fbpx
เรื่องหนี้มีทางออก : ค้นหาคำตอบว่าด้วยการลดหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

เรื่องหนี้มีทางออก : ค้นหาคำตอบว่าด้วยการลดหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

ธนาคารแห่งประเทศไทย ภาพ

ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ามาหลายยุคสมัยและทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ อ้างอิงจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ออกมาเปิดเผยว่าแนวโน้มการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องราว 6 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยต่อไตรมาส และปัจจุบัน ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยใน 2 ไตรมาสของปี 2562 มีมูลค่ารวมกว่า 13 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 78.7 ของ GDP สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาสนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

ตัวเลขนี้เป็นที่แน่ชัดว่าส่งผลกระทบต่อคนไทยหลายระดับ นับตั้งแต่สภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนที่ต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเสถียรภาพทางการเงินของทั้งระบบ

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุในการเปิดงานเสวนา ‘ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน’ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า “ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นจุดเปราะบางของประเทศ และเนื่องจากขนาดของปัญหามันใหญ่มาก การเร่งแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างลงมือค้นหาทางออกของปัญหาหนี้ จนพบว่าการส่งเสริมวินัยการออม เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน และการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้คือวิธีที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ ทว่ากุญแจสำคัญในการปลดกับดักหนี้ครัวเรือน นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้วยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เรียนรู้ต้นแบบจากกันและกัน เพื่อสร้างแผนแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ

ภายในงานเสวนาซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงได้มีการสนทนาในหัวข้อ ‘เร่งหาทางออก ร่วมผ่าทางตันลดหนี้ครัวเรือนไทยอย่างยั่งยืน’ เกี่ยวกับตัวอย่างโครงการและแผนขับเคลื่อนในอนาคตจากแต่ละฝ่าย ประกอบด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากฝั่งธนาคารพาณิชย์ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และกรมบังคับคดี เพื่อให้เห็นภาพรวมของการดำเนินการ รวมถึงวางกลไกประสานความร่วมมือ แก้ไขปัญหาหนี้หลากมิตินับจากนี้เป็นต้นไป

ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน

ช่วยเหลือคนเป็นหนี้เมื่อ (ต้อง) เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนไทยกว่า 1 ใน 3 ของประเทศกำลังแบกรับภาระหนี้ นอกจากจะเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน ยังอาจลุกลามบานปลายถึงขั้นกลายเป็นคดีความ ตามที่ เสกสรร สุขแสง รองอธิบดี กรมบังคับคดี เปิดเผยว่า จำนวนคดีเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยล่าสุด สถิติการบังคับคดีแพ่งประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ระบุยอดทุนทรัพย์ที่ทางกรมบังคับคดีต้องดำเนินการยึด อายัด และขายทอดตลาด รวมทั้งสิ้นเกือบ 1,400 ล้านบาท

“กรณีมีผู้นำความมาฟ้องศาลและตกลงชำระหนี้กันไม่ได้ จนศาลมีคำพิพากษาออกหมายบังคับคดี มีผู้เกี่ยวข้องเฉลี่ยประมาณ 500,000 รายต่อปี เพราะในหนึ่งคดีอาจไม่ได้มีลูกหนี้เพียงคนเดียว แต่ยังมีจำเลยที่เกี่ยวข้องในแง่อื่นๆ อีกด้วย” เสกสรรอธิบายให้เห็นภาพว่า บางครั้งหนี้ครัวเรือนก็เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ มากกว่าตัวลูกหนี้รายเดียว

“ถ้าเราไม่ทำอะไรภายในระยะเวลา 3-5 ปีนี้ ผมคิดว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศอาจจะกลายเป็นคนที่มีหมายบังคับคดีก็ได้”

เสกสรรยังกล่าวว่าทางกรมบังคับคดีพยายามช่วยเหลือปัญหาของลูกหนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้ถูกฟ้องและพิพากษาจนกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะผู้ถูกฟ้องจะไม่สามารถถอนเงินในระบบหรือเดินทางออกนอกประเทศได้ รวมถึงการมีบุคคลล้มละลายจำนวนมากย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ตาม “ส่วนของเราถือว่าเป็นปลายน้ำ ดังนั้นวิธีเดียวที่เราสามารถทำได้คือเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ หรือสถาบันการเงินและลูกหนี้ เราทำถึงขนาดว่าพอยึดทรัพย์ ก็ต้องแจ้งความจำเป็นของการไกล่เกลี่ย ส่งกำหนดการ ระยะเวลา สถานที่ ให้ลูกหนี้เข้ามาไกล่เกลี่ย

