fbpx
ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ : เข้าใจสมรภูมิทางการเมืองใหม่ในโลก Social Media

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ : เข้าใจสมรภูมิทางการเมืองใหม่ในโลก Social Media

กานต์ สิทธิเกรียงไกร เรียบเรียง

ท้องถนน รัฐสภา กระบอกปืน กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา กระทั่งยุคสมัยให้โซเชียล มีเดีย เพิ่มเข้ามาเป็นอีกพื้นที่ทางการเมืองหนึ่ง ในหน้าจอโทรศัพท์ของแต่ละคนจึงหนีไม่พ้นเนื้อหาการเมืองไปโดยปริยาย

ตราบใดที่ชีวิตผูกติดกับอยู่กับออนไลน์ การเมืองในระบบไปจนถึงการเมืองในชีวิตประจำวันก็จะปรากฏในหน้าฟีดมิเสื่อมคลาย

เมื่อความท้าทายในการสื่อสารทางการเมืองของโลกยุคใหม่กำลังโฟกัสไปที่การช่วงชิงความได้เปรียบในการสร้าง “วาระทางการเมือง” อะไรคือกลไกที่สำคัญที่โซเชียล เน็ตเวิร์คได้เชื่อมร้อยโลกและคนไว้อย่างแยกไม่ออก

101 One-on-One ชวนคุยกับ ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งโปรเจ็กต์ rethinkthailand ที่สร้างความตื่นตัวในการสื่อสารข้อเท็จจริงที่ถูกทำให้หายไปด้วยวิกฤตการเมืองและโลกโซเชียลที่แทบจะไวกว่าแสง

ประสบการณ์จากการทำกิจกรรมบนท้องถนนขณะยังเป็นนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ในช่วงปี 2553 ทำให้ปราบมุ่งมั่นไปร่ำเรียนเพิ่มเติมในด้าน Communication and Information Science ที่ Tilburg University ประเทศเนเธอร์แลนด์

คำถามคือในแง่มุมของนักกิจกรรมฟากประชาธิปไตยต้องปรับตัวอย่างไรในการต่อสู้ทางการเมือง เมื่ออีกฝ่ายก็มีสิทธิเข้าถึงเครื่องมือทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เช่นกัน

Big data กับการพัฒนาทางการเมืองในสายตาของเขาเป็นอย่างไร ธร ปิติดล นำสนทนา…

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์, rethink Thailand

จุดเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัยเรียนมหาวิทยาลัย มาถึงการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีกับการเมือง  Rethink Political Campaign เป็นอย่างไร

ปี 2553 ผมเริ่มทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) นั่นเป็นช่วงที่เราเริ่มใช้เฟซบุ๊กเพจและสื่อออนไลน์ต่างๆในการเคลื่อนไหว

ความเข้มข้นเพิ่มขึ้นมากเมื่อเราเริ่มศึกษาการซื้อโฆษณาบนเฟซฯ มีคนติดตามเพจเราในตอนนั้นมากกว่าเพจของ อมธ. (องค์กรนักศีกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มันเป็นจุดที่เราเห็นพลังบางอย่างของ ‘Social Media’ เพราะเรามีสื่อของเราเอง บางครั้งการที่เราโพสต์อะไรลงไป มันมีคนเห็นมากกว่าที่เราออกแถลงการณ์หรือขอให้สำนักข่าวเอาข่าวที่เราเขียนไปลงเสียอีก

ช่วงที่เกิดวิกฤตการเมืองตอนปี 2556-2557 ขึ้นมา ก็มีกลุ่มอาจารย์ได้รวมกลุ่มกันในนาม สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) เป้าหมายของเขาคือต้องการสื่อสารว่าทำไมทางออกของประเทศไทยควรเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ทำไมต้องเป็นไปตามหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน

ผมก็ใช้ไอเดียที่เราเคยทำในสมัยเป็นนักศึกษามาช่วยทำเพจให้ จนเพจได้รับการติดตามกว่า 8 แสนไลค์ ผมเกิดความรู้สึกว่าเราชอบงานแบบนี้ ชอบอยู่กับสิ่งเหล่านี้มาก คุณค่าของงานที่เราทำคือการเอางานวิชาการ และงานอุดมการณ์มาเผยแพร่สื่อสารให้ง่ายและกว้างขึ้น

หลายๆ คนคิดว่า communication ต้องเป็นแบบนิเทศศาสตร์ หรือ Communication Arts แต่ผมสนใจ Communication Science and Information มันคือการศึกษาจิตวิทยา รวมถึงการสื่อสารแบบ non-verbal ที่ไม่ได้ใช้เสียง เป็นการเรียนที่ค่อนข้างหนักไปทางวิทย์มากๆ

ประเด็นคือทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่คนจำนวนมากเน้นการติดต่อสื่อสารผ่านเทคโนโลยี ผ่าน Social Media ผมว่าคนที่ศึกษาเรื่องการสื่อสารน่าจะมีคำถามว่าเราจะศึกษาเรื่องการสื่อสารของผู้คนอย่างไร ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะเขียนโปรแกรม หรือสามารถทำงานเกี่ยวกับ Big Data หรือข้อมูลที่มันกระจัดกระจายอยู่ได้

