดว่า

….ความรักจากพ่อแม่ คือ ความรักที่บริสุทธิ์

….พ่อแม่คือคนที่คอยปกป้องลูกให้พ้นจากอันตราย

….และคนในครอบครัวคือคนที่ไว้ใจได้มากที่สุด

ทว่า วันนี้ ความเชื่อของฉันกำลังถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงหลังจากได้ฟัง พ.ต.ท.หญิง จรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีประสบการณ์สืบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศมานานกว่า 20 ปีให้ข้อมูลว่า

“กรณีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศมีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า 95 เปอร์เซ็นต์มาจากบุคคลในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่เด็กคุ้นหน้าค่าตา อีก 5 เปอร์เซ็นต์มาจากคนแปลกหน้า ดังนั้น เสียงของเด็กผู้ตกเป็นเหยื่อจึงเป็นเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน เพราะเด็กยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

“เคสอายุน้อยที่สุดที่เคยเจอ คือ พ่อแท้ๆ ข่มขืนลูกอายุเพียง 7-8 เดือน แม่ของเด็กเป็นคนมาแจ้งความเพราะได้ยินเสียงลูกร้องไห้ และเห็นสามีตนเองเป็นคนข่มขืนลูก

กรณีพ่อแท้ๆ ข่มขืนลูกเป็นเรื่องยากมากที่ลูกจะปฏิเสธ เพราะเด็กบางคนเข้าใจผิดว่านั่นคือความรักจากพ่อ ส่วนพ่อก็มองว่าลูกเป็นสมบัติของตนเอง อยากทำอะไรกับลูกก็ได้ พอเราถามว่าคิดอย่างไรถึงข่มขืนลูกตัวเอง บางคนก็บอกว่า ลูกของเขา เขาจะทำยังไงก็ได้”

คำบอกเล่าข้างต้นทำให้ฉันฟังแล้วแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่  แม้มันจะไม่ได้รินไหลอาบแก้มออกมาให้เห็น แต่มันก็ไหลท่วมอยู่ภายในส่วนลึกของหัวใจ ตำรวจหญิงผู้มากประสบการณ์ให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า

“ถ้าผู้ก่อเหตุเป็นพ่อแท้ๆ ของเด็ก เด็กจะสับสนมาก เด็กบางคนบอกว่า หนูเป็นคนผิดเอง หนูทำให้พ่อติดคุก เราก็ต้องไปสร้างความมั่นใจให้เขาว่า เขาไม่ใช่คนผิด แต่พ่อต่างหากที่เป็นคนผิด พ่อเกเร ถ้าเราถามว่าอยากให้พ่อติดคุกไหม แล้วเด็กบอกว่าไม่อยาก เราก็ต้องบอกเด็กว่า ไม่ได้ เพราะพ่อทำไม่ดีกับหนู ไม่ใช่สิ่งปกติที่พ่อทำกับลูก พ่อต้องได้รับโทษ”

เด็กหญิงชมพู (นามมมติ) อายุ 14 ปีจากอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอีกตัวอย่างของกรณีพ่อแท้ๆ ข่มขืนลูกในไส้ที่ วิรัชดา ปิงเมือง นักสังคมสงเคราะห์จากบ้านพิงใจเป็นผู้รับหน้าที่เยียวยาจิตใจร่วมกับหลายหน่วยงาน

เด็กหญิงผู้นี้ถูกพ่อแท้ๆ ล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากแม่แยกทางไปมีสามีใหม่ เหตุการณ์ถูกเปิดเผยเมื่อเด็กหญิงเป็นลมล้มพับที่โรงเรียนจนครูต้องส่งไปโรงพยาบาลและพบว่าเด็กหญิงตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน ทว่า หลังจากนักสังคมสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปทำการช่วยเหลือ เด็กหญิงกลับปกปิดความจริงเพราะไม่อยากให้พ่อติดคุก จึงให้ปากคำกับตำรวจว่า ถูกไอ้โม่งเข้ามาข่มขืนตอนกลางคืนในช่วงที่พ่อของเธอออกไปกินเหล้า

เวลาผ่านไปจนทารกน้อยลืมตาดูโลกได้สองปี ระหว่างนั้นเด็กหญิงซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ ได้รับการบ่มเพาะศีลธรรมจากบาทหลวงจนเริ่มมองเห็นความจริงว่า ความรักที่พ่อกระทำต่อเธอเป็น “ความรักผิดทาง”

