fbpx
101 visual journal 2022 video

101 Visual Journal 2022 : Video

ดูเหมือนว่าปี 2022 ยังเป็นปีที่หนักหน่วงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ทั้งรายได้ที่หดหายและค่าครองชีพที่แพงขึ้น อันเป็นผลจากรอยแผลที่วิกฤตโควิด-19 ทิ้งไว้ รวมถึงจากปัญหาที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างการอุบัติขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจทางอ้อมไปทั่วโลก

ในแง่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ปีนี้เป็นปีที่มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีนักเคลื่อนไหวอีกหลายคนที่ตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศภายหลังถูกคุกคามจากการเรียกร้องประชาธิปไตย คู่ขนานกันไปนั้น ก็มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เป็นปรากฏการณ์สร้างความหวังทางการเมืองให้ประชาชนหลายคนกันอีกครั้งหนึ่ง และยังถือเป็นปฐมบทของการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2023 นี้

ส่วนเสี้ยวหนึ่งของปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดปีที่ผ่านมานี้ 101 บันทึกไว้ผ่านคลิปวิดีโอ ทั้งที่เป็นสกู๊ปข่าวขนาดสั้นและสารคดี ที่สำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนภายใต้เงื่อนไขและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อจะบอกเล่า ‘ชีวิต’ และสิ่งละอันพันละน้อยซึ่งกอปรสร้างสังคมขึ้นมา

101 ชวนชม 10 คลิปวิดีโอเด่นจากทีมกองบรรณาธิการ 101 ตลอดปี 2022 เพื่อย้อนดูบันทึกเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในปีที่ผ่านมา


โตมากับจอ


ต้นปีที่ผ่านมาเรายังคงใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ระบาดต่อเนื่องมากว่า 2 ปีแล้ว

โควิด-19 เข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับทุกภาคส่วนในสังคม ไม่พ้นแม้กระทั้งโลกการศึกษา จนรั้วโรงเรียนต้องปิดลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเรียนออนไลน์กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ทั้งเด็ก ครู และผู้ปกครองต้องทำความรู้จักและปรับตัวอย่างฉับพลัน และยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นปัญหาใหญ่ที่ซ้ำเติมแผลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้สาหัสยิ่งขึ้น

101 เริ่มต้นปี 2565 ด้วย ‘โตมากับจอ’ สารคดี 8 ตอนที่จะทำให้ทุกคนเห็น ‘ภาพจริง’ ของปัญหาความเหลื่อมล้ำและระบบการศึกษาของไทย โดยร่วมกับ  Eyedropper Fill และ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผ่าน 8 เรื่องราวที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญของการศึกษาไทยในยุคเรียนออนไลน์ ถ่ายทำทั้งหมดผ่าน ‘จอ’ ชวนทุกคนกะเทาะปัญหาของการเรียนออนไลน์ และเปิดบทสนทนาเพื่อแก้ระบบการศึกษาไทยไปด้วยกัน


Exclusive Interview ‘คีรา รูดิก’ ส.ส. ยูเครนที่ตัดสินใจจับปืนเพื่อประเทศ




รุ่งเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศ ‘ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ’ บุกโจมตียูเครน และนั่นคือสัญญาณแห่งสงครามที่จะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์โลกในเวลาต่อมา

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกจับตามองสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย 101 มีโอกาสต่อสายตรงไปยังกรุงคีฟเพื่อคุยกับ‘คีรา รูดิก’ ส.ส. ยูเครนที่ตัดสินใจจับปืนเพื่อประเทศว่า อะไรที่ทำให้นักการเมืองอย่างเธอที่ไม่เคยคิดฝันจะจับอาวุธตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านและรับการฝึก พร้อมชวนคุยถึงความคิดความอ่านของเธอในห้วงเวลาสำคัญที่จะนำสันติภาพกลับมาสู่ยูเครน

กรรมกรก่อนฟ้าสาง แรงงานรายวันแห่งซอยกีบหมู





ช่วงเวลาตั้งแต่ตี 4 เป็นต้นไปในซอยกีบหมู ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง คลาคล่ำไปด้วยแรงงานมากหน้าหลายตา พวกเขาคือกลุ่มคนที่ตื่นแต่เช้าเพื่อมา ‘เดิมพัน’ รอรับงานในแต่ละวันว่าจะมีนายจ้างมอบหมายงานให้หรือไม่ อาจจะเป็นทั้งงานกรรมกร งานช่างเชื่อม งานฉาบปูน หรืออาจจะงานขนของเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้พอได้ค่าแรงรายวัน หรือหากวันนั้นไม่มีอะไรเป็นใจ เดิมพันพ่ายแพ้ พวกเขาก็ไม่ได้งานและไม่มีเงิน

