fbpx
นโยบายแรงงานในยุค The Great Disruption

101 Policy Forum : นโยบายแรงงานในยุค The Great Disruption

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

 

การปรากฏตัวของโควิด-19 ทำให้โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายๆ ด้าน ปัญหาเดิมที่มีอยู่ถูกทำให้ชัดเจนขึ้นในช่วงวิกฤต เป็นความท้าทายอีกครั้งที่เข้ามาทดสอบความสามารถและวิสัยทัศน์ของภาครัฐในแต่ละประเทศ

คนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือแรงงาน เมื่อโลกหยุดชะงัก เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผลักให้ชีวิตคนทำงานจำนวนมากยืนอยู่บนความไม่มั่นคง นโยบายภาครัฐจะเข้ามาทำงานอย่างไรเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของแรงงานในระยะสั้น และมองไปข้างหน้าว่าจะช่วยวางนโยบายอย่างไรให้แรงงานสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทน 4 พรรคการเมือง คือ ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคเพื่อไทย, วรรณวิภา ไม้สน พรรคก้าวไกล, สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ พรรคภูมิใจไทย และ อนุสรี ทับสุวรรณ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ว่าโจทย์เรื่องนโยบายแรงงานท่ามกลางความท้าทายใหญ่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือ The Great Disruption รัฐบาลดำเนินนโยบายแรงงานได้ตอบโจทย์หรือไม่ ค่าจ้างขั้นต่ำและสวัสดิการแรงงานไทยควรเป็นอย่างไร สมดุลของชีวิตและงานสำหรับคนทุกกลุ่มจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไปจนถึงทิศทางการจัดการแรงงานนอกระบบ ใน 101 Policy Forum #6 : นโยบายแรงงานในยุค The Great Disruption

 

 

โจทย์ใหญ่นโยบายแรงงานยุค The Great Disruption

 

อะไรคือโจทย์ใหญ่นโยบายแรงงานในยุค The Great Disruption ที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีปัญหา และถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โควิด-19

 

ธิดารัตน์ : ในยุค The Great Disruption นโยบายแรงงานเป็นปลายเหตุของประเด็นเศรษฐกิจในภาพรวม โจทย์จึงไม่ใช่แค่ว่านโยบายแรงงานจะเป็นอย่างไร แต่คือเราจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐบาลสอบตก 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยในการตอบรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และแม้โควิด-19 จะผลักดันให้เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เร็วขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ ยิ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้นไปใหญ่

พอเกิดการเปลี่ยนแปลงจะมีคน 2 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มแรกคือคนทำงานออฟฟิศ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เขาสามารถเอาตัวรอดได้ แต่อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าที่จะปรับตัวไม่ได้เลย มาตรการเยียวยาของรัฐก็ไม่ได้ช่วยพวกเขาได้อย่างทันท่วงที นโยบายเยียวยามีปัญหาเยอะมาก ทั้งระบบ ความเชื่องช้า หรือการไม่เข้าถึงคนที่ได้รับปัญหาจริงๆ ส่วนนโยบายในระยะยาว เราก็ยังไม่เห็นจากรัฐบาล แม้จะมีกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ก็ไม่ได้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป

สำหรับนโยบายการช่วยเหลือ เพื่อไทยเห็นว่าอย่างแรกคือเราต้องช่วยคนตัวเล็ก โดยดูว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งอย่างไรบ้าง เช่น ประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้านอาหาร การเกษตร การท่องเที่ยว และรถยนต์ แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายสร้างความเข้มแข็งในเรื่องที่ประเทศไทยเก่ง เราควรจะมีการช่วยเหลือ SMEs โดย 1.ยกเลิกกฎหมายที่ยุ่งยากให้สามารถประกอบการธุรกิจได้ง่ายขึ้น 2.หาตลาดให้พวกเขาสามารถขายของได้ 3.มีเงินสนับสนุน และ 4.มีการสร้างเครือข่ายให้คนตัวเล็กตัวน้อยมีอำนาจต่อรองต่อกลุ่มทุนใหญ่ได้

รัฐควรให้ความรู้ผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่มองว่าให้เงินเพื่อไปประกอบอาชีพเดิมที่เคยทำ เพราะโควิด-19 อาจทำให้หลายอาชีพหายไปหรือเปลี่ยนแปลงไป สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถอยู่ได้ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานยุคหลังโควิด

 

วรรณวิภา : ทุกคนควรได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและชั่วโมงการทำงานที่ไม่เยอะ เพื่อสอดคล้องกับโลกเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามา การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังล่าช้า ซ้ำซ้อน และไม่ตอบโจทย์ เพราะช่วงก่อนเกิดโควิดก็มีอัตราการเลิกจ้างที่สูงมาก แต่รัฐบาลยังนิ่งเฉย ไม่มีมาตราการใดๆ ออกมา กระทรวงแรงงานยังคงมองแต่อัตราเกิดของโรงงานมากกว่าอัตราการเลิกจ้าง และเงินเยียวยายังตกหล่นอีกจำนวนมาก เพราะรัฐมีหลักเกณฑ์ไม่ชัดเจน แรงงานหลายรายต้องกู้เงินนอกระบบ หลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน

ช่วงโควิด-19 หลายประเทศออกมาตรการร่วมกับบริษัทต่างๆ เช่น หากไม่มีการเลิกจ้างแรงงาน ทางภาครัฐจะลดหย่อนภาษีให้ แต่ประเทศไทยไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลย นอกจากช่วยเหลือหรืออุ้มหุ้นกู้ให้กับบริษัทใหญ่ๆ ในขณะที่ SMEs จะอยู่ไม่ได้ กระทรวงแรงงานยังผลักภาระให้ประกันสังคมมีสิทธิล่มได้ เพราะว่ากองทุนประกันว่างงานไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น

ตอนนี้พรรคก้าวไกลกำลังเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ยังไม่ตอบรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและมีการบังคับใช้ไม่เต็มที่ ทำให้ลูกจ้างต้องตกงานและไม่มีระบบอะไรมารองรับ โดยในพ.ร.บ.ที่ยื่นไป มีการเสนอให้ขึ้นฐานรายได้ขั้นต่ำที่สม่ำเสมอโดยขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในแต่ละปี การกำหนดค่าจ้างตามประสบการณ์ คุณภาพชีวิตของแรงงานไทยจะดีขึ้นได้ ต้องปรับแก้กฎหมาย เพราะระบบสวัสดิการและการคุ้มครองที่ดี จะทำให้คนทำงานสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง มีการจ้างงานที่มั่นคง สร้างโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ ตามมาอีก

ระบบกฎหมายและสวัสดิการด้านแรงงานที่สูงขึ้น จะกระตุ้นให้นายจ้างพัฒนาการผลิตที่เป็นมิตรกับแรงงานมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่พัฒนามากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กกลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่มากขึ้น

การช่วยเหลือเร่งด่วน ภาครัฐควรพยุง SMEs ขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยอาจลดภาษีหรือให้เงินอัดฉีดช่วยเหลือลูกจ้าง เพราะการพยุงธุรกิจเหล่านี้เป็นการพยุงการจ้างงานไม่ให้คนอีกหลายล้านคนตกงาน

 

สิริพงศ์ : ช่วงนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั่วโลก อัตราการเลิกจ้างสูงขึ้นไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทย บริษัทต่างๆ ลงทุนใช้เครื่องจักรแทนคนแล้วต้นทุนก็ลดลงมาก ในอนาคตอาชีพที่จะสามารถดำรงอยู่ได้หลังจากดิสรัปชัน คืออาชีพด้านบริการหรืออาชีพที่ใช้ทักษะสูง วันนี้ต้องยอมรับว่าเราไม่มีมาตรการสำหรับโลกอนาคตเลย

สถานการณ์ในวันนี้ไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะกระทรวงแรงงาน แต่กระทบอีกหลายกระทรวง ซึ่งยังทำงานกันแบบต่างคนต่างทำ ไม่บูรณาการ กระทรวงอุตสาหกรรมมองว่าการใช้เครื่องจักรจะลดต้นทุนได้ แต่คนที่ถูกเลิกจ้างจะทำอย่างไร วันนี้หลายบริษัทเตรียมเลย์ออฟพนักงานและเตรียมรีสกิล เพื่อว่าหลังออกจากงานแล้วเขาสามารถไปประกอบอาชีพอื่นได้ เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลควรศึกษา เพราะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นอุปสรรคใหญ่มากในการปรับตัวให้ทันโลกยุคใหม่ สิ่งที่รัฐบาลยังขาดอยู่คือการมองโลกในระยะที่ยาวขึ้น ซึ่งต้องมองตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่การศึกษา ค่านิยมในการศึกษาจะต้องเปลี่ยน ที่ผ่านมาเรานิยมคนจบปริญญาตรี แต่ในโลกอนาคต คนที่จะอยู่ได้คือคนสายอาชีวศึกษา และเราต้องทำให้เด็กๆ มีทักษะ สามารถค้นหาตัวตนได้ตั้งแต่มัธยม

ด้านมาตรการระยะสั้น รัฐบาลแก้ปัญหาหลายอย่างได้ค่อนข้างถูกทาง สำหรับภาคธุรกิจในสภาพที่เกิดโควิด คนไม่ซื้อไม่ขาย สิ่งที่เขาต้องการคือเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจะสามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ คือสถาบันการเงินล้มไม่ได้ นโยบายประกันสังคมจะต้องมีการช่วยภาคแรงงานมากกว่านี้ ส่วนนโยบายในการช่วยผู้ประกอบการอย่างต่างประเทศ ประเทศไทยก็มี เช่น บริษัทที่ไม่ได้เลิกจ้างงาน สามารถนำค่าจ้างที่เราไม่ได้เลิกจ้าง ไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

