fbpx
มองอุตสาหกรรมมือถือผ่านกรอบ 'เครือข่ายการผลิตข้ามชาติ'

มองอุตสาหกรรมมือถือผ่านกรอบ ‘เครือข่ายการผลิตข้ามชาติ’

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

สมรภูมิตลาดสมาร์ทโฟนอันดุเดือดมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาแข่งขันกันทุกปี ในปีนี้ ‘มือถือหน้าจอพับได้’ (foldable smartphone) กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีโอกาสจะเปลี่ยนเกมการแข่งขันของธุรกิจมือถืออีกระลอก

ปี 2018 ที่ผ่านมา ทั้งโลกมีการผลิตสมาร์ทโฟนประมาณ 1,400 ล้านเครื่อง มูลค่าตลาดที่สูงถึง 480,000 ล้านดอลลาร์ทำให้ประเทศต่างๆ ล้วนอยากกระโจนเข้ามาชิงส่วนแบ่งกันทั้งนั้น เพราะนอกจากเม็ดเงินมหาศาลแล้ว การผลิตสมาร์ทโฟนยังสามารถยกระดับความสามารถทางการผลิตและเทคโนโลยีของประเทศอย่างก้าวกระโดด

โทรศัพท์มือถือนับเป็นผลิตภัณฑ์แห่งยุคโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง

เพราะไม่ว่าจะใช้สมาร์ทโฟนยี่ห้อใดก็ตาม โทรศัพท์ของคุณเป็นส่วนหนึ่งของสายโซ่การผลิตที่กว้างไกล เชื่อมโยงหลายทวีปทั่วโลก ต่อให้โทรศัพท์ของคุณถูกออกแบบในสหรัฐอเมริกา แต่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบก็ได้รับการพัฒนาที่ไต้หวัน โดยจอภาพจากเกาหลีใต้และคาปาซิเตอร์จากญี่ปุ่น ถูกส่งไปประกอบรวมกันด้วยแรงงานชาวจีนหรืออินเดีย จากนั้นก็ถูกเปิดเพื่อทำงานบนเครือข่ายสัญญาณที่พัฒนาโดยประเทศสแกนดิเนเวีย

เราจะเข้าใจอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนได้ดีขึ้น หากเรามองผ่านกรอบ Global production networks หรือ เครือข่ายการผลิตข้ามชาติ ซึ่งเสือเศรษฐกิจอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ใช้เป็นแนวทางการออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศจนประสบความสำเร็จ

เครือข่ายการผลิตสมาร์ทโฟน

ถึงแม้สมาร์ทโฟนจะถือกำเนิดมานานแล้ว แต่ปี 2007 ที่มีการเปิดตัวไอโฟนรุ่นแรก ก็มักจะถูกนับเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการ การเปลี่ยนแปลงเจ้าตลาดจาก Nokia และ BlackBerry ในปีนั้น มาเป็น Apple และ Samsung ในปัจจุบัน เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่าธุรกิจนี้มีการพลิกผันแค่ไหนในเวลาเพียงสิบปี

การผลิตมือถือแยกออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ โดยส่วนต้นและส่วนท้ายเป็นการกำหนดมาตรฐานพื้นฐานของโครงข่ายและการใช้แรงงานประกอบชิ้นส่วน ในขณะที่หัวใจสำคัญ 3 ส่วนที่สร้างความแตกต่างระหว่างเจ้าของตราสินค้า อยู่ที่การวิจัยและออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และงานวิศวกรรม และการผลิตชิ้นส่วนหลัก

ทั้งนี้ ‘มูลค่าเพิ่ม’ (value added) ของงานแต่ละส่วนนั้นไม่เท่ากัน บริษัทเจ้าของตราสินค้าจึงเลือกฐานการผลิตแต่ละส่วนด้วยปัจจัยคนละอย่าง ดังที่งานวิจัยของ Jason Dedrick และ Kenneth Kraemer (2017) ได้ศึกษาไว้ ดังนี้