การรับงานรายวันที่ปราศจากเงื่อนไขสัญญาระบุแน่ชัดว่าวันนี้จะมีงานหรือไม่ ก็นับว่าชวนเสียวสันหลังแล้ว ยังไม่นับว่ามันยังเป็นอาชีพที่ปราศจากตาข่ายรองรับเพื่อพลัดตกลงมาบาดเจ็บ ไม่มีสวัสดิการหรือประกันใดๆ คอยประคองหลังพวกเขาไว้เมื่อประสบอุบัติเหตุหรือถึงเวลาจวนตัว

ยิ่งกับช่วงโควิด-19 ระบาด ภาวะไร้ผนังรองรับเหล่านี้ยิ่งเด่นชัด เมื่อแรงงานรายวันต้องเผชิญหน้ากับทุกความเสี่ยง -ไม่ว่าอันตรายจากการงานหรือจากโรคภัย- ด้วยตัวเอง เป็นความตัวเปล่าเล่าเปลือยที่รัฐมองข้ามหรืออาจไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ต้น

101 ชวนรับฟังเสียงจากแรงงานในซอยกีบหมู ในวันที่รุ่งอรุณยังไม่ทาบทับลงในพื้นที่ชีวิตของพวกเขา


101 Gaze Ep.7 “Animals are city people too” สร้างเมืองน่าอยู่ (ให้) สัตว์


อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศในปีนี้ คงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

101 นำเสนอหลากหลายเรื่องราวเพื่อผลักดันนโยบายเพื่อคนกรุง แต่ในเมื่อกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่บ้านของ ‘คน’ แต่ยังเป็นบ้านของเหล่า ‘สัตว์’ น้อยใหญ่อื่นๆ ด้วย โจทย์คือเราจะสร้างกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นบ้าน ที่อยู่ได้-อยู่ดีของทุกเผ่าพันธุ์ได้อย่างไร

101 Gaze ชวนคุณไปส่องสัตว์ในเมืองกรุง ไขข้อข้องใจว่าทำไมเราต้องมีความหลากหลายภายในเมือง และวิธีออกแบบเมืองให้น่าอยู่ (สำหรับ) สัตว์ กับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว, รุจิระ มหาพรหม นักวิจัยสัตว์ป่าและกรรมการสมาคม Save Wildlife Thailand (SWT) และ ดร.กนกวลี สุธีธร อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


From Trojan Horse to Pegasus: When the Big Brother is watching you


“พี่เบิ้มยังคงจับตาคุณอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า?”

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปี 2021 นักกิจกรรมในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยและนักวิชาการอย่างน้อย 5 คนได้รับอีเมลแจ้งเตือนจาก Apple ว่า “โทรศัพท์ของคุณกำลังตกเป็นเป้าหมายของแฮ็กเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ”

นั่นคือวินาทีที่นำมาสู่คำถามว่า “พวกเขาถูกโจมตีจากอะไร และใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง?”

การดำเนินเปิดการสอบสวนโดย iLaw ร่วมกับ Citizen Lab มหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา เผยว่า โทรศัพท์ของพวกเขาถูกเจาะโดย ‘เปกาซัส’ (Pegasus) สปายแวร์ประสิทธิภาพสูงที่สามารถเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้กลายเป็นอุปกรณ์สอดแนมจากระยะไกลได้โดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว

แม้ว่าจะยังไม่สามารถชี้นิ้วไปที่ผู้กระทำการได้ 100% แต่ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ดูเหมือนว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการ ‘จับตา’ สอดส่องผู้เห็นต่างทางการเมืองจะมีเพียงแค่รัฐบาลจากการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารเท่านั้น

กระนั้น นี่เป็นเพียงแค่จิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งของปรากฏการณ์และความท้าทายจากการใช้เทคโนโลยีสอดส่องในการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก

101 Documentary ชวนชม ‘From Trojan Horse to Pegasus: When the Big Brother is watching you’

…..

“Is the Big Brother still always watching you?”

In November 2021, at least five Thai pro-democracy activists and academics received a notification from Apple, stating that “State-sponsored attackers may be targeting your phone.”

This sparked the question, “What kind of attacks were they and who was responsible for them?”

An investigation by iLaw, a Thai human rights NGO and Citizen Lab of Toronto University, Canada uncovered that their phones had been attacked by ‘Pegasus’, a highly sophisticated mercenary spyware capable of turning a phone into a remote surveillance device.

