fbpx

“จุดไฟแล้วส่งต่อ อย่าให้ดับ” วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในวันที่ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงใช้เวลามากกว่าที่คิด

แม้รัฐธรรมนูญถูกบัญญัติเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เหนือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ทั้งปวง แต่สภาพที่เกิดขึ้นจริงในสังคมนั้นไม่ใช่

อาจทำความเข้าใจง่ายขึ้นหากบอกว่าสิ่งที่เราเผชิญอยู่นี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองรูปแบบอื่น ซึ่งถูกฝ่ายหนึ่งอธิบายว่านี่คือ ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ อันหมายถึงประชาธิปไตยแบบมีเงื่อนไข ประชาธิปไตยแบบมีนามสกุล หรือกระทั่งว่านี่อาจไม่ใช่ประชาธิปไตย เพียงแต่เราเรียกกันโดยลำลองว่า ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’

การทำความเข้าใจสภาพที่เกิดขึ้นคือสิ่งจำเป็นในการมองภาพการต่อสู้เพื่อหวังเห็นประชาธิปไตยแบบสากลปักธงตั้งมั่นในสังคมไทย ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นต้องมองเห็นความต่อเนื่องตั้งแต่ 2475 เพื่อเข้าใจว่าสิ่งที่เราเผชิญอยู่ปัจจุบันนี้เป็นจุดหนึ่งบนเส้นทางการต่อสู้ซึ่งยังไม่มีผู้ชนะหรือผู้แพ้แบบเด็ดขาด

101 ชวน ศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองภาพกว้างการเมืองและสังคมไทยว่าเราควรทำความเข้าใจอย่างไรต่อระบอบการปกครองอันคลุมเครือที่เป็นอยู่นี้ ที่สุดแล้วคุณค่าหลักที่อยู่ในรัฐธรรมนูญคืออะไรและจะส่งผลอย่างไรต่อการต่อสู้ทางการเมือง จนถึงประเด็นที่ชวนคิดต่อการเลือกตั้ง 2566 อันจะเป็นอีกหนึ่งข้อต่อในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภายใต้คำถามสำคัญว่าประชาชนจะมีความหวังแค่ไหนในการเห็นประชาธิปไตยอย่างเต็มตาในบ้านเมืองนี้

แน่นอนภายใต้ระบอบประยุทธ์ที่กินเวลามายืดยาว นับจากรัฐประหาร 2557 การเลือกตั้งครั้งนี้อาจสร้างประกายวาบถึงการหลุดพ้นจากความตกต่ำของประชาธิปไตย แต่หากมองความเป็นจริง การต่อสู้นี้น่าจะเรียกร้องความอดทนและความเห็นพ้องของสังคมอีกมาก กว่าจะถึงภาพที่ผู้คนใฝ่ฝันเห็น

เรามักได้ยินนักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญพูดถึงความคลุมเครือของระบอบที่เราเป็นอยู่หรือความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐธรรมนูญกับระบอบที่เหนือกว่า ถ้าจะให้อาจารย์ลองนิยามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามสภาพที่เกิดขึ้นจริงนั้นเป็นอย่างไร

เรื่องระบอบนั้นนิยามยากเพราะไม่อยู่นิ่งเมื่อมองจากสภาพข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบสร้างคำอธิบาย ระบอบนี้มีลักษณะพลวัตเพราะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจก็ดำเนินต่อเนื่องมา

สภาพแบบนี้ไม่ได้เกิดที่ไทยเท่านั้น หลังปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส ค.ศ.1789 คณะปฏิวัติก็จัดทำรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่ยังมีอำนาจมากพอสมควรเมื่อเทียบกับหลังปฏิวัติ 2475 ของไทย ปฐมรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจำกัดอำนาจกษัตริย์ของไทยหลังปฏิวัติมากกว่ากษัตริย์ฝรั่งเศสเสียอีก ข้อที่ต่างกันก็คือหลังปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศสและเปลี่ยนแปลงเป็นราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญเพียง 3 ปี ฝรั่งเศสก็เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ หลังจากนั้นก็ผันผวนอยู่หลายครั้ง สลับไปมาระหว่างสาธารณรัฐกับรัฐกษัตริย์ และใช้เวลาร่วมร้อยปีกว่าจะเข้าที่เข้าทาง

สำหรับไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างฝ่ายอำนาจเก่าคือกษัตริย์และขุนนางกับฝ่ายอำนาจใหม่คือคณะราษฎร การประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดเป็นรัฐธรรมนูญสยาม 10 ธันวาคมขึ้นมา หลังใช้รัฐธรรมนูญไม่นานก็เกิดความขัดแย้งกันอีก นำไปสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 จากนั้นระบอบค่อนข้างนิ่งอยู่ช่วงหนึ่ง เป็นช่วงที่กษัตริย์ไม่มีบทบาทมากนัก เพราะรัชกาลที่ 8 ทรงพระเยาว์และอำนาจอยู่ในมือของคณะราษฎร

จนกระทั่งหลังปี 2490 ฝ่ายอำนาจเดิมพยายามช่วงชิงอำนาจกลับไปและคืนอำนาจให้สถาบันกษัตริย์มากขึ้น ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งสะดุดไปช่วงปี 2495 แต่หลังปี 2500 เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาเริ่มคืนอำนาจให้กษัตริย์มากขึ้น และอาจจะมากที่สุดในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบของอำนาจของกษัตริย์ไปจากทศวรรษที่ 2490 อย่างมาก เพราะแต่เดิมนั้นถึงจะมีการเพิ่มพระราชอำนาจอย่างไร หลักการกระทำของพระมหากษัตริย์จะมีผลในทางกฎหมายต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก็ใช้บังคับอยู่เรื่อยมา แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีการกระทำในทางกฎหมายจำนวนหนึ่งที่พระมหากษัตริย์สามารถใช้อำนาจโดยตรงให้มีผลในทางกฎหมายได้ ผมจึงเห็นว่าถึงที่สุดแล้วระบอบที่เป็นอยู่ตอนนี้ตั้งชื่อไม่ได้ แม้ว่าเราอาจจะเรียกมันว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ก็ตาม แต่มันเป็นอะไรบางอย่างที่ต่างไปจากเดิมก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ในสาระสำคัญพอสมควร ในปัจจุบัน เราอาจจะอยู่ในห้วงเวลาซึ่งสถานะของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันนี้ผมหมายถึงอำนาจในทางกฎหมาย ส่วนทางวัฒนธรรมและบารมีเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงระบอบที่เราเรียกโดยลำลองว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หากมองในแง่ของความไหลเลื่อนทางประวัติศาสตร์ มันก็เป็นระบอบซึ่งมีลักษณะชักเย่อกันระหว่างอุดมการณ์สองฝ่ายซึ่งยังสู้กันอยู่ อุดมการณ์ฝ่ายประชาธิปไตยนิติรัฐแบบสากลกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทยชักเย่อกัน แต่ผลจากการยึดอำนาจอยู่เป็นระยะ ทำให้การคืนอำนาจบางส่วนสู่สถาบันกษัตริย์มีมากขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งอำนาจทางบารมีที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในรัชกาลที่ 9 พอถึงรัชกาลที่ 10 ก็กลายเป็นอำนาจในทางรัฐธรรมนูญไป

ระบอบนี้ก็คือระบอบซึ่ง ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ เป็นหลัก ‘ประชาธิปไตย’ เป็นรอง ในสภาพแบบนี้ไม่ถึงขนาดว่าไม่มีประชาธิปไตยเลย แต่มันเป็นรองและไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบสากล

ระบอบเราคือประชาธิปไตยที่มีนามสกุลต่อท้าย จริงๆ แล้วถูกต้องหรือเปล่าที่เราเอาคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ขึ้นมาเป็นหลักในการอธิบายระบอบนี้

เรื่องนี้พูดได้หลายแง่มุม ต้องถามว่าเราพูดเรื่องนี้จากเกณฑ์ทางกฎหมายของระบอบที่เราเป็นอยู่ หรือเราพยายามมองจากความเป็นจริง ซึ่งจะมีนัยต่างกันอยู่

ถ้าพูดถึงสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ ถามว่าชื่อนี้ถูกไหม ชื่อของระบอบนี้เป็นผลจากอำนาจในทางข้อเท็จจริง อำนาจในทางข้อเท็จจริงเกิดขึ้นมาก่อนแล้วมันก่อรัฐธรรมนูญซึ่งให้ชื่อระบอบนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้ามองจากอำนาจทางข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งชื่อระบอบมันก็ไม่มีถูกผิด เพราะถึงเอาคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ เป็นตัวตั้ง มันก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ทรงอำนาจจะกำหนดความหมายของมันยังไง

แต่ถ้าหากพูดในแง่หลักเกณฑ์ โดยเฉพาะเกณฑ์ทางกฎหมาย ถ้าคำว่า ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ที่มาต่อท้ายมีลักษณะการจำกัดอำนาจของปวงชนลง ทำให้ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขององค์กรรัฐน้อยลงหรือองค์กรของรัฐบางองค์กรไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย อันนี้มันก็ไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ส่วนถ้าจะตอบว่าเอาคำนี้มาอธิบายเป็นหลักถูกไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าอธิบายอะไร ถ้าอธิบายในทางข้อเท็จจริงว่ามันเป็นประชาธิปไตยแบบไทย มันก็เป็นแบบนี้แหละ ศาลไม่ต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยก็ได้ มันก็อธิบายจากสภาพการณ์ที่เป็นจริง แต่ถ้าอธิบายจากแบบแผนของถ้อยคำ ในแง่บรรทัดฐาน มันก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้นถ้ามองโดยใช้เกณฑ์ประชาธิปไตยทั่วไป อธิบายคำว่าประชาธิปไตยจากอุดมการณ์ มันก็อธิบายได้ตามหลักการ แต่หลายกรณีก็จะไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ สุดท้ายก็อยู่ที่ว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัด สำหรับคนที่มองในทางข้อเท็จจริงเขาก็บอกว่าชื่อนี้รับกับสภาวะข้อเท็จจริงซึ่งเป็นผลของการต่อสู้ เมื่อฝ่ายที่ถืออุดมการณ์ประชาธิปไตย-ฝ่ายประชาชนเพลี่ยงพล้ำรักษาอำนาจไว้ไม่ได้ อำนาจก็ถูกคืนกลับไป ชื่อนี้จึงถูกต้องในสภาวะที่เป็นจริง เวลาอธิบายก็อธิบายให้มันรับกับความเป็นจริง สามารถใช้คำว่าประชาธิปไตยได้ ฟังดูหรูดี แต่มันคือประชาธิปไตยแบบไทย แต่ถ้าเอาให้ถูกต้องจริงๆ การใช้คำว่าประชาธิปไตยเป็นหลักก็ไม่ถูก อย่างไรก็ตามในแง่ของการชักเย่อ คำว่า ประชาธิปไตย อาจถูกใช้ให้เป็นประโยชน์แก่การต่อสู้ได้ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ไม่นิยมประชาธิปไตยในแบบแผนสากลสามารถใช้คำนี้อำพรางความเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยได้ ฝ่ายประชาธิปไตยตามแบบแผนสากลก็สามารถใช้คำนี้ช่วงชิงการให้ความหมายในการตีความในบางกรณีได้

อันที่จริงแล้วถ้าจะใช้เกณฑ์ประชาธิปไตยแบบสากลก็ไม่จำเป็นต้องมี ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ต่อท้ายในฐานะเป็นชื่อระบอบ เพราะโดยทั่วไปการตั้งชื่อระบอบแบบนี้เป็นการเอาเรื่องระบอบการปกครอง (คือประชาธิปไตย) กับรูปของรัฐ (คือความเป็นราชอาณาจักร) ซึ่งเป็นสองเรื่องที่มองจากเกณฑ์คนละเกณฑ์กันมารวมกัน จะเห็นได้ว่าหลังการยึดอำนาจปี 2549 คณะรัฐประหารใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy) แต่ต่อมาเขาตัดคำว่า under constitutional monarchy ออก เพราะชื่อนี้พอแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วคนต่างประเทศไม่เข้าใจว่าทำไม monarchy มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อคณะรัฐประหารที่จะปฏิรูประบอบ สุดท้ายเขาจึงเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ แปลว่าชื่อระบอบแบบนี้ไม่ใช่ชื่อระบอบซึ่งเป็นสากล

เราจะสังเกตได้ว่า ประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขที่อื่นๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือสเปน เขาไม่ได้ใช้ชื่อระบอบการปกครองว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมือนบ้านเรา นี่คือชื่อเฉพาะที่เรากำหนดขึ้นมาในรัฐธรรมนูญของเรา ไม่ใช่ชื่อที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ถ้าเราประกาศในรัฐธรรมนูญว่าเราเป็นราชอาณาจักรก็ชัดเจนแล้วว่าเรามีกษัตริย์เป็นประมุข ไม่จำเป็นต้องตอกย้ำเรื่องกษัตริย์เป็นประมุขอีก ฉะนั้นการมีคำว่า ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หมายความว่าคนทำรัฐธรรมนูญต้องการเน้นอะไรบางอย่างขึ้นมาเป็นพิเศษ ถ้าดูจากการช่วงชิงอำนาจถึงปัจจุบันก็จะเห็นว่า ฝ่ายที่เน้นเรื่องอันมีกษัตริย์เป็นประมุขเขาประสบความสำเร็จในทางข้อเท็จจริงอยู่นะ จากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญเรื่อยมา

