fbpx
ปักธงกลางคลื่นแรง : กุญแจสู่ประมงยั่งยืน

ปักธงกลางคลื่นแรง : กุญแจสู่ประมงยั่งยืน

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ปภัสรา เทียนพัด ภาพ

ในปี 2560 ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลสู่ตลาดโลกกว่า 1.1 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออก 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็น 2.5 เปอร์เซนต์ของการส่งออกของไทย นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมสูงถึง 600,000 คน ตัวเลขข้างต้น ไม่เพียงแต่บ่งชี้ถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมประมงต่อเศรษฐกิจไทย หากแต่ยังหมายรวมถึงมิติอื่นๆ ของสังคม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประมงไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ในด้านหนึ่ง นานาชาติกำลังจับตามองอุตสาหกรรมประมงไทยอย่างใกล้ชิดและแสดงความกังวลอย่างชัดเจนถึง การขาดการควบคุมและรายงานผลเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU – Illegal Unreported and Unregulated Fishing) โดยเฉพาะประเด็นการใช้แรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานบนเรือประมง ใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในปี 2558 คือ รูปธรรมสำคัญของคำเตือนจากนานาชาติในเรื่องนี้

ในอีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมประมงไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทรัพยากรอาหารทะเลหดหายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะการประมงที่ไม่ยั่งยืน ตั้งแต่ปัญหาในระดับปฏิบัติอย่างการจับปลาที่ไม่คำนึงถึงมูลค่าความเสียหายของลูกปลาวัยอ่อนที่สามารถเติบโตไปเป็นปลาเศรษฐกิจในอนาคต ไปจนถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างและวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการประมง ไม่ว่าจะเป็นการนิยามประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้านที่ยังคงถกเถียงกันอย่างไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ประมงพื้นบ้านที่มีสัดส่วนไม่น้อยอาจถูกละเลยจากภาครัฐ หรือปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของภาครัฐ เป็นต้น

เพื่อทบทวนสถานการณ์ประมงไทย 17 พฤษภาคม 2561 ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน เปิดผลสำรวจ “ชีวิตติดร่างแห: รายงานสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย” และยังร่วมชวนสาธารณะมองถึงปัญหามิติต่างๆเพื่อสื่อสารไปยังภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย

ผู้ร่วมสนทนาบนเวที ได้แก่ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ประจวบคีรีขันธ์, สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN), สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) และบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

วงเสวนานี้พยายามหาคำตอบร่วมกันว่า  วิกฤตดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร และวิธีการแก้ปัญหาทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคมมาถูกทางหรือไม่ การปลดล็อกใบเหลืองจาก EU เกี่ยวอะไรกับความยั่งยืนทางทรัพยากรทางทะเลไทย และถึงที่สุดแล้วเราจะออกไปจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร

ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน เปิดผลสำรวจ “ชีวิตติดร่างแห: รายงานสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย” 

ฟื้นฟูทะเลไทย

ผลวิจัย “ความสูญเสียของท้องทะเลไทยจากการทำประมงไม่ยั่งยืน” ที่มีวิโชคศักดิ์ และเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านร่วมกันเก็บข้อมูลนั้น ชี้ให้เห็นว่าการทำประมงด้วยอวนลากและอวนล้อมปั่นไฟกลางคืน สร้างความเสียหายต่อทะเลไทยอย่างมาก เพราะอ้วนทั้ง 2 ประเภท เป็นเครื่องมือหลักในการจับลูกปลาเศรษฐกิจไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์ แทนที่จะปล่อยให้โตเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงกว่า 145 ล้านบาท

วิโชคศักดิ์ กล่าวว่า จากการคาดคะเนเบื้องต้นพบว่าการใช้ควรลากแผ่นตะเฆ่ทำให้สูญเสียลูกปลาเศรษฐกิจมากกว่า 74 ชนิด เช่น ปลาทู ปลากะพง ปลาสำลี ปลาอินทรีย์ ปลาจาระเม็ด และปลาเก๋า เป็นต้น

