fbpx

สามก๊กฉบับวณิพก: ฉากจีนในไทย จากปฏิวัติ 2475 ถึงวาระสุดท้ายของยาขอบ

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ระหว่างที่ยาขอบหรือโชติ แพร่พันธุ์โด่งดังกับผู้ชนะสิบทิศ เขาปันใจและสมองไปเขียนสามก๊กฉบับวณิพกเสียติดลมจนไม่อาจกลับมาเขียนผู้ชนะสิบทิศให้จบตามที่เขาตั้งใจได้ ยาขอบผู้ทำให้คนติดผู้ชนะสิบทิศกันงอมแงมขนาดที่ต้องไปรอถึงหน้าโรงพิมพ์ ได้แปลงสามก๊กที่เป็นวรรณกรรมจีนอมตะอันสูงส่งมาสู่เรื่องเล่าร่วมสมัยอย่างน่าทึ่ง

อันที่จริงก่อนผู้ชนะสิบทิศจะถือกำเนิด ตลาดสิ่งพิมพ์ไทยขณะนั้นมีผู้อ่านนิยายอิงพงศาวดารอยู่มากหลายและดาษดื่น นิยายอิงประวัติศาสตร์และการสงครามกลายเป็นแรงดึงดูดผู้อ่านในหนังสือพิมพ์ช่วงทศวรรษ 2480 และก่อนหน้านั้น พงศาวดารจีนคืองานที่มีอยู่ก่อน มีงานที่พยายามมาแย่งลูกค้าบ้าง เป็นนิยายอิงพงศาวดารไทยอย่าง นเรศวรมหาราช ของพานจันทร์ ยอดทหารหาญ นิยายอิงพงศาวดารมอญของศรีบูรพา และก็มาถึง ยอดขุนพล ที่ต่อมาจะกลายเป็นผู้ชนะสิบทิศ กล่าวกันว่า ความสำเร็จของผู้ชนะสิบทิศได้ “สะกดจิตผู้อ่านให้หยุดเรียกร้องหาพงศาวดารจีน”[1] กันเลย การหนีเรื่องเล่าแบบจีนๆ น่าจะเกี่ยวกับกระแสชาตินิยมไทยและการลดความเป็นจีนลง ตามการชูชาตินิยมไทยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐนิยมเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย การร้องเพลงชาติ และอื่นๆ เป็นหมุดหมายที่สำคัญมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ในที่สุดเรื่องเล่าจากแผ่นดินใหญ่ ก็หวนกลับมาอีกครั้งในนาม สามก๊กฉบับวณิพก ด้วยผลงานของยาขอบนั่นเอง ยาขอบไม่รู้ฮึดมาจากไหนจนทำให้สามก๊กเข้ามายึดครองพื้นที่การสร้างสรรค์แทนที่ผลงานชิ้นเอกอย่างผู้ชนะสิบทิศ เพราะนี่คือเหตุผลหนึ่งที่เขาเขียนผู้ชนะสิบทิศไม่จบ และอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญว่าการเติบโตของยอดขายสัมพันธ์กับสังคมไทยที่จีนมีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น ส่งผลต่อการเปิดกว้างรับวัฒนธรรมจีนหลังสงครามโลกไปด้วย[2]

เคร็ก เรโนลด์ชี้ให้เห็นว่าสามก๊กเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปที่ไม่รู้หนังสือผ่านบทละครงิ้วที่แต่งจากสามก๊กซึ่งอาจย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยาเสียด้วยซ้ำ[3] ยาขอบที่ขึ้นชื่อในหมู่เพื่อนฝูงอยู่แล้วว่าเป็นคนเล่าเรื่องเก่ง ก็มาในบทบาทที่ต่างไปนั่นคือในบทบาทของวณิพกผู้เล่าเรื่องผ่านตัวละครสามก๊ก ความต่างจากที่ผ่านมาคือ เขามิได้หยิบสำนวนโบราณของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ออกมาเล่าจากสิ่งที่เขาเห็นเท่านั้น แต่เขายังสอบเทียบกับสามก๊กฉบับฝรั่งอย่าง Romance of the Three Kingdoms  ที่แปลโดย ซี.เอช. บรีวิตต์-เทยเลอร์ (C.H. Brewitt-Taylor) คู่กันไปด้วย[4]

แรกที่สามก๊กถูกเอากลับมาเล่านั้น กวนอูเป็นตัวละครแรกที่ถูกเล่าในหนังสือพิมพ์ประชาชาติปี 2480 ก่อนจะทิ้งช่วงยาวไปอีกครึ่งทศวรรษ[5] ก็มิใช่เรื่องซับซ้อนอะไรนักเพราะช่วงดังกล่าวผู้ชนะสิบทิศกำลังขึ้นหม้อ ความต่อเนื่องจึงขาดหายไป จนเมื่อกลับมารื้อฟื้นอีกที คราวนี้ยาขอบเครื่องติดและหายใจเข้าออกเป็นสามก๊กแทนความอมตะของนิยายอิงประวัติศาสตร์พม่าไป