ความไม่ชัดเจนทั้งชื่อระบอบหรือความคลุมเครือระหว่างความสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นปัญหาในการอธิบายเชิงวิชาการ ผลเสียที่สุดของมันคืออะไร

ผลเสียที่สุดคือมีความไม่แน่นอนเมื่อมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กันในทางการเมืองและต้องใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือคดีล้มล้างการปกครอง (การชุมนุม 10 ส.ค. 2563 ที่มี 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ) ที่เถียงกันว่านี่จะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ถ้าเรามองจาก ‘ประชาธิปไตย’ เป็นตัวตั้งหรือเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญรับรองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย ข้อเสนอหลายส่วนที่เขาเสนอนั้นยังมองไม่ได้หรอกว่าเป็นเรื่องการล้มล้างการปกครอง แต่ถ้าเรามองตัวระบอบ ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ เป็นหลัก ตามความเข้าใจของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นได้จากคำวินิจฉัย เขาจะมองว่านี่คือการล้มล้าง

ฉะนั้น ความคลุมเครือนี้ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนแน่นอนในทางกฎหมายขึ้นมา และความไม่ชัดเจนแน่นอนปรากฏตัวขึ้นในรัฐธรรมนูญด้วย เพราะมีการเขียนคุณค่าหลายอย่างลงไปในรัฐธรรมนูญพร้อมๆ กัน แล้วเป็นปัญหาเรื่องการตีความ สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าคนมีอำนาจให้ความหมายแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีองค์กรซึ่งสามารถให้ความหมายในทางกฎหมายเป็นที่สุดและสามารถบังคับในทางข้อเท็จจริงได้ไหม ซึ่งปรากฏว่าเขาให้ความหมายแบบนี้และจนถึงขณะนี้สามารถบังคับในทางข้อเท็จจริงได้  แน่นอนสำหรับผมซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์เห็นว่าไม่ว่าอย่างไรรัฐธรรมนูญก็บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย กรณีนี้จึงต้องตีความให้เป็นไปตามบรรทัดฐานเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ และอันนี้มันเปิดพื้นที่ให้ตีความ ผมจึงเห็นว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง   

ข้อเสียสำคัญก็คือจะเกิดความคลุมเครือขึ้นในพื้นที่ของการเคลื่อนไหวและเกิดความเสี่ยงมากขึ้น เพราะอำนาจในการตีความอยู่ในมือองค์กรของรัฐซึ่งสามารถให้ความหมายตัวระบอบได้ตามที่เขาเข้าใจหรือต้องการ ความหมายดังกล่าวอาจจะไม่ตรงกันกับความเข้าใจของผู้เคลื่อนไหว เพราะตัวระบอบไม่ถูกอธิบายแบบตรงไปตรงมาตามเกณฑ์ในทางบรรทัดฐาน

อาจารย์บอกว่ารัฐธรรมนูญถูกเขียนขึ้นมาเพื่อรองรับข้อเท็จจริง ขณะที่เราอาจเห็นว่าคุณค่าที่รัฐธรรมนูญเชิดชูนั้นไม่ใช่คุณค่าที่เราเชิดชู?

รัฐธรรมนูญเป็นผลจากตัวระบอบนั่นแหละ แต่สำหรับไทยเป็นการชักเย่อกัน รัฐธรรมนูญทุกวันนี้เหมือนเราแข่งชักเย่อกันอยู่แล้วยังไม่จบไปเด็ดขาด ดึงกันไปดึงกันมา ตอนนี้ฝ่ายประชาธิปไตยถูกกินแดนมาเยอะแล้ว แต่ไม่ถึงขนาดพ่ายแพ้ไปอย่างสิ้นเชิง เหตุเพราะผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลายส่วนยังดำรงอยู่ต่อเนื่องมา

ตัวอย่างการมีคำว่า ‘ราษฎร’ รวมทั้ง ‘สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ ก็อธิบายบางอย่างอยู่เหมือนกัน ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองใช้ชื่อว่าคณะราษฎร แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า People’s Party ซึ่งหมายถึงประชาชน พอเขามีองค์กรของรัฐขึ้นมาก็เรียกว่าสภาผู้แทนราษฎร ไม่เรียกว่าสภาผู้แทนประชาชนหรือสภาผู้แทนพลเมือง คำนี้ยังดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญ อาจมีความพยายามจะลบคำนี้ไปในบางช่วงเวลา แต่ลบไม่ได้ สุดท้ายก็เป็นคำซึ่งยังดำรงอยู่ และเราสังเกตเห็นว่าตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตำแหน่งเดียวที่ไม่ใช่ตำแหน่งโปรดเกล้าฯ เพราะคนที่ตั้ง ส.ส. คือประชาชนที่ใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ ขณะที่ ส.ว. จะมีการโปรดเกล้าฯ อยู่ แปลว่าคุณค่าบางอย่างในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่สามารถถูกลบออกไปอย่างสิ้นเชิง รัฐธรรมนูญเองจึงต้องเขียนอะไรบางอย่างเพื่อสมมติหรืออำพรางไว้เช่นกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยซึ่งไม่จริงเลย เพราะสมาชิกวุฒิสภาในขณะนี้ไม่ได้มีที่มาจากประชาชนเลย

ในขณะเดียวกันบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญก็มีพื้นที่ของอำนาจเดิมที่ไม่ค่อยรับกับระบอบประชาธิปไตย เช่น ไอเดียเรื่อง The king can do no wrong ที่ว่าการกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไอเดียนี้เริ่มเลือนไปในรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อพระมหากษัตริย์สามารถใช้อำนาจบางอย่างได้โดยไม่มีคนลงนามรับสนองฯ ซึ่งหมายถึงว่าพระองค์ต้องรับผิดชอบในการกระทำนั้นเอง แต่ถามว่ารับผิดชอบยังไง ก็ไม่มีใครตอบได้ จะบอกว่ารับผิดชอบผ่านกลไกกฎหมายก็ไม่ได้ เพราะบุคคลฟ้องคดีไม่ได้ อันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะฟ้องร้องไม่ได้

ผมอธิบายแบบนี้เพื่อให้เห็นว่ามีคุณค่าสองอย่างปะทะกันตลอดเวลา ยังไม่มีใครชนะโดยเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ บ้านเราจึงมีความประหลาดอยู่ คือแม้รัฐธรรมนูญจะเป็นผลจากตัวระบอบ แต่ในระบอบนี้ก็ยังชักเย่อกันอยู่จึงเปิดพื้นที่บางส่วนให้มีการตีความได้

ฉะนั้น เวลาพูดถึงประเด็นทางกฎหมายจะต้องระมัดระวังว่า เราพูดจากกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนโดยตัวมันเองแทบจะไม่มีพื้นที่ให้ตีความแล้ว เช่น อำนาจตามพระราชอัธยาศัย หรือส่วนที่ยังเปิดพื้นที่ให้ตีความได้อยู่ เช่น มีคำถามว่าการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจในราชการส่วนพระองค์โดยพระองค์เอง การแต่งตั้ง-ถอดยศต่างๆ นั้นสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ไหม ว่ากันตามหลักควรจะต้องฟ้องได้เพราะเป็นการใช้อำนาจอย่างหนึ่งซึ่งอาจกระทบสิทธิของบุคคล แต่กลไกทางกฎหมายปัจจุบันเขียนตัดตรงนี้ออกไปเพราะกำหนดให้พระมหากษัตริย์กระทำตามพระราชอัธยาศัย และหน่วยราชการในพระองค์ไม่ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ เพราะฉะนั้นตามเกณฑ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็คือกรณีกษัตริย์ใช้อำนาจโดยตรง ก็ฟ้องไม่ได้ หรือฟ้องไปศาลก็จะไม่รับฟ้อง จะตอบเป็นอย่างอื่นยาก ส่วนนี้แทบจะไม่เปิดพื้นที่ให้ตีความ แต่ส่วนอื่นๆ ยังเปิดพื้นที่ให้ตีความอยู่ เช่น ความหมายของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในส่วนที่เกี่ยวกับคดีล้มล้างการปกครอง ซึ่งคุณสามารถใช้หลักเกณฑ์บางอย่างช่วงชิงความหมายผ่านการตีความได้ แต่สังเกตว่าการช่วงชิงความหมายผ่านการตีความเริ่มหดแคบลงเรื่อยๆ เพราะการชี้ขาดจากข้อกฎหมายมีข้อจำกัด ผมไม่ได้บอกว่าคุณพูดเรื่องอุดมการณ์ไม่ได้เลย มีพื้นที่บางส่วนพูดได้ ขณะที่ในบางเรื่อง หลักการที่ควรจะเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายพ่ายแพ้ไปแล้ว จะตีตวามหรือให้ความหมายให้ถูกต้องตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต้องใช้อำนาจในทางการเมืองที่เหนือกว่าไปเปลี่ยนกฎเกณฑ์นั้นก่อน

แล้วคุณค่าที่ถูกเขียนขึ้นมาในรัฐธรรมนูญนั้นสามารถมีบทบาทนำสังคมได้ไหม

คุณค่าในรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมามีบทบาทนำสังคมได้ เพราะสังคมในรัฐสมัยใหม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการการปกครอง ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการตีความกฎหมายกัน ตัวอย่างในอเมริกา รัฐธรรมนูญเขียนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับหลักความเสมอภาคไว้ มีมลรัฐหนึ่งออกกฎเกณฑ์ให้คนผิวขาวขึ้นรถไฟได้เฉพาะโบกี้สำหรับคนผิวขาว คนผิวดำขึ้นได้เฉพาะโบกี้สำหรับคนผิวดำ ในห้วงเวลาหนึ่งศาลสูงสุดตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทำได้ เป็นการแบ่งแยกแบบเท่าเทียมกัน (separate but equal) แต่หลายสิบปีผ่านไปเกิดประเด็นปัญหาเรื่องแบ่งแยกโรงเรียนคนขาว-คนดำ ศาลก็เปลี่ยนแนวว่าคุณกำหนดกฎเกณฑ์แบบนี้ไม่ได้ ขัดกับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นคุณค่ารัฐธรรมนูญมีผลในการกำหนดสังคม ซึ่งแน่นอนว่าบางส่วนเกิดจากการตีความและการปรับใช้ของศาลเพื่อทำให้คุณค่านั้นปรากฏเป็นจริงด้วย ผลจากคดีแบบนี้ในที่สุดอเมริกาก็มีประธานาธิบดีผิวดำขึ้นมาได้

ดังนั้นถามว่ามีผลต่อสังคมไหม มันมีแหละ เวลาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอะไรมาก็มีผลต่อการเหนี่ยวรั้งหรือผลักสังคมไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งบางทีก็ผันแปรไปตามสภาวะสังคมด้วยระดับหนึ่ง แต่เมื่อเรามีคุณค่าหลายชนิดอยู่ในรัฐธรรมนูญ แล้วคุณค่านั้นปะทะกัน ก็เกิดปัญหา เรารับรองคุณค่าเรื่องสิทธิเสรีภาพเอาไว้ แต่ขณะเดียวกันก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่แทบจะทำลายแกนของคุณค่านั้นอยู่ในรัฐธรรมนูญอีก มันก็เกิดการปะทะกัน หรือเรื่อง 112 ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการปะทะกันของคุณค่าเรื่องสถานะของพระมหากษัตริย์กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แล้วองค์กรที่ตีความมีอุดมการณ์ในหัวของเขาแบบไหน อุดมการณ์ของคนที่ตัดสินคดีก็มากำกับการตีความ

ฉะนั้นถามว่าคุณค่าสำคัญไหม…สำคัญ แต่ประเด็นใหญ่สุดของรัฐธรรมนูญไทยคือเรายังไม่มีคุณค่าหลักที่เป็นคุณค่านำอันเดียว เราพูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เป็นคุณค่าหลักหรือสูงสุดในบ้านเรา แล้วพอปะทะกับคุณค่าอื่นก็ไม่อาจเอาชนะได้ เพราะองค์กรที่ทรงอำนาจตีความไม่ได้ให้น้ำหนักมากพอ นี่คือปัญหาของรัฐธรรมนูญของเรา

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่สามารถบอกได้เช่นกันใช่ไหมว่าอะไรคือคุณค่าหลัก เพราะเราจะเห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจนก็เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมาว่าเขามองเรื่องคุณค่าหลักอย่างไร

ใช่ ปัญหาของระบบชักเย่อก็คือมีข้อสังเกตว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญจะเพิ่มขึ้นหลังการทำรัฐประหารและมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เริ่มจากรัฐประหาร 2490 นำมาซึ่งการเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ 2492

ข้ามมาในระยะใกล้ หลังรัฐประหารต้นปี 2534 ก็นำมาซึ่งพระราชอำนาจที่เพิ่มขึ้นของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ 2534 เรื่องการแก้กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ การขึ้นครองราชย์ขององค์รัชทายาท ส่วนหลังรัฐประหารปี 2557 มีรัฐธรรมนูญปี 2560 นำมาซึ่งพระราชอำนาจที่เพิ่มขึ้นของพระมหากษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญที่สุดตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พอมีการเพิ่มพระราชอำนาจ คนทำรัฐธรรมนูญก็ต้องตระหนักว่าสังคมและโลกเปลี่ยนแปลงไป ในอีกด้านหนึ่งจึงต้องเขียนเรื่องสิทธิด้วย อย่างรัฐธรรมนูญ 2492 ที่เป็นรัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยมเพิ่มอำนาจกษัตริย์ ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติเรื่องสิทธิเอาไว้ค่อนข้างละเอียด และบัญญัติไว้มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้น หรือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการเพิ่มพระราชอำนาจก็มีการบัญญัติเรื่องสิทธิเอาไว้ แม้ว่าหลายส่วนมีลักษณะการจำกัด แต่ก็ยังมีการรับรองเอาไว้อยู่

