fbpx
ภาษีการขายหุ้นในมุมเศรษฐศาสตร์

ภาษีการขายหุ้นในมุมเศรษฐศาสตร์

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเศรษฐกิจสำคัญข่าวหนึ่ง คือการเปิดเผยแนวคิดของรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ Financial Transaction Tax (FTT) โดยเสนอให้จัดเก็บในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขายจากฝั่งผู้ขายอย่างเดียว และยกเว้นภาษีสำหรับผู้ที่มียอดขายหุ้นต่อเดือนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (1-2 ล้านบาท)

แนวคิด FTT เป็นหนึ่งในนโยบายภาษีที่หลายประเทศเริ่มขยับ เพื่อรองรับภาระการคลังจากโควิด-19 ตัวอย่างจากภูมิภาคเรา ได้แก่ ฮ่องกง ซึ่งขึ้นอัตราภาษี FTT ในช่วงต้นปี 2021 มาเลเซียซึ่งจะขึ้นอัตราภาษี FTT ในปี 2022 และอินโดนีเซียซึ่งจะขึ้นอัตรา VAT ในปี 2022

แนวคิดภาษี FTT ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักเศรษฐศาสตร์มีการโต้เถียงเกี่ยวกับภาษีนี้มาหลายทศวรรษ โดยทั่วไปฝั่งคัดค้านภาษีประเภทนี้มักจะกังวลเรื่องผลกระทบต่อสภาพคล่อง และความน่าสนใจของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการดึงดูดการลงทุน ในขณะที่เหตุผลหลักของฝ่ายสนับสนุนคือเรื่องความเป็นธรรม การหารายได้เข้ารัฐ รวมไปถึงการจำกัดการเก็งกำไร และ noise trading ต่างๆ 

ข้อคัดค้านและข้อสนับสนุนเหล่านี้มีน้ำหนักแค่ไหน ในบทความนี้ผมขอชวนคุยถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสำคัญของภาษี FTT จากข้อเท็จจริงและงานศึกษาเชิงประจักษ์ครับ

1. ผลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ)

โดยหลักการ ภาษี FTT คือการเพิ่มต้นทุนธุรกรรม (transaction cost) แก่การทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ โดยต้นทุนนี้จะมีการสะสมตัวในแต่ละครั้งของการซื้อขาย นั่นหมายความว่าหุ้นที่มีความถี่ของการซื้อขายสูงจะมีภาระภาษี FTT นี้มากตามไปด้วย ในทางทฤษฏี การเพิ่ม transaction cost ของภาษี FTT จะส่งผลลบต่อปริมาณการซื้อขาย แต่ผลกระทบต่อความผันผวนจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นกับว่านักลงทุนประเภทไหนที่หายไปจากตลาดฯ

ทั้งนี้หนึ่งในคำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้คือ FTT จะเพิ่มต้นทุนธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ของไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แค่ไหน และอย่างไร?

ในปัจจุบันนี้ที่ไม่มีภาษี FTT ต้นทุนที่สำคัญของการซื้อขายหลักทรัพย์คือค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ ซึ่งมีแนวโน้มแตกต่างกันไปตามประเภทของนักลงทุน บัญชีลงทุน ขนาดของการลงทุน และโบรกเกอร์ หากพิจารณาจากมุมมองของนักลงทุนบุคคลรายย่อย ค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์นี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของ transaction cost ของไทย เมื่อพิจารณาข้อเสนอภาษี FTT อัตรา 0.1% ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะเก็บจากฝั่งผู้ขายอย่างเดียว ภาษี FTT นี้จะทำให้ transaction cost ของไทยในฝั่งผู้ขายเพิ่มเป็น 0.27% ของมูลค่าขาย สูงกว่าสิงคโปร์ที่อยู่ในระดับ 0.20% และอยู่ในระดับใกล้เคียงมาเลเซียที่ 0.29% ในขณะที่ transaction cost ในฝั่งของผู้ซื้อจะไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้คุณลักษณะพิเศษของข้อเสนอ FTT ของไทยคือการเก็บจากผู้ขายอย่างเดียว แตกต่างจากของฮ่องกงและมาเลเซียที่เก็บจากทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ โดยเมื่อรวมมูลค่าธรรมกรรมทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายแล้ว transaction cost ของไทยจะอยู่ที่ 0.22% ของมูลค่าซื้อและขาย (รูปที่ 1) 

