fbpx
ยิ่งลดหย่อน…ยิ่งเหลื่อมล้ำ?: บทเรียนจากการให้สิทธิลดหย่อนภาษี LTF และ RMF

ยิ่งลดหย่อน…ยิ่งเหลื่อมล้ำ?: บทเรียนจากการให้สิทธิลดหย่อนภาษี LTF และ RMF

นรชิต จิรสัทธรรม และ กฤตยาณี กิตติพัฒน์พาณิช[1] เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้งทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก ผลงานชื่อดังที่สุดชิ้นหนึ่งในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นหนังสือ ‘Capital in the 21st Century’ ของ โธมัส พิเก็ตตี้ (2556) ซึ่งพยายามอธิบายถึงพลวัตรของความเหลื่อมล้ำโลกว่าได้เพิ่มขึ้น ตราบที่อัตราผลตอบแทนที่ได้จากทุน (หรือก็คือสินทรัพย์ต่างๆ) มีการเติบโตที่มากกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นเพราะว่ากลุ่มคนครอบครองสินทรัพย์ทุนนี้มีรายได้สำคัญมาจากผลตอบแทนของสินทรัพย์ ในขณะที่มนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานทั่วไปที่ไม่ได้ถือครองสินทรัพย์ รายได้ของพวกเขามีแนวโน้มเติบโตไปตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งพิเก็ตตี้ได้แสดงให้เห็นว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รายได้ของกลุ่มหลังนี้ไม่มีทางเติบโตได้มากกว่าผลตอบแทนของ ‘ทุน’ เลย

ผลที่ตามมา คือ กลุ่มคนที่ยิ่งมีสินทรัพย์ก็ยิ่งสามารถสะสมความมั่งคั่งทิ้งห่างกลุ่มคนที่มีสินทรัพย์น้อยหรือไม่มีสินทรัพย์เรื่อยไป นั่นเอง

งานเขียนของพิเก็ตตี้ได้ทำให้เราฉุกคิดถึงบทบาทของการถือครอง ‘ทุน’ หรือ ‘สินทรัพย์’ ที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ ในบทความนี้จึงอยากคิดต่อจากพิเก็ตตี้ โดยตั้งคำถามที่เจาะจงว่า การลงทุนในสินทรัพย์ด้านการเงิน เช่น LTF และ RMF ส่งผลต่อ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ หรือไม่?

เหตุที่ทำให้เราสนใจประเด็นนี้ เพราะดูเหมือนว่าฝั่งภาครัฐและภาคการเงินต่างพากันจูงใจประชาชนให้ลงทุนใน LTF และ RMF ด้วยผลประโยชน์จากการหักลดภาษีเงินได้ ซึ่งนัยยะของการจูงใจก็เพื่อส่งเสริมตลาดทุนและวินัยการออมให้เกิดขึ้น โดยลืมว่าเหรียญอีกด้านหนึ่งของกิจกรรมนี้อาจช่วยเสริมพลังให้ทุนทำงานมีพลังเพิ่มขึ้นและทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำแย่ลงได้

เพื่อตอบข้อสงสัยนี้ เราจึงรวบรวมข้อมูลมูลค่าการลดหย่อนภาษีจากการลงทุนประเภทต่างๆ 14 ปีย้อนหลัง และนำไปเทียบเคียงกับมูลค่าของภาษีเงินได้ที่รัฐบาลได้รับในช่วงเวลาเดียวกัน

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า มูลค่าการลดหย่อนฯ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเร็วกว่ามูลค่าภาษีเงินได้ที่รัฐบาลได้รับในอัตราที่สูงมาก (พิจารณาภาพที่ 1) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี 2547 ที่เริ่มมีการเปิดให้มีการลงทุน LTF และ RMF เป็นต้นมา ทำให้ช่วงห่างระหว่างอัตราการเติบโตของทั้งสองตัวเลขเพิ่มขึ้นไปที่ 4.4 เท่า และขึ้นไปสูงสุด ถึง 5.7 เท่า ในปี พ.ศ. 2560[2]

