fbpx
เงิน: จากตลาดเสรีสู่การผูกขาดของรัฐ ตอนที่ 1

เงิน: จากตลาดเสรีสู่การผูกขาดของรัฐ ตอนที่ 1

1.

“Money makes the world go around”

บทเพลงจากหนังเรื่อง Cabaret เมื่อปี 1972 บ่งบอกถึงความสำคัญอันยิ่งยวดของเงินในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม นัยว่าหากโลกนี้ปราศจากเงินมาหมุนเวียน บรรดาธุรกรรมทางเศรษฐกิจจะหยุดชะงักลงในทันที ประหนึ่งกงล้อที่สะดุดกึกเพราะขาดน้ำมันหล่อลื่น

ตำราเศรษฐศาสตร์อธิบายไว้ว่า ‘เงิน’ หรือ Money นั้นทำหน้าที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ คือเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน อำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อได้สินค้าที่พึงประสงค์ ขณะเดียวกันก็เอื้อให้ผู้ขายมีรายได้ไปซื้อสินค้าที่ต้องการ เพราะหากเราไม่ใช้เงินเป็นสื่อกลางสำหรับการซื้อขายแล้ว เราจำต้องใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้าโดยตรง หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่าระบบ Barter เช่นชาวนาต้องนำข้าวที่ตนผลิตได้ไปแลกเปลี่ยนกับเนื้อหมูจากฟาร์ม ซึ่งกระบวนดังกล่าวมีอุปสรรคสำคัญยิ่งที่ทำให้การค้าขายไม่คล่องตัวและขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากการแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคู่ค้าทั้งสองฝ่ายต่างมีความต้องการที่สอดคล้องกัน (เช่น ชาวนาต้องการเนื้อหมูและพ่อค้าเนื้อหมูก็มีความต้องการข้าวด้วย) หากความต้องการของทั้งสองฝ่ายไม่สอดคล้องกันแล้วไซร้ ย่อมไม่สามารถทำการตกลงแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันได้ (ลองนึกภาพนักฟิสิกส์ที่พยายามแลกเลกเชอร์ทฤษฎีสัมพันธภาพกับคนขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นดูสิครับ)

นับตั้งแต่โลกค้นพบการใช้เงินในสังคม เงินก็ได้ช่วยหล่อลื่นให้ระบบเศรษฐกิจมีการค้าและการผลิตที่เดินหน้าเติบโต อีกทั้งยังขยายตัวกว่าในยุคโบราณกาลที่ใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรงอย่างมากมาย

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของเงินจะพบว่ามีสิ่งของหลากหลายประเภทที่เคยทำหน้าที่เป็นเงิน ไม่ว่าจะเป็นเปลือกหอย หนังสัตว์ โลหะมีค่า หรือแม้แต่หินก้อนยักษ์ (รูปภาพประกอบที่ 1 คือเงินที่ทำจากหินขนาดใหญ่ ซึ่งใช้กันในเกาะแยป (Yap) ในมหาสมุทรแปซิฟิก) รูปแบบที่หลากหลายและแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาและตามพื้นที่ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจนตกผลึกกลายมาเป็นระบบการเงินที่ใช้เหรียญกษาปณ์และธนบัตรเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าอย่างที่เราเห็นกันจนคุ้นตาในทุกวันนี้

อย่างไรก็ดีวิวัฒนาการที่มีจุดเริ่มต้นเมื่อหลายศตวรรษก่อนยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดลงแต่อย่างใด ทุกวันนี้เรายังได้ยินคนพูดกันถึงรูปแบบใหม่ๆ ของการชำระเงิน รวมทั้งเงินอิเล็กทรอนิกส์ และเงินดิจิทัล พัฒนาการอันต่อเนื่องนี้ชวนให้คิดต่อไปว่า เงินตราในยุคสมัยข้างหน้าจะมีหน้าตาแตกต่างจากปัจจุบันและอดีตมากน้อยเพียงใด

รูปที่ 1: เงินของเกาะแยป (Yap Island) ที่เรียกกันว่า Stone money

2.

นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกบันทึกไว้ว่า เงินตราถือกำเนิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรกเมื่อกว่า 2,600 ปีก่อนในอาณาจักรลิเดีย (Lydia) ซึ่งมีอาณาบริเวณใกล้กับตำแหน่งของประเทศตุรกีในปัจจุบัน โดยชาวลิเดียนั้นใช้อีเลคตรัม (Electrum) ซึ่งเป็นโลหะผสมที่เกิดตามธรรมชาติ (มีส่วนผสมหลักคือทองคำและแร่เงิน) มาใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยมีรูปลักษณ์เป็นก้อนโลหะคล้ายเมล็ดถั่ว มีประทับตราบนผิวหน้าเพื่อยืนยันน้ำหนักและความบริสุทธิ์ของโลหะที่ใช้ทำเหรียญกษาปณ์

น้ำหนักและความบริสุทธิ์ของโลหะที่นำมาผลิตเหรียญมีความเชื่อมโยงแนบแน่นกับ ‘อำนาจซื้อ’ ของเหรียญกษาปณ์ (คำว่า ‘อำนาจซื้อ’ ของเงินหมายถึงจำนวนสินค้าและข้าวของที่เราจะซื้อได้จากเงินจำนวนหนึ่ง) กล่าวคือตัวเหรียญกษาปณ์มีราคาหรือมีมูลค่าในตัวมันเอง (intrinsic value) ตามมูลค่าของเนื้อแร่โลหะที่นำมาใช้ผลิตเหรียญ ดังนั้นมูลค่าที่ตราไว้บนหน้าเหรียญจึงต้องเท่าเทียมกับมูลค่าภายในตัวของเหรียญนั้นด้วย เพราะหากมูลค่าที่ตราบนเหรียญต่ำกว่ามูลค่าของแร่โลหะที่นำมาผลิตเหรียญนั้นแล้ว คนจะไม่ใช้เหรียญนั้นเป็น ‘เงิน’ อีกต่อไป แต่กลับจะนำเหรียญนั้นไปหลอมเพื่อเอาแร่โลหะแทน เพราะแร่โลหะที่หลอมได้จะมีมูลค่าและมีอำนาจซื้อสูงกว่าตัวเหรียญกษาปณ์นั้น ผลที่ตามมาในที่สุดคือ ‘ปริมาณเงิน’ ส่วนหนึ่งจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากมูลค่าที่ตราไว้สูงกว่ามูลค่าของแร่โลหะที่ใช้ผลิตเหรียญนั้น เหรียญดังกล่าวจะมีอำนาจซื้อสูงเกินกว่ามูลค่าในตัวมันเอง เกิดเป็นโอกาสให้คนได้ให้ใช้เงินนั้นซื้อของได้มากกว่ามูลค่าของแร่โลหะในตัวเหรียญนั้น เมื่อคนต่างพากันจับจ่ายซื้อของด้วยเหรียญที่มีค่าสูงเกินจริง พ่อค้าที่ไม่ยอมถูกเอาเปรียบก็จะพากันปรับขึ้นราคาสินค้า ผลที่ตามมาคือข้าวของจะมีราคาแพงขึ้นหรือเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นนั่นเอง

เห็นได้ว่าการรักษามูลค่าหรืออำนาจซื้อของเงินในยุคก่อนเป็นพันธกิจที่ไม่ต่างจากหน้าที่รับผิดชอบของธนาคารกลางในปัจจุบัน ที่ใช้เครื่องมือด้านนโยบายการเงินดูแลไม่ให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินกรอบที่กำหนด เพื่อรักษาอำนาจซื้อของเงินให้มีเสถียรภาพ

เมื่อคิดย้อนเปรียบเทียบปัจจุบันกับอดีตในลักษณะนี้จะเห็นได้ว่า พันธกิจในยุคโบราณนั้นหนักหนาไม่น้อย เพราะมูลค่าของเนื้อโลหะที่นำมาผลิตเหรียญเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทาน การเข้าแทรกแซงกลไกตลาดเสรีเพื่อฝืนแรงของอุปสงค์-อุปทานในตลาดนั้นย่อมสร้างผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ในทางเศรษฐศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3.

