fbpx

การเมืองวัฒนธรรมหลากสีในอเมริกา

ปีนี้เป็นครั้งที่สองที่ผมมางานฉลองรับปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยในอเมริกา บรรยากาศของงานที่เรียกว่า graduation คือการจบการศึกษาในแต่ละระดับ จากตรี โท ถึงเอก เป็นมหกรรมที่สนุกสนานเรียบง่ายตามสภาพแวดล้อมของสถานที่และบรรดานักศึกษารุ่นหนุ่มสาวที่เป็นเจ้าของงาน ไม่ใช่ผู้บริหารหรือสถาบันศาสนาหรือการเมือง ดังนั้นจึงมักมีภาพหลุดที่ไม่ดำเนินตามประเพณี วัฒนธรรม และความคาดหวังของผู้ปกครองและผู้ใหญ่ทั้งหลาย บางครั้งมีการประกาศเจตจำนงทางการเมืองของนักศึกษาบางกลุ่มต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศขณะนั้น เหตุการณ์ที่อื้อฉาวและสร้างการถกเถียงในสังคมทั่วไปคือสมัยต่อต้านสงครามเวียดนามในคริสต์ทศวรรษ 1960-70 ส่วนในยุคปัจจุบันคือประเด็นเรื่องการทำแท้ง สิทธิความเท่าเทียมในเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ไปถึงวิกฤตโลกร้อน เป็นการเมืองทางวัฒนธรรมพหุนิยมที่มาแรงจนก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจการเมืองของรัฐ

บทความนี้เขียนก่อนวันงานรับปริญญาของลูกสาวที่มหาวิทยาลัยฟลอริดา เกนส์วิลล์ จึงยังไม่เห็นตัวงานจริงๆ ว่าจะออกมาในรูปใด ระหว่างนี้ผมกับภรรยาจึงแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนญาติสนิทมิตรสหายในเมืองและต่างเมืองตามสภาพที่พอทำได้ พร้อมกับสังเกตและประมวลการเคลื่อนไหวรวมถึงความคิดทางการเมืองของคนอเมริกันยุคนี้ว่ามองสถานการณ์ในบ้านเขากันอย่างไร ต่างจากที่ได้ฟังจากสื่อสารมวลชนของสหรัฐฯ เองอย่างไรบ้าง ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจจำนวนหนึ่งที่ทำให้มองการเมืองไทยในทัศนวิสัยที่กว้างไกลได้ดีขึ้น

การเคลื่อนไหวแรกที่เราได้ไปร่วมฟังและพูดคุยกับสมาชิกชุมชนในมหาวิทยาลัยคือการเสวนาในหัวเรื่อง Second Annual Anti-Poverty Symposium “Unitas in Action: Fighting Poverty and Living Sustainably” (การประชุมครั้งที่สองว่าด้วยการต่อต้านความยากจน ต่อสู้ความยากจนและมีชีวิตอย่างยั่งยืน) ที่มหาวิทยาลัยวิลลาโนวา เมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนดำเนินการโดยคณะบาทหลวงคาทอลิกนิกายเซนต์ออกัสติน ซึ่งก่อตั้งในกรุงฟิลาเดลเฟียตั้งแต่ปี 1796 หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญและกำเนิดรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก มหาวิทยาลัยวิลลาโนวา (แปลว่าบ้านใหม่) เกิดในปี 1842 ยึดคติของสำนักเซนต์ออกัสตินในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับใจ (heart and mind) ชุมชนและเอกภาพของความรู้ นโยบายการต่อสู้กับความยากจนเป็นจารีตหนึ่งของสำนักนี้ จึงไม่แปลกใจที่มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวนี้ซึ่งดำเนินการโดยนักศึกษาร่วมกับกลุ่มประชาสังคมภายนอก