สามก๊กฉบับวณิพกที่ใช้เวลาเดินทางนับทศวรรษ นับแต่ที่ยาขอบเริ่มตีพิมพ์กวนอูเป็นตอนๆ ตั้งแต่ปี 2480 ไปจนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของเขาเมื่อปี 2498 อาจนับเป็นความภาคภูมิของชาวจีนในสังคมไทยเช่นกัน ความนิยมของสามก๊กทำให้พวกเขากลับมามีที่ยืน มามีบทสนทนาได้อีกครั้งหลังจากถูกดูถูกและเหยียดหยามด้วยนโยบายราชาชาตินิยมรัชกาลที่ 6 “พวกยิวแห่งบูรพาทิศ” ไปจนถึงยุคเชื้อชาตินิยมจอมพล ป.พิบูลสงคราม สามก๊กฉบับนี้บ่มเพาะขึ้นมาจากหยาดเหงื่อและแรงงานของยาขอบจนโตเต็มวัย หลังจากที่รวมครบทุกเล่ม จนกลายเป็นงานคลาสสิกที่คนรุ่นหลังจดจำฉายาของตัวละครได้อย่างไม่รู้สึกห่างเหิน

เราเห็นความฝันของผู้เขียนที่เคยปรารภไว้ในปี 2487 ว่าอยากให้สามก๊กฉบับวณิพก ตีพิมพ์ไปในภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาไทย

“ฉะนั้นถ้าโลกถึงสมัยสันติ หาทางจัดการดันสามก๊กฉบับวณิพกนี้ออกไปในภาษาอื่นที่แพร่หลายได้สักหนึ่งหรือสองภาษาแล้ว ในชาตินี้ก็ยิ่งจะแน่นอนยิ่งขึ้นว่าจะไม่ไส้แห้งตาย ด้วยวิมานที่ลอยเคว้งอยู่กลางอากาศอันนี้นี่แหละ ทำให้กังวลว่าจะพยายามรักษาหนังสือของตัวให้ผิดจากเรื่องเดิมเป็นอย่างน้อยที่สุดที่จะพึงทำได้ จนต้องทำไปประหนึ่งว่าโอหัง เขียนแตกต่างไปจากข้อความที่ปรากฏในฉบับภาษาไทยเสียเสมอๆ” [6]

เช่นเดียวกับการที่เขาเขียนถึงจิวยี่ว่า

“วิญญาณเป็นของจริงหรือ และมีอิทธิพลดลบันดาลอันใดได้หรือ ถ้ากระนั้นก็เป็นหน้าที่ของท่านสิ ที่จักบันดาลให้สามก๊กฉบับวณิพกซึ่งบรรจุคำอุทธรณ์ทั้งนี้ ต้องใจผู้อ่านทั้งหลาย แพร่หลายกระจายไป-ไม่แต่เพียงในภาษาไทย” [7]

ที่ทางของจีนจน ลูกค้าสามัญชน และการโต้เถียง

บทเกริ่นนำของยาขอบที่น่าจะเขียนในหนังสือพิมพ์เพื่อเปิดฉากตอนกวนอู ช่วงปี 2480 อันเป็นยุคที่กลิ่นเสรีภาพและรสชาติของความเสมอภาคของระบอบใหม่ยังโชยอยู่ในบ้านเมือง เผยให้เห็นคนตัวเล็กตัวน้อยในหย่อมย่านชาวจีน ไม่ใช่เจ้าสัวหรืออาเสี่ย ดังที่เขาบรรยายว่า “ตามตำบลที่มีคนจีนอยู่กันคับคั่ง ยิ่งถ้าที่ตรงนั้นหลังเพลิงไหม้ไปไม่กี่วัน กุลีเพิ่งปราบและลำดับอิฐปูนที่ปรักหักพังให้เรียบลงนิดหน่อยแล้ว สถานเช่นนี้เราจะได้พบวิธีหากินของคนจีนหลายอย่างต่างกัน” ส่วนยาขอบที่ปลอมตนเป็นวณิพกผู้เล่าเรื่องได้อธิบายเพื่ออุปมากับตัวเขาว่า เป็นผู้เฒ่านักเล่านิยายที่ตอนกลางวันรับจ้างเขียนจดหมายไปเมืองจีนแถวเยาวราช กลางคืนจะเที่ยวเล่านิยาย ปูผ้าแดงมาพร้อมกับหนังสือที่จดโวหารเอาไว้สะกดผู้ฟังในตอนที่จับใจ พร้อมกับพัดที่ใช้กำกับจังหวะเรื่อง[8] บทบาทใหม่ของผู้เขียนจึงถ่อมตัวลงไปเป็นวณิพกผู้อยู่ภายใต้วงล้อมของผู้ฟังสามัญชนทั้งหลาย และนั่นอาจเป็นสาสน์น้ำมิตรที่ส่งไปถึงพี่น้องชาวจีนในเขตเมืองทั่วไทยที่เป็นผู้อ่านอีกด้วย

นักเขียนมากฝีมือผู้อายุสั้นเคยประกาศไว้ว่า บทประพันธ์ “ควรนับได้ว่าเป็นสมบัติของประชาชน เพราะบทประพันธ์นั้นๆ ได้บังอาจเสนอตัวเข้ามาเพื่อการรับใช้ประชาชน” [9] ผู้อ่านจึงมีสิทธิ์ตักเตือน ยาขอบเองก็ได้รับฟีดแบ็กมาเสมอ จนบางส่วนเขาได้ปรับตามคำแนะนำ ดังที่เคยกล่าวไว้แล้วในบทความ ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ วรรณกรรมหลังปฏิวัติ 2475 ที่ฉายความรุ่งโรจน์ของสามัญชนกับมรณกรรมของผู้ประพันธ์