เหตุที่มีการทำสองด้านแบบนี้ เพราะบทบัญญัติเรื่องสิทธิเป็นเหมือนการแต่งหน้ารัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้คนเห็นว่ามีด้านของสิทธิอยู่ เป็นเรื่องเอาไปโฆษณาให้คนลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 หลังทำประชามติแล้วมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ผ่านข้อสังเกตพระราชทานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของพระมหากษัตริย์แล้วก็ไม่ได้กลับไปทำประชามติอีก ซึ่งสะท้อนให้เห็นอำนาจของกษัตริย์ในบริบทของการจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งก่อนการทำรัฐธรรมนูญก็มีกฎเกณฑ์บางอย่างที่รับสืบต่อมาจากรัฐธรรมนูญ 2534 อยู่แล้วที่ทำให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในตัวบทรัฐธรรมนูญมีมากขึ้น แต่กฎเกณฑ์พวกนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงเวลาทำประชามติ มีการพูดถึงเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพว่า รับไปสิ รัฐธรรมนูญนี้รับรองเรื่องสิทธิเยอะแยะไปหมด

รัฐธรรมนูญนี้มองดูเผินๆ อาจมีหน้าตาที่ดี แต่อีกส่วนซึ่งไม่ค่อยดีก็ซ่อนไว้ข้างหลัง กระทั่งการตั้งคำถามตอนทำประชามติ เรื่องให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ก็ไม่ได้ตั้งคำถามตรงๆ เขียนคำถามแบบประดิดประดอยถ้อยคำให้เป็นเรื่องกึ่งๆ เชิงหลักการและซ่อนความเข้ามา คำถามยาวๆ ไม่บอกตรงๆ ว่าให้ ส.ว. เลือกนายกฯ และใช้กลไกต่างๆ ของรัฐทำให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปได้

คุณค่าเหล่านี้มีการปะทะกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากส่วนไหนที่ยังคลุมเครืออยู่ก็เปิดพื้นที่ให้มีการตีความได้ นักกฎหมายทั้งฝ่ายซึ่งมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย-เคารพนิติรัฐและฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยสากลก็ลงไปร่วมเล่นได้ ลงไปให้ความหมายมันได้ เป็นการสู้กันในพื้นที่ตรงนี้ แต่อย่างที่กล่าวไปว่ามีบางส่วนซึ่งจบไปแล้ว ในความหมายนี้คือตัวบทถูกเขียนแบบนั้นเรียบร้อยแล้ว ตามกลไกทางกฎหมายไม่ถึงขนาดทำอะไรไม่ได้ แต่ทำได้ยากมาก คือต้องไปแก้รัฐธรรมนูญหรือทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์

มันมีหลายส่วน เวลาพูดเรื่องทางกฎหมายจึงต้องอธิบายว่า พูดอยู่ในพื้นที่ที่พอจะตีความได้หรือพูดในส่วนซึ่งถูกกำหนดให้ตัดออกไปแล้ว แม้ว่าอาจเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการที่ควรจะเป็น แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นอยู่จริงๆ ซึ่งตอนนี้ไม่เปิดพื้นที่ให้ตีความเป็นอย่างอื่นได้ คล้ายว่านักกฎหมายก็ต้องจำยอมบางอย่าง ถ้าคุณจะสู้แบบนักปฏิวัติ ไม่ต้องเอากฎหมาย ก็ไม่มีข้อจำกัด แต่พอพูดจากกฎหมาย ความเห็นบางอย่างก็อาจไม่ถูกใจคน เพราะบางเรื่องคนจะคิดว่ามันไม่ใช่ หลักไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่เขาลืมไปว่าเรื่องนี้มันแพ้ไปเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายที่ชนะกุมอำนาจในการเขียนแล้วกำหนดกฎใหม่ คุณอาจจะต่อสู้โดยตีความได้บ้าง บางส่วนอาจจะให้เหตุผลทางกฎหมายโดยอ้างอิงคุณค่าบางอย่างและเอาชนะได้ แต่อีกหลายส่วนอาจไม่เป็นแบบนั้น ส่วนที่ไม่อาจใช้การตีความปรับเปลี่ยนได้ คุณจึงต้องต่อสู้ทางการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

หากเราไม่มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญ 2560 จะนำสังคมไปในทิศทางไหน รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเอกลักษณ์อย่างไร

ก็จะมีลักษณะอำนาจนิยม (authoritarian) มากขึ้น จะมีลักษณะจำกัดสิทธิทางการเมืองมากขึ้น อันนี้ดูจากรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองดูชุดของกฎหมายที่ออกตามรัฐธรรมนูญประกอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัย สนช. สิทธิเสรีภาพด้านอื่นเขาจะปล่อย อย่างเสรีภาพทางเศรษฐกิจ แต่พอเป็นเรื่องการเมืองการปกครองจะถูกจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์

ในช่วงแรกของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญต้องเข้าใจว่ามีบทเฉพาะกาลอยู่ อย่างน้อย ส.ว. ต้องอยู่ 5 ปี ถ้าถามว่าต่อจากนี้จะเป็นยังไงต่อ มันก็จะมีความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อย ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งจะหมดอำนาจเรื่องเลือกนายกฯ หลังจากนั้นจะมี ส.ว. ที่มาจากกระบวนการแบบเลือกกันเอง ซึ่งยังไม่รู้ว่าหน้าตาจะเป็นแบบไหน แต่ผมเชื่อว่าอาจจะลดดีกรีของการเชื่อมกับคณะรัฐประหาร 2557 ลง เพราะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่คงยากที่จะเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยเต็มร้อย

ขณะเดียวกันกฎเกณฑ์การแก้รัฐธรรมนูญยังต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 อยู่ จึงไม่ใช่ของง่ายในหลายกรณี ฉะนั้นแนวโน้มจะมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้น แต่เหตุการณ์ทางการเมืองอาจเกิดสภาวะที่กลุ่มซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยแบบไทยเผชิญกับดักในกลไกรัฐธรรมนูญ เช่นเผชิญกับดักเรื่อง 8 ปีนายกฯ เพราะอีก 2 ปีก็จะครบแล้วและอาจหาคนมาแทนนายกฯ คนปัจจุบันไม่ได้ ต้องหาวิธีทำให้คนปัจจุบันเป็นนายกฯ ต่อไป ซึ่งอาจจะไม่ง่ายนัก

รัฐธรรมนูญนี้เป็นชนวนก่อวิกฤตอยู่แล้ว อย่างที่ผมเคยพูดเอาไว้ที่หอประชุมศรีบูรพาว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นระเบิดเวลา มันเดินไปเรื่อย เราไม่รู้ว่าจะระเบิดเมื่อไหร่ยังไงและจะสิ้นสุดลงสภาพแบบไหน อาจจะเกิดรัฐประหารอีกก็ได้หรือจะเกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยบางอย่างที่ไม่คาดคิดก็ได้

แน่นอน หากใช้รัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ แบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร จะมีการเปลี่ยนตัวคนในระบอบ การตีความบางอย่างอาจจะช่วยผ่อนคลายลงได้บ้าง แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด และกลไกที่ออกแบบเอาไว้จะไม่นำพาประเทศไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นนิติรัฐอย่างที่ควรจะเป็นอย่างแน่นอน

ขณะที่เรามีรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะอำนาจนิยมมาก แต่เมื่อมองไปฝั่งการเมืองวัฒนธรรม โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลังนี้ที่มีการระเบิดออก จนมี 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ความขัดแย้งชนิดนี้จะอยู่ร่วมกันได้ไหม

ถ้าดูจากปฏิกิริยาที่ฝ่ายรัฐดำเนินการกับการชุมนุมต่างๆ ผมคิดว่าถึงที่สุดเขาจะก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบดขยี้

แน่นอน ผมไม่ได้บอกว่าถ้าใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์แล้วการเคลื่อนไหวของฝ่ายผู้ชุมนุมจะอยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งหมด เข้าใจได้ที่ฝ่ายชุมนุมหลายคนบอกว่าถ้าเดินอยู่ในกรอบกฎหมายคุณไม่ชนะหรอก นี่เป็นธรรมดาของคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง มันต้องล้ำจากกรอบของกฎหมายไปบ้าง แต่เมื่อล้ำไปแล้วคุณต้องเข้าใจว่าอีกฝ่ายมีกลไกของรัฐในการจัดการ ซึ่งต้องยอมรับว่าเขาไม่ได้เป็นเหมือนตะเกียงไร้น้ำมัน เขายังมีอำนาจในทางกลไกของรัฐอยู่เต็มเปี่ยม

แน่นอนว่าการระเบิดออกมาช่วยทำให้สังคมมีความตื่นตัวมากขึ้น มันเป็นสายลมที่เริ่มทำให้เห็นว่าสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่กำลังในเชิงปริมาณยังไม่มากพอ ต้องใช้เวลา และอีกด้านหนึ่งฝ่ายที่ไม่ต้องการเห็นประเทศไทยเดินไปในทิศทางของประชาธิปไตยแบบสากลยังคุมกลไกทางกฎหมายทั้งหมด ยังรักษาอุดมการณ์หลักไว้ได้อยู่ สังเกตได้จากการวินิจฉัยคดีหลายคดี แน่นอนว่าส่วนสำคัญที่สุดคือกองทัพกับศาล เป็นส่วนสำคัญมากๆ ที่เขาพยายามรักษาไว้

หลายคนอาจมองว่าประเทศไทยต้องอยู่ในระบอบที่มีลักษณะแบบนี้แหละ ในความเห็นของพวกเขาคือเป็นประชาธิปไตยมากเกินไปประเทศก็ไปไม่ได้ เราต้องเข้าใจวิธีคิดของอีกฝั่งหนึ่งด้วยว่าทำไมเขาจึงคิดแบบนั้น อีกอย่างหนึ่งคือโครงสร้างของสังคม โครงสร้างระบบกฎหมายต่างๆ ถ้าคุณสามารถทำตัวให้กลมกลืนกับระบอบที่เป็นอยู่ได้ ระบอบก็จะตอบแทนคุณ ถ้าคุณไม่กลมกลืน ต้องการการเปลี่ยนแปลง ระบอบก็ขจัดคุณออกไป ถ้าคิดจะเปลี่ยนเชิงระบอบยิ่งต้องขจัดออกไป และเมื่อถึงจุดเข้าด้ายเข้าเข็มจุดสำคัญ ฝ่ายซึ่งรักษาระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ เขาไม่ลังเลที่จะใช้อำนาจทั้งทางกายภาพและทางกฎหมายเข้าดำเนินการหรอก

ถามว่ามีต้นทุนที่เขาต้องเสียไหม มีอยู่แล้ว แต่เขายังมีต้นทุนอีกมหาศาล แม้จ่ายไปเยอะแล้วก็ยังมีเป็นหน้าตักพร้อมจะจ่ายได้อีก ต้อรอจนถึงจุดหนึ่งต้นทุนที่มีร่อยหรอลงก็จะเป็นจุดเปลี่ยนได้ ซึ่งผมก็ประเมินไม่ได้ว่าจะใช้เวลานานขนาดไหน อาจจะนานก็ได้หรือถ้ามีปัจจัยแทรกซ้อนก็อาจย่นเวลาได้

การเคลื่อนไหวทุกอย่างคือการย่นเวลาให้ประเทศไทยเป็นอารยะ เป็นประชาธิปไตย เป็นประเทศที่กฎหมายเป็นกฎหมายจริงๆ หมายถึงเป็นกฎหมายที่เที่ยงธรรมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสมัยที่ผมทำนิติราษฎร์เมื่อสักสิบกว่าปีก่อน หรือการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในสิบปีให้หลัง มันขยับเวลาร่นเข้ามา แต่เวลาที่ผมอยากเห็นก็ยังมาไม่ถึง ต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้หลักการ อุดมการณ์ หลายอย่างประกอบกัน

สิ่งที่เราเห็นช่วงปีหลังๆ มานี้ ไม่ว่าการใช้ความรุนแรงกับม็อบหรือการใช้มาตรา 112 เยอะจนน่าตกใจ ไม่รู้ว่าสมการการตัดสินใจของเขาเป็นอย่างไร มีประชาชนอยู่ไหม เพราะก็มีการมองว่าการใช้วิธีการเหล่านี้ฝั่งเขาเองก็เสีย อย่างการใช้ 112 มากเข้าก็กระทบกับสถาบันฯ

ใช่ นี่คือราคาที่จะต้องจ่าย ไม่ใช่แค่สถาบันฯ แต่องค์กรตุลาการก็ต้องจ่ายด้วย แต่กลไกเขาพร้อมจ่าย หมายถึงเขาโอเคที่จะจ่ายในระดับหนึ่ง ซึ่งเขาอาจไม่รู้สึกว่าต้องจ่ายด้วยซ้ำ เพราะเขาอาจรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องหรือถ้ารู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ก็จะคิดว่ายังไงก็ต้องทำ

