fbpx
เปิด ‘7 เงื่อนไข’ ซีพีควบรวมเทสโก้ โลตัส : เกาไม่ถูกที่คัน

เปิด ‘7 เงื่อนไข’ ซีพีควบรวมเทสโก้ โลตัส : เกาไม่ถูกที่คัน

กองบรรณาธิการ The101.world เรียบเรียง

 

 

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุมัติให้กลุ่มซีพี และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รวมกิจการได้ โดยประเมินว่า ‘ไม่เป็นการผูกขาด’ แม้จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และไม่กระทบต่อประโยชน์ของผู้บริโภคโดยรวม

อย่างไรก็ตาม กขค. ได้กำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่หลังการรวมธุรกิจ โดยกำหนด ‘7 เงื่อนไข’ ที่ต้องปฏิบัติตาม

โดยหลักการ เมื่อมีการอนุมัติให้ควบรวมกิจการ ผู้ควบคุมมักจะกำหนดเงื่อนไขในการควบรวมเพื่อไม่ให้การควบรวมส่งผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการแข่งขันที่ลดลง โดยตัวเงื่อนไขต้องเข้าไปช่วยรักษาสภาพการแข่งขันในตลาดหลังการควบรวมให้คล้ายคลึงกับสภาพการแข่งขันก่อนการควบรวมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ เงื่อนไขที่กำหนดมีได้ 2 แบบ คือ 1. เงื่อนไขทางโครงสร้าง (structural remedies) คือเงื่อนไขที่มีผลโดยตรงต่อโครงสร้างตลาด เช่น การสั่งให้ขายกิจการบางส่วน หรือการสั่งให้ลดขนาดของการควบรวม และ 2.เงื่อนไขทางพฤติกรรม (behavioural remedies) คือเงื่อนไขอื่นใดที่เน้นควบคุมพฤติกรรมของผู้ควบรวมโดยตรง ซึ่งการจะใช้เงื่อนไขแบบใดนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว หากต้องตอบโจทย์การสร้างการแข่งขันในตลาดให้ได้

101 เปิดวงสนทนาเชิงนโยบายพูดคุยกับนักวิชาการและภาคประชาชนที่ติดตามประเด็นการแข่งขันทางการค้า การผูกขาด และธรรมาภิบาล 4 คน ได้แก่ พรนภา เหลืองวัฒนากิจ ผู้บริหาร (Partner) บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ผศ.ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) วิเคราะห์และถอดบทเรียนกรณีควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส เพื่อออกแบบนโยบายป้องกันการผูกขาดสำหรับอนาคต

จากจุดตั้งต้นในการมองปัญหาดีลนี้ในภาพใหญ่ คำถามต่อไปที่ต้องตอบคือ เงื่อนไข 7 ข้อที่ทาง กขค. กำหนดขึ้นมาเพื่อ ‘กำกับ’ การควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ได้บรรลุตามหลักและวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็นแล้วหรือไม่ อย่างไร และควรต้องจับตาอะไรต่อจากนี้

 

พรเทพ เบญญาอภิกุล – พรนภา เหลืองวัฒนากิจ – วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

 

พรชัย วิสุทธิศักดิ์

 

[box]

7 เงื่อนไขการควบรวมกิจการซีพี-เทสโก้ โลตัส โดยมติคณะกรรมการเสียงข้างมาก

 

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้เปิดเผยคำวินิจฉัยและไฟเขียวให้กลุ่มซีพีสามารถควบรวมกิจการของเทสโก้ โลตัสได้ โดยกรรมการเสียงข้างมาก 4 คนจากทั้งหมด 7 คน มีความเห็นว่า การรวมธุรกิจของซีพีกับเทสโก้ โลตัส ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม

อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อลดหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคภายหลังการรวมธุรกิจ ทางคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยกรรมการเสียงข้างมากจึงกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจปฏิบัติ ดังนี้

1. ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน กระทำการรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)

2. ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มาจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) และกลุ่มสินค้าอื่นๆ ของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ สโตร์ส รวมกันทุกรูปแบบ ในอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยให้ใช้หลักเกณฑ์ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามความในกฎหมายว่าด้วยการกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

3. ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค ใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า

4. ให้บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด คงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิม ที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิม และต้องได้รับการยินยอมจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบนั้นๆ ด้วย

5. ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามความในกฎหมายว่าด้วยการกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ด้วยการกำหนดระยะเวลา การให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) เป็นระยะเวลา 30–45 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสารเรียกเก็บเงิน เป็นระยะเวลา 3 ปี จำแนกเป็น

