fbpx

“เลี้ยงทหารพันวัน ใช้งานวันเดียว” อ่านกลยุทธ์เลือกตั้งในโค้งสุดท้ายการหาเสียง กับ ปราบ เลาหะโรจนพันธ์

‘นักยุทธศาสตร์การเมือง’ (political strategist) เป็นอาชีพที่สังคมการเมืองไทยอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยนัก แต่ในต่างประเทศที่การเมืองพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป อาชีพนี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานทางการเมือง โดยเฉพาะ การวางกลยุทธ์เลือกตั้งในช่วงหาเสียง

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ คือ หนึ่งในคนที่ฝันและเลือกทำงานในสายอาชีพนี้ จากประสบการณ์จากการทำกิจกรรมบนท้องถนนขณะยังเป็นนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ในช่วงปี 2553 ปราบตัดสินใจไปร่ำเรียนเพิ่มเติมในด้าน Communication and Information Science ที่ Tilburg University ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนกลับมาทำงานด้านกลยุทธ์และการสื่อสารทางการเมืองอย่างจริงจัง

ชื่อของ ‘ปราบ’ บนถนนของนักยุทธศาสตร์การเมืองเริ่มถูกปักหมุดมากขึ้นในฐานะหัวหน้าทีมสื่อสารทางการเมืองของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธ์’ ในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครในปี 2564 และมีส่วนสำคัญในการทำให้ ‘อ. ชัชชาติ’ ชนะเลือกตั้งแบบ ‘แลนด์สไลด์’ ในสนามเมืองหลวงแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

หลังเลือกตั้งกรุงเทพฯ ปราบได้ทุนไปศึกษาดูงานการเมืองที่สหรัฐอเมริกา และได้รับข้อเสนอให้ทำงานในฐานะ ‘นักยุทธศาสตร์การเมือง’ ขององค์กรภาคประชาสังคมฝ่ายก้าวหน้าแห่งหนึ่งที่นิวยอร์ก โดยมีความท้าทายสำคัญคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในปีหน้า

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 101 ชวน ‘ปราบ’ วิเคราะห์กลยุทธ์การหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ใครเด่น – ใครด้อยจุดไหน รูปแบบการหาเสียงสะท้อนอะไร ภูมิทัศน์สื่อส่งผลแค่ไหน และอะไรคือปรากฏการณ์ใหม่ของวางกลยุทธ์การเมืองทั้งในไทยและต่างประเทศ


Prab

การเลือกตั้ง 2566 เดินมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว คุณเห็นอะไรน่าสนใจในการแข่งขันกันทำแคมเปญหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ  

ในภาพใหญ่มีการทำงานทางเมืองสามรูปแบบเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก แบบที่หนึ่งคือ ‘การเมืองบ้านใหญ่’ ซึ่งยังคงสำคัญในหลายพื้นที่ แบบที่สองคือ ‘การเมืองเชิงนโยบาย’ และแบบที่สามคือ ‘การเมืองเชิงคุณค่า’ การเมืองแต่ละรูปแบบมองความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมือง นักการเมือง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้การทำแคมเปญหาเสียงต่างกันด้วย

‘การเมืองบ้านใหญ่’ มองผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบเครือข่ายอุปถัมภ์ นักการเมืองมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนในพื้นที่เพื่อแลกกับคะแนนเสียง ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด เพราะสังคมไทยมีปัญหาจำนวนมากที่คนประสบพบเจอ แต่รัฐกลับไม่ทำหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น จึงเกิดช่องว่างให้คนที่มีทักษะ อำนาจ บารมีเข้าไปเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน ส่วน ‘การเมืองเชิงนโยบาย’ มองประชาชนเป็นลูกค้า จุดเด่นของการเมืองเชิงนโยบายคือ การตีโจทย์ว่าประชาชนมีปัญหา แล้วคิดนโยบายไปนำเสนอให้ตรงใจที่สุดเพื่อให้ประชาชนเลือก และแบบที่สามคือ ‘การเมืองเชิงคุณค่า’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคุณค่าในความหมายกว้างด้วย เช่น ความตรงไปตรงมา ความมั่นคง ความโผงผาง ความสู้สุดทาง เป็นต้น จุดเด่นของการเมืองเชิงคุณค่าคือ การมองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็น ‘ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง’ (change agent) พูดง่ายๆ คือ มองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหมือนคนมาม็อบ วิธีการหาเสียงก็คือการส่งเสริม (empower) ให้คนมาช่วยเผยแพร่ชุดคุณค่าบางอย่างร่วมกัน

การเมืองทั้งสามรูปแบบไม่ได้แยกขาดจากกัน เพราะการเลือกตั้งเป็นเกมแบบมีคนได้ คนเสีย (zero-sum game) ถ้าพรรคไหนมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น แสดงว่าต้องมีพรรคที่เสียคะแนนไป ถ้าคุณทำแต่การเมืองเชิงนโยบาย หรือการเมืองเชิงคุณค่าอย่างเดียว คุณก็ไม่มีทางชนะ ในบางพื้นที่ ผู้สมัครฯ ก็ต้องหาวิธีการทำงานการเมืองที่มอบบริการให้เหมือนที่การเมืองบ้านใหญ่ให้บริการ การเลือกตั้งจึงไม่ใช่การเลือกเล่นเกมที่ตัวเองถนัดที่สุด แต่โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยบังคับให้แต่ละพรรคต้องเล่นการเมืองทุกรูปแบบ และใครเล่นการเมืองสามรูปแบบนี้รวมกันได้ผลลัพธ์ดีที่สุด คนนั้นจะมีโอกาสชนะมากที่สุด


มองในกรอบที่คุณบอก พรรคเพื่อไทยน่าจะมีโอกาสชนะมากที่สุด เพราะผสมผสานการเมืองนโยบายที่เป็นจุดเด่นเดิมของพรรค มีการดึงกลุ่มการเมืองที่เป็นบ้านใหญ่กลับเข้าพรรค และก็ยังนำเสนอการเมืองเชิงคุณค่าได้อย่างแข็งแรง เช่น ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ โดยยังมีคุณค่า ‘ประชาธิปไตย’ เป็นเสาหลักอยู่ แต่ในอีกทางหนึ่ง ถ้าเรามองดูกระแสพรรคก้าวไกลที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการเลือกตั้งก็คล้ายกับว่า การเมืองเชิงคุณค่าจะเป็นแนวทางที่ทรงพลังมากกว่า หรืออย่างน้อยตอบโจทย์การเมืองปัจจุบันมากกว่าไหม

