fbpx
When Saturday comes : การถ่ายทอดฟุตบอลกับความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและวัฒนธรรมลูกหนัง

When Saturday comes : การถ่ายทอดฟุตบอลกับความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและวัฒนธรรมลูกหนัง

ตฤณ ไอยะรา[1] เรื่อง

เมื่อวันเสาร์มาถึง

ใครที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมป๊อปอังกฤษคงเห็นวลี “เมื่อวันเสาร์มาถึง (When Saturday comes)” ผ่านตามาบ้าง

วลีข้างต้นแฝงนัยยะว่า หลังจากการทำงานในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์อย่างเหน็ดเหนื่อย ก็ได้เวลาพักผ่อนและปลดปล่อยอารมณ์ไปกับเกมฟุตบอลในเวลาบ่ายสามโมงของวันเสาร์ แฟนบอลต่างเข้าสนามบอลหรือผับ (pub – public house) เพื่อเข้าไปชมและเชียร์ทีมรักของตนในวันเสาร์อย่างมุ่งมั่น

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกทั้งใบเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ไม่ได้มีเพียงแค่ชาวอังกฤษที่ตื่นเต้นกับการชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกแบบสดๆ แต่แฟนบอลในส่วนอื่นของโลกยังซึมซับวัฒนธรรมความบันเทิงของการรับชมการหวดลูกหนังในคืนวันเสาร์ ดังเห็นได้จากการเกิดขึ้นและขยายตัวของผับและร้านอาหารที่ถ่ายทอดเกมฟุตบอลให้ชมกัน แม้แต่กลุ่มคนที่ไม่ได้อินกับเกมลูกหนังจนเกินพอดีจนต้องติดตามการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์ หลายคนยังติดเชื้ออาการคลั่งไคล้ “ฟุตบอลโลก” ที่มักถูกเรียกในอีกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “การแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนผืนพิภพ (the greatest show on earth)” จนยอมอดหลับอดนอนดูการแข่งขันของนักเตะจากทวีปต่างๆ

ทำไมการชมการถ่ายทอดฟุตบอลจากพื้นที่ห่างไกลในช่วงสุดสัปดาห์ (หรือกลางสัปดาห์) ที่เดิมเป็นวิถีชีวิตของชาวตะวันตกจึงกลายสภาพเป็นวัฒนธรรมร่วมของโลกไปได้?

การสถาปนาสถานะความเป็นวัฒนธรรมบันเทิงโลกของการชมฟุตบอลมีจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงเวลาไหน?

การขยายตัวของการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเกมลูกหนังอย่างไร?

ผู้เขียนพยายามใช้คำถามในการชวนถกกับผู้อ่านถึงวิวัฒนาการและแรงสะเทือนของการเป็นวัฒนธรรมของเกมฟุตบอล โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดการแข่งขันที่เป็นการก่อรูปกิจกรรมร่วมกันข้ามพื้นที่ภายในช่วงเวลาเดียวกัน

 

เมื่อวัฒนธรรมฟุตบอลเดินทางไปรอบโลก

วัฒนธรรมการเล่นฟุตบอลแพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบอันเป็นช่วงเวลาของการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนข้ามชาติที่ขับเคลื่อนด้วยรัฐมหาอำนาจ โดยเฉพาะจักรวรรดิอังกฤษ สุภาพบุรุษชาวอังกฤษทั้งที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้จัดการ กะลาสี รวมไปถึงผู้ใช้แรงงาน เป็นกลุ่มคนที่สาธิตการเตะลูกหนังให้กับคนพื้นเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จนพวกเขาเหล่านั้นเกิดแรงบันดาลใจในการเตะลูกหนังและดัดแปลงสไตล์การเตะให้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมมากขึ้น

กรณีอันน่าสนใจคือ อาร์เจนติน่า ที่ผู้คนในท้องถิ่นเรียนรู้ฟุตบอลจากสโมสรกีฬาที่ก่อตั้งโดยชาวอังกฤษ และทำการพัฒนาสไตล์การเล่นให้ขับเน้นความสามารถเฉพาะตัวมากขึ้น ใส่ความสนุกสนานและอารมณ์ร่วมเข้าไปในการเล่นมากขึ้น ฟุตบอลที่เป็นวัฒนธรรมนำเข้าจากต่างประเทศจึงกลายสภาพเป็นวัฒนธรรมประจำชาติของสังคมอาร์เจนติน่าไปโดยปริยาย ดังเห็นได้จากการใช้ศัพท์ในการเต้นแทงโกอย่าง “Enganche” เรียกชื่อผู้เล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรุกหลังกองหน้า

ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมการเล่นฟุตบอลนำไปสู่วัฒนธรรมการรับชมเกมการแข่งขัน เพราะกลุ่มผู้ชมฟุตบอลเกิดความรู้และความความเข้าใจในกติกาและวิธีการเล่นของเกมลูกหนังจนสามารถซึมซับความตื่นเต้นและสวยงามของกีฬาประเภทนี้ได้

เฉกเช่นเดียวกับการนำเข้าการเล่นฟุตบอล การถ่ายทอดการแข่งขันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจของเกมลูกหนัง โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดเกมลูกหนังระดับนานาชาติที่แพร่หลายไปยังหลายประเทศ

กรณีที่แสดงให้เห็นถึงพลังของกิจกรรมข้างต้นในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านสังคมและเศรษฐกิจของเกมฟุตบอล คือการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก นับตั้งช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบ

 

เมื่อธุรกิจการถ่ายทอดสดเปลี่ยนวัฒนธรรมฟุตบอล

บทความเรื่อง “When Football Went Global: Televising the 1966 World Cup” ของ Chisari บรรยายว่า การถ่ายทอดฟุตบอลครั้งแรกเกิดขึ้นในการแข่งขันในปี ค.ศ. 1954 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนการเปลี่ยนแปลงเทคนิคของการถ่ายทอดการแข่งขันจากภาพขาวดำเป็นภาพสีเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1970 ณ ประเทศเม็กซิโก

ในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 2002 ณ ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น มีประเทศที่รับชมการถ่ายทอดทั้งสิ้น 213 ประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าประเทศที่มีสถานะสมาชิกภาพขององค์กรสหประชาชาติในขณะนั้นเสียอีก

กระนั้นก็ตาม Chisari กล่าวว่า ฟุตบอลโลกปี ค.ศ. 1966 เป็นจุดเปลี่ยนที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการขยายตัวของการถ่ายทอดที่มีต่อวัฒนธรรมฟุตบอลในภาพรวม เพราะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนสภาพเกมลูกหนังจากการแข่งขันกีฬาให้เป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัวมากขึ้น อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจสื่อและองค์กรกำกับดูแลเกมฟุตบอล พร้อมไปกับความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมฟุตบอลที่นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจประเภทใหม่

การขยายตัวของการถ่ายทอดเกมฟุตบอล ทำให้ธุรกิจสื่อเข้าไปกดดันหรือมีอิทธิพลต่อการจัดการเกมลูกหนังของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือฟีฟ่า (FIFA) และฝ่ายหลังพร้อมนำข้อเสนอของฝ่ายแรกเข้ามาพิจารณาหรือปรับเปลี่ยนให้เกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ เพราะการถ่ายทอดเสกสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลให้แก่ทั้งสองฝ่าย ในด้านหนึ่ง การถ่ายทอดนำมาซึ่งรายได้อันน่าดึงดูดให้แก่ฟีฟ่า จากการสนับสนุนของธุรกิจเอกชนและการขายสิทธิ์ในการเป็นผู้ผูกขาดการเผยแพร่ภาพการแข่งขัน และในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจสื่อได้รับผลประโยชน์จากการขายสิทธิ์ในการรับชมให้แก่กลุ่มผู้บริโภคพร้อมกับขายเวลาในการโฆษณาสินค้าและบริการให้กับกลุ่มบรรษัทมากขึ้น

ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการถ่ายทอดสดสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มธุรกิจสื่อและฟีฟ่าบรรลุข้อตกลงในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการแข่งขันและคุณสมบัติของสนามกีฬา เพื่อให้เอื้อกับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์มากขึ้น เช่น หลักเกณฑ์ที่กำหนดว่า ในรอบแปดทีมสุดท้ายและสี่ทีมสุดท้าย ฟีฟ่าสามารถจัดการแข่งขันได้ไม่เกินวันละสองคู่และหนึ่งคู่ตามลำดับ เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดการแข่งขันของสองคู่ในเวลาที่ทับซ้อนกัน อันทำให้ธุรกิจสื่อสูญเสียรายได้ เพราะจำนวนผู้ชมในแต่ละเกมลดน้อยลง