5.1 กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน

5.2 กลุ่มสินค้าอื่นๆ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน

นอกจากนี้ กรณีข้อกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อเดิมที่มีผลใช้บังคับก่อนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าออกคำสั่งนี้มีระยะเวลาการให้สินเชื่อน้อยกว่าที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากำหนด ให้ใช้ข้อกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อเดิม หรือกรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

6. ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด รายงานผลการประกอบธุรกิจภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นรายไตรมาสหรือในระยะเวลาที่กำหนด ตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากำหนด เป็นระยะเวลา 3 ปี

7. ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตรวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (Code of Conduct) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน และถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ตลอดจนประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัดและต้องไม่กระทำการที่เป็นข้อห้ามของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

 

[/box]

 

พรเทพ เบญญาอภิกุล

 

ไม่มีผู้บริโภคอยู่ในคำวินิจฉัยกรรมการเสียงข้างมาก

  

พรเทพ: คำอธิบายของคณะกรรมการฯ เสียงข้างมากยังไม่มีความชัดเจนและมีความย้อนแย้งในตัวเอง อันดับแรกที่บอกว่า “มีอำนาจในตลาดเพิ่มขึ้นแต่ไม่ผูกขาด” คำถามคือ ‘ตลาด’ ที่พูดถึงเป็นตลาดใด ซึ่งมีการพูดคุยกันไปพอสมควรแล้ว

ประเด็นที่สองคือ “อาจส่งผลให้มีการลดการแข่งขันอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญของผู้บริโภค” ประเด็นนี้ไม่ชัดเจนเลย การมีอำนาจมากขึ้น แต่ไม่ส่งผลเสียต่อใครเลย จะเป็นไปได้อย่างไร ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บอกชัดเจนอยู่แล้วว่า การลดการแข่งขันจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น คุณภาพแย่ลง ปริมาณแย่ลง ยังไงก็กระทบต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว ในกรณีนี้ถ้าคุณบอกว่าไม่กระทบต่อผู้บริโภคเลยเป็นไปได้ยากมาก ซึ่งก็ต้องอธิบายและพิสูจน์เยอะ

ประเด็นที่สาม ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า แถลงการณ์นี้พูดถึงผู้บริโภคน้อยมากคือ มีแค่บรรทัดเดียวที่บอกว่า “ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค” ซึ่งก็น่าคิดเหมือนกันว่าผู้บริโภคอยู่ในสมการแค่ไหนเวลาที่มีการพิจารณาเคสนี้

 

พรชัย: โดยหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้า การอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ ต้องอธิบายเหตุผลให้ชัด ต้องตอบให้ได้ว่า การควบรวมเป็นประโยชน์กับการแข่งขันและผู้บริโภคอย่างไร ผมเห็นคล้ายที่ อ.พรเทพบอกคือ ในคำวินิจฉัยที่เผยแพร่สู่สาธารณะ พูดถึง ‘ผู้บริโภคน้อยมาก’ โดยเฉพาะเงื่อนไข 7 ข้อ ไม่มีการพูดถึงผู้บริโภคเลยด้วยซ้ำ

ถ้าผมเป็นคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หากอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการ สิ่งคัญที่จะต้องทำคือทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้เกิดอำนาจเหนือตลาด แต่เท่าที่ดูประกาศ ยังไม่เห็นว่า เงื่อนไขต่างๆ ของคณะกรรมการฯ จะป้องกันเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

เงื่อนไขเยียวยา 7 ข้อ : เงื่อนไขที่ไม่ควรเป็นเงื่อนไข และการเกาไม่ถูกที่คัน

 

พรนภา: กฎหมายกำหนดอยู่แล้วว่าผู้มีอำนาจเหนือตลาดทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง ซึ่งมาตรา 50 ของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าปี 2560 กำหนดไว้ชัด ในกรณีนี้ แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า ‘ตลาด’ คืออะไร แต่เข้าใจว่าคณะกรรมการเองก็เห็นว่า หลังการควบรวมซีพีจะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จึงกำหนดเงื่อนไขการควบรวม

