เพื่อนๆ ของผมส่งภาพเก่าของนครหลวงเวียงจันทน์มาให้ดูหลายภาพ ทำให้เห็นว่าเมืองลาวช่างสวยงามจริงๆ หากแต่ว่านั่นเป็นภาพเมื่อ10 ปีกว่าแล้ว ซึ่งเป็นตอนที่เพื่อนๆ ของผมไปเที่ยวลาว โดยไปที่เมืองเวียงจันทน์ ก่อนจะเดินทางต่อขึ้นไปทางตอนเหนือของประเทศ พร้อมล่องแม่น้ำโขง โดยในวันนี้ พวกเขาต่างบอกว่า ลาวเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
ทุกวันนี้ อะไรที่เป็น ‘จีน’ เรียกได้ว่ากลาดเกลื่อนทั่วเมืองลาว ถ้าจะว่าดูไม่ได้ ผมก็ไม่กล้าพูดเช่นนั้น แต่ที่เห็นได้ชัดคือวิถีชีวิตชาวบ้านในหลายชุมชน หลายชนเผ่า เริ่มเปลี่ยนแปลงไป และที่สำคัญ ร้านอาหารเวียดนามเล็กๆ น่ารักๆ ที่เปิดโดยคนเวียดนามที่หอบข้าวของเข้ามาทำมาหากิน อย่างแพร่หลายตามแต่ละชุมชน ก็หายไปแทบหมดสิ้นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วภาครัฐของทั้งเวียดนามและลาว จะฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 60 ปีระหว่างสองพี่น้องในลุ่มแม่น้ำโขงกันอย่างไร
ครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์เวียดนาม-ลาว
ปีนี้เป็นปีครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตเวียดนาม-ลาว และครบรอบ 45 ปี สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือเวียดนาม-ลาว (Treaty of Amity and Cooperation of Vietnam-Laos) ในปีนี้ ทั้งเวียดนามและลาวจึงกำลังฉลองวาระแห่งการครบรอบนี้กันด้วยรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งด้วยการแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมทั้งการลงนามความตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลายๆ กระทรวง
ฝั่งเวียดนามให้ความสำคัญยิ่งต่อการครบรอบความสัมพันธ์กับลาวในครั้งนี้ โดยไม่ได้เพียงยืนยันถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นนี้ต่อฝั่งลาวเท่านั้น แต่ยังยืนยันต่อประชาชนเวียดนามเองด้วย โดยพยายามแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความซาบซึ้งในสายสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่และมีคุณค่าระหว่างทั้งสองประเทศ ผ่านทางช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆ ของเวียดนาม เพื่อตอกย้ำให้ประชาชนเวียดนามระลึกถึงความสำคัญในสายสัมพันธ์ต่อลาว
เวียดนามให้ความสำคัญต่อลาวเป็นอย่างยิ่ง เช่นเมื่อเดือนมีนาคม 2021 เวียดนามก็ได้ให้เงินลาวก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่มูลค่าสูงถึง 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ นโยบายต่างประเทศของเวียดนามยังจัดลำดับความสำคัญของลาวไว้ในระดับสูงอีกด้วย
ปัจจัยจีน
แต่ท่ามกลางความกระตือรือร้นในการสร้างสายสัมพันธ์ของเวียดนามต่อลาว ปัญหาภายในของลาวก็โผล่ขึ้นมา ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพอันสวยหรูที่เวียดนามวาดไว้ นั่นคือการที่พันธมิตรใกล้ชิดอย่างลาวกำลังไหลลึกเข้าสู่ ‘วงจรจีน'[1] อันสร้างความไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อเวียดนาม จึงเป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งว่าเพราะเหตุใด เวียดนามถึงได้มีนโยบายให้ความสำคัญต่อลาวมากขนาดนี้[2]
