fbpx

ร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นกับคนรุ่นใหม่

ที่มาภาพปก: CHARLY TRIBALLEAU / AFP

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก สถาบันวิจัยพาโซลของเอกชนทำการสำรวจเกี่ยวกับแรงงาน คาดการณ์ว่าหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวในระดับเดียวกับปัจจุบัน ในอนาคตอันใกล้นี้คือในปี 2030 ญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้แรงงานกว่า 70 ล้านคน แต่มีแรงงานจริงเพียง 64 ล้านคน จะขาดแคลนแรงงานราวถึง 6.44 ล้านคน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือขาดแคลนแรงงานเกินกว่า 9% ทีเดียว สาเหตุหลักคือมีประชากรเกิดน้อยลงและสังคมผู้สูงอายุ

แยกประเภทธุรกิจที่ขาดแคลนแรงงานมากที่สุดคือธุรกิจบริการ ขาดแคลนแรงงานราว 4 ล้านคน หรือคิดเป็น 60% ของทั้งหมด อันดับต่อมาคือการแพทย์ การสังคมสงเคราะห์ ขาดแคลนแรงงานราว 1.87 ล้านคน และธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกขาดแคลนแรงงานราว 6 แสนคน ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในจังหวัดใหญ่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โตเกียว คานากาวา ชิบะ ไอจิ (นาโกยา) เป็นต้น เมื่อแรงงานไม่พอ กำลังการผลิตและการให้บริการจึงทำได้ไม่เต็มที่ ทั้งๆ ที่ตลาดมีความต้องการ นับเป็นการสูญเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

ในที่นี้ขอยกกรณีของธุรกิจค้าปลีก แบบร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น ตามสถิติ ณ สิ้นปี 2021 ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีร้านสะดวกซื้อ 56,352 แห่ง กล่าวได้ว่าทั่วทุกพื้นที่จะเห็นร้านสะดวกซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของ 3 บริษัทใหญ่ เรียงตามลำดับคือ เซเว่น-อีเลฟเว่น แฟมิลีมาร์ท และลอว์สัน ยอดขายของทั้ง 3 บริษัทในปีเดียวกันนี้มีรวมกันเกือบ 90% ของยอดขายร้านสะดวกซื้อทั้งหมด 11.76 ล้านล้านเยน เป็นยอดขายที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังจากปี 2020 ที่ยอดขายตกลงไปบ้างจากพิษของโควิด-19 ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนเก็บตัวอยู่บ้านไม่ค่อยออกไปนอกบ้านและต้องเวิร์กฟรอมโฮมกันมากขึ้น ร้านสะดวกซื้อบริเวณย่านการค้าและธุรกิจ สำนักงาน ใกล้สถานีรถไฟใหญ่ๆ มียอดขายลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

มองจากคนทั่วไป คิดว่าน่าจะถึงจุดอิ่มตัวของการขยายการเปิดร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นอีก แต่บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อก็ยังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งการรักษาจำนวนร้านค้าที่มีอยู่เดิม หรือเพิ่มร้านค้าใหม่ทดแทนร้านที่หมดสัญญาไป พร้อมๆ กับการปรับปรุงร้านค้าให้น่าเข้ามาซื้อของ ดึงดูดใจด้วยการมีสินค้าเต็มชั้นวางตลอด และเป็นสินค้าที่มีรูปแบบใหม่ๆ ไม่จำเจ 

เมื่อเห็นการแข่งขันอย่างดุเดือดของบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ใหญ่ทั้ง 3 แห่งแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อคงทำกำไรให้ไม่น้อย นอกจากนี้ในญี่ปุ่นยังมีบรรดาธุรกิจแฟรนไชส์อื่นๆ เช่น ร้านแฮมเบอร์เกอร์ ร้านสัตว์เลี้ยง ร้านเสริมความงามต่างๆ ก็แข่งขันกันพยายามหาคนเข้ามาร่วมธุรกิจแฟรนไชส์เช่นกัน 

ร้านสะดวกซื้อของแต่ละแฟรนไชส์ มีเจ้าของร้านที่จ่ายค่าแฟรนไชส์ให้แก่บริษัทเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วตอนเริ่มระบบแฟรนไชส์ใหม่ๆ มีผู้สนใจมาสมัครกันมาก มีทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของร้านอาหารและร้านกินดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพนักงานบริษัทที่อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง อยากมีอิสระ เป็นเจ้านายตัวเอง ไม่อยากอยู่ในระบบการทำงานที่เข้มงวดและต้องทำงานหนักเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในบริษัท ผันตัวเองมาทำร้านสะดวกซื้อ ขณะนี้เหลือคนอย่างนี้น้อยลงมากแล้ว  ต่างก็ไปบริหารร้านแฟรนไชส์ของตัวเอง ซึ่งก็น่าจะประสบความสำเร็จกันไปแล้วสำหรับคนรุ่นนั้น ถึงปัจจุบันเถ้าแก่ร้านเหล่านี้ย่อมแก่ชราลงไปมากแล้ว    

ปัญหาที่ตามมาคือหาตัวผู้สืบทอดกิจการร้านไม่ได้ !!

