fbpx

เกิดน้อย เลือกงาน คนอยากกลับบ้าน และโควิดเอ็ฟเฟ็กต์: มองปัญหาการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น 

ภาพปกโดย CHARLY TRIBALLEAU / AFP

ญี่ปุ่นกำลังประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานในเกือบทุกภาคธุรกิจและกระจายไปทั่วประเทศ ทั้งพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ของโควิด-19 มาเกือบ 3 ปี และยังไม่จบการแพร่ระบาดในขณะนี้  

ระหว่างที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการป้องกันโรคด้วยการให้ลดเวลาเปิดหรือให้หยุดบริการ เช่น ร้านอาหาร ร้านดื่มกิน ธุรกิจบริการ เป็นต้น และบริษัทส่วนใหญ่ให้พนักงานเวิร์กฟรอมโฮม จึงยังไม่ค่อยเห็นภาพการขาดแคลนแรงงานที่ชัดเจน แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากบริษัทสำรวจข้อมูลธุรกิจเทโคกุ ดาต้าแบงก์(帝国データバンク)พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2022 มีธุรกิจที่ประสบปัญหาจนต้องล้มละลายไปแล้วจากการขาดแคลนแรงงาน 76 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 

เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีบริษัทมากกว่า 50% ที่ตอบแบบสอบถามว่ากำลังขาดพนักงานประจำ และอีก 30% กำลังขาดพนักงานจ้างชั่วคราว ซึ่งในจำนวนนี้หากแบ่งตามประเภทธุรกิจแล้วพบว่า 77% เป็นธุรกิจร้านอาหาร 62% เป็นธุรกิจโรงแรม ที่พัก และอีก 57% เป็นธุรกิจค้าปลีก

สถาบันวิจัยด้านแรงงานพาโซล(パーソル総合研究所)คาดการณ์ว่าอีก 8 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 ญี่ปุ่นจะขาดแคลนแรงงานถึง 6.44 ล้านคน สาเหตุหนึ่งคือมีประชากรเกิดน้อยลง จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าแรงงานต่างชาติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกประเภทธุรกิจจะใช้แรงงานต่างชาติได้ไปเสียทั้งหมด ถ้าเช่นนั้นก็ต้องหาทางรับมือเบื้องต้นสองวิธี คือนำเทคโนโลยีด้าน IT เข้ามาใช้มากขึ้น เช่น หุ่นยนต์แทนแรงงานคน และต้องเพิ่มศักยภาพของพนักงานทุกคนในองค์กร มีการปรับขั้นตอนการทำงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีสมัย

ในช่วงฟองสบู่แตกของญี่ปุ่นช่วงปี 1990-2013 เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนตกงาน บริษัทปิดกิจการ มีแรงงานเหลือเฟือ แย่งกันหางานทำให้ได้ แต่หลังจากปี 2013 เป็นต้นมา ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างจริงจัง มีความต้องการแรงงานในทุกประเภทธุรกิจ จนมาถึงช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ที่หลายธุรกิจต้องสะดุดหยุดชะงัก 

ธุรกิจที่ขาดแคลนแรงงานอย่างวิกฤตคือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก แบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม ที่พัก 66.7% ธุรกิจบริการข้อมูล 64.9% และธุรกิจด้าน IT รองลงไปคือธุรกิจก่อสร้าง 62% นอกจากนี้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน(厚生労働省)ปี 2019 ระบุว่าธุรกิจขนาดกลางและเล็กในภูมิภาคต้องประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานหนักยิ่งกว่าใน 3 จังหวัดใหญ่และปริมณฑล(三大都市圏)คือ โตเกียว โอซากา นาโงยา และปริมณฑล

เมื่อสำรวจบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับการจ้างงานพนักงานประจำ พบว่ามีบริษัทที่มีปัญหาขาดแคลนพนักงานประจำ 47.7% กล่าวคือเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัททั้งหมด บริษัทที่ขาดแคลนพนักงานไม่ประจำมี 28.5% ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพนักงานประจำจะทำอย่างไร บริษัทส่วนใหญ่ให้ความเห็นในแนวทางเดียวกันว่าต้อง ‘เพิ่มค่าจ้าง’(賃上げ)

