fbpx
เมื่อท้องทะเลไม่ได้มีแค่ปลา ตามหาสิทธิแรงงานประมงที่หายไป

เมื่อท้องทะเลไม่ได้มีแค่ปลา ตามหาสิทธิแรงงานประมงที่หายไป

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

สุเทพ กฤษณาวารินทร์ และองค์การอ็อกแฟม ภาพ

 

ในปี 2560 ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลสู่ตลาดโลกถึง 1.1 ล้านเมตริกตัน เป็นมูลค่า 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 2.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ในการจ้างงานที่มีมากกว่า 600,000 คน ราวครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาร์และกัมพูชา ซึ่งได้รับการจ้างงานครอบคลุมอุตสาหกรรมตั้งแต่บนเรือประมง ในท่าเรือ บนแพกุ้ง แพปลา และในฟาร์ม ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลที่โลกปัจจุบันพยายามให้ความสำคัญ อุตสาหกรรมอาหารทะเลก็เป็นอีกประเด็นที่โลกกำลังจับตามอง โดยเฉพาะประเด็นสิทธิแรงงานที่กำลังน่ากังวลและเผชิญความท้าทาย เนื่องจากเมื่อปี 2558 สหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเหลืองแก่ไทย เพราะการขาดการควบคุมและรายงานผลเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU – Illegal Unreported and Unregulated Fishing) ทั้งการใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย รวมไปถึงการใช้แรงงานที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล

แม้ภาครัฐจะดำเนินการปฏิรูปภาคการประมงอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ทั้งการออกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ผ่านการตั้งศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ที่ตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก หรือ port-in-port-out จำนวน 28 แห่งในจังหวัดชายทะเลทั่วประเทศทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมเรือประมงที่มีกำลังการบรรทุกมากกว่า 30 ตันกรอส ทำให้เรือดังกล่าวต้องแจ้งข้อมูล ได้แก่ รหัสใบอนุญาต ชนิดเครื่องมือจับปลา และข้อมูลลูกเรือแก่ศูนย์ควบคุมภายใน 24 ชั่วโมงก่อนการเข้าหรือออกจากท่าเรือ นอกจากนี้ยังมีการออก พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ ที่ระบุถึงบทลงโทษผู้กระทำประมงผิดกฎหมาย เช่น การเพิ่มค่าปรับการประมงผิดกฎหมายจาก 2 แสนบาท เป็น 30 ล้านบาท

แต่การสำรวจสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติจำนวน 300 คน ในภาคประมง 6 จังหวัดชายฝั่งของไทย จังหวัดละ 50 คน ได้แก่ ชลบุรี, ปัตตานี, ภูเก็ต, ระนอง, ระยอง และสงขลา ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 ถึงกุมภาพันธ์ 2561 จากภาคประชาสังคมที่ประกอบด้วยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN), ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล (Stella Maris), เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN), มูลนิธิเพื่อการศึกษาและการพัฒนา, มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, มูลนิธิรักษ์ไทย, สมาคมรักษ์ทะเลไทย, สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, มูลนิธิอันดามัน, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเรียกกันในนามภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (“ภาคีเครือข่ายฯ”) ก็พบความน่ากังวลไม่น้อย

 

จากการจัดหางาน ถึงการถูกยึดเอกสาร

 

 

เมื่อแรงงานประมงข้ามชาติผ่านระบบช่องทางการจัดหางานเข้ามาในไทยแล้ว ก่อนจะขึ้นเรือออกทะเลได้ นอกจากต้องมีหนังสือคนประจำเรือที่เป็นเอกสารการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทยกำหนดให้คนสัญชาติอื่นที่ทำงานบนเรือประมงต้องมีแล้ว แรงงานยังต้องมีหนังสือสัญญาจ้างไว้เพื่อตรวจสอบเมื่อเรือออกจากท่าหรือเข้าเทียบท่าด้วย

แต่จากการสำรวจที่เริ่มตั้งแต่จัดหางานพบว่า แรงงานถึงร้อยละ 42 ระบุว่าพวกเขาไม่ทราบเงื่อนไขการจ้างงานมาก่อน และกว่าครึ่งที่ไม่รู้ว่าการลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างคืออะไร ไปจนถึงไม่มีใครอธิบายเนื้อหาในสัญญาให้ฟังก่อนลงชื่อ หนำซ้ำแรงงานร้อยละ 45 ระบุว่าไม่มีโอกาสได้อ่านสัญญาจ้างด้วยซ้ำ และถึงแม้ว่ากฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างสองฉบับ และมอบให้แรงงานไว้หนึ่งฉบับ แต่ร้อยละ 95 ระบุว่าไม่ได้รับหนังสือสัญญาจ้าง