โชติยังถูกตัดพ้อผ่านบัตรสนเท่ห์ว่าเล่นตัว เห็นว่าคนอ่านชอบเลยไม่เขียนต่อ กับรวยจากผู้ชนะสิบทิศแล้ว เลย “ลืมคุณผู้อ่าน”[10] ยาขอบตอบข้อสงสัยนั้นด้วยเหตุผลว่า เขาต้องการจะผลิตงานคุณภาพเท่านั้น และเปรียบตัวเองกับ “จีนเจ้าของร้าน” ข้าวต้มปลา ถ้าวันใดไม่ได้ปลากะพงมาก็ไม่ยอมเปิดร้านขาย “ยอมให้ผู้ซื้อผิดหวังในทางไม่ได้กินเสียเลย แต่ไม่ยอมให้ผิดหวังในทางรสที่ผู้ซื้อได้หมายมั่นปั้นมือเข้ามาว่าจะได้กินเป็นอันขาด” แต่ปลากะพงที่เขาได้มาจากท้องทะเลนั้น เจ้าของร้านอย่างยาขอบไม่ได้เอาไปทำเมนูผู้ชนะสิบทิศ แต่เป็นสามก๊กฉบับวณิพกต่างหาก คาดว่าผู้อ่านจำนวนมากของฉบับวณิพก ก็คือคนไทยเชื้อสายจีน หรือกระทั่งคนจีนที่อ่านไทยออก การสนทนาของผู้เขียนกับผู้อ่านยังรวมไปถึงการตั้งชื่อภาษาไทยให้กับลูกหลานนักอ่านไม่น้อย[11]  ซึ่งไม่แน่ใจว่าสัมพันธ์กับการทวีจำนวนคนจีนขึ้นมากหลังสงครามด้วยหรือไม่ ถ้าใช่ นี่อาจเป็นบทบาทมุมกลับของวณิพกจีนเฒ่าที่เคยรับเขียนจดหมายไปจีน แต่นี่รับแปลงชื่อจากจีนมาเป็นไทย

อีกเหตุผลหนึ่งที่สามก๊ก ไม่ได้เร่งรีบถูกเขียนออกมาก็เพราะว่า ยาขอบนั้นเกรงบารมีของ ‘หนังสือชั้นดีเยี่ยม’ ด้วยเขามิได้เล่ามันในฐานะที่เป็นการเดินตามรอยต้นฉบับ แต่การพยายามชี้และแก้ไขจุดบกพร่องจนเขากลัวว่า “จะเป็นจัญไรเกาะกินตัวไปนาน” [12] หรือยาขอบเกรงว่าตนนั้นจะถูกหาว่ามีพฤติกรรม “ถ่มน้ำลายรดฟ้า” คล้ายกับจิวยี่?

การเขียนสามก๊กหลังๆ จึงมีความขึงขังต่างจากเจตนารมณ์แรกที่ประกาศในบทเกริ่นนำที่ว่า “ข้าพเจ้าก็ได้เพียงยึดรอยผู้เฒ่าชาวจีนนักเล่านิยาย การเล่าทำนองนี้อาจมีขาดตกบกพร่องจึงขอซ้อมไว้ก่อนว่าข้าพเจ้าจะได้เล่าโดยหลักฐานของผู้สนใจในอักษรศาสตร์นั้นหามิได้” ยาขอบมิได้เป็นวณิพกดังเดิมที่เล่าแบบถ่อมตัวอยู่ที่ซากอาคารที่ถูกไฟไหม้ไปอีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นนักพูดไฮด์ปาร์กที่อาจหาญยืนบนเก้าอี้ปราศรัยบริเวณท้องสนามหลวงมากกว่า

กำเนิดตัวละครและหนังสือเล่ม ในห้วงเวลาที่ต่างไป

หากอ่านงานสามก๊กด้วยแว่นของนักเรียนประวัติศาสตร์ เราจะเห็นรอยต่อถึง 3 ช่วงด้วยกัน นั่นคือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2, ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงคราม ช่วงแรกนับเป็นช่วงสั้นๆ ที่เขาเริ่มเขียนกวนอู และเป็นเวลาที่เขายังเขียนผู้ชนะสิบทิศอยู่ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่ 2 ที่เล่าถึงกวนอู ขงเบ้ง จิวยี่ ตั๋งโต๊ะ และเล่าปี่ตอนแรก ส่วนช่วงที่ 3 ได้เล่าถึง เล่าปี่ตอนที่ 2 โจโฉ จูล่ง (ตัวละครอื่น จะไปอยู่ในรวมเล่มเหล่านี้อย่างเช่น เตียวหุย ลิโป้ สุมาเต็กโช โจสิด ฯลฯ)

ผู้เขียนสารภาพว่าได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือทำนองอภิธานรามเกียรติ์ที่กล่าวย่อถึงตัวละครในนั้นตามลำดับอักษรที่ถือได้ว่าทำได้เพลิดเพลิน อธิบายจนรู้จักตัวละครทุกตัว จึงอ่านเข้าใจง่ายกว่าตัวรามเกียรติ์จริงๆ[13] ในการรวมเล่มสามก๊กฉบับวณิพกมันจะปรากฏการระลึกถึงผู้มีพระคุณและน้ำมิตรที่มีต่อยาขอบอยู่เสมอ

