fbpx
เงิน: จากตลาดเสรีสู่การผูกขาดของรัฐ ตอนที่ 2

เงิน: จากตลาดเสรีสู่การผูกขาดของรัฐ ตอนที่ 2

1.

“You never give me your money. You only give me your funny paper”[1]

เนื้อเพลง ‘You never give me your money’ ของเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) เมื่อปี 1969 สะท้อนถึงมูลค่าของธนบัตรในยุคสมัยนั้นที่ผูกโยงไว้กับสินทรัพย์หรือทุนสำรองของธนาคารกลางอย่างแนบแน่น จนผู้คนรู้สึกว่าธนบัตรหรือเงินกระดาษนั้นมีมูลค่า ไม่ใช่ไก่กาดั่ง funny paper

ย้อนกลับไปเมื่อคราวที่โลกเพิ่งผ่านพ้นจากสองทศวรรษแห่งวิกฤติ (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงในช่วงปี 1930 ต่อเนื่องด้วยสงครามโลกครั้งที่สองในอีก 10 ปีต่อมา) กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ชักชวนกันมาร่วมประชุมออกแบบระบบการเงินระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขยายตัวทั้งด้านการค้าและการทำธุรกรรมระหว่างประเทศในอนาคต

การประชุมครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี 1944 ที่เมืองเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods) รัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งได้ก่อกำเนิดระบบการเงินระหว่างประเทศที่เงินดอลลาร์สหรัฐทำหน้าที่เป็น ‘เงินสำรอง’ หรือ reserve currency ให้นานาประเทศใช้เป็นสินทรัพย์ทางการเงินหนุนหลังการออกธนบัตร โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีพันธกิจต้องรักษามูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐไว้ให้เสมอภาคกับมูลค่าทองคำ ณ ระดับ 35 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ออนซ์ทองคำ พร้อมให้นานาประเทศนำเงินดอลลาร์มาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ตามที่ต้องการอย่างไม่มีเงื่อนไข

เรียกได้ว่าภายใต้ระบบเบรตตัน วูดส์นี้ เงินดอลลาร์สหรัฐมีบทบาทเฉกเช่นทองคำ ที่เคยทำหน้าที่ค้ำจุนระบบการเงินในยุคมาตรฐานทองคำ (gold standard) ช่วงปี 1870-1920 เลยทีเดียว

ดังนั้นการดำรงสมดุลระหว่างปริมาณเงินดอลลาร์กับปริมาณทองคำในคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้มูลค่าเงินดอลลาร์เสมอภาคกับทองคำที่ระดับ 35 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ออนซ์ทองคำนั้น จึงมีความสำคัญต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโลกเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดีการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมาบีบให้รัฐบาลของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ต้องใช้วิธีการพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาเพื่อชดเชยการขาดดุล จนส่งผลให้ปริมาณเงินดอลลาร์หมุนเวียนในเศรษฐกิจโลกมีมากเกินกว่าปริมาณทองคำที่สหรัฐฯ ถือครอง

ภาวการณ์ดังกล่าวบั่นทอนความเชื่อมั่นในค่าเงินเหรียญสหรัฐ จนส่งผลให้หลายประเทศที่ใช้เงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองสำหรับการออกธนบัตร แสดงความจำนงขอแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำจากรัฐบาลสหรัฐฯ

แรงกดดันนี้บีบให้สหรัฐฯ ต้องปลดแอกตัวเองจากระบบเบรตตัน วูดส์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1971 ด้วยการประกาศไม่รับแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำอีกต่อไป การกระทำของรัฐบาลสหรัฐนี้เท่ากับเป็นการปิดสวิตช์ระบบเบรตตัน วูดส์ ไปในตัว

ระบบการเงินโลกจึงเข้าสู่ยุคของการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้หมุนเวียนได้โดยปราศจากสินทรัพย์ใดๆ หนุนหลัง เราจึงกล่าวได้ว่าเงินที่ใช้กันในโลกทุกวันนี้มีสภาพไม่ต่างอะไรกับ funny paper แม้แต่น้อย

2.