นโยบายเหล่านี้เมื่อครบกำหนดแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น รัฐบาลก็จำเป็นต้องยืดอายุนโยบายออกไป ต้องช่วยผู้ประกอบการ ถ้าผู้ประกอบการไปรอด แรงงานก็ไปได้

 

อนุสรี : การประเมินการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลสอบผ่าน เพราะโควิด-19 เป็นโจทย์ยากสำหรับทุกประเทศ ที่ไทยครองตัวมาได้ขนาดนี้ด้วยการใช้จุดแข็งด้านสุขภาพ เราน่าจะมาถูกทาง เพราะถ้าคนป่วยทั้งประเทศ เศรษฐกิจไปไม่ได้แน่นอน เราต้องประคองตัวไม่ให้ล้มและเดินต่อไปได้ ช่วงหลังโควิดทำอย่างไรให้คนมีงานทำมากที่สุด ปรับคนให้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี ใครที่ยังไม่สามารถปรับได้ก็มาดูว่าจะฝึกทักษะเขาได้อย่างไร

สำหรับภาคแรงงาน ช่วงโควิดเราต้องปรับเพื่อจะเดินต่อไปข้างหน้า เช่น การใช้นโยบายช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยี การลงทุนในเมกะโปรเจกต์ควรมีการฝึกทักษะอาชีพให้เข้ากับสภาวการณ์ หลักสูตรการเรียนก็ต้องปรับเปลี่ยน

บางคนที่อาจไม่สามารถปรับไปใช้เทคโนโลยีได้ เราอาจต้องยอมเรื่องการจ้างงานแบบใหม่ เช่น gig workers ที่ไม่ได้ทำงานแบบลูกจ้างประจำ แต่จ้างงานแบบโครงการ ทำให้สามารถหาอาชีพเสริมอื่นเพื่อชดเชยรายได้ สำหรับ 20 เจ้าสัวที่ท่านนายกฯ ไปขอความร่วมมือ สิ่งที่ดีที่สุดคือให้งานทำ คุณจะรับคนตกงานเข้าไปทำงานได้อย่างไร

ต่อไปเราก็จะมีลูกจ้างลักษณะแรงงานนอกระบบมากขึ้น คนทำงานในระบบของมาตรา 33 ประกันสังคมจะน้อยลง พรรครวมพลังประชาชาติไทย เสนอ พ.ร.บ.แรงงานนอกระบบ ในการคุ้มครอง ดูแล และพัฒนาศักยภาพ ให้ทุนประกอบอาชีพ คุ้มครองสวัสดิการที่ขาดไปจากการใช้มาตรา 33 นี่คือการปรับทั้งระบบการทำงานของแรงงาน ที่จะทำให้คนมีรายได้ มีงานทำ และประเทศชาติเดินต่อไปได้

ต้องยอมรับว่าภาครัฐมีเทคโนโลยีและคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสู้ภาคเอกชนไม่ได้ ถ้าให้ภาคเอกชนเป็นผู้ฝึกเพื่อกระจายความรู้ด้านเทคโนโลยี รัฐอาจเสริมด้วยการให้สินเชื่อหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่โรงงานหรือ SMEs ขนาดเล็กที่ฝึกสอน รวมถึงที่ยังคงการจ้างงานไว้

 

ค่าแรงขั้นต่ำและคุณภาพชีวิตแรงงาน

 

ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ หากต้องปรับควรเป็นเท่าไหร่ และรัฐควรมีสวัสดิการอะไรเพิ่มเติมอีก

 

วรรณวิภา : รัฐบาลทำงานมา 2 ปีก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่หาเสียงไว้ว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท ค่าแรงขั้นต่ำไม่มีการปรับขึ้นมาหลายปีแล้ว ครั้งล่าสุดคือตอนพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลปรับเป็น 300 บาท จากนั้นไม่มีการปรับขึ้นเป็นกิจจะลักษณะอีกเลย ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่พรรคก้าวไกลเสนอ มีเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่า 10 ปีแล้วปรับครั้งหนึ่ง ทำให้สถานประกอบการแต่ละที่ไม่สามารถรับกับตัวเลขได้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะเป็นต้นทุนที่สูงมาก ควรปรับแบบสม่ำเสมอตามเศรษฐกิจแต่ละปี สิ่งที่รัฐควรจัดให้ประชาชนคู่ขนานไปกับค่าแรงขั้นต่ำ คือการกำหนดค่าจ้างตามประสบการณ์และมาตรฐานแรงงาน เพื่อป้องกันการที่ผู้ใช้แรงงานต้องอยู่กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตลอดอายุการทำงาน นอกจากผู้ใช้แรงงานในระบบได้ประโยชน์แล้ว คนทำงานรุ่นใหม่ก็น่าจะได้ประโยชน์ด้วย กลุ่มทุนก็สามารถวางแผนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีได้ดีขึ้น และยังสามารถสร้างมาตรฐานให้กลุ่มทุนสามารถเติบโตได้ในระบบสากล

