ธิติ มีแต้ม เรื่อง
ปภัสรา เทียนพัด ภาพ
ในปี 2560 ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลสู่ตลาดโลกกว่า 1.1 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออก 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็น 2.5 เปอร์เซนต์ของการส่งออกของไทย นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมสูงถึง 600,000 คน ตัวเลขข้างต้น ไม่เพียงแต่บ่งชี้ถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมประมงต่อเศรษฐกิจไทย หากแต่ยังหมายรวมถึงมิติอื่นๆ ของสังคม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประมงไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ในด้านหนึ่ง นานาชาติกำลังจับตามองอุตสาหกรรมประมงไทยอย่างใกล้ชิดและแสดงความกังวลอย่างชัดเจนถึง การขาดการควบคุมและรายงานผลเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU – Illegal Unreported and Unregulated Fishing) โดยเฉพาะประเด็นการใช้แรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานบนเรือประมง ใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในปี 2558 คือ รูปธรรมสำคัญของคำเตือนจากนานาชาติในเรื่องนี้
ในอีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมประมงไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทรัพยากรอาหารทะเลหดหายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะการประมงที่ไม่ยั่งยืน ตั้งแต่ปัญหาในระดับปฏิบัติอย่างการจับปลาที่ไม่คำนึงถึงมูลค่าความเสียหายของลูกปลาวัยอ่อนที่สามารถเติบโตไปเป็นปลาเศรษฐกิจในอนาคต ไปจนถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างและวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการประมง ไม่ว่าจะเป็นการนิยามประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้านที่ยังคงถกเถียงกันอย่างไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ประมงพื้นบ้านที่มีสัดส่วนไม่น้อยอาจถูกละเลยจากภาครัฐ หรือปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของภาครัฐ เป็นต้น
เพื่อทบทวนสถานการณ์ประมงไทย 17 พฤษภาคม 2561 ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน เปิดผลสำรวจ “ชีวิตติดร่างแห: รายงานสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย” และยังร่วมชวนสาธารณะมองถึงปัญหามิติต่างๆเพื่อสื่อสารไปยังภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย
ผู้ร่วมสนทนาบนเวที ได้แก่ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ประจวบคีรีขันธ์, สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN), สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) และบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
วงเสวนานี้พยายามหาคำตอบร่วมกันว่า วิกฤตดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร และวิธีการแก้ปัญหาทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคมมาถูกทางหรือไม่ การปลดล็อกใบเหลืองจาก EU เกี่ยวอะไรกับความยั่งยืนทางทรัพยากรทางทะเลไทย และถึงที่สุดแล้วเราจะออกไปจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร
ฟื้นฟูทะเลไทย