แม้ว่าลาวจะยังคงยึดมั่นในผลประโยชน์ด้านความมั่นคงกับเวียดนามผู้เป็นพันธมิตรที่ยาวนานของตน แต่ลาวก็พยายามเล่นเกมสร้างสมดุล ด้วยการเข้าหาประเทศสังคมนิยมที่ใหญ่กว่าอย่างจีนอีกทางหนึ่งด้วย โดยลาวพยายามหาประโยชน์จากจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากยุทธศาสตร์ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative – BRI) ของจีน และเมื่อไม่นานมานี้ ลาวก็ขยับเข้าใกล้จีนเข้าไปอีก ด้วยการเปิดบริการ ‘รถไฟจีน-ลาว’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์และสัญญาสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมของความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งยังสะท้อนภาพว่าสังคมนิยมลาวสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ โดยมีการทะยานขึ้นของจีนเป็นตัวหนุนหลังผ่านการผลักดันการลงทุนโครงการก่อสร้างต่างๆ ในลาวอย่างไม่จำกัด ขณะที่ความต้องการเรียนภาษาจีนก็กำลังเพิ่มขึ้นในบรรดาคนหนุ่มสาวและผู้ประกอบการชาวลาว การปรากฏอิทธิพลที่ชัดขึ้นของจีนบนแผ่นดินลาวนี้ จึงสร้างความกังวลต่อเวียดนามว่าจะมีพื้นที่ยืนในลาวลดน้อยลง[3]
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่วงจรจีนก็นำมาซึ่งความเจ็บปวดบางอย่าง โดยเฉพาะปัญหากับดักหนี้ โดยที่ฝั่งจีนก็แสดงความเต็มใจที่จะเจรจาหนี้ใหม่กับประเทศผู้รับเงินลงทุนต่างๆ ในโครงการ BRI รวมถึงลาว เพื่อไม่ให้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น นอกจากนี้ จีนก็เพิ่งวิเคราะห์การให้กู้ยืมของตนในโครงการ BRI ซึ่งพบว่ายังให้ผลตอบแทนน้อยเกินไป ในช่วงเวลาที่จีนเองกำลังอยู่ในช่วงทางแยกของประวัติศาสตร์จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน อันสืบเนื่องจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่มีปัญหา ซึ่งตรงกันข้ามกับเวียดนามที่กำลังมีภาพทัศน์ที่ดีกว่า โดยเฉพาะจากการที่บริษัทต่างๆ กำลังพากันย้านฐานการผลิตจากจีนไปยังเวียดนาม
นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนของจีนอย่างมหาศาลในลาวยังทำให้คนลาวต่างตั้งข้อสังเกตว่ากำลังนำผลเสียมาสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นของลาว เนื่องจากโครงการ BRI ต่างๆ ที่ดำเนินการโดยบริษัทของจีน ทำให้ต้องมีการย้ายบางชุมชนออกจากพื้นที่เดิม อีกทั้งยังมีการว่าจ้างแรงงานและผู้จัดการที่เป็นคนจีนมากกว่า โดยอาจไม่ได้นำโอกาสงานไปสู่คนลาวนัก และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแรงงานจีนและลาว นำไปสู่ความคับข้องใจต่างๆ ต่อคนลาวและบรรดาชนเผ่าต่างๆ ในประเทศ ซึ่งเท่ากับว่า การเข้ามาของจีนกำลังสร้างแรงกดดันต่อพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (Laos People’s Revolutionary Party – LPRP) และยังความเสียหายต่อหลักเอกภาพ (unity) และความเป็นอิสระ (independence) ที่พรรคปฏิบัติยึดถือมายาวนาน
ลาว ในสายตาจีนและเวียดนาม