“เราพยายามสร้างความเข้าใจว่าท่านไม่ใช่ผู้ร้าย ท่านแค่เป็นคนที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินในจังหวะหนึ่ง เพราะฉะนั้นสามารถเข้ามาคุยและเจรจากันได้” เสกสรรให้ความเห็น

แก้ไขจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ แนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย

การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ยั่งยืน รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ตระหนักถึงความจริงข้อนี้

จากการสังเกตพฤติกรรมกู้ยืมและปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน รณดลแสดงความเห็นว่าการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เชิญชวนให้ผู้บริโภคกู้สินเชื่อที่อาจไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จนเป็นหนี้ในเวลาต่อมา

อีกเรื่องหนึ่งคือการกู้สินเชื่อส่วนตัว (Personal Loan) ไปใช้ในแง่ธุรกิจ SMEs เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือเข้าถึงบริการสินเชื่อที่ช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ของสถาบันการเงินไม่ได้ ก็เป็นประเด็นที่ควรจับตามองต่อจากนี้

“การที่หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะบอกว่าไม่แปลก เพราะหลายประเทศ ไม่ว่าสวีเดน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ก็มีตัวเลขที่สูง แต่ประเทศเหล่านั้นยังมีรากฐานแตกต่างกับไทยในเรื่องโครงข่ายรองรับปัญหาทางสังคม (Social Safety Net)” รณดลกล่าว

ความแตกต่างนี้เองทำให้ไม่อาจวางใจเรื่องหนี้ครัวเรือนของไทย และควรสร้างนโยบายแก้ไขอย่างบูรณาการตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ ถึง ‘ปลายน้ำ’

ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน

“ทางแบงก์ชาติเองมีนโยบายดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ เริ่มก่อหนี้ ไปจนถึงเป็นหนี้เสีย” รณดลเล่าในฐานะตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย “ตอนก่อนเป็นหนี้ เราต้องส่งเสริมการให้ความรู้และวินัยทางการเงิน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานพยายามดูแลเรื่องนี้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องทำอย่างบูรณาการกันมากขึ้น”

ตัวอย่างโครงการจากฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 คือโครงการ ‘Fin. ดี we can do!!!’ ซึ่งจัดในกลุ่มเยาวชนอาชีวศึกษา โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนอาชีวะออกแบบและประกวดโครงงานทางการเงินเพื่อใช้ในสถานศึกษาของตนเอง รณดลมองว่าการทำเช่นนี้ช่วยให้นักเรียนอาชีวะส่วนใหญ่ที่มาจากครอบครัวฐานะทางการเงินไม่ค่อยมั่นคงได้เรียนรู้วินัยทางการเงินมากขึ้น

“อีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญคือ First Jobber ตอนนี้เราทำโครงการชื่อ ‘Fin ดี Happy Life’ ร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อสอนให้เหล่า First Jobber เกิดวินัยทางการเงิน” รณดลเอ่ยเสริม

ด้านนโยบายสำหรับช่วงเริ่มก่อหนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยหันกลับมาให้ความสนใจเรื่องการปล่อยสินเชื่อ โดยพยายามผลักดันแนวคิด ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending)’ แก่ทุกสถาบันการเงิน

“ในช่วงที่ผ่านมาเวลาปล่อยสินเชื่อ สถาบันการเงินก็มักจะดูแค่เรื่องของความสามารถในการชำระหนี้ได้ หรือมูลค่าของหลักประกันมีเพียงพอ (Credit Risk) เพื่อให้แน่ใจว่าลูกหนี้จะคืนเงินให้ได้” รณดลอธิบาย “แต่ในแง่ของแบงก์ชาติ เราคิดว่าสถาบันการเงินต้องหันมาดูเรื่อง Affordability Risk ด้วย”

Affordability Risk คือความสามารถในการชำระหนี้ได้และมีเงินเหลือมากพอจะดำรงชีพในระยะยาว โดยไม่เดือดร้อนหรือมีคุณภาพชีวิตแย่ลง ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอให้ใช้วิธีพิจารณาผ่าน Debt service ratio (DSR) หรืออัตราส่วนระบุค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน และพิจารณา Affordability Risk จากพื้นฐานรายได้กับรายจ่ายของลูกหนี้เป็นรายกรณี