ธนบัตรหรือ Banknote ที่เราคุ้นเคยกันมีวิวัฒนาการจากจุดเริ่มต้นเมื่อศตวรรษที่ 7 ณ ประเทศจีน ซึ่งเป็นยุคสมัยของราชวงศ์ถัง อาจกล่าวได้ว่าต้นกำเนิดนี้เป็นส่วนผสมระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านและเหตุการณ์ในทางประวัติศาสตร์ที่ทางการขณะนั้นไม่ได้คาดคะเนมาก่อนว่าจะนำมาซึ่งระบบการชำระเงินที่ส่งผลต่อเนื่องยาวนาน

กล่าวคือทางการของจีนขณะนั้นทำการว่าจ้างพ่อค้าเกลือในท้องที่ที่อยู่ไกลจากเมืองหลวง ดำเนินการขนส่งเกลือในท้องถิ่นให้กับบรรดากองทหารที่ปักหลักอยู่ตามแนวชายแดน แต่เนื่องจากการนำเหรียญกษาปณ์จำนวนมากจากเมืองหลวงไปจ่ายเป็นค่าจ้างพ่อค้าในท้องถิ่นที่ห่างไกลสร้างภาระและต้นทุนในการขนย้ายเป็นอย่างมาก ดังนั้นทางการจึงใช้ตั๋วแลกเงินจ่ายให้แทน โดยตั๋วฯ นี้เป็นหลักฐานสำหรับนำไปแลกเป็นเหรียญกษาปณ์ตามมูลค่าที่ระบุไว้หน้าตั๋วที่เมืองหลวง วิธีการเช่นนี้ช่วยลดต้นทุนให้กับทางการเพราะตั๋วแลกเงินมีน้ำหนักเบาและขนย้ายได้สะดวก อย่างไรก็ดีเนื่องจากตั๋วแลกเงินเป็นเพียงแผ่นกระดาษ จึงมักถูกลมพัดปลิวไปได้ง่ายในระหว่างการเดินทาง คนจึงมักเรียกตั๋วแลกเงินกันว่า ‘เงินบิน’ (flying cash)

ในทางปฏิบัติ พ่อค้าที่ครอบครองตั๋วแลกเงินของทางการมักไม่ได้เดินทางไปขึ้นเงินกับทางการที่เมืองหลวง แต่กลับใช้ตั๋วแลกเงินในการชำระค่าสินค้าที่ซื้อขายกันในหมู่พ่อค้าระดับท้องถิ่นแทนเหรียญกษาปณ์ เมื่อคนกลุ่มนี้พบว่าการใช้ตั๋วแลกเงินในลักษณะดังกล่าวมีความสะดวกกับการชำระค่าสินค้ามากกว่าเหรียญกษาปณ์ ตั๋วแลกเงินจึงถูกใช้หมุนเวียนเปลี่ยนมือในลักษณะเดียวกันกับ ‘เงิน’ ที่เราคุ้นเคยกันในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ‘เงินบิน’ ไม่ได้มีถูกใช้แพร่หลายไปทั่วแต่อย่างใด หากแต่จำกัดวงเพียงพื้นที่ท้องถิ่นห่างไกลจากเมืองหลวงเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้มีสถานะเป็น ‘legal tender’ คือไม่ได้รับการรับรองจากทางการว่าให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ดังนั้นปรากฎการณ์การใช้เงินบินเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนจึงเป็นเพียงวิถีปฏิบัติที่ปรากฎในวงจำกัดเท่านั้น

ต่อมาในศตวรรษที่ 9 สมัยราชวงศ์ซ่ง เกิดเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การใช้ธนบัตรอย่างแพร่หลาย กล่าวคือภายหลังจากที่จักรพรรดิซ่งไท่จู่รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นและสถาปนาจักรวรรดิต้าซ่งขึ้น ระบบการเงินและการค้ายังไม่ได้ถูกจัดระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วจักรวรรดิ ในระยะแรก แคว้นต่างๆ ยังคงใช้ระบบเงินตราในแบบเดิมๆ ที่เคยใช้กันมา โดยเหรียญกษาปณ์ที่ใช้กันในแต่ละแคว้นนั้นผลิตจากแร่โลหะที่แตกต่างกันไป บ้างก็ใช้เหรียญที่ผลิตจากทองแดง บ้างก็ใช้เหรียญที่ผลิตจากแร่เหล็ก

