fbpx

[ความน่าจะอ่าน] สงครามของผู้หญิง-น้ำตาของผู้ชาย ใน ‘อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี’

หากพูดอย่างรวบรัด หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องราวของผู้หญิงมีชื่อเสียงในยุคสมัยเดียวกันห้าคนที่ป่วยด้วยโรคทางจิต แต่การกล่าวเช่นนี้ดูจะลดทอนความน่าสนใจและเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ไปมากโข

เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนชาวอังกฤษ

โดโรธี ปาร์กเกอร์ นักเขียน นักวิจารณ์ละครชาวอเมริกัน

เซลดา แซร์ นักเขียนและภรรยาของเอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ นักเขียนผู้โด่งดัง เจ้าของนิยาย The Great Gatsby

มาริลิน มอนโร นักแสดงฮอลลีวูดผู้เป็นที่หลงใหลของชายทั่วโลก เจ้าของใฝเสน่ห์และท่าหนีบกระโปรงอันลือลั่น

โยโกะ โอโนะ ศิลปินและคนรักของจอห์น เลนนอน  

รายชื่อที่ว่ามานี้ ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงที่จะตามอ่านหรือดูประวัติของพวกเธอ หลายคนจำเรื่องราวได้ขึ้นใจและรู้ตอนจบของชีวิตเหล่านี้อย่างดีอยู่แล้ว แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่จะปฏิเสธหนังสือเล่มนี้

อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี โดดเด่นที่การเล่าเรื่อง ผู้เขียนเขย่าชีวิตของทั้งห้าคนนี้ใหม่ แล้วมาร้อยเรียงถักทอจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน แม้จะรู้ตอนจบอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนยังปล่อยเซอร์ไพรซ์ได้เป็นระยะ – พูดอย่างไม่อวยเกินจริง มีแค่ยอดฝีมือเท่านั้นที่เล่าเรื่องเก่งในระดับนี้ได้

หนังสือมาเป็น box set แบ่งหนังสือเป็น 3 เล่มตามช่วงทศวรรษ เล่ม 1 เล่าช่วง 1910-1920 เล่ม 2 เล่าช่วง 1930-1940 และเล่ม 3 เล่าช่วง 1950-1960 มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลกในยุคที่ตัวละครยังมีชีวิต

ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยจดหมายของเลโอนาร์ด วูล์ฟ ข้าราชการหนุ่มชาวอังกฤษที่ถูกส่งไปประจำการที่เกาะเซลอน ชายผู้ที่ต่อมาจะกลายเป็นสามีของเวอร์จิเนีย สตีเฟน หญิงสาวผู้เติบโตในย่านเซาธ์เคนซิงตัน ถนนไฮด์ปาร์กเกตที่ลอนดอน เรื่องราวจากหนึ่งไปสองที่ดูคล้ายไม่มีอะไรเชื่อมโยงกัน จะค่อยๆ พัฒนาและกลายเป็นปมเงื่อนยึดเรื่องราวไว้ด้วยกัน ประสบการณ์การอ่านที่วิเศษของหนังสือเล่มนี้คือการที่ผู้เขียนทิ้งเหยื่อล่อไว้ตอนต้นทาง แล้วค่อยๆ ตะล่อมพาเราไปเจอโลกที่กว้างขึ้น แล้วเฉลยความเชื่อมโยงในจังหวะที่เหมาะเจาะ เรื่องแบบนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อวางแผนการเขียนอย่างแม่นยำเท่านั้น

เรื่องราวในช่วงปี 1910-1920 ที่ปรากฏในเล่มแรก มีผู้หญิงสามคนสลับกันเข้าฉาก คือ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ โดโรธี ปาร์กเกอร์ และเซลดา แซร์ ฟิตซ์เจอรัลด์ พวกเธอเติบโตและมีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างเรือไททานิคล่ม และอเมริกาอยู่ในช่วงเริ่มใช้กฎหมาย prohibition ห้ามขายเหล้า

พวกเธอมีชะตากรรมและความฝันเป็นของตัวเอง ภายใต้ภาวะสังคมที่การเป็นผู้หญิงไม่ใช่เรื่องง่าย การต้องอยู่ใต้ร่มเงาของผู้ชายและมีอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสทำงานที่พวกเธออยากทำ – ในขณะที่ผู้ชายต้องออกรบในสงคราม ผู้หญิงก็ต้องต่อสู้ในสงครามของตัวเองเช่นกัน