ในด้านหนึ่ง ผมเรียนทฤษฎีการสื่อสาร แต่อีกด้านคือเรียนรู้งานเทคนิค เช่น การทำงานกับข้อมูลออนไลน์ ต้องทำ data connection และเราจะทำอย่างไรกับข้อมูลเหล่านั้นได้บ้าง

พอผมกลับมาไทย ผมก็ทำโครงการ rethinkthailand เป็นโครงการเอางานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย และเกี่ยวกับปัญหาสังคมต่างๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย หรือเรื่องพื้นฐานอื่นๆ มาทำเป็นอินโฟกราฟิก แอนิเมชั่น แล้วเผยแพร่สู่สาธารณะ

โครงการมันเริ่มจากสมัยที่เราเรียนแล้วเราสนใจประเด็นอะไร ก็จะไปค้นใน Google หรือ Youtube มันมีคนทำวิดีโอเพื่อการศึกษาเป็นอินโฟกราฟิกไว้เยอะมาก เช่น Ted-ed เป็นภาษาอังกฤษ หรืออีกด้านหนึ่งคือพวกงานวิชาการที่เนื้อหามีความซับซ้อน ยังไม่เคยมีคนทำออกมาเป็นอินโฟกราฟิก แอนิเมชั่น มาก่อน เพราะในระยะเวลาที่คนทั่วไปอ่านเนื้อหา 9 นาที กับการดูแอนิเมชั่น 9 นาที อย่างหลังทำให้คนเข้าใจเนื้อหาได้ดีกว่า

ทำไมเนื้อหาทางวิชาการถึงควรทำให้อ่านง่ายด้วยวิธีที่คุณบอก

ถ้าเราเป็นคนทำเนื้อหาทางวิชาการ เราอาจมีข้อจำกัดที่ว่าเราไม่มีทางรู้เลยว่าเนื้อหาที่เราทำมาส่วนไหนเป็นส่วนที่คนสนใจ เขาต้องการจริงๆ หรือเปล่า และเราก็จะมีข้อจำกัดว่าเรามีทีมงานที่มีทักษะที่จำกัดและผลิตงานออกมาได้ภายในกรอบข้อจำกัดเหล่านั้น ยังไม่รวมอคติในการเลือกทำเนื้อหาที่เราสนใจอย่างเดียว

เพราะฉะนั้นเราเลยทำเป็น platform ขึ้นมาว่า ถ้าเกิดมีนักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวสนใจอยากเอาเนื้อหาหรืองานของตัวเองมาเผยแพร่ ก็ส่งงานมาให้เรา เราจะติดต่อไปให้คนที่เกี่ยวข้องมาช่วยดูเนื้อหา ช่วยเขียนสคริปต์ขึ้นมา แล้วประกาศ online ว่ามีโปรดิวเซอร์หรือทีมไหนสนใจก็ยื่นเสนองานมาให้เรา เรามีทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้คนที่อยากทำเนื้อหากับคนที่มีความสามารถมาเจอกัน

มองเห็นความท้าทายอะไรในเทคโนโลยีการสื่อสารกับการเปลี่ยนแปลงการเมืองในปัจจุบัน

ช่วงที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำว่า Big data บ่อยมาก ทั้งในภาคธุรกิจหรือในภาคการเมือง ตัวอย่างที่เคยเห็นในการเมืองของสหรัฐอเมริกา คือแนวคิดว่าถ้ามีข้อมูลของประชากรในภูมิภาคต่างๆ จะเป็นไปได้ไหมที่พรรคการเมืองจะสามารถทำแคมเปญให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่นั้นได้มากขึ้น

ในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา เราสามารถคาดเดาได้ว่าคนในบ้านแต่ละหลังมีความสนใจการเมืองด้านไหน เวลาพรรคการเมืองจะส่งทีมงานไปหาเสียง ก็สามารถยกประเด็นแต่ละเรื่องมาช่วยหาเสียงได้เลย

ข้อมูล Big Data ที่รวบรวมเข้ามาก็ได้มากจากหลายทาง อาจจะเป็นข้อมูลบัตรเครดิตของแต่ละบ้าน ข้อมูลการค้นหาในอินเตอร์เน็ตของคนในบ้าน ระบบเอาข้อมูลเข้ามารวมแล้วประมวลผลออกมา แคมเปญของทรัมป์กับฮิลลารี่ต่างก็ใช้วิธีนี้ แต่จะดูว่าฝ่ายไหนใช้มันได้ดีกว่าเป็นเรื่องยากที่จะตอบมาก เพราะว่าปัจจัยให้คนๆ หนึ่งชนะการเลือกตั้งมันละเอียดอ่อนมาก อาจเป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง หรือการตัดสินใจตามความชอบของคน

แคมเปญจาก Big Data อาจเป็นแค่เครื่องมือชิ้นหนึ่ง ความแม่นยำของมันเป็นประเด็นหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าชุดข้อมูลที่ป้อนเข้ามาครั้งแรกมีคุณภาพมากแค่ไหน ถ้าข้อมูลไม่อัพเดตหรือมีองค์ประกอบของข้อมูลน้อยเกินไป การประมวลผลข้อมูลที่ได้ก็อาจจะไม่แม่นยำพอ เป็นปัญหาทางเทคนิค แต่ถึงแม้ว่าคุณมีเทคนิคที่ดีมากๆ แต่อุดมการณ์ที่กำลังนำเสนอไม่ตอบโจทย์ของประชาชนได้ สิ่งนี้ก็อาจเป็นปัจจัยที่ชี้ผลของการเลือกตั้งได้