ข้อมูลของเทโคกุ ดาต้าแบงก์ เดือนเมษายนปี 2021 เกี่ยวกับแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในธุรกิจต่างๆ พบว่า 6 ประเภทธุรกิจสำคัญลำดับต้นๆ ที่ขาดแคลนแรงงาน คือ ธุรกิจการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง ธุรกิจบริการด้านการศึกษา ธุรกิจอาหาร ดื่ม กิน ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจบริการข้อมูลข่าวสาร

ธุรกิจการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง เช่น การดูแลรักษาความสะอาด ซ่อมบำรุงอาคาร การรักษาความปลอดภัย เป็นต้น  เฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลอาคารและธุรกิจการรักษาความปลอดภัย มีมูลค่าประเภทละ 1 ล้านล้านเยน (2.6 แสนล้านบาท) จำเป็นต้องมีแรงงานมารองรับตามขนาดมหึมานี้ แต่ด้วยลักษณะของงานและต้องมีการทำงานกะกลางคืนจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยม จากการสำรวจพบว่าธุรกิจประเภทนี้ขาดแคลนพนักงานประจำมากเป็นอันดับหนึ่ง มีบริษัทที่ต้องการพนักงานประจำ 55.6% ส่วนพนักงานไม่ประจำขาดแคลนเป็นอันดับ 4 มีบริษัทที่ต้องการพนักงานไม่ประจำ 42.8%

ธุรกิจบริการด้านการศึกษา เช่น สถาบันฝึกอบรม โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนภาษา การศึกษาทางไกล ศูนย์ดูแลเด็กก่อนวัยเรียน เป็นต้น ขนาดธุรกิจมีมูลค่าโดยรวมมากกว่า 2.7 ล้านล้านเยน (7.02 แสนล้านบาท) ยังขาดแคลนแรงงานอีกมากสำหรับตลาดใหญ่ยักษ์ขนาดนี้ แต่ผู้ที่ทำงานในธุรกิจประเภทนี้ได้จำเป็นต้องมีประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะด้าน บางคนแม้สอบผ่าน ได้รับประกาศนียบัตรแต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับงานในธุรกิจนี้ จึงขาดแคลนแรงงานเป็นอันดับ 1 เช่นกัน มีสถานศึกษาที่ต้องการพนักงานประจำ 55.6% ส่วนพนักงานไม่ประจำขาดแคลนเป็นอันดับ 4 มีบริษัทที่ต้องการพนักงานไม่ประจำ 46.2%

ธุรกิจอาหาร ดื่ม กิน แรงงานในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เป็นพนักงานไม่ประจำ พนักงานพาร์ตไทม์ จากการสำรวจธุรกิจนี้ ไม่ได้ขาดแคลนแรงงานอันดับต้น แต่ขาดแคลนแรงงานไม่ประจำเป็นอันดับหนึ่ง มีบริษัทมากกว่า 50% ที่ต้องการพนักงานไม่ประจำ พนักงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานระดับกลาง เป็นแม่บ้าน คนวัยกลางคน หรือนักศึกษา แรงงานเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ มีแนวโน้มเข้าและออกง่ายทำอยู่ไม่นาน เช่น นักศึกษาที่อยู่ระหว่างการสอบหรือใกล้เรียนจบ แม่บ้านที่อาจมีภารกิจส่วนตัวดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย เป็นต้น

ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจนี้ของญี่ปุ่นยังแบ่งย่อยออกเป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มสินค้าทั่วไป กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มเครื่องเรือน และกลุ่มค้าปลีกสินค้าพิเศษ ในจำนวนนี้กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มเครื่องเรือน ขาดแคลนพนักงานประจำถึง 50% และ 43.8% ตามลำดับ กล่าวคือกลุ่มนี้ต้องการพนักงานที่มีความรู้ความชำนาญในสายงานโดยเฉพาะ ส่วนกลุ่มสินค้าทั่วไป กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มสินค้าพิเศษ ขาดแคลนพนักงานไม่ประจำ 45.2% 38.8% และ 30.3% ตามลำดับ พนักงานในกลุ่มนี้ทำงานในร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา โฮมเซ็นเตอร์  เป็นต้น สาเหตุของการขาดแคลนแรงงานจึงเช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจอาหาร ดื่ม กิน ที่มีการเข้า-ออกสูง

ธุรกิจก่อสร้าง ขาดแคลนพนักงานที่จำเป็นต้องมีทักษะ ความชำนาญพิเศษ และมีวุฒิบัตรวิชาชีพ อีกทั้งยังเป็นงานที่ค่อนข้าง ‘หนัก’ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่นิยมในหมู่คนวัยหนุ่มเท่าใดนัก กลุ่มนี้มีบริษัทที่ขาดแคลนแรงงานถึง 54.5% ทีเดียว

