fbpx
GDP ไตรมาสสาม บอกอะไรเรา?

GDP ไตรมาสสาม บอกอะไรเรา?

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3/2561 ซึ่งเพิ่งเปิดเผยออกมา เริ่มส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด เศรษฐกิจไทยเติบโต 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถ้าเทียบกับไตรมาสที่ 2 เมื่อปรับปัจจัยด้านฤดูกาลแล้ว ปรับลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 เลยทีเดียว

หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจโตถึง 4.8% ในครึ่งปีแรก ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเริ่มสะดุด ทำให้สามไตรมาสของปีนี้ เศรษฐกิจเติบโตเหลือ 4.3% เมื่อเทียบกับสามไตรมาสปีก่อน  จากตัวเลขล่าสุด หลายสำนักคงต้องนั่งคิดว่าจะปรับประมาณการ GDP ปีนี้ลงดีหรือไม่

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านการใช้จ่าย

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านการใช้จ่าย

เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดเบื้องหลังตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุด ผมพบว่ามีข้อสังเกตที่น่าสนใจสามข้อดังนี้ครับ

1. อุปสงค์ภายนอกหยุดโตไปเฉยๆ

สาเหตุที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงค่อนข้างเร็วในไตรมาสที่ 3 เป็นเพราะการชะลอตัวของ external demand หรือปัจจัยภายนอก เช่น การส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยวที่ชะลอลงค่อนข้างมากในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 3

การส่งออกปรับลดลง 5% ในช่วงเดือนกันยายน เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียทั้งหลาย หลายคนอธิบายว่าเป็นเพราะเริ่มเห็นผลกระทบจากความไม่แน่นอนเรื่องสงครามการค้า บางคนอธิบายว่าเป็นผลจากสภาพอากาศของประเทศคู่ค้า เช่น พายุเข้าญี่ปุ่น เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน เพราะผลจากนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มหายไป หลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ซึ่งคนจีนไม่พอใจการจัดการ และการตอบสนองของผู้บริหารประเทศบางท่าน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน  ในปัจจุบัน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นกว่าหนึ่งในสามของนักท่องเที่ยวทั้งหมด  การหายไปของนักท่องเที่ยวจีนจึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวรวมแทบไม่โต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ตัวเลขการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งส่วนสำคัญคือรายได้จากการท่องเที่ยว จึงแทบไม่โตขึ้นเลยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การส่งออกสุทธิ (การส่งออกลบการนำเข้า) จึงกลายเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ

ที่น่าสนใจคือ ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกสินค้าและบริการสวมบทพระเอกหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโต ถ้าเราคิด contribution to growth คือตั้งคำถามว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 4.8% มีที่มาจากไหนบ้าง จะพบว่า ลำพังเพียงการท่องเที่ยวอย่างเดียว ซึ่งโตถึง 9% ในครึ่งแรก และมีความสำคัญถึง 13% ของ GDP ก็ส่งผลให้ GDP ในครึ่งปีแรกเติบโตถึง 1.2% แล้ว (สมมติให้รายได้จากการท่องเที่ยวมีส่วนที่มาจากการนำเข้าไม่เยอะมาก ไม่งั้นต้องหักออกด้วย)

การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่แรงส่งหายไปในไตรมาสที่ 3/2561

การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่แรงส่งหายไปในไตรมาสที่ 3/2561

นั่นหมายความว่า การท่องเที่ยวไม่ถึงกับต้องหดตัว เอาแค่ไม่โตอย่างเคย การเติบโตก็อาจหายไป 1.2% จากปัจจัยด้านการท่องเที่ยว นี่ยังไม่นับการส่งออกที่ชะลอตัวหยุดโตไปด้วยเหมือนกัน การที่การท่องเที่ยวและการส่งออกหยุดโตไปเฉยๆ ในไตรมาสที่ 3 คำนวณดูแล้ว พบว่า องค์ประกอบของการส่งออกสุทธินี้ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสที่ 3 ติดลบถึง 7% เลยทีเดียว

หากมองไปข้างหน้า แม้ว่าปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในไตรมาสที่ 3 อาจเป็นปัจจัยชั่วคราวที่จะกลับสู่ภาวะปกติในเวลาไม่นานนัก แต่ประเด็นสำคัญคือถ้าการส่งออกและการท่องเที่ยวไม่สามารถโตขึ้นแบบสุดๆ เหมือนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ฐานที่ใหญ่มากอาจทำให้ตัวเลข GDP ไม่สามารถเติบโตหวือหวาได้อย่างเคย

2. ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ

หากพิจารณาส่วนประกอบของ GDP เฉพาะจากด้านการใช้จ่าย คือถามว่าสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมานั้นมีใครซื้อไปบ้าง แยกออกเป็น C+I+G+X-M (การบริโภค + การลงทุน + การใช้จ่ายภาครัฐ + การส่งออก – การนำเข้า) แบบที่เราเคยเรียนในวิชาหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น จะพบว่าส่วนประกอบฝั่งอุปสงค์นี้ติดลบถึง 3.4%

ถ้ายังจำกันได้ GDP คือ “มูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง” ส่วนต่างของมูลค่า GDP ด้านการใช้จ่าย กับ มูลค่า GDP ด้านการผลิต ก็คือ “ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ” (change in inventories) และ “ค่าสถิติคลาดเคลื่อน” (statistical discrepancy) เราพบว่าสองส่วนนี้มีค่าสูงถึง 7% ของ GDP! นั่นแปลว่ามูลค่า GDP ด้านการผลิตโตเร็วกว่าการใช้จ่ายรวม หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีสินค้าที่ผลิตออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีคนซื้อไป และสะสมเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าคงเหลือมูลค่ามหาศาล

