fbpx

มองสินมั่นคงผ่านแว่น Risk Management ทำไมไม่ระวังตั้งแต่แรก?

ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านได้มีโอกาสติดตามข่าวกรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัยต้องการบอกเลิกความคุ้มครองประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบหรือ COVID 2 in 1 ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในช่วงปีที่ผ่านมา

อัปเดตสถานการณ์ถึงตอนนี้ (19 กรกฎาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลได้แจ้งให้บริษัทห้ามบอกเลิกประกันกับลูกค้าแล้ว และทางบริษัทสินมั่นคงก็ได้ออกประกาศทางเว็บไซต์ของบริษัทตอนสองทุ่ม วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ว่า ‘ยกเลิกจดหมายบอกเลิกกรมธรรม์’ ที่ส่งไปให้ที่บ้านลูกค้า

ดังนั้นถึงตอนนี้ ลูกค้าของบริษัทสินมั่นคงไม่โดนเทนะครับ ยังได้รับความคุ้มครองปกติ

อย่างไรก็ตาม ผมในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งและนักวิชาการด้านการจัดการความเสี่ยงและการประกันภัย อยากมาแชร์มุมมองและตั้งข้อสังเกตที่อาจจะเป็นคำถามไปยังบริษัทประกันภัย คปภ. ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิชาประกันภัยในอนาคต ดังนี้ครับ

ประเด็นแรก ตอนคำนวณเบี้ยประกันตัวนี้ บริษัทมีวิธีคิดอย่างไร? บริษัทมีการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์กรณีที่โควิด-19 จะระบาดหนักหรือไม่? ทางบริษัทเตรียมแผนจัดการความเสี่ยงภายในอย่างไร?

ประเด็นที่สอง ตั้งแต่ตอนออกขายกรมธรรม์ตัวนี้ ทำไมทาง คปภ. จึงอนุมัติแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ทั้งที่ความเสี่ยงที่จะถูกลูกค้าโกงสูง? หน่วยงานกำกับดูแลมีการพิจารณาความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด? ทำไมทางหน่วยงานกำกับดูแลหรือบริษัทเองปล่อยให้ขายต่อทั้งๆ ที่น่าจะเห็นผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 เป็นต้นมา?

ผมอยากขยายแต่ละประเด็นในรายละเอียดมากขึ้น ลองมาดูประเด็นแรกกันครับ

กรมธรรม์แบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ของสินมั่นคงนับว่าเป็นกรมธรรม์ที่ออกมาวางขายเป็นเจ้าแรกๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา ผมยังจำได้ว่า เคยนำแบบประกันนี้มาสอนในชั้นเรียนวิชาประกันภัย โดยให้นิสิตเปรียบเทียบกับประกันโควิดของบริษัทอื่นๆ ทั้งที่เป็น ‘เจอ จ่าย จบ’ และแบบที่จ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือผสมกันสองอย่าง

เมื่อถามนิสิตในห้องว่าชอบแบบไหนมากกว่า นิสิตผมส่วนใหญ่ชอบแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายแง่มุมทีเดียว

ถ้ามองในมุมการตลาดถือว่ากรมธรรม์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี (ดีมากด้วย!!) เพราะตอบโจทย์ลูกค้า ซื้อง่าย จ่ายเคลมเร็ว มีโอกาสจ่ายมากกว่า และทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า ‘คุ้ม’ กว่ากรมธรรม์แบบอื่นนั่นเอง

แต่ความคุ้มค่าของลูกค้า คือค่าใช้จ่ายที่บริษัทจะต้องเสีย

คำถามคือ แล้วทำไมบางบริษัทจึงเสนอทางเลือกแบบนี้

ผมมีสมมติฐานว่า การคิดแผนการตลาดและเบี้ยประกันภัยของบริษัท (ส่วนใหญ่) น่าจะคิดเบี้ยประกันโดยอาศัยข้อมูลการแพร่ระบาดของปีที่แล้ว ซึ่งมีการระบาดไม่มากนัก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ทำให้ข้อมูลยังน้อยอยู่ และการที่บริษัท ‘เชื่อว่า’ การระบาดไม่น่าจะหนัก ประกอบกับการบริหารจัดการของภาครัฐและระบบสาธารณสุขไทยยัง ‘เอาอยู่’

หากว่ากันตามหลักวิชา คงมีคนถามว่าการคิดเบี้ยของบริษัท ‘ถูกต้อง’ หรือไม่ ผมก็อยากตอบตามประสานักวิชาการว่า มันไม่มีถูกผิด 100% (ฮา)

เพราะถึงที่สุดแล้ว การคิดเบี้ยประกันขึ้นกับข้อสมมติทางสถิติและสภาวะธุรกิจ ซึ่งบริษัทประกันจำนวนหนึ่ง รวมถึงสินมั่นคง  ก็เลือกวางกลยุทธ์ทางธุรกิจออกผลิตภัณฑ์แบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ที่ลูกค้าชอบมากกว่า และเลือกตั้งราคาแบบที่เราเห็นกัน

