fbpx
รื้อถอนแล้วสร้างใหม่ เห็นหัวประชาชนก่อน

เห็นหัวประชาชนก่อน

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สองเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมส่วนราชการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ระบบการศึกษาอยู่ 2 ครั้ง

ครั้งที่หนึ่ง ที่จังหวัดหนึ่ง

วันนั้นการประชุมมุ่งเน้นที่เด็กเล็ก ด้วยสมมติฐานที่ว่าหากเราเตรียมครอบครัวและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ดี จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี

สถานการณ์ปัจจุบันครอบครัวไทยไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ส่งลูกไปศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือชั้นเตรียมอนุบาล ปัญหาคือหลายที่มิได้ให้สถานที่และเวลาแก่เด็กให้ได้เล่นมากพอตามทฤษฎีการเล่นคือการเรียนรู้ หลายที่เร่งการอ่านเขียนและบวกลบเลขตั้งแต่เด็กอายุน้อยมาก น้อยมากเสียจนกระทั่งสร้างความเสียหายต่อพัฒนาการ

การประชุมวันนั้นมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง EF (executive function) ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่ในเรื่องพัฒนาการเด็กด้านสมอง ผู้จัดการประชุมตั้งเป้าหมายที่จะขยายงานนี้ครอบคลุมทั้งจังหวัด

ที่ประชุมประกอบด้วยตัวแทนสาธารณสุขจังหวัด ตัวแทนศึกษาธิการจังหวัด ตัวแทนศึกษานิเทศก์ ตัวแทนมหาดไทย ตัวแทนพัฒนาสังคมจังหวัด ผู้แทนจาก ปปส. ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย (รพสต.) อาจารย์จากสถาบันราชภัฏของจังหวัด โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนและรองนายก อบต. ที่มีเรื่องเล่าความสำเร็จจากการขับเคลื่อนพัฒนาการเด็กในท้องถิ่นด้วยแนวคิด EF มาหลายปีมาแสดงผลงาน

“พื้นที่ต้องเริ่มทำด้วยตนเอง จึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ดีปรากฏแก่ตา” ผู้อำนวยการ รพช. พูด

“หลังเริ่มโครงการ ยอดเด็กวัยรุ่นใช้ยาเสพติดลดลงอย่างเห็นได้ชัด” รองนายก อบต. พูด

นี่คือผลลัพธ์ที่กระเทือนเป็นลูกคลื่น เพียงเราพัฒนา EF ด้วยการส่งเสริมการอ่านและการเล่น งดการเรียนในชั้นเด็กเล็ก พัฒนาการจึงสมวัยและก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลกระทบกระแทกกระทั้นไปทุกช่วงอายุ

“เรามีตัวชี้วัดที่บูรณาการทุกกระทรวงเรียบร้อยค่ะ” ตัวแทนท่านหนึ่งอภิปราย

“เราได้จัดทำงบประมาณสร้างสนามเด็กเล่นทุกปีครับ” ตัวแทนท่านหนึ่งแสดงความเห็น

“เรามีแผนส่งเสริมการอ่านเป็นประจำค่ะ” ตัวแทนท่านหนึ่งพูด

“เราได้กำหนดวิสัยทัศน์แล้วว่าเด็กดี มีพลานามัย แข็งแรงสมบูรณ์” ตัวแทนท่านหนึ่งพูดบ้าง

“จะเอาสิ่งที่ได้วันนี้ไปเรียนปรึกษาผู้อำนวยการครับ ท่านต้องสนใจแน่ๆ” บางท่านเป็นแบบนี้

ผู้เขียนได้ยินประโยคเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มต้นรับราชการคือ พ.ศ. 2526 จนถึงวันที่เกษียณก่อนหมดอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2560 รวมเป็นเวลา 35 ปี ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเราก็ไม่ขยับไปไหนเลย ทั้งที่ทุกคนในที่ประชุมเป็นคนท้องถิ่น เกิดในท้องถิ่น รักท้องถิ่น และมีความหวังดีต่อท้องถิ่น แต่ด้วยการครอบงำของโครงสร้างราชการส่วนกลางที่แข็งแรงอย่างหาที่สุดมิได้ เราจึงไม่เคยเห็นหัวประชาชนจริงๆ เลย

