fbpx

[ความน่าจะอ่าน] ปรัชญาและอนาธิปไตย ใน บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี: ฝันร้าย

แด่ วาด รวี


1


The Man Who was Thursday (1907) เขียนขึ้นในห้วงยามสำคัญ อันเป็นทั้งจุดเปลี่ยนผ่านระหว่างศตวรรษและความเชื่อเก่าใหม่ของ จี.เค. เชสเตอร์ตัน (G.K. Chesterton) นักเขียน-นักวิจารณ์ชาวอังกฤษ ที่ในบ้านเราอาจรู้จักเขาจากงานรหัสคดีชุด Father Brown (1910-1936) หรือไม่ก็เคยได้ยินชื่อนี้ผ่านเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มักได้รับการอ้างถึงเสมอๆ คือในขณะที่ต้องลี้ภัยภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้พกหนังสือของเชสเตอร์ตันเรื่อง Father Brown ติดมือไปอ่าน

ดังที่ทราบกันว่า ภายหลังจาก The Man Who was Thursday ได้รับการตีพิมพ์เพียงไม่นาน ได้เกิดการลอบสังหารมกุฎราชกุมาร ฟรันซ์ แฟร์ดินันด์ (Franz Ferdinand) แห่งออสเตรียในปี 1914 และเป็นชนวนไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 เหตุการณ์ในนวนิยายที่มีการกล่าวถึงแผนลอบสังหารกษัตริย์หรือผู้นำประเทศ (แม้จะเป็นเพียง ‘ฝันร้าย’ ที่เชสเตอร์ตันพยายามอธิบายว่าเป็นการสร้าง ‘โลกอีกใบ’ ซึ่งอาจไม่ใช่โลกที่เรารู้จักหรือเป็นอยู่) กลับกลายเป็นคำทำนายที่แม่นยำอย่างเหลือเชื่อ

อีกทางหนึ่ง The Man Who was Thursday ถือเป็นผลงานในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลง ‘ความเชื่อ’ ของเชสเตอร์ตันจากนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) มาเป็นโรมันคาทอลิก กล่าวให้ชัดเจนก็คือจากนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์อนุรักษนิยมได้กลายมาเป็นนักเทววิทยาผู้มีศรัทธาแรงกล้าภายหลังจากปี 1922 เป็นต้นมา กรณีเช่นนี้อาจเทียบกับโซเรน เคียร์เคกอร์ด (Søren Kierkegaard) นักปรัชญาชาวเดนมาร์กจากศตวรรษที่ 19 หรือแม้แต่ซี. เอส. ลิวอิส (C.S. Lewis) นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ผู้เป็นมิตรสหายคนสนิทของเชสเตอร์ตัน ที่ต่างก็เปลี่ยนมานับถือนิกายโรมันคาทอลิกด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์ดังกล่าว หากมองอย่างผิวเผิน (แบบเราชาวพุทธ) ก็เหมือนจะไม่ค่อยมีนัยสำคัญอะไร เพราะเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนนิกายของชาวคริสต์ แต่ครั้นเมื่อเราพิจารณาไปสู่รากฐานทางความคิด คงต้องกล่าวว่ามันได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตที่เหลืออยู่ของเชสเตอร์ตันอย่างถึงราก ตัวอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนก็คือ ก่อนหน้านี้เชสเตอร์ตันเคยโจมตีความคิดเรื่องสุพันธุศาสตร์ (Eugenics) ที่ในเวลานั้นเป็นแนวคิดล้ำสมัยสำหรับศตวรรษที่ 19 (ก่อนจะมาเสื่อมความนิยมลง หลังการล่มสลายของระบอบนาซี) เขาเคยต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้เดรฟุส (Dreyfus) นายทหารฝรั่งเศสที่ถูกป้ายสี เพราะอคติทางเชื้อชาติ เหมือนเช่นเอมิล โซล่า (Émile Zola) มาร์แซ็ล พรุสต์ (Marcel Proust) หรือนักเขียนปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าทั้งหลาย แต่ภายหลังจากกลายเป็นคาทอลิก เชสเตอร์ตันกลับเขียนบทความที่เข้าข่ายเหยียดเชื้อชาติยิว (anti-semitism) และแม้กระทั่งหันปลายปากกากลับไปโจมตีเดรฟุส ซึ่งได้กลายเป็นจุดด่างพร้อยสำคัญข้อหนึ่งในชีวิตของเขา