แต่มหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะทางใต้และมิดเวสต์ ไม่ได้มีบทบาทเชิงสร้างสรรค์และก้าวหน้าอย่างในภาคเหนือและกลาง ซึ่งกำเนิดแต่ยุคอาณานิคมมาจากคนอังกฤษอพยพที่ยึดอุดมการณ์ปัจเจกชนเสรี เช่น คณะพิวริตันในแมสซาชูเซตส์ คณะเควกเกอร์ในฟิลาเดลเฟีย ไม่แปลกใจที่นครฟิลาเดลเฟียในยุคปฏิวัติเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีที่เริ่มตระหนักถึงอำนาจทรราชของกษัตริย์จอร์จที่ 6 ของจักรภพอังกฤษ จนทำให้พวกนี้แปรการประท้วงไปเป็นการปฏิวัติโค่นล้มกษัตริย์อังกฤษลงไปในที่สุด ฟิลาเดลเฟียจึงเป็นเมืองหลวงระยะก่อตั้งสาธารณรัฐอเมริกาก่อนจะย้ายไปยังกรุงวอชิงตันดีซีในเวลาต่อมา

การประชุมปีนี้ต้องการรวมรวมบรรดาผู้เชี่ยวชาญในด้านการลดความยากจนและใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนเข้ามา ดูจากรายชื่อองค์ปาฐกและผู้อภิปรายล้วนเป็นคนมีบทบาทและโดดเด่นในระดับนานาชาติ เช่น คาร์ดินัลปีเตอร์ เติร์กสัน (Peter Turkson) ขณะนี้เป็นผู้อำนวยการสถาบันสังคมศาสตร์ ในสำนักวาติกันภายใต้พระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งประกาศจะสร้างดาวเคราะห์โลกให้ยั่งยืนปลอดจากความยากจน ประเด็นในการประชุมเสวนาล้อมรอบด้วยเรื่องที่มีปฏิสัมพันธ์กับความยากจน สภาพทางเศรษฐกิจและหนทางสู่ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

บนเวทีเสวนามีผู้นำมีชื่อมากหน้าหลายตา แต่เราไม่รู้จักเพราะอยู่คนละโลกกัน มีแค่สองคนที่รู้จักคือ นาโอมิ ไคลน์ (Naomi Klein) นักเขียน นักเคลื่อนไหวที่มีชื่อทั่วโลกจากการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม หนังสือเล่มล่าสุดคือ How to Change Everything: The Young Human’s Guide to Protecting the Earth and Each Other (2021) อีกคนคือบิล แมกกิบเบ็น (Bill McGibben) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เป็นนักจัดตั้งกลุ่ม 350.Org เขานำการประท้วงใหญ่ในอเมริกาหลายปีก่อน หนังสือล่าสุดของเขาคือ The Flag, The Cross, and the Station Wagon (2022) อีกคนที่น่าสนใจมากคือผู้นำของคนอินเดียนที่ศัพท์ทางพหุวัฒนธรรมเรียกว่า ‘คนพื้นเมือง’ (indigenous) ซึ่งคนอินเดียน(ไม่แดง)ไม่ชอบเพราะฟังเหมือนพวกเขาเป็นคนนอกของดินแดนแห่งนี้ ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกที่ตั้งรกรากและสร้างชุมชนขึ้นมาก่อนคนเชื้อชาติอื่นๆ เธอคือโรบิน วอลล์ คิมเมเรอร์ (Robin Wall Kimmerer) งานเขียนของเธอคือ Braiding Sweetgrass: Indigenous Wisdom, Scientific Knowledge and the Teaching of Plants

คนที่ดึงดูดผู้ฟังรุ่นเจนแซดได้มากกว่าคนอื่นน่าจะได้แก่ สก็อต เฟอร์กูสัน (Scott Ferguson) ผู้สร้างหนังที่กำลังโด่งดังไปทั่วโลกในเรื่อง The Succession ที่เลียนแบบชีวิตของเจ้าพ่อสื่อมวลชนโลกอย่างนายรูเพิร์ต เมอร์ด็อก (Rupert Murdoch) เขามาร่วมเวทีอภิปรายในประเด็นเศรษฐกิจกับการทำลายสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งเขาไม่ออกมาแก้ต่างให้แก่ผู้ประกอบการใหญ่ๆ ในวงการต่างๆ รวมทั้งวงการภาพยนตร์ว่ามีส่วนในการใช้จ่ายและทำลายทรัพยากรของสังคมไปอย่างไม่เป็นธรรมด้วย ดูมาดและท่วงทำนองการพูดของเขาแล้ว ประทับใจในความเรียบง่ายและเป็นกันเอง รวมทั้งเข้าใจในคนอื่นๆ ที่ด้อยกว่าด้วย