ร้านสะดวกซื้อ ก็สะดวกตามชื่อจริงๆ คือเปิดบริการ 24 ชั่วโมง คุณสะดวกเวลาไหน แวะมาหา เราก็พร้อมบริการเสมอ  เจ้าของร้านต้องดูแลร้านเอง ตลอดเวลาช่วงเช้าถึงเย็นก็ทำเองได้ แต่ช่วงดึกนี่สิ! หมดแรงแล้ว ส่วนมากต้องจ้างคนทำงานพาร์ตไทม์ หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ‘อารุไบโตะ’(アルバイト)ซึ่งส่วนใหญ่คือนักศึกษาหรือคนทำงานอิสระ แน่นอนว่าค่าจ้างช่วงกะดึกย่อมแพงกว่าช่วงกลางวัน ถึงกระนั้นก็ยังหาแรงงานมาทำไม่ค่อยได้

ลอว์สัน หนึ่งในบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่จึงมุ่งเป้าไปที่นักศึกษาจบใหม่ รับสมัครผู้ต้องการเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ คาดหวังว่าจะฝึกหัดคนหนุ่มสาวให้สามารถบริหารร้านสะดวกซื้อได้ตั้งแต่หนุ่มๆ และในอนาคตก็จะเป็นผู้มากประสบการณ์ สามารถขยายร้านสาขาไปได้อีกหลายๆ ร้าน

แต่…เพิ่งเรียนจบ จะมีความสามารถบริหารร้านได้อย่างไร?

กรณีของลอว์สัน เริ่มแรกจะรับเป็นพนักงานสัญญาจ้างโดยให้ทำงานเรียนรู้งานบริหารที่ร้าน ทั้งการเป็นแคชเชียร์ การสั่งสินค้า การจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ การดูแลบัญชีการเงินของร้าน หลังจากนั้นภายในเวลา 1 ปีก็จะให้แยกตัวเอง โดยบริษัทจัดเตรียมร้านค้าหรือที่ดินให้เช่าไปก่อน และยังมีเงินให้เริ่มกิจการประมาณ 1 ล้านเยน (ประมาณ 2.6 แสนบาท) บริษัทยื่นข้อเสนอว่าภายใน 3 เดือนแรก ขอเพียงแค่เตรียมเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวกับเงินหมุนเวียนในเครื่องแคชเชียร์ของร้านไว้เท่านั้น ก็เริ่มต้นเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อได้เลย พูดง่ายๆ ก็คือไม่ต้องมีเงินทุนก้อนใหญ่ก็สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้  อย่างนี้น่าสนใจไม่น้อยเลยสำหรับคนหนุ่มสาว

ธุรกิจแฟรนไชส์อื่นๆ ต่างก็หันมาใช้วิธีทำนองเดียวกันนี้บ้าง ตัวอย่างเช่น ฟาสต์ฟู้ดส์มอสเบอเกอร์ ก็เริ่มต้นจ้างนักศึกษาจบใหม่เป็นพนักงานสัญญาจ้างเพื่อฝึกหัดให้บริหารร้านได้เองในอนาคต เจ้าของร้านในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ย 59 ปี ซึ่งไม่น่าจะดำเนินกิจการต่อไปได้เกิน 10 ปี และส่วนมากมีปัญหาเกี่ยวกับผู้รับช่วงกิจการ จึงต้องเร่งหาคนรุ่นหนุ่มสาววัย 30 ปีมาเป็นเจ้าของร้านแฟรนไชส์กันตั้งแต่ตอนนี้

ถ้าเช่นนั้นระบบการทำงานของคนในสังคมญี่ปุ่นที่ดำเนินมาตลอด คือเรียนจบแล้วก็แข่งกันสมัครเข้าทำงานในบริษัทใหญ่และมีชื่อเสียง แล้วอุทิศตัวทำงานหนักโดยไม่ปริปากบ่น เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจนถึงเวลาเกษียณ ระบบนี้ก็ถึงเวลาเปลี่ยนไปแล้ว นักศึกษาจบใหม่มีทางเลือกมากขึ้นด้วยการเข้าทำงานกับบริษัทแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อหรือแฟรนไชส์อื่นๆ ที่มีข้อเสนอที่น่าสนใจมายื่นให้ทันทีที่เรียนจบ และมีความหวังว่าในอนาคตจะได้เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง 