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์, rethink Thailand

คุณมองความตื่นเต้นของ Social Media ผ่านการศึกษา Communication Science and Information มาอย่างไร

ถ้าถามว่า Social Media เป็นเรื่องใหม่จริงหรือเปล่า ประเทศไทยเริ่มใช้เฟซบุ๊กอย่างแพร่หลายมาเกือบสิบปีแล้ว ประเด็นคือเวลาพูดถึงสื่อใหม่หรือ new media ไม่ใช่ว่าเราต้องปรับตัวอย่างไรกับสื่อที่เราใช้มานานหลายปีแล้ว สิ่งที่ต้องคิดกันคือวัฒนธรรมหรือรูปแบบที่มาพร้อมกับสื่อใหม่สร้างปัญหาและความท้าทายอย่างไรในปัจจุบันบ้าง

เช่น คุณชอบแนวคิดแบบไหนคุณก็ติดตามเพจนั้น คุณได้ข้อมูลเฉพาะที่คุณชอบเท่านั้น กลายเป็นว่าคุณสร้างสิ่งที่เรียกว่า echo chamber ขึ้นมา คุณสามารถเลือกเสพสื่อได้ในแบบที่ต้องการ อีกปัญหาคือถ้าเกิดเฟซบุ๊กไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ตัวกลางที่เชื่อมข้อมูลเข้าด้วยกัน แต่กลับทำหน้าที่เป็นผู้ป้อนข้อมูลให้บรรดาผู้ใช้งานด้วย algorithm ตัวเฟซบุ๊ก อาจจัดลำดับให้คนเสพข้อมูลที่ตัวเฟซบุ๊กสนับสนุนมากกว่า

echo chamber ทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างไร

ในสมัยที่คนเรามีตัวเลือกสื่อไม่มาก คนรับสื่ออย่างใกล้เคียงกัน ในแง่หนึ่งมันคือการเปิดพื้นที่ให้คนที่มีอุดมการณ์ต่างกันได้มาเจอกัน อย่างน้อยก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันผ่านสื่อเดียวกัน เกิดการเผชิญหน้าและการถกเถียง สื่อก็มีหน้าที่จะต้องมอบพื้นที่ให้กับคนทั้งสองฝ่าย เลยกลายเป็นว่ามันเป็นพื้นที่ให้คนทั้งสองได้เผชิญหน้ากันหรืออย่างน้อยก็เสพข้อมูลจากแหล่งเดียวกันอยู่

แต่พอเป็น Social Media คุณเลือกเสพสื่อได้เลย เลือกเสพสื่อที่คุณสนใจเท่านั้น ในแง่นี้โอกาสที่คุณจะได้เจอคนที่คิดต่างจากคุณก็จะน้อยลงเรื่อยๆ อย่างน้อยที่สุดพื้นที่สื่อที่คุณจะได้เสพความเห็นอีกด้านมันก็หายไปแล้ว นี่คือ echo chamber ของแต่ละคน

เสียงของแต่ละคนมันสะท้อนอยู่ด้วยกันเอง ไม่ได้ออกไปหาอีกฝ่าย คำถามคือแล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ปัญหาคือถ้าเกิดใน echo chamber มีแต่คนที่คิดเหมือนกันมากๆ มันจะทำให้คนรู้สึกว่าใครๆ ก็คิดแบบเรา มันจะทำให้คนเราสุดโต่งมากขึ้นหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่า สื่อที่บอกว่าตัวเองเป็นกลางก็จะไม่มีใครเชื่อ พอเป้าหมายของการเสพสื่อของแต่ละคนมาจากการเลือกสื่อที่มีอุดมการณ์หรือเนื้อหาที่สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง สื่อที่บอกว่าตัวเองเป็นกลางจะกลายเป็นสื่อที่ไม่มีใครเชื่อถือ ก็ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาบรรดาสถาบันสื่อที่บอกว่าตัวเองเป็นกลางก็มีปัญหาในการแสดงความเป็นกลางของตน

แต่สื่อออนไลน์ที่เกิดในปัจจุบันจะมีอุดมการณ์หรือหลักการบางอย่างที่เขานำมาขายหมายความว่าสื่อแบบนี้เองจะไม่ใช่พื้นที่ให้คนหลายฝ่ายมาคุยกันได้อีกต่อไปตามระบบตลาดที่เกิดขึ้น

นี่ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เป็นผลจากการที่คนมีตัวเลือกมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรที่คนจะมีโอกาสเห็นคนที่คิดต่างกันได้บ้าง เป็นไปได้ไหมที่คนจะมี awareness มากขึ้น มันคือเรื่องของ Media Literacy ที่คนในสังคมจะตระหนัก หรือว่าสำหรับคนทำสื่อเองตระหนักว่า ต่อให้ตัวเองมีอุดมการณ์แบบหนึ่ง แต่ก็สามารถเปิดพี้นที่ให้กับอีกฝ่ายที่ตัวเองไม่ได้เห็น อาจจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดูโรแมนติกเกินไป แต่ยังคิดถึงวิธีอื่นไม่ออก

