fbpx
จากรัฐประหาร 49 ถึง ทวงคืนอำนาจราษฎร 63 : ความหลังสู่ความหวัง 19 กันยา

จากรัฐประหาร 49 ถึง ทวงคืนอำนาจราษฎร 63 : ความหลังสู่ความหวัง 19 กันยา

ชลิดา หนูหล้า, ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล และ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ และชลิดา หนูหล้า ภาพ

 

 

19 กันยา 2549 นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ร่วมของทุกคน เพราะการรัฐประหาร 2549 ได้พลิกชีวิตของผู้คนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง รวมทั้งยังพาประเทศไทยเข้าสู่ปมความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ที่ยังไม่ได้รับการสะสางจนถึงทุกวันนี้

14 ปีผ่านไป 19 กันยา 2563 ได้พาผู้คนที่ต่างมีเส้นทางทางประวัติศาสตร์เป็นของตนเองมาบรรจบพบเจอกัน ณ สนามหลวง ในการชุมนุม ‘19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร’

101 พูดคุยกับผู้ร่วมชุมนุมถึงชีวิต ความคิดความอ่านบนเส้นทาง 14 ปีการเมืองไทยจาก 19 กันยา 2549 สู่ 19 กันยา 2563 ว่าผันแปรเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

บางคน 14 ปีก็เป็นเวลาที่นานพอจะพลิกความคิดความอ่านได้

บางคนก็ยังยืดหยัดอย่างหนักแน่น ต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเชื่อและหวังมาอย่างยาวนาน – และอาจนานกว่า 14 ปีเสียด้วยซ้ำ

บางคน ณ ปี 2549 ก็ยังมิรู้เดียงสาดี แต่การเติบโตท่ามกลางวงจรความขัดแย้งทางการเมืองไม่สิ้นสุด ที่จบลงด้วยการรัฐประหารปี 2557 จนนำมาสู่การครองอำนาจของเผด็จการทหารกว่า 5 ปี ได้หล่อหลอมให้เขามีความคิดความหวังในแบบที่ผู้ใหญ่ไม่อาจจินตนาการออก

และนี่ก็คือ 14 ปีของประวัติศาสตร์การเมืองที่มีชีวิตของ 19 กันยา

 

นิ้ง อายุ 27 ปี

 

ผู้ชุมนุม สนามราษฎร

 

“19 กันยา 49 วันนั้นอยู่บ้าน รู้แค่ว่าไม่ต้องไปเรียนเพราะมีรัฐประหาร ตอนนั้นยังเป็นเด็ก พอเกิดรัฐประหารก็รู้สึกแค่งงกับดีใจที่ไม่ต้องไปโรงเรียน แต่ยังไม่เข้าใจว่ารัฐประหารมีผลกระทบอะไรบ้าง”

“ตอนนั้นที่บ้านเข้าร่วมกับฝั่งพันธมิตร เราก็อินตามเขา สมัยพันธมิตรประท้วงที่บ้านก็เคยพาไป พอโตขึ้นหน่อย ตอน กปปส. ประท้วงก็เคยไปเข้าร่วมครั้งหนึ่ง เพราะไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม แต่ก็ไม่ได้เอะใจว่าข้อเสนอของ กปปส. จะไปไกลกว่าเรื่องนิรโทษกรรม เพราะรอบตัวเรา ทั้งครอบครัว ทั้งสื่อที่รับเป็นไปทางฝั่งนั้นหมด เราเลยคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องมาตลอด”

“แต่พอเราโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องเสียภาษี ก็สงสัยว่าทำไมคุณภาพชีวิตของคนไทยแย่ขนาดนี้ 6 ปีที่ผ่านมาเราเห็นแต่ความ ‘อิหยังวะ’ เราสะสมความรู้สึกไม่โอเคมาเรื่อยๆ แล้วยิ่งเดี๋ยวนี้เราเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่ายขึ้น เลยค่อยๆ ตาสว่าง”

“พอมองย้อน 14 ปีที่ก่อน เรารู้สึกเสียใจมาก วันก่อนได้ดูหนังเรื่อง Democracy After Death เกี่ยวกับลุงนวมทอง ก็รู้สึกเสียใจที่เราเคยเชื่ออีกฝ่าย วันนี้เราก็เลยเลือกที่จะออกมา เพราะถ้าวันนี้ไม่ออกมา ก็คงจะเสียใจทีหลัง”