2


อย่างไรก็ตาม เราต้องถือว่าเชสเตอร์ตันเป็นปากเสียงสำคัญของปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมที่คมคายน่ารับฟัง ทั้งยังเป็นนักถกเถียงตัวยงตลอดชีวิต แทบทุกสรรพสิ่งบนโลกสามารถกลายเป็นประเด็นให้เขาโต้แย้ง แสดงกฤษฎาภินิหารทางวาทศิลป์ได้อย่างมีสีสันชั้นเชิง ดังปรากฏให้เห็นเนืองๆ ในงาน Heretics (1905) ที่เขาได้แสดงการวิจารณ์ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) หรือนิทเช่ (Nietzsche) ไว้อย่างแสบสันต์ หรืออาจดูเอาได้จากหลายฉากตอนที่ตัวละครในนวนิยาย The Man Who was Thursday ที่หันมาถกอภิปรายกันในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องกวีนิพนธ์ ปรัชญา กฎหมาย โคมไฟ ต้นไม้ รถไฟใต้ดิน อย่างเอาเป็นเอาตาย

อีกบุคคลหนึ่งที่เป็นทั้งเพื่อนรักและคู่วิวาทะคนสำคัญก็คือ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) นักเขียนบทละครไอริช ผู้ซึ่งเชสเตอร์ตันได้วิจารณ์พาดพิงถึงในงาน Heretics ดังมีบันทึกไว้ว่า คนคู่นี้เคยประคารมกันในหลายกรรมหลายวาระ หากมีอยู่ครั้งหนึ่งนั้น เชสเตอร์ตันได้แซะสังขารผอมบางของชอว์เอาไว้อย่างเห็นภาพว่า “ใครก็ตามเห็นสารรูปคุณตอนนี้ เขาคงได้คิดหรอกว่าโรคขาดอาหารนั้นแพร่ระบาดไปทั่วทั้งเกาะอังกฤษเป็นแน่แท้” และชอว์ผู้ปากคอเราะร้ายพอๆ กันก็แซะสังขารอันอ้วนพีระดับยักษ์การ์ก็องตวา (Gargantua) ของเชสเตอร์ตันกลับไปว่า “แล้วตัวคุณล่ะ ใครที่เข้ามาเห็นก็คงคิดว่า คุณนั่นแหละคือสาเหตุแห่งความอดอยากนี้”

เช่นเดียวกันกับร่างกายขนาดมหึมาสูงกว่า 193 เซนติเมตร หนักร่วม 120 กิโลกรัม ผลงานของเชสเตอร์ตันเองก็มีมากกว่า 80 เรื่อง ประกอบด้วยนวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร บทความและบทวิจารณ์จำนวนนับไม่ถ้วนชิ้น ผู้เชี่ยวชาญในวรรณกรรมของเขาบางคนถึงกับลงความเห็นว่า ‘ชื่อ’ ของเชสเตอร์ตันนั้น น่าจะสามารถเป็น ‘ชื่อหมวดหมู่หนังสือ’ ในร้านหรือห้องสมุดต่างๆ ได้อย่างไม่ขัดเขิน

ในบรรดานวนิยายที่เชสเตอร์ตันได้รจนาขึ้น The Man Who was Thursday ถือเป็นหนึ่งในผลงานวรรณกรรมที่ยืนหยัดข้ามกาลเวลา และได้รับการยกย่องให้เป็นนิยายสายลับที่ดีที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเขียนโดยนักเขียนที่ชาญฉลาด เปี่ยมล้นด้วยอารมณ์ขัน ผ่านภาษาจิกกัดแสบๆ คันๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ

ผลงานชิ้นนี้ส่งผลอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมต่อนักเขียนนามอุโฆษมากมาย นับตั้งแต่ ฆอร์เก ลุยส์ บอร์เกส (Jorge Luis Borges) นักเขียนอาร์เจนไตน์ผู้เป็นประกาศกคนสำคัญของวรรณกรรมละตินอเมริกา จนไปถึงสลาวอย ชิเชก (Slavoj Žižek) นักปรัชญาชาวสโลเวเนียที่ได้หยิบยืมวิธีวิทยาของเชสเตอร์ตัน เพื่อย้อนกลับไปวิเคราะห์ความคิด และแม้กระทั่งตัวตนของเชสเตอร์ตันอย่างพิสดาร ดังที่จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า