คนที่ผมตั้งใจไปฟังมากคือนาโอมิ ไคลน์ ด้วยเคยฟังคำอภิปรายและความเห็นต่อสื่อมวลชนอเมริกามาหลายปี คราวนี้ได้เห็นหน้าค่าตาและฟังน้ำเสียงของเธอเอง ที่สะดุดใจคือนาโอมิ ไคลน์มาในมาดของอาจารย์ธรรมดาในชุดที่ธรรมดา พูดอย่างธรรมดา คือไม่ใช่การปลุกระดม วิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม อำนาจนิยมและระบบรัฐที่ใหญ่โตอันเป็นอุปสรรคของการต่อสู้เพื่อบรรเทาโลกร้อนและวิกฤตสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ผมกลับรู้สึกว่าเธอพูดอย่างเปิดอกกับผู้ฟังและผู้สนับสนุนจุดหมายการต่อสู้อย่างจริงใจว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้ดีกว่าก่อนตอนเริ่มการเคลื่อนขบวน ซึ่งกลับรู้สึกว่ามีพลังและแรงหนุนในการต่อสู้มาก หลายปีที่ผ่านมาวิกฤตโควิด-19และเศรษฐกิจถดถอยไปทั้งโลก มาถึงสงครามยูเครนที่รัสเซียสร้างขึ้น รวมๆ แล้วกลับทำให้น้ำหนักของการเคลื่อนไหวด้านโลกร้อนและความอยุติธรรมของสิ่งแวดล้อมก็พากันถดถอยและลดระดับลงด้วยเช่นกัน นั่นเป็นความรู้สึกของแกนนำสำคัญในการต้านโลกร้อน ทำให้อดเปรียบไม่ได้กับขบวนการเคลื่อนไหวต้านโลกร้อนในไทย ซึ่งได้รับผลกระเทือนด้านลบจากการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้การเคลื่อนไหวต้านโลกร้อนและความยั่งยืนดำเนินไปอย่างยากลำบากและไม่มีพลังเพียงพอ

คนที่อาวุโสและผ่านร้อนหนาวของการเมืองอเมริกันมากกว่าคนอื่นได้แก่ บิล แมกกิบเบ็น เขาเป็นคนนำการอภิปรายและร่วมอภิปรายด้วย เขาให้กำลังใจนักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์กว่า ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในสังคมยังมีอนาคต เขาพูดถึงจุดเปลี่ยนของสภาพการเมืองอเมริกันในปีที่เขาจบมหาวิทยาลัยที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเริ่มปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนและนั่นเป็นหมุดหมายของการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาสังคมอเมริกัน ฟังการพูดและท่วงทำนองเขาแล้ว นึกไม่ออกว่านี่เป็นแกนนำสำคัญของขบวนการประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากผู้นำขบวนการหลายรุ่นแล้ว บนเวทียังเปิดโอกาสให้แกนนำรุ่นใหม่ของกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางเพศสภาพ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์อีกหลายคน ล้วนเป็นสตรีจากคนกลุ่มน้อยในอเมริกา บ้างอพยพมาจากประเทศอื่น ตั้งรกรากในอเมริกา จำได้ว่าผมไปเรียนในอเมริกาปี 1971 ปีนั้นมีคนอินเดียนพื้นเมืองบุกยึดสถานที่ทำการของแผนกอินเดียนในกรุงวอชิงตันดีซี เป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ แต่ก็ยังเป็นรองข่าวประท้วงของนักศึกษาต่อสงครามเวียดนาม แต่ก็รู้สึกว่าคนอินเดียนเริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ยังเป็นกลุ่มที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและไม่เห็นน้ำหนักในข้อเรียกร้องของพวกเขานัก ในหลักสูตรประวัติศาสตร์อเมริกาที่เราสัมมนากันเริ่มเห็นหนังสือตำราที่เขียนเรื่องประวัติคนอินเดียนในการสร้างประเทศสหรัฐฯ แต่การเริ่มต้นนั้นก็ใช้เวลาอีกนานกว่าจะจุดติดเหมือนในปัจจุบัน เห็นได้จากผู้อภิปรายสุดท้ายที่เป็นอินเดียน ที่พูดถึงปัญหาระหว่างความเป็นอินเดียนกับอเมริกันอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่การร้องขอหรือขอความเห็นใจ หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกันกับคนผิวขาวและอื่นๆ บนพื้นฐานของความรู้และวิทยาศาสตร์

