fbpx
เมื่อนโยบายการคลังกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจ

เมื่อนโยบายการคลังกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจ

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

หลายคนคงทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จนต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และมีผลทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าออกไปอีก ทั้งที่ล่าช้ามาแล้วถึงสี่เดือน

แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าปัญหาความล่าช้าของงบประมาณได้สร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจแล้ว ถ้ายังต้องชะลอนานกว่านี้ และไม่ได้รับการดูแลจัดการ จะกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ซ้ำเติมปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และปัญหาภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

ทั้งหมดนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในไม่ช้า

 

ทุกๆ ปี รัฐบาลต้องนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ และประกาศเป็นกฎหมาย จึงจะสามารถใช้จ่ายเงินในปีงบประมาณได้ ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม และสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป

แต่ในปีงบประมาณ 2563 เกิดความล่าช้าขึ้น เพราะกว่าจะเลือกตั้งก็เดือนมีนาคม กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ก็ปาเข้าไปเดือนมิถุนายน และรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งก็ใช้เวลาค่อนข้างมากในการแก้ไขและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ (จริงๆ แล้ว รัฐบาลรักษาการน่าจะจัดเตรียมร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ไว้ก่อนในระดับหนึ่ง) ทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีความล่าช้าแบบที่ไม่ได้เกิดขึ้นกันบ่อยๆ

กว่าจะนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ เข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระที่หนึ่งก็ล่วงเลยไปถึงเดือนตุลาคม ซึ่งควรจะเป็นวันแรกของปีงบประมาณด้วยซ้ำ ผู้คนส่วนใหญ่จึงคาดการณ์กันว่างบประมาณต้องคงล่าช้าไปถึงเดือนมกราคม 2563 อย่างแน่นอน

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 143 บัญญัติเกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ไว้ว่า

 “…สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร

 ถ้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา

นั่นหมายความว่าแทบไม่มีโอกาสที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณจะถูกคว่ำจากฝ่ายค้านได้เลย  ถ้าฝ่ายรัฐบาลรู้ตัวว่าเสียงไม่พอ ก็แค่ลากยาวการพิจารณาให้เกิน 105 วัน ร่างพระราชบัญญัติก็จะผ่านสภาไปโดยปริยาย

และสภาก็ใช้เวลาเกือบเต็มที่จริงๆ เพราะกว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ จนเข้าสู่การลงคะแนนในวาระที่สองและวาระที่สาม ก็ล่วงเลยมาจนกลางเดือนมกราคมเข้าไปแล้ว

แต่ความล่าช้าของงบประมาณไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เพราะมาตรา 141 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า “…ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน

ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่มีโอกาสเกิด government shutdown เหมือนในสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน เพราะถึงทำงบประมาณไม่เสร็จ รัฐบาลก็สามารถเบิกจ่ายและใช้งบประมาณได้ ตราบเท่าที่โครงการที่ขอเบิกจ่ายเคยตั้งงบไว้ในปีก่อน

เงินเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าอุปกรณ์สำนักงาน มีจ่ายแน่นอน ส่วนโครงการต่อเนื่อง โครงการที่ตั้งงบผูกพันไว้ ก็สามารถทำต่อไปได้ เรียกว่ารัฐบาลสามารถทำงานได้ไม่ติดขัด

แต่ขณะเดียวกันก็หมายความว่า โครงการที่ไม่ได้อยู่ในงบประมาณปีก่อน เช่น โครงการใหม่ โครงการลงทุนที่ต้องใช้งบประมาณเป็นปีแรก ไม่สามารถทำได้

 

ก่อนหน้านี้ เราเข้าใจว่าผลกระทบเรื่องความล่าช้าของงบประมาณต่อเศรษฐกิจน่าจะมีน้อยมาก เพราะงบที่เบิกไม่ได้คงมีไม่มากเท่าไร คงจะมีเฉพาะงบลงทุนในโครงการที่เริ่มปีแรก ซึ่งน่าจะเป็นส่วนน้อย ส่วนงบรายจ่ายประจำเกือบทั้งหมดน่าจะเบิกจ่ายได้ไม่มีปัญหา และที่ผ่านมาเราไม่ได้ยินเสียงเตือนจากภาครัฐให้ประชาชนได้รับรู้ในเรื่องนี้

แต่พอเราไปดูข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง ในช่วงเวลา 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – มกราคม 2563) กลับพบว่า ยอดเงินที่รัฐบาลเบิกจ่ายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งๆ ที่ยอดรวมของงบประมาณรายจ่ายปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วเสียอีก

เฉพาะส่วนของหน่วยราชการส่วนกลาง (ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ และกองทุนในงบประมาณต่างๆ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) การเบิกจ่ายงบประจำลดลงไปถึงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนลดลงไปถึงร้อยละ 67 เรียกว่าเหลือไม่ถึงครึ่งของปีก่อน และในภาพรวม การเบิกจ่ายงบประมาณรวมทั้งหมดลดลงไปถึงร้อยละ 26