แม้ต่างคนจะอยู่ต่างที่ มีเส้นทางชีวิตแตกต่างกัน แต่พวกเธอล้วนมีฉากและเรื่องทาบทับกันอยู่ ยิ่งการเล่าเรื่องตัดสลับแต่ละบท ยิ่งเหมือนเราอ่านชีวิตของสามคนจนเป็นชีวิตเดียว ความพร่าเลือนนี้ยิ่งชวนให้นึกว่า เราทุกคนก็สามารถเป็นพวกเธอได้

เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เขียนหนังสือในโลกที่แทบไม่มีนักเขียนหญิงประสบความสำเร็จ โดโรธี ปาร์กเกอร์เริ่มต้นทำงานที่ Vogue ด้วยตำแหน่งคนเขียนประโยคสั้นๆ ประกอบภาพ และเซลดา แซร์ สาวไฮโซในรัฐแอละแบมาที่เป็นที่หมายปองจากหนุ่มๆ จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือหนุ่มพรินซ์ตันนามว่า เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ไม่มีใครจดจำเธอเรื่องอื่นนอกจากเรื่องเสน่ห์และความสวย ทั้งที่เธอเองก็เขียนหนังสือได้ดีไม่แพ้คนรักของเธอ

พูดอย่างตรงไปตรงมา ผู้หญิงทั้งสามคนอยู่ในสถานะที่เข้าถึงโอกาสมากกว่าผู้หญิงอีกหลายคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเดียวกัน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเธอจะหนีความเจ็บปวดที่ผู้หญิงต้องเผชิญไปได้พ้น จุดร่วมที่หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นคือพวกเธอล้วนส่งเสียงถึงเรื่องเหล่านี้ ดังที่บางตอนในหนังสือเล่าว่า

วูล์ฟเสนอว่า สาเหตุที่เพศหญิงเหมือนจะสู้เพศชายไม่ได้ด้านความคิดสร้างสรรค์ เพราะพวกหล่อนขาดปัจจัยเกื้อหนุน วูล์ฟประมาณตัวเลขคร่าวๆ 500 ปอนด์ต่อปีคือรายได้จำเป็นสำหรับให้ผู้หญิงมีอิสระทางการเงินพอจะเป็นนักเขียน และที่ขาดไม่ได้คือ ห้องส่วนตัวให้พวกหล่อนทำงานเงียบๆ อย่างมีสมาธิ”

“ในด้านหนึ่ง วูล์ฟสนใจอภิปรัชญา อารมณ์อันยิ่งใหญ่ถั่งล้นจับต้องไม่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เธอเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ เข้าใจวิถีธุรกิจมากพอจะรู้ว่านักเขียน นักวาดภาพประกอบ คนงาน ต้องกิน ต้องดื่ม ต้องใช้ และจนกว่าสังคมจะมอบปัจจัยสี่ให้ผู้หญิงอย่างเท่าเทียม เป็นเรื่องเปลืองเปล่าที่ผู้ชายจะพยายามพิสูจน์ว่าเพศไหนเหนือกว่าเพศไหน”

หรือ

“บทความของโดโรธี Women: A Hate Song ประกาศกร้าว ฉันทนพวกผู้หญิงไม่ได้ พวกหล่อนน่าหงุดหงิดจะตายผู้หญิงแบบที่โดโรธีเกลียดที่สุดคือ พวกที่เย็บปักถักร้อย ชอบตัดเมนูอาหารเด็ดในหนังสือพิมพ์เก็บเอาไว้ และชอบย้ำให้คนอื่นฟังตลอดเวลาว่าเย็นนี้ต้องรีบกลับบ้านไปเตรียมข้าวกับปลาให้สามีและลูกๆ เพื่อความเท่าเทียม อีกบทความหนึ่ง Why I Haven’t Married แสดงความรังเกียจผู้ชายบ้าง โดยเฉพาะประเภทที่เชื่อว่า ผู้หญิงควรอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ซึ่งในทศวรรษนั้นก็คือผู้ชายแทบทั้งหมด”

หรือ

“เซลดาพูดถึงบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่โทษสถิติการหย่าร้างว่าเป็นความผิดของผู้หญิงยุคใหม่ ของแฟลปเปอร์ (ผู้หญิงพือกระโปรงออกมานอกบ้าน) พวกเขาอยากให้เรากลับไปนั่งล้อมเตาผิงเหมือนสมัยก่อน ให้พวกเราร้องเพลงว่าด้วยหัวใจและดอกไม้ ให้พวกเราสวดมนต์ก่อนอาหาร ที่สำคัญคือ กำจัดแฟลปเปอร์ให้สิ้นซากคนเหล่านี้ไม่รู้หรืออย่างไรว่า จุดจบของแฟลปเปอร์ไม่ใช่การเสื่อมเสียชื่อเสียงจนกลายเป็นที่ครหาอย่างที่หลายคนทำนายกัน จุดจบของพวกหล่อนคือระฆังวิวาห์ คือชีวิตน่าเบื่อหน่ายแบบเดียวกับผู้หญิงทั้งหลายในอดีตนั่นแหละ ก่อนจะถึงวันนั้นขอให้พวกหล่อนได้เจิดจ้า ได้เฉิดฉายแสงสว่างให้โลกนี้ ตามหน้าที่ซึ่งเหล่าแฟลปเปอร์ได้รับมอบมาเถิด

