fbpx
มาตรฐาน ICCS กับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย : เริ่มต้นอย่างไร และเราเรียนรู้อะไรจากมาตรฐานระดับโลก

มาตรฐาน ICCS กับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย : เริ่มต้นอย่างไร และเราเรียนรู้อะไรจากมาตรฐานระดับโลก

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

ในยุคที่อาชญากรรมเต็มไปด้วยความซับซ้อนและท้าทาย การเก็บสถิติอาชญากรรมเพื่อจัดทำนโยบายป้องกันและปราบปราม รวมถึงนำสถิติมาเปรียบเทียบเพื่อเรียนรู้กับประเทศอื่นนับเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัญหาที่พบคือ แต่ละประเทศต่างมีวิธีการจัดเก็บ และมีนิยามความผิดแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันได้ คล้ายกำลังพูดจาคนละภาษากฎหมายกัน

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีความพยายามในการหามาตรฐานเพื่อให้แต่ละประเทศสามารถนำมาข้อมูลมาเปรียบเทียบกันได้ เป็นที่มาของ ‘มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการจำแนกประเภทอาชญากรรมเพื่อประโยชน์ทางสถิติ’ (International Crime Classification for Statistical Purposes – ICCS) ที่จัดทำและพัฒนาขึ้นโดย สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ถือเป็นมาตรฐานที่จะมาช่วยรวบรวมการกระทำที่เป็น ‘อาชญากรรม’ ทุกลักษณะ นำมาจัดจำแนกประเภทและกำหนดรหัสกลาง เพื่อให้ประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติสามารถใช้อ้างอิงในการบันทึก และรายงานสถิติอาชญากรรมในรูปแบบที่สอดคล้องและเปรียบเทียบกันได้

ทั้งนี้ ด้วยลักษณะของมาตรฐาน ICCS ที่เก็บข้อมูลและนิยามตามลักษณะความผิด ไม่ได้อิงกับมาตรากฎหมาย ทำให้นักกฎหมายหรือผู้ที่คุ้นชินกับการบันทึกข้อมูลความผิดอาญา แบบยึดโยงอยู่กับเลขมาตราตามประมวลกฎหมายของไทย อาจต้องเจอกับความท้าทายในการใช้งาน โจทย์สำคัญต่อไปจึงอยู่ที่ว่า เราจะเริ่มต้นใช้งานมาตรฐาน ICCS อย่างไร และจะนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง

จากงานเสวนาวิชาการ ‘มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการจำแนกประเภทอาชญากรรมเพื่อประโยชน์ทางสถิติ กับการบูรณาการข้อมูลและการพัฒนางานยุติธรรม’ จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้มีการบรรยายและเสวนาจากวิทยากรหลายภาคส่วน เกี่ยวกับการนำมาตรฐาน ICCS ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม รวมถึงมีการอธิบายระบบการใช้งานมาตรฐาน ICCS ที่ TIJ พัฒนาขึ้นมา รวมถึงการนำเสนอมาตรฐาน ICCS ฉบับภาษาไทย เพื่อให้ทั้งนักกฎหมาย ผู้เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และสาธารณชนได้ร่วมเรียนรู้ถึงมาตรฐานนี้

 

 

มาตรฐาน ICCS กับการบูรณาการข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม

 

หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจของงานคือ การเสวนาเรื่อง ‘การบูรณาการมาตรฐาน ICCS กับการเก็บข้อมูลและการพัฒนางานในกระบวนการยุติธรรม’ ซึ่งมีวิทยากรร่วมเสวนาทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม คุณอุษา จั่นพลอย บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ คุณสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ สถาบัน Change Fusion โดยมี ดร.ปราโมทย์ เสริมศีลธรรม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

อย่างที่มีการพูดกันว่า การใช้มาตรฐาน ICCS ควรจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เล่าเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมว่า หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงยุติธรรมมีการเก็บข้อมูลกันอยู่ ตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเป็นสำคัญ ซึ่งมาตรฐาน ICCS น่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น และเห็นปัญหาได้คมชัดขึ้น