สมัยเรียน ผมเคยนั่งคุยกับเพื่อนว่าตัว Algorithm ของ Social Media มันสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะถ้าเกิดทำออกมาแล้ว ผู้ใช้ไม่ชอบแล้วย้ายไปใช้บริการของเจ้าอื่น ผมคิดว่าเลยเป็นปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้

คุณทำความเข้าใจ Algorithm ของ Facebook กับการตัดสินใจของผู้คนทุกวันนี้อย่างไร

มันมีงานวิจัยที่ค่อนข้าง controversial ว่าการที่ตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กได้เห็นเนื้อหาในเชิงบวกหรือลบจะส่งผลต่อการตัดสินใจโพสต์สเตตัสเรื่องที่ดีหรือแย่แตกต่างกันหรือไม่ วิธีการวิจัยคือ นักวิจัยไป manipulate ผู้ใช้ โดยที่เหล่าผู้ใช้ไม่รู้ตัว

ผลการวิจัยบอกว่าถ้าคนได้เห็นเนื้อหารูปแบบไหน ก็จะมีแนวโน้มโพสต์สเตตัสถามเนื้อหาที่เจอ กลายเป็นว่าข้อมูลที่เราได้เห็นไม่ใช่ข้อมูลที่เราเลือกที่จะเห็น แต่เป็นข้อมูลที่ Algorithm เลือกมาให้เรา เลยเกิดคำถามว่าถ้าเป็นอย่างนี้ เฟซบุ๊กก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียง platform แล้ว ถ้าเฟซบุ๊กมีอุดมการณ์ เฟซบุ๊กก็สามารถชี้นำสังคมหรือผู้ใช้ที่ถูกบังคับให้ตัวเองไปในจุดนั้นหรือเปล่า

ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเฟซบุ๊กทำไหม หรือถึงแม้จะทำก็ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร จะทำให้บรรดาผู้ใช้หนีไปค่ายอื่นหรือเปล่า แต่ทุกวันนี้ตัว platform ของเฟซบุ๊กมีอำนาจล้นฟ้ามากๆ อย่างตอนที่มันปรับลดการเข้าถึงของเพจธุรกิจ เพจเหล่านั้นก็ทำอะไรไม่ได้

เพราะทุกวันนี้การที่คนเข้าอินเตอร์เน็ต แล้วจะเสิร์ชชื่อเว็บไซต์ของคุณเพื่อเข้าไปดูเนื้อหาอย่างเดียว ในทางปฏิบัติแทบเป็นไปไม่ได้เลย ทุกคนเข้าเฟซบุ๊กอย่างแรก แล้วไปดูเพจของสื่อต่างๆ แล้วค่อยไปดูว่าสื่อเค้าโพสต์อะไร แล้วค่อยไปดูเนื้อหาอีกที พฤติกรรมคนมันเปลี่ยนไป และยังสรุปอะไรไม่ได้

การใช้ AI มาตัดสินใจแทนมนุษย์ คุณเห็นความท้าทายอะไรที่รออยู่

การเรียนเรื่อง machine learning หรือ AI นอกเหนือจากการถกเถึยงกันเรื่อง privacy แล้วยังมีการถกเถียงกันเรื่อง liability หรือความรับผิดต่างๆ ของมัน

เช่น กรณีรถยนต์ tesla ที่มีระบบขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง อาจไม่ต้องพูดถึงตัวรุ่นไร้คนขับ แต่ในรุ่นที่สามารถคงความเร็วไว้ได้ด้วยตัวเอง ตอนที่คุณอยู่บนทางด่วนแล้วหากมันเกิดอุบัติเหตุมีคนเสียชีวิต คำถามคือความผิดจะตกอยู่ที่ใคร คนขับที่เปิดระบบ auto-drive หรือ algorithm ของตัวรถ หรือถ้าหากวันนึง AI เข้ามาคุมการลงทุนของกองทุนแทนคน โดยให้ AI มาตัดสินใจเรื่องการซื้อขายการลงทุนแทนมนุษย์ เพราะตอนนี้มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า AI สามารถดูแล fund ดูแล wealth ได้ดีกว่ามนุษย์ สมมติเป็นกองทุนประกันสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นล้านคน แล้วเกิดความผิดพลาดขึ้นมาใครจะต้องรับผิด เพราะ AI เป็นแค่คอมพิวเตอร์

ผมว่าการจะใช้ AI หรือการทำให้ Machine Learning เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ต้องมีนักวิจัยอีกกลุ่มที่จะเข้ามาอธิบายเรื่องการทำงานของ AI ให้คนได้เข้าใจ ต้องอธิบายอย่างโปร่งใสมากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจของคนที่มีต่อเทคโนโลยีพวกนี้ ทำให้คนรู้สึกว่าสามารถเข้าใจการตัดสินใจของมันหรือการทำงานของมันได้

หรืออย่าง Fake นิวส์ เฟซบุ๊กควรต้องรับผิดชอบกับการที่มีข่าวเท็จหลุดออกมาไหม

เรื่องนี้จะกลับมาที่หน้าที่ของตัวเฟซบุ๊กเองว่ามีหน้าที่ในการป้องกันการเผยแพร่ข่าวเท็จที่คนไม่สามารถตรวจสอบได้ทันที ณ เวลานั้นว่าเป็นข่าวจริงหรือเท็จ