รณดลกล่าวว่ามาตรการ Responsible Lending นี้กำลังอยู่ในระหว่างการนิยามเกี่ยวกับ Affordability Risk และการคำนวณ DSR เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของทุกสถาบันการเงิน จากนั้นจึงค่อยพัฒนาเป็นกฎเกณฑ์เรื่องต่างๆ ต่อไป

สำหรับนโยบายส่วนสุดท้ายคือการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้ผ่านโครงการ ‘คลินิกแก้หนี้’ ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560

ปรับโครงสร้างหนี้ผ่านคลินิกแก้หนี้

“โครงการนี้เกิดขึ้นมาเนื่องจากคนมีหนี้บัตรเครดิตเยอะ มีบัตรเครดิตเกิน 2 ใบ ทั้งธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank เกือบ 5 แสนคน เราพบว่าถ้าเขาเป็นหนี้เสียในสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง จะเกิดความลำบากในการเจรจาขอผ่อนปรนหนี้” นิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) เล่าที่มาของคลินิกแก้หนี้ในฐานะผู้ดูแลโครงการ

“เพราะฉะนั้น ทางสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และแบงก์ชาติเลยคิดว่า น่าจะมีหน่วยงานช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรในที่เดียว (one stop service) ทุกธนาคารยอมรับให้คนที่เข้าโครงการผ่อนเงินต้นในอัตราดอกเบี้ยใหม่เพียง 4-7 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี”

การทำงานของคลินิกแก้หนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจากจุดตั้งต้นในปี 2560 มีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมจำนวน 16 แห่ง จนปัจจุบันพัฒนาเครือข่ายไปถึงกลุ่ม Non-Bank อีก 19 แห่ง และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น ต่อให้มีหนี้เสียกับสถาบันการเงินเพียงที่เดียวก็เข้าร่วมโครงการได้ หรือเข้าถึงกลุ่มที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีมากขึ้น

“ทางเราได้ประชาสัมพันธ์ให้ศาลรับทราบโครงการนี้ ทางศาลเองก็มีเจตนาอยากให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ไกล่เกลี่ยกันได้ ดังนั้นพอเรื่องไปถึงศาล ผู้พิพากษาจะถามลูกหนี้ก่อนว่ารู้เรื่องโครงการคลินิกแก้หนี้ไหม ถ้าลูกหนี้ไม่รู้ ท่านจะขยับเวลาตัดสินคดีเพื่อให้มาคุยกับเราก่อน โครงการของเราก็ปรับเงื่อนไขว่าถ้าคนเป็นหนี้ โดนฟ้อง แต่ยังไม่ถูกพิพากษาตัดสินที่เราเรียกว่าคดีดำ ก็ยังสามารถเข้าโครงการได้” นิยตกล่าว

จุดมุ่งหมายของโครงการไม่ใช่การยกเลิกหนี้ แต่เป็นการลดภาระส่วนหนึ่งเพื่อให้คนมีเงินเหลือไปเก็บออมหรือนำไปปลดหนี้นอกระบบ รวมถึงช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกู้ยืมไปพร้อมๆ กัน

“มีรายหนึ่งกู้บัตรเครดิตมา 19 ใบ เพื่อนำไปปล่อยกู้นอกระบบ เพราะได้เงินจากดอกเบี้ยสูง แต่เขาลืมไปว่าการปล่อยกู้นอกระบบ สิ่งสำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ (Connection) กับลูกหนี้ ทุกวันนี้เจ้าหนี้นอกระบบที่อยู่รอดมาได้ เพราะอาศัยตามทวงเงินกันทุกวัน รายนี้อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น ทำให้มีหนี้เสียทั้ง 19 ใบ มูลค่าเกือบ 2 ล้าน” นิยตยกตัวอย่างเคสเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนที่คิดกู้จำนวนมากเพื่อลงทุนธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง

“เราพยายามปรับพฤติกรรมเขาโดยไม่ให้เขาไปก่อหนี้ใหม่ ดังนั้น เงื่อนไขสำหรับคนที่เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้คือคุณไม่สามารถไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบได้เป็นเวลา 5 ปี ในเครดิตบูโรจะเขียนว่าคุณเป็นลูกค้าคลินิกแก้หนี้ เพราะฉะนั้นสถาบันการเงินก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อ  นี่เป็นวิธีการหนึ่งที่เราช่วยสร้างวินัยทางการเงินเพิ่มเติม และให้ความรู้ทางการเงินผ่านการบรรยายให้ฟังด้วย”