ธนบัตรในปัจจุบันนี้เรียกว่าเป็นเงินที่ไม่มีมูลค่าในตัวมันเอง (หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า fiat money)[2] เพราะเป็นเพียงกระดาษที่ผู้ใช้ต่างยอมรับในมูลค่าที่ตราไว้ และยินยอมใช้เพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยไม่มีสิทธิที่จะขอแลกเงินกระดาษ เป็นสินทรัพย์รูปแบบอื่นๆ จากธนาคารกลาง (หรือที่เรียกว่าเป็น non-convertible money) ดังเช่นในอดีต

แม้ธนบัตรในปัจจุบันเป็นเพียงเงิน fiat แต่บทบาทในการขับเคลื่อนธุรกรรมในระบบเศรษฐกิจก็มิได้ลดประสิทธิภาพลงไปจากยุคสมัยที่เงินมีมูลค่าตามสินทรัพย์หนุนหลัง (อาทิเงินในยุค Bretton Woods หรือยุคมาตรฐานทองคำ) แต่อย่างใด

พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2008 มักหยิบยกเรื่องราวของสหกรณ์พี่เลี้ยงเด็ก (Babysitting Co-op) ย่านแคปิตอล ฮิลล์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มาอธิบายให้เห็นภาพบทบาทของเงิน fiat ในระบบเศรษฐกิจ

สหกรณ์นี้ถูกจัดตั้งโดยครอบครัวคนวัยทำงานในย่านแคปปิตอล ฮิลล์ เพื่อจัดระเบียบการฝากลูกให้เพื่อนบ้านช่วยเลี้ยงดู ระหว่างที่พ่อแม่มีความจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านในยามค่ำคืน โดยสมาชิกของสหกรณ์จะได้รับจัดสรรแผ่นกระดาษแข็งที่เรียกว่า ‘สคริป’ (Scrip) เพื่อใช้สำหรับจ่ายเป็นค่าบริการให้กับครัวเรือนของสมาชิกที่รับดูแลลูกแทน

สคริปจึงถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกสหกรณ์ว่ามีมูลค่าเท่ากับ ‘การมีพี่เลี้ยงเด็กเป็นเวลาชั่วโมงครึ่ง’ และเป็นสิ่งที่สมาชิกให้การยอมรับว่าสามารถชำระค่าบริการเลี้ยงเด็กได้ตามกฎระเบียบของสหกรณ์

สคริปทำหน้าที่เสมือนเงินในระบบเศรษฐกิจของสหกรณ์ ที่มีสินค้าแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเป็น ‘บริการพี่เลี้ยงเด็ก’ นั่นเอง การบริหารให้มีสคริปหมุนเวียนภายในสหกรณ์นี้อย่างเหมาะสม ช่วยให้สมาชิกได้แบ่งเวลา ใช้ชีวิตในบ้าน-นอกบ้านได้อย่างสมดุลและมีความสุข

อย่างไรก็ดีต่อมาได้เกิดเหตุบางประการที่ทำให้ปริมาณสคริปในชุมชนสหกรณ์หดหายไป บางครอบครัวย้ายถิ่นฐานออกไปพร้อมๆ กับนำสคริปติดตัวไปด้วย หรือบางรายทำสคริปหายก็มี ผลที่ตามมาคือภาวะ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ (recession) ในหมู่สมาชิกสหกรณ์

กล่าวคือสมาชิกแต่ละรายเริ่มจำกัดการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการฝากลูกไว้กับเพื่อนบ้าน และต่างพากันกักตุนสคริปที่มีอย่างจำกัดไว้สำหรับวาระที่สำคัญจริงๆ เมื่อครัวเรือนกลุ่มหนึ่งเริ่มใช้สคริปอย่างมัธยัสถ์ สมาชิกสหกรณ์รายอื่นๆ ก็พลอยอดออมสคริปตามไปด้วย ก่อเกิดเป็นภาวะที่การใช้จ่ายสคริปทั่วทั้งสหการณ์หดตัวลง และครัวเรือนต่างๆ ก็ห่างเหินการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านไปในที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นไม่ต่างจากเวลาที่ปริมาณเงินในระบบหดตัวแล้วพลอยฉุดให้ธุรกรรมในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายมวลรวม การจ้างงาน หรือการผลิต ต่างถดถอยตามไปด้วย

ครุกแมนใช้ตัวอย่างนี้อธิบายถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเล่าถึงวิธีแก้ไขปัญหาในสหกรณ์ ที่ในที่สุดก็ตัดสินใจผลิตสคริปเพิ่มและจัดสรรต่อให้กับสมาชิก เมื่อบรรดาสมาชิกมีความมั่นใจว่ามีปริมาณสคริปในระบบอย่างเพียงพอ สมาชิกก็เริ่มที่จะฝากลูกไว้เพื่อนสมาชิกและเริ่มใช้ชีวิตนอกบ้านเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจภายในสหกรณ์ก็กลับมาสู่ภาวะปกติในที่สุด