เฟซบุ๊กต้องตัดสินใจว่าจะลบเนื้อหาบางประเด็นออกไปหรือไม่ ในช่วงเวลาที่มันไม่ยังไม่อาจสรุปความถูกต้องของเนื้อหาได้ การให้อำนาจบริษัทในการทำเรื่องตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องคิดไว้เสมอ

หรือถ้าหากจะนำ AI เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ต้องคิดไว้ก่อนเลยว่าจุดเริ่มต้นของการสร้าง AI แบบนี้ต้องมีชุดข้อมูลที่จะเอา AI ขึ้นมาก่อน ถ้าหากมี fake news ในอดีตกว่าหมื่นชุด แต่การแปะป้ายว่าชุดข้อมูลเหล่านี้เป็น fake news มาจากความคิดของคนที่เป็นเสรีนิยมสุดโต่ง แล้วคุณป้อนข้อมูลชุดนี้เข้าไปใช้ machine learning แล้วสร้าง model ขึ้นมาคาดเดาข้อมูลขึ้นมาว่าเนื้อหาประมาณนี้ในอนาคตเป็น fake news  AI ก็จะเข้าใจโลกจากมุมมองของเสรีนิยมสุดโต่ง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันต้องมีการตรวจสอบว่าที่มาของ AI เป็นอย่างไรโดยเฉพาะเรื่องการเมือง เรื่อง social media ก็ควรมีการตรวจสอบที่มาที่ไปให้ชัดเจน

ความน่าสนใจในการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับการใช้ data science คุณมองความเป็นไปได้และข้อจำกัดของ big data อย่างไร

ความท้าทายอย่างหนึ่งของ Big data คือ เฟซบุ๊กมีข้อมูลเยอะแยะไปหมด แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลเหล่านี้กับคนทั่วไปทุกคน มันมีการรวมศูนย์อำนาจของข้อมูลอยู่ คนที่สามารถรวมข้อมูล ประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ต้องเป็นบริษัทที่มีเงินทุนมหาศาล ถ้าเทียบโอกาสที่จะมีข้อมูลมหาศาลระหว่างรัฐกับนักเคลื่อนไหวหรือ NGO ก็ต้องเป็นรัฐที่ควบคุมและเข้าถึง Big data ได้อยู่แล้ว คนที่มีทุนมีอำนาจจะได้เปรียบกว่าคนตัวเล็กที่จะท้าทายกับโครงสร้างเก่า

คนที่ต่อสู้กับเผด็จการในแง่หนึ่ง คุณอาจจะพยายามให้รัฐมีข้อมูลของประชาชนน้อยที่สุด พยายามปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชน แต่ก็ต้องพยายามให้งานต่างๆ ที่ตนเองทำมีข้อมูลที่เพิ่มขึ้น นักเคลื่อนไหวสามารถเข้าถึงคนที่ให้ความสนใจในกิจกรรมต่างๆ ได้มากน้อยขนาดไหน อาจต้องพยายามคิดถึงการสร้างชุดข้อมูลที่เป็นของตัวเอง สร้างคุณค่าให้มัน ถ้านักเคลื่อนไหวมีชุดข้อมูลเป็นของตัวเองโดยเฉพาะ และใช้มันให้เกิดประโยชน์ก็เอามาใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองได้

ต้องพยายามคิดว่ามีสิ่งไหนที่เราพยายามบันทึกไว้บ้าง อะไรเป็นองค์ประกอบของข้อมูลที่เราจะสร้างขึ้นได้บ้าง มีอะไรที่แต่ก่อนเราไม่ได้สนใจ ต้องลองคิดดูว่าเราจะบันทึกข้อมูลในรูปแบบไหน จะใช้ตัวชี้วัดอะไร

คุณเห็นการปรับตัวของเผด็จการต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไร

ต้องยอมรับว่าเผด็จการก็มีการปรับตัวเหมือนกัน ทุกวันนี้เราจะได้ยินคำว่าปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งปฏิบัติการแบบนี้ก็มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำ fake id หรือร่างอวตารในโซเชียล มีเดีย ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เป็นลักษณะของสงครามออนไลน์ที่ต่างฝ่ายต่างมีกองทัพของตนไว้สู้กับฝ่ายตรงข้าม ที่เราเรียกกันว่านักรบ cyber

แต่ในแง่หนึ่งคนที่ทำงานเผยแพร่ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ คุณอาจไม่จำเป็นต้องมีกองทัพอวตารอย่างนี้ก็ได้ คุณอาจมีแค่ soft power เพราะถ้ามีคนเชื่อในสิ่งที่คุณนำเสนอ และเขาออกมาโต้แย้งแทนคุณ เพราะเขาเชื่อในหลักการและอุดมการณ์เดียวกับคุณ เขาพร้อมที่จะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นแทนคุณได้

ประเด็นมันอยู่ที่วิธีคิดว่าการที่ฝ่ายหนึ่งจะเลือกลงทุนที่จะสู้ผ่านการสร้าง fake content ในฐานะของการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือจะกลับมาสู้ด้วยอุดมการณ์ว่าสิ่งที่คุณนำเสนอมันจะเป็นทางออกให้สังคมได้หรือเปล่า แล้วคุณก็ทำให้ความเชื่อมั่นเหล่านั้นกลายเป็นแนวร่วมทางสังคม แล้วทำหน้าที่ถกเถียงแทนคุณ

สุดท้ายแล้ว social media ก็เป็นแค่เพียงเครื่องมือ คุณหนีการต่อสู้ที่เนื้อหาซึ่งเป็นแก่นสารไม่ได้อยู่ดี

ที่ทางของอุดมการณ์ที่มีคุณภาพในยุคที่สื่อใหม่แพร่หลายกลับดูหายไป แต่กระแสของความเกลียดชังและอคติกลับแพร่หลายมากกว่าเดิม คุณมองอย่างไร ?