ห่วงโซ่การผลิตมือถือแยกตามประเทศที่เป็นฐานหลัก

ห่วงโซ่การผลิตมือถือแยกตามประเทศที่เป็นฐานหลัก
ที่มา: Jason Dedrick และ Kenneth Kraemer (2017: Table 6)

1. โครงสร้างและมาตรฐานพื้นฐาน (standard setting)

หมายถึงการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานเพื่อรองรับระบบมือถือแต่ละเจอเนอเรชัน ดังที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่ 2G 3G 4G หรือ LTE รวมถึงระบบสัญญาณ wifi เพื่อให้มือถือต่างยี่ห้อสามารถทำงานร่วมกันได้

กระบวนการในส่วนนี้นับเป็นการลงทุนสร้างโครงข่ายสนับสนุนการเชื่อมต่อที่มีความสำคัญต่อทั้งอุตสาหกรรม และใช้เงินลงทุนสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ผู้ครอบครองเทคโนโลยีในขั้นตอนนี้จะขายสิทธิบัตรที่เรียกว่า Standard Essential Patents (SEPs) ให้กับบริษัทมือถือต่างๆ โดยต้นทุนที่บริษัทมือถือแต่ละเจ้าต้องจ่ายเป็นค่า SEPs นั้นสูงถึงประมาณร้อยละ 5 ของต้นทุนการผลิตมือถือแต่ละเครื่องเลยทีเดียว

บริษัทอย่าง Nokia และ Ericsson ที่ดูเหมือนหายไปจากตลาดมือถือ ก็ยังคงเป็นเจ้าของ SEPs จำนวนมาก จนกลายเป็นธุรกิจหลักของบริษัทไปแล้ว เรียกว่า มีการปรับตัวเองจากการขายมือถือให้ผู้ซื้อโดยตรง มาเป็นการขายเทคโนโลยีพื้นฐานให้กับผู้นำตลาดแทน

2. งาน R&D และการออกแบบ

เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญมากต่อการทำกำไรในขั้นสุดท้าย ผู้ผลิตแต่ละรายจึงมักจำกัดงานส่วนนี้อยู่ที่ประเทศแม่เท่านั้น โดย Apple วางฐานไว้ที่ซิลิคอนแวลลีย์ Samsung ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ และ Huawei ที่เซินเจิ้น ประเทศจีน

อย่างไรก็ดี ด้วยความซับซ้อนที่มากขึ้นของสมาร์ทโฟน งานออกแบบต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลายส่วน (อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ซอฟท์แวร์ และแอพพลิเคชัน) มาทำงานร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ เครือข่ายการผลิตส่วนนี้จึงมีแนวโน้มเปิดกว้างมากขึ้น

3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์และงานวิศวกรรม

บริษัทเจ้าของแบรนด์มักทำร่วมกับซัพพลายเออร์หลัก (lead firms) ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเพื่อการทดลองสร้างอุปกรณ์ต้นแบบ โดยพบว่า Samsung กับ Huawei ยังคงจำกัดกระบวนการนี้อยู่ที่ประเทศแม่

4. การผลิตชิ้นส่วนหลัก (key components)

มักเป็นความรับผิดชอบของบริษัทที่มีความชำนาญเฉพาะทางในแต่ละชิ้นส่วน แต่ก็มักมีการแบ่งแยกตลาดย่อยอีกที เช่น บริษัท Qualcomm ของสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ให้กับมือถือราคาแพง ในขณะที่ MediaTek ของไต้หวันผลิตชิปให้กับมือถือราคาถูก

5. การประกอบขั้นสุดท้าย (final assembly)

ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูง บริษัทเจ้าของตราสินค้าจึงมักเลือกประเทศที่จะมาเป็นฐานการผลิตในส่วนนี้จากปัจจัยด้านต้นทุนแรงงานและโอกาสในการเจาะตลาดท้องถิ่น