พรรคเพื่อไทยมีโอกาสชนะเลือกตั้งมากที่สุด ประเด็นนี้ทุกคนคงเห็นไม่ต่างกัน แต่คำถามที่ต้องถามคือ จะได้เท่าที่คาดหวังหรือเปล่า ซึ่งต้องรอดูหลังเลือกตั้ง การเมืองเชิงคุณค่าไม่ได้ทรงพลังกว่าการเมืองแบบอื่น เท่ากับว่าพรรคเสนอคุณค่าที่ประชาชนอยากได้ไหม ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ได้ช่วยให้คุณได้คะแนนเพิ่มขึ้น

หลักพื้นฐานของการหาเสียงคือ ต้องประเมินว่าประชาชนแต่ละกลุ่มต้องการอะไรกันแน่ แล้วทำกลยุทธ์บนฐานนั้น สมมติประชากรหนึ่งในสามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในการเมืองแบบบ้านใหญ่ อีกหนึ่งในสามชอบการเมืองเชิงนโยบาย และอีกหนึ่งในสามสนใจการเมืองเชิงคุณค่า ในสถานการณ์เช่นนี้พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะเลือกใช้ ‘จุดแข็ง’ ของตัวเอง แต่ผมอยากท้าทายว่า การเน้นจุดแข็งทำให้คุณรักษาฐานเสียง แต่จะไม่ช่วยเพิ่มคะแนนข้ามกลุ่ม การแก้จุดอ่อนต่างหากที่เป็นกลยุทธ์สำคัญในการเลือกตั้งแบบ zero-sum game เช่น ถ้าคุณพูดเรื่องประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง แล้วคุณเน้นย้ำแต่เรื่องนี้ พูดให้ตายคะแนนก็ไม่เพิ่ม เพราะคนที่เลือกคุณเพราะอุดมการณ์ประชาธิปไตย เขามีแนวโน้มจะเลือกคุณอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยยังคงชัดเจน แต่ไปทำงานด้านนโยบายที่เป็นจุดอ่อนให้ดีขึ้น คุณก็มีโอกาสได้คะแนนคนที่ชอบการเมืองเชิงนโยบาย


ในระหว่างหาเสียงเราก็เห็นการแก้เกมปิดจุดอ่อน-เสริมจุดแข็งของแต่ละพรรคกันตลอดเวลา อะไรเป็นจุดตัดสำคัญระหว่างการเน้น ‘จุดแข็ง’ กับ ‘การปิดจุดอ่อน’   

เราเน้นย้ำจุดแข็งในระหว่างหาเสียงได้ แต่เราไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อนในระหว่างหาเสียงได้ เพราะต้องใช้เวลามากกว่าในช่วงเวลาหาเสียง

สำหรับนักยุทธศาสตร์การเมือง (political strategists) การทำให้คนเชื่อและยอมเลือก แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำภายใต้ช่วงระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้ง เพราะการวางกลยุทธ์ทางการเมืองต้องใช้เวลาในการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า ‘ทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์’ (strategic resources) ที่ไม่สามารถสร้างได้ด้วยเวลาสั้นๆ ตัวอย่างง่ายๆ เลย เช่น การพูดเรื่องนโยบายเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีหลายพรรคเสนอในการเลือกตั้งรอบนี้ แต่พรรคที่นำเสนอแล้วคนจำมากที่สุดคือ ก้าวไกล เพราะตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ก้าวไกลคือพรรคที่พูดเรื่องเหล่านี้มาตลอด พูดอีกแบบคือ ‘ความคงเส้นคงวา’ เป็นทรัพยากรที่สำคัญมากในทางการเมือง แต่เราไม่สามารถสร้างความคงเส้นคงวาในระยะเวลาสั้นๆ ได้


ในสายตาของคุณ เวทีหาเสียงคืออะไร เพราะถ้าฟังจากคำอธิบายข้างต้น กลยุทธ์การสื่อสารทางการเมืองคล้ายจะถูกกำหนดไว้ก่อนช่วงเลือกตั้งนานพอสมควรเลย 

“เลี้ยงทหารพันวัน ใช้งานวันเดียว” การเลือกตั้งคือเรื่องนี้และเวทีหาเสียงคือการเอาทรัพยากรที่ตนเองสั่งสมมาประลองกัน เอาเข้าจริง ทางเลือกหรือความได้เปรียบทางกลยุทธ์ใดๆ ในช่วงเลือกตั้ง แทบไม่ได้เกิดจากการแก้เกมในช่วงเวลาเลือกตั้ง แต่คือการวัดกันว่าคุณมีของที่สะสมในมือมากน้อยแค่ไหน และคุณสามารถเลือกใช้เพื่อตอบโจทย์สถานการณ์ได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ ‘มือดีเบต’ ของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก มีหลายสไตล์ และแต่ละคนก็ถือว่ามีคุณภาพ การมีทรัพยากรแบบนี้ทำให้ก้าวไกลมีศักยภาพในการขึ้นเวทีดีเบตจำนวนมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่เกิดจากกระบวนการทำงานในสภา หรือการดีเบตในเรื่องพวกนี้มาตลอดสี่ปี ต่อให้คู่แข่งเป็นคนที่มีไหวพริบปฏิภาณดีมาก มีมือเขียนสคริปต์และทีมข้อมูลที่เก่งมาก แต่ถ้าต้องดีเบตกับคนที่พูดเรื่องนี้มา 4 ปี ก็ยากที่จะชนะได้

พูดให้ถึงที่สุด การทำงานยุทธศาสตร์การเมืองการออกแบบแคมเปญทางการเมืองทั้งระบบ เพื่อให้เมื่อถึงวันจริงแล้ว พรรคมีทางเลือกในการหาเสียงที่จะทำให้ได้เปรียบที่สุด คล้ายกับนักกีฬาที่เล่นในสนามแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่ใช้เวลาเป็นปีเพื่อสะสมแทกติกและฟิตสภาพร่างกายให้พร้อมในการแข่งมากที่สุด


