fbpx
ฆ่าตัวตายช่วงโควิด: ดัชนีความใส่ใจในความผาสุกของผู้คน

ฆ่าตัวตายช่วงโควิด: ดัชนีความใส่ใจในความผาสุกของผู้คน

ปีที่แล้ว 2563 ผมได้เขียนถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมโดยรวม เพราะการฆ่าตัวตายมิได้ส่งผลกระทบในระดับปัจเจกบุคคล (ผู้ตาย ครอบครัว มิตรสหาย คนที่รักใคร่) เท่านั้น หากยังกระทบในระดับกว้าง ทั้งต่อสังคมทั้งหมดและประเทศ การฆ่าตัวตายจึงเป็นปัญหาที่น่าวิตกอย่างยิ่ง และเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องใส่ใจและแสดงความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา ครั้งนี้ ผมจะกลับไปทบทวนเรื่องการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ปัญหาคืออะไร มีคำอธิบายว่าอะไร และดูว่าเขาให้ความสำคัญในประเด็นอะไรบ้าง ทำไม


ไว้อาลัยคนตาย

         
เมื่อวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้กล่าวสุนทรพจน์เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่คนอเมริกันที่เสียชีวิตด้วยเชื้อโควิดจำนวน 500,071 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ เขากล่าวเปรียบเทียบว่านี่เป็นจำนวนคนตายในหนึ่งปี ซึ่งสูงกว่าจำนวนคนอเมริกันที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเวียดนามรวมกันซะอีก และกล่าวว่า

“ผู้คนที่เราได้สูญเสียไปเหล่านี้ล้วนเป็นคนพิเศษ หลายช่วงอายุ ทั้งที่เกิดในอเมริกาและอพยพเข้ามา … คนเหล่านี้เป็นจำนวนมากหายใจครั้งสุดท้ายอย่างโดดเดี่ยวในประเทศนี้ … ในฐานะที่เป็นชาติๆ หนึ่ง เราไม่สามารถยอมรับโชคชตาอันเลวร้ายนี้ได้ ในขณะที่เราต่อสู้กับโรคระบาดนี้มาอย่างยาวนาน เราต้องไม่ยอมที่จะชาชินกับความโศกเศร้า เราต้องไม่ยอมที่จะมองทุกชีวิตเป็นเพียงสถิติตัวเลข หรือสิ่งที่คลุมเครือ หรือสิ่งที่อยู่ในข่าว และเราต้องทำเพื่อเป็นการให้เกียรติแด่ผู้ที่ล่วงลับเหล่านี้ แต่สิ่งที่สำคัญเท่าๆ กันคือการดูแลผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้ที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

“ผู้ตายไม่ใช่เดโมแครตหรือรีพับลิกัน แต่เป็นเพื่อนร่วมชาติชาวอเมริกัน เป็นเพื่อนบ้านหรือเพื่อนเรา เป็นแม่เป็นพ่อ ลูกชาย ลูกสาว สามี ภรรยา เราต้องต่อสู้กับสิ่งเดียวกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน … ประเทศชาตินี้จะยิ้มแย้มได้อีก จะเห็นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสอีก จะรู้จักความเบิกบานหรรษาอีก เมื่อถึงวันนั้น เราจะจดจำแต่ละคนที่เราได้สูญเสียไป จดจำช่วงที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ และคนรักที่พวกเขาทอดทิ้งไว้ข้างหลัง[1] และเขาได้สั่งให้อาคารที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางทุกแห่งลดธงครึ่งเสาเพื่อเป็นการไว้อาลัยเป็นเวลา 5 วัน

คงมีผู้นำหรือนักการเมืองไม่กี่คนที่จะพูดถึงการสูญเสียคนที่ตนรักได้กินใจกว่า รู้สึกถึงความเจ็บปวดได้เหมือนกับประธานาธิบดีไบเดน ผู้สูญเสียภรรยาคนแรกและลูกสาวอายุ 13 ปีในอุบัตเหตุรถยนต์ และลูกชายอีกหนึ่งคน เขากล่าวว่า “ไม่ควรมีพ่อแม่คนใดที่มีลูกชายหรือลูกสาวต้องเสียชีวิตก่อนตน แต่สำหรับผม โชคร้ายที่ต้องมีประสบการณ์เช่นนั้น”[2]