อย่างไรก็ตาม โดยหลักสากล สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ เงื่อนไขการควบรวมสามารถตอบโจทย์ข้อกังวลต่างๆ ได้ไหม โดยเฉพาะข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันและผลกระทบต่อผู้บริโภค ส่วนตัวเห็นว่า เงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ กำหนดไม่ควรนับว่าเป็นเงื่อนไข เพราะต่อให้ไม่เขียนก็เป็นสิ่งที่ต้องทำตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น ข้อ 1 ที่กำหนดไม่ให้ควบรวมภายใน 3 ปี กฎหมายกำหนดไว้ชัดอยู่แล้วว่า ถ้าจะควบรวมคุณต้องมาขออนุญาต ดังนั้น ไม่ต้องเขียนเป็นเงื่อนไขเลย กฎหมายกำกับดูแลตรงนี้อยู่แล้ว

ส่วนข้อ 2 ที่ให้ช่วยส่งเสริม SMEs และ ขยายสินค้า OTOP ดิฉันไม่แน่ใจว่าข้อนี้เป็นการเยียวยาอะไร ประเทศเราอยากส่งเสริม SMEs ให้เขาตั้งหลักได้ แต่การส่งเสริมที่แท้จริงคือการทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมต่างหาก ดังนั้นเงื่อนไขข้อนี้เหมือนมีออกมาให้ฟังดูดีเท่านั้น แต่คำถามคือประเด็นนี้ควรเป็นบทบาทของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าหรือไม่

เงื่อนไขข้อ 3 ที่กำหนดว่า ไม่ให้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ประเด็นนี้มีความแปลกคือ ในกฎหมายแข่งขันทางการค้าจะมีข้อหนึ่งเขียนว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์เชิงนโยบาย ซึ่งนิยามว่าถือหุ้นเกิน 50% และควบคุมบอร์ดฯ ได้เกิน 50% กฎหมายจะให้การยกเว้นเรื่องการตกลงระหว่างคู่แข่งในเรื่องราคา ปริมาณ การแบ่งเขตการขาย ตามมาตรา 54 เพราะถือว่าเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน ดิฉันก็เลยงงว่า ถ้าอนุญาตให้ควบรวม โดยหลักกฎหมายแล้วถือเป็นคนคนเดียวกันต้องได้รับการยกเว้น แต่เงื่อนไขดันห้ามทำ บอกให้แยกกันอยู่ จะเห็นว่ามีความไม่ชัดเจนในการเขียน ซึ่งก็ยังให้ความเห็นอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ ต้องรอดูคำวินิฉัยฉบับเต็มว่าสามารถตอบปัญหาพวกนี้ได้แค่ไหน

ข้อ 4 ที่กำหนดให้คงเงื่อนไขตามสัญญาระหว่างผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ถ้าเงื่อนไขการค้าไม่เป็นธรรม กฎหมายก็กำกับดูแลอยู่แล้วเช่นกัน ส่วนข้อ 7 ที่บอกว่าให้คงมาตรฐานการปฎิบัติการค้าที่ดี หรือภาษาการบริหารจัดการองค์กรเรียกว่า ‘code of conduct’ สิ่งนี้จะเป็นเงื่อนไขได้อย่างไร เป็นสิ่งที่คุณต้องทำอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ ถ้าไม่ทำก็ไม่ผิดด้วย เพราะเป็นเรื่องภายในองค์กร

 

พรนภา เหลืองวัฒนากิจ

 

พรเทพ: การกำหนดเงื่อนไขควบรวมสะท้อนให้เห็นในระดับหนึ่งว่า คณะกรรมการฯ คิดอะไร และกังวลอะไร เพราะโดยหลักแล้ว ถ้าคิดว่าอาการหรือปัญหาอยู่ตรงไหน ก็จะตั้งเงื่อนไขตรงนั้น ซึ่งผมมีข้อสังเกตในบางประเด็น ดังนี้

เงื่อนไขข้อที่ 1 ที่กำหนดว่า “ห้ามรวมธุรกิจในระยะเวลา 3 ปี” เรื่องนี้ชวนตั้งคำถามว่า ลึกๆ แล้วคณะกรรมการฯ เองก็มองเห็นว่า การควบรวมธุรกิจอาจสร้างปัญหา อย่างไรก็ตาม โดยสภาพการควบรวมน่าจะไม่เกิดขึ้นอีกเร็วๆ นี้อยู่แล้ว อีกทั้งประเด็นที่อาจส่งผลต่อการแข่งขันมากกว่าในอนาคตคือ การขยายสาขา ซึ่งไม่ได้มีการระบุไว้ในเงื่อนไข

