fbpx

Alice in Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.3 เรื่อง ‘กากๆ’

Alice In Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.1 ความสกปรกที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้วาทกรรมแห่งความสะอาด

Alice in Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก EP.2 ซากอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติกับผังเมืองที่หายไป

ความหมายตามพจนานุกรม ‘กาก’ แปลว่า ‘สิ่งที่เหลือจากการคัดหรือคัดเอาส่วนดีออกไปแล้ว’

นั่นย่อมหมายความว่า อะไรก็ตามที่ถูกเรียกว่า ‘กาก’ คือสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ควรจะต้องนำไปทิ้ง แต่อาจมีข้อยกเว้นถ้า ‘กาก’ บางชนิดยังสามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติ หรือถูกทำให้กลายเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตต่อไปได้

แต่ก็มี ‘กาก’ อีกบางชนิด ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติได้แล้ว สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ของมัน ยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลายอีกด้วย เราเรียกพวกมันว่า ‘กากของเสียอันตราย’ ซึ่งถูกใช้เรียกของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่ยังคงมีสารเคมีหรือโลหะหนักตกค้างอยู่ ต้องนำไปกำจัดหรือทำลายด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเท่านั้น

นั่นเป็น ‘ความรับผิดชอบ’ ของ ‘ผู้ที่ก่อให้เกิดของเสียอันตราย’ โดยมี ‘หน่วยงานราชการ’ ทำหน้าที่กำกับดูแลให้การกำจัด ‘กากของเสียอันตราย’ เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ประชาชน และสังคม ให้ไม่ต้องได้รับอันตรายจาก ‘กาก’

เมื่อเวลาผ่านไป ‘กาก’ ยังถูกใช้ในอีกความหมายหนึ่งที่ไม่มีระบุในพจนานุกรม คือ ‘ห่วย อ่อน แย่ ทำได้ไม่ดี’ เปรียบได้กับคนที่ไม่ทำหน้าที่ซึ่งควรจะรับผิดชอบให้ได้ดี ก็สามารถเรียกได้ว่า ‘ทำงานกาก’

ใน Dirtyland เราอาจจะแยกแยะได้ยากว่าผู้คนกำลังพูดถึงคำว่า ‘กาก’ ในความหมายไหนมากกว่ากัน

 

8 มิถุนายน 2563 ในขณะที่ผมกำลังเตรียมตัวกลับบ้านหลังเลิกงานในช่วงเย็น ผมได้รับรูปภาพจากพี่ดาวัลย์ เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณะนิเวศ เป็นรูปภาพของสถานที่คล้ายโกดังแห่งหนึ่ง มีถังน้ำขนาด 200 ลิตร และ 1,000 ลิตร วางเรียงรายอยู่นับไม่ถ้วน ลักษณะการใช้ถังบ่งบอกได้ว่าของเหลวที่อยู่ด้านในล้วนเป็น ‘ของเสียอันตราย’ ที่ต้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีเท่านั้น ในภาพยังมีกองของเสียที่มีสภาพคล้ายเศษตะกอนบางอย่างอยู่เต็มไปหมด และที่สำคัญคือสถานที่นี้ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ชัดเจนว่า ภาพที่ถูกส่งมาให้ผม คือ ‘การร้องเรียน’ มี ‘ข้อความแฝง’ ปรากฏอยู่ในภาพโดยไม่ต้องเขียนมาด้วย มันคือคำร้องขอให้ผมช่วยประกาศให้สังคมและผู้มีอำนาจหน้าที่ได้รับรู้ เพื่อให้รีบมาช่วยเหลือ จัดการแก้ปัญหา และแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น ชาวบ้านทนรับไม่ไหวแล้ว

แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านหนองพะวาอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลยก็คือ เสียงวิงวอนขอความช่วยเหลือของพวกเขาที่ถูกส่งต่อไปยังเหล่าผู้คุมกฎ ไม่เคยมีผลอะไรใน ‘ดินแดนสกปรก’ ที่ผมเรียกมันว่า ‘Dirtyland’

การเดินทางผ่านโพรงกระต่ายในรอบที่ 3 ของผม เพื่อเข้าไปร่วมวงต่อกรณีนี้ จึงเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ

ผมเริ่มกลับเข้าไปที่นั่นแบบนิรนาม


เปลี่ยนโรงงาน ‘ไร้ค่า’ ให้เป็น ‘ถังทิ้งกาก’

ชาวชุมชนหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

โรงงาน ‘วิน โพรเสส’ เป็นเหมือนโกดังขนาดใหญ่ มี ‘ของเสียอันตราย’ จำนวนมากมากองทิ้งไว้ มีรั้วรอบขอบชิดเพื่อบ่งบอกอาณาเขตความเป็นเจ้าของ มีชื่อและสถานะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อไปยังแหล่งน้ำใช้ของชาวบ้าน มีแผ่นดินที่เชื่อมโยงไปยังแหล่งน้ำใต้ดินของคนในชุมชน แต่อาคารที่อยู่ภายในรั้วนั้น กลับเป็นเพียงอาคารว่างเปล่า ไม่ปรากฏว่ามีเครื่องจักรแม้แต่ชิ้นเดียวอยู่ในอาคารเหล่านั้น สิ่งที่อยู่ในอาคารมีเพียงถังบรรจุสารเคมีจำนวนนับไม่ถ้วน คราบน้ำมัน และกองวัสดุรูปร่างคล้ายผงสีเทาดำ ที่ถูกชี้ว่าเป็นกากตะกอนน้ำมัน