คงไม่มีใครปฏิเสธหรือโต้แย้งว่าคำพูดของประธานาธิบดีไบเดนผิด ว่าความรู้สึกของพ่อแม่ที่ต้องสูญเสียลูกสาวหรือลูกชายนั้นเจ็บปวดเพียงใด! การสูญเสียคนในครอบครัวก็ต้องรู้สึกเศร้าโศก เจ็บปวดอย่างมากมาย ยิ่งหากไม่สามารถไปร่วมงานศพเพื่อกล่าวคำอำลาเป็นครั้งสุดท้ายและเพื่อส่งวิญญาณผู้ตายสู่สุคติด้วยแล้ว ก็อาจยิ่งรู้สึกปวดร้าวใจขึ้นอีก

Jude Wanga นักเขียน บรรณาธิการ นักแปลและนักรณรงค์เพื่อสิทธิของสตรีและเพื่อยุติสงครามในสาธารณรัฐคองโก ได้เขียนถึงกฎเกณฑ์ในประเทศอังกฤษที่จำกัดจำนวนคนร่วมในงานศพเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เธอกล่าวว่ามีคติในภาษาคองโกว่า “ครอบครัวไม่ฝังคนตายตามลำพัง” งานศพจึงไม่ใช่พิธี/งานเล็กๆ ที่เป็นเรื่องภายในครอบครัว เช่น พิธีแต่งงานหรือพิธีชำระบาปในศาสนาคริสต์ เธอยังตั้งคำถามว่าแต่เราจะทำอย่างไรเมื่อคนในชุมชนไม่สามารถมาร่วม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านการเงินหรือจิตวิญญาณ ในการไว้อาลัยของครอบครัวหนึ่งๆ?

แล้วเธอก็เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองที่ไม่อาจไปร่วมงานศพของพ่อและพี่ชายที่เสียชีวิตด้วยโควิด ในประเทศคองโก แต่เธออยู่ในอังกฤษ จึงทำพิธีศพด้วยการใช้ Zoom เพื่อให้เธอเห็นพิธีศพและหน้าคนอื่นๆ ในครอบครัว เธอบรรยายความในใจว่าไม่รู้สึกว่ามันจริง เธอไม่อาจเชื่อมโยงความเศร้าโศก/ไว้อาลัยได้ เธอรู้สึกเหมือนกำลังส่องกระจกแต่จำหน้าตัวเองไม่ได้ กินอาหารแต่ไม่รู้รส แล้วเธอก็พาดพิงถึงนักบาสเกตบอลนาม Karl-Anthony Towns ผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปเจ็ดคนด้วยโรคโควิด ซึ่งกระทบกระเทือนต่อจิตใจเขามาก จนทำให้เขาพูดว่าเขาจำไม่ได้แล้วว่าเขาเป็นใครก่อนหน้าที่แม่ของเขาจะเสียชีวิต คาร์ลที่เขาเคยรู้จักได้ตายไปแล้วในวันที่ 13 เมษายน (คงเป็นวันที่แม่ของเขาตาย) ไม่กลับมาอีกแล้ว เขาจำคาร์ลคนนั้นไม่ได้ ไม่รู้จัก เพราะวิญญาณ (soul) ของเขาได้ตายไปแล้ว

จู๊ดเปรียบเทียบตัวเธอกับคาร์ล ว่าตอนนี้มีจู๊ดสองคน จู๊ดก่อนที่พ่อและพี่ชายจะตาย เป็นคนที่ไม่สมบูรณ์แต่ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน (work in progress) เธอยิ้มเป็น รู้จักความเจ็บปวด และบางครั้งก็มีความหวังและความฝัน แต่เธอไม่แน่ใจว่าจู๊ดอีกคน หลังจากที่พ่อและพี่ชายตายไปแล้ว เป็นคนอย่างไร แต่เธอรู้ว่าบางส่วนของเธอถูกฝังไปพร้อมกับพ่อและพี่ชาย และจะไม่กลับคืนมา อาจมีส่วนใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก แต่เธอรู้ว่าเธอได้เปลี่ยนไปแล้วเพราะมีบางสิ่งบางอย่างค้างคาใจอยู่กับการจากไป (no closure) ของคนทั้งสอง[3]

ลองจินตนาการว่าเราต้องสูญเสียคนที่เรารักด้วยการฆ่าตัวตาย ความเจ็บปวดรวดร้าวใจจะมีมากมาย ขนาดไหน?!