ส่วนการเก็บเอกสารต่างๆ ของแรงงาน เช่น หนังสือเดินทาง บัตรสีชมพู ผู้ประกอบการเรือประมงมักอ้างว่าแรงงานเป็นผู้ขอให้เก็บไว้เพื่อไม่ให้สูญหาย แต่การสำรวจพบว่าไม่จริงทั้งหมด แรงงานร้อยละ 83 ระบุว่าไม่ได้ร้องขอให้ใครเก็บเอกสารประจำตัวให้ และยังมีร้อยละ 22 ระบุว่าไม่สามารถเข้าถึงเอกสารประจำตัวจ้างนายจ้างได้

 

ชั่วโมงการทำงาน อาหาร น้ำดื่ม และความปลอดภัย

 

เมื่อเรือประมงลำหนึ่งออกทะเลไปแล้ว แรงงานต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน พวกเขาต้องทำตั้งแต่วางอวน ดึงอวน เมื่อได้ปลามาก็ต้องคัดปลา เก็บปลา จากนั้นต้องซ่อมอวน ไปจนกระทั่งทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ บนเรือ

จากการสำรวจเวลาทำงานพบว่า ระหว่างออกทะเล แรงงานต้องทำงานเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง แต่ยังมีแรงงานร้อยละ 19 ระบุว่าทำงานนานกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงทำงานในทะเลมีความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งสภาพทะเล ปริมาณปลา เป้าหมายการจับปลาที่กำหนดโดยผู้ประกอบการ แรงจูงใจของลูกเรือ และความเสียหายของอวน เป็นต้น

แต่ก่อนจะเริ่มงานได้ กฎหมายไทยกำหนดให้แรงงานต้องได้รับการฝึกสอนในการใช้เครื่องมือประมงและอุปกรณ์บนเรืออย่างปลอดภัย มากกว่านั้นยังมีข้อกำหนดให้ต้องจัดทำบันทึกการฝึกอบรมดังกล่าว พร้อมลงลายมือชื่อโดยแรงงานอีกด้วย แต่มีแรงงานเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่ได้รับการฝึกอบรมก่อนเริ่มงาน มีแรงงานร้อยละ 50 ที่ทำงานไปเรียนรู้ไป และมีแรงงานร้อยละ 28 ที่ไม่เคยรับการฝึกอบรมใดๆ เลย

เมื่อถึงเวลาพักผ่อน ตามข้อกำหนดของกระทรวงแรงงาน สามารถแบ่งได้ไม่เกินสองช่วง เนื่องจากเพื่อไม่ให้ลูกเรือประมงเหนื่อยล้าเกินไป ช่วงหนึ่งต้องไม่ต่ำกว่าหกชั่วโมง มีแรงงานถึงร้อยละ 64 ที่ระบุว่ามีเวลาพักต่อเนื่อง 6 ชั่วโมง ขณะที่ร้อยละ 33 ระบุว่าไม่เคยมีเวลาพักขั้นต่ำ 6 ชั่วโมง ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของเรือ โดยพบว่าแรงงานบนเรืออวนครอบมีเวลาพักมากกว่าเรือประเภทอื่นๆ

สำหรับอาหารและน้ำดื่มที่แรงงานได้รับ ยังคงเป็นที่น่ากังวลไม่น้อย แม้มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการเรือประมงที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ต้องจัดหาอาหารและน้ำดื่มที่มีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะ และมีปริมาณที่เพียงพอต่อระยะเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตบนเรือประมง แต่จากการสำรวจพบว่า แรงงานถึงร้อยละ 53 ระบุว่าได้กินข้าวเพียงสองมื้อต่อวันเท่านั้น

อีกทั้งการได้รับเสบียงอาหารอย่างเพียงพอก็ยิ่งน่ากังวลมากขึ้น มีแรงงานร้อยละ 16 ที่ได้รับเสบียงอาหารไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับผลสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) เมื่อปี 2556 ระบุที่ร้อยละ 12 เท่านั้น

ยิ่งเรื่องน้ำดื่มด้วยแล้วยิ่งน่าวิตกกว่าเดิม แม้แรงงานร้อยละ 63 ระบุว่าได้ดื่มน้ำขวดก็ตาม “แต่ยังมีแรงงานร้อยละ 4 ที่ต้องดื่มน้ำละลายจากน้ำแข็งที่ใช้เก็บรักษาปลาในห้องเย็น”

สำหรับประเด็นความเจ็บไข้ได้ป่วยระหว่างการทำงาน แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ประกอบการเรือประมงต้องจัดให้มียาและเวชภัณฑ์ที่จําเป็นสําหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับลูกเรือ แต่แรงงานร้อยละ 35 ระบุว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้บนเรือ หากต้องการก็ต้องนำติดตัวไปเอง ซึ่งเป็นสถิติที่สูงกว่าผลสำรวจของ ILO เมื่อปี 2556 ระบุอยู่ที่ร้อยละ 27 เท่านั้น