วันนี้ปัญหาใหญ่ที่สุดของขบวนการแรงงานคือการทำงานที่ไม่มั่นคง ด้วยรูปแบบการจ้างเหมาชั่วคราว บริษัทรับเหมางานจะจ้างในค่าแรงที่ถูกกว่าลูกจ้างประจำและได้สวัสดิการที่น้อยกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ข้อกฎหมายยังมีช่องโหว่ ส่วนใหญ่จะใช้บริษัท sub-contract กันเยอะ ทำให้มาตรา 11/1 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานใช้งานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรในเรื่องของการจ้างงานให้มีความเสมอภาคกัน

 

อนุสรี : ค่าจ้างไม่ได้กำหนดโดยรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่กำหนดโดยคณะกรรมการไตรภาคีสามฝ่าย ประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ที่กำหนดออกมาเป็นค่าจ้างกลุ่มโซนแต่ละจังหวัดที่มีสูตรของการคำนวณโดยใช้ข้อมูลของแต่ละจังหวัด จากปัจจัยที่ใช้คำนวณต้องบอกว่าเหมาะสมแล้ว แต่ความพอใจย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคน ความจำเป็นของแต่ละครอบครัวมีไม่เหมือนกัน

ถ้าดิฉันสามารถกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำได้ คิดว่าขอชดเชยด้วยการเพิ่มการดูแลด้านสวัสดิการแทน อาจเป็นสวัสดิการป้องกันด้านสุขภาพที่มากไปกว่าการรักษาก็ได้ เช่น วัคซีนโรคติดต่อที่ต้องให้มีกับทุกกลุ่มวัย หรือการดูแลด้านโภชนาการสำหรับกลุ่มคนที่มีลูกเล็ก การดูแลด้านทันตกรรม การตรวจสุขภาพเชิงลึก ถ้ารัฐบาลเข้ามาดูแลสวัสดิการที่ให้เพิ่มมากขึ้นในการสนับสนุน น่าจะเป็นทางออกที่ดีขึ้น ในเรื่องมาตรฐานฝีมือแรงงาน ก็น่าจะเพิ่มค่าจ้างได้ด้วย เช่น มีการอบรมเพิ่มขึ้น มีประกาศนียบัตรที่เป็นที่ยอมรับ จะเป็นอีกทางหนึ่งของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

 

สิริพงศ์ : กลไกเกี่ยวกับค่าแรงจะมีคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในแต่ละพื้นที่ การกำหนดค่าแรงจากส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าแรงในลักษณะก้าวกระโดด เป็นนโยบายหาเสียงที่ดูตื่นตาตื่นใจ แต่มีผลกระทบมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคการเกษตร เช่น ศรีสะเกษมีภาคการเกษตรมากกว่าภาคอุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้ค่าแรงอยู่ที่ 170-200 บาท แต่พอประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันหมดทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการถูกบังคับให้ต้องจ่าย 300 บาทเท่ากรุงเทพฯ เวลาลงแขกเกี่ยวข้าวเคยให้กัน 150-170 บาท พอต้องจ่าย 300 บาท สิ่งที่เกิดขึ้นคือเลิกใช้แรงงาน ใช้รถเกี่ยวข้าวหมด ในความเห็นของผม นโยบายค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นต้องปรับขึ้นตามสภาพเงินเฟ้อ

เห็นด้วยที่พรรคก้าวไกลบอกว่า ควรปรับเป็นระยะๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ แต่มันต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และคนกลาง ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมควรเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นมีโอกาสได้พูดคุยกัน โดยภาครัฐคอยให้คำแนะนำ การสนับสนุน และเป็นผู้ช่วยเหลือในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ไม่ใช่คนคอยมากำหนดว่าจะต้องเป็นเท่าไหร่

สำหรับการช่วยเหลือด้านสวัสดิการ ภาครัฐควรช่วยเหลือเพิ่มเติมเรื่องสวัสดิการด้านสุขภาพ ผู้ใช้แรงงานสมควรเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเท่าเทียมกับสิทธิอื่นๆ เราเคยได้ยินมาว่าสมัยที่จะมีกองทุนเงินออมแห่งชาติ มีการพูดคุยกันว่าสวัสดิการของประกันสังคมมีสิทธิด้อยกว่าบัตรทองด้วยซ้ำ นี่เป็นปัญหาใหญ่ ประกันสังคมซึ่งมีเงินในกองทุนเยอะมากจะทำอย่างไรถึงจะดูแลผู้ใช้แรงงานได้ดีกว่านี้

นอกจากนี้เรายังควรคิดถึงสิทธิด้านการศึกษาที่เท่าเทียมกันของลูกหลานผู้ใช้แรงงาน หรือพูดได้ว่าคนไทยทุกคนควรได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพที่เท่าเทียมกันอย่างทั่วถึง ผมมองว่าสุขภาพกับการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ

 

ธิดารัตน์ : ค่าแรงขั้นต่ำถ้าจะคุยเรื่องตัวเลขวันนี้ไม่จบแน่นอน เห็นด้วยว่าหลายภาคส่วนต้องมานั่งตกลงกัน และควรจะค่อยๆ ปรับขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ แต่เรื่องสวัสดิการ ไม่อยากให้ตีความหมายคำว่าแรงงานแคบไป สวัสดิการแรงงานต้องครอบคลุมทั้งคนทำงานในระบบ นอกระบบ รวมถึงคนตกงานและคนที่กำลังเข้ามาสู่ภาคแรงงาน ซึ่งคือคนที่จบใหม่หรือคนรุ่นใหม่ด้วย

ในระยะสั้นที่มีแรงงานหลายคนตกงาน ต้องมีการช่วยเหลือผู้ที่จ้างงานก่อน ไม่เช่นนั้น เขาจะไม่มีเงินไปช่วยเหลือแรงงาน แต่คนอีกกลุ่มซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่และมีผลกระทบมากกว่า คือคนหาเช้ากินค่ำ เขาไม่มีแม้แต่วิธีการที่จะเข้าถึงสวัสดิการเลยด้วยซ้ำ รัฐต้องมองนโยบายในภาพใหญ่ว่าควรจะมีสวัสดิการอะไรในการช่วยเหลือเขา

พรรคเพื่อไทยเสนอว่า รัฐควรจะจ้างคนให้เรียนหนังสือ จ้างคนให้มีทักษะใหม่ที่จะสามารถเอาไปทำงานได้เลย เหมือนที่สิงคโปร์มีคูปองเรียนหนังสือ และมีสถาบันคุณภาพเปิดให้คนได้เข้าไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เป็นเทรนด์ของโลกเพื่อให้คนสามารถใช้ทำงานได้ นอกจากนี้ รัฐมีหน้าที่จับคู่แรงงานกับเทรนด์เศรษฐกิจโลกและเทรนด์เศรษฐกิจคนไทย ตอนนี้เราเข้าสู่สังคมสูงวัย รัฐต้องฝึกคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะดูแลผู้สูงอายุได้ ฝึกคนรุ่นใหม่ให้รู้เทคโนโลยีให้มากกว่าที่เขารู้ในตอนนี้ รัฐควรจะเตรียมนโยบายมาตอบรับเรื่องการทำงานกับหุ่นยนต์

เราต้องมองอีกด้วยว่าความเข้มแข็งของแรงงานไทยคืออะไร เช่นอุตสาหกรรมเกมที่คนไทยมีความเชี่ยวชาญมากในงานกราฟิกก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าสนับสนุนให้มีแรงงานไทยที่ถูกฝึกฝนให้เข้าไปทำงานส่วนนี้ได้มากขึ้น

เรื่องเทคโนโลยีต้องมองว่ามีอะไรที่เรามีและสามารถหยิบขึ้นมาใช้เพื่อสร้างเงินให้กับประเทศได้ อย่างเรื่องผลิตภัณฑ์ Geographical Identification – GI เป็นการสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในแต่ละจังหวัด พอไปขายต่อ ทำให้ยิ่งได้กำไรมากขึ้น

ส่วนของแรงงานที่ไม่สามารถเลือกนายจ้างได้ รัฐต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้อำนาจต่อรองกับคนตัวเล็กตัวน้อย ในบางอุตสาหกรรมมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งมาก เพราะรัฐมีพื้นที่ให้เขาสามารถรวมตัวกันและมีอำนาจต่อรองได้ รัฐจึงต้องให้อำนาจเต็มที่ในการให้เขารวมตัวกันตกลงในเรื่องต่างๆ

สำหรับบทบาทของแต่ละฝ่ายในการกำหนดสวัสดิการแรงงาน เราควรมานั่งคุยกัน เพราะทุกคนมีเหตุผลของตัวเองว่าทำไมสวัสดิการต้องเป็นแบบนี้ เป็นกลไกเดียวกับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อเป็นกระบวนการที่โปร่งใส ทุกคนสามารถตรวจสอบได้

 

สมดุลของชีวิต-การทำงาน

 

ตอนนี้ภาครัฐกำลังผลักดันให้แรงงานมีสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น การพิจารณานโยบายลักษณะนี้ควรใช้เงื่อนไขอะไรบ้าง และแรงงานจะมีบทบาทอย่างไร

 

อนุสรี : แนะนำให้กำหนดการออกกำลังกายเป็นวัฒนธรรม เพราะการป้องกันดีกว่าการรักษา การออกกำลังกายเป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกันโรค เรากำหนดให้ใส่ชุดไทยวันศุกร์ ชุดข้าราชการในวันจันทร์ได้ ทำไมถึงจะไม่สามารถกำหนดให้มีวันออกกำลังกายที่เป็นมาตรฐานได้ อาจจะเป็นวันพุธหรือวันพฤหัสบดี เพื่อส่งเสริมให้คนเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย

ส่วนแรงงานที่ใช้กำลังนั้นมีความต่างกันกับการออกกำลังกาย ผู้ประกอบการต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลายืดเส้น ยืดสาย มีการผ่อนคลาย ควรต้องมีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เช่น การเต้นแอโรบิก วิ่งไล่พุง หรืออาจจัดกิจกรรมในสถานประกอบการโดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน และรัฐบาลมีการตรวจสอบว่าสถานประกอบการมีการสนับสนุนเรื่องนี้หรือไม่

 

สิริพงศ์ : ธรรมชาติของคนทำงานในยุคนี้ให้น้ำหนักการทำงานและการใช้ชีวิตพอๆ กัน เช่น คนยุค baby boomer จะถูกปลูกฝังว่าต้องทำงานให้มาก คอยอาสาว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง คนเจน X จะอาสาบ้างตามตามอารมณ์ ส่วนเจน Y จะไม่อาสาทำอะไรเลยแต่ถ้าวานให้ช่วยก็จะทำ แต่สำหรับคนเจนใหม่ๆ จะไม่รับงานอื่นเลย จะทำงานแค่ส่วนของตนเอง

ในยุคก่อนหมอต้องเปิดคลินิกเพื่อหารายได้เสริม แต่ปัจจุบันหมอเลือกทำงานเอกชนเพื่อหารายได้เสริมแทน เพราะจะมีเวลาได้ใช้ชีวิตมากกว่าการเปิดคลินิกที่เสียเวลาและความเป็นส่วนตัว

พรรคภูมิใจไทยมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อก่อนลูกจ้างทำงานล่วงเวลาแล้วมีการจ่ายโอที แต่ในยุคนี้ต้องกำหนดเวลาการทำงานให้ชัดเจน ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เนื่องจากวิถีชีวิตต่างจากเมื่อก่อน เรื่องการเวิร์กฟรอมโฮมอาจจะบอกไม่ได้ชัดเจนว่าในหนึ่งวันเราทำงานกี่ชั่วโมง แต่หากทำงานที่ออฟฟิศ 4 วัน และมีการเพิ่มวันทำงานนอกสถานที่ได้ นอกจากคุณภาพชีวิตของแรงงานจะดีขึ้นแล้ว การท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น รถติดลดลงอย่างน้อย 30% แม้ว่าในเวลาปฏิบัติจริงการทำงานที่บ้านอาจมีปัญหาแตกต่างกันไปตามสภาพ แต่เชื่อว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของอนาคต เพราะเวิร์กฟรอมโฮมจะเป็นประโยชน์มาก

ในรูปแบบการทำงานที่ไม่สามารถเวิร์กฟรอมโฮมได้ก็ต้องมีเวลาการทำงานที่ชัดเจน อย่างในประเทศที่เจริญแล้วจะมีการกำหนดว่า 1 สัปดาห์จะต้องทำงานกี่วัน และวันละกี่ชั่วโมง แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำงานล่วงเวลาจึงต้องชดใช้ผ่านโอที ต่อไปอาจจะแก้กฎหมายจากเดิมโอที 1.5% เป็น 2% เพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน

 

ธิดารัตน์ : เรื่อง work life balance แรงงานแต่ละแบบมีปัญหาและวิธีแก้ที่แตกต่างกัน จึงต้องแบ่งเป็นกลุ่มคนออฟฟิศและแรงงานหาเช้ากินค่ำ

พนักงานออฟฟิศมีปัญหาเรื่อง work life balance มาตั้งแต่โลกตะวันตก แต่เพิ่งเริ่มเป็นปัญหาระดับโลกในช่วงโควิดที่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม จนตอนนี้สามารถทำงานได้ทุกที่ ปัญหาของแรงงานที่ต้องทำงานที่บ้านคือการทำงานล่วงเวลา ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตของแรงงาน ในช่วงโควิดพบว่าพนักงานออฟฟิศมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ทำงานหนักขึ้นแต่เงินเท่าเดิม ด้วยปัญหาเศรษฐกิจหรือกฎหมายก็ส่งผลถึงอำนาจต่อรองของลูกจ้าง อีกส่วนคือการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่จะหาความพอดีกัน

ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือแรงงานหาเช้ากินค่ำ พวกเขาเลือกไม่ได้ระหว่างเงินกับเวลา เพราะสุดท้ายต้องเลือกทำงานมากให้ได้เงินมากเพื่อไปจุนเจือครอบครัว หลายครั้งทางออกคือการทำงานมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้สภาพแวดล้อมของการทำงานมี productivity มากขึ้น คำตอบคือการใช้เทคโนโลยีมาทำงานแทนแรงงานราคาถูกหรือแรงงานที่แทบจะไม่มีเวลาพัก ส่วนคนต้องเปลี่ยนผ่านไปทำงานที่สามารถพักได้ และทำงานที่สามารถมี work life balance ได้ เช่น การใช้ precision farming ที่สามารถบอกสภาพภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ และสามารถบอกผลผลิตโดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ผ่านดาต้า จะสามารถช่วยให้เรามีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น