การฆ่าตัวตายกับโควิด

         
ทว่า การตายด้วยโรคโควิดไม่ใช่ปัญหาใหญ่ปัญหาเดียว มีรายงานข่าวว่าในหลายประเทศ สถิติคนฆ่าตัวตาย มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย อันเกี่ยวเนื่องกับโรคนี้พุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ เช่น ในสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจของหน่วยงานของรัฐบาลกลางระบุว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณการว่า 40% ของคนอเมริกันในขณะนี้มีปัญหาด้านจิตหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่ปัญหานี้ดูจะหนักหนากว่าในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่ขึ้นสูงถึง 75%

แต่ที่น่าตกใจมากกว่านี้คือจากรายงานของ Centers for Disease Control and Prevention ที่ทำการสำรวจความคิดของคนอเมริกัน โดยสอบถามว่าในช่วง 30 วันของเดือนสิงหาคม 2020 คุณคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ พบว่าราวหนึ่งในสี่คนของกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวระบุว่าตนมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ในขณะที่คนกลุ่มอายุอื่นทั้งหมดรวมกันมีเพียง 11% เท่านั้น เปรียบเทียบกับปี 2561 กลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวมีเพียง 10.7% และกลุ่มอื่นทั้งหมด 4.3% และเมื่อพิจารณาข้อมูลรายละเอียดในแต่ละแห่งก็ยิ่งน่าตกใจ เช่น ในเขตนครชิคาโก้พบว่าจำนวนคนฆ่าตัวตายในหมู่คนแอฟริกัน-อเมริกันในช่วงเดือนเดียวพุ่งขึ้นสูงกว่าจำนวนทั้งหมดในปี 2019 โดยเจ้าหน้าที่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับโรคโควิด การต่อต้านการเหยียด หรือทั้งสองประการ และที่น่าตื่นตระหนกกว่านั้นคือช่วงอายุที่กว้างมาก นั่นคืออายุของผู้ตายมีตั้งแต่รองหัวหน้าตำรวจอายุ 57 ปีไปจนถึงเด็กอายุ 9 ปี

ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ให้คำอธิบายว่าสาเหตุของการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวมาจากความรู้สึกโดดเดี่ยว (isolation) และความเสียหายทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่นำไปสู่การล็อกดาวน์ การสร้างระยะห่างทางสังคมและกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่ทำให้วัยรุ่นหนุ่มสาวต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ไม่สามารถออกไปสังสรรค์หาเพื่อนฝูงได้ ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและกลายเป็นภาวะซึมเศร้าในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตาย[4]

ในรายงานเรื่อง “Suicide Ideation and Attempts in a Pediatric Emergency Department Before and During COVID-19” ซึ่งเน้นศึกษาคนในช่วงอายุ 11-21 ปีในเขตเมืองเท็กซัสก็พบว่าสถิติของคนที่คิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายในปี 2020 พุ่งขึ้นสูงกว่าในปี 2019 และพบว่ามีสาเหตุที่คล้ายคลึงกันในที่อื่น คือการล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อโควิด โรงเรียนปิด ทำให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน นำไปสู่การเกิดความเครียดและความคิดในการฆ่าตัวตาย[5]

สถานการณ์ในอินเดียก็มีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือพบว่าการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างมาก และเกิดการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในรัฐเกรละ (Kerala) แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด แต่ก็มีรายงานว่ามีคนฆ่าตัวตาย ซึ่งรวมถึงเด็กด้วย โดยมีการให้คำอธิบายว่าความรู้สึกโดดเดี่ยวอันเนื่องมาจากการล็อกดาวน์ส่งผลต่อจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่พ่อแม่ถูกกระทบจากโควิดโดยตรง เช่น ทำงานในโรงพยาบาล หรือถูกกักตัวเพราะติดเชื้อโควิด ผลกระทบต่อเด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากยิ่งขึ้น[6]