เวียดนามกับจีนให้ความสำคัญกับลาวในเชิงยุทธศาสตร์ในระดับที่แตกต่างกัน ขณะที่จีนสามารถเดินหน้าเจรจาข้อตกลงกับรัฐบาลในระบอบใดก็ได้ที่ขึ้นมามีอำนาจในลาว (แม้จะแน่นอนว่าจีนย่อมยินดีที่จะเจรจากับรัฐบาลสังคมนิยมที่เป็นอยู่ก็ตาม) แต่สำหรับเวียดนาม ความเป็นสหายอย่างต่อเนื่องยาวนานต่อพรรค LPRP ของลาว มีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงแห่งชาติของเวียดนามเอง เพราะหากลาวมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง นั่นย่อมทำให้เวียดนามตกอยู่ในความเสี่ยงใหญ่ทางการเมืองไปด้วย ด้วยว่าลาวมีพรมแดนติดกับเวียดนามยาวถึง 2,161 กิโลเมตร หรือเกือบ 2 เท่าของความยาวพรมแดนที่เวียดนามมีร่วมกับจีนหรือกับกัมพูชา ขณะที่จีนซึ่งอยู่ถัดมานั้นก็ถือเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางประวัติศาสตร์อันยาวนาของเวียดนาม เวียดนามตระหนักถึงความเสี่ยงในข้อนี้ดี จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อค้ำจุนระบอบพรรค LPRP ของลาว
หากย้อนมองประวัติศาสตร์นับตั้งแต่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนช่วงปี 1930 จะเห็นว่าความเกี่ยวพันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม ลาว และจีน นี้มีมายาวนานยิ่งกว่าความสัมพันธ์ในระดับรัฐ และจะยังคงยาวนานต่อไปอีกเรื่อยๆ ตราบใดที่พรรคเหล่านี้ยังคงรักษาอำนาจในประเทศของตนไว้ได้ และถ้าให้สรุปความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสังคมนิยมทั้ง 3 ประเทศนี้อย่างง่ายๆ ก็คือว่า ลาวมีความสำคัญสำหรับจีน แต่สำหรับเวียดนามนั้น ลาวมีความสำคัญในระดับที่ ‘ขาดไม่ได้’ และหากลาวเกิดปัญหาภายในประเทศขึ้นมา สำหรับจีน อาจแค่รู้สึกไม่สบายใจ แต่สำหรับเวียดนาม นั่นจะถือเป็น ‘ความน่าวิตกกังวล’
นี่จึงบ่งบอกชัดเจนถึงแรงจูงใจของเวียดนามที่ต้องการขยับขยายการสร้างความสัมพันธ์กับลาวในทุกวิถีทาง และยังลึกลงไปถึงการสร้างสัมพันธ์ระดับจังหวัดหรือหมู่บ้าน ซึ่งถึงขั้นใช้ทุกกระทรวงลงมาขับเคลื่อน อย่างการทำโครงการ ‘จังหวัดคู่แฝด’ หรือ ‘จังหวัดพี่น้อง’ ระหว่างทั้งสองประเทศ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยที่หน่วยงานท้องถิ่นดำเนินการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งในแง่การค้า ความเชื่อมโยงระดับประชาชน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและทางการเมือง
ทุกวันนี้ ทุกแขวง (จังหวัด) ของลาวทั้ง 17 แขวงยังคงมีสายสัมพันธ์ในระดับท้องถิ่นกับเวียดนาม โดยที่แขวงหนึ่งสามารถมีความสัมพันธ์กับหลายๆ ท้องถิ่นได้ และการที่สายสัมพันธ์ของแต่ละท้องถิ่นจะเล็กหรือใหญ่ขนาดไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทรัพยากรทางการปกครองที่มีอยู่ รวมไปถึงความสำคัญของท้องถิ่นเหล่านั้นที่มีต่อระดับชาติ อย่างเช่นบรรดาจังหวัดตามแนวชายแดนทางตอนกลางของเวียดนามกับตอนใต้ของลาวซึ่งอยู่ติดกัน ก็มีความสัมพันธ์ในระดับพิเศษต่อกัน และยังได้รับความใส่ใจจากส่วนกลางมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้บรรดาเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสำคัญๆ ของเวียดนาม ก็มีสายสัมพันธ์กับหลายๆ แขวงของลาว โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOUs) ระหว่างกันในมูลค่ารวมกันหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและซับซ้อนระหว่างเวียดนามกับลาวในระดับนี้ทำให้การผงาดขึ้นของจีนไม่สามารถเข้ามาแทนที่หรือมาลดทอนสายสัมพันธ์นี้ลงได้อย่างง่ายดาย