เมื่อเกิดการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น ทุกกิจการจึงแย่งตัวบุคลากร ทำให้มาถึงยุคที่เจ้าของแฟรนไชส์ต้องวิ่งหานักศึกษาและมีข้อเสนอดีๆ เพื่อให้เข้ามารับการฝึกสอนงาน รับช่วงต่อจากเจ้าของคนเก่าที่เริ่มแก่ตัวลง ผิดกับยุคก่อนหน้าที่หลายๆ คนพยายามขอสมัครเป็นเจ้าของร้านซึ่งต้องมาพร้อมเงินลงทุนของตัวเองด้วย     

ขณะเดียวกันการเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อในปัจจุบันของญี่ปุ่นก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่คนรุ่นก่อนไม่มี กล่าวคือขาดแคลนแรงงานอย่างมาก แต่ต้องเปิดกิจการตลอด 24 ชั่วโมง แรงงานกะกลางวันยังหายาก แล้วจะหาแรงงานกะดึกได้อย่างไร ย้อนไป 2-3 ปีก่อน ช่วงเวลาพร้อมๆ กับการเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 มีเสียงเรียกร้องจากเหล่าผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อเกือบครึ่งหนึ่งที่เรียกร้องให้บริษัทเจ้าของอนุญาตให้ลดเวลาเปิดทำการของร้าน หรือปิดร้านในช่วงดึกที่มีลูกค้าน้อยและยังเปลืองค่าไฟฟ้าด้วย

แฟมิลี่มาร์ท บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ซึ่งมีสาขาราว 15,000 แห่ง ใส่ใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัททดลองให้บางร้านในบางจังหวัด เช่น โตเกียว นางาซากิ ปิดร้านในช่วงดึก เพื่อเปรียบเทียบดูยอดขายตลอดทั้งเดือนว่าลดลงมากน้อยเท่าใด แต่ก็มีผลว่าบางแห่งกลับมียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่บางแห่งลดลง จึงยังสรุปชัดเจนไม่ได้ โดยจะต้องเพิ่มจำนวนร้านที่เข้าทดลองเพิ่มขึ้นอีก

ส่วนเซเว่น-อีเลฟเว่นนำระบบการคิดเงินด้วยตัวเองมาใช้ในร้าน และลอว์สันมีแผนทดลองปรับเปลี่ยนให้ร้านที่เปิดบริการช่วงดึกกลายเป็น ‘ร้านไร้พนักงาน’(無人店舗)และนำระบบการคิดเงินด้วยตัวเองมาใช้ในร้านด้วย เพื่อลดปัญหาการจ้างพาร์ตไทม์กะดึก

อย่างไรก็ตามแม้ต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ทั้ง 3 บริษัทใหญ่ยังพยายามยึดมั่นในปณิธานสำคัญของการดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อคือ ‘สะดวกตลอด 24 ชั่วโมง’ ไว้ให้ได้นานที่สุด

ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020 เป็นต้นมา แฟมิลี่มาร์ทได้อนุญาตให้เจ้าของร้านแฟรนไชส์ สามารถเลือกที่จะลดเวลาเปิดทำการได้ โดยจะลดเวลาเปิดทำการตอนกลางคืนทุกวัน หรือลดเฉพาะวันอาทิตย์ก็ได้ บริษัทได้ให้เงินช่วยเหลือ 1แสนเยน แก่ร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง แต่หากเลือกที่จะลดเวลาเปิดทำการก็จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือนี้ หรือหากลดเวลาเฉพาะวันอาทิตย์ก็ยังคงให้ความช่วยเหลือ แต่คำนวณตามสัดส่วนของเวลา และบริษัทยังมีนโยบายเพิ่มเงินช่วยเป็น 1.2 แสนเยนอีกด้วย

เจ้าของร้านต้องพิจารณาถึงยอดขาย ค่าจ้างพนักงาน ความสามารถในการแข่งขันกับร้านสะดวกซื้ออื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วยตัวเอง บริษัทได้เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องของร้านที่ลดเวลาเปิดทำการ บางร้านเกรงว่าหากลดเวลาเปิดตอนกลางคืนจะทำให้ยอดขายในช่วงกลางวันลดลงด้วย แต่จากข้อมูลของบริษัทพบว่ามีร้านที่แม้จะลดเวลาเปิดทำการตอนกลางคืนแต่กลับมียอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงกลางวันก็มี