ผลวิจัย “ความสูญเสียของท้องทะเลไทยจากการทำประมงไม่ยั่งยืน” ที่มีวิโชคศักดิ์ และเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านร่วมกันเก็บข้อมูลนั้น ชี้ให้เห็นว่าการทำประมงด้วยอวนลากและอวนล้อมปั่นไฟกลางคืน สร้างความเสียหายต่อทะเลไทยอย่างมาก เพราะอ้วนทั้ง 2 ประเภท เป็นเครื่องมือหลักในการจับลูกปลาเศรษฐกิจไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์ แทนที่จะปล่อยให้โตเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงกว่า 145 ล้านบาท
วิโชคศักดิ์ กล่าวว่า จากการคาดคะเนเบื้องต้นพบว่าการใช้ควรลากแผ่นตะเฆ่ทำให้สูญเสียลูกปลาเศรษฐกิจมากกว่า 74 ชนิด เช่น ปลาทู ปลากะพง ปลาสำลี ปลาอินทรีย์ ปลาจาระเม็ด และปลาเก๋า เป็นต้น
การเก็บตัวอย่างข้อมูลในพื้นที่สงขลา ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม 2560 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่จับปลาได้น้อยที่สุด วิโชคศักดิ์อธิบายว่า เป็นการเน้นไปที่ประมงอวนลาก จากตัวอย่างปลาที่ติดอวนนำมาตรวจพิสูจน์ถึง 409.47 กิโลกรัม เป็นปลาเป็ดที่นำไปทำผลิตเป็นอาหารสัตว์ 69 เปอร์เซ็นต์ มีปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก 31 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนนี้มีสัดส่วนของลูกปลาวัยอ่อนถึง 35 เปอร์เซ็นต์
“เปอร์เซ็นต์ของลูกปลาวัยอ่อนนี้ ถ้าเทียบเท่ากับการจับปลา 1 ตัน เท่ากับว่าเราจะฆ่าทารกไปถึง 109 กิโลกรัม” วิโชคศักดิ์เปรียบเทียบ และตั้งคำถามถึงมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากหายนะของอวนลากที่ถูกซ่อนไว้อยู่ใต้คลื่นทะเลอีกว่า ถ้าประเมินการจับปลาได้ปีหนึ่งหลายแสนตันจะมีทารกปลาถูกฆ่าไปเป็นมูลค่ากี่พันล้านบาท หากเมื่อมันโตเต็มที่เป็นปลาเศรษฐกิจ

ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ เสนอว่า ความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยจะต้องทำ EHIA เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จากการทำประมงจับปลาวัยอ่อน ถ้ายังไม่ได้แก้ปัญหา เราเป็นห่วงว่าทรัพยากรทางทะเล ไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งได้รับความเสียหายมากขึ้น
ประมงพื้นบ้านคือกุญแจ
เมื่อเชื่อมโยงไปที่การแก้ปัญหาจากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ภาคประมงพื้นบ้านกำลังรู้สึกว่าเป็นเพียงชายขอบของอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั้งหมด ซึ่งทางด้านสะมะแอ แสดงความกังวลว่า ที่ผ่านมาภาครัฐให้นิยามผิด ทำให้การบริหารจัดการผิดไปหมด
สะมะแอ อธิบายถึงสาระวิถีชีวิตของประมงพื้นบ้านว่า ประมงพื้นบ้านอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และอาศัยฤดูกาล เช่น การตกหมึกในฤดูกาลนี้ต้องออกไปไกลถึง 20 ไมล์ทะเล หรือการจะจับปลาอินทรีย์ได้ ไม่มีทางจะจับได้ภายในเขต 3 ไมล์ทะเล แต่ต้องออกไปถึง 15-20 ไมล์ทะเล
ความเข้าใจเรื่องประมงของสังคมไทย คือ มีประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ซึ่งความเป็นจริงประมงพื้นบ้านมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเรือที่มีเครื่องยนต์ 2.กลุ่มเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ 3. กลุ่มที่ไม่มีเรือ แต่มีเครื่องมือจับปลา และ 4.กลุ่มที่ไม่มีเครื่องมือ แต่เป็นลูกเรือ
“ราชการไทยไม่นับคน 4 กลุ่มนี้เป็นประมงพื้นบ้าน ราชการไทยให้นิยามประมงพื้นบ้านแค่เป็นเรือที่มีขนาดต่ำกว่า10 ตันกรอส เมื่อนิยามผิดทำให้ไปกำหนดว่า พี่น้องประมงพื้นบ้านจับปลาได้ภายใน 3 ไมล์ทะเล ตามมาตรา 34 ทั้งที่ประมงพื้นบ้านมีสัดส่วนถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของภาคประมง อีก 15 เปอร์เซ็นต์เป็นประมงพาณิชย์ที่สามารถออกจับสัตว์น้ำได้ถึง 197 ไมล์ทะเล” สะมะแอ กล่าวและย้ำว่านี่เป็นภาพของของความเหลื่อมล้ำและจำกัดสิทธิในการทำกินของประมงบ้าน