ตารางด้านล่างแสดงให้เห็นถึงประวัติการปรากฏกายของตัวเองในบรรณพิภพ กวนอูเป็นตัวละครตัวแรกที่เปิดโรงด้วยความป็อปปูลาร์ ในสามก๊กมีเพียงกวนอูที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้า ว่ากันว่ามีการสร้างศาลเจ้ากวนอูบูชากันในฐานะเทพในประเทศจีน รวมมาถึงในไทย ในฐานะที่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ ก่อนจะมาเป็นบุคคลที่ไม่ใช่เทพแต่รู้จักกันดีว่าฉลาดเป็นกรด ผู้หยั่งรู้นั่นคือ ขงเบ้ง นามของเขาถูกนำไปใช้เป็นฉายาของกุนซือ นักวางแผนมากความสามารถ นายกรัฐมนตรีไทยบางคนก็ยังได้รับฉายาดังกล่าว ถัดจากขงเบ้งก็คือจิวยี่ผู้เป็นคู่ปรับทางความคิดและการเมืองของขงเบ้งที่ถูกเขียนให้เป็นลูกไล่ขงเบ้งและมีจิตใจอาฆาตพยาบาทอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ตั๋งโต๊ะอันเป็นจอมวายร้ายสุดขีดอย่างที่ยาขอบเรียกว่า “ปิศาจร้ายในร่างมนุษย์” [14] “อาชญากรที่เหี้ยมที่สุดในพงศาวดารของมนุษย์” [15]

ตรงกันข้ามกับตั๋งโต๊ะ เรื่องของเล่าปี่ผู้ที่มีคุณธรรมอ่อนน้อม เรื่องนี้เขียนในช่วงปลายสงครามและมาจบช่วงหลังสงคราม ส่วนจูล่ง นายทหารสำคัญของเล่าปี่ที่อุทิศตนและตายแบบจบสวยที่สุดคนหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูก ‘คุณขอมา’ และเขียนขึ้นในช่วงท้ายๆ ของชีวิต เล่มสุดท้าย คือเรื่องของโจโฉที่ไม่ระบุแน่ชัดว่าเขียนขึ้นเมื่อไหร่ เพราะไม่มีคำนำในการรวมเล่มโจโฉ ว่ากันว่าส่วนของโจโฉยังเขียนไม่จบเสียด้วย โจโฉมีส่วนผสมระหว่างคนโหดร้ายกับผู้มากความสามารถในฐานะผู้นำที่ไม่ใช่มีแต่ด้านมืดดำชั่วช้าแต่ถ่ายเดียวแบบตั๋งโต๊ะ “ดูเถิดความเป็นหัวหน้าคน ความเป็นยอดอันหนึ่งแห่งความสามารถของมนุษย์ คือ การรู้จักคนและใช้คนได้ถูกต้อง”[16]

ตารางแสดงประวัติการตีพิมพ์ชุดสามก๊กฉบับวณิพก

ชื่อเล่มปีที่พิมพ์การแสดงรำลึกถึงบุคคลสำคัญต่อยาขอบหมายเหตุ
กวนอู-เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ2485ถนิม เลาหะวิไลย (ครูประจำชั้นคนสุดท้ายที่ชักชวนเข้าวงการนักเขียน)ตีพิมพ์ครั้งแรกลงหนังสือพิมพ์ปี 2480 มีเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ก่อนรวมเล่มตีพิมพ์ปี 2485 (ในฉบับปี 2543 ผนวกด้วยเรื่องคนอื่นๆ ที่พิมพ์ระยะหลังอีกได้แก่ เอียวสิ้ว-ผู้คอขาดเพราะขาไก่ (2492), ไหมเหลือง เมียสาว (2492), เตียนอุย-ผู้ถือศพเป็นอาวุธ (2492), โจสิด-ผู้ร่ายโศลกเอาชีวิตรอด (2492),  เตียวหุย-คนชั่วช้าที่น่ารัก (2494), ม้าเฉียว-ทายาทแห่งเสหลียง (2494), ลกเจ๊ก-ท่านนี้หรือชื่อเจ๊ก, สุมา-เต๊กโช-ผู้ชาญอาโปกสิณ,)
ขงเบ้ง-ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร2486เทียน เหลียวรักวงศ์ เพื่อนผู้เสมือนพ่อแบ่งพิมพ์ขายเป็น 3 ตอน ตอนละเล่ม ก่อนจะรวมเล่มปี 2486 เริ่มวิจารณ์การถอดความ สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อเทียบกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ
จิวยี่-ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า2487สมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพเนื่องในวาระสิ้นพระชนม์ภาคต่อของ ขงเบ้ง-ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร
ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ2487เจิม จามรกุล (พ.ต.อ.พระยาบริหารนครินทร์)ต้นฉบับตีพิมพ์ใน ‘ยุคอักขรวิบัติ’ 24 กรกฎาคม 2487 ก่อนหน้าจอมพลป.ฯ ลาออกเพียง 1 สัปดาห์ (ในฉบับปี 2543 มี ลิโป้-อัศวินหัวสิงห์ (2495))
เล่าปี่-ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น2489เจ้าพระยาพระคลัง (หน)พิมพ์ 2 ตอน ปี 2488 และ 2489
จูล่ง-สุภาพบุรุษจากเสียงสาน2494พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพรเขียนลงนิตยสารตั้งแต่ปี 2492 ลงเป็นตอนยาว 12 ตอน (ฉบับปี 2543 มีเรื่องแทรกอย่าง ยีเอ๋ง-ผู้เปลือยกายตีกลอง  (2493) ยี่เอ๋ง-ผู้ไม่ยอมให้หยาดเหงื่อแก่ความทรยศ (2493))
โจโฉ-ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ2494-2495?มีความแปลกจากเล่มอื่นที่เริ่มเขียนถึงเป็นตอนๆ ถึง 12 ตอน ว่ากันว่ายังเขียนค้างไว้ ไม่จบ (ปี 2543 มี ชีซี–ผู้เผ่นผงาดเสมอเมฆ)

ตัวละครสามก๊กกับฉากจีนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย-การเมืองโลก