“มองย้อนกลับไปตอนนั้น ยอมรับตรงๆ ว่าเคยมีภาพจำว่าคนเสื้อแดงโดนจ้างมา แต่พอได้รู้ความจริงมากขึ้น เราเสียใจจริงๆ ที่มองพวกเขาผิดไป ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าเขาคือคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมานาน ยอมรับนับถือจิตใจของพวกเขาที่สู้มาจนถึงทุกวันนี้”

 

พ่อ – ลูก

 

ผู้ชุมนุมพ่อลูกที่สนามราษฎร

 

เอกผดุง อายุ 49 ปี (พ่อ)

“ถ้าถามว่า 14 ปี ที่ผ่านมาเห็นอะไรในการเมืองไทยบ้าง จะเห็นได้ว่าตอนที่บ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตย ผู้นำที่มาจากประชาชนจะมีผลงานเด่นชัด เพราะถ้าเขามาจากประชาชนอย่างแท้จริง เขาจะทำงานเพื่อประชาชน แต่ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตามที่ได้ผู้นำมาอย่างผิดทำนองคลองธรรม เขาจะไม่เห็นหัวประชาชน แสวงหาแต่ผลประโยชน์ส่วนตน”

“ผมเคยชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่สมัย นปช. แล้ว ถ้าเราเห็นอะไรไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องออกมา ถ้าเราเลือกอยู่บ้านไม่ออกมา ก็เหมือนกับว่าเราเป็นคน ignorant”

“เวลาบ้านเมืองมีปัญหา การแก้ไขปัญหาต้องอยู่บนพื้นฐานของกติกา ถ้าอยากได้รัฐบาลใหม่ก็ต้องเลือกตั้ง ผู้ลงสมัครก็มาเสนอผลงาน ถ้าชนะก็มีสิทธิเข้ามาบริหาร แต่ไม่ใช่ว่าพอไม่ได้ดั่งใจแล้วจะเรียกร้องรัฐประหาร มันเหมือนเราเล่นฟุตบอล ลงแข่งก็ต้องมีกติกา แพ้ก็คือแพ้ ไม่ใช่ว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ชนะ มันไม่ถูกต้อง”

“ในครอบครัวเราคุยเรื่องการเมืองได้ ที่จริงทุกคนในบ้านก็ไม่ได้ชอบสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าเราใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง คุยกันบนหลักการ ไม่ใช้อารมณ์ ก็คุยกันรู้เรื่อง”

 

โอโซน อายุ 15 ปี (ลูก)

 

“ตอนรัฐประหาร 49 ผมยังอายุ 1 ขวบอยู่ พอโตมาหน่อย นั่งดูทีวีอยู่ที่บ้านก็เห็นเขาออกมาชุมนุมเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. มาเริ่มสนใจการเมืองตอนอายุ 10 กว่าปี ผมสงสัยว่าทำไมคนๆ หนึ่งถึงขึ้นมามีอำนาจบริหารบ้านเมืองได้ ทั้งๆ ที่บริหารได้ไม่ดีเท่าที่ควร”

“ตอนนั้นผมยังเด็กมาก ยังไม่เข้าใจอะไรมาก ก็คิดตามพ่อ แต่วันนี้ผมมาด้วยตัวเอง อยากมาดู อยากรู้ว่าการมาชุมนุมเป็นอย่างไร และเราก็ต้องการความเท่าเทียมเหมือนกับทุกคนที่นี่”

“ในอนาคต ผมไม่อยากเห็นรุ่นน้องของผมต้องลำบากแบบผม ไม่อยากให้โรงเรียนปิดกั้นทางความคิด ไม่อยากให้ครูเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ผมไม่อยากเห็นอะไรแบบนี้ อยากให้ฟังเสียงของทุกคน”

 

สุรพล อายุ 65 ปี

 

ผู้ชุมนุมสนามราษฎร

 

“14 ปีที่แล้วอยู่บ้าน เห็นข่าวรัฐประหารในทีวี ในสื่อต่างๆ รู้สึกไม่สบายใจ พูดเป็นคำเมืองคือ ‘โขด เคียด’ (โกรธ) ที่รัฐบาลที่มาจากเสียงของเราถูกกระทำอย่างนี้ เลยเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ร่วมกับกลุ่มคนรักฝาง แม่อาย ไชยปราการ รวบรวมเงินบริจาคเป็นค่าเดินทาง”