ดร.พิเศษ กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมใช้การเก็บสถิติโดยอิงกับกรอบกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน โดยการเก็บสถิติอาชญากรรมเช่นที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน มีข้อจำกัดคือไม่สามาถทราบถึงรายละเอียดของอาชญากรรมในเชิงลึก กล่าวคือ ในสำนวนคดีความผิดอาจมีรายละเอียดมาตรากฎหมายและพฤติการณ์การกระทำความผิดอย่างชัดเจน แต่เมื่อส่งตัวผู้ที่ผ่านกระบวนการพิจารณาคดีแล้วมาที่หน่วยงานปลายทางในกระทรวงยุติธรรม เช่น กรมราชทัณฑ์ หรือกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน อาจมีการแบ่งประเภทบุคคลนั้นๆ ไว้ว่าเขากระทำความผิดอะไร โดยแบ่งแบบกว้างๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งพอสรุปเป็นตารางตัวเลขสถิติออกมา จะทำให้ไม่รู้รายละเอียดของพฤติการณ์การกระทำความผิด อันเป็นประโยชน์เชิงนโยบายต่อการออกกฎหมายเพื่อป้องกันพฤติการณ์ความผิดนั้นๆ ที่สำคัญคือการนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีจะทำได้ยาก ถ้ากฎหมายไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดมาตราอะไร

 

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

 

 

ด้วยเหตุที่ว่ามา มาตรฐาน ICCS จึงจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดย ดร.พิเศษ ได้กล่าวถึงข้อดีของ ICCS ว่า เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเอาความผิดที่เคยถูกแบ่งประเภทในบริบทของกรอบการทำงานที่แตกต่าง ทั้งในระดับหน่วยงาน และในระดับประเทศ โดยบางประเทศอาจกำหนดรายละเอียดของความผิดที่ซับซ้อน ทำให้เปรียบเทียบกับอีกประเทศที่มีบริบทในการกระทำความผิดต่างกันได้ยาก แต่ถ้าเรามี ICCS เป็นเครื่องมือ และหลายๆ ประเทศยึดเป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อว่าจะทำให้สามารถเปรียบเทียบและสร้างความเข้าใจบริบทที่ลึกซึ้งของความผิดอาญาในแต่ละประเทศได้

 

 

ทั้งนี้ ดร.พิเศษ ให้คำแนะนำในการนำมาตรฐาน ICCS ไปใช้ว่า ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าอะไรจะจับคู่ (Match) กับอะไร โดยนำกลไกทางวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยก่อน แล้วจึงให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการต่อ เพื่อจะลดกระบวนการในการแปลง (Convert) ข้อมูล

นอกจากเรื่องการใช้งานแล้ว ดร.พิเศษยังกล่าวถึงความท้าทายของการใช้ ICCS ก็คือเรื่องทัศนคติ (Mindset) ของผู้ใช้ ซึ่งเป็นทั้งปัจจัยความสำเร็จและอุปสรรคในการนำมาตรฐาน ICCS ไปปรับใช้ เนื่องจากคนทั่วไปมักจะมีภาพจำว่า สถิติเป็นเรื่องละเอียด ต้องรอบคอบ ใช้เวลาเก็บนานและยุ่งยาก แล้วเมื่อมี ICCS เข้ามา แน่นอนว่าต้องแก้ระบบใหม่ นอกจากนี้แต่ละหน่วยงานยังมีความคาดหวังจากการใช้ ICCS ไม่เหมือนกันด้วย