ธุรกิจบริการข้อมูลข่าวสาร ประกอบด้วยธุรกิจ IT ซึ่งรวมธุรกิจซอฟต์แวร์และธุรกิจจัดการและบริการข้อมูล ปัจจุบันตลาดธุรกิจนี้มีมูลค่าถึง 17 ล้านล้านเยน (4.42 ล้านล้านบาท) ในอนาคต ตลาดนี้ยังเติบโตก้าวหน้าอีกมาก ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงขึ้นอีก วิศวกรคอมพิวเตอร์ต้องพัฒนาความรู้ความชำนาญให้ทันกับเทคโนโลยีและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่รุดหน้าไปตลอด จึงไม่ง่ายนักที่จะหาผู้มีความรู้ความชำนาญได้ทัน ดังนั้นวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ทำงานปัจจุบันต้องมีภาระงานหนักมาก จึงมีแนวโน้มลาออก เปลี่ยนงานที่ภาระงานน้อยลง จากข้อมูลพบว่าธุรกิจนี้ขาดแคลนพนักงานประจำเป็นอันดับ 4 มีบริษัทที่ต้องการพนักงาน 54.1% ของทั้งหมด

สาเหตุของการขาดแคลนแรงงานมี 4 ข้อหลัก นอกจากผลกระทบจากโควิด-19 คือ

1.จำนวนประชากรที่ลดน้อยลงเพราะอัตราการเกิดลดลง และสังคมผู้สูงวัย ดังนั้นจำนวนประชากรวัยทำงานจึงน้อยลงด้วย  ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่

2.ปัจจุบันตลาดแรงงานเป็นของ ‘ผู้ใช้แรงงาน’ บริษัทจำนวนมากต้องการพนักงาน มีตำแหน่งงานมากกว่า ผู้ใช้แรงงานจึงสามารถ ‘เลือกงาน’ ที่ถูกใจ เหมาะกับตัวเองได้มากกว่าเมื่อก่อน นอกจากนี้คนวัยหนุ่มสาวมีแนวโน้มยึดติดกับชื่อเสียงและบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ค่อยเหลือคนมาสมัครบริษัทขนาดกลางและเล็ก  

3.เงื่อนไขการทำงาน เมื่อก่อนเงื่อนไขที่คนทำงานเลือกพิจารณาเปรียบเทียบคือค่าจ้างและจำนวนชั่วโมงการทำงาน แต่ปัจจุบัน คนหนุ่มสาวจะพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ความยากง่ายของงาน คุณค่าของงาน สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน สวัสดิการพิเศษอื่นๆ เป็นต้น บริษัทขนาดใหญ่อาจปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานตามความต้องการเหล่านี้ได้มากกว่าบริษัทขนาดกลางและเล็ก

4.สถานที่ทำงานในเมืองใหญ่ที่มีความสะดวกสบายก็เป็นปัจจัยในการเลือกตัดสินใจของคนวัยหนุ่มสาว แม้ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการทำงานที่บ้านกันมากขึ้น จนมีกระแสคนหนุ่มสาวย้ายไปอยู่ภูมิภาคที่ค่าครองชีพถูกกว่าก็ตาม (อ่าน ‘บ๊าย บายโตเกียว’ สุภา ปัทมานันท์ มติชนสุดสัปดาห์ 18-24 กุมภาพันธ์ 2565) แต่ธุรกิจที่อยู่ในภูมิภาคก็ยังคงขาดทั้งพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวกันอีกมาก

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนี้จะแก้ไขได้อย่างไร เพื่อไม่ให้วิกฤติมากไปกว่านี้ นอกจากการ ‘ขึ้นค่าแรง’ แล้ว บริษัทในญี่ปุ่นยังคิดทบทวนระบบการทำงานในเรื่องต่อไปนี้