การเก็บตัวอย่างข้อมูลในพื้นที่สงขลา ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม 2560 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่จับปลาได้น้อยที่สุด วิโชคศักดิ์อธิบายว่า เป็นการเน้นไปที่ประมงอวนลาก จากตัวอย่างปลาที่ติดอวนนำมาตรวจพิสูจน์ถึง 409.47 กิโลกรัม เป็นปลาเป็ดที่นำไปทำผลิตเป็นอาหารสัตว์ 69 เปอร์เซ็นต์ มีปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก 31 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนนี้มีสัดส่วนของลูกปลาวัยอ่อนถึง 35 เปอร์เซ็นต์

“เปอร์เซ็นต์ของลูกปลาวัยอ่อนนี้ ถ้าเทียบเท่ากับการจับปลา 1 ตัน เท่ากับว่าเราจะฆ่าทารกไปถึง 109 กิโลกรัม” วิโชคศักดิ์เปรียบเทียบ และตั้งคำถามถึงมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากหายนะของอวนลากที่ถูกซ่อนไว้อยู่ใต้คลื่นทะเลอีกว่า ถ้าประเมินการจับปลาได้ปีหนึ่งหลายแสนตันจะมีทารกปลาถูกฆ่าไปเป็นมูลค่ากี่พันล้านบาท หากเมื่อมันโตเต็มที่เป็นปลาเศรษฐกิจ

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ เสนอว่า ความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยจะต้องทำ EHIA เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จากการทำประมงจับปลาวัยอ่อน ถ้ายังไม่ได้แก้ปัญหา เราเป็นห่วงว่าทรัพยากรทางทะเล ไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งได้รับความเสียหายมากขึ้น

ประมงพื้นบ้านคือกุญแจ

เมื่อเชื่อมโยงไปที่การแก้ปัญหาจากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ภาคประมงพื้นบ้านกำลังรู้สึกว่าเป็นเพียงชายขอบของอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั้งหมด ซึ่งทางด้านสะมะแอ แสดงความกังวลว่า ที่ผ่านมาภาครัฐให้นิยามผิด ทำให้การบริหารจัดการผิดไปหมด

สะมะแอ อธิบายถึงสาระวิถีชีวิตของประมงพื้นบ้านว่า ประมงพื้นบ้านอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และอาศัยฤดูกาล เช่น การตกหมึกในฤดูกาลนี้ต้องออกไปไกลถึง 20 ไมล์ทะเล หรือการจะจับปลาอินทรีย์ได้ ไม่มีทางจะจับได้ภายในเขต 3 ไมล์ทะเล แต่ต้องออกไปถึง 15-20 ไมล์ทะเล

ความเข้าใจเรื่องประมงของสังคมไทย คือ มีประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ซึ่งความเป็นจริงประมงพื้นบ้านมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเรือที่มีเครื่องยนต์ 2.กลุ่มเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ 3. กลุ่มที่ไม่มีเรือ แต่มีเครื่องมือจับปลา และ 4.กลุ่มที่ไม่มีเครื่องมือ แต่เป็นลูกเรือ

“ราชการไทยไม่นับคน 4 กลุ่มนี้เป็นประมงพื้นบ้าน ราชการไทยให้นิยามประมงพื้นบ้านแค่เป็นเรือที่มีขนาดต่ำกว่า10 ตันกรอส เมื่อนิยามผิดทำให้ไปกำหนดว่า พี่น้องประมงพื้นบ้านจับปลาได้ภายใน 3 ไมล์ทะเล ตามมาตรา 34 ทั้งที่ประมงพื้นบ้านมีสัดส่วนถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของภาคประมง อีก 15 เปอร์เซ็นต์เป็นประมงพาณิชย์ที่สามารถออกจับสัตว์น้ำได้ถึง 197 ไมล์ทะเล” สะมะแอ กล่าวและย้ำว่านี่เป็นภาพของของความเหลื่อมล้ำและจำกัดสิทธิในการทำกินของประมงบ้าน

สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

ส่วนปิยะ กล่าวเสริมประเด็นประมงพื้นบ้านว่า ปัจจุบันแม้จะมี พ.ร.ก.การประมง 2558 ซึ่งเครือข่ายประมงพื้นบ้านเห็นชอบด้วยว่าออกมาเพื่อคุ้มครองประมงพื้นบ้าน แต่ปัญหาคือยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรา 57 ที่ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนําสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดขึ้นเรือประมง

แต่ปัจจุบันการทำประมงยังไม่มีการกำหนดพันธุ์และขนาดสัตว์น้ำ กลายเป็นว่าเรือประมงทุกวันนี้ยังจับสัตว์น้ำได้ทุกขนาด ไม่ว่าจะมีขนาดเท่าไส้ในปากกา หรือขนาดใหญ่เป็นตัน นี่เป็นที่มาของการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรุนแรง

นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้การจับสัตว์น้ำ แม้ไทยจะมีคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ แต่ยังไม่ให้ความสำคัญกับระบบ MSY (Maximum Sustainable Yield) คือ การจับสัตว์น้ำมาใช้ประโยชน์ โดยคำนึงถึงสัตว์น้ำที่ต้องวางไข่และเจริญเติบโต เพื่อความสมดุลของวงจรชีวิตสัตว์น้ำ ภาครัฐยังไม่ได้สนใจเชิงสถิติว่าถ้าปล่อยให้สัตว์น้ำวัยอ่อนโตขึ้น จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจขนาดไหน

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ประจวบคีรีขันธ์
ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ประจวบคีรีขันธ์

ขณะที่บรรจง กล่าวเสริมในประเด็นระบบ MSY ว่า ภาครัฐคำนึงแต่การแก้ปัญหาเรื่อง IUU แต่จุดอ่อนคือ การเก็บข้อมูล MSY ที่ผ่านมาไปเก็บข้อมูลที่แพปลาหรือท่าเรือขนาดใหญ่ แต่ใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล กลับละเลยการใช้ MSY ในการสำรวจตามชายฝั่งหมู่บ้านซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้ขาดข้อมูลที่สามารถยืนยันได้

บรรจงกล่าวต่อว่า ความพยายามในการจะแก้ปัญหาด้วยอำนาจรัฐอย่างเดียว โดยไม่ฟังเสียงชาวบ้าน ทำให้ทุกวันนี้รัฐมองข้ามจุดอ่อนของตัวเอง ข้อดีของมาตรา 57 พ.ร.ก.การประมง 2558 มีอยู่ แต่ไม่บังคับใช้อย่างลงรายละเอียด

“ทุกวันนี้ลูกปลาทูที่ขึ้นฝั่งมาเป็นคันรถสิบล้อนั้นมาทางเครื่องบินหรือไง ก็มาทางเรือทั้งนั้น แต่กฎหมายซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีใช้แล้ว กลับไม่ใช้ตรวจสอบให้เต็มที่ ผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่ยอมออกมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าว แบบนี้เข้าข่ายมาตรา 157 กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”

บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

บรรจงทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ไทยกลัวอียูมาก ซึ่งเขาสนใจเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เพราะมันทำให้ตลาดของเขาดูดี อย่างกรณีอินโดนีเซียก็จริงจังมาก ทำไมเขาถึงรอดใบเหลืองจากอียู พอเขาได้สัญญาณ เขายกเลิกการใช้เครื่องมือที่ทำลายล้างทันที ซึ่งเครื่องมือที่ฉกาจฉกรรจ์ในการทำลาย ได้แก่ อวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟ ตอนนี้ไทยยุติการใช้เฉพาะอวนรุนอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนว่าไม่ได้สนใจเรื่องความยั่งยืน

ปลดล็อคการละเมิดสิทธิแรงงาน

นอกจากความยั่งยืนทางทรัพยากรที่ภาคีเครือข่ายฯ วิพากษ์การแก้ปัญหาของภาครัฐแล้ว ในส่วนการแก้ปัญหาด้านแรงงานที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญนั้น (อ่าน “ชีวิตติดร่างแห: รายงานสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย”)