ดร.พิเศษ ยกตัวอย่างว่า สถิติบางชุดเป็นข้อมูลสำหรับผู้กำหนดนโยบายที่ใช้ตัดสินใจสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงาน ซึ่งถ้าตัวเลขสถิติไม่ค่อยดี อาจมองได้ว่า เป็นทั้งปัญหาที่เกินเยียวยาและต้องการงบประมาณเพิ่มเติม หรือมองได้ว่าให้งบประมาณไปมาก แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขก็เป็นได้ ซึ่งนี่เป็นนัยยะทางการเมืองแบบหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวข้อมูลสถิติ และเราจำเป็นจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ดร.พิเศษ ได้เสนอทางแก้ปัญหาเอาไว้ว่า เราอาจต้องมุ่งใช้สถิติในรูปแบบที่ต่างออกไป จากเดิมที่เคยใช้เพื่อสะท้อนผลการปฏิบัติงาน (Performance) ซึ่งกระทบกับผู้ปฏิบัติงานโดยตรง และอาจทำให้เกิดความท้าทายและแรงต้านโดยไม่จำเป็น แต่ถ้านำสถิติไปใช้ในการทำงานด้านอื่น เช่น การพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดเพื่อบริหารจัดการต้นทุน เป็นการลงทุนทางสังคมแบบใหม่ อาจเป็นการเปลี่ยนบริบทสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และทำให้สถิติเป็นตัวช่วยมากกว่าตัวฟ้องที่จะนำมาเอาผิดผู้ปฏิบัติงาน

“อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่ายุ่งยาก และเป็นเรื่องโครงสร้างคือ นโยบายทางอาญาในไทยไม่ค่อยมีทิศทางที่ชัดเจน ทำให้เราไม่สามารถตอบได้ว่า เราจะนำองค์ความรู้ที่ประมวลได้จากสถิติไปตอบคำถามอะไร เราต้องกลัดกระดุมใหม่ให้ถูกต้อง โดยกระดุมเม็ดแรกต้องตั้งคำถามว่า เราอยากรู้อะไร จึงจะออกแบบระบบสถิติเพื่อเลือกเครื่องมือไปใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกหน่วยงานภาครัฐต้องทำทุกฐานความผิด แต่เราต้องจัดลำดับความสำคัญและต้องตั้งคำถามว่า นโยบายต้องการจะรู้อะไร”

“แต่ถ้าเราอยู่ในสภาพการณ์แบบทำงานไปวันๆ ไม่มีธงที่ชัดเจนว่าเป้าหมายจะไปทางไหน ก็เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่า งั้นมาลงทุนเรื่อง ICCS เพิ่มกันเถอะ เราต้องเป็นกระบอกเสียงให้ข้อมูล เพื่อนำไปสู่การออกนโยบาย ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราปรับได้สำเร็จ จะก่อให้เกิดผลที่ยั่งยืน และมีผลกระทบด้านบวกในหลายแวดวง รวมถึงสามารถใช้ตอบคำถามที่ใหญ่กว่าเรื่องกระบวนการยุติธรรม คือเรื่องความยุติธรรม นโยบายสังคม และความยากจน สถิติจะช่วยเราในเรื่องพวกนี้ได้ ถ้าเราเข้าใจว่าคนที่กระทำความผิดไม่มีทางเลือก จะช่วยเปลี่ยนวาทกรรมในสังคมได้ แต่ขอให้เราเริ่มต้นจากการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกเสียก่อน”

 

มาตรฐาน ICCS กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

 

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว อีกหนึ่งความสำคัญคือการนำข้อมูลสถิติที่ได้ไปพัฒนาต่อ โดย อุษา จั่นพลอย บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้กล่าวถึงการนำข้อมูลทางสถิติไปช่วยพัฒนาหรือประสานแผนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

 

คุณอุษา จั่นพลอย บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม

 

“ปัจจุบัน เราพูดถึงเป้าหมายที่ 16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก) กันมากว่าจะทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดลงมาเป็นการพัฒนาในระดับประเทศทุกเรื่องแล้ว SDGs เลยเกี่ยวข้องกับทุกเป้าหมาย และเป็นเหมือนป้อมใหญ่ที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในระดับโลกและระดับชาติไปพร้อมกัน”