เธอจึงเปิดเผยกับบาทหลวงว่า พ่อแท้ๆ คือคนที่ข่มขืนเธอนั่นเอง

“มันกลายเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวที่บิดเบี้ยว เมื่อเด็กยังต้องการความรักจากพ่อของตนเอง ดังนั้น เด็กจึงไม่กล้าปฏิเสธเมื่อถูกพ่อล่วงละเมิดทางเพศ” เจ้าหน้าที่บ้านพิงใจกล่าวสรุปบทเรียนความรักผิดทางให้ฟัง

โชคดียังเป็นของทารกน้อยที่ลืมตาดูโลกด้วยความบริสุทธิ์ เพราะแม่วัยใสมีหัวใจอันยิ่งใหญ่ เธอไม่เคยรู้สึกโกรธแค้นหรือรังเกียจลูกในท้อง รวมทั้งเลือกปล่อยให้ “ช่องบิดา” ในใบแจ้งเกิดว่างเปล่า เพราะเธอไม่อยากให้ลูกมีปมด้อยหากรู้ว่า “พ่อ” และ “ตา” คือคนเดียวกัน !

ที่สำคัญที่สุด คือ เธออยากให้ความเลวร้ายทั้งหมดกลายเป็นอดีตเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กับลูกน้อยผู้บริสุทธิ์ ปล่อยให้ผู้ก่อเหตุอันเลวร้ายเข้าไปชดใช้กรรมอยู่ในคุกสมกับบาปที่ก่อไว้กับสายเลือดตนเองอีกยาวนานหลายสิบปี

 

แผลเป็นในหัวใจ

 

ตอนเด็กๆ ทุกคนคงเคยหกล้มจนมีแผลเป็นกันมาบ้าง หากรอยแผลเล็ก โตขึ้นก็จะเหลือนิดเดียวแทบมองไม่เห็น แต่ถ้ารอยแผลใหญ่ มองเห็นทีไร อดีตอันเจ็บปวดก็มักย้อนกลับมาแจ่มชัดในความทรงจำอยู่เสมอ

“ในชีวิตทุกคนมีแผลเป็นกันทั้งนั้น เด็กคนไหนที่ไม่ได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศรุนแรง แผลเป็นก็เล็กหน่อย แต่ถ้าเด็กคนไหนเจอเหตุการณ์เลวร้ายซ้ำๆ เป็นเวลานาน โตขึ้นก็อาจยังเห็นแผลเป็นนั้นอยู่ ถ้าเห็นแผลเมื่อไหร่ก็จำได้อีก ถามว่าเหยื่อที่ประสบเหตุการณ์แบบนี้มีปมในใจไหม ทุกคนก็ต้องมี แต่จะเอาปมมาทำให้ชีวิตแย่ลงหรือเข้มแข็งมากขึ้นก็อยู่กับแต่ละคนจะก้าวข้ามมันไปได้หรือไม่”

เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงผู้มากประสบการณ์สรุปบทเรียนชีวิตจากการได้พบเจอเด็กน้อยผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศมามากมาย

น้ำฝน (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในเด็กหญิงที่มีบาดแผลฉกรรจ์ในหัวใจ แต่เธอสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดอันแสนสาหัสไปสู่ชีวิตใหม่ที่แม้แต่คนทั่วไปยังอาจก้าวไปไม่ถึง เธอถูกพ่อแท้ๆ ข่มขืนมาตั้งแต่เรียนมัธยมปลายจนถึงมหาวิทยาลัย และการข่มขืนเกือบทุกครั้ง พ่อกระทำต่อหน้าแม่ของเธอ ถ้าแม่มีปัญหาก็จะถูกพ่อซ้อมอย่างหนัก สองแม่ลูกจึงต้องแบกรับความเจ็บปวดทั้งกายและใจอย่างแสนสาหัสไว้นานหลายปีจนกระทั่งเธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