ส่วนในญี่ปุ่น ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย ผู้สื่อข่าวของบีบีซีในกรุงโตเกียวให้ความเห็นว่าญี่ปุ่นรายงานเรื่องการฆ่าตัวตายเร็วกว่า และแม่นยำกว่าทุกแห่งในโลก อีกทั้งยังมีการรวบรวม-ประมวลผลทุกเดือน ซึ่งทำให้รู้ว่ามีเรื่องน่าตกใจในช่วงโควิดระบาด เพราะพบว่าหลังจากที่ผ่านไปสิบเอ็ดปี สถิติการฆ่าตัวตายสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2020 ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือในขณะที่สถิติฆ่าตัวตายในกลุ่มเพศชายลดลงเล็กน้อย สถิติในเพศหญิงเพิ่มขึ้นเกือบ 15% และเฉพาะเดือนตุลาคมเดือนเดียว สถิติของการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้หญิงพุ่งขึ้นมากกว่า 70% เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในเดือนเดียวกันของปีก่อน (ปี 2019)

ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงของสถิติในกลุ่มผู้หญิงที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้คิดว่าคงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่มีความเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นจากการที่ต้องออกจากงาน ทั้งนี้เพราะผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนมากไม่แต่งงาน ต้องทำมาหากินเลี้ยงดูตัวเองแต่ก็มักไม่ได้ถูกว่าจ้างในงานประจำ เป็นเพียงพนักงานหรือลูกจ้างชั่วคราว ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาการว่างงานขึ้น ผู้หญิงจึงมักถูกกระทบหนักและหนักกว่าผู้ชาย และปรากฏว่าเดือนตุลาคม 2020 เป็นเดือนที่สถิติการฆ่าตัวตายของเพศหญิงขึ้นสูงมาก คือมีจำนวน 879 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าสถิติในเดือนเดียวกันในปี 2019 มากกว่า 70% ยิ่งหากพิจารณาจากข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็ยิ่งน่าตกใจ บางฉบับเปรียบเทียบจำนวนทั้งหมดของคนที่ฆ่าตัวตายในเดือนตุลาคม ทั้งเพศชายและหญิง ซึ่งมีจำนวน 2,199 คน สูงกว่าจำนวนของผู้ที่เสียชีวิตด้วยเชื้อโควิดทั้งหมดจนถึงเดือนตุลาคมจำนวน 2,087 คน[7] ชัดเจนว่าการฆ่าตัวตายในสังคมญี่ปุ่นเป็นปัญหาที่น่าวิตกอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ การฆ่าตัวตายในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 20 ปีก็เพิ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนการระบาดของเชื้อโควิด อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องอยู่ในบ้าน ส่งผลให้เด็กต้องเผชิญกับปัญหาในครอบครัว หรือความเครียดของชีวิตในบ้าน หรือปัญหาการทำการบ้านไม่ทัน หรือไม่มีอิสระที่จะพบเพื่อนฝูง จากการสำรวจที่สอบถามพ่อแม่และเด็กจำนวน 8,700 คนผ่านทางอินเทอร์เน็ต พบว่า 75% ของเด็กนักเรียนแสดงอาการของความเครียดอันเป็นผลมาจากโรคโควิด[8]