อุษา กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงการพัฒนา เรามักจะให้นิยามว่าเป็นการทำให้ดีขึ้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราพัฒนามาถูกทาง และการพัฒนานั้นเป็นการพัฒนาที่ดี เธอบอกว่าทั้งหมดนี้จะถูกวัดโดยใช้ตัวชี้วัดบางประการ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ แผนการพัฒนาประเทศของประเทศไทย หรือ SDGs ล้วนมีตัวชี้วัดที่คล้ายกันคือ จะทำอย่างไรให้ชีวิตคนปลอดภัย สงบสุข และเข้าถึงความยุติธรรมได้มากขึ้น

“คำถามสำคัญคือ ICCS จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้ดูจะเป็นประโยชน์กับภาครัฐมากกว่า และการนำไปปฏิบัติก็ยากด้วย เพราะคนที่ศึกษากฎหมายหรือทำงานด้านกฎหมาย จะคุ้นชินกับการเก็บข้อมูลแบบผูกติดไว้กับตัวเลขมาตรา เราไม่ชินกับการบอกว่า พฤติกรรมนี้คืออะไร ใครกระทำความผิด และใครได้รับความเสียหายบ้าง”

นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลของภาครัฐยังไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยการปรับตัวและการใช้เทคโนโลยี รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้เพียงพอ ฉะนั้นจึงไม่ใช่แค่การเก็บสถิติ แต่เป็นการเผยแพร่ความรู้ออกไป โดยภาครัฐและภาคประชาชนจะต้องพัฒนาไปพร้อมกัน อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด

“ถ้าถามว่า ประเด็นการพัฒนาในแต่ละเรื่องจะทำให้ยั่งยืนอย่างไร เราอาจต้องอาศัยการปรับกระบวนทัศน์ในการทำงานของภาครัฐด้วย บางปัญหาเมื่อสิบปีที่แล้วเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่แบบนั้น ไม่ใช่ว่าคนไทยเราไม่เก่งในการแก้ปัญหา แต่เราไม่รู้ว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับอะไร พฤติกรรมการกระทำผิดแบบไหน แล้วสถานการณ์เกิดอาชญากรรมจริงๆ เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เช่น เรารู้ว่าคดีที่มีมากที่สุดในโรงพักคือคดีฉ้อโกง แต่เรารู้ไหมว่าการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นเป็นแบบไหน

“เมื่อเราไม่รู้ว่ากำลังเผชิญกับสถานการณ์แบบไหน ทิศทางการพัฒนาของเราจึงบิดเบี้ยว และทำให้การป้องกันตนเองของเราบิดเบี้ยวตามไปด้วย แต่ถ้าเราสามารถติดแท็ก (tags) ของ ICCS ได้ทุกอัน อาจจะช่วยให้ประชาชนรู้ข้อมูลและสามารถป้องกันตนเองจากอาชญากรรม ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดได้ดียิ่งขึ้น และยังก่อให้เกิดการตระหนักรู้ (awareness) ในภาคประชาชนด้วย หากเราตระหนักถึงรายละเอียดพฤติการณ์อาชญากรรมว่าเป็นพื้นที่ใด เกิดช่วงเวลาใด กับคนกลุ่มอายุใดมากที่สุด กลุ่มที่มีความเสี่ยงดังที่ติดแท็กไว้จะเกิดความระมัดระวังตัวมากขึ้น”

 

มาตฐาน ICCS กับการวางรากฐานข้อมูลสถิติและ Open Data ในกระบวนการยุติธรรม

 

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

“ถ้ามองในแง่กฎหมาย สถิติสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้น ตอนที่ผมเรียนอยู่สหรัฐอเมริกา เราเคยค้นพบว่า สถิติการตัดสินคดีประเภทเดียวกันของศาลระหว่างคนผิวสีกับคนผิวขาวจะมีความแตกต่างกัน โดยคนผิวสีจะเสียเปรียบกว่า อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าผู้พิพากษาตัดสินคดีในช่วงบ่าย เขาจะตัดสินแตกต่างจากในช่วงเช้า เราอาจคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นไปไม่ได้ แต่ข้อมูลทางสถิติทำให้เรามองเห็นตรงนี้”