วันหนึ่ง เธอตัดสินใจสารภาพกับบาทหลวงที่โบสถ์ว่า เธอรู้สึกเหมือนตกอยู่ในนรก บาทหลวงได้ฟังจึงแจ้งมาทางนักสังคมสงเคราะห์เพื่อขอความช่วยเหลือ และประสานมาที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับพ่อแท้ๆ ของเธอเอง ปัจจุบันพ่อของเธอยังคงติดคุก ส่วนเธอเรียนจบมหาวิทยาลัยสมความตั้งใจและเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เปลี่ยนอดีตอันเลวร้ายเป็นพลังขับเคลื่อนให้ชีวิตก้าวต่อไปจนถึงปลายทางแห่งความฝันได้อย่างน่าชื่นชม

ตามปกติในกระบวนการพิจารณาคดีล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากการดำเนินคดีสิ้นสุดลงแล้ว เด็กผู้ตกเป็นเหยื่อจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดเยียวยาจิตใจเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ภายใต้การดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด ทว่า ชีวิตใหม่ของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป

วิรัชดา ปิงเมือง เจ้าหน้าที่จากบ้านพิงใจ ผู้มีประสบการณ์ทำงานกับเด็กผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศมานาน 8 ปี เล่าถึงเส้นทางชีวิตของเหยื่อที่ผ่านการเยียวยาแล้วให้ฟังว่า

“ถ้าเด็กเลือกที่จะจบอดีตไว้ข้างหลัง เด็กเหล่านี้ก็จะก้าวไปสู่การเริ่มต้นใหม่ เด็กหลายคนอยากกลับมาทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อแบบตัวเอง บางคนบอกว่า ‘หนูคิดว่าหนูเข้าใจคนที่ถูกทำแบบนี้ว่าความรู้สึกมันเป็นยังไง หนูเคยฝันร้ายตอนกลางคืน หนูเคยนอนไม่หลับ หนูเคยใจสั่นมากๆ หนูอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือคนอื่นบ้าง หรือเด็กบางคนก็กลับมาเอาข้าวของมาบริจาคให้ที่นี่  เพราะอยากเป็นกำลังใจให้กับคนที่เจอปัญหาเหมือนเขาผ่านพ้นชีวิตช่วงนี้ไปให้ได้”

ทว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่ได้สดใสเหมือนโลกแห่งความฝัน

เด็กบางคนยังไม่สามารถก้าวผ่านความเจ็บปวดอันแสนสาหัสไปได้ พวกเธอเลือกจมอยู่กับอดีต และมองว่าร่างกายของตนเองไม่มีคุณค่าอีกต่อไปแล้ว เด็กเหล่านี้จะใช้ร่างกายเพื่อแลกเงิน และเข้าสู่กระบวนการค้าบริการทางเพศในที่สุด หรือเด็กบางคนกลายเป็นเด็กเสพติดเซ็กซ์ เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพราะเข้าใจผิดว่า การมีเพศสัมพันธ์คือการได้เติมเต็มความรักที่ขาดหายไป

การได้ฟังเรื่องราวความโหดร้ายของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและการใช้ตุ๊กตาวิเศษในการช่วยเหลือคลี่คลายคดี ทำให้ฉันรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นอาสาสมัครคนหนึ่งของโครงการตุ๊กตาวิเศษ เพราะมันทำให้ฉันเรียนรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องผลิตตุ๊กตาเพื่อ “เติมเต็มความสุข” เพียงอย่างเดียว … แต่เราสามารถผลิตตุ๊กตาเพื่อ “ลดความเศร้า” ในหัวใจของเด็กน้อยได้เช่นกัน

 

เวทมนตร์ของตุ๊กตาวิเศษ

 

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2560

ณ ห้องสืบสวนคดี กองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดเชียงใหม่ เด็กหญิงเอ (นามสมมติ) อายุ 6 ปีนั่งอยู่หัวโต๊ะสี่เหลี่ยมลักษณะเหมือนโต๊ะอาหารทั่วไป ด้านข้างซ้ายขวามีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงสองคนคอยชวนคุย บนโต๊ะมีตุ๊กตาวิเศษขนาดความสูง 90 ซม. เพศชายและเพศหญิงคู่หนึ่งวางอยู่บนโต๊ะ เด็กหญิงเห็นตุ๊กตาแล้วยิ้มเล็กน้อยก่อนจะหยิบตุ๊กตาเด็กผู้หญิงมากอดเล่น

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งจึงเริ่มถามว่า

“วันที่เกิดเหตุ พี่บี (นามสมมติ) ทำอะไรกับหนูบ้างคะ หนูช่วยแสดงท่าทางตุ๊กตาให้ดูหน่อยได้ไหม”