นิยตทิ้งท้ายด้วยการยกต้นแบบที่น่าสนใจในประเทศมาเลเซีย คือ หน่วยงาน Agensi Kaunseling dan Pengurusan Kredit หรือ AKPK เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารสภาพคล่องของครัวเรือน ประชาชนสามารถติดต่อขอคำแนะนำเรื่องการวางแผนใช้เงินก้อนใหญ่ เช่น การซื้อบ้านหรือรถยนต์ ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาหนี้จากสินเชื่อทุกรูปแบบ ไม่จำกัดเพียงบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งนิยตให้ความเห็นว่าถ้าประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ จัดตั้งหน่วยงานลักษณะเดียวกัน จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้แบบองค์รวมมากขึ้น

สร้างวินัยการออมพร้อมอำนวยความสะดวก

นอกจากการแก้ปัญหาจากฝ่ายผู้ดูแลเสถียรภาพทางการเงินในภาพใหญ่อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ฝั่งธนาคารพาณิชย์ที่มองเห็นข้อมูลสินเชื่อ พฤติกรรมการกู้ยืม รวมถึงแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง ก็พยายามบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนเช่นเดียวกัน

“เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันมีปัญหาเรื่องกระแสบริโภคนิยม (consumerism) ที่กระตุ้นให้คนไทยซื้อเยอะ จากข้อมูลพบว่าคนเป็นหนี้ก้อนใหญ่อยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) เป็นหลัก ที่เหลือคือสินเชื่อที่อยู่อาศัย (mortgage) เช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อบัตรเครดิต”

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB ธนาคารทหารไทย เปิดเผยข้อมูลโครงสร้างหนี้ครัวเรือนจากการวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทยและ TMB พร้อมเสริมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหนี้เพื่อการบริโภคสูงกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และแน่นอนว่าเมื่อย้อนมองข้อมูลในฝั่งการออมทรัพย์ เรียกได้ว่าอัตราการเติบโตของเงินออมน้อยมากจนไม่อาจเทียบกับการเติบโตของหนี้ครัวเรือน

ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน

“ตัวหนี้ครัวเรือนประมาณร้อยละ 80 ต่อ GDP ที่หลายคนบอกว่ามันสูงมาก ผมต้องบอกว่านั่นเป็นหนี้ขั้นต่ำที่เรามองเห็นเท่านั้น หนี้ครัวเรือนในเมืองไทยจริงๆ สูงกว่านี้หรือไม่ ไม่มีใครรู้ อาจจะถึงร้อยละ 120 หรือ 150 ของ GDP ก็ได้ เพราะมีหนี้นอกระบบ กองทุนหมู่บ้าน เข้าไปรวมด้วย มีหนี้อีกหลายอย่างที่เรายังไม่ได้นับรวม

“ถ้าถามว่าแบงก์มีส่วนกระตุ้นให้ก่อหนี้ไหม แบงก์เองก็มีส่วนครับ เพราะปัจจุบันแบงก์พยายามทำให้การทำธุรกรรมเร็วขึ้น จ่ายง่ายขึ้น แต่ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยการทำให้กลับไปจ่ายยากเหมือนเดิม มันก็คงไม่ใช่ทางออก”

ดร.เบญจรงค์แสดงความเห็นว่าปัจจุบันยังมีคนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อของสถาบันการเงินในระบบ ดังนั้นการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องพัฒนา ขณะเดียวกัน ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่สามารถใช้นโยบายระดับมหภาค (Macro Policy) แก้ไข เพราะอาจทำให้ผลิตภัณฑ์หรือสินเชื่อที่มีประโยชน์ได้รับผลกระทบไปด้วย

“ตัวอย่างเช่น สินเชื่อดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ เราคิดว่ายังมีประโยชน์กับกลุ่มลูกค้าที่จำเป็นต้องใช้จ่ายในบางเรื่อง เช่น เรื่องค่าการรักษาพยาบาล ถ้าเรายกเลิก แล้วทำให้คนที่จำเป็นต้องใช้ไม่สามารถบริหารสภาพคล่องของตัวเองได้ ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงด้านหนึ่งเช่นกัน” ดร.เบญจรงค์กล่าว และเสนอแนะให้กลับมาพิจารณาว่าสินเชื่อประเภทใดไม่จำเป็นต้องให้บริการกู้ด้วยดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ แทนการยกเลิกทั้งหมดในคราวเดียว