มองแบบนี้เพื่อไทยก็ถือว่าเตรียมตัวมาค่อนข้างพร้อมไหม ครั้งแรกที่พูดถึง ‘แลนด์สไลด์’ ในปลายปี 2564  คนก็ยังไม่เก็ตว่าคืออะไร และตลอดระยะเวลาก็ทำงานยุทธศาสตร์บนฐานนี้มาตลอดจนสร้างกระแสทำให้คนเห็นและจำได้

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีศักยภาพที่จะได้คะแนนเสียงมากที่สุด การทำแคมเปญ ‘แลนด์สไลด์’ จึงน่าสนใจในตัวเองตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม ‘แลนด์สไลด์’ เป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะถ้าหากจะแลนด์สไลด์จริง พรรคเพื่อไทยต้องชนะทั้งในการเมืองบ้านใหญ่ การเมืองนโยบาย และการเมืองคุณค่า

คำถามจึงกลับมาที่ว่า การเลือกแคมเปญแลนด์สไลด์เป็นการเลือกบนรากฐานที่แข็งแรงพอแล้วหรือไม่ หรือเป็นการสร้าง ‘ฟองสบู่’ เพราะหากรากฐานไม่แข็งแรงจริง เมื่อถึงจุดที่ถูกท้าทายจากแคมเปญอื่นๆ ฟองสบู่ก็จะพังทลายลง ในด้านหนึ่ง พรรคเพื่อไทยก็มีหลักความคิดและวิธีการ (doctrine and approach) ในการทำงานการเมืองที่ชัดเจนและเป็นระบบมาก การหาเสียงของเพื่อไทยแทบไม่แตกต่างจากอดีตเลย แม้จะมีการลงทุนมากขึ้น มีทีมงานใหม่ ลงรายละเอียดมากกว่าเดิม แต่ทรัพยากรในเชิงยุทธศาสตร์คล้ายเดิม ซึ่งก็ต้องมาดูว่า หลักความคิดและวิธีการแบบนี้ตอบโจทย์ ‘แลนด์สไดล์’ ได้แค่ไหน

ถ้าคิดแบบนี้จะเห็นคำถามที่น่าสนใจมากขึ้น เช่น การเดินสายหาเสียงโดยอาศัยจุดแข็งจากหลักความคิดและวิธีการเดิม เป็น ‘กลยุทธ์หาเสียง’ หรือว่าเป็นการทำงานแบบ ‘รูทีน’ วิธีการนี้จะช่วยให้เอาชนะภูมิใจไทยในพื้นที่ได้แค่ไหน ในขณะเดียวกัน ในสนามที่ต้องแข่งด้านการเมืองเชิงคุณค่ากับก้าวไกลจะเอาชนะก้าวไกลได้อย่างไร ตรงนี้ยังไม่ชัด

โดยส่วนตัวมองว่า เพื่อไทยเน้นไปที่การทำงานโดยอาศัยจุดแข็ง ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ซึ่งมีความเป็น ‘รูทีน’ แต่ไม่ค่อยได้แก้ความท้าทายและปิดจุดอ่อนเท่าไหร่  


ถ้าจะบอกว่าเพื่อไทยไม่แก้จุดอ่อนในเชิงยุทธศาสตร์เลย ก็อาจจะไม่แฟร์ไหม ที่ผ่านมาพรรคดึงคนใหม่ๆ เข้ามา มีการปฏิรูปข้างในค่อนข้างมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ทำแคมเปญนโยบายที่ปีกก้าวหน้าให้ความสนใจ เช่น เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องการศึกษา เป็นต้น

การมีอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องคงเส้นคงวาด้วย คนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานในพรรคเพื่อไทยเป็นจำนวนมากก็จริง แต่ก็ยังไม่ได้ถึงจุดที่เป็น ‘การขยายพลัง’ (leverage) ยังไม่ได้ไปถึงระดับนำ แม้คุณแพรทองธารจะมีภาพของความเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังทางการเมืองนั้นมาจากทุนทางการเมืองของคุณทักษิณ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนเรื่องนี้คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในขณะที่พรรคก้าวไกลมีคนอย่าง ‘เซีย จำปาทอง’ ที่สะท้อนการเมืองเชิงคุณค่าได้ดี แต่เพื่อไทยกลับไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากนัก

ที่พูดมาอาจจะผิด เพราะตัวชี้วัดที่ดีที่สุดก็คือคะแนนเสียงและจำนวน ส.ส. ที่ได้ (หัวเราะ)


ก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ทำแคมเปญหาเสียงได้น่าสนใจมากที่สุดพรรคหนึ่ง จากที่เคยมองกันว่าน่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. ไม่มากเท่าครั้งก่อน แต่วันนี้ดูเหมือนว่า ‘กระแส’ ที่เกิดขึ้นวันนี้จะเลยจุดเริ่มต้นไปมาก คุณเห็นอะไรจากก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้บ้าง

ก้าวไกลเป็นพรรคที่มีพื้นฐานในการทำแคมเปญดีที่สุด คนทำเทคโนโลยีที่เก่งๆ อยู่กับก้าวไกลมากที่สุด มือดีเบตดีๆ ก็อยู่ที่นี่มากที่สุด ในแง่ของการทำนโยบายก้าวไกลอาจไม่ได้โดนเด่นกว่าเพื่อไทย แต่มีทุนจากการนำเสนอและการเตรียมตัวของผู้สมัครอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าสนใจคือ แคมเปญของก้าวไกลถูกออกแบบตั้งแต่ต้นว่าอยากส่งเสริมให้คนมีส่วนร่วม โดยส่งสัญญาณให้ผู้สนับสนุนพรรคตระหนักว่า เขาสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือพรรคได้ ตัวอย่างรูปธรรมในกรณีนี้คือแคมเปญ 300 นโยบายของก้าวไกลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ จุดเด่นของแคมเปญนี้คือการนำเสนอ ‘แพลตฟอร์มนโยบาย’ ที่เปิดโอกาสให้คนสามารถไปค้นหาสิ่งที่อยากเห็นและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตัวเองได้ ใครชอบอันไหนก็ดึงไปต่อยอดในโซเชียลมีเดียส่วนตัวการทำแพลตฟอร์มนโยบายทำให้พรรคไม่ต้องเหนื่อยกับการคิดกลยุทธ์การสื่อสารในโซเชียลมีเดีย เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่มีกลยุทธ์ไหนสามารถสู้คอนเทนต์ที่ผู้บริโภคเป็นคนสร้างได้ (user-generated content)