ฟังจบเด็กน้อยก็นำตุ๊กตาเด็กผู้หญิงนอนลงบนโต๊ะ หยิบโบว์ผูกผมที่วางอยู่ใกล้ๆ 2 เส้น เส้นหนึ่งมัดข้อมือ อีกเส้นมัดข้อเท้าของตุ๊กตา หลังจากนั้นจึงหยิบตุ๊กตาเด็กผู้ชายมาถอดกางเกงแล้วนำอวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปบริเวณช่องคลอด ตามด้วยช่องปากของตุ๊กตา หลังจากนั้น เด็กน้อยใช้มือซ้ายถือตุ๊กตาเด็กผู้ชาย มือขวาประคองตุ๊กตาเด็กผู้หญิงให้ลุกขึ้นนั่ง แล้วทำท่าอาเจียนใส่ตุ๊กตาเด็กผู้ชาย พร้อมกับบอกเจ้าหน้าที่ว่า

“พี่บี (นามสมมติ) ทำแบบนี้กับหนู แล้วหนูก็อ้วกใส่ หลังจากนั้นพี่บีก็บอกว่า ห้ามเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังนะ”

……………………………………………….

พ.ต.ท.หญิง จรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์ รองผู้กำกับการ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดวิดีโอการสืบสวนคดีให้ฉันได้ดูด้วยตาตนเองว่า ตุ๊กตาวิเศษช่วยตำรวจคลี่คลายคดีโดยที่เด็กผู้ตกเป็นเหยื่อไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดจากการตอบคำถามเจ้าหน้าที่ เพราะเด็กสามารถเล่าเรื่องผ่านท่าทางของตุ๊กตาได้เลย

ย้อนกลับไปเมื่อสองปีก่อน พ.ต.ท.หญิง จรีย์วรรณ เป็นคนเริ่มต้นโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนของตนเองถึงความต้องการตุ๊กตาเพื่อใช้ในการสืบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศสำหรับเด็ก หลังจากนั้นตุ๊กตาวิเศษคู่แรกจึงถูกผลิตขึ้นและเริ่มถูกใช้เป็นแห่งแรกที่กองบังคับการตำรวจแห่งนี้

“เราทำงานตรงนี้มายี่สิบปีพบว่า ปัญหาของการสอบสวนเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ คือ เรื่องภาษาที่ใช้สื่อสาร และวุฒิภาวะของเด็กที่ไม่สามารถเล่าเรื่องราวได้เหมือนผู้ใหญ่ เมื่อก่อนเราใช้อุปกรณ์ต่างๆ บนโต๊ะทำงานเป็นสิ่งสมมติแทนอวัยวะเพศแต่เด็กก็มักไม่เข้าใจ และเมื่อลองใช้ตุ๊กตาหมีหรือตุ๊กตาพวงกุญแจต่างๆ มาช่วย เราก็พบว่า ตุ๊กตาเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวแทนคำพูดของเด็กได้ แต่ตุ๊กตาหมีไม่มีอวัยวะเพศและช่องอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี รวมทั้งนิ้วมือที่เหมือนกับคนจริง ทำให้ขาดหลักฐานที่ชัดเจนในการเอาผิดผู้ต้องหา เราจึงโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าอยากได้ตุ๊กตามาช่วยทำคดี หลังจากนั้นมีการแชร์ต่อๆ กันไปเยอะมาก”

 

พ.ต.ท.หญิง จรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์ รองผู้กำกับการ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่เป็นคนแรกที่โพสต์ความต้องการตุ๊กตาสำหรับใช้ดำเนินคดีสืบสวนการล่วงละเมิดทางเพศ ถ่ายภาพกับตุ๊กตาวิเศษคู่แรกภายในห้องสืบสวนคดี

 