ผมอยู่ในวงการกฎหมาย สัมผัสคนในวงการนี้ใกล้ชิด เห็นความเป็นไป รู้วิธีคิด หลายส่วนผู้คนในวงการนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษาตุลาการยังห่างไกลจากข้อเท็จจริง ห่างจากความรู้สึกของสังคม พวกเขามีโลกของเขาเองแล้วอยู่กันในโลกที่เขาจะรักษามันไว้ เพราะเขาอยากจะอยู่กันแบบนี้ เขาได้ประโยชน์จากโครงสร้างที่เป็นแบบนี้ แม้มีเสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่ดัง และมีคนในวงการสะกิด-กระตุกกันบ้าง แต่ก็ยังไม่ทำให้ทิศทางหลักเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ช้าไม่นานเราก็จะเห็นว่าคลื่นของความเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ มาจากข้างล่างขึ้นไป เราเห็นการตัดสินคดีของศาลในระดับล่างหลายคดีที่ทำให้เห็นทิศทาง วิธีคิด ความเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดอยู่ ซึ่งจะเป็นปัญหาสำหรับฝ่ายที่จะรักษาสภาพที่เป็นอยู่ (status quo) เอาไว้ต้องจัดการ เขาต้องคิดว่าเขาจะต้านทานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากคนรุ่นหลังในบางส่วนอย่างไร

แม้กระนั้นต้องเข้าใจว่าคนรุ่นหลังไม่ได้เป็นเอกภาพกันหมด อย่าคิดว่าคนที่ออกมาแสดงออกเป็นคนส่วนใหญ่ คนรุ่นเดียวกันนี้ที่ยังต้องดิ้นรนทำงานในโรงงานเขาอาจจะไม่มีเวลามาใส่ใจประเด็นเหล่านี้เหมือนนักศึกษาปัญญาชนในมหาวิทยาลัยที่เรียนหนังสือและทำกิจกรรม คนที่อยู่ในระบอบที่มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น พอเข้าไปในระบอบก็อาจจะต้านกระแสในโครงสร้างที่เป็นอยู่ไม่ไหว ต้องไหลไปกับกระแสเหล่านั้น มันมีหลายส่วน เราต้องมองให้หมด นอกจากนี้ผู้คนบางส่วนอาจพอใจในการวิพากษ์วิจารณ์ แต่พอต้องออกมาทางกายภาพเขาอาจไม่พร้อม มันเป็นแบบนี้เลยต้องใช้เวลา แน่นอนว่าคนเหล่านี้ก็สะท้อนภาพของพรรคการเมืองในระดับหนึ่งด้วย

ทีนี้คนที่ทุ่มเทลงไปหลายคนมีคดี ถึงจุดหนึ่งต้องไปสู้คดีก็เหนื่อย กลไกเขาไม่ยี่หระหรอก สมมติคุณมีคดี เข้าระบบไปคุณต้องต่อสู้กับโครงสร้างใหญ่ของระบบ ลองไปอ่านนิยายเรื่องคดีความ (Der Prozess) ของฟรันซ์ คาฟคา จะเห็นว่าการสู้กับกฎหมายนั้นคุณก็สู้ไปสิ เพราะคนที่เป็นผู้พิพากษาเขาขึ้นบัลลังก์แล้วก็ตัดสินไป พิพากษาเสร็จก็กลับบ้านนอน แต่คนที่ต่อสู้ เป็นคนที่จะต้องแบกรับความทุกข์ยากต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้กลไกแบบนี้

เราอาจเห็นการตัดสินคดีการเมืองบางคดีที่เป็นไปตามหลักการ ไม่ได้อยู่ในทิศทางเดียวกับผู้มีอำนาจ เช่น การให้ประกันตัวหรือการตัดสินคดี 112 เฉพาะบางคดี สามารถมองว่าเป็นปฏิกิริยาของผู้พิพากษารายบุคคลได้ไหม

ได้ในระดับหนึ่ง เราต้องเข้าใจว่าสังคมเปลี่ยน ผู้พิพากษาก็มีการเปลี่ยน ผมมีลูกศิษย์หลายคนเป็นผู้พิพากษาตุลาการ เขามีความคิดของเขา รู้ว่าหลักการเป็นอย่างไร เช่น บางคดีที่ไม่เป็นไปตามองค์ประกอบมาตรา 112 คนที่เรียนหนังสือเขาก็รู้ว่าฟ้องไม่ได้ ซึ่งรวมทั้งการวินิจฉัยกรณีที่เป็นพื้นที่การตีความที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สีเทาซึ่งสามารถตีความให้เสรีภาพมากขึ้นเท่าที่กรอบของกฎหมายอนุญาตได้ แม้กระทั่งการลงโทษให้พอเหมาะ พอสมควรแก่เหตุ

นอกจากนี้มีคดีบางส่วนที่ยกฟ้อง ในแต่ละคดีมีความเป็นมาเป็นไปของเรื่อง เช่น คดีนี้อยู่ในมือใคร ใครเป็นอัยการ ใครเป็นตำรวจ อัยการฟ้องยังไง ทนายจำเลยสู้ได้แข็งแค่ไหน กัดไม่ปล่อยขนาดไหน มีทักษะการซักถามหรือชี้ประเด็นแค่ไหน มีองค์ประกอบหลายส่วนที่ทำให้เกิดกรณีที่เราเห็น แน่นอนผมไม่ได้โลกสวยถึงขนาดที่ไม่รู้ว่าบางเรื่องหลักการที่เป็นวิชาชีพนักกฎหมายมีเอาไว้ให้อ้างโก้ๆ ให้ดูดีเท่านั้น และมีคนในวงการกฎหมายอยู่ไม่น้อยที่อวดอ้างหลักพวกนี้ แต่ไม่ได้ทำแบบที่ตนอวดอ้างจริงๆ ไม่ใช่ไม่รู้ว่าบางเรื่องมีอะไรบางอย่างที่อาจจะพูดออกไปไม่ได้กำกับความเป็นไปอยู่ แต่ถามว่าในระดับล่างมีความเปลี่ยนแปลงไหม ต้องบอกว่ามี

แต่ในระดับบนนี่เป็นอีกแบบหนึ่ง กลไกระดับบนยังมีความเป็นเอกภาพอยู่ค่อนข้างสูง แม้จะมีการขัดแย้งกันในรายละเอียดบ้าง แต่ทิศทางหลักยังไปทางเดียวกัน เราลองดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เสียงของตุลาการจะออกมาเป็นเอกฉันท์ ถ้าไม่ 9-0 ก็ 8-1 ถ้าคดีอื่นๆ จะไม่ออกมาเอกฉันท์แบบนี้ หรือการตัดสินคดีบางส่วน อย่างคดีหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ เช่น คดีรัชกาลที่ 4 หรือล่าสุดคือคดีรัชกาลที่ 9 พอคดีขึ้นไปสู่ศาลระดับบนจะเห็นไอเดียเป็นอีกแบบหนึ่ง ยิ่งเกิดการเปลี่ยนรัชสมัยก็ยิ่งมีผลต่อการตีความกฎหมาย บางคดีผมเห็นว่าไม่ถูกต้องตามหลักการตีความกฎหมายหรอก แต่อาจจะมีเหตุผลอย่างอื่น คือเรื่องคุณค่า เมื่อคุณค่าที่ผมยึดถือกับคุณค่าที่อีกฝ่ายหนึ่งยึดถืออาจจะไม่ได้เป็นแบบเดียวกัน เวลาเถียงกันก็จะสวนกันไปมาเพราะมองคุณค่าคนละแบบ อุดมการณ์ประชาธิปไตยยังไม่ถูกทำให้ซึมซับลงไปในอุดมการณ์หลักจริงๆ จึงเป็นปัญหาให้การใช้กฎหมายเกิดอะไรหลายอย่างที่อธิบายจากวิชานิติศาสตร์ไม่ได้และส่วนนี้นักกฎหมายมีบทบาทได้ในพื้นที่ของการตีความ ซึ่งคุณอาจเห็นว่าการตีความแบบนี้ผิด แต่พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ค่อยมีใครพูดหรอก

เวลาผมไปบรรยาย บางครั้งผมพูดหลักกฎหมายธรรมดาซึ่งคาบเกี่ยวกับเรื่องพระมหากษัตริย์ บรรยากาศก็จะนิ่ง ทั้งที่ผมไม่ได้พูดอะไรผิดกฎหมายเลย ผมพูดจากหลักการทางกฎหมาย พูดเรื่องระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ตั้งคำถามว่าถ้ามีการฟ้องคดีคุณจะรับฟ้องไหม เพื่อให้อธิบายจากกฎหมายที่เป็นอยู่ว่ารับฟ้องได้หรือไม่ได้เพราะอะไร มันจะเกิดความเครียดขึ้นมาทันทีในหมู่คนที่เรียน เพราะเรื่องนี้ยังมีลักษณะเรื่องต้องห้ามอยู่พอสมควรในสังคม ทั้งที่บางเรื่องสามารถพูดได้ ผมเองไม่เคยพูดอะไรที่พ้นไปจากกรอบของกฎหมายเลย ระบอบอนุญาตให้ผมพูดได้แค่นี้ ผมก็พูดเท่านี้ พูดจนถึงเพดานทางกฎหมาย เกินไปกว่านั้นผมก็ไม่พูด คนอาจจะบอกว่าผมขี้ขลาด ผมไม่กล้า ก็ว่าไป คนที่พูดจาแบบนี้เวลามีเรื่องเกิดขึ้นเขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ผมซึ่งต้องรับผิดชอบก็พูดในกรอบเท่าที่กฎหมายแบบนี้อนุญาต แต่ขนาดพูดแค่นี้บางทีคนเรียนก็เกิดความเครียดขึ้นมาแล้ว สังเกตสิว่านักกฎหมายไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องพวกนี้ ประเทศนี้มีคนพูดอยู่ไม่กี่คนหรอก ทุกคนรู้สึกว่าอย่าไปยุ่งเรื่องนี้เลย แปลว่าอะไร แปลว่าโครงสร้างใหญ่กุมสภาวะได้

ช่วงปีที่ผ่านมาศาลเปลี่ยนทิศทางต่อคดีการเมือง จากการคุมขังในคุกเป็นการใช้กำไล EM โดยที่แต่ละคนเจอเงื่อนไขการห้ามออกนอกบ้านที่แตกต่างกัน ซึ่งกำไล EM ถูกพูดถึงจากภาครัฐว่าเป็นความก้าวหน้าในกระบวนการยุติธรรม เราจะมองสิ่งนี้ว่าเป็นความก้าวหน้าได้ไหม

ไม่ จะมองว่าเป็นความก้าวหน้าไม่ได้ นี่เป็นกลไกโต้ตอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่า ถ้าเอาเด็กไปติดคุกนานๆ ไม่ได้ ฉะนั้นคุณก็อยู่ในคุกช่วงหนึ่งแล้วก็ออกมาใส่กำไล EM ทีนี้พอมีคดีติดตัวก็จะเคลื่อนไหวได้ไม่อิสระ เหมือนต้องแบกอะไรบางอย่างอยู่ ต่อให้คุณบอกว่าไม่กลัว แต่มันไม่ได้มีคุณคนเดียว ยังมีคนรอบตัว มีครอบครัวด้วย เวลาใครมีคดีนั้นไม่ใช่กระทบแค่ตัวคนเดียว แต่ลากเอาอีกหลายคนมาเกี่ยวข้องด้วย ในแง่นี้กลไกของรัฐจึงได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา เราดูเวลาที่ศาลให้ประกันตัวแล้วกำหนดเงื่อนไข เงื่อนไขหลายกรณีที่ศาลกำหนด ถ้าเป็นประเทศที่เป็นนิติรัฐจริงๆ การที่ศาลกำหนดเงื่อนไขแบบนั้น การสั่งการของศาลจะถูกตรวจวัดกับรัฐธรรมนูญทันที และในหลายกรณีผมมั่นใจว่าคำสั่งของศาลที่ให้ประกันตัวโดยกำหนดเงื่อนไขบางเรื่องนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่บ้านเราไม่มีระบบตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการใช้อำนาจตุลาการ มันเลยเป็นปัญหา แต่ถึงจะมี มันก็ไม่ใช่ว่าจะหมดปัญหา เพราะจะไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกว่ามีทัศนะต่อเรื่องแบบนี้ยังไง

การต่อสู้ของคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองคือการต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองที่เขาเอาตัวเองเข้าไปเสียสละเพื่อสู้ ในแง่นี้ทุกฝ่ายมีต้นทุนที่ต้องจ่าย คำถามคือแต่ละฝ่ายจ่ายได้ขนาดไหน ผมจึงไม่ค่อยเรียกร้องเรื่องพวกนี้กับใครเลย เพราะแต่ละคนมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน

สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงทำให้เห็นว่าอุดมการณ์ที่เคยใช้กันมาในอดีต ทุกวันนี้อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว เราเห็นความเปลี่ยนแปลงแล้วในแง่ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน แต่ถึงกระนั้นความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังไม่ใช่เปลี่ยนแปลงในแง่ความเป็นจริงและได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง เราจะเห็นว่ากลไกรัฐยังแข็งอยู่ ยังจัดการได้อยู่ ยังดึงคนเข้าระบอบได้อยู่ ระบอบไม่ต้องการคนที่เก่งมาก ถ้าคุณเก่งมากก็ยิ่งดี แต่ระบอบไม่ได้ต้องการขนาดนั้น ระบอบต้องการคนที่มาทำงานรองรับอุดมการณ์หลักแบบนี้ได้ คุณทำงานให้มันดำเนินต่อไป ถ้ามีใครที่เป็นอันตรายแหลมเข้ามา เขาก็คัดออก