เมื่อเทียบกับผู้ชนะสิบทิศแล้ว สามก๊กมีมิติที่สามารถสอดแทรกพื้นที่ทางการเมืองและเหตุการณ์สำคัญของโลกได้ง่ายกว่า นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ยาขอบติดลมและอยู่กับสามก๊กไปอีกยาวนาน ยังไม่นับถึงการไม่มีพันธะผูกพันว่าจะต้องเขียนเป็นตอนยาวๆ ต่อเนื่องจากโครงใหญ่ที่วางไว้

ฉากการเมืองร่วมสมัยในฉบับวณิพกอาจล้อไปตามช่วงชีวิตของเขานับแต่ปี 2480 เป็นต้นมา ในบทของกวนอูที่เขาเริ่มเปิดฉากจะให้กลิ่นอายของการยกย่องสามัญชนมากเป็นพิเศษ นั่นคือการให้เหตุผลของการปฏิเสธการเกี่ยวดองกับซุนกวนเพราะเป็นอภิสิทธิ์ชนที่ไม่ใช่ค่านิยมที่เป็นที่นับถือกัน “กวนอูคงจะได้มีอารมณ์ไม่นิยมนับถือบุคคลที่สมัยใหม่เรียกว่า คาบช้อนทองออกมาจากในครรภ์ เจ้าชาวเมืองไก่เหลียงซึ่งกำเนิดแต่ตระกูลสามัญ แต่สร้างเกียรติบันลือลั่นขึ้นจากสมรภูมิ จึงถือคตินี้ตีค่าตนเองยิ่งใหญ่กว่าซุนกวนผู้สืบแซ่ซุนครองกังตั๋งมาถึง 3 ชั่วคน”[17] หรือการเน้นย้ำความเป็น ‘ชาวนา’ หรือกระทั่งเรียกว่าขงเบ้งเป็น ‘ชาวเขา’ [18] เนื่องการปลีกตัวไปจากสังคม เช่นเดียวกับสุมาเต๊กโชที่เขาก็นับว่าเป็น “ชาวนาผู้มีมือพิณเป็นเสน่ห์”[19] ส่วนลกเจ๊กนั้น ยาขอบก็พยายามเขียนแก้ว่า ไม่ใช่ผู้ลักเล็กขโมยน้อยตามวาจาเชือดเฉือนของขงเบ้ง เขาให้ความสำคัญกับลกเจ๊กว่า เขามีความรู้อันปราดเปรื่องตั้งแต่อายุ 14-15 ปี จนมีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วดินแดนที่อ้วนสุดปกครองอยู่ จนถูกเชิญไปเลี้ยงด้วยอาหารเลิศรส ลกเจ๊กเก็บส้มไปก็เพราะความกตัญญูต่อมารดาที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ “ซึ่งความยากจนของเราหากินไม่ได้” [20] ยาขอบได้เล่าประวัติตอนหนึ่งของเขาไว้ว่า สมัยเป็นนักเรียนเขาอยู่อยุธยาบ้างนครปฐมบ้างแต่ต้องจับรถมาเรียนในกรุงเทพฯ ขณะนั้นแม่ของเขาก็เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ไม่แน่ว่าที่เขาเล่าถึงลกเจ๊ก เขาอาจหวนถึงแม่ของเด็กชายโชติ แพร่พันธุ์ยามก่อนไปด้วย[21]

พึงเข้าใจว่าตั้งแต่เรื่องขงเบ้งเป็นต้นมา ไทยอยู่กับสภาวะสงครามมาตลอดตั้งแต่กรณีพิพาทอินโดจีน 2483 ที่รบกับฝรั่งเศสจนนำไปสู่การได้ดินแดนบางส่วนคืนและการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปีต่อมาก็ไทยก็ถูกบีบให้เข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพาอันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกกลายๆ สามก๊กฉบับวณิพกจึงเติบโตอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ผู้คนตามข่าวสารสงครามทั้งในและต่างประเทศ เรียกได้ว่า เรื่องเล่าของกองทัพ ชัยชนะ และความปราชัยล้วนเป็นอยู่ในความสนใจของผู้คนในยุคดังกล่าว การสมมติตัวละครในสามก๊กและยุทธวิธีการรบทั้งบนบกและน้ำ ก็อาจเทียบได้กับประกาศทางวิทยุและพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน สำนวนร่วมสมัยที่คล้ายพาดหัวข่าวจึงส่งผลต่อสำนวนของยาขอบไม่น้อย

เมื่อแรกได้เปรียบทางการศึกอะไรๆ ก็น่าจะดี แต่หลังจากสถานการณ์พลิกผัน และผู้นำเผด็จอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ย่อมส่งความเดือดร้อนไปอย่างกว้างขวาง กับวงการนักเขียนจะเห็นถึงการลำเอียงของรัฐที่ปันสิ่งที่ขาดแคลนอย่างกระดาษให้กับหนังสือพิมพ์ แต่เมินเฉยต่อพวกที่ผลิตนิยายขาย เพราะหนังสือพิมพ์เป็นปากกระบอกเสียงให้กับรัฐในยามสงคราม ยาขอบได้วิจารณ์ส่วนนี้ไว้ในต้นปี 2488 ว่า

“ภารกิจในหน้าที่ของหนังสือนวนิยายมีประโยชน์แก่นรชนคนไทย ยิ่งกว่าภารกิจในหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ข่าวมากนัก ทั้งนี้เพราะในยามสงครามดังนี้ หนังสือพิมพ์ข่าวในเมืองไทยแทนที่จะได้ทำสิ่งหนึ่งประการใดให้รุดหน้า เบ่งสมรรถภาพไปในทางสื่อข่าวและอื่นๆ ก็ดูเหมือนจะกลับได้มีโอกาสพักผ่อนหย่อนใจโดย ‘ปา’ ข่าวโทรเลขซึ่งออกมาจากสำนักสื่อข่าวกลาง ลงไปในหน้ากระดาษอย่างพร้อมเพรียง เหมือนๆ กันทุกฉบับ”[22]