รูปที่ 1: ข้อเสนอ FTT จะเพิ่มต้นทุนธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ของไทยอย่างไร เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค (2022)

หมายเหตุ: 1) ภาษี FTT ของฮ่องกงและมาเลเซียเก็บจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ในขณะที่ข้อเสนอภาษี FTT ของรัฐบาลไทยเก็บจากผู้ขายเพียงอย่างเดียวในอัตรา 0.1% 2) ค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์มีแนวโน้มแตกต่างกันไปตามประเภทของนักลงทุน บัญชีลงทุน ขนาดของการลงทุน และโบรกเกอร์ ซึ่งการเปรียบเทียบ transaction cost ระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องตั้งสมมุติฐานที่เกี่ยวข้อง 3) พิจารณา transaction cost จากมุมมองของนักลงทุนบุคคลรายย่อยผ่านบัญชี cash balance  และ 4) คิดค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์เฉลี่ยจากค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์ต่าง ๆ (ไทย: SCBS, KSecurities และ Bualuang Securities; ฮ่องกง: HSBC, Standard Chartered, KGI, Phillip Securities และ DBS Vickers; มาเลเซีย: May Bank, CIMB, Rakuten trade, UOB และ Hong Leong Bank; สิงคโปร์: UOB, Citibank, May Bank, CGS-CIMB และ DBS Vickers)

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียนจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ และโบรกเกอร์ต่างๆ ในประเทศที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามนอกจากขนาดภาษีต่อต้นทุนการทำธุรกรรมซื้อขายในตลาดฯ แล้ว ในทางปฏิบัติ ผลกระทบของภาษี FTT ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นกับทั้งการออกแบบภาษีและโครงสร้างของตลาดฯ ด้วย (อธิภัทร มุทิตาเจริญ 2564) ตัวอย่างของปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ ความครอบคลุมของภาษี (เช่น มีการยกเว้นอย่างไรบ้าง) เวลาการคิดภาษี (เช่น ทุกธุรกรรม หรือทุกสิ้นวัน) รวมไปถึงตัวเลือกการลงทุนอื่นที่เทียบเคียงกันได้ของนักลงทุน

งานศึกษาเชิงประจักษ์โดยทั่วไปชี้ว่าภาษี FTT สามารถส่งผลลบอย่างมีนัยสำคัญต่อปริมาณการซื้อขาย เช่น ในฝรั่งเศสที่ได้เก็บภาษี FTT เฉพาะกับบริษัทขนาดใหญ่ในปี 2012 หลายงานศึกษาชี้ว่าภาษีนี้ได้ลดปริมาณการซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการออกแบบภาษี FTT แบบเลือกปฏิบัติผ่านการยกเว้นภาษีให้แก่บริษัทขนาดเล็กอาจส่งผลสำคัญในการบิดเบือนพฤติกรรมนักลงทุน

อย่างไรก็ตามเรายังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือเพียงพอที่ชี้ถึงผลกระทบอย่างชัดเจนของภาษี FTT ต่อทั้งสภาพคล่องและความผันผวน นั่นหมายความว่าภาษี FTT นี้อาจไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจำกัด noise trading ต่างๆ  

2. ผลต่อความเป็นธรรมและรายได้รัฐ

ความเป็นธรรมคือเหตุผลสนับสนุนสำคัญของการจัดเก็บภาษี FTT โดยในมิติแนวตั้ง รายได้จากทุนมักจะกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรจากการขายหุ้นจึงมีแนวโน้มลดทอนความก้าวหน้าของระบบภาษีและเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ส่วนในมิติแนวราบ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายหุ้นถูกตั้งคำถามถึงความเสมอภาคทางภาษีระหว่างแหล่งรายได้ต่างๆ กล่าวคือผู้ที่มีรายได้จากการจ้างงานเสียภาษีในอัตราปกติ (5%-35%) ในขณะที่ผู้ที่มีกำไรจากการขายหุ้น (capital gains) กลับได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาเป็นเวลาหลายสิบปี

แน่นอนว่าการสะสมทุนระยะยาวเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศ และเจ้าของทุนบางประเภทสามารถเคลื่อนย้ายรายได้ของตนได้ง่ายกว่ารายได้จากแรงงาน คำถามคือทำอย่างไรที่เราจะสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมการสะสมทุนระยะยาวของประเทศและความเป็นธรรม