ผมเคยบอกว่าคุณตั้งพรรคการเมืองขึ้นมานั้นดี แต่ต้องระวังเพราะคุณไปท้าทายตัวระบอบ ก็ต้องเตรียมเจอการตอบโต้ อันนี้มองจากความเป็นจริง ไม่ได้มองในแง่ถูกผิด การต่อสู้จะเป็นแบบนี้ ถ้าคุณจะเข้าสู่วงในของการต่อสู้ คุณต้องมองตัวเองว่ามีอะไรในมือ มากน้อยขนาดไหน อะไรที่คุณมีหรือไม่มี อะไรคือจังหวะที่คุณคิดว่าต้องขยับ อะไรคือจังหวะที่ยังขยับไม่ได้

จากที่อาจารย์ต้องสู้คดีไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ซึ่งมีกระบวนการยืดยาว สิ่งที่เกิดขึ้นบั่นทอนความหวังหรือทำให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นยากไหม

บั่นทอนไหม ผมว่าไม่นะ แต่ด้วยวัยที่ผ่านอะไรมาในอีกระดับหนึ่ง แม้หลักคิดหลักการของผมไม่เปลี่ยน แต่วิธีการมองก็จะระมัดระวังมากขึ้นว่าบางเรื่องอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรืออาจใช้เวลามากกว่าที่เราคิดก็ได้

เมื่อสัก 10-15 ปีก่อนผมก็คิดว่าได้เวลาแล้ว น่าจะเปลี่ยนได้ ตอนสมัยนิติราษฎร์ผมพูดกับประชาชนที่มาฟังในห้อง LT1 (คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ผมเคยบอกว่า มันจะเกิดขึ้นในยุคสมัยของเรา มันจะสำเร็จในยุคสมัยของเรา หมายถึงเราจะน่าจะได้ประชาธิปไตยที่เป็นแบบสากลพอสมควรในยุคสมัยของเรา ไม่ใช่ผมไม่เคยคิด แต่พอเวลาผ่านไปมากขึ้น เห็นอะไรเยอะขึ้น รู้จักผู้คน เห็นอุปนิสัยใจคอ วิธีคิด วิธีการต่อสู้ของผู้คนเยอะขึ้น ผมก็รู้สึกว่าต้องใช้เวลา ผมยืนยันว่ายังไงเสียประเทศก็ต้องเปลี่ยน ไม่ได้พูดให้กำลังใจหรือหวังลมๆ แล้งๆ มองจากสภาวะที่เห็นอยู่มันเปลี่ยนจริงๆ แต่การเปลี่ยนแปลงแบบที่เราอยากเห็นอาจใช้เวลามากกว่าที่เราคิด ซึ่งตัวผมและคนในรุ่นผมอาจจะไม่ได้เห็น

ผมจะพูดเสมอว่ามันเหมือนกับการจุดไฟให้สว่างแล้วคุณก็ส่งต่อๆ ไป อย่าให้มันดับ ไม่จำเป็นว่ามันต้องสำเร็จในมือของเรา เพียงแต่เราทำเอาไว้ ถ้าสำเร็จได้ก็ดี ให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ มีหลักที่ถูกต้องดีงาม มีโครงสร้างสังคมที่ยุติธรรม กฎหมายเป็นกฎหมายจริงๆ อย่างที่ผมฝันใฝ่อยากจะเห็นประเทศนี้เป็น ซึ่งอาจจะไม่ทันได้เห็นหรอก แต่มันมีความเปลี่ยนแปลงและจะค่อยๆ เปลี่ยนไป

ฉะนั้นถ้าถามว่าท้อแท้ไหม หมดหวังไหม คำตอบคือไม่ ผมอาจจะมองอะไรกว้างมากขึ้น รอบคอบมากขึ้น และไม่ได้มองทุกอย่างเข้าข้างตัวเองทั้งหมด ส่วนการโดนคดี ผมมองโลกในแง่ดีนะ ผมเคยถูกทำร้ายมาแล้ว ตอนที่ถูกทำร้ายผมคิดว่าก็ดีที่ผมยังไม่ตาย ยังดีที่ไม่พิการ การถูกทำร้ายมันไม่ดีหรอก เพราะเจ็บ คนใกล้ชิดผมบอกว่าเจ็บตัวฟรีหรือเปล่าเพราะไม่เห็นเปลี่ยนแปลงอะไรเลย สิบกว่าปีแล้วกฎหมายก็ยังไม่เปลี่ยน ผมบอกว่าไม่หรอก ยังมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ อาจจะช้ากว่าที่เราเห็น ฉะนั้นในแง่นี้ไม่ได้มีความท้อแท้ ผมโดนคดีก็สู้ไป ผมก็ยังดีกว่าอีกหลายคนที่ต้องลี้ภัย ผมยังสอนหนังสือได้ แม้จะทำอะไรไม่ได้อย่างที่เคย ไม่ใช่แค่เรื่องคดีหรอก เรื่องสุขภาพด้วย วัยที่มากขึ้นด้วย ไม่สามารถโลดโผนได้แบบสมัยหนุ่มๆ แต่ก็ยังดี

ประเด็นพวกนี้ไม่เคยทำให้ผมท้อแท้เลย ผมจึงบอกตอนมีคดีว่าไม่ต้องมีใครมาสังเกตการณ์คดีผมหรอก มันลำบาก เหนื่อย เสียเวลา มันยืดเยื้อ นัดเยอะ บางทีผมก็เดินข้ามสนามหลวงแดดร้อนๆ ไปขึ้นศาลคนเดียว บางทีสนามหลวงมีพิธีเดินข้ามไม่ได้ก็เดินอ้อมหารถไปศาลทหาร บางช่วงคดีย้ายไปศาลแขวงดุสิต ถึงขนาดมีการชี้ขาดว่าคดีผมอยู่สองศาลด้วยซ้ำ แล้วตอนหลังก็มีออกกฎหมายมาโอนคดีอีก มีความซับซ้อน ผมก็เกรงใจทนายที่มาสู้คดีให้ คนที่มาทำเขาก็รู้สึกว่าการช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการสู้เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผมเลยคิดว่าสุดท้ายถ้าผมแพ้คดี สู้ไม่ได้ ติดคุกหรืออะไรก็ตามจนไม่ได้สอนหนังสือก็ไปสู้ทางอื่น ผมไม่ทันได้คิดน่าจะเป็นทางไหน แต่มนุษย์เราไม่อับจนหรอก ผมไม่ยอมอยู่เฉยๆ หรอก เพียงแต่ว่ามันยังไม่เกิดขึ้นและผมรักการสอนหนังสือ อยากสอนหนังสือไปจนกระทั่งผมเกษียณอายุ ผมเห็นลูกศิษย์จำนวนไม่น้อยได้เข้าไปตัดสินคดี เขาก็เอาหลักการที่เราสอนไปใช้ มันก็เป็นกำลังใจให้เราทำในส่วนที่เราทำได้

พูดถึงความหวัง ตอนนี้ความหวังทางการเมืองน่าจะอยู่ที่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คิดว่าต้องมีปัจจัยอะไรจึงจะเกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้

ทุกคราวที่ทำรัฐธรรมนูญใหม่มันยากขึ้นทุกที เพราะการยึดอำนาจทำสำเร็จบ่อยเกินไปจึงยิ่งยากขึ้น เราต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งเดียวกับประชาธิปไตย เป็นคนละอันกัน มันอาจจะส่งเสริมหรือไม่ส่งเสริมกันก็ได้ เราไม่สามารถทำรัฐธรรมนูญที่ดีออกมาได้หรอกถ้าพื้นฐานในทางข้อเท็จจริงไม่ใช่พื้นฐานของอำนาจที่เอื้อให้เราวางคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณค่าความเป็นประชาธิปไตย คุณค่านิติรัฐเป็นคุณค่าหลักในรัฐธรรมนูญได้

ถ้าถามว่ามีปัจจัยอะไรทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ ในเบื้องต้นก็คือฉันทมติจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่และการกดดันอย่างมากจากประชาชน ผลการเลือกตั้งทั่วไปอาจจะช่วยให้เราไปในทิศทางของเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อย่าไปเล็งผลเลิศนักว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ อันที่จริงแม้ว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญได้จริง แต่การร่างใหม่ภายใต้กรอบบางอย่างของรัฐธรรมนูญ 2560 อาจจะไม่ได้นำเราไปไหนได้ไกลมากนัก

เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงการเรียกร้องรัฐธรรมนูญหรือการเขียนรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่ามันเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการต่อสู้มากกว่า เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีจริงๆ จะได้มาเมื่อต่อสู้จนอุดมการณ์หลักชนะและต้องชนะมากกว่าตอนพฤษภาเลือดปี 2535 ที่เราสามารถผลักทหารกลับกรมกองได้ นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ผมอยู่ร่วมด้วย ตอนนั้นเพิ่งเรียนหนังสือจบมาไม่นาน ได้ร่วมชุมนุม เห็นว่าบรรยากาศประชาชนไม่เอาทหารยังไง ทหารหงอยขนาดไหน คุณหมดความหมายไปในห้วงเวลาหนึ่งเลย ทหารบางคนขึ้นรถเมล์ต้องเอาชุดทหารใส่ถุงแล้วไปเปลี่ยนเอา จะต้องมีสภาวะฉันทมติร่วมแบบนั้น และต้องเป็นสภาวะที่ยาวพอสมควรที่ทำให้มีความมั่นใจได้ว่าฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยไม่สามารถกลับมาทำร้ายฝ่ายประชาธิปไตยได้อีก

ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยมีอยู่ตลอดกาล เราต้องเข้าใจว่าในโลกนี้มีคนไม่เอาประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่ของดีในทุกๆ มิติ มันดีกว่าอันอื่นนะแต่ก็มีคนไม่เอา คนที่ไม่เอาบางคนก็เป็นปัญญาชน ทั้งไม่เอาด้วยเหตุผลทางวิชาการหรือไม่เอาเพราะชอบความสงบแบบเผด็จการ วิธีการคือเราไม่ได้ขจัดคนพวกนี้ออกไปจากสังคม เขาก็เป็นคนเหมือนเราแต่เขาคิดไม่เหมือนกับเรา แต่ต้องทำให้คนแบบนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะทำร้ายหลักการได้ ถ้ามีทหารยึดอำนาจแล้วคนในสังคม 80-90% ไม่เอาเลย บอกว่าคุณจะทำแบบนี้ไม่ได้ คุณต้องเป็นทหารอาชีพ คุณไปจัดการกองทัพให้เรียบร้อยก่อน ไม่ใช่เที่ยวมายึดอำนาจและปกครองประเทศโดยเอื้อประโยชน์หลายส่วนให้กับพวกพ้องของคุณ มันต้องทำให้เป็นแบบนั้น ซึ่งตอนนี้เรายังไม่รู้สึกว่าเป็นแบบนั้น คนไทยจำนวนหนึ่งไม่เห็นว่าเป็นแบบนั้น หรือบางคนเห็นว่าเป็นแบบนั้นแต่พอถึงตอนที่ต้องสู้จริงๆ ยังสู้ไม่ได้ ประเทศเพื่อนบ้านเราเขาสู้เยอะกว่าเราอีกยังไม่สำเร็จเลย

ในโลกปัจจุบัน สุดท้ายอำนาจรัฐเกิดขึ้นจากกำลังความเข้มแข็งในทางอาวุธ ขณะที่กองทัพของเรามีสภาวะพิเศษในประเทศนี้ เหมือนเป็นรัฐอิสระ กลไกของรัฐก็เอื้อให้ ในทางกายภาพยากมากที่จะไปต่อสู้ทางกำลัง ก็ต้องสู้ไปอย่างนี้ เปลี่ยนความคิดคน ให้คนมีความคิดในทิศทางแบบนี้มากขึ้นๆ ซึ่งใช้เวลา เพราะการเมืองไม่ได้มีแค่มิติเชิงอุดมการณ์ แต่ยังมีมิติเศรษฐกิจปากท้อง พอล่วงเข้ามาในศตวรรษนี้ด้วยยิ่งยาก การมีโซเชียลมีเดียก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย คุณเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ คุณไม่เคลื่อนไหวทางกายภาพ อารมณ์โกรธของคุณถูกปล่อยไปด้วยถ้อยคำระบายอารมณ์ ได้ระบายแล้วก็ไปเที่ยวไปนอนต่อ ไม่ได้เปลี่ยนเป็นรูปธรรมจริงๆ พอล่วงเข้ามาถึงวันนี้การปฏิวัติแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินจึงยาก

ความจริงบ้านเรายังไม่เคยเกิดการปฏิวัติแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินนะ เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นโดยวิธีรัฐประหาร ใช้กำลัง ตอนคณะ ร.ศ. 130 ก็ด้วย เพียงแต่แผนแตกโดนจับก่อน คณะราษฎรก็ใช้วิธีเดียวกันแต่บังเอิญสำเร็จ พอสำเร็จแล้วยังต้องต่อรอง รักษาอำนาจได้ช่วงหนึ่งและแตกกันเองด้วยส่วนหนึ่ง