เริ่มมีการทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ครั้งที่เขาเขียนถึงจิวยี่แล้ว ดังที่เปรียบเปรยไว้ว่า ไม่หวาดหวั่นจากการ “บอมบ์ของข้าศึก” เมื่อเทียบกับการเขียนสามก๊กฉบับวณิพกที่จะให้ออกมาดีสมใจผู้ประพันธ์[23] การเกิดขึ้นของเล่ม ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ ในปี 2487 นั้นมีจุดชวนให้เรา ‘เอ๊ะ’ อยู่ ก็เพราะเมื่อแรกเขียน ยาขอบไม่ได้นึกถึงเลย เขาอ้างว่า แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วตั๋งโต๊ะเป็นเหตุความวุ่นวายจนทำให้ตัวละครได้ “พรั่งพรูกันออกมาทำความวุ่นวายให้ผู้อ่าน” [24]

การปักหมุดเรื่องตั๋งโต๊ะในฐานะที่เป็นตัวละครชั่วร้ายขั้นสูงสุดในระหว่างที่บ้านเมืองกำลังปั่นป่วนด้วยสงครามนั้น จะมีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยแค่ไหน ผู้เขียนไม่ได้ระบุชื่อบุคคลร่วมสมัยและสถานการณ์ทางการเมืองไทยเทียบไว้เลย ขณะนั้นผู้กุมอำนาจสูงสุดในเมืองไทยคือ นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดนามจอมพล ป.พิบูลสงคราม พฤติการณ์ของเขาที่ร่วมกับหลวงวิจิตรวาทการในการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมไทย การสร้างอักขรวิธีแบบใหม่ที่ถูกเรียกในยุคหลังว่า ‘อักขรวิบัติ’ หรือการนำไปสู่โครงการใหม่ๆ มากหลาย จนทำให้คณะราษฎรอีกปีกหนึ่งก็เริ่มถอยห่างและขัดแย้งกับเขา โครงการสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์กลายเป็นโจทย์สำคัญทางการเมืองในขณะนั้น การเร่งสร้างเมืองภายใต้พระราชกำหนดที่ตามเทคนิคทางกฎหมายแล้วมีวันหมดอายุ จะต้องนำเสนอสภาเพื่อขอความเห็นชอบเป็นพระราชบัญญัติ พอมีการนำเข้าสภาปรากฏว่า จอมพลแปลกกลับพ่ายแพ้และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา

บทหนึ่งในตั๋งโต๊ะในปี 2487 ว่า “นครใหม่ซึ่งท่านผู้เผด็จการสร้างขึ้นเพื่อสร้างแข่งบุญเมืองหลวงของกษัตริย์ผู้เยาว์” [25] กลายเป็นว่าไปกันได้กับกับช่วงที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม กำลังจะสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์ในปี 2486[26] ไปด้วย สำนวนที่ยาขอบตวัดปากกาบางครั้งทำให้เรานึกถึงการเมืองไทยขึ้นมา เช่น “ทุกวันนี้มีเจ้าก็เหมือนหามีไม่” [27] หรือการกล่าวถึงระบอบ ‘จูเผง’ ที่ลดทอนอำนาจกษัตริย์ลง

“นับแต่วินาทีนั้น แบบแผนการปกครองของประเทศจีนก็เปลี่ยนเป็นระบอบจูเผง (Ch’u-Ping) หรือนัยหนึ่งเทิดทูนพระมหากษัตริย์ให้ประกอบพระราชกรณียกิจโดยวิธีเงียบ-อย่างมีเสียง ไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 ปี อันเป็นสมุฏฐานสำคัญให้เกิดการแก่งแย่งหักโค่นชิงดีซึ่งกันและกัน จนเป็นเรื่องสามก๊กต่อไป” [28]

หรือกรณีของตัวละครชื่อเงาฮูที่พยายามลอบสังหารตั๋งโต๊ะแต่พลาดท่า ในที่สุดก็ถูกจับแล่เนื้อทีละชิ้นจนตาย วีรกรรมของเขาเป็นที่โจษจัน จนมีชาวลกเอี๋ยงทำโคลงยกเป็น ‘วีรบุรุษเงาฮู’ เสียงสะท้อนครั้งนั้นว่ากันว่าทำให้ตั๋งโต๊ะ “ค่อยรู้สึกถึงมติมหาชนขึ้น” [29] มติมหาชนนี้ก็เป็นคำที่ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยคู่กับคำอย่างรัฐธรรมนูญ สิทธิ เสรีภาพ สมภาพ ภราดรภาพ[30] ผิดแต่ว่า มติมหาชนในที่นี้มาจากข้างล่างไม่ใช่มาจากรัฐ

ความเข้มข้นจากการวิพากษ์ผู้มีอำนาจรัฐค่อยๆ ลดลง อย่างไรก็ตาม หากเราเชื่อว่าตอนของโจโฉเขียนขึ้นราวปี 2494-2495[31] นั่นก็หมายถึงว่า ตอนนี้เขียนในช่วงที่จอมพลแปลกเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงหลังสงคราม ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร สำหรับผู้เขียนแล้วสงสัย คำด่า “คนที่จะเป็นนายคน อย่าเลี้ยงเหี้ยไว้ใช้” (กรณีโตเกี๋ยมมอบให้เตียวคีดูแลพ่อโจโฉ แต่กลับฆ่าพ่อโจโฉเพื่อชิงทรัพย์)[32] นั้นจะหมายถึงใครหรือไม่?