It still cannot be definitely concluded who is behind the attacks. However, against the backdrop of democratic protests, it seems that no one has enough motives or would benefit from the attacks, except the Thai government led by the former junta leader.

Nonetheless, the case of Pegasus in Thailand is just one that illustrates the global challenge on human rights and freedoms, namely digital surveillance.

101 Documentary presents ‘From Trojan Horse to Pegasus: When the Big Brother is watching you.’


มรดกรักจากสหรัฐฯ ถึงพัทยา


ทศวรรษ 1970 ภายหลังการระเบิดตัวขึ้นของสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกากระโจนเข้าสู่สงครามด้วยการส่งนายทหารจีไอ รุกคืบเข้ารบในประเทศเวียดนาม สร้างฐานทัพที่ประเทศใกล้เคียงอย่างประเทศไทยเพื่อลำเลียงหน่วยรบและเป็นท่าอากาศยานสำหรับปฏิบัติภารกิจทางการทหาร

ห้วงยามที่ทหารอเมริกันเข้ามาปักหลักสร้างฐานบินอู่ตะเภา ยังผลให้ ‘พัทยา’ เมืองท่าเล็กๆ บริเวณใกล้เคียงกลายเป็นสถานที่พักผ่อนของเหล่าทหารต่างเมือง เปลี่ยนวิถีชีวิตชาวบ้านให้กลายเป็นการทำธุรกิจรับนักท่องเที่ยว และในเวลาต่อมาได้สร้างสัมพันธ์เหนียวแน่นระหว่างผู้มาเยือนกับเจ้าบ้าน แม้เมื่อสงครามจบลง ทหารอเมริกันหลายคนก็ยังหวนกลับมายังดินแดนที่ไม่เคยหลับใหลแห่งนี้อยู่บ่อยๆ 

และในอีกทางหนึ่ง การมาเยือนของทหารจากสงครามเวียดนามนี่เองที่สร้างภาพจำพัทยาให้เป็นเมืองฉูดฉาดด้วยสุราและนารีอย่างที่ยากจะหาเมืองอื่นมาเทียบ ทั้งยังเป็นเช่นนั้นเสมอมาแม้เวลาล่วงผ่านมาแล้วหลายสิบปีหลังสงครามสงบลง

101 Documentary ชวนท่องอดีตผ่านคำบอกเล่าของพนักงานในบาร์ที่พัทยา และอดีตผู้ประสานงานการซ้อมรบระหว่างกองทัพไทยและอเมริกา 


Lasting Legacy มรดกประชาธิปไตยในอีสาน


24 มิถุนายน 2565 เนื่องในวาระ 90 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราเหลือมรดกอะไรอยู่บ้าง?

101 ชวนอ่านประวัติศาสตร์จุดแรกเริ่มของการนิยมรัฐธรรมนูญในเหล่าราษฎรสามัญ ตามรอยอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญและสัญลักษณ์ประชาธิปไตยที่ยังหลงเหลือในภาคอีสาน ภาคที่มีอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญหลงเหลืออยู่มากที่สุดในประเทศไทย 

ตามหาคำตอบของการโรยราของประชาธิปไตยหลัง 15 ปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมองการเกิดใหม่ของสำนึกพลเมืองและสัญลักษณ์ใหม่ของประชาธิปไตยในปัจจุบัน 


The Last Journey พิธีแห่งความตาย


พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน? คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร? 

การระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งความตายของผู้คนจำนวนมากและสร้างปัจจัยที่ทำให้ญาติไม่สามารถจัดพิธีกรรมอย่างปกติได้ และแน่นอนว่าไม่สามารถร่ำลาผู้ตายอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งสุดท้ายได้

ยังไม่นับว่ามีคนไร้บ้านหลายคนที่เสียชีวิตอยู่กลางถนนไร้คนเหลียวแล ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตมีเพียงอาสาสมัครกู้ภัยที่เข้ามาดูแลพวกเขา

จากสถานการณ์เหล่านี้ คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่ผู้คนจะตั้งคำถามและเผชิญกับความตายได้มากเท่าช่วงการระบาดของโรคภัย

101 เสนอสารคดีว่าด้วยความหมายของความตาย คุณค่าของพิธีกรรม การรับมือกับความสูญเสีย และวิธีดำเนินไปของคนที่ยังมีชีวิต ผ่านเรื่องราวของผู้คนหลากหลาย ทั้งคนไร้บ้าน สัปเหร่อ และผู้ที่สูญเสียพ่อจากโควิด 