ถามว่ามีหวังไหม ไม่ใช่ไม่มีหวัง เพราะทุกอย่างมันเปลี่ยน แต่อาจจะไม่เร็วแบบที่เราคิด เว้นแต่ว่าเกิดการแตกกันในฝั่งปฏิปักษ์ประชาธิปไตย หากมีปัจจัยแตกหักสำคัญก็อาจจะช่วยเร่งเวลาเข้ามา แต่เราจะแน่ใจได้ยังไงว่าฝ่ายประชาธิปไตยเองเมื่อถึงจุดครองอำนาจจะสามารถสร้างอุดมการณ์นี้ได้ คุณจะไม่ทะเลาะกันเอง แล้วแตกแยกกันจนทำอะไรไม่ได้อีก ด่ากันหมดทุกประเด็น ฝ่ายก้าวหน้าจะมีลักษณะแบบนี้ตลอดเวลา ขณะที่อีกฝ่ายมีการจับมือกันแน่นหนากว่าโดยธรรมชาติ แล้วก็มีกลไกรัฐด้วย เพราะฉะนั้นถ้าไม่ระวังก็ไม่ใช่ไม่มีโอกาสที่หากเกิดเปลี่ยนแปลงขึ้น การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นไปในทิศทางที่เราไม่เคยคิดหรือไม่ต้องการก็ได้

เราจะมองว่าการเลือกตั้ง 2566 เป็นก้าวแรกของความหวังได้ไหม หรือที่จริงแล้วเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่การต่ออายุเครือข่ายประยุทธ์

ก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้นทั้งสองอย่าง มันอาจจะไม่ต่ออายุประยุทธ์ก็ได้ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะเป็นความหวัง เพราะเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาและโครงสร้างแบบนี้ และนี่ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จของรัฐประหารเมื่อปี 2557 ด้วย

การเลือกตั้งเพียงแต่ทำให้มีพื้นที่มากขึ้นนิดหนึ่ง หากฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและนิติรัฐเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลได้ ก็อาจทำให้การต่อรองมีได้มากขึ้นระดับหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นรัฐบาลแบบไหนและเขาเลือกแตะประเด็นไหนด้วย เราจะเห็นว่าตอนนี้ฝั่งไม่เอาประยุทธ์สู้กันอยู่ ประเด็นปากท้อง ประเด็นอุดมการณ์ และประเด็นสถาบันฯ ที่ยังไม่ลงรอยกัน พอถึงหลังเลือกตั้ง ต่อให้ฝ่ายนี้ชนะ ตั้งรัฐบาลได้ การเปลี่ยนแปลงในเชิงหลักการต่างๆ อาจขยับไปได้ แต่จะไม่ได้เยอะหรอก แต่ถ้ามองแบบปลงและเข้าใจสภาวะการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง มันก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรในมือเลย ผมพูดแบบนี้อาจจะดูหดหู่นิดหน่อย แต่เลือกตั้งก็คือเท่านี้ในภาวการณ์แบบนี้ ถ้าโชคดีชนะเลือกตั้งเยอะหน่อยและกระแสการแก้รัฐธรรมนูญมาเยอะ ก็จะพอแก้ได้ในระดับหนึ่ง

ลองสังเกตว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนั้น ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกยกออกไป นี่คือความสำเร็จของฝ่ายนิยมประชาธิปไตยแบบไทยๆ คุณจะแก้อะไรก็แก้ไป แต่อย่าแก้อันนี้นะ ทั้งที่ตอนหลังรัฐประหารคุณทำรัฐธรรมนูญก็แก้ส่วนนี้ได้ เพิ่มอำนาจได้ แต่ตอนเป็นประชาธิปไตยมี ส.ส.ร. ก็จะมีข้อจำกัดตรงนี้ก่อนเลย คล้ายกับทำให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ไปเลย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรจะเป็นแบบนั้น ฝ่ายการเมืองก็ไม่ค่อยกล้าแตะเรื่องพวกนี้ พรรคการเมืองแทบจะไม่แตะเรื่องพวกนี้เลย ทั้งที่ความจริงพูดในทางหลักการได้ ไม่ควรห้ามตั้งแต่ต้น กรอบกฎหมายกำหนดว่าให้คุณแก้รัฐธรรมนูญในลักษณะที่ประเทศยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ หมวดพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นหมวดที่ห้ามแก้ในรัฐธรรมนูญ แต่นักการเมืองจะพูดออกมาเองว่าห้ามไปแตะหมวดนี้ แล้วสร้างความรู้สึกขึ้นมาว่าแตะหมวดนี้ไม่ได้ ถามว่ามีตรงไหนที่บอกว่าแตะหมวดนี้ไม่ได้ มีกฎเกณฑ์ไหม มันไม่มี แต่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมาแล้วไง แตะหมวดนี้ปุ๊บมีปัญหาทันทีเลย นี่มันเลยมากเกินไป

กลายเป็นว่ายิ่งทำแบบนี้ทำให้เรื่องสถาบันฯ กลายเป็นประเด็นที่จะต้องพูดถึงกว่าเดิม คนรุ่นหลังๆ เขาจะตั้งคำถามว่าทำไมไม่ได้ เพราะอะไร ยิ่งกลายเป็นปัญหามากกว่าเดิม แทนที่จะพูดกันแบบธรรมดาด้วยเหตุผล เหมือนที่ผมพูดเรื่อง 112 ผมพูดจากเหตุผลว่าโทษมันรุนแรงเกินกว่าเหตุจริงๆ เป็นผลพวงจากรัฐประหารจริงๆ ต่อให้คุณเห็นว่าต้องมีหรือไม่มี 112 นะ แต่ประเด็นว่าโทษแรงเกินสมควรเป็นประเด็นที่ใครก็ตามถ้าสติสัมปชัญญะยังบริบูรณ์ดีอยู่นี่แทบจะเถียงไม่ได้เลย ถ้าคุณไม่คลั่งเกินไป โทษจำคุก 3-15 ปี มันสุดโต่งมากเลย

เรื่องยุบพรรคถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความกลัวให้พรรคการเมืองไม่กล้าแตะประเด็นแหลมคม ทำอย่างไรจึงจะหลุดออกจากกรอบนี้ได้

ยากมากเลย เพราะนักการเมืองอยู่ในระบบแบบนี้ ทำให้คุณวิ่งเข้าหาตำแหน่ง เป็น ส.ส. แล้วก็เป็นกรรมาธิการ เป็นประธานกรรมาธิการ เป็นเลขารัฐมนตรี ขึ้นชั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ จนเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง ระบบราชการทั้งหมดก็แบบนี้

แล้วรัฐธรรมนูญกำหนดว่าถ้าคุณจะลงสนามเลือกตั้งต้องสังกัดพรรค สมมติว่าผมอยากลงสมัครรับเลือกตั้ง ผมไม่อยากให้สัมภาษณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมอยากจะพูดในสภา แสดงทัศนะในฐานะผู้แทนประชาชนแล้ว แต่ตอนนี้ไม่มีพรรคการเมืองที่ผมอยากจะเป็นสมาชิกเลย และผมก็ไม่มีปัญญาตั้งพรรคการเมืองด้วย ไม่มีสตางค์ ผมจึงลงสมัครไม่ได้เลย แล้วตอนนี้เราคิดว่าการที่ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคเป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วยนะ ไปถามประชาชนสิ ประชาชนบอกถ้าไม่สังกัดพรรคจะขายตัวกัน เราเอาเรื่องนี้มาคิดเป็นหลัก ทั้งที่วิธีคิดมันผิด ถ้าผมไปบอกว่าคนลงสมัคร ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองก็ได้ ผมโดนด่าเละเทะเลย

ผมแนะนำว่าเวลาออกแบบให้เอาหลักมาก่อน หลักคือถ้าจะลงเขตไม่ต้องสังกัดพรรค ถ้าคุณจะลงบัญชีรายชื่ออันนั้นต้องสังกัดพรรคโดยระบบ ควรจะเป็นระบบการจูงใจ ไม่ใช่ระบบการบังคับ ควรเปิดทางให้ประชาธิปไตยแข่งกันได้แบบที่ควรจะเป็นมากขึ้น เช่น ถ้าสังกัดพรรคการเมืองจะมีเวลาอภิปรายในสภาตามโควตาของพรรคมากกว่าหรือถ้าสังกัดพรรคจะมีสิทธิเป็นกรรมาธิการ ส่วนปัญหาเรื่องซื้อเสียง ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรค ก็ต้องไปเอาผิดกัน ทีนี้ถ้าเรายอมให้มี ส.ส. ไม่สังกัดพรรคได้ ผลทางอ้อมที่เราจะได้ก็คือถ้าพรรคถูกยุบ ส.ส. ของพรรคที่ไม่ถูกตัดสิทธิก็ยังเป็น ส.ส. อิสระได้ ยังรวมกลุ่มทำอะไรต่อไปได้

สำหรับเรื่องการยุบพรรคที่กลายเป็นอาวุธ ผมวิจารณ์ตั้งแต่แรกว่ามันทำให้ประชาธิปไตยถดถอย ขัดกับตัวระบอบ บ้านเราเอาเรื่องยุบพรรคมาจากต่างประเทศ แต่ไม่เอาหลักการคิดของเขามาว่า การยุบพรรคมีขึ้นเป็นมาตรการสุดท้ายเพื่อปกป้องประชาธิปไตย หากมีพรรคการเมืองที่ทำลายประชาธิปไตยแล้วคุณปล่อยไปไม่ได้ ซึ่งจะต้องทำได้ยากมากเพราะปกติประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้คนสู้กัน คุณต้องเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณได้พูด ต่อให้คุณไม่เห็นด้วยกับเขา เพราะไม่แน่ว่าเมื่อเขาพูดมาแล้วคุณอาจจะเห็นด้วยกับเขาก็ได้

การยุบพรรคแบบไทยกลายเป็นอาวุธเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ พอพรรคการเมืองถูกยุบพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเขาก็แหยง โดนไป 5-10 ปี พอไม่เป็นนักการเมืองก็ทำอะไรไม่ได้ เมื่อเป็นแบบนี้ยิ่งสร้างทัศนะว่าการมีพรรคการเมืองมันสำคัญ พรรคการเมืองจะถูกยุบไม่ได้ แต่อาวุธการยุบพรรคการเมืองจะทอนประสิทธิภาพลงทันทีถ้าคุณมีคนมากพอและมีตัวตายตัวแทนตลอดเวลา เตรียมไว้อีกหลายๆ พรรคถ้าต้องสู้ในระยะยาว ผมหมายความว่าถ้าตั้งใจจะต่อสู้เรื่องนี้ ต้องทำอะไรแบบรัดกุมมากๆ ไม่ให้มีจุดที่จะยุบพรรคได้จากข้อบกพร่องในทางเทคนิคเลย ประเมินฝ่ายตัวเองให้ต่ำไว้ อย่าคิดว่าได้คะแนนเสียงมากๆ แล้วเขาจะไม่กล้ายุบพรรค บีบให้ฝ่ายที่ต้องการยุบพรรค ถ้าจะยุบพรรคก็ต้องสูญเสียต้นทุนให้มากที่สุด และเพื่อจะหลุดจากความกลัวตรงนี้ อาจจะต้องพยายามเสนอแก้กฎเกณฑ์และถ้อยคำที่เป็นเหตุในการยุบพรรคการเมืองไปก่อนเท่าที่ทำได้ ปรับเปลี่ยนกระบวนการได้คนไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทัศนะในการใช้และการตีความกฎหมายในเรื่องยุบพรรคเป็นไปในแนวทางสากลมากขึ้น ผมรู้ว่าทำยาก มันไม่มีสูตรสำเร็จ ที่สำคัญคือมีความมุ่งมั่นที่จะทำมันและพยายามสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นเพื่อจะได้ทำมันให้ได้

แน่นอนว่าการยุบพรรคแต่ละครั้งมีราคาที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องจ่าย จนถึงจุดหนึ่งที่ไม่ไหว ประชาชนสนับสนุนมากจริงก็จะเกิดระเบิดขึ้น แต่ตอนนี้พอนักการเมืองขยาดแล้ว ไม่กล้าแล้ว ทำให้การรักษาสภาวะที่เป็นอยู่ของอีกฝ่ายเป็นไปได้ ฝ่ายประชาธิปไตยแทบจะไม่เหลืออะไรเท่าไหร่ แต่ทุกอย่างมีพัฒนาการ ต้องรอดู ในเบื้องต้นเห็นความพยายามไม่ให้เกิดการสืบทอดอำนาจ พยายามเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองก่อน นี่คือการเล่นการเมืองภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่ เพราะยังมีกลไกศาลและองค์กรอิสระที่ทำงานอยู่ และสุดท้ายถ้ามีอะไรขึ้นมาจริงๆ เขายังมีกำลังอาวุธของกองทัพที่จะรักษาสภาวะนี้ไว้

ถ้าจะว่าไปตอนนี้ไม่ใช่ว่าเขาปกครองไม่ได้นะ ประเทศก็ไปของมันแบบนี้ ชีวิตก็เดินกันไปแบบนี้ หลายคนบอกเศรษฐกิจพัง มีคนทุกข์ยากจริง แต่ในภาพใหญ่เขาก็ดันไปได้ ดิ้นรนกันไป อยู่กันไป การหลุดจากกรอบนี้จึงไม่ง่าย

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สังคมจะมีโอกาสได้คุยกันเรื่องนโยบายและโครงสร้าง อาจารย์คิดว่ามีโจทย์อะไรบ้างที่พรรคการเมืองควรจะหยิบยกมาคุยกัน

ถ้าผมพูดไปก็จะมีคนบอกว่า อาจารย์ก็มาทำพรรคการเมืองเองสิ เอาจริงๆ การเมืองคือการเอาชนะใจคน เอาใจให้คนเลือกคุณ ประชาธิปไตยเป็นแบบนี้ ฉะนั้น คำถามนี้ผมคิดว่าตอบได้สองทางคือ โจทย์ของคุณเองเลยในแง่อุดมการณ์กับโจทย์ที่มีความเป็นไปได้ในสนามการเมือง