  • การปรับวิธีการจ้างงาน ให้โอกาสผู้หญิงและคนวัยกลางคนมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทญี่ปุ่นยังไม่ค่อยจ้างคนที่ลาออกจากงานเดิม สงสัยไว้ก่อนว่ามีปัญหาอะไรจากที่ทำงานเดิม คนวัยกลางคนจึงมีโอกาสน้อยที่จะได้งานใหม่ นอกจากนี้ผู้หญิงที่ลาออกไปเพราะแต่งงานหรือมีภาระเลี้ยงดูลูก เมื่อลูกๆ โตเข้าโรงเรียนแล้ว อยากทำงานประจำอีกครั้งแต่ก็ไม่มีโอกาส จำต้องทำงานพาร์ตไทม์เท่านั้น น่าเสียดายความรู้ความสามารถของผู้หญิง
  • ปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน เช่น จัดระบบการทำงานที่บ้านสลับกับการมาสำนักงาน มีระบบเข้าเวรรับผิดชอบผลัดเปลี่ยนกัน อนุญาตให้ลาหยุดเพื่อพักผ่อนท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น พนักงานญี่ปุ่นไม่ค่อยกล้าลาหยุดตามสิทธิ์เนื่องจากถูกมองว่าเอาเปรียบ เพิ่มภาระงานให้เพื่อนร่วมงาน ต้องปรับระบบการเลื่อนขั้นและขึ้นเงินเดือน ไม่ใช่พิจารณาตามอาวุโสและอายุงาน แต่เป็นการพิจารณาจากความสามารถและผลงาน ให้โอกาสพนักงานชั่วคราวได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานประจำ เป็นต้น
  • สนับสนุนการฝึกอบรม เพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน เมื่อหาคนมาทำงานเพิ่มไม่ได้ จึงต้องอบรมพนักงานที่มีอยู่ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และใช้เวลาทำงานน้อยลงเพื่อให้พนักงานมีเวลาพักบ้าง
  • ปรับรูปแบบการทำงาน งานประจำซ้ำๆ กัน ทำให้พนักงานขาดความกระตือรือร้น จำเป็นต้องจัดทำ ‘คู่มือการทำงาน’ ให้ชัดเจน เพื่อให้มีคนทำงานทดแทนกันได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การทำคู่มือการทำงานจะทำให้ผู้บริหารรู้ว่ามีจุดรั่วไหล หรือไม่คุ้มค่าที่ใดบ้างในการจัดงานให้เข้ากับคนอย่างเหมาะสม
  • สร้างแรงจูงใจให้พนักงานรักและภักดีต่อองค์กร ในยุคนี้พนักงานผู้เชี่ยวชาญไม่ได้หาได้ง่ายๆ ดังนั้นเมื่อได้คนที่มีความรู้ความชำนาญมาแล้ว องค์กรต้องรักษาไว้ให้ดี นอกจากนี้ฝ่ายบุคคลขององค์กรต้องมีความแม่นยำในการคัดเลือกบุคลากรที่ตรงกับความต้องการให้มากที่สุด และปรับสภาพแวดล้อมบรรยากาศการทำงานให้เป็นที่จูงใจด้วย
  • นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยมาใช้กับงานให้มากขึ้น เช่น ระบบบัญชี คลังสินค้า ระบบการขายและสั่งซื้อ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้พนักงานทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
  • ใช้บริการ outsource ให้มากขึ้น เช่น คอลเซ็นเตอร์ งานบัญชี งานคีย์ข้อมูล เป็นต้น เพื่อให้พนักงานประจำของบริษัททุ่มเทกับงานหลักของบริษัทเต็มที่
  • ปรับภาพพจน์ขององค์กรให้ดีขึ้น เพื่อจูงใจให้คนอยากเข้าร่วมงาน
  • มีความยืดหยุ่นในองค์กรมากขึ้น ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ รับฟังความคิดเห็นและยอมรับการเปลี่ยนแปลง สร้างบรรยากาศที่ไม่เคร่งเครียด แต่ทุกคนทำงานด้วยความมุ่งมั่นและมีความสุข

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่นเริ่มคลี่คลายลง จนรัฐบาลประกาศเปิดประเทศเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลมาจากทุกมุมโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพของคนญี่ปุ่นสูงขึ้น ต้นทุนสินค้าพุ่งขึ้น สินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตแพงขึ้น ทั้งจากปัจจัยค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีนี้ จนต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเข้าแทรกแซงพยุงค่าเงิน และผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย กรณีรุกรานยูเครน แต่ภาคธุรกิจญี่ปุ่นกลับขาดแคลนแรงงาน หากจะพึ่งพาแรงงานนำเข้า ค่าแรงที่ยังไม่เพิ่มขึ้นในประเทศ ประกอบกับค่าเงินเยนที่อ่อนลงมาก คงไม่จูงใจแรงงานต่างชาติเท่าใดนัก

เจ้าของธุรกิจญี่ปุ่นต้องกุมขมับกันต่อไป…

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save