กรณีของประเทศนิวซีแลนด์ดูมีความซับซ้อน เพราะมีทั้งผลกระทบในแง่บวกและลบ กล่าวคือแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดด้วยการประกาศล็อกดาวน์แต่เนิ่นๆ เมื่อเริ่มเกิดการระบาดก็ตาม แต่จากการศึกษาเรื่องความผาสุกทางจิตใจ (psychological wellbeing) ของคนนิวซีแลนด์ในช่วงล็อกดาวน์โควิดเมื่อรัฐบาลได้ออกข้อกำหนดที่ทำให้ลดการติดต่อทางสังคม ลดโอกาสในการสันทนาการ ทำให้ต้องว่างงานและเกิดความไม่มั่นคงทางการเงิน เป็นการสำรวจและศึกษาออนไลน์ที่แบบสอบถามมุ่งหมายที่จะตรวจสอบประเด็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ความคิดในการฆ่าตัวตาย และการบริโภคแอลกอฮอล์อีกด้วย พบว่า 30% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามมีความเครียดทางจิตใจในขั้นปานกลางถึงขั้นรุนแรง และ 16% มีความวิตกกังวลในขั้นปานกลางถึงขั้นสูง และ 39% มีความผาสุกต่ำ แต่ในกลุ่มผู้มีอายุน้อยและผู้ว่างงานหรือสูญเสียงานไป ผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี และผู้ที่เคยมีปัญหาทางจิต มีผลลัพธ์ที่ต่ำกว่า กล่าวคือมีความคิดฆ่าตัวตายราว 6% ในจำนวนนี้ 2% วางแผนฆ่าตัวตาย อีก 2% พยายามฆ่าตัวตาย และช่วงอายุ 18-34 ปีเป็นกลุ่มที่มีปัญหาการฆ่าตัวตายสูงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของการล็อกดาวน์ก็มิได้เป็นในแง่ลบทั้งหมด เพราะพบว่า 62% ตอบว่ายังมีความหวัง (silver linings) เช่น สนุกกับการทำงานที่บ้าน (working from home) มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น และมีความสงบมากขึ้น ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะน้อยลง ที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือรายงานชิ้นนี้สรุปว่าความสำเร็จของการล็อกดาวน์ในนิวซีแลนด์ต้องแลกมากับการเสียหายทางจิตใจ แม้ว่าการถกเถียงเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการล็อกดาวน์จะเน้นที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่การศึกษานี้ก็ยืนยันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อผลกระทบต่อความผาสุกทางจิตใจเช่นกัน[9]

หันมาดูสถานการณ์ในบ้านเรา มีข่าวว่ากรมสุขภาพจิตรายงานว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มีคนไทยฆ่าตัวตายจำนวน 2,551 คน สูงขึ้นราว 22% ของจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายในช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีจำนวน 2,092 คน สาเหตุของการฆ่าตัวตาย ได้แก่ ปัญหาส่วนตัว ภาวะซึมเศร้า ปัญหาทางเศรษฐกิจและการดื่มแอลกอฮอล์ การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายทำให้ผู้อำนวยการของกรมสุขภาพจิตหวนคิดเปรียบเทียบสถิติการฆ่าตัวตายหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่สูงราว 20-30% และยังกล่าวว่าการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้เกี่ยวข้องกับการระบาดของเชื้อโควิด และเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล

มีการศึกษาที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่าในเดือนมีนาคม 2563 มีความพยายามฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากการล็อกดาวน์ 38 กรณี ในจำนวนนี้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 28 คน งานวิจัยนี้ทำขึ้นหลังจากที่รัฐบาลประกาศการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งส่งผลให้มีการปิดโรงงานและบริษัทจำนวนมากเป็นการชั่วคราวหรือถาวร นอกจากนี้ มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดที่ศึกษาถึงผลกระทบของโรคโควิดและการฆ่าตัวตายที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Medicine พบว่า ความเครียดจากโรคโควิดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย และว่าปัญหาอาจไม่ยุติลงหลังจากที่โรคโควิดหมดไปก็ได้ เพราะอาจมีผลกระทบระยะยาวทางจิตใจ ซึ่งก็อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกหลังจากโรคนี้หมดไป10]


ความผาสุกของประชากร

         
แม้ว่าในบางประเทศจะยังไม่มีข้อยุติว่าสถิติการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคโควิดหรือไม่ แต่ก็ไม่มีการปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง และที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันคือต้องมีการศึกษาในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ละเอียดขึ้น ทว่า น่าเสียดายที่ผมยังไม่เห็นว่ามีการสนับสนุนให้ศึกษา-วิจัยในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจังในบ้านเรา ส่วนใหญ่ที่ผมอ่านพบมักเป็นการแสดงความคิดเห็นมากกว่า มิได้วางอยู่บนข้อมูลที่เป็นพื้นฐานของงานวิจัยหรือการศึกษาที่อาจตอบคำถามหรือให้คำอธิบายแก่เราอีกมากมาย เช่น การฆ่าตัวตายในช่วงโควิดสัมพันธ์หรือไม่ อย่างไร กับสถานภาพทางเศรษฐกิจ? กับสถิติการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น? เกี่ยวข้องกับช่วงอายุคน (เช่น เด็ก หรือวัยรุ่นหนุ่มสาว อย่างในบางประเทศ) หรือไม่? หรือด้านเพศ? หรือกลุ่มชาติพันธุ์? และอื่นๆ อีกมากมาย

การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสำคัญที่เราต้องให้ความสนใจ พยายามแก้ไข และเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องตั้งใจทำอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่เพราะปัญหานี้สัมพันธ์โดยตรงกับเหตุผลด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองเท่านั้น หากยังมีเหตุผลด้านจิตใจ (และอาจรวมถึงด้านจิตวิญญาณด้วยก็ได้?) ดังที่ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวไว้ว่า “เราต้องไม่ยอมที่จะมองทุกชีวิตเป็นเพียงสถิติตัวเลข หรือสิ่งที่คลุมเครือ” แต่เคยเป็นคนที่มีลมหายใจ “เป็นเพื่อนร่วมชาติ .. เป็นเพื่อนบ้านหรือเพื่อนเรา เป็นแม่เป็นพ่อ ลูกชาย ลูกสาว สามี ภรรยา” ของใครบางคน ดังนั้น จึงอาจตีความได้ว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาล (และผู้นำอย่างไบเดน) ที่จะต้องรักษาชีวิตของประชากรไว้ ไม่ให้ล้มหายตายจากไป เช่น การฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการฆ่าตัวตายให้มากขึ้น ไขข้อกังขาต่างๆ ได้มากขึ้น จะมีคำถามเช่น จะเปรียบเทียบว่าสถิติการฆ่าตัวตายเป็นดัชนีชี้วัดความเอาใจใส่ต่อประชากรของรัฐบาลได้หรือไม่? หรือเป็นดัชนีที่บ่งบอกถึงความผาสุกของผู้คนได้หรือไม่? หากใช่ นัยของเรื่องนี้คืออะไร? เป็นไปได้หรือไม่ว่าหากผู้คนทั่วไปมีความสุขสบาย มีชีวิตที่ดี มีกินมีใช้ มีความหวัง ปัญหาการฆ่าตัวตายอาจลดลงเป็นเพียงปัญหาส่วนตัว หรือปัญหาด้านจิตใจของปัจเจกบุคคล เท่านั้น มิใช่ปัญหาใหญ่ทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง-จิตใจ(?)



อ้างอิง
[1] BBC News, “Covid: Biden calls 500,000 death toll a heartbreaking milestone”, 22 February 2021, และอ่านรายละเอียดของสุนทรพจน์นี้ใน Briefing Room, The White House, “Remarks by President Biden on the More Than 500,000 American Lives Lost to COVID-19”, Speeches and Remarks, February 22, 2021, เน้นโดยผู้เขียน

[2] Amber Phillips, “Joe Biden’s heartfelt speech on grief”, The Washington Post, The fix, May 31, 2015

[3] Jude Wanga, “Grief, Interrupted”, LRB blog, The London Review of Books, 11 February 2021

[4] William Wan, “For months, he helped his son keep suicidal thoughts at bay. Then came the pandemic”, The Washington Post, Health, November 23, 2020

[5] Trisha Korioth, “Study: Suicidal behavior in youths higher during COVID-19 closures than in 2019”, AAP News, American Academy of Pediatrics, December 16, 2020

[6] Athul K. Balachandran, Subburaj Alagarsamy, and Sangeeta Mehrolia, “Suicide among children during Covid-19 pandemic: An alarming social issue”, Asian Journal of Psychiatry, Letter to the Editor, 18 Sep 2020

[7] Rupert Wingfield-Hayes, “Covid and suicide: Japan’s rise a warning to the world?”, BBC News, 18 February 2021

[8] Selina Wang, Rebecca Wright and Yoko Wakatsuki, CNN, “In Japan, more people died by suicide last month than from COVID in all of 2020”, ABC7 News, November 29, 2020

[9] Susanna Every-Palmer, Matthew Jenkins, Philip Gendall, Janet Hoek, Ben Beaglehole, Caroline Bell, Jonathan Williman, Charlene Rapsey, James Stanley, “Psychological distress, anxiety, family violence, suicidality, and wellbeing in New Zealand during the COVID-19 lockdown: A cross-sectional study”, PLOS ONE, November 4, 2020, เน้นโดยผู้เขียน

[10] Online Reporters, “Jump in suicide cases linked to Covid-19 stress. Health officials, police join hands to curb problem”, The Bangkok Post, 10 Sep 2020

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save