ลาวและพรรค LPRP เอง ก็รู้ดีว่าเวียดนามให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่มีต่อลาวมากขนาดไหน เพียงแต่อาจไม่ได้แสดงออกมาผ่านการกระทำอย่างชัดเจน เพราะลาวไม่ต้องการเพียงเล่นบทบาทของการเป็นมือรองของเวียดนามเท่านั้น แต่ลาวให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างเวียดนามและจีน ไม่ต่างจากที่เวียดนามก็กำลังสร้างสมดุลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพราะหากย้อนมองประวัติศาสตร์ช่วงสงครามเย็น การที่ลาวยึดมั่นในความเป็นสหายต่อเวียดนาม ทำให้ลาวต้องประสบความย่ำแย่จากการถูกระดมทิ้งระเบิดโดยสหรัฐฯ อีกทั้งยังเผชิญกับจีนที่เข้ามาแทรกแซงบรรดาชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในที่พื้นที่ตอนเหนือของประเทศ ระหว่างสงครามสั่งสอนจีน-เวียดนาม
ผลประโยชน์ที่ขัดแย้งระหว่างเวียดนามและลาว
แม้ลาวและเวียดนามจะมีผลประโยชน์แห่งชาติที่คาบเกี่ยวทับซ้อนกัน แต่ในความเป็นจริง ก็ใช่ว่าจะสอดคล้องกันเสียทีเดียว โดยประเด็นสำคัญหนึ่งก็คือเรื่องพลังงาน
เนื่องจากลาวเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเลและมีทรัพยากรธรรมชาติน้อยมากแต่มีเพียงแม่น้ำหลายสายที่เป็นหนึ่งในทรัพยากรไม่กี่อย่าง ลาวจึงตั้งใจใช้ประโยชน์จากตรงนี้ในการเดินหน้าสู่การเป็น ‘แบตเตอรี่ของเอเชีย’ ด้วยการทำโครงการเขื่อนพลังงานน้ำหลายโครงการ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อเวียดนามที่กำลังพยายามหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อแสวงหาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยทำให้เวียดนามจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากโครงการผลิตพลังงานน้ำจากลาวและจีนมากขึ้น และมีผลในทางภูมิรัฐศาสตร์คือเป็นการทำให้ลาวขยับเข้าไปพึ่งพาเงินทุนจากจีนในการพัฒนาเขื่อนพลังงานน้ำมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ การที่เวียดนามพึ่งพาพลังงานน้ำจากลาวที่มากนั้นยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ลาวเดินหน้าโครงการเขื่อนพลังงานน้ำซึ่งส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน ดังเช่นในกรณีเขื่อนไซยะบุรี แต่หากเวียดนามทำการกดดันลาวมากๆ เข้าในประเด็นนี้ก็อาจสร้างความตึงเครียดต่อความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับลาว จนในที่สุดจะเป็นการผลักดันลาวให้เลือกหันไปหาจีนมากขึ้น
สรุป
ประวัติศาสตร์สายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเวียดนามและลาวเป็นเครื่องยืนยันว่า ทั้งสองประเทศไม่มีทางหันเหออกจากกันได้ แต่ท่ามกลางการมีจุดหมายร่วมกันในการพึ่งพาตนเองเชิงยุทธศาสตร์และเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งเวียดนามและลาวก็ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ยากขึ้นทุกขณะ นั่นคือการดำเนินทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศท่ามกลางการทะยานขึ้นมาของจีน จนนำมาสู่ความสัมพันธ์แบบสามเส้าที่กำลังยุ่งยากซับซ้อน