แต่สำหรับแคว้นเสฉวนที่อยู่ติดชายแดนและมักเกิดความไม่สงบอยู่เนืองๆ นั้น จักรพรรดิซ่งไท่จูได้ออกกฎเป็นการเฉพาะโดยสั่งให้ยึดเอาเหรียญทองแดงที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ออกจากแคว้นเสฉวนให้หมด และกำหนดให้แคว้นนี้ใช้ได้แต่เพียงเหรียญที่ผลิตจากแร่เหล็กเท่านั้น แม้มาตรการนี้จะมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการรั่วไหลของเหรียญที่ทำจากโลหะออกยังประเทศรอบข้างเป็นสำคัญ แต่กลับสร้างความเดือดร้อนอย่างสาหัสให้กับชาวแคว้นเสฉวนอีกด้วย เพราะเหรียญเหล็กนั้นมีค่าเพียงแค่หนึ่งในสิบของเหรียญทองแดง ทำให้ผู้คนต้องพกพาเหรียญจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อจับจ่ายซื้อของ

ที่สำคัญคือเหรียญที่ผลิตจากเหล็กมีน้ำหนักมากเอาเรื่อง แม้ว่าจะใช้ซื้อของที่มีมูลค่าเพียงน้อยนิดก็ตาม แต่ก็อาจต้องใช้เหรียญเหล็กที่มีน้ำหนักรวมกันมากมายหลายกิโลกรัม ด้วยเหตุนี้จึงเกิดธุรกิจรับฝากเหรียญกษาปณ์ผุดขึ้นในแคว้นเสฉวน ใครที่ไม่ต้องการจะพกพาเหรียญติดตัว ก็สามารถนำเหรียญเหล่านั้นมาฝากไว้กับร้านรับฝากได้ ซึ่งผู้รับฝากจะออกใบรับเหรียญให้กับเจ้าของเงิน ตัวใบรับฝากนี้จึงเป็นทั้งเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของและเป็นตัวแสดงมูลค่าเหรียญที่สามารถไปรับคืนในเวลาเดียวกัน ใบรับฝากเงินนี้เรียกว่า ‘เจียวซี่’ (Jiaozi) โดยในระยะแรก เจียวซี่หนึ่งใบมีมูลค่าเท่ากับเหรียญเหล็กที่มีน้ำหนักรวมกันถึง 25 กิโลกรัม

ธุรกิจการรับฝากเหรียญนี้สร้างกำไรให้ผู้ประกอบการเป็นกอบเป็นกำจากการเก็บค่าบริการการทำธุรกรรมฝาก-ถอนเหรียญ จนดึงดูดให้มีร้านค้ารายใหม่เปิดตัวขึ้นทั่วแคว้น ต่อมาธุรกิจนี้ก็พัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถนำใบรับฝากเหรียญจากร้านหนึ่งไปขึ้นเงินกับอีกร้านหนึ่งได้ (แน่นอนที่ต้องมีการจ่ายค่าบริการที่เพิ่มขึ้น)

เมื่อผู้คนใช้บริการรับฝากเหรียญกันอย่างแพร่หลาย บทบาทใหม่ของใบรับฝากเหรียญจึงได้อุบัติขึ้น กล่าวคือเมื่อใบรับฝากเหรียญเป็นหลักประกันว่าผู้ถือครองสามารถนำไปเคลมเหรียญกษาปณ์จากร้านรับฝากได้ ใบรับฝากนั้นจึงมีอำนาจซื้อเท่าเทียมกับเหรียญกษาปณ์ที่ฝากไว้กับร้านรับฝาก ผู้ที่มีใบรับฝากเหรียญจึงสามารถใช้มันซื้อสินค้าจากร้านค้าได้ตามมูลค่าของใบรับฝากนั้น และบรรดาร้านค้าก็สามารถใช้ใบรับฝากนั้นไปใช้ซื้อของต่อได้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ใบรับฝากเหรียญจึงหมุนเวียนในระบบการค้าขายของแคว้นเสฉวน สนับสนุนให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจในแคว้นดำเนินอย่างราบรื่นคล่องตัว เรียกได้ว่าใบรับฝากเหรียญนั้นได้กลายมาเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนไปโดยปริยาย นักประวัติศาสตร์จึงยกให้เจียวซี่เป็นเงินกระดาษชนิดแรกของโลก