การประนีประนอมระหว่างสื่อและฟีฟ่าเห็นได้ชัดเจนในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 1966 ที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษรับเป็นเจ้าภาพ โดยสื่อได้ขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาและสถานที่การแข่งขันในบางนัดเพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดการแข่งขันในเวลาเดียวกันกับที่ทีมชาติอังกฤษลงเตะ เพื่อไม่ให้สูญเสียรายได้บางส่วนไป หรือตัวอย่างที่ร่วมสมัยขึ้นมาคือ การเปลี่ยนแปลงเวลาของนัดชิงชนะเลิศของการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรป หรือยูฟ่า แชมเปี้ยน ลีก (UEFA Champions League) จากเดิมที่เตะกันในช่วงค่ำคืนกลางสัปดาห์ ให้ทำการฟาดแข้งในช่วงคืนวันเสาร์แทน เพื่อสามารถถ่ายทอดในเวลาที่เข้าถึงกลุ่มแฟนบอลได้อย่างกว้างขวางขึ้น

นอกจากนั้น การสร้างหรือปรับปรุงสนามฟุตบอลที่ใช้ทำการแข่งขัน ต้องไม่คิดถึงเพียงแค่การสร้างประสบการณ์ร่วมของผู้ชมหรือกองเชียร์ แต่ยังต้องติดตั้งอุปกรณ์สร้างความสะดวกให้แก่การถ่ายทอดการแข่งขัน เช่น การสร้างห้องแถลงข่าวสำหรับสื่อมวลชนโดยเฉพาะ หรือการกระจายกล้องโทรทัศน์ไปทั่วสนามฟุตบอล เพื่อทำให้ผู้ชมทางบ้านเห็นการแข่งขันจากมุมมองที่หลากหลายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

การถ่ายทอดได้ขยายขอบฟ้าทางกาละและเทศะของสนามที่ใช้ในการแข่งขันที่เดิม หน้าที่การใช้งานของสนามไม่ได้จำกัดอยู่แค่การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ณ สถานที่นั้นโดยตรง แต่ต้องทำให้ผู้ชมในสถานที่ห่างไกลสามารถรับชมเกมการแข่งขันในเวลาเดียวกันได้อย่างราบรื่นขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้น การถ่ายทอดสดยังทำให้สนามมีรายได้จากการขายพื้นที่รอบสนามให้กับการโฆษณามากขึ้น

ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการถ่ายทอดฟุตบอลส่งผลให้ฟีฟ่าเปลี่ยนแปลงตัวเองจากองค์กรส่งเสริมกีฬาลูกหนัง มาเป็นองค์กรธุรกิจมากขึ้น สภาวะแบบนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจาก โจอัว ฮาเวลานจ์ (Joao Harvelange) ได้รับเลือกเป็นประธานฟีฟ่าในปี ค.ศ. 1974 โดยฮาเวลานจ์ ได้สร้างพันธมิตรกับบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่าง อดิดาส (Adidas) ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาและแฟชั่น และโคคา-โคล่า (Coca-Cola) เจ้าพ่อแห่งตลาดน้ำอัดลม และยังได้ก่อตั้งบริษัท ISL (International Sport and Leisure) เพื่อดูแลการต่อรองรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาและสิทธิในการถ่ายทอด

 

เมื่อฟุตบอลกลายเป็นสินค้า

การถ่ายทอดเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้ากระบวนการทำให้เกมฟุตบอลมีลักษณะเชิงพาณิชย์ (commercialization) อย่างเข้มข้นขึ้น

การปรับตัวด้านธุรกิจของฟีฟ่านำมาซึ่งการสรรเสริญและคำสาปแช่งสู่องค์กร ในด้านหนึ่ง รายได้ที่เพิ่มขึ้นช่วยทำให้ฟีฟ่ามีทรัพยากรในการส่งเสริมกิจกรรมฟุตบอล โดยเฉพาะการพัฒนาเกมลูกหนังในระดับเยาวชน ดังเห็นได้จากการเริ่มต้นจัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลกในระดับอายุต่างๆ ในอีกด้านหนึ่ง ผลประโยชน์อันมหาศาลเป็นเมล็ดพันธุ์ของความฉ้อฉล (corruption) นานับประการในฟีฟ่า อันนำไปสู่การบั่นทอนคุณค่าขั้นพื้นฐานขององค์กรแห่งนี้

ในขณะเดียวกัน การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลในวงการฟุตบอล ทั้งผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างนักเตะและผู้จัดการทีม และผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อมอย่างแฟนบอล

Chisari บรรยายในบทความของเขาว่า เมื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 1966 ดำเนินไปถึงช่วงท้ายของการแข่งขัน ความแตกต่างระหว่างสัดส่วนผู้ชมสุภาพบุรุษกับผู้ชมสุภาพสตรีลดลงจากการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มแม่บ้านเริ่มซึมซับวัฒนธรรมฟุตบอล โดยเฉพาะศัพท์เทคนิคของการเล่น จากการชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ การถ่ายทอดทำให้กีฬาฟุตบอลมีความ “สากล” มากขึ้นไปอีก เนื่องจากสามารถนำผู้หญิงที่ไม่ใช่กลุ่มคนดูดั้งเดิมมาสนุกกับเกมได้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ชมที่เป็นผู้หญิงมีนัยยะว่า ธุรกิจสื่อสามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากกลุ่มลูกค้าผู้หญิงกลุ่มใหม่ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการได้รับค่าเช่าเวลาโฆษณาจากผู้ผลิตสินค้าเพื่อผู้หญิง