อย่างไรก็ตาม ลำพังแค่การเทียบเคียงนี้ยังไม่สื่อว่าการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีมันจะส่งผลอย่างไรก็ตามเหลื่อมล้ำ เราจึงนำอีกตัวแปรหนึ่งเข้ามาพิจารณาคือ ค่าสัมประสิทธิ์จีนีด้านรายได้[3] ซึ่งผลการคำนวณด้วยวิธีการเศรษฐมิติ ร่วมด้วยการจำลองสถานการณ์ (simulation) เพื่อพยากรณ์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไปข้างหน้าอีก 42 ปี (หรือสุ่มเพิ่มจำนวนข้อมูลเดิมที่มีไปอีก 3 เท่าตัว) ทำให้เราได้ข้อสรุปตามภาพที่ 2 ที่อธิบายว่า ยิ่งถ้าเรามีช่วงห่างระหว่างอัตราเติบโตของการลดหย่อนกับรายรับภาษีเงินได้ที่มากขึ้น (ตัวแปร ft ที่ปรากฏในแกนนอน) ผลที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (ตัวแปรที่ปรากฏในแกนตั้ง) ยิ่งเพิ่มในอัตราที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในการจำลองสถานการณ์ เราได้ใส่ข้อสมมติสำคัญ เช่น กำหนดให้มีการลงทุนใน LTF ลดลง (ในอัตราส่วนที่ลดหลั่นกันไป) อันเนื่องมาจากการยกเลิกการใช้ LTF ในการลดหย่อนภาษีในปี 2563 ซึ่งการใส่ข้อสมมตินี้เข้าไปก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาให้การลดหย่อนส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลงแต่อย่างใด[4]

ภาพที่ 1

เปรียบเทียบการเติบโตจำนวนเงินการลดหย่อยภาษีและรายรับภาษีบุคคลธรรมดา
ที่มา : คำนวณโดยผู้เขียน จากข้อมูลของส่วนนโยบายการคลังและงบประมาณ สำนักเศรษฐกิจการคลัง

ภาพที่ 2

ที่มา: นรชิต และ กฤตยาณี (2562)

 

เมื่อเราทราบว่า การลดหย่อนภาษีส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติประกอบกับการศึกษาของ อธิภัทร (2560) ได้ช่วยบ่งชี้ว่า มูลค่าการลดหย่อนจาก LTF และ RMF มีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการลดหย่อนในทุกประเภท โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าการลดหย่อนทั้งหมด ดังนั้นเราจึงสรุปในขั้นต้นได้ว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ย่อมได้รับอิทธิพลจากมูลค่าการลงทุนเพื่อลดหล่อนภาษีใน LTF และ RMF ด้วย

แน่นอนว่าลำพังตัวเลขที่ได้จากแบบจำลองเศรษฐมิติ มิอาจอธิบาย ‘กลไก’ หรือสาเหตุว่าทำไมการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีใน LTF และ RMF ถึงส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ เราจึงค้นหาเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังสมการเหล่านี้ทำให้พบว่า มีเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก คือ มาตรการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะในการลงทุน LTF และ RMF ได้สร้างต้นทุนค่าเสียโอกาสของรายรับทางการคลังของประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นการตัดโอกาสในการสร้างรายได้ทางการคลังเพื่อใช้ในโครงการปันส่วนใหม่ (redistribution) เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมมากขึ้น ถ้านึกไม่ออกว่าสร้างค่าเสียโอกาสมากขนาดไหน ข้อมูลในปี พ.ศ. 2560 พบว่ารายได้ภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไปเพื่อคืนให้แก่ผู้ลงทุนในกองทุน LTF, RMF อยู่ที่ประมาณปีละเกือบ 18,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมากกว่างบประมาณประจำปีของหลายๆ กระทรวงเสียอีก แน่นอนว่าเหตุผลประการนี้ย่อมต้องมีข้อถกเถียงว่าลำพังแค่เก็บภาษีได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดการกระจายใหม่ที่ดีขึ้นถ้าหากรัฐขาดนโยบายใช้จ่ายด้านการคลังที่ทำให้เกิดการกระจายใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่อาจมองข้ามความเป็นจริงที่ว่าถ้ารัฐมีโอกาสในรายได้น้อยลง โอกาสในทางเลือกเพื่อกระจายทรัพยากรใหม่ก็ย่อมที่ถูกจำกัดไปด้วย