การลดเวลาทำการในเวลากลางคืนเป็นการทำให้เอกลักษณ์ของร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงด้อยลงไป แต่กระนั้นทุกบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ก็ยอมรับว่าจำเป็นต้องอะลุ่มอล่วยบ้าง ตัวอย่าง ภายในเวลา 8 เดือน ในปี 2019 ร้านลอว์สันที่ลดเวลาเปิดทำการก็เพิ่มจำนวนขึ้นจาก 40 ร้าน เป็น 118 ร้าน ส่วนเซเว่น-อีเลฟเว่นในปีเดียวกันก็มีร้านที่อยู่ระหว่างการทดลองลดเวลาทำการถึง 230 แห่ง 

ในทางกลับกันเมื่อลองสอบถามความคิดเห็นของคนญี่ปุ่นผู้ใช้บริการทั่วไปดูบ้าง เกี่ยวกับการเปิดร้านสะดวกซื้อตลอด 24 ชั่วโมง คนส่วนใหญ่บอกว่า “ไม่จำเป็นต้องฝืนเปิดร้านตลอด 24 ชั่วโมงก็ได้ ถ้าลำบากนัก” แต่ในความเป็นจริงช่างตรงกันข้าม หากคนเหล่านี้ไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อตอนเช้า แล้วพบว่ามีของน้อยหรือของไม่ครบ ก็จะไม่แวะมาร้านนี้อีก

ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดให้ความเห็นว่าการเปิดร้านช่วงดึกไม่ได้คาดหวังยอดขาย เพราะลูกค้าย่อมน้อยกว่าช่วงกลางวันแน่นอน แต่เป็นหลักจิตวิทยาทำให้ลูกค้าที่คุ้นเคยและอยู่ในบริเวณใกล้เคียงอุ่นใจว่าหากจำเป็นต้องซื้อของกะทันหัน ซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าก็ปิดหมดแล้ว แต่ยังมีร้านสะดวกซื้อให้ซื้อได้อย่างสะดวกทันใจใกล้บ้าน สำหรับทางร้าน ช่วงดึกที่ลูกค้าน้อย พนักงานต้องทำงานอย่างอื่นที่กลางวันทำไม่สะดวก เช่น เช็กสต็อก รวมทั้งการทำความสะอาดร้านอย่างพิถีพิถันด้วย 

นอกจากนี้ สินค้าอาหารสดใหม่ของวันรุ่งขึ้น เช่น นม ขนมปัง แซนด์วิช ข้าวปั้น อาหารกล่อง ฯลฯ จะเริ่มส่งจากคลังสินค้าตอนกลางดึกราวตี 3 จึงจำเป็นต้องมีพนักงานรับสินค้าพร้อมจัดเรียงให้เต็มชั้นอย่างสวยงาม เพื่อรองรับลูกค้าที่ออกไปทำงานตอนเช้าตรู่ได้เลือกซื้ออย่างพอใจ เมื่อเปรียบเทียบกับร้านที่ปิดช่วงกลางคืนแล้ว เริ่มเปิดอีกครั้งตอน 6 โมงเช้าก็จะจัดเรียงสินค้าไม่ทันต้อนรับลูกค้าในชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้า จึงพบว่าร้านที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงมีลูกค้าแวะเวียนมาอย่างสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นว่าร้านสะดวกซื้อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์จนแยกจากกันไม่ได้

เจ้าของร้านจึงคิดว่าไหนๆ ก็ต้องมีพนักงานรับสินค้าและจัดเรียงสินค้าตอนดึกอยู่แล้ว บางร้านจึงไม่ค้านที่จะเปิดกิจการตลอด 24 ชั่วโมงต่อไป แม้ว่าต้องทำงานหนักขึ้นก็ตาม

ท่ามกลางสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่น ทำให้แรงงานที่มีอยู่ต้องอดทนและฝืนทำงานหนักเกินกำลังกันมากขึ้น จึงมีผู้โจมตีแนวคิดที่แข่งกันให้บริการโดยคำนึงถึงแต่ความสะดวกของผู้บริโภคมากเกินไป ไม่เห็นแก่สุขภาพของผู้ใช้แรงงาน  และจำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติของผู้ซื้อที่ได้รับการเอาอกเอาใจเกินไป อยากได้สิ่งใดก็ซื้อหาได้ทันใจตลอด 24 ชั่วโมงจากร้านสะดวกซื้อ 

ขึ้นชื่อว่า ‘ร้านสะดวกซื้อ’ แล้วไม่สะดวกให้ซื้อจริงละก็ จะไม่แวะร้านนั้นอีกเลย

ใจร้ายจัง…

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save