รูปที่ 2: Reproduction ของเงินในซ่ง ที่คาดว่าคือ Jiaozi
ที่มา: John E. Sandrock

ในช่วง 5 ปีแรก เจียวซี่ระบุเพียงชื่อร้านที่ออกใบรับฝากเงิน หมายเลขของใบรับฝาก และตราประทับที่ป้องกันการปลอมแปลงเท่านั้น ไม่ได้มีการกำหนดตายตัวว่าใบรับฝากแต่ละใบจะต้องมีมูลค่าเท่าใด แต่หลังจากนั้นร้านรับฝากเงินรายใหญ่ 16 รายในแคว้นเสฉวนรวมตัวกันก่อตั้ง ‘ธนาคารเงินกระดาษ’ (paper note bank) ขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานของธนบัตรเจียวซี่ โดยมีการกำหนดมูลค่าที่ตายตัวตราบนเจียวซี่ รูปแบบของธนบัตรในยุคนี้จึงละม้ายกับธนบัตรที่ใช้กันในระยะต่อมา และทำให้มีการใช้เป็นเงินกันอย่างแพร่หลายจนเป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลท้องถิ่นว่าชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดีธุรกิจธนาคารเอกชนในยุคบุกเบิกนั้นก็ไปไม่ได้ไกลสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุที่ใบรับฝากเหรียญได้กลายสภาพเป็น ‘เงิน’ ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และยังหมุนเวียนต่อไปเรื่อยๆ จนไม่ได้ถูกนำมาไถ่ถอนเหรียญกษาปณ์จากร้านรับฝากเป็นเวลานาน รายได้จากค่าธรรมเนียมการถอนเงินจึงลดลงอย่างมาก ธุรกิจรับฝากเงินจึงเริ่มคิดหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้ตนจากเหรียญกษาปณ์จำนวนมากที่นอนแช่อยู่เฉยๆ โดยช่องทางที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากที่สุดคือนำเหรียญกษาปณ์ที่รับฝากนั้นไปปล่อยกู้เพื่อกินดอกเบี้ย

ในที่สุดธุรกิจรับฝากเหรียญของเอกชนก็ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องรุนแรง เนื่องจากมีผู้มาไถ่ถอนเหรียญคืน แล้วร้านรับฝากไม่มีเหรียญเพียงพอจะส่งคืน ด้วยเหตุที่เหรียญส่วนใหญ่ถูกนำไปปล่อยกู้หากำไร เมื่อปัญหาสภาพคล่องของธนาคารพอกพูนจนวิกฤติถึงขั้นล้มละลาย ทางการจีนจึงต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

ต่อมาธนาคารเงินกระดาษถูกแปรรูปเป็นวิสาหกิจของรัฐไปใน ค.ศ. 1023 การพิมพ์เงินจึงถูกโอนถ่ายมาอยู่ในมือของภาครัฐนับแต่นั้นเป็นต้นมา และใน ค.ศ. 1024 รัฐบาลจีนได้พิมพ์ธนบัตรรุ่นแรกของตัวเองออกมาหมุนเวียนให้ใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ

เส้นทางของเจียวซี่จึงจบลงที่ภาครัฐกลายมาเป็นผู้มีอำนาจผูกขาดในการพิมพ์ธนบัตรสำหรับใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

การผูกขาดโดยภาครัฐไม่ได้หมายความว่าภาครัฐจะดูแลสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่าการบริหารจัดการโดยภาคเอกชนหรือโดยตลาดแข่งขันเสรีเสมอไป เพราะเงินธนบัตรที่พิมพ์ได้เองนั้น สร้างอำนาจซื้อให้กับผู้ที่ผูกขาดแท่นพิมพ์ แรงเย้ายวนของผลกำไรจากการพิมพ์เงินมักชักนำให้รัฐบาลและธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาจนเฟ้อล้นระบบ และทำให้ราคาสินค้า ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น จนเกิดความเดือดร้อนถ้วนหน้า

เรื่องราวระหว่างตลาดเสรีและการผูกขาดโดยภาครัฐในการผลิตเงินยังมีให้ติดตามต่อในเดือนถัดไป

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save