“การสร้างสมดุลเรื่องของสินเชื่อ ระหว่างให้คนมาใช้เพื่อบริหารการเงินของตัวเองได้ดีขึ้น กับการพยายามลดคนที่มีหนี้สินล้นตัว เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าต้องลองทำและเรียนรู้ไปด้วยกัน”

ทว่าสิ่งหนึ่งที่ดร.เบญจรงค์ มองว่าเป็นเรื่องสำคัญและควรทำเป็นวงกว้างคือการสร้างความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) แก่ประชาชน

“ทาง TMB หรือธนาคารทหารไทย เริ่มต้นโครงการทำความรู้ด้านการเงินในกลุ่มทหารก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่เราเข้าถึงจากการทำ MOU ร่วมกับกระทรวงกลาโหม ปัจจุบันมีผู้เข้าโครงการประมาณ 20,000- 30,000 ราย” ดร.เบญจรงค์เล่า

จากประสบการณ์ดังกล่าว นำมาสู่การต่อยอดในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างโครงการ ‘คนไทยยุคใหม่…ใส่ใจเรื่องเงิน’ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องการเกิดหนี้เสียในกลุ่มคนอายุน้อย โดยชวนให้นักศึกษาทำกิจกรรมและคุยเรื่องการวางแผนชีวิตในอนาคต

“เราไปคุยกับน้องๆ ว่า การวางแผนชีวิตตั้งแต่วันนี้ถึงอายุ 30 มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวขนาดนั้น ถ้าเขาสามารถประคองสถานะการเงินของตัวเอง ทำงานเก็บออมได้จนถึงอายุ 30 ปี ความฝันทุกอย่างที่เขาอยากมี ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ครอบครัว หรือสร้างธุรกิจของตัวเองที่จำเป็นต้องใช้เงินจะสามารถทำได้ ในขณะที่บางคนทำงาน ไม่เก็บออม นำเงินไปใช้จนเกิดหนี้ แม้จะมีความสุขระหว่างทาง แต่พออายุ 30 จะไม่สามารถเริ่มต้นอะไรได้เลย” ดร.เบญจรงค์

จากการทำโครงการร่วมกับกลุ่มนักศึกษากว่า 2,500 รายใน 30 มหาวิทยาลัย สิ่งที่ดร.เบญจรงค์ค้นพบคือ กลุ่มคนอายุน้อยไม่ได้ใช้จ่ายอย่างไร้วินัยจนทำให้เกิดหนี้ เพียงแต่ไม่มีความรู้เรื่องการจัดการเงินที่มีอยู่อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการออม

“นอกจากนี้ เรายังเจอปัญหาเรื่องการเข้าถึงการออม มีน้องๆ หลายคนบอกว่าผลตอบแทนจากการฝากเงินน้อย เพราะดอกเบี้ยต่ำ อยากเริ่มลงทุน แต่เขาทำไม่ได้ เนื่องจากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ให้ลงทุนได้” ดร.เบญจรงค์เผย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า “มันเป็นไปได้ไหมที่เราสามารถทำผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้คนออมง่ายขึ้น”

“ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยในการออมมากขึ้น จะสร้างแรงจูงใจในพฤติกรรมทางการเงินที่ถูกต้อง” ดร.เบญจรงค์ทิ้งท้ายด้วยความหวังว่าหากในอนาคตมีเทคโนโลยีหรือฟินเทค (fintech) ด้านการออมคงทำให้คนมีแนวโน้มรักการออมยิ่งขึ้น

‘หารายได้  ใช้จ่าย ออม และลงทุน’ วิธีแก้หนี้อย่างสมดุล

ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยจากฝั่งคนทำงานด้านการให้ความรู้ทางการเงินอย่าง จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ประธานมูลนิธิ ‘คนไทยฉลาดการเงิน’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ มันนีโค้ช จำกัด และบริษัท ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์ จำกัด คือคนที่เป็นหนี้นอกระบบไม่ได้เกิดจากการขาดประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการของสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว

“หนี้นอกระบบมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่เข้าถึงสถาบันการเงินไม่ได้ ส่วนกลุ่มที่สองคือคนที่เข้าถึงสถาบันการเงินได้และเข้าจนหมดแล้ว คนเหล่านี้จะพยายามดูแลภาพลักษณ์ ฐานะของตัวเอง ไม่ให้ดูด้อยลง จึงต้องกู้หนี้นอกระบบ เพราะฉะนั้นทุกคนเป็นหนี้นอกระบบได้หมด” จักรพงษ์อธิบาย และเสริมว่านอกจากหนี้นอกระบบ คนยังเป็นหนี้สหกรณ์อีกจำนวนมาก ซึ่งหนี้สหกรณ์มีลักษณะเด่นคือหักจากเงินเดือนโดยทันที ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสได้วางแผนจัดการเงินของตัวเอง อีกทั้งได้รับผลกระทบไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน

ยิ่งไปกว่านั้น “การเป็นหนี้มันไม่ได้ทำร้ายแค่กระเป๋าสตางค์ เวลามันทำร้ายกระเป๋าสตางค์ เราจะรู้สึกว่ากินอยู่ลำบากช่วงหนึ่ง แต่ถ้าตกเป็นหนี้นานๆ มันจะเริ่มทำร้ายความภาคภูมิใจในชีวิต เราจะเริ่มรู้สึกว่ามองหน้าใครไม่ค่อยติด” จักรพงษ์กล่าว

ความเข้าใจผิดอีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับคนเป็นหนี้ คือเป็นกลุ่มคนที่ใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งจักรพงษ์ระบุว่าในความเป็นจริง ยังมีคนที่เป็นหนี้เพราะจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อช่วยเหลือสมาชิกครอบครัว หรือที่เรียกว่าเป็นหนี้อุปถัมภ์ เป็นหนี้เพราะกู้ยืมไปลงทุนทำธุรกิจ และเป็นหนี้จากการค้ำประกันให้ผู้อื่นอีกจำนวนมาก

“ต้องบอกว่าหนี้มาจากหลายมุมหลายมิติมาก ซึ่งผมว่าสินเชื่อเหมือนกับไฟหรือเหมือนมีด คนที่เขาจะหยิบจับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องก็มี”

ดังนั้น จักรพงษ์มองว่าถ้าต้องการให้คนหยิบจับสินเชื่อไปใช้อย่างเหมาะสม ควรเริ่มจากการให้ความรู้ทางการเงิน รู้จักวางแผนและบริหารสภาพคล่องของตนเอง จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘อภินิหารความรู้การเงิน’ ของมูลนิธิคนไทยฉลาดการเงิน

“โครงการอภินิหารความรู้ทางการเงินเป็นโครงการที่ผมทำกับองค์กรทั้งทางราชการและเอกชน เข้าไปให้ความรู้ทางการเงินและแก้ปัญหาหนี้ให้คนในองค์กร เข้าไปในแต่ละองค์กรเดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งเราจะให้ความรู้ทางการเงินแบบครบวงจร ตั้งแต่เมื่อคุณได้เงินมา คุณจะบริหารเงินอย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องนำไปชำระหนี้ จะจัดการความเสี่ยงในอนาคตอย่างไร ไปจนถึงวางแผนตอนเกษียณ

“พอเราทำแบบนี้ เขาจะเห็นภาพวงจรการเงินทั้งชีวิต ไม่ได้เอาตัวรอดผ่านไปแค่วันนี้ แต่เห็นไปถึงข้างหน้าเลยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง” จักรพงษ์เล่ากระบวนการ

หลังจากให้ความรู้ ชวนคิดวางแผนโดยมีทีมงานจากมูลนิธิคอยให้คำปรึกษา ถัดมาคือพัฒนาวินัยการออมผ่านการชักชวนให้ฝากเงินกับธนาคาร สอนเรื่องกองทุนรวมและวิธีลงทุนตราสารหนี้แบบความเสี่ยงต่ำ หารายได้เพิ่มผ่านการตลาดออนไลน์ สุดท้ายจึงชี้ให้เห็นตัวเลขเงินเก็บที่ควรมีในวัยเกษียณ

“คนที่เคยเชื่อว่าเดี๋ยวแก้หนี้ได้ก่อนแล้วจะออม ผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เขามีแนวโน้มจะเป็นหนี้ไปจนถึงตอนเกษียณ ดังนั้น วิธีที่ถูกต้องคือ ระหว่างเป็นหนี้ แทนที่จะเอาเงินมาชำระหนี้ทั้งหมด เราควรแบ่งจ่ายหนี้ แบ่งเงินเก็บ และแบ่งมาใช้จ่ายให้ตัวเองสักเล็กน้อย จะได้มีกำลังใจในการเดินหน้าต่อ” จักรพงษ์เสนอ