สำหรับนักฟุตบอล การถ่ายทอดทำให้มุมมองต่อพวกเขาเปลี่ยนจาก “นักกีฬา” ที่มีตัวตนเฉพาะในวันแข่งขัน มาเป็น “มนุษย์ธรรมดา” (human being) มากขึ้น เพราะโทรทัศน์ไม่ได้เพียงแค่แสดงภาพของการฟาดแข้งในสนาม แต่ยังจัดรายการแสดงความเห็น (commentary) ที่ฉายภาพชีวิตประจำวันในฐานะคนเดินดินของนักฟุตบอลและผู้จัดการทีมในมิติต่างๆ เช่นครอบครัวและสถานภาพทางการสมรส หรือรูปแบบการรับประทานอาหาร

การเผยให้ถึงมิติชีวิตส่วนตัวของนักเตะอาชีพเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรม “การแห่แหนผู้ที่มีชื่อเสียง (celebrity)” ในวงการฟุตบอล จากเงื่อนไขข้างต้น ชื่อเสียง (ทั้งในด้านดีและเลว) ของผู้เล่นและผู้จัดการทีมไม่ได้มาจากวีรกรรมในสนามเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับพฤติการณ์ส่วนตัวนอกสนามหญ้าอีกด้วย

การเปลี่ยนนักเตะจากนักกีฬาอาชีพไปเป็นดาราบนสนามหญ้ายังทำให้ตัวนักฟุตบอลต้องคำนึงถึงการจัดการด้านธุรกิจของตัวเองมากขึ้นด้วย เพราะรายได้ของพวกเขาไม่ได้มาจากค่าจ้างและโบนัสของสโมสรหรือหน่วยงานที่พวกเขาสังกัดเพียงอย่างเดียว พวกเขาต้องจัดการรายได้เสริมจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะการเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าที่ครอบคลุมหลากหลายตั้งแต่รองเท้าฟุตบอลไปจนถึงรถกระบะ ปรากฏการณ์ข้างต้นสร้างความไม่พอใจให้กับกูรูลูกหนังบางส่วนที่แสดงความเห็นว่า วัฒนธรรมแห่แหนคนดังทำให้คุณค่าเกมลูกหนังลดทอนลงไป เพราะในหลายครั้ง ชีวิตนอกสนามนำไปสู่ความเสื่อมถอยของการแข่งขันในสนาม

ถึงแม้ว่า การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลอาจมอบสิ่งไม่พึงประสงค์ให้แก่เกมลูกหนังบางประการ แต่มันช่วยทำให้ฟุตบอลมีสถานะเป็นภาษาสากลที่เอื้อให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้คนเกิดความตระหนักและรับรู้ถึงดินแดนที่ห่างไกลจากชีวิตประจำพวกเขา เพราะถ้าไม่มีการแพร่ภาพฟุตบอลโลก ประชาชนชาวไทยจำนวนมากคงไม่รู้จักประเทศที่ไม่มีบทบาทในการเมืองโลกอย่างแคเมอรูน เซเนกัล โรมาเนีย บัลแกเรีย ปารากวัย เอกวาดอร์ คอสตาริกา ฮอนดูรัส

ในท้ายที่สุด การถ่ายทอดสดฟุตบอลทำให้เราเห็นว่า เกมลูกหนังไม่ได้อยู่ในปริมณฑลของตัวเองอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นกิจกรรมประการหนึ่งที่ก่อรูปและถูกก่อรูปจากระบบเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละช่วงเวลาและสถานที่

 

อ้างอิง

Chisari, F. (2006). When Football Went Global: Televising the 1966 World Cup. Historical    Research. 31 (1), pp. 42 – 54.

Radnedge, K. (2016). Joao Harvelange Leaves Behind a Huge Legacy and a Tainted Reputation. Accessed 30 April 2017.

Vickery, T. (2012). For Better or Worse? How Havelange’s Global Vision

Wilson, J. (2016). Angels with Dirty Faces: The Footballing History of Argentina. London: Orion

 

[1] นักเรียนทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่จดจำชื่อนักเตะ ผู้จัดการ และประวัติศาสตร์ฟุตบอล ได้แม่นกว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save