แม้จะไม่มีเครื่องจักรให้ทำงาน แต่เจ้าของพื้นที่ก็ยังอุตส่าห์กล้าๆ เรียกมันว่า ‘โรงงาน’ และที่น่าโศกเศร้าไปกว่านั้น ก็คือ เหล่าผู้คุมกติกาใน Dirtyland อันแสนซื่อสัตยก็เห็นด้วยตามนั้น เห็นด้วยตามใบอนุญาตที่หน่วยเหนือของพวกเขาเป็นผู้อนุมัติมันขึ้นมาเอง พวกเขาจึงยืนยันให้คำนิยามโกดังแห่งนี้ว่า ‘โรงงาน’ เพื่อให้มันยังคงมีสถานะที่อยู่ในขอบเขตอำนาจการกำกับดูแลของ Dirtyland   

นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ผมเขียนยากที่สุดชิ้นหนึ่งตั้งแต่ทำข่าวมา สิ่งที่ยากไม่ใช่การค้นหาความจริงจากเรื่องนี้ แต่ ‘ยาก’ เพราะระหว่างที่ผมเขียนถึง ‘มัน’ ผมก็นึกไม่ออกว่าจะเรียกมันว่าอะไรดี

มันไม่ใช่โรงงานรีไซเคิล เพราะมันไม่มีเครื่องจักรอะไรเลยที่จะไปรีไซเคิลอะไรได้ หรือแม้แต่ ‘กากตะกอนน้ำมัน’ ที่กองเป็นภูเขาย่อมๆ อยู่ทั่วโกดังแห่งนี้ ก็ถูกนับว่าเป็น ‘กากสุดท้าย’ ซึ่งนำไปรีไซเคิลอะไรไม่ได้อีกแล้ว จนน่าสงสัยว่านำเข้ามาเก็บไว้ทำไม ถ้าไม่ใช่มีเจตนาจะ ‘ทิ้ง’

มันไม่ใช่โรงงานคัดแยกขยะ เพราะถังสารเคมีที่ถูกวางไว้ ไม่ใช่สิ่งที่คัดแยกได้

มันไม่ใช่โรงงานด้วยซ้ำ เพียงแต่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานภายใต้ชื่อ ‘วิน โพรเสส’

ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ที่ดินแปลงนี้ก็เป็นได้แค่เพียง ‘ถังขยะ’ นี่เป็นเพียงสถานที่ซึ่งมีไว้แค่นำของเสียอันตรายที่มีค่ากำจัดราคาแพง มาวาง ‘ทิ้ง’ เท่านั้น

และเพื่อให้ Dirtyland ได้เป็น ‘แดนสกปรก’ ได้อย่างสมชื่อ เหล่าผู้คุมกติกาก็ต้องปล่อยให้พลเมืองชาวหนองพะวาเป็น ‘ผู้สูญเสีย’ ล้มเจ็บอยู่ตามท้องถนนโดยไม่ต้องแยแส เพราะพวกเขามีหน้าที่จัดการ ‘กาก’

สำหรับชีวิตเกษตรกรคนหนึ่ง การได้เป็นเจ้าของสวนยางพาราบนเนื้อที่ 36 ไร่ ย่อมหมายถึงความมั่นคงในชีวิต ความมั่นคงของลูกหลาน เพราะยางพาราคือพืชที่สร้างรายได้ได้ยาวนาน ถ้าสวนยางพาราของคุณไม่บังเอิญไปอยู่ติดกับ ‘ถังขยะพิษ’

หรือถ้าจะพูดให้ถูก อยู่ดีๆ ก็มีคนชั่วช้านำสารพิษมาเติมลงไปในที่ดินและแหล่งน้ำที่อยู่ติดกับสวนยางพาราของคุณทุกวัน ทุกวัน หลายร้อยวัน หลายปี

สวนยางพาราทั้ง 30 ไร่ ของนายเทียบ สมานมิตร เกษตรกรชาวหนองพะวา จึงค่อยๆ ให้น้ำยางลดน้อยลง น้ำในบ่อน้ำข้างสวนค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจากที่เคยใสกลายเป็นสีส้มคล้ายสนิม น้ำสีสนิมซึมลงดินเข้าสู่รากของต้นยาง พืชสวนที่เป็นแหล่งรายได้ของนายเทียบ ค่อยๆ ยืนต้นตาย จาก 1 ต้น เป็น 5 ต้น 10 ต้น 1 ไร่ ไปถึง 10 ไร่ และลามไปทั่วทั้งสวน

นั่นคือ ‘ภาพแรก’ ที่ผมส่งต่อความสูญเสียของชาวบ้านหนองพะวา ออกไปสู่สายตาสาธารณะชน เมื่อ 9 มิถุนายน 2563 พร้อมกับข้อมูลว่า พื้นที่เกษตรกรรมในบริเวณนี้อีกเกือบ 200 ไร่ ก็กำลังตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

ภาพที่กำลังฟ้องว่า พื้นที่เกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ ‘หนองพะวา’ กำลังถูกทำให้กลายเป็นถังขยะ ถูกทำให้เป็นพื้นที่ปนเปื้อนของสารเคมีหลายชนิดอย่างรุนแรง อยู่ดีๆ ก็ถูกทำให้แปดเปื้อน ถูกไล่ล่าให้ไปเป็นอาณานิคมอยู่ภายใต้การปกครองของ ‘แดนสกปรก’ ถูกลากเข้าอยู่ภายใต้กฎแปลกๆ ของพวกผู้ควบคุมกติกาใน Dirtyland

ไม่มีหนทางให้ถอยอีกแล้ว เมื่อผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นแหล่งรายได้หลักของคนทั้งตำบลกำลังล้มตายลงไปต่อหน้าต่อตา เมื่อคำร้องขอความช่วยเหลือค่อยๆ ถูกแพร่กระจายออกไป กองทัพประชาชนชาวหนองพะวา ก็ตัดสินใจประกาศสงครามกับแดนสกปรกอย่างเต็มรูปแบบ พวกเขาจะไม่ยอมกลายเป็นพลเมืองของ Dirtyland โดยที่ยังไม่ต่อสู้