ยาขอบเขียนถึงประเทศเยอรมนีแล้ววกกลับมาที่ตัวละครทางการเมืองไทย เช่นการชี้ว่าโจโฉตัวเล็กสูงไม่ถึง 5 ศอก กรณีนี้ได้เปรียบเทียบกับนโปเลียน และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ[33] หรือการกล่าวเปรียบเทียบจะเทียบฮินเดนเบิร์กกับโจโฉ ผู้มีความสามารถของเยอรมนี[34] เมื่อพูดถึงเยอรมนีมากเข้าก็ก้าวไปแตะบ่าผู้มีอำนาจทางการเมืองไทยในทศวรรษ 2490 ว่าล้วนเคยเป็น “คนทำงานตัวเล็กๆ” กันมาทั้งสิ้น และมีน้ำเสียงที่เอนเอียงไปทางชื่นชมปรีดี พนมยงค์ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย และมีน้ำเสียงค่อนข้างเย้ยหยันฝ่ายกุมกำลังทหารและตำรวจ

“หน็อย คุยไปถึงประเทศเยียระมัน เมืองไทยนี่ล่ะ เจ้ารู้อะไรในเรื่องความสามารถของคน อ๋อ เมืองไทยก็หมูเลย เรื่องที่จะชี้ให้ดูความสามารถของคน วันต้นๆ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างไร ใครเก่งกันเท่าไหร่เทียวในสมัยนั้น เป็นคนทำงานตัวเล็กๆ กันทั้งนั้นเมื่อวันคืนอยู่ในระยะที่กล่าว หลวงประดิษฐ์มนูธรรมยังไม่ใช่หัวหน้า ‘เสรีไทย’ คนคุมไทยนาวาในยามต้องมหาวาตภัย หากยังเป็นเพียงเลขาธิการคนแรกของสภาผู้แทนราษฎร หลวงเชวงฯ นั่นหรือ ก็เป็นเพียงเลขานุการกระทรวงมหาดไทย หลวงพิบูลสงคราม เป็นแต่เพียงรองผู้บังคับทหารปืนใหญ่ พลโท หลวงเกรียงศักดิ์พิชิตก็เป็นแต่เพียงรองผู้บังคับกองพันปืน 1 รักษาพระองค์ หลวงสินธุสงครามชัย จำไม่ได้ แต่จำได้ว่าไม่ใช่แม่ทัพเรือ โปลิศใหญ่สมัยนั้นก็ไม่ใช่โปลิศเผ่า ผู้สร้างความเจริญรุดหน้าให้แก่ราชการตำรวจมากมายในสมัยนี้ ขุนรณนภากาศ ดูเหมือนยังเป็นร้อยโทสายแดง ไม่ใช่พลอากาศเอกผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ซึ่งขยายกิจการบินจนทางวิ่งยาวออกไปสุดลูกตาทั้งสนามบินทหารและพลเรือน” [35]

‘ผู้หญิง’ ตัวบทที่หายไป

อันที่จริงเรื่อง ‘ผู้หญิง’ ที่เป็นเรื่องของซุนฮูหยิน น้องสาวซุนกวนที่ถูกใช้เป็นหมากการเมืองเพื่อเอาชนะเล่าปี่ที่สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตตัวเองลงด้วยการกระโดดน้ำทะเล ผู้หญิงเคยมีชื่อว่า ‘ผู้หญิง-สาวน้อยผู้สง่างาม’ [36] ในยุคหลังเคยถูกแยกไปพิมพ์ในงานชุดรวมเรื่องสั้น เล่ม 3 ของยาขอบ ต่อมาได้ไปปรากฏในสามก๊กฉบับวณิพกเวอร์ชัน ปี 2537 แต่ในชุดที่พิมพ์ปี 2543 เรื่อง ‘ผู้หญิง’ ไม่ปรากฏอีก ซุนฮูหยินจึงเป็นตัวแทนความไร้สุ้มเสียงของผู้หญิงในวรรณกรรมคลาสสิคของจีนเล่มนี้ ดังสำนวนที่ยาขอบแปลว่า “ธรรมดาภรรยาอุปมาเหมือนอย่างเสื้อผ้า…ขาดแลหายแล้วก็จะหาได้ พี่น้องเหมือนแขนซ้ายขวา ขาดแล้วยากที่จะต่อได้”[37] เช่นเดียวกับเตียวเสี้ยนตัวละครสำคัญที่กลายเป็นเพียงลมหายใจที่แทรกอยู่ภายในเรื่องตั๋งโต๊ะ กับ ลิโป้ เตียวเสี้ยนก็เป็นอีกหนึ่งหมากทางการเมืองเช่นเดียวกัน การหายไปของ ‘ผู้หญิง’ ในฉบับปี 2543 คล้ายดังการตอกย้ำถึงการไร้พื้นที่และเสียงของสตรีในนิยายจีนและสังคมการเมืองไทยไปด้วย