กำไลอีเอ็ม ตรวนแห่งศตวรรษที่ 21 และการถูกพรากอิสรภาพโดยรัฐ


โดยจุดประสงค์แล้ว กำไลติดตามตัวหรือกำไลอีเอ็มถูกคิดค้นขึ้นมาด้วยความเชื่อเรื่องความเป็นมนุษย์ ในอันจะมีชีวิตที่ดีนอกเรือนจำและเรียนรู้การเข้าสังคมอีกครั้งแม้ผ่านการทำผิดมา 

หากแต่เมื่อมันถูกใช้เพื่อกำกับ-จับตาผู้ต้องจากคดีซึ่งมาจากการแสดงความคิดเห็น มันจึงเป็นภาวะลักลั่นย้อนแย้งของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่เอากำไลอีเอ็มซึ่งถูกประดิษฐ์เพื่อคืนเสรีภาพให้แก่ผู้ทำผิด มาคุมขังตีกรอบผู้ที่รัฐพิพากษาว่าผิดเพราะใช้สิทธิการแสดงออกตามเสรีภาพของตน

101 ชวนชม ‘กำไลอีเอ็ม ตรวนแห่งศตวรรษที่ 21 และการถูกพรากอิสรภาพโดยรัฐ’ วิดีโอที่สำรวจภาวะลักลั่นของกระบวนการยุติธรรมไทยนี้ ผ่านผู้คนซึ่งถูกกำไลอีเอ็มตรวนขา อันเป็นผลมาจากการที่พวกเขาคิดไม่ตรงกับรัฐ


จาก ‘เมนู’ สู่ ‘เมลิญณ์’ เมื่อถูกรัฐคุกคาม เยาวชนจึงลี้ภัย





“ปกติแล้ว การคุกคามมาจากตำรวจ แต่ตอนนี้การคุกคามมาจากใครไม่รู้ที่ไม่ใช่ตำรวจ แล้วเราก็รู้สึกว่าเราไม่สามารถเชื่อใจใครได้อีกต่อไป มันเป็นความรู้สึกที่เราหันไปหาใครไม่ได้แล้ว มันเป็นความรู้สึกที่โดดเดี่ยว เลยคิดว่าสุดท้ายแล้วการหนีออกมาตั้งหลักให้ตัวเอง อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเราในตอนนั้น”

เมลิญณ์ ผู้มีชื่อเดิมว่า เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม เปิดเผยความรู้สึกของเธอในห้วงขณะที่เธอตัดสินใจว่าต้อง ‘ลี้ภัยทางการเมือง’ ออกจากประเทศไทยพร้อมเพื่อนของเธอ หลังจากที่เธอออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนถูกดำเนินคดี 4 ข้อหา โดยเป็นข้อหามาตรา 112 ทั้งสิ้น 3 คดี และข้อหาละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินอีก 1 คดี ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่เธอมองว่าเต็มไปด้วยความอยุติธรรม และขณะเดียวกัน เธอและคนรอบตัวยังโดนคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ จนเธอคิดว่าไม่อาจอยู่ในประเทศนี้ได้อีกต่อไป

เรื่องราวของเยาวชนวัย 20 ปีอย่างเมลิญณ์ เป็นเพียงกรณีหนึ่งท่ามกลางภาวะที่การเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ถูกกดปราบอย่างหนักจากรัฐ บ้างโดนคดีความ บ้างโดนจับกุม บ้างถูกทำร้ายในการชุมนุม และบ้างต้องลี้ภัย โดยพบเหยื่อที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ สะท้อนว่ารัฐไร้ซึ่งสัญญาณของการรับฟังและประนีประนอมกับผู้เห็นต่าง แม้ผู้นั้นจะเป็นเพียงเยาวชน


MOST READ

Videos

19 Jan 2023

‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ การเลือกตั้งไม่เปลี่ยนอะไร ถ้าพรรคการเมืองไม่(กล้า)พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงประเด็นการเลือกตั้งปี 2566 หลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ ว่าจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร? จะเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยได้หรือไม่? หรือสุดท้าย สังคมไทยยังคงตกอยู่ในวังวนปัญหาเดิมๆ ต่อไป ถ้าพรรคการเมืองไม่(กล้า)พูดถึงการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างอำนาจจริงๆ

กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

19 Jan 2023

Media

4 Nov 2022

จาก ‘เมนู’ สู่ ‘เมลิญณ์’ เมื่อถูกรัฐคุกคาม เยาวชนจึงลี้ภัย

เมลิญณ์ หรือชื่อเดิมคือ ‘เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม’ เยาวชนนักเคลื่อนไหวการเมือง จำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังถูกคุกคามอย่างหนัก

ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

4 Nov 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save