ถ้าพูดแบบไม่ต้องคิดแทนนักการเมือง ไม่ต้องคิดว่าจะเอาประเด็นนี้ไปหาเสียงยังไง ผมคิดว่าประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญควรเป็นประเด็นแรกสุดหรือเป็นประเด็นหลักเลย รัฐธรรมนูญหมายถึงการจัดโครงสร้างของรัฐ ซึ่งจะแตะกับเรื่องระบอบในระดับหนึ่ง สำหรับผมที่เป็นนักกฎหมายมหาชน เรื่องนี้เป็นทั้งชีวิตของผมอยู่แล้ว แต่นี่เป็นประเด็นซึ่งหลายคนมองว่า จับต้องไม่ได้ เป็นนามธรรม ไม่ทำให้คนกินอิ่มนอนหลับ ซึ่งที่สุดแล้วไม่จริงหรอก มันอาจจะเกี่ยวโดยอ้อม พรรคการเมืองควรจะต้องหาเสียงโดยชี้ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้พร้อมๆ กับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ผมอาจจะพูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง แต่ต้องพูดซ้ำว่าโครงสร้างระบอบการปกครองสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของคนอย่างมหาศาลมากกว่าที่เราคิด เพราะเราเกิดมาในโลกนี้โดยที่ไม่รู้หรอกว่าเรามาจากไหน เป็นปัญหาอจินไตย เราถูกโยนเข้ามาในสังคมนี้ กว่าจะรับรู้เราก็โตมามีฐานะสังคมแบบนี้ สถานะครอบครัวแบบนี้ สังคมมีวัฒนธรรมจารีตธรรมเนียมขนบแบบนี้ แต่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงโครงสร้างคือสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นมา แม้แต่สิ่งที่อยู่รอบตัวเราหลายสิ่งเกิดขึ้นเพราะการบริหารจัดการ ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติเสียทีเดียว คุณตื่นมาในหน้าหนาวแล้วมีฝุ่น PM 2.5 เยอะ เราอาจบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หลายส่วนเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้และการจัดการต้องมีกฎเกณฑ์กำกับ รัฐธรรมนูญเป็นกฎเกณฑ์กำกับการจัดการประเทศ สมมติคุณแบ่งประเทศไทยออกเป็นสองประเทศ ระบอบการปกครองคนละระบอบ มีรัฐธรรมนูญคนละอย่าง วิถีชีวิต วิธีคิด และคุณภาพชีวิตของผู้คนก็จะคนละแบบเลย

ปัญหาคือมันยากที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลต่อชีวิตของคุณอย่างไร โชคดีที่หลังปี 2540 ชาวบ้านเขารับรู้ระดับหนึ่ง ด้วยความตั้งใจของพรรคไทยรักไทยหรือไม่ก็ตาม ทำให้คนรู้สึกว่าพอมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีพรรคการเมืองที่มีความเข้มแข็งเป็นรัฐบาลได้พรรคเดียวแบบนี้เปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงให้มีความหมายขึ้น แต่ผมคิดว่าในปัจจุบันพรรคที่สืบสานมาจากพรรคไทยรักไทยอาจไม่ได้เน้นประเด็นนี้เป็นหลัก เขาทำแบบที่เคยทำคือประเด็นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่มาช่วยโดยอ้อม ไม่ได้ช่วยโดยตรง แต่ผมคิดว่าพรรคการเมืองควรจะแตะประเด็นนี้โดยตรง

นอกจากประเด็นทางรัฐธรรมนูญแล้ว การชำระชะล้างมรดกของรัฐประหารที่เกิดขึ้นรูปของกฎหมายต่างๆ ก็ควรเป็นสิ่งที่จะต้องทำหลังจากเลือกตั้งแล้ว เรื่องสำคัญๆ ควรจะต้องทำแทบจะทันทีที่ชนะการเลือกตั้งเพราะความชอบธรรมทางประชาธิปไตยยังเข้มข้นอยู่ เช่น การจัดการกับกองทัพโดยการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสภากลาโหม ให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือทหาร และการจัดการกับปัญหาคดีการเมืองที่ตกค้างมาซึ่งเลี่ยงเรื่องการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมไม่ได้

ถ้าพูดในเชิงความเป็นไปได้ของการหาเสียง คุณต้องยกประเด็นให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา อันนี้เป็นเทคนิคเรื่องการหาเสียงว่าคุณจะแก้รัฐธรรมนูญตรงไหนยังไง ประเด็นพื้นฐานที่อาจใช้หาเสียงได้ เช่น ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ เปลี่ยนที่มาของ ส.ว. อาจชี้ให้เห็นว่าภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นและรัฐธรรมนูญควรจะถูกแก้ยังไง

แน่นอน ผมอยากจะเห็นไปถึงการแตะปัญหาที่เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย อย่างน้อยทำให้ประเด็นนี้ถูกตระหนักว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของพระมหากษัตริย์และการเปลี่ยนแปลงนี้หลายส่วนไม่ได้เกิดขึ้นผ่านประชามติ ซึ่งผมก็ไม่คิดว่าพรรคการเมืองจะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมา สุดท้ายพรรคการเมืองคงทำเรื่องที่จะเพิ่มคะแนนเสียงจากประชาชนได้นั่นแหละ แต่จะยังไม่แตะไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้างหลักซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ คือปัญหาเรื่องอุดมการณ์การปกครอง

ผมไม่ได้เรียกร้องว่าคุณจะต้องทำแบบที่ผมคิด เพราะผมไม่ได้ทำเอง มันยากมากที่จะเรียกร้องนักการเมืองในระบอบแบบนี้ให้ทำเช่นนี้ สมมติถ้าผมไปทำพรรคการเมือง ผมก็ต้องทำใจว่าอาจจะถูกยุบพรรคเลย เข้าไปแบบเตรียมโดนยุบเลย

ความหวังเล็กๆ น้อยๆ ของผมคืออย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งนี้ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ แต่เป็นไปได้ว่าแม้เปลี่ยนขั้วรัฐบาลได้ แต่รัฐบาลใหม่อาจจะไม่แตะประเด็นหลักๆ อยู่ดีแหละ แต่อาจจะพอช่วยส่วนอื่นๆ ได้บ้างระดับหนึ่ง ที่เหลือก็ต้องไปกดดันกันให้เขาแตะ ถึงจุดหนึ่งเขาก็ต้องรับปัญหานี้ ซึ่งข้างหน้าอาจจะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นหรืออาจต้องรอจนกว่าจะมีปัจจัยที่คิดไม่ถึงแทรกเข้ามาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เช่นที่เหตุการณ์สวรรคตรัชกาลที่ 8 เปลี่ยนทิศทางการเมืองไปอีกด้านหนึ่ง ประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่า ‘ถ้า’ แต่ถ้าเราพยายามลองมองก็คือถ้าไม่มีเหตุการณ์สวรรคตรัชกาลที่ 8 ก็อาจจะไม่มีเหตุการณ์รัฐประหารปี 2490 จะไม่เกิดรัฐธรรมนูญ 2492 จะไม่เกิดความผันผวนทางการเมืองแบบนี้ ซึ่งอาจจะไม่เกิดรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก เพราะคณะรัฐประหารอ้างเรื่องการสวรรคตเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วทำให้ประวัติศาสตร์เดินไปในอีกทางหนึ่ง

เราก็ไม่รู้หรอกว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นผลดีกับพัฒนาการทางประชาธิปไตย ฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยและนิติรัฐก็ต้องจับและฉวยโอกาสเอาไว้ ใช้มันทำให้ประเทศไปสู่ทิศทางนั้น ถ้าไม่มีจังหวะแบบนั้นก็อยู่กันไปแบบนี้ สิ่งที่ผมทำได้คือสร้างคนในวงการกฎหมายที่มีความคิดออกไปให้มากที่สุด เพื่อไปบรรเทาความทุกข์ยากของคนได้บ้างเท่านั้นเอง

หากหลังเลือกตั้งเราได้รัฐบาลที่ใส่ใจประชาชน ลำดับความสำคัญของเรื่องที่ควรทำหลังเลือกตั้งเพื่อให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นขึ้น ควรจะมีเรื่องอะไรบ้าง

ผมคิดว่าเรื่องเศรษฐกิจต้องทำนะ ผมไม่ปฏิเสธ เพราะเศรษฐกิจพันกับการเมือง ถ้าทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นเครดิต มีส่วนโดยอ้อมทำให้ประชาชนหวงแหนว่าการเลือกตั้งมีผลกับตัวเขา แต่พร้อมๆ กันนั้นต้องทำประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาพยายามทำอยู่แล้ว แต่น่าเสียดายว่าประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญจะมีการบีบเอาไว้ให้แตะไม่ได้ทั้งหมด ทั้งที่ความจริงควรจะเปิดหมดเลย เอาไว้แค่เรื่องตัวระบอบอย่างเดียว แต่เรื่องอื่นๆ ควรเปิดให้มีการพูดกันได้ กระทั่งการทำรัฐธรรมนูญให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญาด้วย กฎเกณฑ์กฎหมายอาญาอย่างมาตรา 112 ควรพูดได้ ผมไม่คิดว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะทำเรื่องพวกนี้นะ เขาก็คิดว่าเอาเรื่องให้เป็นรัฐบาลได้ก่อนแล้วประเด็นปัญหาแบบนี้ค่อยไปว่ากันตามสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นแต่ละคราว นักการเมืองก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง ผมไม่ได้บอกถึงขนาดว่าเขาไม่มีอุดมการณ์อะไรเลยหรอก แต่เขารู้สึกว่าเวลายังไม่ใช่ ต้องทำเรื่องอื่นให้เกิดความเข้มแข็งก่อนเพื่อให้การยึดอำนาจทำได้ยากขึ้น

แน่นอนว่าสุดท้ายทุกพรรคการเมืองต้องชูประเด็นพวกนี้ขึ้นมา ประเด็นเศรษฐกิจก็เป็นประเด็นที่ต้องสู้เพื่อหาคะแนนเสียง ทีนี้แล้วประเด็นรัฐธรรมนูญพรรคการเมืองจะชูเรื่องไหนขึ้นมาบ้าง เขาก็ต้องประเมินว่าหากชูประเด็นนี้ขึ้นมาจะไม่กระทบต่อฐานคะแนนเสียงของเขา บางประเด็นเขาก็อาจจะไม่ชู ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่อยากจะเห็นหรือแม้กระทั่งผมเอง แต่ผมทำใจได้ ผมปลงได้ในเรื่องนี้ เราก็เคยเห็นแล้วจากพรรคการเมืองที่เดิมทีตั้งขึ้นเพื่อจะทำเรื่องพวกนี้ แต่ก็ต้องลดระดับลงเมื่อมีผู้แทนในสภา

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่จะต้องทำก็คือปรับเปลี่ยนกฎหมายการบริหารราชการกระทรวงกลาโหมและกองทัพ ปรับระบบหน่วยงานให้คำปรึกษากฎหมายแก่รัฐบาล ปรับระบบกระบวนการยุติธรรม พูดง่ายๆ คือ ต้องแตะสองส่วนที่ในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัญหา คือส่วนที่เป็นกำลังทางกายภาพและส่วนที่เป็นกำลังทางกฎหมาย อันมีกองทัพกับศาลเป็นเป้าหมายหลัก แน่นอนว่ามันทำยาก แต่ถ้าไม่แตะอะไรเลย ไม่ช้าไม่นานจะเข้าอีหรอบเดิม

นิติราษฎร์เคยทำข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไว้เมื่อปี 2554 วันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ถ้าย้อนกลับไปมองข้อเสนอนั้น ส่วนตัวอาจารย์คิดว่ามันยังใช้ได้หรือต้องเปลี่ยนแปลงอะไรไหม

ต้องเข้าใจก่อนว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ทำโดยนักกฎหมายและตั้งบนฐานคิดของกฎหมายอาญาที่เป็นอยู่ ซึ่งตอนนั้นก็มีประเด็นเรื่องการยกเลิกไปเลยอยู่แล้ว จึงมีบางส่วนบอกว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ทำให้คนที่เสนอให้ยกเลิกกลายเป็นพวกสุดโต่งไป ซึ่งไม่ได้เป็นความตั้งใจของผม ตอนที่เสนอคือมีประเด็นปัญหานี้เกิดขึ้นและไม่มีใครทำ เราก็อาสาทำแล้วกัน เราเป็นนักกฎหมายก็เสนอแก้กฎหมายให้รับกับโครงสร้างของประมวลกฎหมายอาญาที่มีอยู่ โดยต้องตระหนักถึงสภาวะการเคลื่อนไหวในเวลานั้นด้วย ซึ่งเป็นอีกรัชสมัยหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าคนที่เสนอยกเลิกเป็นพวกสุดโต่งอะไร ควรจะมีสิทธิเสนอได้ ก็เสนอทัศนะไปว่าควรจะยกเลิกอะไรยังไง

ในความเห็นส่วนตัวของผม ซึ่งอาจจะไม่เหมือนนิติราษฎร์คนอื่นๆ คือผมเห็นว่าตำแหน่งประมุขของรัฐควรมีกฎหมายคุ้มครองตำแหน่ง ผมถือว่าประมุขของรัฐเป็นผู้แทนของรัฐ ขณะที่รัฐเป็นแกนในการรักษาระบอบการปกครองเอาไว้ การมุ่งทำลายประมุขของรัฐโดยที่มุ่งทำลายระบอบการปกครองอาจจะเป็นอันตรายได้ แม้ประมุขของรัฐจะเป็นประธานาธิบดีในระบอบสาธารณรัฐก็ตาม ผมไม่มีปัญหาถ้าจะมีกฎเกณฑ์คุ้มครองประมุขของรัฐต่างจากคนธรรมดาอยู่บ้างในเรื่องการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เรื่องความผิดที่กระทำโดยวาจา โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาสภาวะหรือตำแหน่งของประมุขเอาไว้ แต่ต้องพอสมควรแก่เหตุ