เงื่อนไขข้อที่ 2 เรื่องการเพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้าจาก SMEs เกษตรชุมชน สินค้าชุมชนและ OTOP ร้อยละ 10 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี คำถามคือเงื่อนไขข้อ 2 กำลังแก้ปัญหาอะไรอยู่และเกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้าขนาดไหน จริงๆ ทุกคนก็อยากให้ SMEs และ OTOP เฟื่องฟู ยั่งยืน อันนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่คำถามคือนี่เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ สำนักงานฯ ได้ทำหน้าที่ที่ควรกระทำแล้วหรือยัง ก่อนที่จะมาส่งเสริม SMEs หรือ OTOP

นอกจากนี้ คุณจะตรวจสอบได้อย่างไรว่า มีการเพิ่มยอดขาย 10% ต่อปี ในขณะที่กำหนดว่า ห้ามแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ไหนจะมีข้อ 6 ที่กำหนดให้รายงานผลประกอบการธุรกิจตามที่กำหนดเป็นระยะเวลา 3 ปี เงื่อนไขเหล่านี้ไม่สอดคล้องกันเลย คุณห้ามเขาแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่ให้เขาทำรายงาน จะงงๆ หน่อย ไม่ต้องพูดถึงว่า คุณจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าเขาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันจริงไหม ในเมื่อเขาเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันแล้ว ถ้าสำนักงานฯ มีความสามารถในการตรวจสอบได้ สำนักงานก็ควรมีความสามารถในการผลิตบทวิเคราะห์สำหรับการอนุญาตให้ควบรวมให้ดีได้ด้วย ซึ่งสาธารณะกำลังรออ่านอยู่  เพราะจริงๆ แล้วข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ตอนตัดสินใจทำได้ง่ายกว่าการตรวจสอบการแลกเปลี่ยนข้อมูล

เงื่อนไขข้อ 4 ที่กำหนดว่า “ให้คงสัญญา เงื่อนไข ข้อตกลงต่างๆ เป็นเวลา 2 ปี” ข้อนี้สะท้อนว่าสำนักงานฯ ยอมรับว่า เทสโก้ มีอำนาจเหนือตลาดต่อซัพพลายเออร์หรือเปล่า ถึงต้องกำหนดเงื่อนไขให้คงสัญญานี้เอาไว้ ไม่ต้องพูดถึงว่าการทำสัญญาอย่างไม่เป็นธรรมทำไม่ได้อยู่แล้วตามกฎหมาย

เงื่อนไขข้อ 5 การกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อทางการค้า หรือ credit term กับผู้ประกอบการรายย่อย คำถามจะคล้ายกับข้อ 2 คือ เงื่อนไขนี้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาอะไร มาตรการส่งเสริม SMEs มีได้มากมาย แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักในเรื่องนี้ ข้อกังวลใหญ่คือ สภาพการแข่งขันในตลาด ดีลนี้กระทบต่อตลาดและห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ แต่เงื่อนไขที่กำหนดไม่ได้แก้ปัญหาเหล่านี้เลย

ส่วนข้อ 7 คล้ายที่หลายท่านได้พูดไป ให้เขียน code of conduct ด้วยตัวเอง แล้วก็แล้วปฏิบัติตามสิ่งที่ตัวเองเขียน ผมคิดว่าเป็นเรื่องแปลกดี เข้าใจว่าข้อเสนอนี้อาจได้ไอเดียมาจากเทสโก้ที่สหราชอาณาจักร แต่ code of conduct ของที่นั่นออกโดยกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นไกด์ไลน์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้าปลีกกับซัพพลายเออร์ควรเป็นอย่างไร แล้วให้ปฏิบัติตามนั้น

ในภาพรวมเงื่อนไขทั้ง 7 ข้อ เป็นการกำหนดเงื่อนไขเชิงพฤติกรรม ซึ่งมีจุดอ่อนค่อนข้างมาก เพราะพฤติกรรมของผู้ผลิตคือการแสวงหากำไรสูงสุด คุณไปห้ามเขาได้แค่ชั่วคราว แต่ถ้าคุณเผลอเขาก็ทำ เป็นเรื่องปกติในตลาด  ในยุโรปและในสหรัฐอเมริกา การกำหนดเงื่อนไขส่วนใหญ่จะเป็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง เช่น บังคับให้ขายทรัพย์สิน ขายสาขา เพื่อจะให้โครงสร้างตลาดและการแข่งขันมีความสมดุล ดังนั้น เงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ กำหนดจึงเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน เพราะไม่ได้ตอบข้อกังวลด้านการแข่งขันเลย

 