เวลานี้สังคมกำลังเรียนรู้ว่าการใช้ new media มันนำมาซึ่งปัญหาและกำลังหาทางออก หาวิธีการแก้ไขสิ่งเหล่านั้น ซึ่งสำหรับตัวผมเองผมก็ยอมรับว่า social media อาจทำให้คนเรายึดติดกับอัตลักษณ์ ยึดติดกับความคิดความเชื่ออะไรบางอย่างมากเกินไปจริงๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง สังคมก็ต้องเรียนรู้ว่าสังคมแบบนี้จะไปไม่รอด

ทุกวันนี้เราได้เห็นความพยายามที่จะออกไปจากสถานการณ์นี้ คนบางส่วนเริ่มรู้สึกว่าต้องลงทุนสร้างพื้นที่ให้กับคนที่เห็นต่างกัน ให้มันเข้ามาแก้ลักษณะของ new media ที่มันมีลักษณะการสร้าง echo chamber ให้กับคน

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์, rethink Thailand

คุณมองว่าสื่อใหม่สร้างความตื่นเต้นให้กับคนในวงการการเมืองบางไหม

ถ้าในสมัยก่อน คุณอยากจะลงเลือกตั้งหรืออยากจะมีชื่อเสียงเป็นเซเลปให้คนรู้จัก คุณจะต้องไปง้อบรรณาธิการสื่อเจ้าต่างๆ ที่ถือพื้นที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไว้ ถ้าคุณมีไอเดียที่ดี คุณมีวิธีการนำเสนอที่ดี คุณมีเป้าหมายที่จะสร้างความเชื่อมั่นของผู้คน สร้างแนวร่วมให้คุณ คุณสร้างพื้นที่สื่อของตัวเองขึ้นมาได้ผ่านทางเทคโนโลยี social media เปิดพื้นที่เหล่านี้ให้คุณ

ถึงมันจะมีคนทำข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่เป็นเรื่องเดียวกับคุณเยอะแล้ว แต่ผมไม่คิดว่าในทางปฏิบัติของวิถีของ new media มันจะเข้ามาจำกัดไว้ คุณไม่มีทางบอกได้เลยว่าวันนี้คนจะขี้เกียจกดเพจใหม่แล้ว มันเปิดโอกาสให้คนนำเสนอข้อเสนอใหม่ๆ ได้ง่ายมาก

ทุกวันนี้คนโหยหาคนที่มีความคงเส้นคงวาทางการเมือง หากคุณเป็นนักการเมืองสมัยก่อนสักเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คุณอาจไม่ต้องอยู่บนหลักการอะไรเลยก็ได้ แต่ในปัจจุบันถ้าคุณทำอย่างนั้นหรือพูดจาไม่คงเส้นคงวา คำพูดของคุณจะถูกขุดมาแชร์ต่อเท่าไหร่ก็ได้

การเริ่มต้นใหม่ทางการเมืองในปัจจุบันคุณสามารถเริ่มสร้างตัวตนใหม่แต่ต้นและสร้างมันอย่างคงเส้นคงวา คุณสามารถอยู่กับความเป็นจริงแบบใหม่ได้ดีกว่าคนสมัยก่อนที่ผ่านบาดแผลเต็มไปหมด

เรื่อง political communication ต่อให้คุณจะพยายามสร้างมันดีแค่ไหน แต่ประชาชนก็เป็นคนประเมินคุณในท้ายที่สุดอยู่ดี ถ้าคุณนำเสนอตัวเองดีเกินไป แต่สิ่งที่ประชาชนได้รับมันต่ำกว่าสิ่งที่เขาคาดหวังจากคุณ คุณก็ไปไม่รอดในทางการเมืองอยู่ดีเพราะคนรู้สึกผิดหวัง

มันต้องมีการพิจารณาตลอดว่าตัวตนที่คุณสร้างขึ้นมามันจะต้องถูกตรวจสอบจากคนที่เขาพยายามหาข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับคุณที่คุณไม่ได้พูด หากเขาพบว่าสิ่งที่คุณสร้างมามันถูก มันไม่มีอะไรมาโต้แย้ง คุณจะได้การสนับสนุนเพราะคนกำลังโหยหาความคงเส้นคงวา ความสม่ำเสมอ

ถามว่าคนที่โหยหาความคงเส้นคงวาและความสม่ำเสมอนั้นคือใคร ผมก็อาจต้องขีดเส้นนิดนึงไว้ว่าน่าจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผมอาจพูดในฐานะของคนยุคผมว่านี่คือความจริงของสังคมชุดใหม่ที่เราอยากได้