การจัดการ ‘กาก’

ดูเหมือนว่าภาพยางพาราทั้งสวนยืนต้นตายที่ถูกเผยแพร่ออกไป ยังช่วยเปิด ‘โพรงกระต่าย’ ทิ้งไว้เป็นช่องเบ้อเริ่ม เพราะมันทำให้มีนักสู้หน้าใหม่ติดต่อมาหาผม เพื่อให้ช่วยบอกเส้นทางเข้าสู่ Dirtyland ที่หนองพะวา เขามีชื่อว่า ‘อภิสิทธิ์ ดุจดา’ นักข่าวรุ่นใหม่ของสถานีโทรทัศน์ PPTV  

ที่ต้องเอ่ยถึงอภิสิทธิ์ เพราะเขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการต่อสู้ของชาวหนองพะวาอย่างมาก ข่าวของเขาที่ถูกเสนอผ่าน PPTV คอยช่วยตรวจสอบการทำหน้าที่ของพวกผู้คุมกติกาแบบเกาะติดความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว ทำให้การลุกขึ้นสู้ของชาวหนองพะวามีพลังมากขึ้น สร้างแรงกดดันได้มากขึ้น

การเข้ามาลุยในแดนสกปรกรอบนี้ จึงเกิดขึ้นในนาม ‘พวกเรา’ ซึ่งรวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศ และทีมทนายความ

สารภาพก่อนว่าในทีแรก เราก็เกือบหลงกลไปกับ ‘วาทกรรม’ ของผู้ควบคุมกติกา เมื่อเราต่างก็คิดว่าวิน โพรเสสเป็นโรงงานในกลุ่มโรงงานรีไซเคิล ลำดับที่ 106 นั่นเป็นเพราะเราเห็นของเสียอันตรายที่เป็นของเหลวจำนวนมากถูกนำมากองไว้ในโรงงาน ซึ่งของเสียเหล่านี้ควรจะมีเส้นทางการขนส่งมาที่กลุ่มโรงงานรีไซเคิลเท่านั้น เราจึงตั้งสมมติฐานว่าที่นี่คือโรงงานรีไซเคิล ในระหว่างที่ยังไม่ได้ค้นหาความจริงจากเอกสาร

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะตรวจสอบดูก่อน เมื่อไปค้นข้อมูลอย่างเป็นทางการ เราจึงพบว่าวิน โพรเสสไม่ใช่โรงงานรีไซเคิล เพียงแค่เคยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 (รีไซเคิล) เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 แต่โรงงานก็ไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตประกอบกิจการ ไม่มีเครื่องจักรสำหรับการรีไซเคิลแม้แต่ชิ้นเดียวอยู่ในโรงงาน

ถึงจะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิล แต่วิน โพรเสสมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทอื่นอีก 2 ใบ คือ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 40 อัดเศษกระดาษ เศษโลหะ พลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป และโรงงานลำดับที่ 60 หล่อหลอมโลหะ ซึ่งก็ไม่มีเครื่องจักรเพื่อใช้ประกอบกิจการทั้ง 2 ประเภทนี้อยู่ในโรงงานอีกเช่นกัน

ถ้าจะพูดให้ถูกที่สุด ก็คือไม่มีเครื่องจักรแม้แต่ชิ้นเดียวอยู่ในโรงงาน

ดังนั้น หากว่ากันตามเอกสาร วิน โพรเสสก็มีสถานะเป็นโรงงาน แต่เป็นสถานะที่ไม่สอดคล้องกับ ‘ของเสียอันตราย’ ที่พบวางตั้งไว้ในพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่าโรงงาน นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่มีสิทธิครอบครองของเสียอันตรายพวกนี้ด้วยซ้ำ และยังไม่มีความสามารถที่จะจัดการกับของเสียอันตรายที่กองไว้แม้แต่ถังเดียว เพราะพวกเขาไม่มีเครื่องมือเลย

ข้อเท็จจริงนี้คือคำอธิบายสิ่งที่ผมยืนยันที่จะไม่เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ‘โรงงาน’ เพราะมันควรเรียกว่า ‘ถังขยะ’ หรือ ‘บ่อขยะ’ มากกว่า และผมมั่นใจว่าผมไม่ได้พูดอะไรผิดแม้แต่น้อย

ที่ต้องย้ำประเด็นนี้บ่อยๆ เนื่องเพราะความมีสถานะเป็นโรงงาน เป็นประเด็นสำคัญในการ ‘ใช้อำนาจ’ กำกับดูแลวิน โพรเสส ตั้งแต่อดีตมาจนถึงช่วงเวลาที่เกิดปัญหา เป็นเวลายาวนานถึง 10 ปี

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2553 วิน โพรเสสเข้ามาก่อสร้างอาคารที่หน้าตาเหมือนจะถูกทำให้เป็นโรงงานที่หนองพะวา และพยายามขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทคัดแยกขยะ (ลำดับที่ 105) แต่ชาวหนองพะวาก็รวมตัวคัดค้านอย่างหนักจึงไม่ได้รับใบอนุญาต

แต่ถึงจะไม่ได้รับใบอนุญาต วิน โพรเสสก็ยังอยู่มาได้โดยไม่ต้องสนใจเพื่อนบ้าน มีรถบรรทุกวิ่งเข้า-ออกอยู่เรื่อยๆ มาจนถึงปี 2557 มีกลิ่นเหม็นลอยออกมาจากภายในรั้วของสถานที่แห่งนี้ กลิ่นเหม็นรุนแรงส่งกลิ่นไปทั่วชุมชนจนโรงเรียนที่อยู่ในบริเวณนั้นไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ พลเมืองชาวหนองพะวาจึงรวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อกดดันขอให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เข้ามาตรวจสอบ และในที่สุดก็ขุดพบการลักลอบฝังกลบของเสียจำนวนมากอยู่ในที่ดินของพวกเขา

ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต แต่กลับมีรถขนส่งสามารถนำ ‘กาก’ เข้ามาทิ้งได้อย่างต่อเนื่อง สามารถขุดหลุมฝังกลบขยะได้ และทั้งที่กระทำความผิดอย่างโจ่งแจ้ง วิน โพรเสสกลับได้รับของขวัญจากผู้คุมกติกาในอีก 3 ปีต่อมา เมื่อได้ใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน 2 ใบ (ลำดับที่ 40 และ 60) มีสถานะเป็นโรงงานตามเอกสารจนได้

เมื่อไล่เรียงประวัติอันสวยหรูของ ‘โรงงาน’ ที่ได้ใบอนุญาต จึงได้คำถามใหญ่ตามนี้

  • ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2560 วิน โพรเสสไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการใดๆ เลย ทำไมจึงยังสามารถตั้งอยู่มาได้กว่า 6 ปี
  • เมื่อถูกตรวจสอบพบการลักลอบฝังกลบของเสียทำไมถึงยังสามารถตั้งอยู่ได้
  • ทั้งที่มีความผิดร้ายแรง ทำไมยังได้ใบอนุญาตประกอบกิจการ 2 ประเภทในปี 2560

จนมาถึงปี 2563 วิน โพรเสสมี ‘กากของเสียอันตราย’ ปริมาณมหาศาล ถูกกองทิ้งไว้ในอาณาเขตที่ถูกให้คำนิยามว่า ‘โรงงาน’ แม้จะมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่ก็ไม่สอดคล้องกับ ‘กาก’ ที่ถูกกองทิ้งไว้ และในโรงงานก็ไม่มีเครื่องจักรที่จะดำเนินการตามประเภทของใบอนุญาตเลย

ผมมีคำถามที่ใหญ่มาก… ถามไปยังผู้ควบคุมกติกา

ทันทีที่พบข้อเท็จจริงนี้ ทำไมผู้ควบคุมกติกา จึงไม่เพิกถอนใบอนุญาต ไม่ดำเนินคดี ไม่บังคับใช้กฎหมายให้นำกากของเสียอันตรายไปกำจัดอย่างถูกต้อง ไม่ฟ้องร้องให้ชดใช้ต่อความเสียหายของชาวหนองพะวาและสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่ผู้ควบคุมกติกาคือสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ทำเป็นสิ่งแรกเมื่อพบกากของเสียอันตรายปริมาณมหาศาลอยู่ใน วิน โพรเสส ก็คือออกคำสั่งให้ปิดโรงงานเพื่อปรับปรุง

ก่อนจะไปต่อ ผมอยากย้ำไว้ก่อนว่า เมื่อท่านเดินเข้าไปใน Dirtyland ท่านจะต้องไม่หลงกลไปกับวาทกรรมทางกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะคำว่า ‘ดำเนินคดี หรือ สั่งปิดให้ปรับปรุงโรงงาน’

การจัดการ ‘กาก’ รูปแบบที่ 1 ‘ปิดปรับปรุง’

ถ้าวิน โพรเสสมีสถานะเป็นโรงงานรีไซเคิล มีเครื่องจักรที่สามารถใช้รีไซเคิลของเหลวในถังเหล่านั้นได้จริง แต่มีระบบการจัดการกากของเสียอันตรายที่ไม่ดีพอ ผมคงยากที่จะตั้งคำถามนี้

แต่ในข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ก็เห็นเหมือนกันกับที่ชาวหนองพะวาและผมเห็น นั่นคือโกดังนั้นเป็นสถานที่ที่ไม่มีความสามารถจะประกอบกิจการโรงงานแม้แต่น้อย ไม่มีปัญญารีไซเคิลของเหลวในถังได้แม้แต่ถังเดียวด้วยซ้ำ ทำไมถึงออกคำสั่งให้ ‘ปิดปรับปรุง’

ผมเขียนรายงานข่าวเผยแพร่ออกไปด้วยการตั้งคำถามที่แสนง่ายกลับไปยังผู้ควบคุมกติกาว่า วิน โพรเสสจะปฏิบัติตามคำสั่ง ‘ปรับปรุง’ ของท่านได้ด้วยวิธีการอย่างไร พวกเขาต้องปรับปรุงอะไร ต้องปรับปรุงอย่างไร ในเมื่อไม่มีเครื่องมืออะไรเลย

คำสั่งปิดปรับปรุงที่ใช้กับวิน โพรเสสจึงเป็นเพียงการใช้วาทกรรมเพื่อบ่งบอกว่าได้ดำเนินการจัดการกับโรงงานไปแล้ว ดังนั้น ‘หยุดร้องเรียนได้แล้ว’ …ใช่หรือไม่

นั่นเพราะผู้ควบคุมกติกา ยังคงยกสถานะของวิน โพรเสสให้เป็นโรงงานตามกติกาของท่านใช่หรือไม่ นั่นเพราะท่านไม่ยอมรับว่าสถานที่นี้เป็นเพียง ‘ถังขยะ’ ใช่หรือไม่

การจัดการ ‘กาก’ แบบ Dirtyland เป็นแบบนี้นี่เอง

การจัดการ ‘กาก’ รูปแบบที่ 2 ‘ขอดูใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย ก่อนแจ้งความดำเนินคดี’  