“คำว่า ความรู้ทางการเงิน (money literacy) ไม่ใช่แค่เรื่องแก้หนี้อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการหารายได้  ใช้จ่าย ออม และลงทุน ต้องครบทั้ง 4 ด้าน หากไม่ครบก็ไม่สมดุล และจะแก้ปัญหาไม่ได้”

ผลลัพธ์จากการทำโครงการอภินิหารความรู้ทางการเงิน คือแผนต่อยอดไปสู่โครงการ ‘วางแผนการเงินตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน’ ซึ่งกำลังจะเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“ผมเชื่อว่าเราถูกสอนเรื่องเกษียณอย่างผิดๆ ไปเริ่มวางแผนตอนช่วงอายุ 50-55 ปี ซึ่งแน่นอนว่าไม่ทัน เพราะฉะนั้นเราต้องวางแผนเกษียณตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน” จักรพงษ์เล่า “เราจึงไปทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล (HR) ขององค์กรต่างๆ สอนเรื่องการวางแผนการเงินทั้งระบบและทำเป็นหลักสูตรให้ฟรี ตั้งแต่การบริหารเงินที่ได้มา การทำงบการเงิน การวางแผนการเงินเมื่อมีความจำเป็นต้องซื้อสินทรัพย์ใหญ่ในชีวิต เช่น บ้านหรือรถ การวางแผนรับมือความเสี่ยงและการเก็บเงินสำหรับตอนเกษียณ หลักสูตรเหล่านี้เราจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสวัสดิการของแต่ละองค์กรอีกด้วย”

อีกโครงการหนึ่งเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่คือแผนสร้างหลักสูตรความรู้ทางการเงินในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งจักรพงษ์เป็นอาจารย์พิเศษ

“ผมเชื่อว่าเราควรสอนเด็กๆ ให้รู้จักวินัยทางการเงิน วันนี้สิ่งที่เด็กขาดไปคือเรื่องสำนึกทางการเงิน (monetary sense) เด็กยุคใหม่ไม่ได้ถูกสอนเรื่องคุณค่าของเงิน ใช้จ่ายอย่างประหยัด หรือการคิดถึงวันข้างหน้า แต่ถ้าสอนเด็กที่เล็กเกินไปจะไม่เกิดผล นั่นเป็นเหตุให้เราเลือกย้อนกลับมาสอนคนวัย First Jobber เพื่อที่วันหนึ่ง เมื่อเขามีลูก เขาจะได้กลับมาสอนลูก” จักรพงษ์ให้ความเห็นปิดท้าย

ปลดหนี้เกษตรกรไทยด้วยความเข้าใจ

ผมคิดว่าถ้าเราจะก้าวไปข้างหน้า ก็ควรเหลียวหลังกลับมาดูความเป็นอยู่ในภาคการเกษตรและสถาบันการเงินเฉพาะกิจสักเล็กน้อย”

สมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เกริ่นนำ ก่อนเล่าถึงปัญหาในวงเกษตรกรที่ธ.ก.ส. ดูแลอยู่ว่านอกจากปัญหาเรื่องหนี้ระยะยาว ประเทศไทยยังขาดเกษตรกรรุ่นใหม่มารับช่วงต่อจากพ่อแม่ที่เข้าสู่วัยสมควรเกษียณ

“เวลาเราถามพี่น้องเกษตรกรว่าท่านใดที่คิดจะให้ลูกมาทำการเกษตร ยกมือขึ้น ปรากฏว่าเงียบกริบครับ ปัจจุบันกลายเป็นว่าส่งให้เรียนเพื่อไปเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือข้าราชการ เราจึงต้องหันมาช่วยสร้างทายาทเกษตรกรมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น” สมเกียรติกล่าว

ด้านแผนการขับเคลื่อนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแก่เกษตรกรของ ธ.ก.ส. สมเกียรติระบุว่าประกอบด้วยเครื่องยนต์ 4 ตัวหลัก สำหรับเครื่องยนต์ตัวแรกคือการสร้างเครือข่ายลูกค้าเกษตรกรเพื่อแบ่งปันภูมิปัญญาทางอาชีพ และเติมความรู้ทางการเงิน โดยทาง ธ.ก.ส. จำแนกลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้ความรู้และแนะนำผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม

“ลูกค้ากลุ่มแรกเรียกว่า Small เป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านเงินทุน และการประกอบอาชีพ เป็นกลุ่มที่ต้องฟูมฟักให้เกิดความเข้มแข็ง เน้นให้ความรู้เรื่องพื้นฐานอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงช่วยจัดการหนี้นอกระบบ” สมเกียรติอธิบาย “กลุ่มที่สองคือกลุ่ม Smart เป็นลูกค้าทั่วไปหรือทายาทเกษตรกรในอนาคต ถือว่าเป็นกลุ่มที่กำลังพัฒนาไปเป็นกลุ่มที่สาม คือ SMAEs หรือกลุ่มผู้ประกอบการ”

หลังเติมความรู้ทางการเงินให้ลูกค้าทั้ง 3 กลุ่ม เครื่องยนต์ตัวถัดมาที่ต้องเร่งขับเคลื่อนคือการสร้างภูมิคุ้มกันในการจัดการความเสี่ยงและวินัยการออม สมเกียรติเล่าว่า ธ.ก.ส. ใช้วิธีชักชวนเกษตรกรเข้าสู่ระบบประกันภัย ทั้งประกันข้าว ข้าวโพด โคนม และลำไย เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต และออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยออมเงินของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

“เราพยายามสร้างผลิตภัณฑ์โดยดูจากพฤติกรรมของคน ในกลุ่ม Small ซึ่งมักเอาเงินไปซื้อหวย เราก็มีผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่าสลากออมทรัพย์ยั่งยืน ออมทุกเดือน ลุ้นเงินรางวัล 2 ล้านบาท มีดอกเบี้ยเงินฝาก เขาเห็นแบบนี้ก็หันมาออมกับเรามากขึ้น ส่วนกลุ่ม Smart เรามีสลากชื่อว่าสลากมั่นคง ซึ่งลุ้นรางวัลเช่นกัน และกลุ่ม SMAEs มีผลิตภัณฑ์ชื่อสลากมั่งคั่ง” สมเกียรติชี้แจง

“สำหรับเกษตรกรที่ต้องการวางแผนเกษียณ เราก็ให้เขาร่วมออมกับกองทุนทวีสุข หากว่าถึงบั้นปลาย ยกงานให้ลูกรับช่วงต่อ เขาจะได้มีเงินส่วนนี้เป็นเหมือนบำเหน็จบำนาญให้ตัวเอง”

เครื่องยนต์ตัวที่ 3 ซึ่งสมเกียรติออกความเห็นว่าเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ที่สุดสำหรับภาคการเกษตร คือการสร้างช่องทางตลาดให้กับเกษตรกร ตัวอย่างโครงการที่เริ่มทำไปแล้ว ได้แก่ โครงการ 459 หรือตลาดขนาดเล็กสำหรับขายผลิตผลที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน และเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการนำผลผลิตไปขายยังธุรกิจค้าปลีก (modern trade) อื่นๆ

“459 เป็นโครงการที่ทำให้เกษตรกรตระหนักรู้เรื่องลดการใช้สารเคมี ใช้การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และผลิตเพื่อส่งออกในมาตรฐานเดียวกับของที่ใช้กินเอง เพราะก่อนหน้านี้หากส่งขาย จะเน้นให้ผลิตผลดูมีสีสันสวยงาม ถ้าไว้กินเองจะเน้นเรื่องความปลอดภัย ในตอนนี้เราพยายามทำให้ความคิดเหล่านั้นเปลี่ยนไป”

สมเกียรติยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากโครงการ 459 ยังมีเว็บไซต์ A Farm Mart เป็นแพลตฟอร์มให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs เกษตรและวิสาหกิจชุมชนเข้ามาค้าขายผลิตภัณฑ์บนโลกออนไลน์อีกด้วย

ด้านเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายของ ธ.ก.ส. คือการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เข้ามาร่วมกำหนดตารางการชำระหนี้ที่เหมาะสมกับรายได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีประวัติไม่ดี

“ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ในภาคเกษตรจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เกิดจากความเข้าอกเข้าใจเกษตรกร และเน้นการพัฒนาธุรกิจชุมชนเป็นพื้นฐานสำคัญ” สมเกียรติฝากคำพูดไว้เป็นการปิดงานเสวนา

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save