ฐานการประกอบของ Apple และ Huawei จึงอยู่ที่จีนและอินเดีย ส่วนของ Samsung จะกระจายไปหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ เวียดนาม จีน อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซีย

ส่วนแบ่งที่ไม่เคยเท่าเทียม

การกระจายตัวของกิจกรรมในห่วงโซ่การผลิตมือถืออันซับซ้อน ทำให้บริษัทและประเทศที่เกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ ‘ตำแหน่งแห่งที่’ ในเครือข่ายระหว่างประเทศ

ตัวเลขที่น่าตกใจก็คือ ถึงแม้การแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนจะดุเดือดเพียงใด บริษัทเจ้าของแบรนด์ชั้นนำก็ยังสามารถทำกำไรได้ในสัดส่วนมหาศาล

ในต้นทุน 100 บาทของไอโฟน 7 นั้น คิดเป็นต้นทุนค่าชิ้นส่วนเพียงร้อยละ 22 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 78 ก็เป็นการแบ่งสรรกันไประหว่างบริษัทต่างๆ โดย Apple ได้รับส่วนแบ่งที่นับเป็น ‘กำไรขั้นต้น’ (gross margin) ไปมากที่สุดถึงร้อยละ 42 กล่าวคือ ในราคา 20,000 บาทที่คุณ (เคย) จ่ายเป็นค่าไอโฟน 7 นั้น เป็นการสร้างกำไรให้กับ Apple โดยตรงถึง 8,400 บาทเลยทีเดียว

บริษัทจัดจำหน่ายได้รับส่วนแบ่งรองมาในอัตราร้อยละ 15 โดยไต้หวันแชร์ส่วนแบ่งได้ร้อยละ 3 จากการเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของไอโฟน ในขณะที่ประเทศจีนที่เป็นฐานการผลิตหลัก ได้รับส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

ที่มา: Jason Dedrick และ Kenneth Kraemer (2017: Figure 4)

ที่น่าสนใจก็คือ Huawei สามารถทำกำไรได้ในอัตราพอๆ กับ Apple (ร้อยละ 42) แม้ว่าราคาขายต่อหน่วยจะต่ำกว่ามาก เพราะ Huawei สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงไปได้ในสัดส่วนเดียวกันนั่นเอง

ส่วน Samsung ทำกำไรขั้นต้นได้ร้อยละ 34 ต่ำกว่าคู่แข่งสองบริษัทข้างต้น เพราะไม่มีหน้าร้านของตนเองในการวางขายสินค้า จึงต้องพึ่งพาและแบ่งผลกำไรให้กับร้านค้ามากกว่า

บทเรียนเชิงนโยบาย

ความเข้มข้นของการแข่งขันในอุตสาหกรรมมือถือคงไม่หายไปในเร็ววัน เราคงเห็นบริษัทหน้าใหม่อีกหลายราย รวมถึงนวัตกรรมตื่นตาตื่นใจทยอยออกมาในอนาคตอันใกล้ แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด กรอบ Global production networks ก็ช่วยให้เราถอดบทเรียนในการคิดนโยบายสาธารณะ ที่ต้องหลุดออกจากกรอบความคิดแบบเดิมอย่างน้อย 3 ด้าน