ผมพูดเรื่องนี้โดยตระหนักและเข้าใจกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ผมเข้าใจว่านักวิชาการชั้นนำของโลกเสนอว่าประมุขของรัฐไม่ควรมีการคุ้มครองอะไรเลย แม้แต่ประเทศเยอรมนีที่ผมไปเรียนหนังสือจบกลับมาซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดีอยู่ก็มีข้อเสนอทางวิชาการให้ยกเลิกไป เยอรมนีมีกฎหมายอีกมาตราหนึ่งซึ่งพอจะปรับใช้ลักษณะการคุ้มครองได้บ้างแต่ก็มีคนเสนอให้เลิกการคุ้มครองเป็นการเฉพาะ แม้ในทางปฏิบัติไม่มีการใช้ก็ตาม

ความคิดของผมเรื่องนี้อยู่ที่การมองรัฐของผม ผมอาจจะมองสถานะของรัฐและประมุขของรัฐต่างจากคนอื่นๆ และผมยอมรับว่าเห็นแตกต่างกันได้ คนซึ่งเห็นไม่ตรงกับผมและเป็นคนที่ผมฟังความคิดเห็นมากเป็นพิเศษเพราะเป็นคนที่ศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์มานานคืออาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเห็นว่าควรยกเลิกไปเลย ผมเห็นว่าควรจะมี แต่ไม่ใช่ในแบบที่เรามีอยู่แบบนี้ ส่วนตำแหน่งอื่นผมเห็นว่าไม่ควรมีการคุ้มครอง

เอาเข้าจริงข้อเสนอของนิติราษฎร์ก็ไม่ถึงขนาดรับกับไอเดียของผมทั้งหมดหรอก ในข้อเสนอมีเรื่องการคุ้มครองตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ แต่สำหรับผมเห็นว่าควรคุ้มครองเฉพาะประมุขของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นใครหรือเป็นตำแหน่งในรัฐแบบไหน ไอเดียของผมคือไม่อยากให้มีการมุ่งทำลายประมุขของรัฐเพื่อทำลายระบอบการปกครอง แต่ตอนทำนิติราษฎร์เพื่อไม่ให้ข้อเสนอมันถูกโจมตีเกินไป ก็อนุโลมเสนอคุ้มครองตำแหน่งอื่นไปก่อน

ในเวลานี้ข้อเสนอของนิติราษฎร์หลายส่วนก็พอใช้ได้อยู่ ซึ่งมันไม่ตรงกับที่ผมคิดหรอก แต่ด้านหนึ่งมันพอจะอธิบายให้ฝ่ายที่อยากจะให้มี 112 ต่อไปฟังได้บ้าง แต่เอาเข้าจริงเขาก็ไม่ฟัง เขารู้สึกว่าการแก้แบบนิติราษฎร์เป็นการแก้แบบค่อนข้างแรง เป็นการแก้กึ่งยกเลิก เพราะเปิดให้มีการพิสูจน์ได้ มีเหตุยกเว้นโทษ ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปร้องทุกข์กล่าวโทษได้ แต่หลักเกณฑ์พวกนี้เป็นเรื่องที่ควรจะต้องเป็น

ส่วนการเสนอให้ยกเลิก 112 เป็นอีกเฟสหนึ่ง ยกเลิกก็คือเลิก ไม่ต้องอธิบายอะไรเยอะ แต่ถ้าคุณเสนอแก้ไขจะต้องอธิบายว่าจะแก้อย่างไร สำหรับตอนนั้นในแง่การเคลื่อนไหวเมื่อสิบกว่าปีก่อนต้องเข้าใจว่าข้อเสนอแก้ไขของนิติราษฎร์เป็นข้อเสนอที่เปิดโอกาสให้มีคำอธิบาย ให้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนส่วนใหญ่ ต้องอธิบายในแต่ละข้อ เช่น เรื่องนี้โทษเกินสมควรกว่าเหตุ การให้ใครก็ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษมันไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกัน แต่ละข้อทำให้เห็นมิติปัญหาของ 112 มากขึ้น

เราต้องไม่ลืมว่าการเคลื่อนไหวตอนนั้นยังยากมากๆ ในการขอให้นักวิชาการมาร่วมลงชื่อ เพราะข้อเสนอนี้สร้างความตกใจว่าอาจารย์กลุ่มนี้กำลังทำอะไร ทำไมอยู่ๆ มาพูดเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างผมที่เป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดลยิ่งรับแรงกดดันมหาศาล ฉะนั้นข้อเสนอแต่ละข้อต้องถูกอธิบายโดยเหตุผล แน่นอนอาจไม่ได้อย่างใจคนที่อยากจะยกเลิกหรอก แต่ข้อเสนอนี้มีเหตุผลทางกฎหมายและรับกับโครงสร้างในเวลานั้น ถ้าคุณรับข้อเสนอนี้ ในทางกฎหมายจะไปสอดรับกับประมวลกฎหมายอาญาพอดีสนิท ไม่ต้องแก้มาตราอื่นๆ เรื่องอัตราโทษเราก็ดูว่าการกำหนดเท่านี้จะกระทบกับมาตราอื่นไหม เป็นการเสนอจากเทคนิคทางกฎหมายระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเสนอกึ่งกฎหมายกึ่งการเมือง

เบื้องหลังก็คือตอนที่เสนอมีบางท่านรู้สึกว่าผมไม่ฟังคนอื่น แม้กระทั่งเรื่องว่าจะให้สำนักราชเลขาธิการหรือเลขาธิการพระราชวังเป็นผู้กล่าวโทษ ผมก็ยืนยันว่าในทางกฎหมายน่าจะเป็นสำนักราชเลขาธิการมากกว่า เพราะกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตรงกับตำแหน่งนี้มากกว่า ผมฟังหมด เพียงแต่ต้องมีสักคนหนึ่งตัดสินใจว่าต้องเป็นร่างนี้แล้วจบ เพราะจะมีข้อเถียงในรายละเอียดได้ตลอดเวลา

ข้อเสนอนี้ต้องคิดทั้งเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคม ใช้ในการปลุกสังคมให้เห็นถึงปัญหาของ 112 และเรื่องการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอเข้าสู่สภา ถ้าจะเอาไปใช้จริงเราจะไม่ถูกโต้แย้งทางกฎหมาย ไม่ใช่ว่านักกฎหมายคนอื่นบอกว่าคุณเสนอกฎหมายแบบนี้ได้ไง ไม่แก้มาตราโน้นนี้ด้วย ในทางเทคนิคเราพยายามปิดช่องตรงนั้นเลยออกมาแบบนี้ ต้องบอกก่อนว่าคนที่ลงชื่อไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ทุกประเด็นนะ เพียงแต่มองในภาพรวมแล้วเขาพอเข้าใจได้ บางคนรู้สึกว่าอันนี้แรงไป บางคนรู้สึกว่าอันนี้เบาไป แต่โดยรวมเป็นตุ๊กตาที่ทำกันขึ้นมาและหลายคนรู้สึกว่าควรจะร่วมกันลงชื่อ ตอนนั้นมีนักเขียนหลายคนเข้ามา คนที่เป็นแรงสำคัญคือคุณวาด รวี คุณปราบดา หยุ่น คุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ คุณซะการีย์ยา อมตยา …ผมไม่ชอบเอ่ยชื่อคนเดี๋ยวเก็บไม่หมด แต่มีหลายคนที่มาช่วย มาลงแรงกันตอนนั้น

ฉะนั้นถ้าถามว่าข้อเสนอนี้ใช้ได้ไหม มันก็ได้ แต่ปัจจุบันคนอาจจะต้องการมากกว่านั้น ต้องดูว่ามันปรับอะไรได้ไหม บางคนบอกว่าก็เสนอยกเลิกไป แล้วก็ไปต่อรองเอา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการคิดทางการเมือง ผมไม่มีปัญหา แต่หลักคิดผมคือประมุขของรัฐน่าจะมีอะไรคุ้มครองอยู่ ประเด็นนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผมก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณมองตำแหน่งนี้จากสายตาแบบไหน ในภาพใหญ่ผมยังคิดว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังใช้ได้อยู่ แม้อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างก็ตาม

อาจารย์พูดหลายครั้งว่าเป็นนักกฎหมายก็ต้องพูดจากหลักกฎหมาย ข้ามไปพูดแบบนักปฏิวัติไม่ได้ ถ้ามองคนที่เคยอยู่ร่วมในกลุ่มนิติราษฎร์อย่างอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุลที่ข้ามไปฝั่งการเมืองจนโดนตัดสิทธิทางการเมือง ในสถานการณ์แบบนี้อาจารย์ปิยบุตรยังสามารถทำอะไรได้ไหม

ก็คงทำได้ในแง่การเคลื่อนไหวทางความคิดของเขา เพราะถูกตัดสิทธิทางการเมืองจะกลับสู่สนามทางการเมืองก็อีกตั้งหลายปี ทีนี้เวลาที่พูดเรื่องนักกฎหมาย-นักการเมือง ต้องเข้าใจว่ามันมีระดับของมันอยู่ หนึ่งคือระดับแก้กฎหมาย เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ทำกฎหมายใหม่ อันนี้สามารถพูดได้โดยไม่จำเป็นต้องติดล็อกอยู่กับกฎเกณฑ์ที่เป็นอยู่ เพราะคุณจะเปลี่ยนมัน คุณมีหลักการบางอย่างอยู่ คุณพูดจากหลักการและคุณค่าแบบนั้นได้ นี่เป็นการพูดที่ออกจากแดนของการใช้กฎหมายตรงๆ แต่ยังอยู่ในการมองจากสายตาที่เกี่ยวพันกับกฎหมายที่เป็นอยู่ คุณเสนอความเห็นว่าแก้ได้หรือไม่ได้ ไม่ได้มีถูกผิดโดยตัวมันเอง เป็นเรื่องความเหมาะสม เถียงกันได้หมด

แต่อีกระดับหนึ่งคือเมื่อคุณต้องตอบคำถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยที่มีกฎเกณฑ์อยู่ แล้วคุณต้องวินิจฉัยว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร อันนี้มีข้อจำกัดแล้ว คุณไม่สามารถพูดเพื่อให้ได้ผลทางกฎหมายอย่างที่คุณต้องการได้เสมอไป เพราะคุณต้องพูดจากหลักวิชา จากเครื่องมือที่มี โดยหลักแล้วคุณต้องจำยอมต่อกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่จริงๆ ซึ่งเป็นมาตรหรือเกณฑ์ชี้วัดเพื่อตอบปัญหาทางกฎหมายนั้น แล้วคุณก็ต้องใช้มันไปแบบนั้นให้รับกับหลักการมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในพื้นที่ที่คุณสามารถตีความ และอภิปรายให้เหตุผลจากวิชาการทางนิติศาสตร์ที่มีน้ำหนักมั่นคงได้ ส่วนนี้บางทีพูดไปก็ตรงกับสิ่งที่คนทั่วไปคิด บางทีก็ไม่ตรงบ้าง

สำหรับคนที่ไปทำงานทางการเมืองก็จะทำแบบผมไม่ได้ ถ้าเขาเห็นด้วยกับผมก็อาจจะพูดไม่ได้ ต้องนิ่งๆ หรืออาจจะไม่เห็นด้วยกับผมก็ได้ เวลาคนนิ่งไม่พูดเราก็ไม่รู้ไง ฉะนั้นคนที่เคยเป็นนักวิชาการแล้วไปทำการเมือง เมื่อเวทีทางการเมืองหมดเขาก็ต้องทำเวทีทางความคิด ทีนี้สนามทางความคิดของเขาจะอยู่ที่ประชาชนทั่วไป เพราะเขาไม่ได้สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแล้ว เขาต้องทำกับประชาชนทั่วไปผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เขียนหนังสือไป รอเวลาที่จะกลับมาทำงานทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่ว่าในช่วงเวลา 7 ปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีกฎหมายอะไรออกมาแล้วกลับไปมีบทบาททางการเมืองได้

แม้แต่คนอื่นๆ ก็เหมือนกัน พอเขาถูกตัดสิทธิ สิ่งที่เคยคิดฝันจะทำก็ทำไปในทิศทางนั้นไม่ได้แล้ว ความจริงช่วงที่เขาอยู่ในสภาก็ทำอะไรไปได้หลายอย่างนะ ไม่ใช่ทุกเรื่องทุกประเด็นในข้อกฎหมายที่ผมเห็นด้วยกับเขา แต่การที่เขาทำพรรคนี้ขึ้นมาก็สร้างสีสันในระดับหนึ่ง

แน่นอนท่าทีทางการเมืองเป็นเรื่องซึ่งเห็นต่างกันได้ การเคลื่อนไหวบางอย่างถ้าเป็นผมจะตัดสินใจในอีกลักษณะหนึ่ง มันต่างกัน แต่เขาอยู่ในสนาม ผมอยู่ข้างนอก เหมือนคนเล่นหมากรุก คนที่ง่วนอยู่กับหมากรุกกับคนที่รู้หมากรุกแล้วมองจากข้างนอกก็อาจจะเห็นอีกแบบหนึ่ง โทษกันไม่ได้หรอกก็เป็นเส้นทางใครเส้นทางมัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save