ถ้าเข้าใจไม่ผิด แนวคิดการทำแพลตฟอร์มนโยบายน่าจะได้รับอิทธิพลทางความคิดมากจากการทำ 200 นโยบายกรุงเทพฯ ของ อ.ชัชชาติอยู่พอสมควร จำได้ว่าในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพ ก้าวไกลยังนำเสนอนโยบายเป็น ‘แคตตาล็อก’ อยู่เลย คือ พรรคคิดมาแล้ว ‘20 นโยบายกรุงเทพฯ’ ตั้งธงไว้ แล้วก็ให้ทีมสื่อสารนำไปทำงานต่อในโซเชียลมีเดีย การเปลี่ยนมาทำแพลตฟอร์มนโยบายสะท้อนว่า พรรคก้าวไกลถอดบทเรียนความพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างจริงจังด้วย  


เรามักจะได้ยินคนวิจารณ์พรรคก้าวไกลอยู่เสมอในเรื่องการบริหารจัดการหลังบ้าน คุณพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) ก็เคยออกมายอมรับว่านี่คือจุดอ่อนสำคัญของพรรค บางคนจึงมองว่า ความสำเร็จในวันนี้เป็น ‘มวยวัด’ มากกว่าการคิดอย่างเป็นระบบ

ผมให้ความสำคัญกับ foundation ถ้าตรงนี้แข็งแรง ต่อให้การบริหารจัดการไม่ดี แต่มีทางเลือกให้ไปได้มากกว่า การทำงานหน้างานก็พอจะคลำทางไปได้ในที่สุด ในทางกลับกัน หากก้าวไกลไม่มี foundation ที่ดี ก็ไม่มีทางเลือกให้มาถึงตรงนี้ได้เลย


คุณประเมินยุทธศาสตร์ของพรรคหลักอย่างรวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐอย่างไร โดยเฉพาะถ้ามองจากมุมของการทำแคมเปญทางการเมือง

เขาก็ต้องซื่อตรงต่อฐานเสียงของตัวเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้มีความต้องการที่ชัดเจนในเชิงนโยบาย แต่ต้องการคนที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ‘มีศัตรูร่วมกันกับเขา’ ดังนั้น การสื่อสารของตัวแทนพรรคการเมืองอนุรักษนิยมในเวทีต่างๆ จึงเป็นการบอกกับฐานเสียงว่า “เราเป็นพวกเดียวกับคุณ เราเป็นตัวแทนพวกคุณในการสู้กับฝ่ายตรงข้าม” 

แนวทางการสื่อสารแบบนี้เป็นเรื่องปกติในทางการเมือง ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมขวาจัดก็ไม่มีข้อเสนอเชิงนโยบายอะไรที่มีความชัดเจน แต่เมื่อไหร่ที่มีประเด็นเรื่อง LGBTQ เขาจะออกมาโจมตีก่อนเลย และจะใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบในการโจมตีสิ่งนี้ เพราะเขาตระหนักดีว่าสิ่งที่ผู้สนับสนุนต้องการที่สุดคือ การแสดงความไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้

เราต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งสะท้อนเสียงประชาชนหลากหลาย และการหาเสียงก็ไม่ใช่การสู้ชนะด้วยเหตุและผลเพียงอย่างเดียว


การทำแคมเปญทางการเมืองทำให้คนเลือกข้ามขั้วได้ไหม

เป็นไปได้แต่ต้องใช้เวลาและมีวิธีการที่ต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ถ้าคุณไปเคาะประตูบ้านเดินสายหาเสียงและแจกแผ่นพับ แล้วเจอคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับคุณ เขาคงทิ้งทันทีที่คุณเดินไป แต่ถ้าสมมติว่าคุณมีโอกาสได้คุย ได้เจอเขาในบริบทอื่น เช่น ในงานกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การเมือง ได้เริ่มพูดคุยกัน สร้างความสัมพันธ์กัน ก็มีโอกาสที่จะรู้จักกันมากขึ้น เมื่อไหร่ที่คุณทำให้เขาเห็นได้ว่า แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่เขาชอบคุณ ไว้ใจคุณ คุณคือตัวเลือกที่ดีที่สุด การเลือกข้ามกลุ่มก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้น พรรคการเมือง/นักการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนใจจำเป็นต้องลงทุนกับเวลาและทรัพยากรอย่างสม่ำเสมอ

อ.ชัชชาติกับการเลือกตั้งกรุงเทพฯ เป็นกรณีศึกษาที่ดี ในตอนนั้นอาจารย์เลือกเปิดตัวเร็ว เพราะมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์ตัวเองหลายอย่าง อย่างแรกคือพิสูจน์ว่าตัวเองเหมาะกับการทำงานเมือง ต้องสร้างสัมพันธ์กับคนที่ทำงานด้านนี้ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่ชอบอาจารย์ แต่การทำงานร่วมกันทำให้อย่างน้อยคนในแวดวงยอมรับว่า อาจารย์มีความรู้และมีความพร้อมที่สุด อย่างที่สองคือการทำให้คนเชื่อว่าเป็นผู้ว่าฯ อิสระ ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำงานด้วยตัวเองยาวนาน พร้อมจะเจอคนที่หลากหลาย พร้อมพูดคุยกับคนที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองเดิมที่ตัวเองสังกัด ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันประทับใจและเชื่อใจ


พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่เน้นการเมืองบ้านใหญ่อย่างชัดเจน และตลอดเวลาที่ผ่านมาก็เตรียมตัวสู้ศึกค่อนข้างดี ก่อนหน้านี้มีคนเคยพูดด้วยซ้ำว่า พรรคที่พร้อมมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน คนที่รับสื่อตามช่องทางปกติก็จะเห็นความเคลื่อนไหวของภูมิใจไทยค่อนข้างน้อย คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ถ้าจะทำความเข้าใจภูมิใจไทยต้องติดตามการเมืองในระดับพื้นที่จริงๆ ซึ่งความรู้และข้อมูลที่ปรากฏยังค่อนข้างจำกัด ตรงนี้เป็นปัญหาของสื่อไทยด้วยที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ในขณะที่สื่อท้องถิ่นมีขนาดเล็กมาก และมักไม่ถูกการนำมาขยับขยายต่อโดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องการเมือง