3


สำหรับนักอ่านบ้านเรา ต้องนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ว่า The Man Who was Thursday ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยออกมาแล้ว ในชื่อ บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี: ฝันร้าย ในสำนวนของไพรัช แสนสวัสดิ์ และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไชน์พับลิชชิ่งเฮ้าส์ เมื่อเดือนมีนาคมปี 2565 กำแพงภาษาที่กางกั้นการเข้าถึงเนื้อหาสำหรับใครหลายคนจึงถูกทลายลง แม้จะเป็นเรื่องยากจนถึงแทบเป็นไปไม่ได้ในการลำเลียงอรรถรส อารมณ์ขัน และการเสียดสีเย้ยหยันทั้งหมดในต้นฉบับไปสู่อีกภาษาหนึ่งให้สมบูรณ์ แต่ บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี พากย์ไทยก็ถือว่าทำได้ดีถึงดีมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือหากจะมีตกหล่นหรือผิดพลาดไปก็ถือเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้[1] เพราะมันก็เต็มไปด้วย ‘จุดอ้างอิง’ มากมายที่ล้วนแต่ต้องทำเชิงอรรถขยายความแทบทุกย่อหน้า เพื่อจะเก็บความนัยต่างๆ อย่างครบถ้วน

The Man Who was Thursday เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในปลายยุควิกตอเรีย (ซึ่งเริ่มมีทั้งกระแสไฟฟ้า โทรศัพท์ หรือรถไฟใต้ดินใช้งานเป็นครั้งแรกๆ) เกเบรียล ไซม์ ชายหนุ่มร่างแบบบางได้พบกับลูเชียน เกรเกอรี กวีผมแดงที่สวนสาธารณะอันเป็นจุดนัดพบของบรรดาศิลปินและปัญญาชนหัวก้าวหน้าในช่วงสนธยาของวันหนึ่ง ซึ่งมวลเมฆบนท้องฟ้าดูราวกับขนนก

ไซม์ผู้เป็นตัวแทนกวีแห่งกฎหมายได้ปะทะคารมกับเกรกอรี ตัวแทนของกวีอนาธิปัตย์จนถึงจุดหนึ่งที่ไซม์ได้กล่าวทิ้งท้ายอย่างท้าทายว่า เกรเกอรีคงไม่ได้จริงจังกับการเป็นอนาธิปัตย์เท่าไหร่นัก ซึ่งก็นำไปสู่ความพยายามพิสูจน์/หักล้างคำพูดนั้นด้วยการพาผู้กล่าวหาไปยังศูนย์บัญชาการของขบวนการอนาธิปัตย์ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวและการผจญภัยสุดพิศดารของไซม์ ตำรวจสายลับที่ได้รับการเลือกให้เป็น ‘วันพฤหัสบดี’ หนึ่งในตัวแทนของสภาอนาธิปัตย์ยุโรปที่มี ‘วันอาทิตย์’ เป็นผู้นำสูงสุด

อาจกล่าวได้ว่า The Man Who was Thursday เป็นผลงานที่เราสามารถอ่านให้บันเทิงเริงใจได้หลากหลายวิธี โดยไม่จำเป็นต้องผูกโยงกับท่าทีหรือตัวตนของผู้เขียนเลยก็ได้ เพราะมันก็เป็นนวนิยายสายลับที่มีการชิงไหวชิงพริบ การต่อสู้ไล่ล่า รวมถึงจุดหักเหที่ตื่นเต้นชวนติดตามแทบทุกบทตอน ยิ่งเมื่อเรานำ ‘ภาพจำ’ จากภาพยนตร์แอคชันแนวพีเรียดของฮอลลีวูดทั้งหลายไปสวมทับ ก็แทบจะไม่รู้สึกสะดุดติดขัด เพราะมันก็อาจเป็นได้ทั้งภาพยนตร์อย่าง King’s Man (2021) หรือ Sherlock Holmes (2006) ฉบับกาย ริชชี (Guy Richie) หรืออื่นๆ อีกประดามี ตามแต่ ‘ภาพจำ’ ของเราแต่ละคน