“แต่พอผมเรียนจบและกลับมาทำงานที่ไทยนี่ตันเลย เพราะเราไม่มีข้อมูลสถิติ หรือถ้ามีก็ไม่เปิดเผย ด้วยเหตุนี้ ICCS จึงเป็นมาตรฐานที่ดีมาก เนื่องจากการจะทำได้ ต้องมีข้อมูลฐานที่เท่ากัน ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ทั้งหมด แต่คดีความต้องเหมือนกัน มิฉะนั้นจะเปรียบเทียบกันไม่ได้”

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงประโยชน์ของการนำมาตรฐาน ICCS มาใช้ในการพัฒนาต่อยอด หรือเอาไปทำวิจัยต่อ

“สิ่งที่ผมชื่นชอบมากที่สุดใน ICCS คือ ความพยายามในการจัดประเภทของคดี ที่แบ่งว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง มีพฤติกรรมร่วมอะไรไหม อะไรเป็นตัวแปรที่เกี่ยวกับผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิด ตรงนี้จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาของประเทศได้ดี และเชื่อมโยงไปยังนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ได้”

เพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น ดร.นณริฏ ยกตัวอย่างว่า เมื่อเกิดคดีขึ้นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สัญชาติของผู้เสียหายจะโยงกับเรื่องการท่องเที่ยว ถ้าเราต้องการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว เราอาจนำสถิติมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้นได้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือเรื่องของผู้สูงอายุ โดยพบว่าผู้สูงอายุในไทยมักยอมรับผิดในคดีต่างๆ แทนลูกหลาน เพราะคิดว่าลูกของตนสามารถดูแลหลาน และทำงานส่งตัวเองได้ จึงเลือกที่จะยอมติดคุกแทน ซึ่งถ้าเราเห็นสถิติที่ชี้ชัดออกมาแบบนี้ เราก็จะสามารถออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาได้

“ในต่างประเทศจะมี Crime zone คือบอกได้ว่าโซนไหน เวลาไหน มีอาชญากรรมเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้จะโยงไปถึงเรื่องที่ว่า ตำรวจจะเข้ามาตรวจตรามากกว่าปกติไหมด้วย นี่จะช่วยให้กระบวนการดีขึ้น และนำมาประยุกต์ใช้ได้เยอะ” ดร.นณริฏ ทิ้งท้าย

ด้าน สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ สถาบัน Change Fusion ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า ICCS จะสามารถเข้ามาช่วยในเรื่อง Open Data หรือ Big Data และจะนำไปสู่เรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร

“สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ICCS คือข้อมูลแต่ละก้อนเป็นก้อนใหญ่ที่เหมือนจะมีก้อนเล็กเสริมอยู่ มีข้อมูลบางประเภท เช่น ภูมิศาสตร์หรือที่ตั้ง ข้อมูลคดี ข้อมูลเหตุการณ์ ว่าความผิดที่เชื่อมกันอยู่ตรงไหน รวมถึงเรื่องอายุ สัญชาติ ถ้าเรามีข้อมูลตรงนี้ เราจะต่อยอดเอาไปทำอะไรได้เยอะมาก อีกอย่างหนึ่งคือ ข้อมูลจริงจะลงรายละเอียด ซึ่งเราจะสามารถนำไปวิเคราะห์และทำความเข้าใจได้ เช่น การทุจริต (Corruption) จะแบ่งเป็นการติดสินบน (Bribery) หรือการทุจริตต่อหน้าที่ (Abuse of function) และยังบอกนิยามด้วยว่า การทุจริตรวมการกระทำอะไร ไม่รวมอะไรอย่างชัดเจน”