ฯลฯ

เรื่องราวชีวิตของพวกเธอไหลลื่น อ่านสนุก เหมือนอ่านวรรณกรรมดีๆ สักเรื่อง จะต่างก็ตรงที่นี่เป็นชีวิตจริงของมนุษย์ที่เคยดำรงอยู่มุมใดมุมหนึ่งของโลก และหนึ่งในนั้นก็ปรากฏตัวบนหน้าจอภาพยนตร์ด้วยบทบาทหลากหลาย แต่ทุกคนก็ยังจดจำเธอในชื่อมาริลิน มอนโร

ถัดจากชีวิตของสามคนข้างต้น ในเล่มที่สอง เล่าช่วงทศวรรษ 1930-1940 ผู้เขียนเปิดด้วยเรื่องของแก๊งปล้นร้านเพชร ที่แผนต้องล้มเหลวเพราะคนในแก๊งเอาเงินไปปรนเปรอ ‘เมียน้อยผมบลอนด์ไร้สมอง’ แน่นอน หากใครเคยดูย่อมรู้ว่านี่คือเรื่องจากภาพยนตร์เรื่อง The Asphalt Jungle ที่บท ‘เมียน้อยผมบลอนด์ไร้สมอง’ ที่ว่า แสดงโดยมาริลิน มอนโร บทบาทเล็กๆ ที่ปรากฏในเรื่องไม่ถึง 5 นาที แต่กลับติดตรึงใจผู้ชมจำนวนมาก อันเป็นผลจากเสน่ห์และท่าทางดึงดูดที่ไม่มีใครทำได้นอกจากมาริลิน มอนโร

ผู้เขียนพาเราท่องเข้าไปในชีวิตของ นอร์มา จีน หรือ มาริลิน มอนโรในวัยเด็ก เด็กหญิงที่ต้องเผชิญความปวดร้าว การพลัดพราก และการไม่เป็นที่รักมาตลอดชีวิต ก่อนที่เธอจะกลายเป็นดาวเด่นแห่งฮอลลีวูด ที่ผู้ชายบางคนพกรูปเธอไว้ในกระเป๋ายามออกรบ

ขณะที่เรื่องราวของมาริลินเพิ่งเริ่มต้นที่เล่มนี้ ชีวิตของเวอร์จิเนีย เซลดา และโดโรธี ก็กำลังเข้าสู่จุดพีค ความล้มเหลวในการงาน ไปจนถึงการพยายามมีลูกและหย่าขาดจากคนรัก เรื่องราวแสนปวดร้าวที่เกิดขึ้นในชีวิตมีส่วนให้สภาพจิตใจของพวกเธออยู่ในภาวะย่ำแย่

เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) มาริลิน มอนโร เป็นโรคบุคลิกภาพก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) เซลดา แซร์ เป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) และโดโรธี ปาร์กเกอร์ ประวัติไม่ได้ระบุว่าป่วยเป็นโรคอะไร แต่เธอเคยพยายามฆ่าตัวตาย

ในขณะที่ชีวิตดำเนินไปอย่างทุลักทุเล บางคราวดูจะรุ่งโรจน์ แต่ในเวลาไม่นาน พวกเธอก็ดิ่งลงสู่ความล้มเหลวได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะความล้มเหลวในความสัมพันธ์ – ในข้อนี้ หนังสือเล่มนี้ขับเน้นออกมาอย่างเด่นชัดในเล่มที่สอง ยิ่งช่วงเวลาที่ทาบทับกันของพวกเธอทำให้พลังของเรื่องเล่าแข็งแรงขึ้น นอร์มา จีน หย่ากับสามีในปี 1946 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่สามีของโดโรธีส่งจดหมายมาขอหย่า