แต่หากเราอ่านผ่านกรอบคิดทางประวัติศาสตร์ และการเทียบเคียงกับประวัติชีวิตของเชสเตอร์ตัน มันก็ช่วยให้เราแลเห็นมิติทางสังคม-การเมืองที่แฝงอยู่ในงานชิ้นนี้ อันสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดหวั่นต่อแนวคิดอนาธิปไตย (Anarchism) ที่ถูกวาดภาพให้เป็น ‘ฝันร้าย’ ซึ่งอาจกลายเป็นจริงได้ทุกเมื่อ อย่างน้อยที่สุด ‘ฝันร้าย’ นี้ก็เคยเป็นจริงมาแล้ว ในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 เพราะมันได้นำไปสู่ยุคแห่งความสะพรึง (The Terror) และสร้างความน่าสยดสยองให้คนอังกฤษอย่างแท้จริงภายหลังที่มันผลิตคนอย่างนโปเลียน (Napoleon) ขึ้นมา

The Man Who Was Thursday ได้ตอกย้ำความคิดใน Culture and Anarchy (1869) ของแมทธิว อาร์โนลด์ (Matthew Arnold) นักเขียน-นักวิจารณ์คนสำคัญแห่งยุควิกตอเรียที่ชี้เตือนให้เห็นว่า ‘วัฒนธรรม’ คือทางรอดเดียวในการนำพามนุษย์ไปสู่ ‘สังคมอารยะ’ ซึ่งปลายทางอีกด้าน (ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับความสมบูรณ์) คือสภาพไร้ระเบียบ-โกลาหล หรือก็คือความเป็น อนาธิปัตย์ (Anarchy) นั่นเอง

แน่นอนว่า ในทางแนวคิดทฤษฎี พวกอนาธิปัตย์มักถูกมัดรวมกับปรัชญามองโลกในแง่ร้าย (Pessimism) หรือสุญนิยม (Nilhilism) ที่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำเนิดขึ้นจากความว่างเปล่าและไปสู่ความว่างเปล่า สิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่ คงอยู่ ไม่ว่าจะได้รับการยกย่องเชิดชูให้มีความหมายใดๆ ก็หาได้มี ‘คุณค่าในตัวเอง’ แต่อย่างใดทั้งสิ้น ทั้งสังคม อารยะ/อนารยะต่างก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างและทำลายได้ดุจเดียวกับทุกสรรพสิ่งในจักรวาลแห่งนี้[2] ผลงาน Enquiry Concerning Political Justice (1793) ของวิลเลียม กอดวิน (William Godwin) ถือเป็นอีกหนึ่งจุดอ้างอิงสำคัญของความคิดอนาธิปไตยอังกฤษ[3] ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อชนชั้นนำผู้ผูกขาดทรัพย์สิน อำนาจ และความชอบธรรมทั้งหลายมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18

จึงไม่แปลกที่เชสเตอร์ตัน หรือแม้กระทั่งนักเขียนที่ได้ชื่อว่าเป็นเสรีนิยมจะยังคงรับฟังข้อเสนอของอาร์โนลด์ ซึ่งแน่นอนว่า The Man Who Was Thursday ก็แสดงจุดยืนที่สอดคล้องกับข้อเสนอของ Culture and Anarchy แม้จะด้วยท่วงทีลีลาเสียดสีประชดประชัน แต่ก็มีความจริงจังต่อเรื่องนี้อย่างมาก ดังปรากฏให้เห็นได้นับจากบทตอนแรกสุดที่ว่า

“ศิลปินก็เหมือนกันกับนักอนาธิปัตย์ (…) คุณอาจจะสับเปลี่ยนคำเป็นอย่างไรก็ได้ ผู้นิยมอนาธิปไตยเป็นศิลปิน คนที่ขว้างระเบิดเป็นศิลปินเพราะเขาหลงใหลชั่วขณะเช่นนั้นมากกว่าทุกสิ่ง เขาเห็นว่าสิ่งมีค่าเหนืออื่นใดคือแสงประทุที่กระจายออกแล้วลุกไหม้โชติช่วง เสียงฟ้าผ่ากัมปนาทที่สมบูรณ์แบบ (…)​ ศิลปินไม่ยอมรับรัฐบาลทุกแห่งหน ยกเลิกสัญญาและข้อตกลงทั้งหมด กวียินดีปรีดากับความโกลาหลไร้ระเบียบเท่านั้น” (ชายผู้เป็นวันพฤหัสบดี, น. 22)