1. ไปให้ไกลกว่าการประกอบชิ้นส่วน

ไม่ว่าสมาร์ทโฟนจะก้าวหน้าไปเพียงใด ขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตก็ยังคงเป็นการประกอบชิ้นส่วนที่ต้องอาศัยแรงงานเป็นหลัก โอกาสที่เป็นไปได้มากที่สุดของประเทศกำลังพัฒนาที่อยากเข้ามามีส่วนแบ่งในห่วงโซ่การผลิต จึงอยู่ที่ขั้นตอนนี้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาพบว่า ประเทศที่สามารถเข้ามาแชร์มูลค่าการประกอบชิ้นส่วนของมือถือสามค่ายยักษ์สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินเดีย หรือบราซิล ล้วนมีนโยบายของรัฐบาลชัดเจนในการดึงดูดการลงทุน เพื่อเป้าหมายระยะยาวที่หวังจะไปไกลกว่าการเป็นฐานการผลิตราคาถูก โดยการสนับสุนนการลงทุนเป็นเพียงก้าวแรกของยุทธศาสตร์ในการขยับเลื่อนชั้นตนเองในเครือข่ายการผลิตเท่านั้น โดยเป้าหมายถัดไปจากการเป็นฐานประกอบขั้นสุดท้ายก็คือ การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะก้าวไปสู่การเป็นซัพพลายเออร์หลักให้กับบริษัทเจ้าของแบรนด์เหมือนที่ประเทศอย่างไต้หวันและจีนเคยทำสำเร็จมาก่อน

การวางประเทศเป็นฐานประกอบชิ้นส่วนนั้นเป็นโจทย์ที่ง่ายที่สุดในบรรดานโยบายทั้งหมด เพราะเพียงแค่แข่ง ‘ลดแลกแจกแถม’ เงินลงทุนและภาษีให้กับบริษัทต่างชาติ

ถึงกระนั้น ต่อให้ประกอบชิ้นส่วนได้ในปริมาณมหาศาลอย่างเช่นจีน ประเทศก็จะได้รับส่วนแบ่งเพียงไม่เกินร้อยละ 1 ของราคาสินค้าเท่านั้น การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศก็อยู่ในระดับต่ำ ซ้ำร้ายยังเสี่ยงต่อการถูกประเทศอื่นมาดึงลูกค้าไปได้ไม่ยาก

หากจีนไม่มีแผนการระยะยาวที่มุ่งยกระดับความสามารถในการผลิตระหว่างที่รับจ้างประกอบ ก็คงไม่สามารถสร้าง Huawei จนขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีอัตราการทำกำไรใกล้เคียงกับ  Apple ได้ในปัจจุบัน

การเป็นฐานการประกอบชิ้นส่วนที่หวังเพียงเม็ดเงินลงทุนระยะสั้น จึงไม่อาจพาประเทศไปไหนได้ไกล

2. ไปให้ไกลกว่าการสร้างแบรนด์

อย่างไรก็ดี การไปให้ไกลกว่าการประกอบชิ้นส่วน ไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่นๆ ต้องเลือกเส้นทางการสร้างตราสินค้าของตนเองเท่านั้น

การมองอุตสาหกรรมมือถือผ่านเครือข่ายการผลิตข้ามชาติสอนเราว่า กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเป็นเจ้าของแบรนด์เท่านั้น บริษัทอย่าง Nokia และ Ericsson อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะผันตัวไปเป็นผู้ครอบครองมาตรฐานและเทคโนโลยีต้นน้ำ เช่น Ericsson เป็นเจ้าของสิทธิบัตรถึง 39,000 รายการ จนทำให้มีรายรับจากการขายสิทธิบัตรถึงปีละ 1,600 ล้านดอลลาร์

เพราะไม่ว่ายักษ์ใหญ่อย่าง Apple, Samsung และ Huawei จะห้ำหั่นกันรุนแรงเพียงใด ทั้งสามบริษัทต่างก็ต้องพึ่งพา ‘โครงสร้างและมาตรฐานพื้นฐาน’ อาทิ เทคโนโลยี 4G หรือระบบสัญญาณ wifi จากเจ้าของสิทธิบัตร SEPs จนต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรเหล่านี้รวมกันถึงประมาณร้อยละ 5 ของต้นทุนการผลิตมือถือแต่ละเครื่อง

มูลค่าเพิ่มอยู่ที่ใด จึงควรเป็นจุดสนใจหลักของการออกนโยบายอุตสาหกรรม ไม่ใช่ยึดเพียงตำราการตลาดยุคก่อนที่เน้นแต่การสร้างตราสินค้า