เมื่อเกิดความเจ็บป่วยระหว่างทำงาน เป็นธรรมดาที่แรงงานมักกังวลถึงค่าจ้างตัวเองว่าจะได้รับหรือถูกหักหรือไม่ แม้จะมีแรงงานถึงร้อยละ 87 ที่สามารถลาป่วยและยังได้รับค่าจ้างตามกฎหมายกำหนด แต่มีแรงงานร้อยละ 6 ระบุว่าสามารถลาป่วยได้ แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง และแรงงานร้อยละ 4 ระบุว่าสามารถลาป่วยได้ แต่ถูกหักค่าจ้าง ยังมีแรงงานร้อยละ 3 ที่ระบุว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ลาป่วย

ทั้งนี้ หากเกิดการบาดเจ็บรุนแรงระหว่างออกทะเล และจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลทันที เช่น นิ้วขาด มีแรงงานร้อยละ 12 ระบุว่าต้องพักอยู่บนเรือไปจนเสร็จสิ้นการทำประมงแล้วจึงกลับเข้าฝั่ง ส่วนแรงงานร้อยละ 32 ระบุว่ากรณีดังกล่าวจะมีการนัดหมายกับเรือลำอื่นที่กำลังกลับเข้าฝั่งให้มารับตัวแรงงานไป และมีแรงงานร้อยละ 53 ระบุว่าจะถูกนำตัวกลับเข้าฝั่งโดยทันทีเพื่อรับการรักษาพยาบาล

นอกจากแรงงานประมงที่ต้องทำงานบนเรือแล้ว พวกเขายังต้องทำงานที่ท่าเรือด้วย จากการสำรวจพบว่ามีแรงงานมากถึงร้อยละ 92 ที่ต้องทำงานที่ท่าเรือในวันที่เรือเข้าเทียบท่าหรือออกจากท่า โดยต้องขนข้าวสาร ขนปลา ฯลฯ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว แรงงานประมงต้องทำงานเพิ่ม 5 ชั่วโมงที่ท่าเรือในวันเหล่านั้น

 

ค่าจ้าง การหักเงิน และการเปลี่ยนงาน

 

แม้ในปี 2560 กระทรวงแรงงานออกข้อกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่คนงานด้วยการโอนเงินทางธนาคารไม่ต่ำกว่าเดือนละครั้ง แต่มีแรงงานร้อยละ 37 ที่ยังได้รับค่าจ้างเหมาจ่ายเป็นก้อน ซึ่งพบได้มากที่สุดในหมู่แรงงานบนเรืออวนครอบและแรงงานบนเรือล้อมจับ หนำซ้ำโดยเฉลี่ยพวกเขาต้องรอค้างจ้างถึง 6 เดือน และนานที่สุดที่มีการระบุไว้คือ 24 เดือน อีกทั้งมีแรงงานร้อยละ 69 ที่ได้ค่าจ้างโดยไม่ได้รับสลิปค่าจ้างหรือบันทึกแจกแจงรายละเอียดค่าจ้างเลย

นอกจากจะต้องรอค่าจ้างแล้ว ยังมีการระบุว่ามีการหักเงินอย่างผิดกฎหมายด้วย แรงงานร้อยละ 23 ถูกหักค่าจัดทำเอกสารประจำตัว แรงงานร้อยละ 5 ถูกหักค่าอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งจำเป็นอื่นๆ บนเรือประมง และมีแรงงานร้อยละ 2 ที่ถูกหักค่าธรรมเนียมนายหน้าด้วย

หากแรงงานต้องการเปลี่ยนงาน มีแรงงานร้อยละ 54 เชื่อว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้นายจ้างสำหรับการเปลี่ยนงาน ตั้งแต่ 500 ถึง 20,000 บาท สำหรับแรงงานที่เห็นถึงอุปสรรคดังกล่าว ผลสำรวจชี้ว่ามีแรงงานร้อยละ 48 ที่นายจ้างไม่อนุญาตให้เปลี่ยนงาน

 

จากสิทธิของแรงงานถึงการเรียกร้องสิทธิ

 

เมื่อต้องตรากตรำทำงานหนัก และยังถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ นานา คำถามคือพวกเขาได้รับรู้ถึงสิทธิอันพึงมีของตัวบ้างหรือไม่ จากการสำรวจพบว่าแรงงานร้อยละ 71 รู้สึกว่าไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิแรงงานดีพอ ขณะที่แรงงานร้อยละ 36 ระบุว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน

และในบรรดาแรงงานที่ระบุว่าถึงประเด็นการร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิของตัวเอง มีแรงงานร้อยละ 71 ที่เคยร้องเรียนแล้วรู้สึกพอใจ ขณะที่แรงงานร้อยละ 12 มีความลังเลในการเรียกร้องผ่านช่องทางของรัฐบาล

นอกจากนั้นยังมีแรงงานร้อยละ 8 ที่รู้สึกกลัวจะถูกกลั่นแกล้งเอาคืน และมีแรงงานร้อยละ 5 ไม่รู้ว่าจะต้องร้องเรียนอย่างไร ขณะที่มีแรงงานร้อยละ 4 มีความเชื่อมั่นต่ำกับผลที่จะได้รับจากการร้องเรียน

 

 

บนเส้นทางของการแก้ไขปัญหา

 

นอกจากบรรดาความน่ากังวลที่เกิดขึ้นกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติแล้ว ปัจจุบันถือว่ายังพอเห็นความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาบ้าง

มีแรงงานร้อยละ 62 มีหนังสือเดินทางหรือหนังสือสำคัญประจำตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจของ ILO ของปีก่อน ซึ่งระบุแค่ร้อยละ 15 เท่านั้น สถิตินี้แสดงถึงความสำเร็จของกระทรวงแรงงานในการทำให้คนงานข้ามชาติถูกกฎหมายในภาคการประมงมากขึ้น

ทั้งนี้ เรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป นอกจากต้องจดทะเบียนแล้ว ยังต้องมีการตรวจสอบจากศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก ก่อนออกจากท่าและเข้าเทียบท่าด้วยนั้น ผลสำรวจชี้ว่าแรงงานร้อยละ 95 ระบุว่ามีการตรวจเอกสารจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อนการออกจากท่าและกลับเทียบท่าเรือ

นอกจากนี้แรงงานร้อยละ 59 ระบุว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมฯ ไม่ได้ถามเกี่ยวกับการทำงานของตนเองในระหว่างการตรวจ เมื่อเทียบกับผลสำรวจของ ILO ก่อนหน้านี้ที่พบว่ามีแรงงานมากถึงร้อยละ 76 ไม่เคยพูดกับเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับประเด็นแรงงาน ก็ชี้ให้เห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น

 

เพื่อความยั่งยืนของการประมงในน่านน้ำไทย

 

ผู้บริโภคมักต้องการอาหารทะเลที่มีคุณภาพ สะอาดและปลอดภัย แต่อุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างไร หากสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานประมงยังไม่ได้รับการแก้ไข

เพื่อความยั่งยืนของการประมงในน่านน้ำไทย ทางออกที่สังคมร่วมกันตระหนักและช่วยสนับสนุนได้อาจไม่ใช่เรื่องยากและไกลตัวอีกต่อไป หากรัฐบาลไทยและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลเอาจริงเอาจัง

ภาคีเครือข่ายฯ เสนอว่า ภาครัฐควรกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจนในการห้ามนายจ้างและนายหน้าจัดหางานที่มีใบอนุญาตรับรองจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดหางาน (Recruitment fees) จากแรงงานข้ามชาติ และสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายระดับจังหวัดของศูนย์สวัสดิการแรงงานประมงโดยร่วมมือกับองค์กรประชาสังคมในท้องถิ่น

“เปิดโอกาสให้องค์กรประชาสังคมที่จดทะเบียนได้สังเกตการณ์การปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก โดยมีการแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ภาคีเครือข่ายฯ ระบุ

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอต่อภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายฯ เสนอว่า ผู้ซื้ออาหารทะเลควรจะสนับสนุนคู่ค้า (suppliers) ให้ร่วมมือกับประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้กำกับดูแลกฎระเบียบ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงมาตรการต่างๆ ในการสร้างความปลอดภัยบนเรือประมงให้ทันสมัย และสนับสนุนให้คนงานเข้าถึงกลไกการร้องเรียน ความช่วยเหลือทางกฎหมาย อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อสถานการณ์เร่งด่วนได้

“ให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและโปร่งใส สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศที่รับรองในอุตสาหกรรมประมง และดูแลให้แรงงานประมงสามารถเข้าถึงสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการที่เหมาะสมกับสภาพการทำงานในระหว่างการจ้างงานได้”

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อเสนอบางส่วนของภาคีเครือข่ายฯ ที่คล้ายกับกำลังถามสังคมไทยว่า พร้อมหรือยังในการแก้ปัญหาและยกระดับอุตสาหกรรมอาหารทะเล.


 

ดูรายงาน ชีวิตติดร่างแห: สิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย ฉบับเต็มได้ที่นี่ ภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save