อย่างกรณีการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ถ้าถามว่าใครเป็นคนเลือกขึ้นมาก็คือคนยุคเบบี้-บูเมอร์ ถ้าเป็นคนอายุน้อยลงมาหน่อย เขาอยากเลือกเบอร์นี่ แซนเดอร์ เพราะเขาก็มีความคงเส้นคงวา ถ้าไปเสิร์ชข้อมูลที่เขาเคยแถลงต่อรัฐสภาเมื่อยี่สิบ-สามสิบปีก่อน มันคือเนื้อหาเดียวกันกับที่เขานำเสนอทุกวันนี้ แต่เขาไม่สามารถทำแบบนี้ได้กับฮิลลารี่ คลินตัน

ในประวัติศาสตร์การเมืองจะเห็นความพยายามในการใช้เทคนิคใหม่ๆ ตลอดเวลา อย่างปี 1980 นักการเมืองเน้นการทำการตลาดสร้างภาพลักษณ์ ทุกวันนี้เทคโนโลยีจะทำให้เครื่องมือใดกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดทางการเมือง

พูดยากนะ เพราะทุกวันนี้ในแคมเปญการเมืองที่ใหญ่มากๆ ก็ยังมีโอกาสที่บรรดาผู้เล่นจะใช้บริการบริษัทโฆษณาได้เหมือนกัน ผมคิดว่าความต่างอย่างหนึ่งคือสื่อออนไลน์ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะไม่ซื้อโฆษณาที่ชัดเจนมากเกินไป คนที่เขาใช้โซเชียล มิเดียเขามีความรู้สึกว่าพื้นที่นั้นคือพื้นที่ส่วนตัวของเขา เขาไม่ได้ต้องการการโฆษณาที่มันโจ่งแจ้ง เขาต้องการเนื้อหาที่ไม่ได้ถูกปรุงแต่งมากเหมือนสมัยก่อน สังคมต้องการการนำเสนออะไรก็แล้วแต่ที่น่าเชื่อถือและเข้าถึงง่าย

คุณค่าของประชาธิปไตยคือการเปิดพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยน การมาของสื่อยุคปัจจุบันเป็นอุปสรรคกับการแลกเปลี่ยนหรือไม่

ถ้ามองในภาพใหญ่ที่สุดเลย เรากำลังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะใช้มันให้มีประสิทธิภาพ ผมเคยแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการคนหนึ่ง เขาให้ความเห็นว่าเวลาที่คนเถียงกันในออนไลน์ มันดูเป็นการทะเลาะกันหมดเลย ผมว่าเราต้องเข้าใจว่าสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มันคือการสร้างแบรนด์ของผู้ใช้แต่ละคนขึ้นมา คุณไม่ได้สมัครเพื่อเข้าถึงข้อมูล แต่คุณเข้าสู่ระบบเพื่อออกแบบตัวเอง เวลาคุณเขียนอะไรในพื้นที่ของตัวเอง คุณก็จะรู้สึกว่านี่คือแบรนด์ของคุณ แต่วันหนึ่งมีคนเข้ามาคอมเมนต์ไม่เห็นด้วยกับคุณ ปัญหาที่เกิดคือคุณอาจรู้สึกว่าเขามาทำลายภาพลักษณ์ที่คุณสร้าง

การถกเถียงกันทางออนไลน์อีกด้านหนึ่ง คือทุกคนมีกองเชียร์ การมีกองเชียร์มันไม่ทำให้คุณสามารถเข้าสู่การสนทนาอย่างลึกซึ้งได้ บรรยากาศมันเหมือนสนามมวย แต่ถ้าคุณไปสร้างกลุ่มบนเฟซบุ๊กเพื่อสนทนา บรรยากาศมันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ช่วงนี้มันเลยเป็นเวลาของการเรียนรู้ข้อจำกัดของคนทั่วไป

คิดว่าพรรคการเมืองไทยจะใช้ Big Data มาประยุกต์กับการทำนโยบายหรือการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง

ในขั้นที่ง่ายที่สุด เวลานี้มีซอฟแวร์ที่ภาคธุรกิจใช้อยู่ ถ้าพวกนี้ต้องการทำ crisis management บรรดาบริษัทหรือพรรคการเมืองก็สามารถใช้โปรแกรมแบบนี้มาทำงานได้ แต่ก็จะมีปัญหาตรงที่ว่าพรรคการเมืองไม่ได้มีสินค้าจับต้องได้เหมือนภาคธุรกิจ แต่เป็นเรื่องนโยบาย

ขั้นตอนที่ยากขึ้นไปคือถ้าพรรคการเมืองอยากทำนโยบายที่ตอบสนองคนแต่ละบ้าน และขายไอเดียให้เจาะกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด คำถามคือพรรคการเมืองจะเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้มากน้อยขนาดไหน ข้อมูลภาครัฐที่เก็บไว้ในแต่ละพื้นที่มีคุณภาพและเปิดเผยขนาดไหน ถ้าไม่มี คุณพร้อมลงทุนเก็บข้อมูลแบบนั้นไหม มันไม่ใช่การทำโพลที่เคยทำกันมา เพราะการหาข้อมูลแบบใหม่คือการเอาข้อมูลมาเพื่อคาดเดา คุณมีข้อมูลเท่าไหร่ คุณต้องเอามารวมกันให้มากที่สุด แล้วใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาเดาเหตุการณ์ในอนาคต คุณต้องการข้อมูลจากคนเกือบทุกคนในพื้นที่ ไม่ได้ต้องการแค่กลุ่มตัวอย่างไม่กี่กลุ่ม และบรรดาข้อมูลที่ได้มาอาจไม่ได้สะท้อนสิ่งที่คนต้องการก็ได้ เพราะมันเป็นข้อมูลในอดีต ไม่ได้บ่งชี้อะไรในอนาคต