“ลุงได้รับผลกระทบจากรัฐประหารเหมือนคนทั่วประเทศ คือทำมาหากินฝืดเคือง จากที่เคยได้ก็ไม่ได้ คนจนก็จนลงๆ เพราะไม่มีรายได้ คนทำเกษตรก็ขายอะไรไม่ออก ลุงเป็นสล่า (ช่างรับเหมาก่อสร้าง) งานมีน้อย เงินก็น้อยด้วย แต่ก่อนเรียกค่าก่อสร้าง เขาก็ให้ เดี๋ยวนี้เรียกเท่ากันเขาบอกว่าแพงเกินไป ห้างร้านใหญ่ๆ ขายวัสดุก่อสร้างผุดขึ้นมา ร้านเล็กร้านน้อยก็อยู่ไม่ได้”

“หลังถูกปราบปราม แล้วก็เจอรัฐประหาร 2557 คนรุ่นลุงคิดว่าคงไม่มีโอกาสแล้ว พอดีน้องๆ นักศึกษามาสานต่อ ถ้าไม่มีนักศึกษา ลุงคงไม่มีโอกาสอย่างนี้ เลยเช่ารถมาจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มากันร่วมร้อย ถูกสกัดตั้งแต่ที่อำเภอแม่อาย และที่อำเภอแม่ทา เจ้าหน้าที่ถามว่ามากี่คน ผู้หญิงกี่คน ผู้ชายกี่คน จะไปทำอะไร ก็บอกว่าไปร่วมเพื่อให้กำลังใจนักศึกษา วันนี้มาเป็นแนวหลังให้นักศึกษาที่เป็นแนวหน้า”

 

พี่ยา อายุ 45 ปี

 

แม่ค้าขายเสื่อที่ชุมนุม

 

“เรามาจากขอนแก่น ไปกลับกรุงเทพฯ มา 15-16 วันแล้วก็กลับ กลับบ้านก็ทำนาทำสวนไป พอมากรุงเทพฯ ก็มาพักตามวัด ตระเวนขายเสื่อ”

“ตอนรัฐประหาร 49 เราอยู่ที่บ้าน ตอนได้ข่าวก็ตกใจ กลัว แต่ตอนนั้นไม่ได้ออกมาประท้วง ปกติไม่ค่อยมาม็อบเพราะกลัว แต่ครั้งนี้มาขายเสื่อด้วย แล้วก็มาสนับสนุนม็อบด้วย เพราะที่ผ่านมาเราหากินลำบากมาก เศรษฐกิจแย่ 2-3 ปีมานี้หาเงินยากมาก ไม่กระตุ้นขึ้นเลย แต่ก่อนนั่งเฉยๆ ก็ขายได้แล้ว 4-5 ผืน แต่ช่วงนี้ เดินทั้งวัน บางวันก็ขายได้ผืนสองผืน ย้อนไปสิบกว่าปีก่อนคนละเรื่องกับตอนนี้ แต่ก่อนอยากได้อะไรซื้อได้หมดเลย ขายของได้ แต่ตอนนี้หากินยากมาก”

 

ยู อายุ 21 ปี

 

ชูสามนิ้ว

 

“14 ปีที่แล้ว ผมรู้แค่ว่ามีการชุมนุม พ่อแม่ไม่พูดเรื่องการเมือง บอกว่าไม่ต้องสนใจการเมือง หลังรัฐประหาร 57 ผมก็ไม่ได้คิดอะไร คิดว่าบ้านเมืองสงบแล้ว จนเห็นว่ามีข่าวซื้อเรือลำน้ำ ผมเอะใจตั้งแต่แรกว่ามันจำเป็นไหม สมเหตุสมผลไหมที่ซื้อมา หลังจากนั้นก็มีข่าวจับผู้ชุมนุม นำคนไปปรับทัศนคติ ผมเห็นแล้วก็สงสัยว่าทำไมคนถึงต่อต้าน คสช. เลยหาข้อมูลไปเรื่อยๆ สืบหาความจริง ส่วนมากหาอ่านจากอินเทอร์เน็ต”

“ผมเคยเรียนคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยเอกชน แต่ออกมาเรียนเศรษฐศาสตร์แทนเพราะไม่มีเงินเรียน โรงงานของพ่อปิดตัวตั้งแต่ผมเรียน ม. 5 พ่อไม่ได้ทำงานตั้งแต่นั้น ผมคิดว่าประเทศตกต่ำลงตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 และตกต่ำมาเรื่อยๆ หลังรัฐประหาร 57 ก็ยังตกต่ำลงไปได้อีก ทั้งสิทธิเสรีภาพในการพูด การแสดงออก เศรษฐกิจก็พังมาตั้งนานแล้ว ไหนจะการใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่ก็มีข้อดีอย่างหนึ่ง คือทำให้เราเห็นความจริงของการทำรัฐประหารชัดเจนขึ้น ว่าไม่ได้สวยหรูอย่างที่เขาพยายามบอกเรา”

 

ป้าเอ – ป้าบี

 

ผู้ชุมนุมที่สนามราษฎร

 

ป้าเอ อายุ 53 ปี

“ตอนปี 49 ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ นี่แหละ พอเห็นว่ามีการทำรัฐประหาร ก็รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง เมื่อก่อนก็เคยฟังคุณสนธิ แต่พอพันธมิตรเรียกร้องเลยขอบเขตความเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว ก็ไม่ติดตามอีกเลย”

“ตอนสมัยปี 35 ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมด้วย แต่หลังชุมนุมจบก็มาดูที่ธรรมศาสตร์ ชุมนุมครั้งแรกที่เคยไปร่วมคือปี 53 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะข้อเสนอที่ม็อบเรียกร้องอยู่ในกรอบของประชาธิปไตย คือให้ยุบสภา ส่วนสมัย กปปส. เราไม่เห็นด้วยแต่แรกอยู่แล้ว เพราะการแก้ปัญหาโดยการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งอยู่นอกวิถีระบอบรัฐสภา”

“ตอนรัฐประหารปี 57 คิดว่าต้องนานมากแน่นอนกว่าจะมีวันนี้ แต่ที่จริงเด็กรุ่นนี้เขาตาสว่างสุดๆ เพราะมีสื่อออนไลน์ในมือ วันนี้เลยมาถึงเร็ว เราอยากเป็นกำลังใจให้เด็กๆ”

 

ป้าบี อายุ 67 ปี

“หลังปี 49 ทุกอย่างเลวร้ายลงหมด หลายคนพูดว่าเราจะเถียงกันเรื่องเผด็จการ-ประชาธิปไตยไปทำไม แต่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกก็เจริญหมด ไม่มีประเทศเผด็จการไหนที่เจริญก้าวหน้าเลย”

“ทุกอย่างต้องมีจุดจบของมัน วันนี้เราเข้าใจว่าเด็กๆ เขาทนไม่ไหวแล้วเลยออกมา สมัยเรียนเราก็เคยออกมาร่วมชุมนุมตอนปี 16 ส่วนตอนปี 19 เพิ่งเรียนจบ ทำงานอยู่ฝั่งศิริราชได้ยินเสียงปืนดัง เห็นคนนั่งเรือข้ามฟากมาฝั่งศิริราช เรารู้สึกว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ ทำไมถึงใช้เงินภาษีของเราแบบนี้ ในปัจจุบันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน กลับเห็นชัดยิ่งกว่าเดิมเสียอีกว่าเราเสียภาษีแล้วไม่ได้อะไรกลับมา”

 

พีเค อายุ 23 ปี และจอนอ อายุ 24 ปี

 

ผู้ชุมนุมเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ

 

ปี 49 เราเพิ่ง 9 ขวบ ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ไม่ได้สนใจการเมืองเลย มีม็อบก็รับรู้ แล้วก็ผ่านไป เหมือนข่าวสารทั่วไป เพิ่งสนใจการเมืองช่วงรัฐประหารปี 57 ตอนนั้นกำลังกลับจากบ้านเพื่อน เห็นทหารถือปืนยืนอยู่ทุกที่ เราก็สงสัยว่าทำไมต้องถือปืนแบบนี้ ทำไมต้องพยายามทำให้ประชาชนหวาดกลัว”

“จากนั้นก็หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แต่เพิ่งมาอ่านหนังสือการเมืองหนักๆ ในช่วง 2-3 ปีนี้ ช่วงนี้อ่าน ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ก่อนหน้านี้อ่าน ‘Common Sense’ อ่านหนังสือของอาจารย์ธงชัยทุกเล่ม ขาดแค่เล่ม ‘ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง’”

“14 ปีที่ผ่านมา เรามองว่าประเทศอยู่เท่าเดิม แต่ผู้คนออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น และเราดีใจที่เห็นแบบนี้”