วิฑูรย์: พูดแบบไม่เกรงใจ หากอ่านเงื่อนไขกการควบรวมทั้งหมดโดยไม่บอกว่าใครเขียน ผมอาจเข้าใจว่าภาคเอกชนเป็นผู้เขียนเงื่อนไขนี้ ไม่ใช่สำนักงานฯ เพราะก่อนที่จะมีการควบรวมกัน ก็มีการตั้งคำถามถึงนี้อยู่ แล้วทางเอกชนก็อธิบายไปในแนวทางคล้ายแบบนี้แหละ

การถกเถียงประเด็นนี้ในโลกออนไลน์ เช่น ในเพจของไบโอไทย จะมีคนมาแย้งว่า การควบรวมกิจการไม่ส่งผลกระทบต่อการผูกขาดอย่างไร ประเด็นหนึ่งที่พูดมากที่สุดคือเรื่อง SMEs ซึ่งออกมาบอกว่าการควบรวมจะช่วยสนับสนุน SMEs และในช่วงที่ผ่านมา เราก็จะเห็นว่าซีพีจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ SMEs เต็มไปหมดเลย และข่าวประชาสัมพันธ์ก็เน้นหนักไปทางนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตว่าสอดคล้องกับทิศทางการเขียนเงื่อนไขของสำนักงานฯ

เรื่องนี้ต้องดูข้อเท็จจริงด้วยเหมือนกัน การพูดว่าต้องเพิ่ม 10% ทุกปี ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี ต้องไปดูมูลค่าจริงว่าฐานปัจจุบันเป็นเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาด 9 แสนล้าน ไหนจะต้องไปดูอีกว่า SMEs ที่ได้รับการส่งเสริมเป็นใคร ยังไง ถ้าเป็น SMEs ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไลน์การผลิตเดิมที่เคยดำเนินการมาอยู่แล้ว เงื่อนไขนี้ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์มากนัก

พูดอย่างเป็นธรรม ผมก็ไม่คิดว่าเงื่อนไขการสนับสนุน SMEs จะฟังไม่ขึ้นนะ แต่ในต่างประเทศเขาจะเปิดโอกาสให้คู่แข่งและซัพพลายเออร์เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งยากจะเกิดขึ้นในบ้านเรา

 

พรชัย: ประเด็นส่วนใหญ่หลายท่านได้พูดไปหมดแล้ว ผมขอเสริมในบางประเด็นเท่านั้น

ในเงื่อนไขข้อที่ 1 เรื่องการห้ามการควบรวมใน 3 ปี ถ้าเราดูสภาพตลาดค้าปลีกในบ้านเรา 3 ปีนี้ ก็ไม่มีธุรกิจไหนที่ใหญ่พอต้องรวมกันอีกแล้ว

ในเงื่อนไขข้อที่ 2 ต้องส่งเสริม SMEs และ OTOP ผมตั้งข้อสังเกตว่า เงื่อนไขข้อนี้ย้อนแย้งในประเด็นความเข้าใจทางกฏหมายแข่งขันหรือไม่ เพราะคุณไปบังคับให้เขาซื้อสินค้า ซึ่งไม่เกิดอิสระในการเลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค

เงื่อนไขข้อที่ 3 คือ ห้ามใช้ข้อมูลร่วมกัน แล้วให้ถือเป็นความลับทางการค้า ประเด็นนี้ตรวจสอบได้ยากมาก เอาง่ายๆ เลยคือ จะตรวจสอบอย่างไรว่าเขาแชร์หรือไม่แชร์เมื่อไหร่ ไหนจะกลายมาเป็นภาระของสำนักงานฯ ในการตรวจสอบอีกว่าเขาแชร์ข้อมูลกันจริงหรือเปล่า แล้วสมมติถ้าแชร์จริงแล้วจะมีโทษอะไร หากเป็นโทษปรับ เอกชนก็สามารถคำนวณได้เลยว่า ถ้าการแชร์ข้อมูลกันแล้วได้ประโยชน์มากกว่าต้นทุนการปรับ เขาก็อาจจะเลือกแชร์และยอมจ่ายค่าปรับก็ได้

เงื่อนไขข้อที่ 4 เรื่องการคงไว้ซึ่งเงื่อนไขระหว่างผู้ผลิตและผู้จำหน่าย 2 ปี เรื่องนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับซัพพลายเออร์เรื่องการคงไว้ซึ่งธุรกิจที่ส่งสินค้าให้กับทั้งสองบริษัทนี้ แต่ก็ยังไม่เห็นว่า เงื่อนไขนี้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างไร รวมถึงเรื่องการให้ credit term ในข้อ 5 ด้วย โดยปกติ เขาก็ให้กันอยู่แล้ว ดังนั้น เงื่อนไขนี้ก็ไม่น่าสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรมากกับโครงสร้างหรือประเด็นการแข่งขันในตลาด