การเป็นพันธมิตรระหว่างเวียดนามและลาวยืนอยู่บน 2 ปัจจัย โดยมีรากฐานมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น แต่ 2 ปัจจัยนี้ก็ยังคงอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศนี้ได้แม้สิ้นสุดสงครามเย็นไปแล้วก็ตาม 2 ปัจจัยนั้นได้แก่ การมีผลประโยชน์ร่วมกันทางด้านความมั่นคง และการมีคุณค่าทางการเมืองที่เหมือนกัน กล่าวคือทั้งคู่เป็นสหายร่วมรบตามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือปี 1977 อันมีรากมาจากอุดมการณ์กรรมาชีพสากล (International Proletariat) และอุดมการณ์ Marxism-Leninism ที่มีเป้าหมายร่วมสร้างอุดมการณ์สังคมนิยม (Socialism) นอกจากนี้ ความเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจซึ่งกันและกันมากและไม่มีการบั่นทองระบบการเมืองภายในของกันและกัน ได้ทำให้ความสัมพันธ์แบบพรรคต่อพรรค (party-to-party) สำคัญยิ่งไปกว่าความสัมพันธ์ทางการทหารเสียอีก[4]
และแม้ทั้งสองประเทศจะไม่มีสนธิสัญญาความมั่นคง (defense pact) ระหว่างกัน แต่สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือปี 1977 ก็เป็นแนวทางให้เวียดนามจัดตั้งกองกำลังราว 40,000-60,000 คนในแผ่นดินลาว เพื่อช่วยป้องกันรัฐบาลลาวและช่วยคานอิทธิพลจีนตอนเหนือของลาวมาแล้ว[5]
ขณะที่เกมความสัมพันธ์แบบสามเส้านี้กำลังเอนเอียงไปทางจีน เวียดนามควรมีความเข้าใจต่อลาว ว่าลาวก็ความผูกพันกับเพื่อนบ้านทางเหนืออย่างจีน ด้วยความจำเป็นจากการที่ลาวมีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและข้อจำกัดต่างๆ ภายในประเทศ นอกจากนี้เวียดนามควรปรับเปลี่ยนแนวนโยบายต่างประเทศ โดยต้องไม่เพียงมองออกไปข้างนอก แต่ต้องมองกลับมาที่ภายในของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อประกันความแน่นอนในอนาคตการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงอนาคตของพันธมิตรอย่างลาว
ความเป็นสหายร่วมสงครามหรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Comrade-in-arms ระหว่างสองพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีน ยังคงเป็นปัจจัยที่มีพลังต่อความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและลาว ท่ามกลางข้อจำกัดทางทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดของประเทศ และความท้าทายจากการทะยานขึ้นของมหาอำนาจทางเหนืออย่างจีนในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงในพื้นที่ที่แสนน้อยนอดอย่างลาวด้วย
นี่คือสิ่งที่มองเห็นและเสนอให้ทำความเข้าใจในวันครบรอบ 60 ปีของความสัมพันธ์เวียดนาม-ลาว
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนใหญ่ของบทความนี้นำมาจากบทความ ‘Navigating Socialism, Security, and China in Laos-Vietnam Relations‘ ทางเว็บไซต์ Thediplomat.com
↑1 | Marwaan Macan-Markar, “ Laos’s debt pressure raise specter of a China vassel state” Nikkei Asia, 6 September 2022, : 1-2. |
---|---|
↑2 | Nguyen Khac, “ Vietnem’s tag of war with China over Laos” East Asia Forum, 12 May 2021. |
↑3 | “Vietnam ‘Threatened’ by Chinese, Thai Investments in Laos” RFA 15 August 2013 |
↑4 | Khang Vu, “Vietnam’s sole Military Ally” The Diplomat 21 December 2020. |
↑5 | Ibid., |