กล่าวโดยรวม ได้เห็นภาพและสถานะของการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเป็นการเมืองอีกด้านที่ไม่ใช่ผลประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำเหมือนเศรษฐกิจ แต่มันเป็นประโยชน์ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องใช้แว่นสายตาช่วย และส่งผลทั้งดีและเลวในระยะยาว ทำให้การต่อสู้ไม่ดุเดือดและเรียกร้องการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ได้ง่ายดายนัก เราแวะไปเยี่ยมมิตรอาวุโสอีกท่านที่สำนักแมรีนอลล์ ซึ่งเป็นสำนักมิชชันนารีฝ่ายคาทอลิกในนิวยอร์ก ที่ส่งสาวกทั้งหญิงและชายไปทำงานของพระเจ้าไปทั่วโลก ในสำนักเห็นป้ายและประกาศกิจกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่รวมศูนย์ไปยังงานสร้างสภาพแวดล้อมธรรมชาติให้เป็นคุณแก่มนุษยชาติ แน่นอนปัญหาความยากจนและไม่ยุติธรรมยังเป็นหลัก แต่รับรู้ได้ถึงผลสะเทือนของวิกฤตโลกร้อนที่เรียกร้องพวกเขาให้นำมันมาอยู่ในภารกิจของพระเจ้าด้วย

อเมริกาเป็นศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลก แต่สิ่งที่ทำให้ทุนนิยมในอเมริกามีพลังและสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวมันเองได้ตลอดเวลาคือการมีระบบความคิดและวัฒนธรรมที่เสรี ทุนมีสันดานในการผูกขาดรวบอำนาจในมือในทุกอย่าง แต่วัฒนธรรมความคิดแบบเสรีนิยมก็มีสันดานในการต่อต้าน วิพากษ์ และคานอำนาจผูกขาดอย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลาเหมือนกัน ไม่มีฝ่ายใดชนะแต่ผู้เดียวและตลอดเวลา ต่างฝ่ายต้องยอมสละอำนาจผูกขาดในปริมณฑลของส่วนรวมให้แก่ฝ่ายอื่นบ้าง รัฐธรรมนูญอเมริกาจึงสะท้อนการประนีประนอมระหว่างพลังการเมืองและเศรษฐกิจเอาไว้ แม้จะประกาศเสียงดังในอุดการณ์เสรีภาพและความเสมอภาพ แม้กระนั้นก็ยังเกิดสงครามกลางเมืองครั้งหนึ่ง ในปัญหาเรื่องระบบทาสระหว่างเหนือกับใต้ ขณะนี้เวทีการต่อกรโต้แย้งในประเด็นเรื่องการเปิดสอนวัฒนธรรมพหุนิยมเชื้อชาติและเพศสภาพในโรงเรียนของรัฐ เป็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่ดุเดือดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสู้โลกร้อน

แต่อเมริกันส่วนใหญ่ทั้งซ้ายและขวาพร้อมใจกันไม่ยอมรับนโยบายแบบของรัสเซียและจีน การเมืองอเมริกันจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แต่ไม่ขัดสน ไม่ว่าทรัพยากรที่เป็นมนุษย์และเทคโนโลยี ซึ่งพื้นที่การต่อสู้ยักย้ายจากเศรษฐกิจมาสู่วัฒนธรรมและลัทธิเชื้อชาติ (racism) อย่างเป็นระบบมากขึ้น ทำให้การอ่านและเขียนประวัติศาสตร์อเมริกาก็เปลี่ยนโฉมหน้าและรายละเอียดไปค่อนข้างมากเช่นกัน

ใครที่ยังอ่านและตีความประวัติศาสตร์อเมริกาอย่างเดิมเมื่อทศวรรษที่ผ่านมาก็จะไม่เห็นอะไรใหม่นอกจากของเก่าที่ไร้พลังไปแล้ว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save