“เราถูกแซวจากผู้หญิงด้วยกันว่าแต่งตัวแบบนี้จะไปไหน ไปหาผู้ชายหรือเปล่า ได้กี่คนแล้ว เราไม่เข้าใจว่าทำไมทักเราแบบนั้น ทำไมต้องกำหนดมาตรฐานว่าผู้หญิงที่ดีของสังคมต้องเป็นแบบไหน ทำไมแต่งตัวแบบนี้แล้วถูกตีตราว่าเลว เราถูกผู้ชายพูดจาล่วงเกินเยอะด้วย พอบอกว่าไม่โอเค เขาก็บอกว่าอย่าคิดมาก เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาทำอะไรแบบนั้นได้ แล้วทุกคนก็เห็นดีเห็นงาม”

“วันหนึ่ง เราอยากให้ผู้หญิงมีอิสระในการฝันมากกว่านี้ เราอยากเป็นแบ็กแพ็กเกอร์ เราชอบเดินทางคนเดียว แต่มีคนบอกว่าเสี่ยงนะ อันตราย แล้วทำไมต้องทำให้ความเสี่ยงนี้เป็นเรื่องปกติ ความเท่าเทียมทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ถ้ายังมีเพศหนึ่งที่มีอำนาจมากกว่า แล้วจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร”

 

ป้านุช อายุ 60 ปี

 

ผู้ชุมนุม เสื้อแดง

 

“ป้ามาม็อบนานแล้ว ตั้งแต่สมัย 14 ตุลา 6 ตุลา เสื้อแดง หรือตอนที่น้องเพนกวิน น้องจ่านิวออกมาประท้วง ไม่ว่าธรรมศาสตร์จะจัดงานที่หอประชุมหรือมีสัมมนาอะไร ป้าก็ไปตลอด”

“ยิ่งรัฐประหาร ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ ไม่มีอะไรดีขึ้น รัฐบาลพัฒนาอะไรบ้าง เขาเจริญกันไปถึงไหนแล้ว คุณยังเหมือนถอยหลัง ตอนนี้ยิ่งเลวร้ายลงมาก คนจนรากหญ้าก็จะแย่ลง เราก็เห็นใจเขานะ เราก็ระดับปานกลาง สบายๆ อยู่แล้ว แต่เราก็ไม่อยากเห็นคนที่ทำมาหากินสุจริตแล้วต้องมีปัญหา เราไม่เห็นด้วย ถึงต้องออกมา”

“ตอนรัฐประหาร 19 กันยา 49 ป้าไปต่างจังหวัด พอกลับมาตกใจ เจอทหารตามด่าน ทำไมมาเยอะแยะขนาดนั้น อะไรจะรัฐประหารกันบ่อยขนาดนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีแต่รัฐประหารๆ ประเทศจะเจริญได้อย่างไร สู้เขาไม่ได้หรอก เราก็ทนไม่ได้ ถึงต้องออกมาช่วยน้องๆ บ้าง”

“การต่อสู้ครั้งนี้ ประชาชนต้องออกมา ต้องสามัคคีกันจริงๆ นะ ถ้าออกมาน้อยก็สู้เขาไม่ได้ แต่ถ้าประชาชนรวมตัวกันจริงๆ เขาก็สู้เราไม่ได้เหมือนกัน ทหารตำรวจก็สู้ไม่ได้ น้องๆ ก็พยายามจะอธิบายทหารตำรวจอยู่แล้ว เขาก็อ่อนลงเหมือนกันนะ ใครก็รู้ว่าตอนนี้ประเทศเป็นอย่างไร มีแต่ถอยหลัง เขาอาจจะเปลี่ยนใจ ถ้ารวมกันจริงๆ เราก็สู้ได้”

 

โบวี่ อายุ 28 ปี

 

ผู้ชุมนุมที่สนามราษฎร

 

“19 กันยา 49 ผมยังเป็นนักเรียนมัธยม ยังนั่งเล่นเกมกับเพื่อนอยู่เลย ผมสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น รัฐประหารคืออะไร แต่ไม่ได้สนใจเพราะการเมืองยังเป็นเรื่องไกลตัว วันนั้นผมไม่รู้ประสีประสา เพิ่งเข้าใจเมื่อโตขึ้น เพิ่งรู้ว่าประเทศผ่านอะไรมา ผมไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก ยิ่งตอนนี้ผมเป็นนักกฎหมาย จะไม่ยอมให้ใครมาฉีกกฎหมายแล้ว”