ส่วนแรงงานที่ไม่มีทักษะ รัฐต้องเข้าไปเพิ่มทักษะให้แรงงาน ทำให้แรงงานสามารถมีเวลามากขึ้นและทำงานน้อยลง เพื่อทำให้มี productivity มากขึ้น นี่คือโจทย์ของรัฐที่จะต้องปรับเปลี่ยนผ่านการจ้างคนเรียนหนังสือ หรือการเพิ่มทักษะให้คนและแก้ไขโครงสร้างของแรงงานทั้งหมด

ภาครัฐควรทำทั้งการทำนโยบาย แก้ไขกฎหมาย และเพิ่มแรงจูงใจ ซึ่งตามกฎหมายจะระบุเวลาการทำงานอยู่แล้ว แต่เรื่องการจูงใจถ้าคนต้องการจะออกจากการเป็นแรงงานที่ไม่มีตัวเลือก ภาครัฐก็ต้องเข้าไปสนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้นด้วย

 

วรรณวิภา : ต้องแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องการทำงานและวันหยุด เพราะปัจจุบันยังใช้กฎหมายฉบับปี 2541 คือ ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ถ้าไม่มาทำงานแรงงานก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง ทำให้แรงงานจำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงในการทำงานหรือหารายได้เพิ่ม เนื่องจากรายได้ไม่พอต่อค่าใช้จ่าย

ถ้าไม่ปรับฐานค่าจ้างรายวันเป็นรายเดือน การทำงานแบบรายวัน หากวันไหนหยุดก็จะไม่ได้ค่าจ้าง จึงต้องมาทำงานทั้งวัน รายได้ไม่พอต่อรายจ่าย ส่งผลให้งานที่ทำกลายเป็นงานที่ไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นเรื่องชั่วโมงการทำงาน ถ้าจะให้สอดคล้องกับเรื่องเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ต้องทำการแก้ไข สิ่งที่ AI ทำไม่ได้คือความคิดสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับการทำงาน ถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มในกระบวนการ ชั่วโมงการทำงานของแรงงานก็จะลดลง ส่งผลให้ค่าแรงลดลงตามไป แต่จะลดอย่างไรให้ผู้ประกอบการและแรงงานไม่ได้รับผลกระทบ ปัจจุบันต้องมีการปรับและแก้อีกเยอะ บางสถานประกอบการอาจไม่สามารถรับพนักงานแบบประจำได้ทั้งหมด แต่งานในโรงงานอุตสาหกรรมที่แรงงานทำงานแบบเดิมทุกวันควรปรับเปลี่ยนจากรายวันเป็นรายเดือน

ในระยะยาวเด็กเรียนจบใหม่ไม่มีงานทำ เนื่องจากตลาดแรงงานในอนาคตไม่ตรงกับสิ่งที่แรงงานมี กระทรวงศึกษาต้องคุยกับกระทรวงแรงงาน เพื่อที่จะได้ผลิตแรงงานออกมาให้ตรงกับตลาดแรงงานและจะทำให้คนไม่ตกงาน

กรณีลูกจ้างรายวันไม่สามารถมี work life balance ได้เลย ตอนนี้มีแรงงานนอกระบบราว 21 ล้านคน แต่ถ้ารวมแรงงานในมาตรา 39 และมาตรา 40 ก็ราว 26 ล้านคน นับเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าไม่มีสวัสดิการพื้นฐาน เช่น สาธารณสุข การเดินทางขนส่งสาธารณะ มาช่วยประชากรส่วนนี้ แรงงานเหล่านี้ก็ต้องดิ้นรนเอง เพราะไม่มีอะไรมาเป็นพื้นฐานรองรับได้เลย

 

แรงงานนอกระบบต้องได้รับการดูแลทั่วถึง

 

แรงงานนอกระบบพอไม่มีสวัสดิการก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตหลายด้าน ประเทศไทยควรมีนโยบายอย่างไรเพื่อสามารถดูแลแรงงานนอกระบบได้อย่างทั่วถึง

 

อนุสรี : เมื่อโลกเปลี่ยนไปจึงส่งผลให้แรงงานนอกระบบมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งต้องได้รับการชดเชยดูแลไม่ต่างจากแรงงานในระบบ การจะนำแรงงานนอกระบบเข้ามาในระบบต้องมีแรงจูงใจ เช่น ประกันสังคมในมาตรา 40 ที่จะทำให้กลุ่มแรงงานได้รับบำนาญหรือบำเหน็จ