ถ้ามองไปในอนาคต งานด้าน data กับ political campaign management ในไทยจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าตราบใดที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย คงไม่น่ามีตลาดให้ทำเยอะเท่าไหร่ ปัจจัยพื้นฐานคือคนที่จะเข้าสู่อำนาจต้องให้ความสนใจกับเสียงของประชาชน เมื่อนั้นการสื่อสารถึงจะเกิดขึ้น

หากผู้ที่จะเข้าสู่อำนาจไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่มีการแข่งขัน ก็ไม่มีการสื่อสาร หรือในระบบที่ออกแบบมาให้ตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งยังมีอำนาจน้อยกว่าคนที่มาจากการแต่งตั้ง ผลก็คือคนที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ต้องฟังประชาชนมากมาย เขาแค่หาช่องทางที่จะอยู่กับคนมีอำนาจด้วยกัน สื่อสารกันหลังม่าน อาชีพของคนทำแคมเปญก็ไม่เกิดขึ้น

เราต้องสร้างพื้นที่ให้ได้ก่อน แต่ถ้าปัจจัยการเลือกตั้งของไทยไม่ได้ตัดสินกันที่พื้นฐานนโยบาย แต่อยู่ที่ว่าจะเอากลุ่มไหนขึ้นสู่อำนาจ Big Data ไม่ต้องเอามาใช้ก็ได้ เราก็ใช้หลักการทั่วไป

ถ้ารัฐมีข้อมูลมาก สังคมไทยจะเป็นอย่างไร

คำถามแรกที่ต้องคิดคือใครสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลของรัฐได้บ้าง เฉพาะฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ หรือใครอีกบ้าง ข้าราชการหรือองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญจะเหมาะกับการดูแลเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้อย่างเดียวหรือเปล่า

เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงว่าการที่เราไม่ไว้ใจรัฐจะทำให้เราเสียโอกาสที่ดีไปมากน้อยขนาดไหน ที่ผ่านมาคนยอมให้ข้อมูลกับเฟซบุ๊กเพราะตัวเองได้ประโยชน์ แลกกับการเสียความเป็นส่วนตัว แต่กับรัฐในทางปฏิบัติก็ต้องประเมินกัน ถ้ารัฐใช้ข้อมูลของคุณเพื่อรีดภาษีมากขึ้นแต่ไม่ได้จัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพกลับมาเลย คุณจะให้รัฐมีข้อมูลเพิ่มขึ้นไหม

Net neutrality มีผลกับเสรีภาพทางการเมืองหรือไม่

ถ้า algorithm ของเฟซบุ๊กในอนาคตมีการจัดประเภทว่าอะไรคือข่าวเท็จ แล้วปรากฎว่า algorithm ทำงานผิดพลาด แล้วต้องมานั่งเขียนคำร้องให้เอาเนื้อหากลับมา นั่นมีผลต่อเสรีภาพทางการเมืองแน่ๆ นี่รวมถึงเรื่องการกดรีพอร์ทในเฟซบุ๊กปัจจุบัน เราก็อยู่ใต้กฎที่สร้างโดยเฟซบุ๊ก

 

ยุทธศาสตร์การก้าวข้ามความขัดแย้งของสังคมไทยในมุมของคนเรียน data science เป็นอย่างไร

ผมคิดว่าพื้นฐานที่สุดในการที่จะจูงใจคนอื่นได้ มันต้องมีการเข้าหาคนอื่นอย่างมีคุณค่า คุณพูดคุยหรือทำงานกับคนที่คิดต่างจากคุณ มันต้องเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ที่สามารถสื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิด

อะไรที่ไม่ใช่ความฉาบฉวยจะได้รับคุณค่ามาก ทุกวันนี้คนเริ่มให้คุณค่ากับสื่อแนวสืบสวนที่ต้องใช้เวลามากขึ้น การที่คุณเกาะประเด็นอะไรบางอย่างต่อเนื่อง การทำเนื้อหาที่ฉาบฉวยจะถูกมองว่าด้อยค่าเรื่อยๆ

ผมว่าเราต้องยืนหยัดในการแสดงความคิดเห็นของเรา และเราต้องผลักเพดานเรื่องที่เราสามารถพูดได้ให้สูงขึ้น เราต้องการคนที่กล้าพูดในเรื่องที่คนอื่นกล้าพูดต่อได้ เมื่อใดก็ตามที่เรามีพื้นที่ในการพูดน้อยลง เรากำลังมีปัญหา

เราต้องการันตีได้ว่าการที่คุณพูดแล้วคุณจะปลอดภัยไม่ถูกคุกคาม วิธีการสุดท้ายก็คือคุณต้องเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองเพื่อเรียกร้องเรื่องนี้ เราต้องเอาตัวเองเข้ามาในการเมืองเพื่อเปลี่ยนแนวคิดและให้รู้ว่าสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์ก็คือเราทุกคน

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์, rethink Thailand


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “Rethinking Political Campaign” ฉบับเต็ม โดย ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ดำเนินรายการโดย ธร ปีติดล ออกอากาศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ทาง The101.world

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save