อย่างไรก็ดี ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โลกรู้จักโรคระบาดชนิดนี้มากขึ้น และตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา เราก็เห็นตัวเลขจำนวนเคสที่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย หรือในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซีย เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ไม่ใช่จำนวนเท่านั้น แต่ยังมีเชื้อกลายพันธุ์ (Variant) ใหม่ๆ เริ่มเกิดขึ้นด้วย ในด้านการบริหารจัดการ ประเทศไทยก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะเอาอยู่เหมือนเมื่อปีก่อนแล้ว ทั้งในแง่ของความหละหลวมในพื้นที่สีเทา อีกทั้งนโยบายวัคซีนที่ไม่แน่นอน

พูดแบบนี้อาจถูกวิจารณ์ว่าเป็นการฉลาดหลังเหตุการณ์ แต่อย่าลืมว่าโดยพื้นฐานแล้ว ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ต้องประเมินความเสี่ยงนะครับ

ดังนั้น ผมจึงอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมบริษัทจึงยังรับความเสี่ยงมากเกินกว่าที่บริษัทรับได้? บริษัทมีการเตือนกันภายในหรือไม่ว่าความเสียหายครั้งใหญ่กำลังจะมา? บริษัทมีการวางแผนการทำประกันภัยต่อไว้หรือไม่ (บริษัทสินมั่นคงอาจทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยอื่นเพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงกรณีเกิดการระบาดสูง จะได้เอาเงินมาช่วยกันจ่ายสินไหมให้กับลูกค้าครับ) หรือสถานะของเงินทุนสำรองภายในบริษัทเป็นอย่างไร?

ผมอยากเขียนหมายเหตุตรงนี้ให้ชัดว่า ในภาพรวม ผมคิดว่าธุรกิจประกันภัยยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง หากดูจากตัวเลขทั้งอุตสาหกรรม พบว่าสัดส่วนเบี้ยของประกันภัยโควิด-19 มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับประกันภัยแบบอื่นๆ (ส่วนใหญ่จะเป็นประกันรถยนต์ที่มีสัดส่วนการขายสูงมากเมื่อเทียบกับประกันวินาศภัยแบบอื่นๆ ในตลาดครับ) ประกอบกับสถานะทางการเงินของบริษัทยังคงดีอยู่ (ค่า CAR Ratio หรือสัดส่วนเงินทุนสำรองของบริษัทยังสูงมาก เกินกว่า 400% ซึ่งถือว่าสูงและอยู่ในระดับที่ปลอดภัย)

นั่นหมายความ หากบริษัทต้อง ‘เฉือนเนื้อ’ มาจ่ายพวกเรา ผมเชื่อว่าบริษัทยังสามารถอยู่ได้ ต้องติดตามข่าวกันต่อครับ

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักวิชาการ ผมอยากเสนอให้บริษัทมีการทำ stress testing วิเคราะห์สถานการณ์กรณีที่ระบาดหนักมากๆ เพื่อดูมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจริงประกอบด้วย ไม่ควรจะดูแค่สัดส่วนเบี้ยที่เก็บมาอย่างเดียวแล้วคิดว่าจะปลอดภัย เพราะเบี้ยที่คิดในตอนนั้นสมมติค่าความเสี่ยงที่น้อยกว่าความเสี่ยงที่เจอจริงในตอนนี้ ดังนั้นตอนจ่ายจริงมันน่าจะท่วมเบี้ยที่เก็บมา คำถามคือบริษัทต้องเฉือนเนื้อไปเยอะเท่าไหร่ หากลองตั้งสถานการณ์การระบาดแบบอินเดีย หรือสถานการณ์การระบาดแบบสหรัฐอเมริกาในบ้านเราก็น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

ประเด็นต่อมาที่อยากชวนคุยคือบทบาทในการกำกับดูแลของ คปภ.

ในภาพรวม นับเป็นความตั้งใจดีของวงการประกันภัยที่ออกประกันโควิด-19 ในปีที่แล้ว เพราะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชนคนไทยที่อาจไม่มีประกันสังคม หรือประกันสุขภาพ หรือสำหรับคนที่เข้าถึงประกันสุขภาพอยู่แล้วอยากซื้อเพิ่มเพื่อลดความเสี่ยงก็ไม่ว่ากัน (เพราะผมเองก็ซื้อเพิ่มครับ)

ทาง คปภ. คงมองว่า ให้บริษัทประกันแข่งกันออกผลิตภัณฑ์ ออกมายิ่งหลากหลายยิ่งดี กลไกตลาดจะช่วยให้เกิดแบบประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยได้

อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้วว่า แม้ประกันแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ จะเป็นแบบประกันที่ลูกค้าชอบมากกว่าแบบที่จ่ายเฉพาะค่ารักษาพยาบาล แต่ก็มีความเสี่ยงมากกว่าแบบที่จ่ายค่าแค่รักษาพยาบาลมากๆ แบบประกันประเภทนี้มีโอกาส fraud สูง และโอกาสจ่ายสูงมากกว่า (โดยเฉพาะกรณีมีการใช้ Rapid Test ที่จะยิ่งแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต)

คปภ. อาจมองว่าบริษัทควรมีกระบวนการจัดการความเสี่ยงและมีธรรมาภิบาลที่ดี บริษัทควรเบรกตัวเองให้ได้ในกรณีที่ทราบว่ารับความเสี่ยงมามากจนเกินกว่าจะรับไหวตั้งแต่เนิ่นๆ (พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า คปภ. ไม่ทำอะไรนะครับ เพราะแนวทางนี้เป็นหลักปฏิบัติแบบหนึ่งของการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอยู่แล้ว)

กระนั้น ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ผมเชื่อว่า คปภ. ติดตาม คอยประเมินสถานการณ์ และตรวจสอบบริษัทประกันอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว ดังนั้น ทาง คปภ. ควรมีการส่งหนังสือเตือนบริษัทให้พิจารณาเพิ่มเบี้ยหรือชะลอการขายตั้งแต่เนิ่นๆ

พูดอีกแบบคือ เราจำเป็นต้องมีแรงเบรกจากภายนอกบริษัทด้วยเผื่อไว้ในกรณีที่บริษัทไม่เบรกตัวเอง และเป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าควรทำในการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของอุตสาหกรรม

กรณีประกันโควิด-19 นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและเป็นเครื่องเตือนใจชั้นดีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้าที่ซื้อประกัน บริษัทประกัน และสำหรับ คปภ. แม้เรื่องราวจะคลี่คลายไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ทุกคนต่างก็ได้รับความเสียหาย ทั้งผู้บริโภค (ที่ต้องตื่นตระหนกตกใจ) บริษัทประกัน (เสียชื่อเสียง) คปภ. และวงการประกันภัย (สูญเสียความไว้วางใจ)


ปล.อันที่จริง มีหลายท่านแชทมาหาผมหลังไมค์ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดในฐานะคนที่สอนประกันภัยมองอย่างไร เพราะถ้าพูดกันตามตรง กฎหมายอนุญาตให้บริษัทประกันภัยยกเลิกสัญญาได้ เพราะเขาก็คุ้มครองจนถึงวันที่ยกเลิกอยู่แล้ว ไม่ได้เอาเงินลูกค้าไปฟรีๆ

โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับการที่ คปภ. บอกบริษัทห้ามยกเลิกประกันกับลูกค้า เพราะการปฏิบัติตามสัญญาให้ครบถ้วนคือมาตรการที่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคในขณะนี้ การบอกเลิกลูกค้าเพราะ (อาจ) กลัวขาดทุนย่อมไม่ยุติธรรมสำหรับผู้บริโภค

แก่นหลักของการดำเนินธุรกิจประกันภัยคือการบริหารจัดการความเสี่ยง การที่ลูกค้าซื้อประกันย่อมหมายความว่าลูกค้าเชื่อมั่นและยอมให้บริษัทประกันรับความเสี่ยงนี้ไปจัดการแทนเขา ข้อยกเว้นที่บริษัทประกันอ้างควรใช้กับกรณีที่บริษัทมีเหตุให้เชื่อว่าลูกค้าไม่บริสุทธิ์ใจ แถลงเท็จ หรือโกงแบบเห็นๆ

การทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประกันภัยหรือธุรกิจไหนก็ตาม การขาดทุนหรือกำไรย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ในกรณีนี้การขาดทุนเป็นการขาดทุนจากที่บริษัทประกันกำลังทำอยู่ด้วยซ้ำ  และถ้าขาดทุนแล้วถึงขั้นต้องเฉือนเนื้อตัวเอง ก็ต้องมี ‘เนื้อ’ ให้เฉือนมากพอ (ซึ่งบริษัทก็ดูเหมือนจะมีเงินทุนสำรองมากพอตามที่ได้กล่าวไปครับ)

ลองนึกง่ายๆ ก็ได้ครับ ถ้ามีการทำประกันตอนน้ำท่วม แล้วบริษัทประกันมาบอกเลิกสัญญาตอนเขื่อนแตกแล้ว ใครคิดบ้างที่คิดว่า ‘แฟร์’ 

ตอนที่เรื่องยังไม่คลี่คลาย ผมยังพูดเล่นๆ กับเพื่อนอยู่เลยว่า หากเคสนี้เกิดขึ้นจริง ผมอาจต้องเปลี่ยนตำราการสอนประกันภัยที่จุฬาฯ ใหม่หมดเลยก็เป็นได้

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save