“ส่วนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เราอาจจะมีฐานข้อมูลเปิด เช่น เรื่องอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ ว่าจุดที่มีอุบัติเหตุอยู่ตรงไหน เวลาใดที่มีการเสียชีวิตมากที่สุด เพราะอะไร ตรงนี้ประชาชนหรือเครือข่ายที่ทำงานอยู่อาจเข้ามาช่วยดูได้ว่า ข้อมูลนี้ถูกหรือผิด และมีข้อแนะนำอะไรบ้าง”

 

คุณสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ สถาบัน Change Fusion

 

 

สุนิตย์ยังได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของเขา ตอนไปลงพื้นที่ร่วมกับโครงการอื่นของ TIJ ที่จังหวัดระยอง ว่าได้เจอพื้นที่สะพานข้ามแยก ซึ่งพอข้ามสะพานไปแล้วจะเป็นการกลับรถ ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยมาก แต่ถ้าข้ามมาแล้ว มีที่ปักหรือที่กั้นไม่ให้กลับรถ ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ ทั้งนี้ ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และถ้ามีข้อมูลที่จัดระบบดี ก็จะช่วยให้เราเข้าใจรูปแบบ และอาจนำไปสู่การป้องกันหรือการบริหารจัดการร่วมกัน

“ในไทย เรามีสิ่งที่เรียกว่าแนวร่วมรัฐเปิด (Open Government Partnership) ซึ่งเป็นระบบ Open Data หรือระบบมาตรฐานข้อมูลระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าเราเข้าไปทำแล้วนำข้อมูลเชิงยุติธรรมมาเป็นเสาหลักอันหนึ่ง ก็อาจจะช่วยตอนทำแผนของประเทศได้” สุนิตย์กล่าว พร้อมทั้งปิดท้ายว่า ICCS สามารถเป็นรากฐานหลักอันหนึ่งที่จะทำให้เรื่อง Open Data เพื่อความยุติธรรมเกิดขึ้นได้จริง

 

ประเทศไทยกับมาตรฐาน ICCS : เราจะเริ่มต้นได้อย่างไร?

 

“เมื่อฟังมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงเกิดคำถามว่า แล้วจะให้เริ่มตรงไหน ทำงานอย่างไร จึงจะสามารถปรับให้มีการใช้งานการเก็บข้อมูลในระบบของ ICCS ได้”

สุดารักษ์ สุวรรณานนท์ หัวหน้ากลุ่มโครงการพัฒนาข้อมูลสถิติเพื่อการวิจัยและนโยบาย กล่าวนำในช่วงท้ายของการเสวนา ซึ่งเป็นช่วงสาธิตการใช้งาน ICCS ด้วยระบบที่ TIJ พัฒนาขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นภาพที่เป็นรูปธรรม และเข้าใจการใช้งานมากขึ้น

“ต้องบอกก่อนว่า คำอธิบายของ ICCS อาจไม่ตรงกับมาตราตามกฎหมายอาญาของไทย ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับคนที่คุ้นเคยกับการเก็บข้อมูลฝั่งกฎหมาย แต่ก็เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่อาจไม่ใช่นักกฎหมายโดยตรง เพราะการทำความเข้าใจมาตรฐาน ICCS จะมีนิยามชัดเจน ไม่ได้อิงภาษากฎหมาย และยังมีการติดแท็กที่ช่วยให้ข้อมูลมีความครบถ้วนมากขึ้น คำถามคือ ถ้าเราอยากทำตามมาตรฐาน ICCS จริงๆ เราจะทำได้มากน้อยแค่ไหน”

มาตรฐาน ICCS ถูกออกแบบมาเพื่อเก็บสถิติอาชญากรรมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด เรื่องอะไร จะต้องสามารถจัดลงใน 11 หมวดได้ โดยสุดารักษ์อธิบายว่า ในทั้ง 11 หมวด จะมีรหัสที่ลงท้ายด้วยหลัก 9 ที่ระบุว่า เป็นความผิดลักษณะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับหมวดนี้ ซึ่งถ้าหากความผิดดังกล่าวไม่สามารถจัดลงในรหัสที่ผ่านมาในหมวดนั้นๆ ก็สามารถจัดลงในรหัสที่ลงท้ายด้วย 9 นี้ได้