และในอีกบทตอนหนึ่งที่เขาเน้นย้ำว่า นักอนาธิปัตย์ไม่ใช่แค่ “กลุ่มคนไม่กี่คนที่มีความผิดปกติซึ่งเปี่ยมด้วยอวิชชาผสมผสานกับเหตุผลทางสติปัญญา” (น.69.) แต่ยังเป็น “ภยันตรายใหญ่หลวงและไร้ปราณีเฉกเช่นเดียวกับการรุกรานของชาวต่างชาติ” (น.69)


4


อย่างไรก็ตาม การอ่านงานชิ้นนี้โดยพิจารณาจากสภาพการณ์ทางสังคม และความเปลี่ยนแปลงตัวตนของเชสเตอร์ตันนั้นก็ถือเป็นแนวทางที่นักวิชาการด้านวรรณกรรมในศตวรรษที่ผ่านมาได้ศึกษากันอย่างกว้างขวางและทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านใกล้ (Close Reading) อ่านไกล (Distant Reading) หากคงมีแนวทางหนึ่งที่ผู้เขียนบทความเล็งเห็นว่าน่าสนใจ หรือสมควรนำมากล่าวถึง นั่นก็คือ การตีความเชสเตอร์ตันในฐานะของนักปรัชญาสายเฮเกเลียน (Hegelian) ของสลาวอย ชิเชก ผู้ได้ค้นพบข้อเท็จจริงที่น่าทึ่งนี้ และชิเชกก็ได้กล่าวถึงอยู่ในหลายที่หลายเวลา

ต้องกล่าวว่า ชิเชกเป็นหนึ่งในนักคิดร่วมสมัยที่ได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางจากเฮเกล (Hegel) มาร์กซ์ (Marx) ฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) และถึงแม้เขาจะกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่าตนเองเป็นอเทวนิยม (Atheist) หรือนักวัตถุนิยม (Materialist) ตามครรลองของนักคิดฝ่ายซ้าย แต่กระนั้น ชิเชกก็มักจะยกเอาตำนานศาสนา ศาสดา และสาวกคนสำคัญต่างๆ มากล่าวถึงอยู่สม่ำเสมอ จนเราอาจพูดได้ว่า คริสต์ศาสนา (Christianity) ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในข้อถกเถียงทั้งในทางปรัชญาและทฤษฎีการเมืองของเขา

กระทั่งเขาถึงกับกล่าวไว้ใน The Puppet and the Dwarf (2003) ว่า “เราจะเป็นนักวิภาษวิธีวัตถุนิยมที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถเข้าใจประสบการณ์แบบชาวคริสต์อย่างทะลุปรุโปร่ง”[4] ข้อเสนอทำนองนี้เริ่มปรากฏให้เราเห็นบ่อยมากขึ้น จนทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า สำหรับชิเชกแล้วนั้น มนุษย์เราไม่ว่าจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนาใดๆ ก็อาจจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อรักษามรดกความคิดของคริสต์ศาสนาเอาไว้

เช่นเดียวกับเฮเกลและลาก็องที่มองว่า คริสต์คือศาสนาแห่งความตายและการฟื้นคืนชีพของพระเจ้า (Resurrection) ซึ่งเป็นนัยถึง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ และ ‘การเกิดขึ้นใหม่’ ได้ในทุกเวลาและนาทีที่ก็ทำให้เราสามารถพูดได้ว่า คริสต์ศาสนาคือ ‘ศาสนาแห่งการปฏิวัติ’

นอกเหนือจาก The Puppet and the Dwarf  ก็ยังมีบทความ Hegel – Chesterton: German Idealism and Christianity ที่ชิเชกได้อภิปรายถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตนิยมเยอรมัน (German Idealism) กับคริสต์ศาสนา เขายังยกถ้อยคำของเชสเตอร์ตันในงาน Orthodoxy (1909) ที่เขียนขึ้นภายหลังจาก The Man Who was Thursday ในหนึ่งปีถัดมามากล่าวย้ำไว้ว่า

“คริสต์ศาสนาเป็นเพียงศาสนาเดียวบนโลกใบนี้ที่รู้สึกได้ว่าความมีอำนาจไม่สิ้นสุดของพระเจ้านั้นยังคงไม่สมบูรณ์แบบ คริสต์ศาสนาเท่านั้นที่รู้สึกว่า พระเจ้าจะเป็นพระเจ้าโดยสมบูรณ์ได้ก็ต้องถูกต่อต้านเฉกเช่นเดียวกับกษัตริย์”[5]