ส่วนปิยะ กล่าวเสริมประเด็นประมงพื้นบ้านว่า ปัจจุบันแม้จะมี พ.ร.ก.การประมง 2558 ซึ่งเครือข่ายประมงพื้นบ้านเห็นชอบด้วยว่าออกมาเพื่อคุ้มครองประมงพื้นบ้าน แต่ปัญหาคือยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรา 57 ที่ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนําสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดขึ้นเรือประมง
แต่ปัจจุบันการทำประมงยังไม่มีการกำหนดพันธุ์และขนาดสัตว์น้ำ กลายเป็นว่าเรือประมงทุกวันนี้ยังจับสัตว์น้ำได้ทุกขนาด ไม่ว่าจะมีขนาดเท่าไส้ในปากกา หรือขนาดใหญ่เป็นตัน นี่เป็นที่มาของการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรุนแรง
นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้การจับสัตว์น้ำ แม้ไทยจะมีคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ แต่ยังไม่ให้ความสำคัญกับระบบ MSY (Maximum Sustainable Yield) คือ การจับสัตว์น้ำมาใช้ประโยชน์ โดยคำนึงถึงสัตว์น้ำที่ต้องวางไข่และเจริญเติบโต เพื่อความสมดุลของวงจรชีวิตสัตว์น้ำ ภาครัฐยังไม่ได้สนใจเชิงสถิติว่าถ้าปล่อยให้สัตว์น้ำวัยอ่อนโตขึ้น จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจขนาดไหน

ขณะที่บรรจง กล่าวเสริมในประเด็นระบบ MSY ว่า ภาครัฐคำนึงแต่การแก้ปัญหาเรื่อง IUU แต่จุดอ่อนคือ การเก็บข้อมูล MSY ที่ผ่านมาไปเก็บข้อมูลที่แพปลาหรือท่าเรือขนาดใหญ่ แต่ใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล กลับละเลยการใช้ MSY ในการสำรวจตามชายฝั่งหมู่บ้านซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้ขาดข้อมูลที่สามารถยืนยันได้
บรรจงกล่าวต่อว่า ความพยายามในการจะแก้ปัญหาด้วยอำนาจรัฐอย่างเดียว โดยไม่ฟังเสียงชาวบ้าน ทำให้ทุกวันนี้รัฐมองข้ามจุดอ่อนของตัวเอง ข้อดีของมาตรา 57 พ.ร.ก.การประมง 2558 มีอยู่ แต่ไม่บังคับใช้อย่างลงรายละเอียด
“ทุกวันนี้ลูกปลาทูที่ขึ้นฝั่งมาเป็นคันรถสิบล้อนั้นมาทางเครื่องบินหรือไง ก็มาทางเรือทั้งนั้น แต่กฎหมายซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีใช้แล้ว กลับไม่ใช้ตรวจสอบให้เต็มที่ ผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่ยอมออกมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าว แบบนี้เข้าข่ายมาตรา 157 กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”

บรรจงทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ไทยกลัวอียูมาก ซึ่งเขาสนใจเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เพราะมันทำให้ตลาดของเขาดูดี อย่างกรณีอินโดนีเซียก็จริงจังมาก ทำไมเขาถึงรอดใบเหลืองจากอียู พอเขาได้สัญญาณ เขายกเลิกการใช้เครื่องมือที่ทำลายล้างทันที ซึ่งเครื่องมือที่ฉกาจฉกรรจ์ในการทำลาย ได้แก่ อวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟ ตอนนี้ไทยยุติการใช้เฉพาะอวนรุนอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนว่าไม่ได้สนใจเรื่องความยั่งยืน
ปลดล็อคการละเมิดสิทธิแรงงาน
นอกจากความยั่งยืนทางทรัพยากรที่ภาคีเครือข่ายฯ วิพากษ์การแก้ปัญหาของภาครัฐแล้ว ในส่วนการแก้ปัญหาด้านแรงงานที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญนั้น (อ่าน “ชีวิตติดร่างแห: รายงานสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย”)