อย่างไรก็ตาม เราพอเห็นว่า จุดเด่นของการทำแคมเปญเลือกตั้งของภูมิใจไทยคือ ความสอดคล้องกัน (cohesion) ของการทำกลยุทธ์ การดีไซน์ตรงนี้ภูมิใจไทยมีความชัดเจนมากตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และมีการกำหนดทรัพยากรอย่างชัดเจนว่า พวกเขาต้องทำอะไรในกระบวนการแข่งขัน ซึ่งไม่ไขว้เขวเลย


หากภูมิใจไทยได้จำนวน ส.ส. มากก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจใช่ไหม

ในการเลือกตั้งปี 2562 ภูมิใจไทยได้คะแนนนิยมในโพลไม่เกิน 3% แต่ในการเลือกตั้งจริงพวกเขาได้คะแนนราว 10% ของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์ทั้งหมด นั่นหมายความว่า โพลหรือกระแสที่ปรากฏบนหน้าสื่อไม่อาจสะท้อนความเป็นจริงของภูมิใจไทยได้


ครั้งหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นที่นิยมชมชอบของชนชั้นกลาง แต่วันนี้กลับเป็นพรรคที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดเรื่องการปรับตัว คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ผมไม่แน่ใจว่า ประชาธิปัตย์ปัจจุบันยังคุยกับคนชั้นกลางในเมืองอยู่ไหม เท่าที่เห็น ประชาธิปัตย์หันไปให้ความสำคัญกับการเมืองในพื้นที่เสียเยอะ โดยเฉพาะภาคใต้ ในขณะที่การเมืองเชิงนโยบายและการเมืองเชิงคุณค่าก็ไม่ค่อยโดดเด่น และไม่ชัดเจนว่ากำลังนำเสนออะไร


ในอดีตคุณเคยพูดถึงบทบาทของบิ๊กดาต้าและโซเชียลมีเดียกับการเลือกตั้งไว้อย่างน่าสนใจ แต่ทุกวันนี้แพลตฟอร์มก็เปลี่ยนไปพอสมควร Facebook ไม่ใช่ช่องทางหลักในการสื่อสารทางการเมืองอีกต่อไป ดีเบตทางการเมืองย้ายไปอยู่ใน Twitter ในขณะที่ TikTok ก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ตอนนี้ภูมิทัศน์การสื่อสารการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ในต่างประเทศ คนทำงานยุทธศาสตร์การเมืองให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียน้อยลงมาก หัวใจของข้อถกเถียงในเรื่องนี้คือ เราควรมองว่าโซเชียลมีเดียเป็น ‘สารตั้งต้น’ (cause) หรือ ‘ผลลัพธ์’ (effect) ของการกระแสทางการเมือง

ในภูมิทัศน์ที่โซเชียลมีเดียมีความหลากหลายขึ้น แต่คนรับสื่อมีเวลาใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงเท่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนต้องแบ่งเวลาในการรับสื่อจากแต่ละแพลตฟอร์ม ดังนั้น ต้นทุนในการทำให้ตัวเองถูกเห็นในทุกแพลตฟอร์มก็แพงขึ้นและยากขึ้น ดังนั้น การทำงานยุทธศาสตร์การเมืองจึงมีแรงจูงใจที่จะก้าวข้ามโซเชียลมีเดีย และมองหาวิธีการสื่อสารใหม่ๆ ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ (universal) และให้โซเชียลมีเดียเป็นภาพสะท้อนของกระแสมากกว่า พูดง่ายๆ คือ คุณทำคอนเทนต์ที่เป็นสารตั้งต้นขึ้นมา ถ้าคนชอบเดี๋ยวเขาจะเอาไปต่อยอดในโซเชียลมีเดียวของตัวเอง

The New York Times และ The Washington Post เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ สื่อสองเจ้านี้เน้นทำคอนเทนต์กลางในแพลตฟอร์มของตัวเอง และทำให้ตัวเองมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโซเชียลมีเดีย ในสหรัฐอเมริกา คนทำงานยุทธศาสตร์ก็เริ่มหันมาพัฒนาสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารให้ดี ให้คนเข้าถึงได้ง่าย แล้วให้ผู้สนับสนุนนำไปต่อยอดกันเอง


การใช้ข้อมูลหลังบ้านของโซเชียลมีเดียมาใช้ออกแบบแคมเปญสื่อสารทางการเมืองยังได้ผลอยู่ไหม และการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลมาทำงานสื่อสารการเมืองเหมือนกรณี Cambridge Analytica ยังเป็นประเด็นที่ต้องกังวลหรือไม่

หลังจากทรัมป์ชนะเลือกตั้งในปี 2016 แพลตฟอร์มต่างๆ ก็หันมาป้องกันเรื่องนี้มากขึ้น เช่น การทำไอโอทุกวันนี้จะเห็นยากขึ้นมาก เพราะอัลกอริทึมมีแนวโน้มกรองไอโอ หรือซ่อนไว้ ใครที่เล่น facebook จะสังเกตว่าเดี๋ยวนี้คอมเมนต์ต่างๆ จะมีค่าตั้งต้นเป็น ‘most relevant’ คือให้เห็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรามากที่สุดอย่างคอมเมนต์เพื่อน ส่วนคอมเมนต์ไอโอจะเห็นก็ต่อเมื่อกดให้เป็น ‘all comment’  นอกจากนี้ การซื้อโฆษณาทางการเมืองก็ไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน ตัวคุณสมบัติผู้รับสื่อก็ทำได้อย่างจำกัด ในภาพรวม กระบวนการต่าง ๆ ที่เคยใช้ได้ในปี 2016 ทำได้ยากขึ้นหมดเลย


การที่คนหันมาเสพวิดีโอสั้นมากขึ้น เช่น TikTok หรือ Reels ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการสื่อสารทางการเมืองไหม

วิดีโอสั้นตีกรอบในแง่ที่ว่า เราจะสื่อสารในเรื่องอะไรได้บ้าง เพราะในเวลาจำกัดเราไม่มีเวลาอธิบายอะไรแน่ๆ เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ถูกนำเสนอจึงมักเป็นการย้ำสิ่งที่คนอยากเห็นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้มักไม่ค่อยแปรไปเป็นคะแนน เพราะคนที่ชอบคลิป ส่วนใหญ่เป็นเพราะเขาชอบอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่เพราะฟังแล้วเพิ่งมาชอบ เว้นเสียแต่ว่า ความชอบคนเปลี่ยน ทำให้คนดูคลิปมากขึ้น กลับไปสู่โจทย์ที่ว่า โซเชียลมีเดียเป็น ‘สารตั้งต้น’ (cause) หรือ ‘ผลลัพธ์’ (effect) ของการกระแสทางการเมือง