เห็นได้ว่าการผลิตสคริปเพิ่มนั้นช่วยฉุดให้ธุรกรรมในชุมชนสหกรณ์ฟื้นคืนมา ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินกระดาษเข้าสู่ระบบในยามที่เศรษฐกิจซบเซาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายมวลรวมและการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ

สิ่งสมมติที่ชุมชนสหกรณ์สร้างขึ้นจากวัสดุที่ไม่ได้มีราคาค่างวดใดๆ สามารถใช้เป็นสื่อกลางให้เกิดธุรกรรมระหว่างครอบครัวในชุมชน และช่วยให้สวัสดิการของคนในชุมชนสหกรณ์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นมูลค่าในตัวของสคริปจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันมีบทบาทในชุมชนสหกรณ์ หากแต่เป็นความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในชุมชน ที่ต่างยอมรับกันว่าสคริปนั้นมีค่า และสามารถนำไปใช้ชำระบริการพี่เลี้ยงเด็กได้นั่นเอง

ทั้งสคริปและเงิน fiat อาจเป็นดั่งเรื่องมายาที่สังคมสร้างขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ แต่ funny paper หรือกระดาษที่ไร้ค่าเหล่านี้กลับสามารถช่วยให้เกิดการจ้างงานและการผลิต ก่อให้เกิดสินค้าและข้าวปลาที่เป็นของจริง

3.

อันที่จริงเงิน fiat ไม่ได้เพิ่งปรากฏขึ้นในโลกการเงินเป็นครั้งแรกในยุคหลังเบรตตัน วูดส์ หากแต่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 แล้วในยุคสมัยของจักรพรรดิกุบไล ข่าน

ในปี 1260 ภายหลังจากที่ก่อตั้งราชวงศ์หยวน จักรพรรดิกุบไล ข่านได้ออกธนบัตรเงินกระดาษที่เรียกว่า ‘เจียวเชา’ ออกใช้เป็นสื่อการชำระเงินในแผ่นดินจีน

ด้วยความที่มีพื้นเพเป็นชาวมองโกล ซึ่งมักเร่ร่อน อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง กุบไล ข่านจึงคุ้นเคยกับการใช้เงินกระดาษที่มีความสะดวกในการพกพาติดตัวในยามเดินทางมากกว่าเหรียญโลหะ ดังนั้นเมื่อขึ้นครองราชย์ กุบไล ข่านจึงเปลี่ยนระบบการเงินของจีน ให้เงินกระดาษกลายเป็นรูปแบบการชำระเงินหลักทั่วราชอาณาจักร

อย่างไรก็ดีธนบัตรเจียวเชาที่ออกโดยรัฐนี้ไม่ได้มีการผูกมูลค่าไว้กับเหรียญกษาปณ์หรือโลหะมีค่าใดๆ ซึ่งต่างจากใบรับฝากเหรียญในยุคสมัยก่อนหน้า กุบไล ข่านใช้อำนาจรัฐกำหนดให้ประชาชนต้องรับการชำระค่าสินค้าหรือชำระหนี้ด้วยเงินกระดาษ ถึงขนาดออกกฎหมายกำหนดให้การค้าขายที่ชำระค่าสินค้าด้วยเหรียญโลหะเป็นเรื่องต้องห้าม และผู้ฝ่าฝืนต้องถูกลงโทษหนัก

มาร์โค โปโล (Marco Polo) ซึ่งเดินทางจากอิตาลีมาถึงประเทศจีนในช่วงดังกล่าว ตื่นตะลึงกับการค้าที่พึ่งพาเงินกระดาษเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวนี้ให้ชาวยุโรปได้รับรู้ผ่านหนังสือบันทึกการเดินทางของเขา และบรรยายด้วยว่าปริมาณเงินกระดาษที่จักรพรรดิกุบไล ข่าน พิมพ์ออกมาในแต่ละปีมีจำนวนมากมายมหาศาลจนใช้ซื้อทรัพย์สมบัติทั้งหมดในโลกนี้ได้เลย

เงินกระดาษในแผ่นดินจีนเป็นสิ่งแปลกประหลาดในสายตาชาวยุโรปขณะนั้น เพราะจากประสบการณ์ในภูมิภาคยุโรป สิ่งที่ทำหน้าที่เป็น ‘เงิน’ นั้นล้วนเป็นวัตถุที่มีมูลค่าในตัวเอง อาทิ ทองคำหรือแร่เงิน ดังนั้นจึงยากที่จะจินตนาการได้ถึงสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ที่แท้จริงเป็นเพียงแผ่นกระดาษ