ก่อนที่ปัญหาของชาวหนองพะวาจะกลายเป็นข่าวดัง ก่อนที่ชาวหนองพะวาจะตัดสินใจร้องเรียนกับสื่อ ชาวบ้านที่เดือดร้อนอย่างแสนสาหัสได้พยายามดึงตัวเองให้หลุดพ้นจากการรุกรานของ Dirtyland มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่การรวบรวมเงินกันเองเพื่อทำป้ายขับไล่วิน โพรเสส ให้ออกไปจากชุมชนของพวกเขา ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ควบคุมกติกาให้รับรู้ถึงความทุกข์ยากของพวกเขา โดยหวังว่า ‘ผู้ควบคุม’ จะเข้ามาแก้ไขอย่างเป็นธรรม

ดังนั้น เหตุการณ์ที่ผู้ควบคุมกติกา เข้าไปตรวจสอบภายในรั้วของวิน โพรเสสเป็นครั้งแรก จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ 6 เดือนก่อนเป็นเป็นข่าว ซึ่งแน่นอนว่า ‘กากของเสียอันตราย’ ที่ถูกกองทิ้งไว้ภายใน มีมาก่อนหน้านั้นเสียอีก

แต่การแจ้งความดำเนินคดีกับวิน โพรเสส ในข้อหา ‘มีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต’ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 หรือ 2 วัน หลังจากเป็นข่าว

ถ้าจะลงข้อความให้ละเอียด คือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เข้าแจ้งความเอาผิดกับบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ในฐานความผิดมีการครอบครองน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย

ผมมีคำถามง่ายๆ เช่นเดิมว่า ในเมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองเคยได้เข้าไปตรวจสอบวิน โพรเสสมาแล้วเมื่อ 6 เดือนก่อน มีรายงานพบวัตถุอันตราย คือน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วขนาด 1,000 ลิตร ประมาณ 100 ถัง ทำไมจึงไม่ดำเนินคดีตั้งแต่เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

มีคำตอบที่ท่านอาจหลงกลได้ นั่นคือ “ได้พยายามสอบถามกรรมการผู้จัดการโรงงานหลายครั้ง ว่ามีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายหรือไม่ แต่ทางโรงงานก็ตอบไม่ได้”

ผู้ควบคุมกติกา ยังอ้างประโยคต่อไปอีกว่า “ได้พยายามขอให้โรงงานนำเอกสารใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายมาแสดงถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่มีเอกสารมาแสดง”

ฟังเผินๆ น่าจะรู้สึกกันได้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐใส่ใจและพยายามตรวจสอบโรงงานที่ถูกชาวบ้านร้องเรียนแห่งนี้อย่างเข้มข้น แต่วิธีการ ‘ถามหาใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย’ ที่ผู้ควบคุมกติกากล่าวอ้างขึ้นมา กลับไม่ได้ตอบคำถามสำคัญข้อหนึ่ง

คำถามนั้นคือ ‘อุตสาหกรรมจังหวัด’ หรือ ‘กรมโรงงานอุตสาหกรรม’ มีระบบฐานข้อมูลที่สามารถตรวจสอบใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายได้อยู่แล้ว ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ใส่ชื่อโรงงานเข้าไปในระบบ ใช้เวลาไม่นานก็จะรู้ได้ว่าโรงงานมีใบอนุญาตครองครองวัตถุอันตรายหรือไม่

ดังนั้น ทำไมอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง จึงต้องไปขอให้วิน โพรเสสแสดงใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายถึง 3 ครั้ง กินเวลานานไปถึง 6 เดือน อย่าลืมว่านั่นเป็นเวลา 6 เดือนที่สิ่งแวดล้อมและพืชผลทางการเกษตรของชาวหนองพะวาถูกทำให้ย่อยยับมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกวัน

ยังมีข้อเท็จจริงที่มองได้ง่ายกว่านั้นอีกข้อหนึ่งด้วยซ้ำ นั่นคือเจ้าหน้าที่รู้ดีอยู่แล้วว่าวิน โพรเสสได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทบดอัดกระดาษและหล่อหลอมโลหะ ไม่สามารถได้ใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายที่ถูกตรวจพบ (แม้จะมีใบอนุญาตหล่อหลอมโลหะ (60) แต่การหล่อหลอมโลหะ ทำด้วยวิธีการเผาด้วยเตาหลอม วัสดุที่ใช้ในการเผาและกลายเป็นกากของเสียคืออิฐทนไฟ ซึ่งโดยปกติจะต้องเปลี่ยนปีละ 1-2 ครั้ง ส่วนของเสียอื่นที่จะเกิดขึ้นคือฝุ่นเหล็ก สเกลเหล็ก ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ‘น้ำมัน’ ในกิจการนี้)

ถ้าเรื่องนี้ ไม่เป็นข่าว ไม่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ ต้องใช้เวลาอีกกี่เดือน เจ้าหน้าที่รัฐจึงจะแจ้งความดำเนินคดี หรืออาจต้องถามใหม่ว่า ‘จะได้ดำเนินคดีหรือไม่’

การจัดการ ‘กาก’ แบบ Dirtyland เป็นแบบนี้นี่เอง

การจัดการ ‘กาก’ รูปแบบที่ 3 ‘รถขนย้ายของเสียอันตราย แค่แวะพักผ่อน ก่อนขนไปที่อื่น’

ระบบตรวจสอบการขนย้ายของเสียอันตราย เป็นระบบที่ ‘กรมโรงงานอุตสาหกรรม’ ภูมิใจเสนอมาตลอดว่ามีการตรวจสอบที่เข้มงวด เพื่อให้ ‘กากของเสียอันตราย’ ถูกนำออกจากโรงงานต้นทาง คือ ‘ผู้ก่อกำเนิดของเสีย’ ไปยังโรงงานปลายทาง คือ ‘ผู้รับบำบัดหรือกำจัดของเสีย’ อย่างแน่นอน ไม่ตกหล่น ไม่ถูกลักลอบทิ้งไว้ระหว่างทาง

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ขยะอุตสาหกรรมที่บ่อขยะแพรกษา สมุทรปราการ ถูกเสกขึ้นมาหรือ? ซากอุตสาหกรรมจำนวนมากในบ่อดินที่มาบไผ่ ชลบุรี หลุดลอดมาทางท่อระบายน้ำหรือ? น้ำปนเปื้อนสารเคมีในสวนต้นมะลิที่พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา คือน้ำฝนที่โปรยลงมาจากฟากฟ้าอย่างนั้นหรือ?