ถ้าต้องการได้คะแนนเพิ่ม ต้องหาวิธีการเข้าถึงคนที่ไม่อยู่ใน ‘echo chamber’ เดียวกันกับเรา ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม ทำให้ในทางปฏิบัติแล้วก็หนีไม่พ้นการกลับมาออกแบบแคมเปญให้ดีขึ้น


หากวัดกันที่กระแสออนไลน์ พรรคก้าวไกลคงเป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งแน่ๆ แต่นักวิเคราะห์การเมืองไทยก็รู้ดีว่า พรรคเพื่อไทยคือเต็งหนึ่งตัวจริง ในทางวิชาการแล้ว การเมืองออนไลน์กับการเมืองในโลกจริงเชื่อมกันแค่ไหน เสียงหรือกระแสในโลกออนไลน์แปลงเป็นคะแนนเลือกตั้งได้จริงไหม อะไรเป็นตัวกำหนดสำคัญ

ตอนนี้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของสังคมไทยอยู่ที่ 85% ของประชากรทั้งหมด และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มาตลอด นั่นหมายความว่า กระแสที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ส่งผลต่อออฟไลน์แน่นอน อย่างไรก็ตาม การส่งผลไม่ได้เกิดแบบตรงไปตรงมา สมมติในวันๆ หนึ่งอาจมีปฏิสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับข่าวการเมืองคิดเป็น 10% ของโซเชียลมีเดียทั้งหมด นั่นหมายความว่า ต่อให้เกิดกระแสในสื่อการเมือง แต่จะมีอีก 90% ของโซเชียลมีเดียที่ยังไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวันแรก ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสในโลกออนไลน์เชื่อมกับโลกจริงคือความต่อเนื่องของกระแส เพราะกระแสออนไลน์จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการกระจายไปให้ถึงคนในสัดส่วนที่มากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ในโซเชียลมีเดียคนจำนวนน้อยสามารถสร้างกระแสที่มีขนาดใหญ่ได้ ถ้าเป็นกรณีนี้ก็ยิ่งต้องการความต่อเนื่องของกระแสมากขึ้นไปอีก


คุณเคยเขียนเล่าไว้ว่า โลกทุกวันนี้คนทำงานยุทธศาสตร์การเมืองต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะการทำโพลไม่แม่นยำเหมือนสมัยก่อนแล้ว อยากให้ขยายความเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย

ในอดีตการประเมินกระแสไม่ได้มีความซับซ้อนมาก ทุกคนใช้สื่อแบบเดียวกัน ดูทีวีแบบเดียวกัน อ่านหนังสือพิมพ์แบบเดียวกัน มีวิถีการใช้ชีวิตค่อนข้างใกล้เคียงกัน ดังนั้น ตัวแปรในการตัดสินใจทางการเมืองก็จะไม่ซับซ้อนมาก ตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณก็จะเป็นตัวแปรมาตรฐาน เช่น ระดับการศึกษา รายได้ การรับสื่อ ฯลฯ เมื่อระบบไม่ซับซ้อน การทำโพลทั้งระบบก็สามารถทำออกมาได้อย่างแม่นยำ แต่ปัจจุบันคนมีความซับซ้อนสูงมาก ทั้งในแง่อัตลักษณ์ การเสพสื่อ วัฒนธรรมย่อย ชุดคุณค่า ซึ่งทำให้เกิดปัญหาโพลไม่แม่นขึ้นมา เพราะสูตรคำนวณแบบเดิมใช้ได้อย่างจำกัด

นักยุทธศาสตร์การเมืองก็ต้องปรับวิธีการทำงาน โดยจะใช้วิธีการสร้างเช็กลิสต์เข้าไปดูเป็นจุดๆ แทน สมมติถ้าโจทย์คือการชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ก็ต้องเข้าไปดูเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น 1. ต้องชนะกลุ่มคนที่เป็นอายุ 18-35 สำเร็จ 2. ต้องทำให้กลุ่มคนที่อายุ 65 ปีขึ้นไปพูดถึงเราในทางบวก เป็นต้น แล้วก็ออกแบบแคมเปญการเลือกตั้งที่จะทำให้บรรลุเช็กลิสต์เหล่านั้นให้มากที่สุด  


ช่วยยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นได้ไหม

ตอนทำแคมเปญให้ อ.ชัชชาติ ทีมใช้แนวทางที่เรียกว่า challenge-based approach หรือการคิดบนฐานที่ว่า ถ้า อ.ชัชชาติจะแพ้เลือกตั้งต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง จากการทำรีเสิร์ชได้ข้อสรุปว่า อ.ชัชชาติจะแพ้ถ้าสามสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน 1. คนรุ่นใหม่ไม่เลือก 2. ฐานคะแนนชุมชนไม่เลือก 3. ปีกอนุรักษนิยมสามารถรวมเสียงไปที่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งได้ เมื่อได้ลิสต์แล้ว เราก็ไปออกแบบแคมเปญเพื่อจัดการลิสต์

เช็กลิสต์แรกคือทำให้คนรุ่นใหม่เลือก สิ่งที่ต้องทำคือทำตัวให้มีคุณภาพดีที่สุด ต้องใหม่กว่า เร็วกว่า สร้างสรรค์กว่า แล้วก็มอนิเตอร์ทวิตเตอร์ว่ามีฟีดส์แบ็กอย่างไร ถ้าชนะบนทวิตเตอร์ก็ถือว่าบรรลุเช็กลิสต์อันดับแรกได้แล้ว เช็กลิสต์ที่สองคืองานพื้นที่ อ.ชัชชาติไม่มี ส.ก. เป็นของตัวเองเท่ากับว่ามีคนหาเสียงช่วยน้อยกว่า 50 ทีม วิธีการแก้ปัญหาคือการสร้างทีมอาสาสมัคร ซึ่งในด้านหนึ่งเรามีอินไซต์ว่าระบบชุมชนแบบดั้งเดิมของ กทม. เปลี่ยนไปพอสมควร เพราะเกิดหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดฯ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ระบบอาสาสมัครเราก็ทำพื้นที่ส่วนนี้ซึ่งยังเป็นช่องว่างอยู่ นอกจากนี้ อาจารย์ชัชชาติต้องลงพื้นที่มากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ 3-5 เท่าในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อชดเชยการไม่มี ส.ก.