“หมวดที่เราอาจมีปัญหาคือเรื่องยาเสพติด เพราะปกติ ICCS จะสนใจแค่ว่า ลักษณะความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดมีไว้เพื่อเสพเอง เพื่อขาย หรือเพื่อจำหน่าย แต่จะไม่สนใจประเภท เพราะแต่ละประเทศจะจัดประเภทของยาเสพติดต่างกัน ICCS จึงไม่ได้บรรจุตรงนี้ไว้ เราจึงถามว่า แล้วถ้าต้องการให้บรรจุเรื่องประเภทไว้ พอจะทำได้ไหม ผู้เชี่ยวชาญจาก UN ตอบว่า คุณสามารถเพิ่มหลักตัวเลขไปได้เลย ที่เราคุยกันว่าจะมี 4 หลัก 5 หลัก หรือ 6 หลัก คุณจะเพิ่มเป็น 7 หลักก็ได้”

“บางคนอาจจะมีคำถามว่ารหัส 6 หลักที่กำหนด มันต้องการรายละเอียดมากเกินไปหรือไม่ ต้องแจ้งก่อนว่า ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นรหัส 6 หลัก รหัส 6 หลักคือความละเอียดที่สุด แต่ถ้าไม่มี จะถอยมาที่ 5 หรือ 4 หลักก็ได้ นี่เป็นความยืดหยุ่นที่สหประชาชาติอนุญาต

 

สุดารักษ์ สุวรรณานนท์ หัวหน้ากลุ่มโครงการพัฒนาข้อมูลสถิติเพื่อการวิจัยและนโยบาย

 

สำหรับการเริ่มใช้มาตรฐาน ICCS สุดารักษ์กล่าวว่า จากการประชุมในประเทศต่างๆ ที่จะเริ่มใช้มาตรฐานนี้ ทำให้ได้กลุ่มประเทศออกมา 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือ กลุ่มประเทศที่ไม่เคยมีระบบการเก็บสถิติอาชญากรรมเป็นของตัวเองมาก่อน ดังนั้น การเก็บสถิติอาชญากรรมจะเริ่มเก็บแบบ ICCS เลย กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่มีระบบของตนเองอยู่แล้ว และเป็นระบบที่ค่อนข้างดี เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี จึงขอแปลง (Convert) สถิติของประเทศตนให้เป็นไปตาม ICCS โดยใช้เพียงเทคโนโลยีกับเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนเท่านั้น ขณะที่ประเทศกลุ่มสุดท้าย ซึ่งมีจำนวนเยอะที่สุด คือประเทศที่มีระบบการเก็บสถิติของตนเองอยู่แล้ว แต่ระบบการเก็บอาจไม่ดีนัก และต้องการเก็บสถิติตาม ICCS ด้วย ซึ่งต้องมีการเก็บควบคู่กันไป

สำหรับระบบการใช้งาน ICCS ที่ทาง TIJ พัฒนาขึ้นมา เป็นระบบค้นหาที่จะช่วยย่นระยะเวลาให้ผู้ใช้อย่างมาก แต่มีข้อจำกัดคือ ถ้าหน่วยงานที่ต้องการแปลงรหัสเก็บข้อมูลไม่ละเอียดพอ จะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้น เช่น เก็บเป็นกลุ่มความผิดตาม พ.ร.บ.บางอย่าง ที่รวมเอาการกระทำผิดหลายลักษณะไว้ ซึ่งสุดารักษ์แนะนำว่า เจ้าหน้าที่ผู้แปลงข้อมูลจะต้องทราบว่า รหัสของหน่วยงานตนหมายความว่าอะไรกันแน่ และจะต้องตัดสินใจให้เหมือนกันทั้งหน่วยงานด้วย เพราะหากยังตัดสินใจไม่เหมือนกันอยู่ ข้อมูลก็จะมีปัญหาเหมือนเดิม