ด้านสุธาสินีมองว่า อยากให้สังคมไทยตระหนักในเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เพราะสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ขึ้นกับศาสนาและเชื้อชาติ คำถามคือจะทำอย่างไรให้แรงงานได้รวมตัวกันและมีอำนาจการต่อรองกับนายจ้าง การรวมตัวของแรงงานไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

แม้ธุรกิจเอกชนพยายามจะมีสวัสดิการซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้เป็นจริงไปทั้งหมด เป็นเพียงการเอาหน้าไปว่าบริษัทเอกชนนั้นมีกรรมการสวัสดิการแล้ว ซึ่งไม่สามารถเทียบเท่าสหภาพแรงงานได้ เพราะไม่มีการมีส่วนร่วม บางที่บริษัทเอาฝ่ายบุคคลมานั่งเป็นกรรมการ แทนที่จะให้แรงงานได้เป็นกรรมการเอง ทั้งที่แรงงานต่างด้าวก็เป็นมนุษย์เหมือนคนไทย และงานดังกล่าวก็ไม่มีคนไทยอยากทำด้วยซ้ำ

“วันนี้เราเห็นสมาคมนายจ้างเต็มไปหมด ทั้งบนบกและในน้ำ แต่ไม่มีการผลักดันให้แรงงานข้ามชาติได้ทำงานอย่างมีสิทธิตามกฎหมายไทย ทำให้พวกเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกกดขี่จากกฎหมายไทย หากในอนาคตมีการแก้ปัญหาด้านสิทธิแรงงาน ก็จะช่วยสามารถลดความขัดแย้งลงได้”

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN)
สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN)

ส่วนสมพงษ์ ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะเชิงโยบายจากภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ทั้งในด้านแรงงานและด้านสิ่งแวดล้อม เช่น รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม พ.ศ. 2492 (ฉบับที่ 98) และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ. 2491 (ฉบับที่ 87) ไปพร้อมกัน

ขณะที่การเรียกร้องต่อภาคธุรกิจนั้น สมพงษ์เสนอว่า ผู้ซื้ออาหารทะเลควรจะสนับสนุนคู่ค้า (suppliers)ให้ร่วมมือกับประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้กำกับดูแลกฎระเบียบ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงมาตรการต่างๆ ในการเสริมสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยบนเรือประมงให้ทันสมัย รวมทั้งสนับสนุนให้คนงานเข้าถึงกลไกการร้องเรียน ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และการมีตัวแทนทางกฎหมาย และดูแลให้กลไกเหล่านั้นมีประสิทธิภาพและสามารถสนองตอบต่อสถานการณ์เร่งด่วน

สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)
สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)

ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ย้ำว่า นอกจากการจัดการด้วย MSY แล้ว ขอให้รัฐบาลเลิกการจำกัดสิทธิของประมงพื้นบ้านโดยอนุญาตให้ทำประมงนอก 3 ไมล์ทะเล และนิยามประมงพื้นบ้านที่อยู่บนฐานของสิทธิชุมชนที่ถูกรับรองจากกฎหมาย นอกจากนี้ประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดข้อมูลที่ครอบคลุม ครบถ้วน และถูกต้อง เพื่อการวางแผนบริหารจัดการการประมง ทั้งในด้านสถิติเรือประมง การจำแนกชาวประมงพื้นบ้าน และปริมาณประชากรสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย  สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลให้การจัดการการประมงของไทยยังขาดประสิทธิภาพ และไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน

เมื่อภาคประชาสังคมพยายามชี้เป้าถึงช่องว่างของปัญหา และนำเสนอทางออกของอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงพื้นบ้านแล้ว หลังจากนี้คอยดูว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะขยับตัวอย่างไร เพื่อให้ความเป็นธรรมในทุกมิติได้ปักธงกลางทะเล โดยไม่ถูกคลื่นแรงซัดจมหายไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save