เงื่อนไขข้อที่ 6 เรื่องการจัดทำรายงาน ปกติทุกธุรกิจต้องรายรายงานผลการดำเนินงานประกอบการธุรกิจอยู่แล้ว เป็นการตั้งเงื่อนไขให้ทำในสิ่งที่คุณต้องทำอยู่แล้ว เลยไม่แน่ใจว่าจะตั้งเงื่อนไขไปเพื่ออะไร

ผมยังไม่เห็นว่า เงื่อนไขทั้ง 7 ข้อจะดีลกับปัญหาการแข่งขันในอนาคตได้อย่างไร หรือจะปกป้องผู้บริโภคได้อย่างไร ก็ต้องรอดูการให้เหตุผลจากรายงานฉบับเต็ม ถ้าสำนักงานฯ สามารถให้เหตุผลอย่างมีน้ำหนักและเพียงพอในประเด็นเหล่านี้ คำถามต่อคำวินิจฉัยก็จะลดน้อยลง

 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

 

ประเด็นที่ต้องจับตาหลังการควบรวม : เรายังทำอะไรได้อีกบ้าง

 

พรชัย: การจะบอกว่าต้องทำอะไรต่อไปหลังจากนี้เป็นคำถามที่ตอบยากมาก ถ้าเป็นไปได้ผมอยากเสนอให้มองการควบรวมเป็นระยะ เช่น ในระยะเวลา 3 ปีแรก ถ้าการควบรวมเกิดประโยชน์ต่อการแข่งขันและผู้บริโภค ก็ควรที่จะให้การควบรวมดำเนินต่อไปได้ แต่ถ้ามีปัญหา จะต้องทำการ re-merge ซึ่งปัญหาที่ว่าก็ต้องมานิยามกันอีกว่าจะดูจากอะไร เช่น ส่วนแบ่งตลาด ผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ ผลต่อผู้บริโภค ฯลฯ มาตรา 50 ของกฎหมายแข่งขันทางการค้าปี 2560 ก็กำหนดไว้อยู่แล้วว่าห้ามใช้อำนาจเหนือตลาด ดังนั้น เงื่อนไขการควบรวมที่ใส่เพิ่มเข้าไปได้คือ การควบรวมต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดมาตรา 50 ถ้าผิดจะต้องเข้าสู่กระบวนการ demerge ให้กลับมาแข่งขันกันเหมือนเดิม

ข้อเสนอนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะเดิมมาตรา 50 ห้ามใช้อำนาจเหนือตลาด แต่ต่อให้ทำผิดจริง บริษัทก็ยังถูกนับว่าเป็นบริษัทเดียวกันอยู่ ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างการแข่งขันแต่อย่างใด ข้อเสนอเรื่อง demerge คือการทำให้เกิดการแข่งขันอย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับของเดิม

ต้องออกตัวว่านี่เป็นข้อเสนอเชิงวิชาการที่กำลังถกเถียงกันอยู่ แต่อยากเสนอไว้ให้สำนักงานฯ และสังคมได้พิจารณากันต่อ

 

พรเทพ: ผมเสนอว่า ต้องกลับไปดูที่ตัวบทวิเคราะห์ของสำนักงานฯ เลยว่า ปัญหาคืออะไร ถ้าพบว่า “การแข่งขันลดลง” แล้วมีอะไรมาชดเชยการแข่งขันที่ลดลงได้หรือเปล่า โดยหลักเศรษฐศาสตร์ การควบรวมมีประโยชน์อยู่ โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพ อันนี้เป็นด้านบวกที่เราต้องยอมรับ แต่การแข่งขันที่ลดลงนั้นเป็นผลทางลบ เพราะฉะนั้นหลักการคือ ทำอย่างไรให้ผลบวกมากกว่าทางลบ และทำอย่างไรที่จะทำให้ ‘ประสิทธิภาพ’ ส่งต่อไปหาผู้บริโภคได้

ในปี 2019 มีการควบรวมในอังกฤษระหว่างระหว่าง Sainsbury’s กับ Asda ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่อันดับ 2 และอันดับ 3 ของอังกฤษ ตอนนั้นทั้งสองเจ้ามีส่วนแบ่งตลาดคนละประมาณ 15% ส่วน Tesco ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 25% ดังนั้นถ้าควบรวมสำเร็จก็จะกลายเป็นอันดับ 1 ทันที ตอนนั้นเขาก็พยายามอธิบายว่าการควบรวมดีอย่างไร ก่อให้เกิดผลประโยชน์และประสิทธิภาพเท่าไหร่ แล้วก็สัญญาเลยว่า เขาจะแบ่งผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคด้วยการลดราคาสินค้าเป็นมูลค่า 10,000 ล้านปอนด์

อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีการยื่นข้อเสนอขนาดนี้แล้ว แต่ประเด็นที่สำนักงานแข่งขันทางการค้าของอังกฤษพิจารณาคือ ความเสี่ยงด้านโครงสร้าง เพราะเขาเล็งเห็นแล้วว่า มาตรการด้านพฤติกรรมไม่เพียงพอ มีการพูดถึงเงื่อนไขการควบรวมด้านโครงสร้าง เช่น การบังคับให้ขายทรัพย์สินออกไป แต่ที่สุดแล้วสำนักงานฯ ก็สรุปว่า การควบรวมจะทำให้รายใหม่ไม่สามารถเข้ามาเป็นคู่แข่งที่มีประสิทธิภาพได้ สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจไม่ให้รวม

หลักสำคัญคือ ต้องกลับไปทบทวนเงื่อนไขการควบรวม ต้องไปดูเลยว่าแนวปฏิบัติสากลทำกันอย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าฎหมายเมืองไทยจะเปิดช่องให้ทำได้ไหม แต่ว่าผู้ควบรวมสามารถนำเสนอเงื่อนไขใหม่ให้สำนักงานพิจารณาใหม่ได้ เพราะการเงื่อนไขต่างๆ ผู้ควบคุมต้องปรึกษากับผู้ควบรวมอยู่แล้ว

ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมของผมคือ ควรจะมีการทบทวนเงื่อนไขการควบรวม โดยพิจารณาถึงการแบ่งตลาดตามสภาพภูมิศาสตร์ โดยดูว่าการควบรวมจะส่งผลต่อการแข่งขันในพื้นที่อย่างไร หากพื้นที่ไหนส่งผลกระทบต่อการแข่งขันมาก ก็อาจบังคับให้มีการขายสาขาออกไป ซึ่งต้องยอมรับว่า มาถึงตรงนี้แล้วทำได้ไม่ง่าย เพราะกระบวนการเหล่านี้ควรทำให้เสร็จก่อนที่จะมีการตกลงซื้อขายกัน อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้เลย เพราะในหลายกรณีก็ใช้วิธีแบบ fix-it-first คือซ่อมให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเดินหน้าต่อไป

ผมย้ำว่า ในกรณีแบบนี้ เราจะไปคาดหวัง หรือโทษบริษัทอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะเขาทำธุรกิจก็ต้องแสวงหากำไรอยู่แล้ว แต่เราควรคาดหวังกับผู้กำกับดูแลมากกว่า

 

วิฑูรย์: คนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเท่านั้น แน่นอนว่าในทางปฏิบัติต้องเขาต้องรับผิดชอบเต็มที่ แต่ที่จริงแล้ว รัฐบาลหรือรัฐสภา ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล การดำเนินการทั้งหลาย ควรจะให้ความสนใจด้วย รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่จะให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ซัพพลายเออร์ ตัวแทนผู้ประกอบการขนาดเล็ก รวมไปถึงภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมก็มีความสำคัญเช่นกัน  ทุกคนควรได้มีส่วนในการถกเถียงพูดคุยว่า ผลกระทบที่เกิดจากการควบรวมกิจการต่อตนเองจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่า ถ้ากระบวนการพิจารณารับฟังความเห็นที่หลากหลายและรอบด้าน ข้อสรุปจะไม่ออกมาเป็นแบบนี้

 

พรนภา: ในแง่ของกฎหมาย ดิฉันไม่แน่ใจนักว่าเราจะทำอะไรได้หรือเปล่า เพราะคำวินิจฉัยและเงื่อนไขก็ออกมาแล้ว สิ่งเดียวที่พอจะดูได้คือ มีการอุทธรณ์ใน 60 วันหรือไม่ ถ้าไม่มีใครอุทธรณ์ก็จบขั้นตอน ซึ่งเราก็คาดเดาได้อยู่แล้วว่าน่าจะเป็นไปได้ยากที่จะมีใครมาอุทธรณ์