เมื่อมองย้อนหลัง จะพบว่าไตรมาสที่ 3/2561 เป็นไตรมาสที่เก้าติดต่อกัน ที่มูลค่า GDP ด้านการผลิตโตขึ้นเร็วกว่ามูลค่า GDP ด้านการใช้จ่าย ทั้งที่โดยปกติแล้วในระยะยาวสองตัวนี้ควรโตไปพอๆ กัน เพราะเมื่อมีการผลิตมากกว่าการใช้จ่าย ก็จะสะสมเป็นสินค้าคงเหลือ เมื่อธุรกิจมีสินค้าคงเหลือมากๆ ก็อาจจะชะลอการผลิตลงในช่วงระยะเวลาถัดไป ทำให้ตัวเลข GDP ในอนาคตชะลอลงได้ แม้ฝั่งการใช้จ่ายและบริโภคจะยังคงเติบโตต่อเนื่องก็ตาม

มูลค่าเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย (C+I+G+X-M) โตช้ากว่ามูลค่าเศรษฐกิจด้านการผลิต (GDP) อย่างต่อเนื่อง

มูลค่าเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย (C+I+G+X-M) โตช้ากว่ามูลค่าเศรษฐกิจด้านการผลิต (GDP) อย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อาจมีสาเหตุทำให้การสะสมสินค้าคงเหลือเปลี่ยนแปลงแบบแปลกๆ เช่นการสะสมสต็อกข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวทำให้ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือติดลบ แต่เราน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้แล้ว

อย่างไรก็ดี อาจจะมีประเด็นเชิงเทคนิคที่พออธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ เช่น หากการส่งออกที่ติดลบในเดือนสุดท้ายของไตรมาสมาจากปัญหาสภาพอากาศในประเทศคู่ค้า สินค้าที่เตรียมส่งออกอาจจะถูกนับเป็นสินค้าคงเหลือ ซึ่งน่าจะปรับลดลงหลังจากส่งสินค้าออก (และเราเห็นแล้วว่าการส่งออกเดือนตุลาคมกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง) หรือการนำเข้าทองคำ อาจจะทำให้สินค้าคงเหลือปูดขึ้นเป็นการชั่วคราว

3. การบริโภค : แข็งบนอ่อนล่าง?

องค์ประกอบอีกประการหนึ่งที่ทำให้ GDP เติบโตค่อนข้างดีในครึ่งปีแรก คือการบริโภคที่มีสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ แม้เป็นเรื่องน่าดีใจ แต่หากพิจารณาไส้ในจะพบว่า การบริโภคสินค้าคงทนเป็นพระเอกสำคัญที่ผลักดันการบริโภค โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ซึ่งเติบโตมากกว่า 15% ในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา  ในขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในคำอธิบายคือ เราผ่านช่วงที่ใช้นโยบายรถยนต์คันแรกมาแล้วเจ็ดปี รถผ่อนหมดแล้ว และถึงเวลาเปลี่ยนรถตามอายุขัยพอดี ยอดขายรถยนต์ที่ติดลบมานานหลายปีได้เวลาหายอกหายใจ เพราะคนตัดสินใจซื้อรถในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และมีอุปสงค์คงค้างมานานหลายปี

ส่วนคำอธิบายอีกด้านหนึ่งก็คือ คนฐานะดี ซึ่งมีกำลังเงินซื้อรถ ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่คนทั่วไปยังไม่ได้อานิสงส์ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร นี่คือเหตุผลว่าทำไมหลายคนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวตามตัวเลขเศรษฐกิจเลย

การบริโภคสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับตัวลดลง

การบริโภคสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับตัวลดลง
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

อีกข้อสังเกตคือ ราคาสินค้าเกษตรและรายได้ภาคเกษตร ซึ่งเกี่ยวพันกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังไม่ค่อยปรับตัวดีขึ้นมากนัก แม้ปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับภาวะฝนแล้งเมื่อ 1-2 ปีก่อน แต่ราคาสินค้าสำคัญหลายชนิดยังไม่ค่อยปรับตัวดีขึ้นเท่าที่ควร

รายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น เพราะปริมาณการผลิตมากขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง

รายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น เพราะปริมาณการผลิตมากขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง
ที่มา:  ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้นเลย ในช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นองค์ประกอบอื่นๆ ของการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนก็เริ่มโตขึ้นเล็กน้อย จากเดิมที่แทบไม่โตเลย

ประเด็นสำคัญคือ เราน่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยผ่านจุดที่ดีที่สุดไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และน่าจะเป็นไปได้ยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปโตแรงๆ แบบนั้นได้อีก ถ้าการส่งออกและการท่องเที่ยวโตช้าลง และไม่สามารถกลับไปโตแรงๆ แบบตอนต้นปีได้อีก น่าสนใจว่าการบริโภคจะสามารถรักษาแรงส่งเหมือนสองไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรและเศรษฐกิจต่างจังหวัดยังคงซบเซาได้หรือไม่

น่าคิดนะครับว่า เครื่องจักรเศรษฐกิจที่จะรับบทพระเอกในช่วงต่อไปคืออะไร

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save