 

การเบิกจ่ายงบประมาณส่วนกลาง เทียบปีงบประมาณ 2563 กับ 2562

(ข้อมูลถึงวันที่ 25 มกราคม 2563) 

การเบิกจ่ายงบประมาณส่วนกลาง เทียบปีงบประมาณ 2563 กับ 2562
ที่มา: กรมบัญชีกลาง

 

นั่นคือ เงินที่รัฐควรจะใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ หากงบประมาณรายจ่ายสามารถใช้ได้ทันตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ หายไปถึงประมาณ 1 ใน 4 หรือถ้านับเป็นเม็ดเงินก็มากกว่า 2 แสนล้านบาท หรือติดลบมากกว่าร้อยละ 1 ของ GDP ในช่วงแค่สี่เดือนแรกของปีงบประมาณ  แต่หากรวมรัฐวิสาหกิจ กองทุน และเงินที่จัดสรรให้จังหวัด การเบิกจ่ายปีนี้ลดไปถึงร้อยละ 28 หรือนับเป็นเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหายไปเกือบร้อยละ 2 ของ GDP ในเวลาแค่สี่เดือน

นี่คือแรงฉุดที่นับว่ารุนแรงมากต่อเศรษฐกิจไทย และเป็นต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ

ทุกวันนี้ เราเริ่มได้ยินเสียงบ่นจากผู้ประกอบการบางรายเกี่ยวกับการเบิกจ่ายที่ล่าช้า จนทำให้เกิดปัญหาด้านกระแสเงินสด และเงินที่ต้องจ่ายให้กับคู่ค้าอื่นๆ

 

การเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนกลาง รัฐวิสาหกิจ และกองทุนสะสม (ปีงบประมาณ 2561-2563)

การเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนกลาง รัฐวิสาหกิจ และกองทุนสะสม (ปีงบประมาณ 2561-2563)
ที่มา: กรมบัญชีกลาง และ https://govspending.data.go.th/

 

เราพอจะคาดคะเนได้ว่า หากงบประมาณยังคงล่าช้าออกไปอีก การเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณก็คงจะล่าช้าในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณที่ผ่านมาเป็นความผิดพลาดที่สร้างต้นทุนต่อเศรษฐกิจไปแล้ว ความล่าช้าที่เกิดขึ้นอีกจะยิ่งสร้างต้นทุนที่สูงขึ้นอีกอย่างปฏิเสธไม่ได้  ปัญหาเรื่องงบประมาณในปีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารจัดการความเสี่ยง นอกจากนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นยังสะท้อนถึงการขาดความผิดชอบต่อประชาชนและเศรษฐกิจอีกด้วย

จริงอยู่ที่ว่าการล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นประเด็นชั่วคราว โดยภาครัฐน่าจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ หากพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ผ่านสภา และถูกตราออกมาเป็นกฎหมาย เมื่อนั้นการเบิกจ่ายและเศรษฐกิจก็อาจเร่งตัวขึ้นได้

แต่ยิ่งเวลาล่วงเลยไปนานเท่าใด ระยะเวลาที่เหลืออยู่ในการนำงบประมาณออกมาใช้ก็จะน้อยลงไปทุกที

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปัญหาเรื่องเสียบบัตรแทนกันทำให้งบประมาณล่าช้าไปอีกสองเดือน ก็เท่ากับว่าจะเหลือเวลาให้ใช้งบประมาณอีกแค่หกเดือน การเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนส่วนที่ล่าช้าไปในช่วงเวลาอันสั้นคงทำได้ยาก เนื่องจากขั้นตอนกระบวนการ และขีดจำกัดของการทำงาน หากเป็นเช่นนั้น ความล่าช้าของงบประมาณก็จะกลายเป็นผลถาวร และส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจ

เราคงพอคาดเดาได้ว่า ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอันเกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส คงส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวในไตรมาสหนึ่ง และเราอาจเผชิญความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งจากปัญหาทางการคลังที่เราสร้างขึ้นเอง และปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น

การเร่งแก้ปัญหาความล่าช้าของการผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ จึงเป็นสิ่งสำคัญในภาวะที่เศรษฐกิจมีความเปราะบาง และต้องการนโยบายด้านอุปสงค์มาช่วย ผมได้แต่หวังว่าการแก้ปัญหาในเรื่องนี้จะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงใจ

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเป็นระบบ มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ มีการรั่วไหลน้อย มีความจำเป็นและสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้นโยบายการคลังกลับมาเป็นตัวช่วยกระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นนโยบายฉุดรั้งเศรษฐกิจดังที่ผ่านมา

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save