และนั่นทำให้ ‘ผู้ควบคุมกติกา’ ควรจะสละเวลาไปหาคำตอบให้ได้ว่า ถังบรรจุสารเคมีขนาด 200 ลิตร และถังขนาด 1,000 ลิตร แบบละหลายร้อยถัง ใช้ของวิเศษชนิดไหน จึงถูกเสกให้มาปรากฏอยู่ที่วิน โพรเสส โดยที่ระบบตรวจสอบของกรมโรงงานฯ ไม่รู้ ไม่เห็น จับไม่ได้

ก่อนจะไปรู้พร้อมกันว่าอุตสาหกรรม จ.ระยอง ตอบคำถามนี้ไว้อย่างไร เราไปดูกันก่อนว่า ‘ระบบตรวจสอบการขนย้ายกากของเสียอันตราย’ เป็นอย่างไร

ในกระบวนการขนย้ายกากของเสียอันตรายเพื่อนำไปบำบัดหรือกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ส่วน

  1. โรงงานต้นทางเป็นผู้ก่อกำเนิดของเสีย ในฐานะผู้ว่าจ้างให้นำของเสียไปกำจัด เรียกว่า ‘ผู้กำเนิดของเสียอันตราย’
  2. ผู้ขนส่งของเสียอันตราย
  3. โรงงานปลายทาง เป็นผู้รับบำบัดหรือกำจัดของเสีย ในฐานะผู้รับจ้าง เรียกว่า ‘ผู้ประกอบการสถานเก็บรวบรวม บำบัด และกำจัดของเสียอันตราย’

เมื่อ ‘โรงงานต้นทาง’ ต้องการนำกากของเสียอันตรายไปกำจัด ก็จะว่าจ้าง ‘โรงงานปลายทาง’ ซึ่งเป็นโรงงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการบำบัดหรือกำจัดโดยตรงอยู่แล้ว ให้นำของเสียออกไป

ก่อนนำของเสียออกจากโรงงานต้นทาง ‘ผู้ขนย้าย’ จะต้องชั่งน้ำหนักของเสียที่จะขนย้ายออกไป และบันทึกข้อมูลลงใน ‘ใบกำกับการขนส่งของเสียอันตราย’ (Manifest) โดยต้องบันทึกรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งข้อมูลนี้จะเข้าไปอยู่ในระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีข้อมูลที่ต้องกรอก 3 ส่วน ตามนี้

ส่วนที่ 1 ส่วนของผู้กำเนิดของเสียอันตราย – The Generator ประกอบด้วย

  • ข้อมูลผู้ก่อกำเนิดของเสียอันตราย
  • ข้อมูลผู้ขนส่งของเสีย
  • ข้อมูลผู้รับบำบัดและกำจัดของเสีย
  • รายละเอียดของของเสียอันตรายที่ส่งเคลื่อนย้าย ตั้งแต่รายละเอียดของเสียอันตราย รหัส จำนวนภาชนะบรรจุ ชนิดภาชนะบรรจุ ปริมาตรสุทธิ พร้อมแยกเป็นของเหลวปริมาตรเท่าไหร่ ของแข็งปริมาตรเท่าไหร่
  • การปฏิบัติที่มีลักษณะพิเศษและข้อมูลเพิ่มเติม
  • คำรับรองว่าได้ส่งมอบของเสียอันตรายแล้ว และมีการบรรจุติดป้ายหรือฉลากอย่างเหมาะสมตามข้อกำหนดทางกฎหมายทุกประการ

ส่วนที่ 2 ส่วนของผู้ขนส่งของเสียอันตราย – The Transporter ประกอบด้วย

  • ข้อมูลผู้ขนส่งรายที่ 1 หรือ 2
  • พาหนะที่ใช้ รถบรรทุก รถไฟ เรือ เครื่องบิน
  • หมายเลขทะเบียนพาหนะ
  • คำรับรองว่าได้รับของเสียอันตรายแล้วตามข้อมูลที่ระบุไว้ข้างต้น และการขนส่งเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกประการ

ส่วนที่ 3 ส่วนของผู้ประกอบการสถานเก็บรวบรวม บำบัด และกำจัดของเสียอันตราย – TSDFs ประกอบด้วย

  • ข้อมูลผู้รับกำจัดของเสียอันตราย
  • คำรับรองว่าได้รับของเสียอันตรายแล้วตามปริมาณที่ระบุข้างต้น
  • กรณีของเสียอันตรายไม่ตรงตามที่แจ้ง เป็นประเภทใด ปริมาณเท่าใด ดำเนินการส่งคืนหรือจัดประเภทใหม่

ข้อมูลทั้งหมดใน ‘ใบกำกับการขนส่งของเสียอันตราย’ จะถูกนำเข้าสู่ระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อคอยตรวจสอบให้การขนย้ายของเสียอันตรายเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย

กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงเป็นหน่วยงานเดียวที่เห็นข้อมูลการขนย้ายทั้งหมด รับรู้ว่ามีของเสียอันตรายชนิดไหนบ้างที่ถูกขนย้ายออกไปบำบัดหรือกำจัดในปริมาณเท่าไหร่ ขนย้ายเมื่อวันที่เท่าไหร่ เวลาไหน บริษัทที่รับหน้าที่ขนส่งคือใคร ใช้พาหนะอะไร กี่คัน โรงงานปลายทางที่รับบำบัดหรือกำจัดคือใคร มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทใดบ้าง มีศักยภาพในการบำบัดหรือกำจัดอย่างไร รถขนส่งไปถึงโรงงานปลายทางเวลาไหน ใช้เวลาเดินทางเหมาะสมหรือไม่

พาหนะที่ทำหน้าที่ขนย้ายของเสียอันตรายทุกชนิด ยังต้องขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานฯ ต้องติดตั้งระบบ GPS ติดตามตัว โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเห็นและบันทึกเส้นทางการเดินรถทั้งหมดไว้ เพื่อดูว่า ‘รถขนส่ง’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ง่ายที่สุดในการลักลอบทิ้ง วิ่งออกนอกเส้นทางหรือไม่ หรือแวะจอดที่จุดใดที่น่าสงสัยเป็นพิเศษหรือไม่

เมื่อระบบรัดกุมขนาดนี้ ถังสารเคมีหลายร้อยถัง มาอยู่ที่วิน โพรเสสได้อย่างไร ทั้งที่วิน โพรเสสไม่มีสถานะเป็นโรงงานผู้รับบำบัดหรือกำจัดของเสียอันตราย ไม่มีสถานะเป็นโรงงานคัดแยกขยะหรือโรงงานรีไซเคิลด้วยซ้ำ แต่กลับมีรถบรรทุกที่ขนย้ายของเสียอันตรายวิ่งเข้า-ออก ผ่านสถานที่ที่มีรอบรั้วขอบชิดของพวกเขาได้ราวกับเป็นเจ้าของบ้าน

เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรม จ.ระยอง ตอบคำถามนี้อย่างง่ายดาย

“ทางวิน โพรเสสแจ้งว่ารถบรรทุกเหล่านี้วิ่งเข้ามานอนพัก ก่อนจะนำของไปส่งที่อื่น”

ผมไม่อธิบายต่อนะครับ เพราะอธิบายไปแล้วว่ากระบวนการขนย้ายวัตถุอันตรายมีขั้นตอนอย่างไร รถขนย้ายออกนอกเส้นทางได้หรือ แวะพักกลางทางได้หรือ

ผู้ควบคุมกติกา กลับตอบคำถามนี้ ราวกับว่า ‘ไม่รู้กติกาการขนย้าย’

การจัดการ ‘กาก’ แบบ Dirtyland เป็นแบบนี้นี่เอง

ชัยชนะต่อ ‘กาก’ เพราะจับได้ไล่ทัน

ด้วยความพยายามอย่างมากของหลายฝ่ายที่จะดึง ‘หนองพะวา’ ให้หลุดพ้นจากการถูกควบรวมเข้าเป็นอาณานิคมของ Dirtyland อย่างถาวร ทำให้ ‘พวกเรา’ ช่วยกันตามถาม ตามจับผิด ตามซักไซ้ไล่เรียงและช่วยกันตอบโต้ข้ออ้างต่างๆ ของผู้คุมกติกาที่ไม่ตรงกับกฎระเบียบที่แท้จริงได้สำเร็จ ทำให้วิน โพรเสสประกาศปิดกิจการไปเองก่อนที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนกรมควบคุมมลพิษ เข้ามาช่วยตรวจสอบค่าปนเปื้อนต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเดินหน้าฟ้องร้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากวิน โพรเสส ด้วยจำนวนเงินรวมกันหลายร้อยล้านบาท และชาวหนองพะวายังเตรียมจะยื่นฟ้องคดีทางปกครองต่อเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายที่ปล่อยให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีกด้วย

แต่ก็ต้องยอมรับว่า นี่เป็นชัยชนะที่สร้างไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับพื้นที่อื่นมากกว่า เพราะสำหรับพื้นที่หนองพะวา ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพืชผลและสิ่งแวดล้อมดูจะหนักเกินไป เป็นเรื่องยากที่จะกลับมาฟื้นฟูความเสียหายต่างๆ ให้กลับมาเป็นเช่นเดิม คงต้องรอดูว่าจะสามารถเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาได้มากที่สุดแค่ไหน

แต่… เรื่อง ‘กากๆ’ ก็ยังเกิดขึ้นอีก

กลางเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษเปิดเผยพบเหตุลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในลักษณะที่เป็นถังสารเคมีขนาด 200 ลิตรจำนวนมากอีกครั้งบนที่ดินของเอกชนที่ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งต่อมาเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของกิจการรถแบ็คโฮด้วย ยอมรับว่าได้รับการติดต่อจากโรงงานแห่งหนึ่งขอนำถังเหล่านี้มาทิ้ง และเขาได้ประโยชน์จากการเจาะถังให้สารเคมีไหลออกไป เพื่อนำถังไปขายต่อที่ร้านรับซื้อของเก่าในราคาใบละ 100 บาท

ชาวบ้านในพื้นที่ยังบันทึกภาพรถบรรทุกที่วิ่งเข้าไปในจุดลักลอบทิ้งไว้ได้ เป็นรถ 10 ล้อ สีฟ้า มีถังขนาดใหญ่สีเขียวอยู่ด้านหลัง มีข้อความเขียนติดที่ข้างรถว่า AEK ซึ่งคล้ายกับชื่อของบริษัทรับบำบัดของเสียอันตรายขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีกิจการอยู่ในหลายจังหวัด และรถที่มีข้อความคล้ายกันนี้ เคยถูกใช้เพื่อเข้าไปขนย้ายของเสียอันตรายออกมาจากวิน โพรเสส โดยอ้างว่าเป็นการส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องด้วย

หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษเปิดเผยเรื่องนี้ออกไป พร้อมประกาศจะติดตามดำเนินคดีกับโรงงานที่นำของเสียมาลักลอบทิ้ง เพราะตรวจสอบทะเบียนรถพบว่า เป็นรถขนย้ายของเสียอันตรายที่ขึ้นทะเบียนไว้อยู่ในบัญชีของกรมโรงงานอุตสาหกรรม วันต่อมา กลับมีการแถลงข่าวจากกรมโรงงานงานอุตสาหกรรมว่าตรวจสอบพบที่มาของรถที่ขนย้ายของเสียอันตรายมาทิ้งแล้วเช่นกัน พร้อมประกาศให้คำนิยามว่า ‘แปลงที่ดินว่างเปล่า’ ที่เป็นสถานที่ถูกลักลอบทิ้ง เข้าข่ายเป็น ‘โรงงาน’ ตามกฎหมาย เพราะมีคนงานและมีเครื่องจักรคือ ‘รถแบ็คโฮ’

เมื่อนิยามว่า ‘ที่ดินแปลงนั้น’ เป็น ‘โรงงาน’ ก็ทำให้อำนาจในการดำเนินคดีตกไปอยู่ที่ ‘กรมโรงงานอุตสาหกรรม’ เพียงหน่วยงานเดียว

น่าสังเกตด้วยว่า การให้คำนิยาม ‘โรงงาน’ เช่นนี้ ทำให้เหตุที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

จากเหตุที่มีโรงงานนำของเสียอันตรายมาลักลอบทิ้งในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นการย้ายของเสียอันตรายจากโรงงานหนึ่งไปยังโรงงานอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ได้รับอนุญาต

อย่างที่เคยเตือนไว้ เมื่ออยู่ใน Dirtyland ต้องไม่หลงกลง่ายๆ

ไม่น่าเชื่อว่า ‘อาคารเปล่าๆ’ ก็นิยามเป็นโรงงานได้ หรือแม้แต่ที่ดินว่างเปล่าก็นิยามให้เป็นโรงงานได้

และอะไรก็ตามที่ถูกนิยามให้เป็น ‘โรงงาน’ ก็จะถูกดึงเข้าไปอยู่ภายใต้การอำนาจการดูแลและลงโทษของผู้ควบคุมกติกาเพียงหน่วยงานเดียว และในทางกลับกัน ก็คล้ายมีเกราะป้องกันให้ปลอดภัยจากอำนาจของหน่วยงานอื่นไปด้วย

หน่วยงานเดียวที่มีอำนาจตั้งแต่การออกใบอนุญาตให้ก่อตั้ง กำกับดูแลการดำเนินกิจการ ดูแลการขนย้ายกากของเสียอันตราย เห็นทุกขั้นตอนการขนย้าย ตรวจสอบข้อร้องเรียน สั่งลงโทษ สั่งปรับปรุง ดำเนินคดี

เห็นได้ว่าทั้งอำนาจการก่อตั้งโรงงาน ตรวจสอบโรงงาน และลงโทษโรงงาน ถูกออกแบบให้เป็น ‘อำนาจของหน่วยงานเดียวกัน’

ในขณะที่หน่วยงานรักษาสิ่งแวดล้อม ที่มีหน้าที่ปกป้องพลเมืองไม่ให้ถูกล่าเข้าไปเป็นอาณานิคมของ Dirtyland กลับแทบไม่มีโอกาสได้เข้าไปควบคุมกติกาในแดนสกปรกด้วยเลย และยังแทบไม่มีอาวุธทางกฎหมายไว้ปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาถูกสั่งให้ปกป้อง

การจัดการ ‘กากๆ’ แบบ Dirtyland เป็นแบบนี้นี่เอง


ผมจะไม่ยอมปล่อยให้ลูกหลานของเราต้องอาศัยอยู่ใน ‘แดนสกปรก’

ในวันที่พวกเราอาศัยอยู่ แผ่นดิน ผืนน้ำ แหล่งน้ำใต้ดิน และแม้แต่บนฟ้ากำลังเต็มไปด้วยสารพิษ

ทรัพยากรเหล่านี้ เป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของพวกเราและทายาทของพวกเราทุกคน  

ดิน น้ำ ฟ้า ที่กำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ในวันนี้ คือทรัพยากรที่ลูกหลานของเราต้องเป็นผู้ใช้ต่อไป แม้ในวันที่เราตายไปแล้ว

ผมเขียนบทความซีรี่ส์  Alice in Dirtyland ชุดนี้ขึ้นมา เพราะต้องการเชิญชวนให้ทุกคนทำความเข้าใจ เห็นความสำคัญของเรื่องราวที่มักถูกมองข้ามไปเรื่องนี้ เรื่องที่ผมมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่ได้รับความสนใจน้อยเกินไป

ผมอยากเชิญชวนพวกเรามาร่วมต่อต้านกลุ่มผลประโยชน์ที่กำลังร่ำรวยมีความสุขอยู่บนกองขยะพิษ

ความร่ำรวยที่มาจากการสร้าง ‘ดินแดนสกปรก’ ขึ้นมา

ความร่ำรวยที่ทำลายอนาคตของคนรุ่นต่อๆ ไปไว้ล่วงหน้า

การจัดการ ‘กากๆ’ แบบ Dirtyland เป็นแบบนี้นี่เอง

หรือเราจะยอมรับการจัดการ ‘กากๆ’ แบบนี้ต่อไป


หมายเหตุ: ผู้เขียนขอบคุณข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ และงานเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการจัดการขยะเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save