ในบทความชิ้นนี้ชิเชกได้แสดงให้เห็นถึงความเป็น Hegelian ในตัวของเชสเตอร์ตันที่ส่อให้เห็นเค้าลางมาตั้งแต่ The Man Who Was Thursday นับจากการเปรียบเปรยนักปรัชญา (นอกรีต) ว่าเป็นผู้ทำลายล้างสังคมผ่านคำสอนต่างๆ ซึ่งกล่าวได้ว่าชั่วร้ายกว่าอาชญากรหรือฆาตกรทั้งหลาย ต่อประเด็นนี้ชิเชกมองว่า เชสเตอร์ตันยังคงไม่ Hegelian มากพอ[6]จึงไม่เข้าใจว่า ยามที่นักปรัชญานอกรีตได้ทำให้อาชญากรรมทางความคิดให้กลายเป็นสากล หรือเป็นสิ่งที่ปรากฏโดยทั่วไป มันก็จะก้าวข้ามความเป็นอาชญากรรมความคิดไปสู่สิ่งอื่น และกลายเป็นระเบียบใหม่ ซึ่งถ้าจะทำให้ข้อเสนอนี้เป็น Hegelian อย่างแท้จริงก็จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าอาชญากรรมทั้งหลายก็มีแง่มุมทางศีลธรรม และระบบศีลธรรมแท้จริงคืออาชญากรรม

ประการถัดมาคือ การสร้างตัวละครวันอาทิตย์ (Sunday) ผู้นำกลุ่มอนาธิปไตย และผู้แต่งตั้งหน่วยตำรวจสายลับ ในฐานะภาพแทนของ ‘พระเจ้า’ ที่มีทั้งความน่าสะพรึงกลัว (เมื่อมองจากด้านหลัง) และความงดงามแบบเด็กน้อย (เมื่อมองจากด้านหน้า) สภาพที่ดูเหมือนขัดแย้งและเหมือนจะเป็นปฏิปักษ์ในตัวเองนี้สามารถเปรียบเปรยได้กับพระคริสต์ที่ทางหนึ่งนำมาซึ่งสันติภาพ ความรัก ฯลฯ ทว่าอีกทางก็นำคมดาบ สงคราม ฯลฯ มาสู่โลก นี่คือใบหน้าเดียวกันที่เราแลเห็นต่างกัน การต่อสู้ หรือการเผชิญหน้ากับภาวะที่ขัดแย้ง (negation/overcoming) ถือเป็นความจริงที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้บนโลกใบนี้ เหมือนดังที่เชสเตอร์ตันได้บรรยายไว้ในบทตอนหนึ่งว่า “บุคคลซึ่งมีสิ่งขัดแย้งในตนเองอาจปลุกมนุษย์ให้ตื่นขึ้นมาพบความจริงที่ละเลย” (น.32) หรือถึงที่สุดแล้ว ข้อเสนอสำคัญที่ชิเชกให้ความสนใจจริงๆ อาจอยู่ในงาน Orthodoxy ที่ว่า

“เมื่อโลกถูกสั่นไหวและดวงอาทิตย์หายไปจากสรวงสวรรค์ หากมิใช่การถูกตรึงกางเขน แต่เป็นเสียงครวญครางจากกางเขน เสียงร้องสารภาพว่าพระเจ้าได้ทอดทิ้งพระเจ้าเสียแล้ว”[7]

ชิเชกเห็นว่า Orthodoxy นี่เองที่เป็นการปฏิวัติทางความคิดของเชสเตอร์ตันอย่างแท้จริง ด้วยการแสดงความขัดแย้งขั้นกว่า ขนาดที่พระเจ้ายังทอดทิ้งพระเจ้า! พระเจ้ายังสวดภาวนากับพระเจ้า! ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีศาสนาใดอื่นบนโลกที่พระเจ้าจะกระทำสิ่งเหล่านี้ และไม่ผิดนักหากจะมองว่า The Man Who Was Thursday เป็นผลงานก่อนกลายเป็นคาทอลิกของเชสเตอร์ตัน ซึ่งเขาสามารถเข้าถึงความเป็น Hegelian ในตัวเอง ก็เมื่อเขากลายเป็นคริสต์อย่างแท้จริง