ด้านสุธาสินีมองว่า อยากให้สังคมไทยตระหนักในเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เพราะสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ขึ้นกับศาสนาและเชื้อชาติ คำถามคือจะทำอย่างไรให้แรงงานได้รวมตัวกันและมีอำนาจการต่อรองกับนายจ้าง การรวมตัวของแรงงานไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
แม้ธุรกิจเอกชนพยายามจะมีสวัสดิการซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้เป็นจริงไปทั้งหมด เป็นเพียงการเอาหน้าไปว่าบริษัทเอกชนนั้นมีกรรมการสวัสดิการแล้ว ซึ่งไม่สามารถเทียบเท่าสหภาพแรงงานได้ เพราะไม่มีการมีส่วนร่วม บางที่บริษัทเอาฝ่ายบุคคลมานั่งเป็นกรรมการ แทนที่จะให้แรงงานได้เป็นกรรมการเอง ทั้งที่แรงงานต่างด้าวก็เป็นมนุษย์เหมือนคนไทย และงานดังกล่าวก็ไม่มีคนไทยอยากทำด้วยซ้ำ
“วันนี้เราเห็นสมาคมนายจ้างเต็มไปหมด ทั้งบนบกและในน้ำ แต่ไม่มีการผลักดันให้แรงงานข้ามชาติได้ทำงานอย่างมีสิทธิตามกฎหมายไทย ทำให้พวกเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกกดขี่จากกฎหมายไทย หากในอนาคตมีการแก้ปัญหาด้านสิทธิแรงงาน ก็จะช่วยสามารถลดความขัดแย้งลงได้”

ส่วนสมพงษ์ ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะเชิงโยบายจากภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ทั้งในด้านแรงงานและด้านสิ่งแวดล้อม เช่น รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม พ.ศ. 2492 (ฉบับที่ 98) และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ. 2491 (ฉบับที่ 87) ไปพร้อมกัน
ขณะที่การเรียกร้องต่อภาคธุรกิจนั้น สมพงษ์เสนอว่า ผู้ซื้ออาหารทะเลควรจะสนับสนุนคู่ค้า (suppliers)ให้ร่วมมือกับประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้กำกับดูแลกฎระเบียบ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงมาตรการต่างๆ ในการเสริมสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยบนเรือประมงให้ทันสมัย รวมทั้งสนับสนุนให้คนงานเข้าถึงกลไกการร้องเรียน ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และการมีตัวแทนทางกฎหมาย และดูแลให้กลไกเหล่านั้นมีประสิทธิภาพและสามารถสนองตอบต่อสถานการณ์เร่งด่วน

ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ย้ำว่า นอกจากการจัดการด้วย MSY แล้ว ขอให้รัฐบาลเลิกการจำกัดสิทธิของประมงพื้นบ้านโดยอนุญาตให้ทำประมงนอก 3 ไมล์ทะเล และนิยามประมงพื้นบ้านที่อยู่บนฐานของสิทธิชุมชนที่ถูกรับรองจากกฎหมาย นอกจากนี้ประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดข้อมูลที่ครอบคลุม ครบถ้วน และถูกต้อง เพื่อการวางแผนบริหารจัดการการประมง ทั้งในด้านสถิติเรือประมง การจำแนกชาวประมงพื้นบ้าน และปริมาณประชากรสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลให้การจัดการการประมงของไทยยังขาดประสิทธิภาพ และไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน
เมื่อภาคประชาสังคมพยายามชี้เป้าถึงช่องว่างของปัญหา และนำเสนอทางออกของอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงพื้นบ้านแล้ว หลังจากนี้คอยดูว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะขยับตัวอย่างไร เพื่อให้ความเป็นธรรมในทุกมิติได้ปักธงกลางทะเล โดยไม่ถูกคลื่นแรงซัดจมหายไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น