ช่างเป็นเรื่องเข้าใจยาก

ครั้งที่สอง ที่กรุงเทพมหานคร

ครั้งนี้การประชุมเน้นปฏิรูปการศึกษาเด็กประถมและมัธยม สนับสนุนโดยองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษามาหลายสิบปี แม้ว่าผู้จัดจะเป็นนักวิชาการกลุ่มใหม่ มาด้วยแนวคิดใหม่ แต่ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถม ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยม และผู้อำนวยการโรงเรียนทางเลือก ทั้งจากภาครัฐคือ สพฐ. และ กทม. รวมทั้งจากภาคเอกชนคือกลุ่มโรงเรียนทางเลือก ส่วนใหญ่แล้วเป็นบุคคลที่ทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษามาช้านาน

พูดง่ายๆ ว่าเหล่านี้คือผู้อำนวยการโรงเรียนภาครัฐที่มีหัวก้าวหน้าตั้งแต่แรก และพัฒนาโรงเรียนของตนเองโดยใช้หลักการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มาตั้งแต่แรก ส่วนโรงเรียนทางเลือกก็เป็นโรงเรียนที่ใช้หลักการเรียนรู้ด้วยโจทย์ปัญหาเป็นฐานมาตั้งแต่แรก พวกเขาประชุมตั้งแต่เป็นวัยกลางคนจนกระทั่งวันนี้น่าจะใกล้เกษียณอายุหรือเกษียณแล้วเหมือนผู้เขียน ทั้งนี้ปรากฏหลักฐานเป็นริ้วรอยบนใบหน้า มีความสามารถพัฒนาโรงเรียนและท้องถิ่นตนเอง แต่เคลื่อนไหวมหภาคมิได้

ประเด็นคือภาคีทำงานด้านปฏิรูปการศึกษาขององค์กรเดิมๆ คือหน้าเดิมๆ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งอดตั้งข้อสงสัยมิได้ว่าที่แท้แล้วองค์การมหาชนหรือเอ็นจีโอบางองค์กรบางกลุ่มทำงานเพื่อตัวชี้วัดและงบประมาณของตนเองมากกว่าอย่างอื่นดังที่เขากล่าวหากัน ทั้งนี้ยังไม่นับว่าบางองค์กรมีเด็กเส้นของตนเองที่จะได้รับทุนทำงานซ้ำๆ การรักษาภาคีเดิมๆ โดยไม่หาญกล้ารับภาคีใหม่ทำให้งานวนเวียนที่เดิมแม้เจตนาดี

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าเราไม่สามารถหาภาคีใหม่ๆ ได้เพราะนับวันโครงสร้างบริหารราชการส่วนกลางยิ่งกดทับและตัดแข้งตัดขาส่วนท้องถิ่นหนักข้อขึ้นทุกวัน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนอกสักแห่ง ครูบ้านนอกสักคน แม้มี ‘หัว’ ก้าวหน้าตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนแบบท่อง จำ ติว สอบปรนัย ให้เป็นการพัฒนา EF , PBL และ 21st CSK ก็มิอาจทำได้ได้แต่คิด

จนกระทั่งถึงวันนี้แม้แต่คิดก็คิดมิได้

การศึกษาเหมาโหลเพื่อเด็กทุกคนจบสิ้นไปนานแล้ว เรามาถึงยุคที่ท้องถิ่นจำเป็นต้องมีอำนาจ งบประมาณ และเสรีภาพในการจัดการศึกษาด้วยตนเอง ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่างานพัฒนาเด็กเล็กและการศึกษาเป็นเนื้อเดียวกัน ต้องใช้ทรัพยากรจากทุกภาคส่วนในส่วนท้องถิ่นจึงจะได้กระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับเด็กในท้องถิ่นของตน

ทำได้เมื่อเห็นหัวประชาชนก่อน

 

ปฏิวัติฝรั่งเศส

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save