อลิชา ตรีโรจนานนท์ อาจารย์ประจำคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับทราบเรื่องราวความต้องการเครื่องมือช่วยการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนระบายผ่านเฟซบุ๊กถึงความอึดอัดในการทำงานสอบถามผู้เสียหาย เธอจึงเริ่มต้นชวนนักศึกษาในคณะรวม 6 คนมาทำโครงการเล็กๆ ร่วมกันภายใต้ชื่อโครงการตุ๊กตาวิเศษ (ปีแรกใช้ชื่อตุ๊กตาจ๋า) โดยมีผู้ออกแบบตุ๊กตาคู่แรก คือ สุดศิริ ปุยอ๊อก หลังจากนั้นมูลนิธิศูนย์เพื่อชีวิตใหม่ และเอ็กซอดัสโร้ด จึงได้สนับสนุนการผลิตตุ๊กตาเพิ่มอีก 40 คู่เพื่อแจกจ่ายไปยังกองบังคับการตำรวจในจังหวัดเชียงใหม่และอีกหลายพื้นที่

“วันแรกที่ชวนนักศึกษามานั่งคุยกันเรื่องนี้ยังจำได้เลยว่า เราจับมือกันแล้วน้ำตาไหลว่ามันมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทย แล้วเราทุกคนในความเป็นผู้หญิง ล้วนแต่ผ่านประสบการณ์ที่ถูกคุกคามทางเพศกับมาบ้าง บางคนโดนจับก้นบนรถเมล์ เรายังจำความรู้สึกแบบนี้กันได้ แล้วคนที่โดนมาหนักกว่าเรา แผลในใจจะขนาดไหน”

หลังจากนั้นทีมอาสาสมัครจึงเริ่มต้นจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งขอทุนสนับสนุนค่าอุปกรณ์จากโครงการทูตแห่งความดี จนต่อมาโครงการนี้ได้รางวัลที่หนึ่ง และได้ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ รวมทั้งเงินรางวัลอีกจำนวนหนึ่งสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์ต่อไป

“นี่คือตุ๊กตาธรรมดาที่พูดไม่ได้ แต่มันทำให้ข้อมูลที่ยากจะถูกพูดแสดงออกมาผ่านท่าทางของตุ๊กตา มันเติมเต็มความหมายของการประสบเหตุให้ได้ถูกบอกเล่าตามการรับรู้ของผู้อยู่ในเหตุการณ์”

 

อาจารย์อลิชา ตรีโรจนานนท์ (ล่างซ้าย) และนักศึกษารวม 6 คน ทีมก่อตั้งโครงการตุ๊กตาวิเศษ

 

นอกจากตุ๊กตาจะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจในกระบวนการสืบสวนแล้ว ยังช่วยทำให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือได้ง่ายยิ่งขึ้นเช่นกัน วิภา เจ้าหน้าที่นักสังคมสงคราะห์จากจังหวัดลพบุรีเล่าประสบการณ์ใช้ตุ๊กตาวิเศษในการทำงานกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศให้ฟังว่า

“เวลามีเคสเด็กต่ำกว่า 7 ขวบต้องพาไปขึ้นศาล เด็กจะน่าสงสารมาก เพราะถึงแม้จะแยกเด็กเอาไว้คนละห้องกับผู้ต้องหา แล้วให้ชี้ตัวผู้ต้องหาผ่านจอทีวี แต่เด็กทุกคนพอเห็นผู้ต้องหาก็จะกลัวจนตัวสั่น บางคนสติแตกร้องไห้ ไม่ยอมพูดอะไรเลย พอมีตุ๊กตามานั่งปุ๊บ บรรยากาศผ่อนคลายลงมาก เด็กรู้สึกเหมือนมีเพื่อนอีกคนมาด้วย”

ที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำพูดว่า การเล่าเรื่องข่มขืนซ้ำก็เหมือนกับการถูกข่มขืนซ้ำสอง และหากพนักงานสอบสวนเป็นเพศชายด้วยแล้ว ความรู้สึกของเหยื่อโดยเฉพาะผู้เป็นเด็กจะยิ่งเหมือนกับตกอยู่ในฝันร้ายที่ไม่รู้จบเช่นกัน ปัจจุบันจังหวัดลพบุรีมีทั้งหมด 11 อำเภอ แต่มีเพียงอำเภอเมืองเพียงแห่งเดียวที่มีพนักงานสืบสวนหญิง ดังนั้น หากเกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศเด็กในพื้นที่นอกอำเภอเมือง นั่นหมายความว่า เด็กจะต้องถูกสอบสวนโดยพนักงานชาย ซึ่งเด็กมักรู้สึกหวาดกลัว เพราะเป็นเพศเดียวกับผู้ก่อเหตุ ส่งผลให้การสืบสวนคดีดำเนินไปด้วยความสะเทือนใจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก วิภา เล่าว่า