“พอกลับไปที่คำถามว่า จะใช้วิธีไหนในการแปลงข้อมูล ต้องบอกก่อนว่า สภาพข้อมูลของไทย จัดอยู่ในประเทศกลุ่มสุดท้าย คือมีระบบของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ละเอียดพอหรือมีมาตรฐานที่สามารถใช้ด้วยกันได้ทั้งประเทศ ดังนั้นเราอาจต้องเก็บข้อมูลแบบเดิม ควบคู่กันไปกับการเก็บตามรหัส ICCS ถามว่าจะเป็นการเพิ่มงานไหม เป็นมิตรกับผู้ใช้ขนาดไหน ก็ต้องหาคำตอบกันอีกที แต่เราเลี่ยงไม่ได้ว่าต้องใช้วิธีนี้”

“ข้อดีประการหนึ่งของการเก็บข้อมูลควบคู่กันไปตั้งแต่ต้นทางคือ คุณจะได้ข้อมูลละเอียดที่บอกว่าสถานที่เกิดเหตุคือที่ใด ผู้กระทำผิดคือใคร มีความสัมพันธ์อย่างไรกับเหยื่อ มีแรงจูงใจอะไร แต่ถ้าคุณแปลจากตารางที่มีแต่ตัวเลขจำนวนคดี คุณจะไม่มีทางได้รายละเอียดพวกนี้เลย”

“หลายหน่วยงานอาจพิจารณาว่า จะทำอย่างไรให้สามารถนำ ICCS ไปใช้ได้ตั้งแต่ช่วงต้นของการทำงาน ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์ของ TIJ ต่อไป เราจะพยายามหาวิธีการนำไปใช้ โดยเข้าไปศึกษาระบบการเก็บข้อมูล และการคีย์ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ว่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีที่จะสร้างโปรแกรมเพิ่มเติม (add on) เข้าไปเลยได้ไหม เช่น เมื่อเราคีย์คำว่า ‘ข่มขืน’ จะขึ้นรหัส ICCS ที่แนะนำในระบบให้เลย คนที่คีย์ข้อมูลจะได้ตัดสินใจน้อยลง และไม่ต้องเปิดอ่านคู่มือทั้งเล่ม”

ในตอนท้าย สุดารักษ์กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันนี้ ข้อมูลสถิติเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาลมาก แต่ข้อมูลนั้นจะสูญเปล่าหากไม่ได้นำมาใช้ ในกระบวนการยุติธรรมก็เช่นกัน วิธีหนึ่งในการใช้ข้อมูลคือการแบ่งปันและเปรียบเทียบกับคนอื่น และนำมาคาดการณ์ว่า ใครที่จะเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมในอนาคต และจะป้องกันอย่างไรให้เขาไม่เข้ามาในกระบวนการ หรือว่าใครที่เคยเข้ามาในกระบวนการยุติธรรมแล้วมีแนวโน้มจะกลับเข้ามาอีก เราจะป้องกันอย่างไรให้เขาไม่กลับเข้ามา

“สุดท้าย อยากจะฝากไว้ว่า ข้อมูลอาชญากรรมที่ถูกเก็บไว้ ควรจะถูกใช้ให้คุ้มค่ากับที่อุตส่าห์ลงทุนเก็บ เราอาจลองกลับไปหาวิธีกันว่า จะทำอย่างไรให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้มากที่สุด” สุดารักษ์ กล่าวปิดท้าย

 

 

หมายเหตุ : อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐาน ICCS ได้ที่ : รู้จัก ‘ICCS’: มาตรฐานการจำแนกประเภทอาชญากรรม เพื่อการพูดจาภาษา (กฎหมาย) เดียวกัน


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save