3. ไปให้ไกลกว่าอเมริกันหรือหรือไชน่าโมเดล

บริษัทอย่าง Apple ย่อมยากที่จะเกิดในประเทศที่ไม่มีองค์ความรู้เฉพาะทางเข้มข้นอย่างสหรัฐฯ ส่วน Huawei ก็ยากที่จะเกิดในประเทศที่ไม่มีตลาดภายในขนาดใหญ่อย่างจีน ขณะที่การสร้าง Samsung ของเกาหลีใต้ ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐที่ทั้งเข้มแข็งและชาญฉลาด

ถ้าอย่างนั้น ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตข้ามชาติได้อย่างไร

ไต้หวันเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะถึงแม้เราจะมองไม่เห็นมือถือยี่ห้อไต้หวัน แต่บริษัทอย่าง MediaTek, TSMC หรือ Foxconn ก็สามารถเติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนด้วยการ ‘ทำงานเบื้องหลัง’

เช่น MediaTek เพิ่งก่อตั้งมาได้เพียง 20 ปีเท่านั้น แต่ก็เติบโตจนกลายเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่อันดับที่สามของโลก ส่วน TSMC ก็เป็นซัพพลายเออร์ที่ทำงานร่วมกับ Apple เพื่อพัฒนาระบบประมวลผล ในขณะที่ Foxconn ก็เป็นบริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีฐานอยู่ทั่วโลก

ไม่ว่ายักษ์ใหญ่เบื้องหน้าอย่าง Apple, Samsung และ Huawei จะฟาดฟันกันจนยอดขายสูงต่ำอย่างไร ภายในตัวเครื่องก็ยังต้องอาศัยชิ้นส่วนจากบริษัทไต้หวันอยู่ดี

การเลือกเส้นทางแบบไต้หวัน (ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมมือถือหรือสารสนเทศอื่นๆ) หมายความว่า แนวคิดเรื่องการสนับสนุนทางนโยบายต่อ R&D และการผลิตต้องปรับตัวตามไปด้วย การเพิ่มแต่เพียงสัดส่วนงบประมาณวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพี แทบจะเป็นการเดินที่ไร้ทิศทาง เพราะจำเป็นต้องประเมินให้ชัดว่า จะเข้าไปแข่งขันชิงส่วนแบ่งมูลค่าเพิ่มในส่วนใดของเครือข่ายการผลิตทั้งสาย และจะยกระดับมูลค่าเพิ่มส่วนนั้นอย่างไรในระยะยาว

ในแง่นี้ กรอบ Global production networks จะช่วยให้เราเข้าใจแต่ละอุตสาหกรรมได้ดีขึ้น สามารถเลือกยุทธศาสตร์ที่เหมาะกับทั้งบริษัทและประเทศ โดยไม่ต้องหวังเพียงเป็นฐานการประกอบชิ้นส่วน ไม่ต้องยึดติดกับการสร้างตราสินค้า และไม่ต้องหลับตาเดินไปในเส้นทางที่ไร้จุดหมาย


อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม

  • ข้อมูลทั้งหมดนำมาจาก Jason Dedrick & Kenneth L. Kraemer (2017) “Intangible assets and value capture in global value chains: the smartphone industry.” World Intellectual Property Organization, Economic Research Working Paper No.

https://www.wipo.int/edocs/pubdocs/en/wipo_pub_econstat_wp_41.pdf

  • หากสนใจกรอบแนวคิด Global production networks ดูเช่น Peter Dicken (2015) Global Shift: Mapping the Changing Contours of the World Economy. New York: Guilford Press.
  • งานศึกษาว่าด้วยประเทศไทยในเครือข่ายการผลิตโลก ดูเช่น Archanun Kohpaiboon & Juthathip Jongwanich (2013) “International Production Networks, Clusters, and Industrial Upgrading: Evidence from Automotive and Hard Disk Drive Industries in Thailand.” Review of Policy Research 30 (2): 211-239. หรือ Ganeshan Wignaraja (2016) Production Networks and Enterprises in East Asia. ADB Institute and Springer, Tokyo.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save