เช็กลิสต์สุดท้ายคือการรวมเสียงของปีกอนุรักษนิยม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้บนเงื่อนไขเดียวคือ ต้องมีผู้สมัครฯ ที่โดดเด่นขึ้นมาว่าเป็นคนต่อกรกับ อ.ชัชชาติ ได้ดีที่สุด ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ ต้องแข่งกันแปะป้ายว่า อ.ชัชชาติ ไม่อิสระจริง นั่นหมายถึงว่า ตราบใดที่ อ.ชัชชาติยังรักษาความเป็นอิสระได้ เงื่อนไขนี้ก็จะไม่เกิด 


ภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีการจัดดีเบตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การมีเวทีดีเบตมากขนาดนี้เป็นผลดีหรือไม่ดีต่อการสื่อสารการเมือง

การมีดีเบตยิ่งมีมากและหลากหลายยิ่งดี โดยเฉพาะในการเลือกตั้งใหญ่ที่สามารถจัดเวทีดีเบตได้หลากหลายแบบ และพรรคการเมืองก็มีทางเลือกในการส่งมือดีเบตได้หลากหลาย อย่าลืมว่าประชาชนมีความหลากหลายมาก บางคนอาจจะชอบดีเบตเจาะลึกเป็นประเด็น บางคนชอบผู้ดำเนินรายการ บางคนชอบรูปแบบ ฉะนั้นยิ่งมีมากก็เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มาก ในด้านกลับ การมีเวทีดีเบตเป็นจำนวนมากก็สะท้อนศักยภาพของพรรคการเมืองด้วยเหมือนกันว่า มีบุคลากรที่สามารถส่งไปพูด นำเสนอจุดยืน นโยบาย ได้มากน้อยแค่ไหนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดดีเบตก็ต้องออกแบบให้ดีด้วย ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาแคนดิเดต 10 คนมาออกเวทีเดียวกัน เอาแค่ 4 -5 คนก็น่าจะเพียงพอ หากเป็นเวทีแคนดิเดตนายกฯ ก็ชวนคนที่อยู่ท็อปของโพล แต่ถ้าเป็นเวทีเฉพาะประเด็น ก็ชวนพรรคหลักมาคุย นอกจากนี้ ผู้จัดต้องทำการบ้านในเชิงข้อมูลด้วย ไม่ใช่จัดแล้วดีเบตวนซ้ำกันไป


ตอนนี้คุณทำงานด้านยุทธศาสตร์การเมืองอยู่ที่สหรัฐอเมริกา อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในวงการการเมืองสหรัฐฯ เป็นอย่างไร

ผมได้ทุนระยะสั้นให้ฝึกงานกับองค์กร movement accelerator แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ซึ่งตอนแรกที่ไปมีคำถามในใจที่อยากรู้คือ ระบบนิเวศ (ecosystem) ของการทำงานทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาเป็นแบบไหน ทำไมกลุ่มภาคประชาสังคมในสหรัฐฯ จึงสามารถเริ่มต้นและเติบโตกลายเป็นองค์กรที่ทำงานต่อเนื่องยาวนานกลายเป็นองค์กรระดับชาติได้ เพราะโดยส่วนตัวรู้จักนักเคลื่อนไหวไทยหลายคน ซึ่งมีความมุ่งมั่นและมีความรู้ความสามารถไม่ได้แพ้กันเลย แต่อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การเคลื่อนไหวเราเติบโตกลายเป็นองค์กรได้ยาก อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไป เราต้องการหาคำตอบตรงนี้

หนึ่งในคำตอบหลักที่เจอคือ ในสหรัฐอเมริกามีการพัฒนาสะสมองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาองค์กร (organizational development) มาอย่างต่อเนื่องมาเป็น 100 ปี ซึ่งระบบนิเวศของไทยไม่สามารถทำได้ เพราะเราถูกปราบปรามมาโดยตลอด โจทย์นี้เลยกลายเป็นคำถามต่อว่า ถ้าเราไม่มีเวลา 100 ปีและไม่ได้มีขนาดของการเมืองใหญ่เหมือนที่สหรัฐอเมริกา เราจะซัปพอร์ตคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร โจทย์ที่สองที่อยากรู้คือทำไมกลุ่มหัวก้าวหน้าในสหรัฐอเมริกาถึงเติบโตและมีอำนาจทางการเมืองได้ มีผู้สมัครหน้าใหม่จำนวนมากที่สามารถเข้าสู่การเมืองและชนะเลือกตั้ง ชนะ establishment ของพรรคเดียวกันและเติบโตขึ้นมาได้

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาพูดคุยกับกลุ่มกลุ่มที่เป็นเบื้องหลังในการผลักดันนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ พบว่าพวกเขามีการถอดบทเรียนกันอย่างจริงจังและเข้มข้นหลังจากที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง คำถามเช่น หลังจากเกิด Occupy Wall Street ซึ่งคนมีความหวังกันมาก ทำไมผ่านไป 5 ปีคนเลือกทรัมป์ เหล่าบรรดาองค์กรสิทธิต่างๆ ทำงานเคลื่อนไหวสู้แทบตายสุดท้ายทำไมประชาชนคนอเมริกันเลือกทรัมป์ หลังจากโอบามาชนะเลือกตั้ง คนเชื่อว่าความขัดแย้งเรื่องสีผิวจะเบาบางลง แต่ทำไมกลับกลายเป็นรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็ถอดบทเรียนกันได้ว่าต้องมี electoral strategy กล่าวคือ ภาคประชาสังคมต้องทำงานกับประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อชี้เป็นชี้ตายนักการเมืองในช่วงเลือกตั้งให้ได้

สมมติว่าผู้สมัครทางการเมืองคนหนึ่งลงสมัครในพื้นที่จังหวัดของคุณ แล้วสมมติคุณถือเครือข่ายผู้ประกอบการหรือเครือข่ายสหภาพแรงงานในพื้นที่นี้ ก็เข้าไปต่อรองเลยว่าคุณยินดีสนับสนุนเขาหากเขาจะเข้าไปผลักดันนโยบายที่คุณต้องการ แต่หากเขาปฏิเสธ คุณก็ไปสนับสนุนผู้สมัครคนอื่นที่รับปากเราว่าจะทำเรื่องนี้ กลุ่มต่างๆ ลักษณะนี้คือกลุ่มที่เติบโตมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เช่น ในการเลือกตั้งของ Alexandria Ocasio-Cortez ถ้าเรามองจากภายนอก ก็จะนึกว่าเขามีทีมงานสร้างแบรนดิ้งและบุคลิกเฉพาะตัวขึ้นมา แต่ถ้าเข้าไปดูเว็บไซต์แคมเปญของเขามีองค์กรสนับสนุนเป็นร้อยเลย

นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ เพราะในอดีตนักการเมืองสหรัฐฯ จะลงเลือกตั้งก็ต้องไปขอรับการสนับสนุนจากชนชั้นนำในพรรค แต่ภายใต้ระบบนิเวศใหม่ที่องค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมากขึ้น หากองค์กรประกาศสนับสนุนผู้สมัครแล้ว ก็จะส่งคนเข้าไปช่วยหาเสียงด้วย วิธีการนี้ทำให้ผู้สมัครหน้าใหม่มีโอกาสในการเข้าสู่การเมืองมากขึ้น ในแง่หนึ่ง องค์กรได้กลายมาเป็นตัวกลางระหว่างการเมืองในสภากับประชาชน และช่วยให้ประชาชนรู้สึกสบายใจกว่าในการผูกยึดโยงตัวเองกับองค์กรภาคประชาสังคม แทนที่จะเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมือง

ส่วนนี้คือระบบนิเวศการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างมากในช่วง 10 ที่ผ่านมา


หากนึกถึงการเมืองไทย เรามีกลุ่มเกษตรกร สมาคมคนขับแท็กซี่ กลุ่มวิชาชีพต่างๆ สามารถทำอย่างนี้ได้ไหม

ใช่ ในสหรัฐอเมริกาก็เป็นกลุ่มแบบนี้เลย แต่ในเมืองไทย การประกาศสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องกังวลอยู่ 2 อย่าง หนึ่ง องค์กรคุณมีการปิดกั้นทางการเมืองหรือเปล่า สอง ถ้าเลือกสนับสนุนผู้สมัครแล้วเกิดแพ้ คุณจะมีปัญหากับคนชนะหรือเปล่า ซึ่งในสหรัฐอเมริกาไม่มีปัญหาเรื่องนี้ อันที่จริงเมืองไทยก็ไม่ควรมีปัญหาด้วย เพราะถ้าองค์กรคุณขับเคลื่อนในประเด็นพื้นฐานที่มีคุณค่าชัดเจน มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมว่าจะทำเรื่องอะไร เพื่ออะไร ต่อให้คนที่คุณสนับสนุนแพ้ ถ้าคนที่ชนะเขาเห็นด้วยกับประเด็นที่คุณขับเคลื่อน เขาก็ไม่ควรที่จะเป็นศัตรูกับคุณ


สมัยที่ไทยรักไทยและอนาคตใหม่กำลังสร้างพรรคก็ทำงานการเมืองคล้ายแบบนี้ไหม ทั้งคุณทักษิณและคุณธนาธรต่างตระเวนคุยกับเอ็นจีโอและคนทำงานด้านประเด็นทางสังคมในยุคสมัยตัวเองเพื่อขอให้สนับสนุนพรรคและรับประเด็นไปขับเคลื่อนต่อ หรือตอนที่ธนาธร-ปิยบุตรทำก็ไปตระเวนคุยกับกลุ่มอะไรแบบนี้เหมือนกัน อะไรคือความเหมือนและความแตกต่างในไทยและสหรัฐอเมริกา

ความแตกต่างคือความต่อเนื่อง พรรคไทยรักไทย 1 กับไทยรักไทย 2 ก็ต่างกันแล้ว ไทยรักไทย 1 เติบโตและได้รับการสนับสนุนจากจากภาคประชาสังคมจำนวนมาก แต่กับไทยรักไทย 2 ภาคประชาสังคมกลับกลายเป็นเสียงที่ต่อต้านพรรคเสียเอง จากนั้นก็ถูกรัฐประหารยุบพรรคไป กรณีอนาคตใหม่ก็มีเวลาไม่นาน แล้วก็ถูกยุบพรรคไป แม้หลังยุบพรรคจะยังได้รับการสนับสนุนอยู่ แต่ก็มีบางส่วน

ความต่อเนื่องไม่ใช่แค่เรื่องพรรคการเมืองเท่านั้น ภาคประชาสังคมก็เข้มแข็งขึ้นจากการทำงานอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในสหรัฐอเมริกา บางองค์กรทำงานต่อเนื่องอย่างเข้มแข็งจนเติบโตกลายเป็นองค์กรระดับชาติ มีสมาชิกองค์กรหลายหมื่นคนทั่วประเทศ เขาก็มีอำนาจต่อรองมาก เพราะสามารถบอกได้เลยว่าหากสนับสนุนผู้สมัครคนใด สมาชิกก็พร้อมลงไปช่วยหาเสียง ในแง่หนึ่งองค์กรภาคประชาสังคมก็ต้องสร้างเครือข่ายเพื่อสะสมอำนาจทางการเมืองของตนเองด้วยเช่นเดียวกัน เพราะลำพังการเคลื่อนไหวในเชิงประเด็นอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอในการสร้างอำนาจต่อรอง หากประเด็นนั้นไม่ได้มาพร้อมกับจำนวนประชาชนที่พร้อมจะสนับสนุนจริงๆ เป็นคะแนนเสียงชี้เป็นชี้ตายนักการเมืองได้จริงๆ


คุณคาดหวังอะไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้

หวังให้เกิดการเลือกตั้ง (หัวเราะ) เพราะการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอมีส่วนสำคัญในการสร้างและสะสมองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมด และยังเป็นการสร้างทักษะให้กับคนที่ทำงานการเมืองด้วย ความต่อเนื่องจะทำให้ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ  และการทำงานที่ตอบโจทย์มากขึ้น แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่การเลือกตั้งหยุดไป ไม่ใช่แค่ความรู้จะหยุดพัฒนา แต่อาจจะหายไปเลยก็ได้

อย่างที่พูดไปแล้วว่า เหตุผลที่การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกามีเครื่องมือและบทเรียนต่างๆ จำนวนมาก ไม่ใช่เพราะเขามีคนที่ฉลาดกว่า แต่เกิดจากการมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง มีวัตถุดิบให้ศึกษามาก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save