เงินกระดาษจึงเป็นนวัตกรรมที่จีนค้นพบก่อนยุโรปหลายศตวรรษ เพราะกว่าที่ประเทศยุโรปจะได้มีการพิมพ์เงิน fiat ออกมาหมุนเวียนเป็นครั้งแรก ก็คือในประเทศสวีเดน เมื่อปี 1661 หรือเกือบ 400 ปีหลังจากที่จีนริเริ่มนำออกใช้

กุบไล ข่าน ไม่เพียงพิมพ์เงินออกมาเพื่อใช้หมุนเวียนรองรับการค้าขายในจีนเท่านั้น แต่ยังพิมพ์เงินออกมาเพื่อไฟแนนซ์ค่าใช้จ่ายในการทำสงครามกับญี่ปุ่นอีกด้วย โดยในการทำสงครามกับญี่ปุ่นนั้นมีค่าใช้จ่ายจนวนมหาศาล เพราะกองทัพจีนต้องต่อเรือจำนวนมากสำหรับขนทหารจำนวน 70,000 นาย พร้อมพาหนะและอาวุธยุทโธปกรณ์ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยึดครองดินแดนอาทิตย์อุทัย

แม้จีนจะระดมสรรพกำลังทางทหารจำนวนมากเพียงใด แต่ความพยายามเข้ายึดครองญี่ปุ่นทั้งสองครั้งกลับต้องจบลงด้วยความล้มเหลว จนจีนสูญเสียทั้งกำลังคนและทรัพยากรจำนวนมหาศาลไปกับการสงครามนี้

สิ่งที่หลงเหลือเป็นมรดกตกทอดจากสงครามครั้งนี้คือเงินกระดาษจำนวนมหาศาลที่ยังหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีปริมาณมากเกินว่าสินค้าที่มีอยู่ในขณะนั้น เพราะการทำสงครามที่ยาวนานนับสิบปีทำให้ทรัพยากรในประเทศจำนวนมากถูกผันไปสู่การผลิตยุทธปัจจัยเพื่อรุกรานญี่ปุ่น ส่งผลให้สมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตสินค้าในตลาดกับปริมาณเงินหมุนเวียนเสียไป เงินจำนวนมากถูกใช้ไล่ซี้อสินค้าที่มีจำกัด จนราคาสินค้าต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้น ข้าวของทั่วไปมีราคาแพงขึ้น เกิดเป็นภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ (inflation)

ศัพท์ที่บัญญัติเรียก inflation ในภาษาไทยนั้นไม่ได้มีความหมายที่ส่อถึงราคาสินค้าที่แพงขึ้นแต่อย่างใด ศัพท์คำว่า ‘เงินเฟ้อ’ กลับสะท้อนถึง ‘ต้นเหตุ’ ของปรากฏการณ์ นั่นคือการที่มีเงินกระดาษ ‘เฟ้อ’ หรือมีมากจนล้นระบบ

4.

ภาวะเงินเฟ้อกลายมาเป็นปัญหาคุกคามความมั่นคงในทางเศรษฐกิจในระบบการเงินที่ใช้เงิน fiat ในเวลาต่อมา ปัญหาที่ปรากฏมีหลากหลายระดับความรุนแรง ไล่มาตั้งแต่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ไปจนถึงขั้นรุนแรง ซึ่งเป็นขั้นที่ราคาสินค้าในระบบเศรษฐกิจปรับเพิ่มขึ้นกันเป็นรายนาทีก็มี ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงถึงขีดสุดนี้เรียกว่า ‘hyperinflation’

ประวัติศาสตร์การเงินโลกบันทึกไว้ว่าหลายประเทศในแทบทุกภูมิภาคเคยเผชิญ hyperinflation กันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประเทศซิมบับเวในช่วงต้นสหัสวรรษที่ผ่านมา รวมถึงประเทศเวเนซุเอลาในปัจจุบัน

CNBC เคยจัดอันดับความรุนแรงของ hyperinflation ไว้[3] โดยยกให้ประเทศฮังการีเมื่อปี 1946 มีอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

ในช่วงเดือนที่ปัญหารุนแรงถึงขีดสุด อัตราเงินเฟ้อในฮังการีสูงถึง 13,600,000,000,000,000%  (หมายความว่าราคาสินค้าต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราหนึ่งหมื่นสามพันหกร้อยล้านล้านเปอร์เซ็นต์ต่อปี) เทียบได้ว่าราคาสินค้าเพิ่มสูงเป็นสองเท่าในทุกๆ 15.6 ชั่วโมง