ถ้าเด็กเล็ก 4-5 ขวบ ถูกสอบสวนคดีทางเพศโดยพนักงานชายและต้องเจอคำถามตรงๆ เกี่ยวกับลักษณะการถูกข่มขืน บางเคสจะร้องไห้ เล่าแล้วหยุดชะงัก ไม่สามารถให้การต่อได้ เด็กไม่เข้าใจว่าทำไมต้องถามแบบนี้ ปกติเด็กจะจำวันเวลาเกิดเหตุไม่ค่อยได้ เวลาถูกสอบสวนซ้ำหลายๆ ครั้ง เด็กจะเริ่มกังวลใจว่า เล่าเรื่องแล้วไม่เหมือนเดิมทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เด็กจะรู้สึกว่า เหมือนถูกจับผิด แล้วไม่มีใครเชื่อเขา ถ้ามีตุ๊กตาก็จะช่วยให้พนักงานสอบสวนชายทำงานง่ายขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามสะเทือนจิตใจ แค่เอาตุ๊กตาให้เด็กแสดงให้ดูแล้วจดบันทึก ช่วยลดแรงกดดันของเจ้าหน้าที่ผู้ชาย รวมทั้งช่วยลดการทำร้ายจิตใจของเด็กด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ ตุ๊กตาวิเศษยังมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการคืนความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงผู้ตกเป็นเหยื่อเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษ “เท่าที่ก่อเหตุ” ด้วยเช่นกัน เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันระบุว่า การข่มขืนกระทำชำเรา หมายถึง การใช้สิ่งอื่นในกระทำกับสามช่องทาง คือ ช่องปาก ช่องทวาร ช่องคลอด ดังนั้นการให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากที่สุดจะนำมาซึ่งความยุติธรรมกับผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษเท่าที่กระทำความผิดจริง

พ.ต.ต.หญิง วรรณภา โชตินอก เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ตำรวจภูธรภาค 5 อธิบายถึงความสำคัญในเรื่องนี้ให้ฟังว่า

“เนื่องจากบทลงโทษระหว่างการกระทำอนาจารกับล่วงละเมิดทางเพศแตกต่างกัน เพราะการล่วงละเมิดทางเพศหมายถึงการล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะของฝ่ายหญิง หากเด็กไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหากระทำผิดแบบใด ศาลก็มักจะยกประโยชน์ให้จำเลยกลายเป็นผู้บริสุทธิ์​ซึ่งเด็กก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ถ้าผู้กระทำผิดยังไม่ได้ล่วงละเมิดทางเพศ ตุ๊กตาวิเศษก็จะเป็นผู้สะท้อนความจริงออกมาเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษเท่าที่กระทำผิดจริง ทำให้การตัดสินมีความยุติธรรมมากขึ้น”

สารวัตรหญิงยังกล่าวถึงแง่มุมเล็กๆ ที่คนในสังคมอาจไม่เคยรับรู้ถึงหัวใจผู้ปฏิบัติงานเมื่อได้ฟังเรื่องราวอันโหดร้ายจากปากคำของผู้ตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยว่า คนที่เจ็บปวดไม่ใช่เพียง “ผู้เล่าเรื่อง” เท่านั้น หาก “ผู้ฟัง” ก็ร่วมแบกรับความสะเทือนใจด้วยเช่นกัน

“เวลาทำงานได้ยินเรื่องแบบนี้ พนักงานสอบสวนบางคน พิมพ์บันทึกปากคำไปร้องไห้ไปด้วย ไม่ใช่แค่ผู้เสียหายที่บาดเจ็บ แต่เจ้าหน้าที่ที่ได้ฟังเรื่องราวก็บาดเจ็บตามไปด้วยเหมือนกัน ถ้ามีตุ๊กตาวิเศษมาช่วยบอกเล่า ความสะเทือนใจจากการพูดและการฟังก็จะลดลงได้เช่นกัน”

พ.ต.ต.หญิง วรรณภา โชตินอก เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ตำรวจภูธรภาค 5

 

เติมใจให้กัน

 

ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมานับตั้งแต่โครงการตุ๊กตาวิเศษเริ่มต้นขึ้น ทีมอาสาสมัครได้ตระเวณจัดเวิร์กช็อปในจังหวัดเชียงใหม่มาแล้วประมาณ 10 ครั้ง แม้ว่าทุกครั้งจะได้ตุ๊กตารูปร่างหน้าตาแตกต่างกันไป สุดแท้แต่ฝีมือการเย็บตุ๊กตาของแต่ละคน ทว่า บรรยากาศบนโต๊ะเย็บตุ๊กตากลับไม่ได้มีใครเปรียบเทียบเรื่องความสวยงามของตุ๊กตาว่าของใครสวยกว่าใคร ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมต่างลงนั่งช่วยผลิตตุ๊กตาในขั้นตอนที่แต่ละคนสามารถทำได้ บางคนมีเวลาเพียงน้อยนิดก็ยังแวะมาช่วยนั่งยัดไส้ตุ๊กตาให้คนอื่นได้เย็บต่อจนเสร็จ แม้ความสามารถและเวลาของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แต่เมื่อหัวใจทุกดวงมาหลอมรวมกันบนโต๊ะตุ๊กตาวิเศษแล้ว บรรยากาศจึงอบอวลไปด้วยความรักความห่วงใยที่ทุกคนส่งผ่านไปกับตุ๊กตาวิเศษที่กำลังจะเดินทางไปช่วยเหลือเด็กน้อยผู้เป็นเหยื่อทารุณกรรมทางเพศต่อไป

หัวหน้าโครงการตุ๊กตาวิเศษบอกเล่าเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการจัดเวิร์กช็อปเย็บตุ๊กตาในหลายพื้นที่ว่า การเย็บตุ๊กตาวิเศษไม่ได้เยียวยาเฉพาะหัวใจดวงน้อยของผู้ตกเป็นเหยื่อเท่านั้น แต่ยังเติมเต็มหัวใจคนที่มาร่วมเย็บตุ๊กตาด้วยเช่นกัน

“มีคนถามอยู่ตลอดว่าทำไมไม่สั่งทำตุ๊กตาจากโรงงาน การระดมทุนเพื่อจ้างผลิตจะทำให้เราได้ตุ๊กตามาใช้งานอย่างรวดเร็ว แต่วิธีนี้เราจะได้ตุ๊กตามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เสียโอกาสในการสร้างการรับรู้ซึ่งเป็นการดำเนินการเชิงป้องกัน เราจึงเลือกที่จะเปิดพื้นที่ของความร่วมใจผ่านเวิร์กช็อปให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรม แม้ว่าตุ๊กตาที่ได้มา บางตัวจะไม่สมบูรณ์แบบ ไม่สวยเป๊ะ แต่มันคือหลักฐานของความตั้งใจที่คนในสังคมอยากช่วยกัน”

นอกจากนี้ วงเย็บตุ๊กตายังเป็นพื้นที่ของ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแบ่งปันความรู้สึกของอาสาสมัครแต่ละคนที่เคยประสบเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศในดีกรีระดับต่างๆ กัน ซึ่งทำให้หลายคนยิ่งรู้สึกตระหนักร่วมกันว่า ภัยคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

“ไม่อยากให้เทียบความรู้สึกที่เราถูกจับก้นบนรถเมล์หรือถูกพูดจาแทะโลม กับสิ่งที่เด็กในคดีเจอมา เพราะมันไม่มีอะไรดี มีแต่แย่กับแย่กว่า และยังแย่ได้อีก สิ่งดีที่เกิดขึ้นได้คือการขยายเสียงของผู้เสียหายให้ดังสู่สังคม ให้คนที่เกี่ยวข้องได้รู้จักป้องกันตัว รู้จักปกป้องผู้อยู่ในความดูแล และร่วมกันหนุนมโนธรรมให้เกิดขึ้น เพราะกฎหมายมีไว้กำกับพฤติกรรมของคนในสังคม แต่จิตสำนึกต่างหากที่จะกำกับคนได้จริง”

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่โครงการตุ๊กตาวิเศษมุ่งหวังจึงมิใช่การผลิตตุ๊กตาเพื่อไปใช้ดำเนินคดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังหวังไปไกลถึงการตระหนักรู้และป้องกันเหตุของสังคมไทยในอนาคตด้วยเช่นกัน หากทุกๆ ครอบครัวสอนบุตรหลานให้รู้จักการป้องกันร่างกายของตนเองไม่ให้ใครมาล่วงละเมิดในพื้นที่สงวนตั้งแต่วัยเด็ก รวมไปถึงการปลูกฝังจิตสำนึกในการห่วงใยผู้อื่นในสังคม สังคมไทยก็คงเผชิญเรื่องเลวร้ายเหล่านี้ลดลงเพราะเราทุกคนช่วยกัน