ประการที่สอง คือ สิทธิประโยชน์ของ LTF และ RMF เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนที่มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้น้อย สำหรับผู้ลงทุนใน LTF และ RMF สามารถได้สิทธิประโยชน์สองต่อ โดยต่อแรกพวกเขาได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีได้ตามแต่ละขั้นรายได้ และต่อที่สองคือผลตอบแทนจากกองทุนนั้นๆ ในข้อนี้เราขอดูที่สิทธิประโยชน์จากการลดหย่อน โดยพิจารณาตัวอย่างในตารางที่ 1 ในเชิงของผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม (marginal benefit) พบว่า คนยิ่งมีรายได้มาก ยิ่งได้ผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม (ในรูปของภาระภาษีที่ลดลง) มากขึ้น  ตัวอย่างเช่น ในขั้นรายได้พึงประเมินที่ 400,000 บาท ถ้าผู้เสียภาษีลงทุนใน LTF และ RMF เต็มจำนวน ก็จะทำให้ภาระภาษีเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสุทธิลดลงจาก 2.5% เหลือเพียง 1.9% หมายความว่าเขาได้ผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม (ในรูปของภาระภาษีที่ลดลง) เท่ากับ 0.6% (แถวที่ 10) ทีนี้เมื่อพิจารณาในผู้ที่มีรายได้สูง เช่น ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินที่ 5,100,000 พบว่าเขาจะได้รับผลประโยชน์ส่วนเพิ่มที่ช่วยในการประหยัดภาษีมากถึง 3.5% เมื่อเป็นเช่นนี้จึงกลายเป็นว่า การลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุนใน LTF และ RMF ยิ่งเป็นการให้สิทธิประโยชน์ในการประหยัดภาษีแก่ผู้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งขัดกับหลักการภาษีก้าวหน้า

 

ตารางที่ 1 ตัวอย่างการคำนวณแสดงผลจากการลดหย่อนทางภาษี จากลงทุนทุนใน LTF และ RMF (หน่วย: บาท)

ตารางที่ 1 ตัวอย่างการคำนวณแสดงผลจากการลดหย่อนทางภาษี จากลงทุนทุนใน LTF และ RMF (หน่วย: บาท)
หมายเหตุ : (5)=(4)/(3), (6)=(15%*(2)) โดยที่ (6) ไม่เกิน 5 แสนบาท, (7)=(3)-(6), (9)=(8)/(7), (10)=(5)-(9) /ที่มา: นรชิต และ กฤตยาณี (2562)

 

ประการที่สาม เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ด้านผลตอบแทนจากการลงทุน กล่าวคือปรากฏการณ์ของผลตอบแทนของ LTF และ RMF ในประเทศไทย ถือได้ว่าสอดคล้องอย่างยิ่งกับสิ่งที่พิเก็ตตี้ได้เสนอไว้  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2560 ผลตอบแทนเฉลี่ยที่เกิดจาก LTF และ RMF มีการเติบโตที่สูงกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากถึงประมาณ 4 เท่า (ยกเว้นในกองทุน RMF แบบตราสารหนี้ที่การเติบโตของผลตอบแทนมีสัดส่วนพอๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ) นั่นหมายความว่าหากใครถือสินทรัพย์นี้ไว้ในมือ เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขายิ่งมีรายได้จากผลตอบแทนเพิ่มพูนมากกว่าผู้ที่มีรายได้จากเพียงแค่เงินเดือนและไม่ได้ถือสินทรัพย์ทางการเงินใดนั่นเอง

สิ่งที่เราค้นพบเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ยืนยันว่าเศรษฐศาสตร์ยังคงเป็นวิชาที่เปรียบเสมือน ‘เลนส์’ ในการส่องปรากฏการณ์ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น ซึ่งการ ‘ส่อง’ ไปที่การลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในครั้งนี้คือ ทำให้เราคิดได้ว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำควรมองไปให้ไกลกว่าเรื่องการเก็บภาษีจากผลตอบแทนของสินทรัพย์ดังที่พิเก็ตตี้ได้เสนอในนโยบาย Global Wealth Tax Reform เพราะในข้อค้นพบของเราก็ได้ทราบว่าแม้รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีของ LTF ผลลัพธ์แห่งความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด

เราต้องตระหนักให้ต่างจากพิเก็ตตี้ว่า ทุนไม่ใช่แค่เรื่องของสินทรัพย์และผลตอบแทนเท่านั้น แต่ทุนนำพามาซึ่ง ‘รูปแบบความสัมพันธ์’ ทางสังคม และบ่อยครั้งเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขทางสถาบันที่เอื้อให้กลุ่มทุนสามารถแสวงหาประโยชน์ได้ไม่จบสิ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้การแก้ปัญหาด้วยเทคนิคด้านภาษีอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เราควรหันมาคุยมากขึ้นในนโยบายที่เกี่ยวกับการ ‘ส่งเสริมความเท่าเทียม’ (pro-equality program) แนวทางนี้ไม่ใช่แค่การเก็บภาษีและการกระจายตามช่องทางการคลัง แต่ เป็นการพิจารณาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทาง ‘สถาบัน’ เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในอำนาจและทรัพย์สิน แนวทางนี้ควรเกี่ยวกับการกำกับอำนาจของบรรษัทเอกชนด้วยการส่งเสริมกฎหมายต่อต้านการผูกขาด หรือการแก้ไขกฎระเบียบด้านแรงงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้แก่พนักงานและให้พวกเขามีส่วนร่วมในผลประโยชน์ที่องค์กรได้รับ เป็นต้น

โครงการส่งเสริมความเท่าเทียมนี้มีความเป็นไปได้ทางการเมือง เพราะการกำหนดรูปแบบในการกระจาย (pre-distribution) ก่อน ย่อมประหยัดกว่าการปันส่วนใหม่ (redistribution) เพราะมันเกี่ยวกับการปฏิรูประเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ มากกว่าเป็นการใช้จ่ายขนาดใหญ่ ดังนั้นถ้าหากรัฐสามารถดึงเงินรายได้ที่สูญเสียจากสิทธิในการลดหย่อนต่างๆ กลับมาเป็นทรัพยากรของตน และบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือมีคณะทำงานพิเศษที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่างข้อเสนอและยกระดับข้อถกเถียงเชิงนโยบายไปสู่ความเป็นไปได้ที่หลากหลายของโครงการที่ส่งเสริมความเท่าเทียมที่ ‘แข็งแรง’ ก็อาจนำไปสู่การพลิกกลับสถานการณ์แห่งความเหลื่อมล้ำไปสู่สถานการณ์ที่มีความเท่าเทียมมากขึ้นได้

 


อ้างอิง

[1] บทความวิจัยฉบับเต็มดูได้จาก นรชิต และ กฤตยาณี (2562)

[2] คำนวณจาก ค่าเฉลี่ยของผลต่างระหว่าง f และ t ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2536 – 2547 เทียบกับ ค่าเฉลี่ยของผลต่างระหว่าง f และ t ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2547 – 2560

[3] ถ้าอิงตามพิเก็ตตี้ การพิจารณาความเหลื่อมล้ำควรใช้ค่าสัมประสิทธิ์ด้านสินทรัพย์ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยข้อมูลไม่เพียงพอ งานวิจัยนี้จึงใช้ค่าสัมประสิทธิ์จีนีในด้านรายได้เป็นตัวแปรในการประมาณค่าความสัมพันธ์ เพราะขนาดของกลุ่มตัวอย่างเพียงพอและครอบคลุมช่วงเวลาที่ศึกษา โดยสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) เป็นเครื่องมือในการวัดความไม่เทียมเทียมในรูปของสัดส่วน มีค่าอยู่ระหว่าง 0-1 ถ้าค่ายิ่งเข้าใกล้ 1 มากเท่าไร แสดงว่าความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ยิ่งมากขึ้นโดยคำนวณจากการใช้ค่าของพื้นที่ระหว่าง Lorenz curve ของการกระจายรายได้กับเส้นการกระจายรายได้สัมบูรณ์เป็นตัวตั้ง และค่าของพื้นที่ใต้เส้นการกระจายรายได้สัมบูรณ์ทั้งหมดเป็นตัวหาร

[4] รายละเอียดข้อสมมติในการจำลองสถานการณ์ดูได้จากบทความวิจัยฉบับเต็ม

 

เอกสารอ้างอิง

โธมัส พิเก็ตตี้. 2556. ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21. แปลโดย นรินทร์ องค์อินทรี.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์

นรชิต จิรสัทธรรม และ กฤตยาณี กิตติพัฒน์พาณิช. 2562. “ยิ่งลดหย่อน ยิ่งเหลื่อมล้ำ: บทวิจารณ์การลดหย่อนภาษีในการลงทุนในกองทุนรวม LTF และ RMF. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. ปีที่ 15 ฉบับที่ 2

อธิภัทร มุทิตาเจริญ. 2560. 5 มุมมองใหม่จากข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา. บทความใน PIER. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2561

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save