ราคาที่พุ่งกระฉูดทำให้รัฐบาลฮังการีต้องออกธนบัตรที่ตรามูลค่าไว้สูงถึง 100,000,000,000,000,000,000 Pengo (น่าจะอ่านว่า ‘หนึ่งร้อยล้านล้านล้านเพงโก้’)

ต้นเหตุของภาวะเงินเฟ้ออภิมหารุนแรงในประเทศฮังการีก็เหมือนกับต้นตอของการเกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรงในประเทศอื่นๆ นั่นคือรัฐบาลพิมพ์เงินกระดาษออกมามาจนล้นระบบ

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความเสียหายจากภาวะเงินเฟ้อเป็นผลมาจากการบริหารปริมาณเงินที่ผิดพลาดของภาครัฐนั่นเอง

5.

ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าเงินกระดาษทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ แม้จะไม่มีมูลค่าใดๆ ในตัวมันเองก็ตาม และการที่เงินกระดาษจะมีบทบาทในฐานะสื่อกลางฯ ได้นั้นก็เป็นเพราะผู้คนที่ใช้มันในการทำธุรกรรมเศรษฐกิจด้วยความเชื่อมั่นไว้วางใจในมูลค่า (หรืออำนาจซื้อ) ของเงินนั้น

ส่วนความเชื่อมั่นในมูลค่าของเงินกระดาษนั้นจะมั่นคงเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารปริมาณเงินกระดาษให้เหมาะสมกับปริมาณธุรกรรมในระบบเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมาหน้าที่การดูแลปริมาณเงินอยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารกลาง

หากธนาคารกลางล้มเหลวในการบริหารปริมาณเงิน ระบบเศรษฐกิจก็จะประสบภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และผู้คนก็จะสูญเสียความเชื่อมั่นในเงินกระดาษ จนไม่อยากใช้เงินของธนาคารกลางเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอีกต่อไป

ในเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง ผู้คนมักหันไปหาเงินตราต่างประเทศ​ ทองคำ หรือสินค้าคงทนใดๆ ที่สามารถรักษามูลค่าได้นาน ไม่สูญไปตามเงินเฟ้อ เพื่อมาใช้เป็นเงินตราทางเลือกแทนที่เงินกระดาษของธนาคารกลาง

ในยุคปัจจุบัน เงินคริปโต (cryptocurrency) กลายมาเป็นทางเลือกใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา โดยจุดกำเนิดของเงินคริปโตนี้ก็มาจากความผิดหวังในบทบาทของธนาคารกลางในการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน

ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nagamoto) บุรุษปริศนาผู้ให้กำเนิดบิตคอยน์ (Bitcoin) เคยกล่าวไว้ว่าต้นตอปัญหาของเงินที่เราใช้กันอยู่โดยทั่วไปนี้มาจากการที่ตัวธนาคารกลางจำเป็นต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างมหาศาลว่าจะสามารถทำให้ระบบการเงินทำงานอย่างราบรื่น ไร้วิกฤติ

เมื่อถึงจุดที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถฝากความเชื่อใจไว้กับผู้บริหารธนาคารกลาง ระบบการเงินคริปโตจึงถูกพัฒนาจากเทคโนโลยีการเข้ารหัสแบบบล็อกเชน (blockchain) ซึ่งอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจยุ่งเกี่ยวและไม่สามารถเข้าไปปรับแก้ข้อมูลได้ มาเป็นตัวรักษามูลค่าของเงินแทน

เห็นได้ว่าระบบการเงินในโลกปัจจุบันแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกันคือ ระบบการเงินดิจิตัลโดยภาคประชาชน ที่ทำงานคู่ขนานไปกับระบบการเงินที่ภาครัฐมีอำนาจผูกขาดในการพิมพ์เงินในแบบดั้งเดิมออกมาใช้หมุนเวียน

เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ระบบการเงินทั้งสองกำลังต่อสู้แย่งชิงฐานผู้ใช้งาน วิวัฒนาการในหนึ่งหรือสองปีข้างหน้านี้จะเป็นตัวตัดสินทิศทางของระบบการเงินในอนาคต ซึ่งอาจมีรูปแบบแตกต่างไปจากประสบการณ์อดีตโดยสิ้นเชิงเลยก็ว่าได้


[1] เนื้อเพลง “You never give me your money” ของ The Beatles ในอัลบั้ม  Abbey Road

[2] Fiat อ่านว่า ฟิ-อ๊อต

[3] https://www.cnbc.com/2011/02/14/The-Worst-Hyperinflation-Situations-of-All-Time.html

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save