ในช่วงทศวรรษ 1930-1940 โลกเข้าสู่ภาวะสงครามและภาวะอดอยาก ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองเข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกันที่พวกเธอก็ต้องสู้กับสงครามภายในบ้านและการมุ่งหน้าไปสู่ชีวิตที่ใฝ่ฝัน ซึ่ง อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี ฉายภาพประวัติศาสตร์ได้อย่างละเอียดและคมชัด แม้จะเล่าผ่านชีวิตของคนไม่กี่ชีวิต แต่เรื่องล้วนไปข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของโลก เช่น การขยายตัวของคอมมิวนิสต์ อเมริกันในยุคฟุ้งเฟ้อและการหดตัวของเศรษฐกิจ ไปจนถึงการคุกคามของนาซีในยุโรป ฯลฯ กล่าวได้ว่า นอกจากหนังสือเล่มนี้จะเล่าชีวิตของผู้หญิงที่มีชื่อเสียงห้าคนแล้ว ยังเล่าประวัติศาสตร์ได้อย่างมีชีวิตจิตใจอีกด้วย – ประวัติศาสตร์ที่มีคนธรรมดาอยู่ในนั้น

เนื้อหาในเล่มที่ 2 จบลงช่วงที่ชีวิตของมาริลินโลดโผนและกำลังมุ่งสู่จุดพีคของชีวิต ขณะที่อีกสามคนกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง ก่อนที่เล่มที่ 3 ที่เล่าช่วงทศวรรษ 1950-1960 จะอุทิศให้แก่เรื่องราวของมาริลิน มอนโรและโยโกะ โอโนะ  – ยุคทองของฮอลลีวูด การเกิดแนวศิลปะแบบแฮพเพนนิง และโลกของบุปผาชน

ในเล่มนี้ มีตัวละครหลักคือคู่ของมาริลิน มอนโร -อาเธอร์ มิลเลอร์ และ โยโกะ โอโนะ-จอห์น เลนนอน พวกเขาอยู่ในโลกที่กำลังมุ่งสู่สันติภาพ ขณะเดียวกันที่สงครามก็ไม่มีทีท่าจะจบลง เช่นเดียวกับที่โลกของภาพยนตร์และเสียงเพลงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะเล่าเรื่องเหล่านี้

แม้มาริลิน มอนโร จะถูกวิจารณ์ว่าไม่ค่อยฉลาดนัก แต่ในช่วงที่อาเธอร์ สามีของเธอถูกฟ้องร้องข้อหากระด้างกระเดื่องต่อกฎหมาย เขาถูกดำเนินคดีในชั้นศาล มีคนถามมาริลินว่าเป็นกังวลแทนอีกฝ่ายไหม ละอายใจหรือเปล่าที่สามีของเธออาจเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ หญิงสาวตอบว่า “พวกคอมมิวนิสต์ เขาก็ทำเพื่อประชาชนมิใช่หรือ”

เช่นเดียวกับโยโกะ โอโนะ ในฐานะศิลปินและคนที่เคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพและสิทธิผู้หญิง ที่พูดประโยคสำคัญอย่าง “คุณรักใครไม่ได้หรอก ถ้าคุณไม่เท่าเทียมกับเขาก่อน ถ้าคุณใช้ผู้หญิงดังทาสในเรือน คุณก็ไม่สามารถนำการปฏิวัตินอกเรือนได้”

ภาณุ ตรัยเวช ผู้เขียนเขียนเอาไว้ในคำนำเล่มที่ 3 ว่า “การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีคือความท้าทายอันยิ่งใหญ่ บางคนก็ตั้งมันไว้เป็นเป้าหมายหลัก บางคนเพียงต้องการใช้ชีวิตของตัวเองให้ดีที่สุด เวอร์จิเนีย วูล์ฟ, โดโรธี ปาร์กเกอร์, เซลดา แซร์, มาริลิน มอนโร และโยโกะ โอโนะ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ผู้เขียนหวังว่าชีวประวัติของผู้หญิงทั้งห้าคน จะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้อันสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่เพื่อผู้หญิง แต่เพื่อทุกเพศสภาพที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในโลกปัจจุบัน”

ในฐานะคนอ่าน หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่ฉายภาพและความเจ็บปวดของผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้ชายในเรื่องก็ต้องเผชิญความเจ็บปวดไม่แพ้กัน พวกเขามีน้ำตาในวันที่โลกไม่อนุญาตให้พวกเขาร้องไห้ เช่นเดียวกับผู้หญิงที่ต้องต่อสู้ในวันที่โลกไม่อนุญาตให้พวกเธอมีอาวุธ

ชีวิตของผู้หญิงทั้งห้าคนเป็นเพียงจิ๊กซอว์ของโลกทั้งใบ โลกที่ทั้งโหดร้ายและอ่อนโยน โลกที่มีทั้งสงครามและดนตรี และเราทุกคนไม่อาจหนีพ้น – เรื่องของพวกเธอเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน



ดูรายชื่อหนังสือ Top Highlights ความน่าจะอ่าน 2022 เล่มอื่นๆ ได้ที่นี่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save