หลายประเทศตอบโจทย์นี้โดยการเก็บภาษีเงินได้จากกำไรของการซื้อขายหุ้น (capital gains) และเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถนำการขาดทุนมาชดเชยจากกำไรที่ต้องเสียภาษีได้ ตัวอย่างในต่างประเทศชี้ว่าการออกแบบภาษี capital gains สามารถส่งผลสำคัญทั้งต่อความเป็นธรรมและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ โดยวิธีหนึ่งคือการเก็บภาษีที่การลงทุนระยะสั้นเป็นหลักและยังคงสิทธิประโยชน์ต่อการลงทุนระยะยาว ซึ่งงานวิจัยเชิงประจักษ์ชี้ว่าการออกแบบภาษี capital gains ลักษณะนี้สามารถส่งเสริมการลงทุนระยะยาวของธุรกิจ และยกระดับผลิตภาพของประเทศได้

ในมุมมองของผม ภาษี FTT นี้ตอบโจทย์ความเป็นธรรมแนวราบได้ไม่ดีเท่าภาษี capital gains แต่จะส่งเสริมความเป็นธรรมแนวตั้งได้ เนื่องจากภาษี FTT จะจัดเก็บจากมูลค่าธุรกรรมไม่ว่านักลงทุนจะมีกำไรหรือขาดทุน ซึ่งไม่ได้สะท้อนรายได้ที่เกิดขึ้นจริง แตกต่างจากภาษี capital gains ที่เก็บจากกำไร และมีการชดเชยการขาดทุน ทั้งนี้แนวทางของรัฐบาลในการยกเว้นภาษี FTT ให้แก่นักลงทุนรายย่อยที่มียอดการขายไม่ถึงเกณฑ์รายเดือน (1-2 ล้านบาท) นั้นจะทำให้ภาระภาษีกระจุกอยู่ที่นักลงทุนขนาดใหญ่ และกว่า 80% ของนักลงทุนบุคคลทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นภาษี (รูปที่ 2) อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยอาจจะต้องแบกรับภาระภาษี FTT ส่วนหนึ่งจากการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าข้อเสนอมีการกำหนดเกณฑ์การยกเว้นภาษี FTT สำหรับกองทุนรวมต่างๆ บ้างหรือไม่

รูปที่ 2: กว่า 80% ของนักลงทุนบุคคลทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นภาษี FTT ตามแนวทางของรัฐบาล

หมายเหตุ: มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อเดือนคิดจากเดือนที่แต่ละบัญชีมีรายการซื้อขายเกิดขึ้น
ที่มา: กลต. และ ตลท. (2562)

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ประสบการณ์ของต่างประเทศชี้ว่ารายได้ของรัฐจากภาษี capital gains จะมีความผันผวนเป็นอย่างมากโดยขึ้นกับภาวะตลาด ในขณะที่ภาษี FTT จะมีศักยภาพเป็นแหล่งรายได้ของรัฐที่มีเสถียรภาพมากกว่า นอกจากนี้ในบริบทของประเทศไทย การจัดเก็บภาษี capital gains ตามแนวทางที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะต้องอาศัยการแก้ประมวลรัษฎากร ซึ่งใช้เวลานานในทางปฏิบัติ ตรงข้ามกับภาษี FTT ที่น่าจะดำเนินการได้รวดเร็วกว่า

หนึ่งในจุดอ่อนสำคัญของภาคการคลังไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา คือการขาดการทบทวนความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ (economic rationale) ของสิทธิประโยชน์ภาษี การยกเว้นภาษีต่างๆ ที่เราเคยคิดว่าจำเป็นเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันกิจกรรมเศรษฐกิจเหล่านั้นยังต้องการการสนับสนุนในรูปแบบเดิมอยู่หรือไม่ 

ในห้วงเวลาหลังวิกฤตโควิด-19 การทบทวนความจำเป็นของสิทธิประโยชน์ภาษี รวมถึงการพิจารณาโครงสร้างภาษีอย่างเป็นระบบ และการใช้จ่ายเม็ดเงินภาษีอย่างรู้คุณค่าของรัฐบาล จะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความยั่งยืนทางการคลัง และดึงประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้


อ้างอิง

กลต. และตลท. (2562). บทบาทของประชากรกลุ่ม Generation ต่างๆที่มีต่อการลงทุนในตลาดทุน [เอกสารนำเสนอ]. งานประชุมวิชาการประจำปี 2562 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.

อธิภัทร มุทิตาเจริญ (2564). สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบภาษีไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save