สิ่งที่น่าสนใจถัดจากนั้นคือ คริสต์ศาสนาในสายตาของชิเชกก็ยังเป็น ‘ศาสนาแห่งความจริงอันเป็นสากล’ เบื้องหน้าพระเจ้า มนุษย์เราเท่าเทียมกัน ถือเป็นความจริงข้อสำคัญ ซึ่งกลายมาเป็นคุณค่าสำคัญเมื่อเราก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม ‘ความเสมอภาค’ หรือแม้แต่ ‘เสรีภาพ’ ก็เป็นสิ่งเกิดขึ้นแล้วตายจากไปได้ตลอดทุกห้วงเวลา ดังนั้นคุณค่าเหล่านี้จึงยังคงต้องการ ‘การฟื้นคืนชีพ’ หรือการกลับมามีชีวิตใหม่ภายหลัง ‘ความตาย’ ซึ่งเพียงเท่านี้ก็อาจเรียกได้ว่ามากพอแล้วที่เราทุกคนจะต้องต่อสู้เพื่อรักษามรดกความคิดของคริสต์ศาสนาเอาไว้

การอ่าน The Man Who was Thursday ในแง่นี้จึงอาจทำให้เราค้นพบนวนิยายอีกเล่มที่ซ่อนอยู่ภายซึ่งมีชื่อว่า The Man Who was Hegelian



[1] ในบทแรกสุดตอนที่ตัวละครกวีผมแดงนามว่าเกรเกอรีกล่าวแก่ตัวพระเอกว่า “…คุณคิดว่าผมเป็นคนไร้สาระที่มาเผยความจริงเป็นครั้งคราว…” (ชายผู้เป็นวันพฤหัสบดี, น. 32) คำว่า ‘คนไร้สาระ’ ในต้นฉบับใช้คำฝรั่งเศสว่า flâneur ที่หมายถึงคนหนุ่มที่หลงใหลในการเดินเตร็ดเตร่ทอดน่องไปยังที่ต่างๆ เป็นคนชนชั้นกระฎุมพีที่เหมือนมีเวลาว่างและไม่มีกิจธุระใดๆ เหล่านี้เป็นภาพเสนอของนักสังเกตการณ์ หรือนักปรัชญาของโลกสมัยใหม่ (modernity) ดังที่กวีโบดแลร์ (Baudelaire) ได้เสนอไว้ใน Le Peintre de la vie moderne การเลือกแปลคำนี้ให้ตรงความกว่าจึงอาจเป็นคำว่า ‘พวกลอยชาย’ 

[2] แน่นอนว่า การสรุปเช่นนี้อาจถูกมองว่าเป็นการรวบรัดตัดตอนปรัชญาที่มีความสลับซับซ้อนอยู่สักหน่อย แต่เพื่อมิให้บทความชิ้นนี้เต็มล้นด้วยอรรถาธิบายเยิ่นเย้อยืดยาวผู้เขียนจึงขอใช้วิธีลดทอนคำอธิบาย และขอเชื้อชวนให้ผู้อ่านศึกษาเพิ่มเติมจากงาน Conor Cunningham, Genealogy of Nilhilism: Philosophies of nothing and the difference of theology (London: Routledge, 2002)  

[3] โปรดอ่าน Peter Marshall, Demanding the Impossible. History of Anarchism (London: Harper Perennial, 2008)

[4] Slavoj Žižek, The Puppet and the Dwarf (Massachusetts: MIT Press, 2003), 6.

[5] “Christianity is the only religion on earth that has felt that omnipotence made God incomplete. Christianity alone has felt that God, to be wholly God, must have been a rebel as well as a king.” (Chesterton, Orthodoxy)

[6] ถ้าจำได้บทสนทนาระหว่างนายตำรวจกับไซม์ในบทที่ 3 ก็กล่าวทำนองนี้ เพียงแต่นายตำรวจพูดว่า ไซม์ยังไม่เป็นประชาธิปไตยมากพอ

[7] “When the world shook and the sun was wiped out of heaven, it was not at the crucifixion, but at the cry from the cross: the cry which confessed that God was forsaken of God.” (Chesterton, Orthodoxy)


ดูรายชื่อหนังสือ Top Highlights ความน่าจะอ่าน 2022 เล่มอื่นๆ ได้ที่นี่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save