ฉากจีนภายใต้กลิ่นกะปิน้ำปลาและนมเนย กับงานเขียนที่ยังเขียนไม่จบ

หากสำนวนการแปลของ ว. ณ เมืองลุงจะทำให้นิยายกำลังภายในจีนมี ‘ความเป็นจีน’ ที่มีลักษณะโดดเด่นแม้จะใช้คำไทย บาลี-สันกฤตผนวกกับชื่อตัวละครจีนแต้จิ๋วตลอดเรื่อง สำนวนของยาขอบหาเป็นเช่นนั้นไม่ ยาขอบไม่เพียงแต่จะสนทนากับฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แล้ว ยังเติมกะปิหยอดน้ำปลาเข้าไปด้วยการแนมด้วยกลอน และโคลงเพื่ออุปมาบรรยากาศและอารมณ์ของสามก๊กฉบับวณิพกเข้าไป ผนวกกับลีลาการเขียนสำนวนร่วมสมัยยิ่งทำให้ความแปร่งของสามก๊กเคี้ยวกลืนได้ง่าย อีกชั้นหนึ่งคือ การที่เขาอ้างและพิมพ์ตัวภาษาอังกฤษลงในหนังสือของเขา พร้อมกับการแปล นั่นยอมแสดงให้เห็นถึง การตัดสินใจนำสามก๊กยุคใหม่มาเผยแพร่ในสังคมไทย

เช่นเดียวกันกับผู้ชนะสิบทิศ สามก๊กฉบับวณิพกเขียนไม่จบ ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง โดยเฉพาะตอนที่ว่าด้วยโจโฉที่ยังค้างคาอยู่ หรือตัวละครสำคัญตัวหนึ่งที่เป็นผู้ชนะที่แท้จริงอย่างสุมาอี้ ที่ยังเขียนไม่จบ ด้วยการโปรยหัวไว้ว่า “ชาติเสือย่อมจับเนื้อกินโดยวิสัย” การรวมแผ่นดินของสุมาอี้ อาจถือว่าเป็นตอนอวสานที่ยาขอบไปไม่ถึง แต่กลับเป็นชีวิตอันเป็นกายเนื้อของเขาเองที่สิ้นสุดลงเสียก่อน.


[1] กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ในคัคนานต์แห่งวรรณกรรมไทย ได้สูญเสียนกอินทรีไปตัวหนึ่ง”, ยาขอบอนุสรณ์, ช่วย พูลเพิ่ม บรรณาธิการ (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2537), หน้า 74-78

[2] ดูใน ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว, ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมกับการเมืองไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงการรัฐประหาร พ.ศ.2500 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552

[3] เครก เจ. เรย์โนลด์ส, “เจ้าสัวและขุนศึก บริบททางวัฒนธรรมและการเมืองของสังคมไทยสมัยใหม่ และสามก๊กนิยายพงศาวดารจีน”, เจ้าสัว ขุนศึก ศักดินา ปัญญาชน และ คนสามัญ รวมบทความประวัติศาสตร์ของ เครก เจ. เรย์โนลด์ส. (กรุงเทพฯ :มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550), หน้า 251

[4] ยาขอบ, ขงเบ้ง-ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร (พิมพ์ครั้งที่ 17, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (7)

[5] ส.พลายน้อย, ยาขอบ ชีวิตและงานของผู้แต่งอมตนิยายผู้ชนะสิบทิศ (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: ข้าวฟ่าง, 2535), หน้า 114

[6] ยาขอบ, จิวยี่-ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (20)

[7] ยาขอบ, จิวยี่-ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 166

[8] ยาขอบ, ขงเบ้ง-ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร (พิมพ์ครั้งที่ 17, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (10)-(11)

[9] ยาขอบ, ขงเบ้ง-ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร (พิมพ์ครั้งที่ 17, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (2)

[10] ยาขอบ, กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (17)

[11] ยาขอบ, โจโฉ-ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 87-88

[12] ยาขอบ, จิวยี่-ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (15)-(16)

[13] ยาขอบ, กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (16)-(17)

[14] ยาขอบ, ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (16)

[15] ยาขอบ, ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 66

[16] ยาขอบ, โจโฉ-ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 84-86

[17] ยาขอบ, กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 21

[18] มีการกล่าวถึงขงเบ้งในลักษณะนี้อยู่ตลอดดูใน ยาขอบ, ขงเบ้ง-ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร (พิมพ์ครั้งที่ 17, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543) และยาขอบ, จิวยี่-ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543)

[19] ยาขอบ, กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 34

[20] ยาขอบ, กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 115-117

[21] ยาขอบ, ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (22)

[22] ยาขอบ, เล่าปี่-ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (29)

[23] ยาขอบ, จิวยี่-ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (15)-(16)

[24] ยาขอบ, ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า (17)

[25] ยาขอบ, ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 1

[26] ปรามินทร์ เครือทอง, “ไอเดีย “เมืองหลวงใหม่” (ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ) ฝันที่เอื้อมไม่ถึงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม”, ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_54682 (22 เมษายน 2565)

[27] ยาขอบ, ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 29

[28] ยาขอบ, ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 39

[29] ยาขอบ, ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ (พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 41

[30] อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศุภรัตน์ แสงฉัตรแก้ว, “วาทกรรมประชาธิปไตยในสุนทรพจน์ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม”, วารสารศิลปากร ฉบับภาษาไทย, 34 : 2 (2557) : 109-130

[31] มีระบุว่าเขียนสามก๊กมาเกือบ 15 ปี ดูใน ยาขอบ, โจโฉ-ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 87

[32] ยาขอบ, โจโฉ-ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 129

[33] ยาขอบ, โจโฉ-ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 20

[34] ยาขอบ, โจโฉ-ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 63

[35] ยาขอบ, โจโฉ-ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 64-66

[36] ยาขอบ, กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า , (10)-(12), 125

[37] ยาขอบ, เล่าปี่-ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น (พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 55

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save