สารวัตรหญิงแห่งกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ให้แง่คิดเตือนใจทุกครอบครัวว่า

“จริงๆ แล้ว เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศที่พ่อแท้ๆ หรือคนในครอบครัวกระทำต่อเด็ก มีโอกาสเกิดขึ้นทุกๆ วินาที ทุกๆ วัน และทุกๆ เวลา เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะเกิดกับใครเท่านั้นเอง”

………………………………………

11 กันยายน 2560

เสียงโทรศัพท์จากหัวหน้าโครงการตุ๊กตาวิเศษดังขึ้นอีกครั้ง พร้อมคำปรึกษาว่า พอจะมีเวลาแต่งหน้าแต่งตัวตุ๊กตาวิเศษสองคู่สำหรับไปส่งมอบให้ประเทศเพื่อนบ้านพม่าและลาวทันเช้าวันรุ่งขึ้นไหม เพราะมีเจ้าหน้าที่จากเมืองไทยจะเดินทางไปร่วมกิจกรรมต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์กับประเทศเพื่อนบ้านพม่าและลาวบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ฉันตอบรับคำเช่นเดิม

คืนนั้นฉันลงมือตัดชุดแต่งหน้าตุ๊กตาพร้อมกับตรวจสอบการใช้งานของอวัยวะต่างๆ โดยทำหน้าที่เป็น “หมอศัลย์ตุ๊กตา” อีกเช่นเคย เพราะตุ๊กตาที่อาสาสมัครเย็บตัวเอาไว้แล้ว แต่ละตัวมีขนาดอวัยวะไม่เท่ากัน เมื่อทดสอบการใช้งานแล้วไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ฉันจึงต้องเริ่มภารกิจหมอศัลย์เลาะตัดเย็บอวัยวะของตุ๊กตาผู้ชายเข้าไปใหม่ รวมทั้งขยายขนาดช่องปาก ช่องทวาร และช่องคลอด ให้ตุ๊กตาสามารถใช้งานได้คู่กันอย่างสมบูรณ์ แม้จะดูเป็นภารกิจที่น่ากระอักกระอ่วนใจ แต่จำเป็นต้องทำเพราะอวัยวะทั้งหมดนี้มีผลต่อการสืบสวนคดีและการพิจารณาบทลงโทษของผู้ก่อเหตุ

รุ่งเช้า ฉันหอบหิ้วตุ๊กตาวิเศษสองคู่เพื่อนำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กจากเมืองไทยพาออกเดินทางไกลไปช่วยเหลือเด็กในประเทศเพื่อนบ้าน

ก่อนจากกันฉันบอกกับตุ๊กตาว่า

“ไปทำงานหน้าที่ให้ดีที่สุดนะ”

ฉันหวังว่า สักวันหนึ่งพวกเธอจะได้หยุดพัก เพราะไม่มีเด็กคนไหนถูกทารุณกรรมทางเพศอีกต่อไป พวกเธอจะได้เหลือแต่หน้าที่สร้างรอยยิ้มให้เด็กทุกคนเพียงหน้าที่เดียว

 

ตำรวจ ATTF เชียงตุง เมียนมาร์ ได้รับตุ๊กตาวิเศษไปใช้ช่วยงานสืบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กในเมียนมาร์

 

หมายเหตุ:

รายชื่อทีมนักศึกษาที่ร่วมก่อตั้งโครงการตุ๊กตาวิเศษทั้ง 5 คน คือ

  1. มิ้น -ธนกาญจน์ ผลดี
  2. นุกนิก – ปัณณ์ญาณัช สถิตเสมากุล
  3. มะปราง – สุพรรณิกา โชคไพบูลย์
  4. อาย – สุภภร ศิวการุณย์
  5. พลอย – นฤภร อินทยศ

ท่านที่ต้องการร่วมกิจกรรมเย็บตุ๊กตาวิเศษสามารถดาวน์โหลดแพทเทิร์นตุ๊กตาและติดตามกิจกรรมได้ที่เพจของโครงการตุ๊กตาวิเศษ)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save