“ผมไม่โอเคกับการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมประชาชนโดยไม่รับฟังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ ผมชอบดื่มเบียร์ เป็นผู้บริโภค คิดว่ากฎหมายปัจจุบันจำกัดทางเลือกของผม ผมตาสว่างเมื่อไปร้านที่ผลิตเบียร์เอง มีสูตร แต่ต้องส่งเบียร์ที่คราฟต์เองไปบ่มในต่างประเทศแล้วนำกลับเข้ามาซึ่งลำบากมาก ยิ่งห้ามขายสุราออนไลน์ยิ่งตัดอาชีพของพวกเขา ของพี่ๆ น้องๆ ของเรา จนอยู่กันไม่ได้”

“ผมเคยไปเที่ยวเกาะเอโนชิมะ (Enoshima) คนที่นั่นขายสาเกทำเอง เป็นไหเล็กๆ ทุบแล้วกรอกขายให้นักท่องเที่ยว บางที่ที่ดังเรื่องข้าวก็ทำสาเก ทำเบียร์จากข้าวในท้องถิ่น ผมคิดว่าเราสร้างธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นได้ แทนที่จะแค่ขายข้าวก็นำข้าวมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เรามีฝีมือทำอย่างนั้นได้ และเก่งมากด้วย”

 

ถนอม ชาภักดี ศิลปิน/นักวิจารณ์ศิลปะ

 

ผู้ชุมนุมสนามราษฎร

 

“หลังรัฐประหาร 2549 ผมช่วยต้อนรับพี่น้องจากต่างจังหวัดที่มาเข้าร่วมชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ตอนนั้นเรามองว่ากลุ่มรัฐประหารอย่างไรเขาก็เอาจริงแล้วละ เราก็ผ่านรัฐประหารมาหลายครั้งแล้ว ทำแล้วประเทศก็ตกอยู่ในสภาพแบบนี้”

“แต่สิ่งที่ผมสนใจก็คือตอนนั้นศิลปะไม่ได้คึกคักขนาดนี้ ในช่วง 2459 มีศิลปะกับการเมืองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ากลุ่มศิลปินไม่ได้ลงมาแตะกับภาคประชาชน มีแต่กลุ่มแอกทิวิสต์ทำกันเอง แต่ในระยะ 5-6 ปีมานี้ ศิลปะกับการชุมนุม การต่อต้าน กับกระบวนการของภาคประชาชนเกิดขึ้นมาก ถ้าปี 2549 มีศิลปะ มี free art มีมูฟเม้นต์แบบนี้ รับรองม่วนแท้ กระบวนการศิลปะภาคประชาชนกับภาคการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ประชาธิปไตยจะมีสีสัน มีความเป็น carnival กว่านี้”

“การประท้วงของคนรุ่นใหม่ในปี 63 น่าสนใจ คือแต่ก่อน ช่วงประท้วงตั้งแต่ปี 49 มา มีแต่ภาคประชาชน มีแต่คนทุกข์คนยาก นักศึกษายังไม่ค่อยตื่นตัว แต่ช่วงประยุทธ์ 6 ปีมานี้ ผลกระทบมันถึงเขา พ่อแม่ก็แบกรับไม่ไหวแล้ว ต้องมาเป็นภาระของลูกหลานแล้ว”

“ศิลปะกับการเมืองเพิ่งตื่นตัวในระยะที่ผ่านมา เราปฏิเสธไม่ได้ว่า กปปส. เขาใช้ศิลปะกับการเมืองเหมือนกัน แต่เป็นศิลปะที่ศิลปินทำ ยังสงวนความเป็นเอกเทศของศิลปะอยู่ ซึ่งแตกต่างจากการเคลื่อนไหวของประชาชนปลดแอกหรือศิลปินปลดแอก ที่เอาศิลปะมาอยู่กับไทบ้านหรือคนทั่วไปเลย ผมว่าตอนนี้เริ่มดีแล้ว เข้ามาหากัน มองเห็นลักษณะ art activities ไม่ได้จำกัดว่าเป็นแค่เรื่องของศิลปินแล้ว แต่นักปฏิบัติการศิลปะทุกคนที่มาร่วมชุมนุมสามารถเป็นศิลปินได้เลย เห็นได้ชัดเจน”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save