ข้อกังวลของดิฉันคือ สำนักงานฯ จะสามารถติดตามตรวจสอบว่าเอกชนทำตามเงื่อนไขได้หรือเปล่า เพราะทำได้ยากมาก ขณะเดียวกันก็ไม่แน่ใจว่า ผู้รับเงื่อนไขตีความเงื่อนไขเหล่านี้อย่างไร เพราะเขียนไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง เวลาปฏิบัติอาจมีประเด็นโต้เถียงได้มาก ถ้าดิฉันเป็นผู้รับเงื่อนไขมาคงจะขอให้มีการชี้แจงเพิ่มเติม

อีกช่องทางที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่คือ ศาลปกครอง เพราะคำวินิจฉัยของสำนักงานฯ ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ก็ต้องไปเถียงกันอีกว่า ผลกระทบจากคำสั่งนี้กระทบผู้บริโภคจริงหรือเปล่าและช่องทางนี้จะใช้ได้หรือไม่  ต้องยอมรับว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกับกฎหมายแข่งขันทางการค้าในบ้านเรายังมีน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้กันต่อไป

 

[box]

4 เหตุผลของ 3 คณะกรรมการเสียงข้างน้อย

 

คณะกรรมการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นชอบการอนุญาตให้รวมธุรกิจ ซีพี-เทสโก้ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ​ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์​ กรรมการการแข่งขันทางการค้าและโฆษกคณะกรรมการ และ นางอร่ามศรี รุพันธ์​ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ให้เหตุผลในการไม่เห็นด้วย 4 ข้อ ดังนี้

 

1. การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ ทั้งนี้ เพราะผู้ขออนุญาตมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภท ทั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่าย และจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น

 

2. ผลกระทบต่อคู่แข่ง (Competitors)

ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจ เหนือตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น เพราะคู่แข่งที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนการลดราคาแข่งขันเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ ก็อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในที่สุดทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง

 

3. ผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Suppliers)

การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) มากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็น SMEs ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไขตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอโดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะวางสินค้าจำหน่าย หรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

 

4. ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม

ผลของการรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้จำนวนคู่แข่งขันในตลาดลดน้อยลง แม้ว่าในระยะสั้นอาจไม่มีผลต่อผู้บริโภคทั้งในด้านราคาหรือประเภทสินค้าที่มีให้เลือก แต่ในระยะยาวแล้วอาจมีผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคทั้งประเภทชนิดสินค้าและระดับราคา อาจมีการกำหนดตามความต้องการหรือนโยบายของกลุ่มบริษัทที่เป็นของผู้ขออนุญาต นอกจากนี้หากมีการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดค้าส่งค้าปลีกซึ่งจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ผู้บริโภคอาจเป็นผู้ต้องรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่า หากยอมให้มีการรวมธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจการค้าของประเทศ และมีผลทำให้โครงสร้างของตลาดค้าส่งค้าปลีกมีการกระจุกตัวในระดับสูงมาก อันจะนำไปสู่การครอบงำตลาดหรือการผูกขาดทางการค้าในที่สุด จึงไม่เห็นชอบต่อการอนุญาตให้รวมธุรกิจ ทั้งนี้ในต่างประเทศเมื่อมีการรวมธุรกิจที่มีการกระจุกตัวมากขนาดนี้ จะมีการกำหนดมาตรการจากหนักไปเบา ได้แก่ ไม่อนุญาต อนุญาตแต่มีเงื่อนไขด้านโครงสร้างประกอบกับด้านพฤติกรรม และเบาสุดเฉพาะมาตรการด้านพฤติกรรม (มติ กขค. เสียงส่วนใหญ่ใช้มาตรการนี้) อนึ่ง กรณีการรวมธุรกิจที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หากมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างตลาด องค์กรกำกับการแข่งขันทางการค้าในประเทศต่างๆ จะมีทางเลือก 2 ทางคือ ไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจหรืออนุญาตให้รวมธุรกิจอย่างมีเงื่อนไข โดยต้องมีมาตรการเยียวยาที่เน้นมาตรการโครงสร้างเป็นหลักควบคู่ไปกับมาตรการด้านพฤติกรรม

โดยมาตรการด้านโครงสร้างที่ใช้แก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของตลาดในระดับพื้นที่ ได้แก่ การให้ขายกิจการบางส่วน หรือการให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการให้เป็นรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่อยู่ในตลาดเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขในการยับยั้งการเปิดสาขาใหม่ หรือในกรณีที่ไม่ถูกบังคับให้ขายร้านแต่จะมีการห้ามมิให้มีการขยายพื้นที่ในร้านค้าที่มีอยู่เดิม

[/box]

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save