การรวมกลุ่มอาชีพเพื่อทำให้เกิดเงินกู้เพื่อประกอบอาชีพ ต้องได้รับพัฒนาดูแลและคุ้มครองกลุ่มแรงงานนอกระบบให้มากขึ้น พรรครวมพลังประชาชาติไทยได้ทำเรื่องเสนอ พ.ร.บ.แรงงานนอกระบบเข้าสู่สภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ธิดารัตน์ : ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยแรงงานนอกระบบมากกว่า 50% พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบมาตลอดว่าอะไรที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้มันถูกต้อง เพราะแรงงานเหล่านี้มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

ถ้ามีการลงทะเบียนเป็นแรงงานในระบบทางภาครัฐก็จะสามารถติดตาม ดูแล และตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง ระบบการติดตามตรวจสอบนั้นให้ประโยชน์กับประเทศมากกว่าเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าเราขาดแรงงานส่วนนี้ไปเป็นไปไม่ได้แน่ที่ประเทศจะขับเคลื่อนไป แต่ถ้าเราให้สวัสดิการที่ดีกับแรงงาน จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

ส่วนกลุ่มแรงงานข้ามชาติมีทั้งกลุ่มที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยซึ่งต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และกลุ่มคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ อย่างกลุ่มผีน้อย ในเกาหลีใต้ หรือแรงงานไทยในอุซเบกิสถานที่มีความต้องการอยากจะกลับประเทศ นโยบายของรัฐยังตอบสนองเรื่องแรงงานนอกระบบได้ไม่ดีพอ อย่างกรณีผีน้อย พรรคเพื่อไทยพูดอยู่เสมอว่าคนไทยต้องมีสิทธิกลับบ้านเกิด และคนไทยต้องได้รับสิทธิการดูแลจากรัฐ นี่คือหน้าที่โดยชอบธรรมของรัฐที่จะต้องดูแลประชาชน  รัฐบาลควรดูแลทั้งคนที่เข้ามาทำงานในประเทศและคนที่ออกไปทำงานต่างประเทศ

ถ้าจะให้แรงงานนอกระบบกลับมาอยู่ในระบบ ต้องทำให้แรงงานกลับมาลงทะเบียนในระบบโดยไม่มีการลงโทษ ปัญหาคือเรายังต้องการแรงงานอย่างพวกเขา และทำทุกอย่างให้เป็นระบบ เพื่อจัดการให้มีประสิทธิภาพมากสุด

 

วรรณวิภา : แรงงานในระบบในมาตรา 33 มีจำนวน 12 ล้านคน และแรงงานในมาตรา 39 และมาตรา 40 ประมาณ 5 ล้านคน ส่วนกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในมาตราใดเลยมีประมาณ 21 ล้านคน กลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าระบบเลยคือกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ หาบเร่แผงลอย คนขับแท็กซี่ ถ้ารัฐบาลอยากให้คนกลุ่มนี้เข้ามาในระบบ ควรปรับปรุงมาตรา 40 ให้เท่ามาตรา 33 เพราะสิทธิบัตรทองก็ไม่ต่างอะไรกับสิทธิในมาตรา 40 เห็นได้ชัดว่ายังไม่มีแรงจูงใจที่จะทำให้แรงงานอยากเข้ามาในระบบ โดยอาจลองปรับให้มาตรา 40 มีประกันการว่างงานในช่วงโควิด มีบำนาญ ต้องทำให้เห็นว่าให้มีความมั่นคงมากขึ้น

อีกประเด็นที่สามารถทำได้ทันทีคือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ร่วมจดจัดตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  หรือ ILO ปัจจุบันมีการเรียกร้องทุกปีว่าให้รับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ที่ว่าด้วยการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ถ้าแรงงานนอกระบบมีปัญหาสามารถรวมตัวกันได้ภายใต้กฎหมายการคุ้มครองของรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ยังไม่รับ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ

ในระยะยาวต้องทำรัฐสวัสดิการ เราเพิ่งยื่นพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า สำหรับประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากปีหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ การทำอะไรเพื่อคนกลุ่มนี้จะเป็นการผ่อนปรนคนที่จะเข้ามาสู่ระบบแรงงานที่จะต้องแบกรับภาระในการดูแล

 

สิริพงศ์ : แรงงานนอกระบบมีทั้งแรงงานนอกระบบไทยและแรงงานนอกระบบต่างชาติ

เรื่องแรงงานนอกระบบของไทย ระบบประกันสังคมต้องเชิญชวนให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบได้ ปัจจุบันผู้ใช้แรงงานสามารถเป็นผู้ประกันตนโดยการจ่ายเงินเองแบบไม่มีนายจ้างสมทบได้ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง

เรื่องแรงงานนอกระบบต่างชาติ ปัจจุบันเราต้องพึ่งแรงงานต่างชาติเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เราจึงต้องรีเซ็ตระบบ นิรโทษกรรมให้แรงงานต่างชาติเข้ามาอยู่ในระบบแรงงาน หลังจากนิรโทษกรรมแล้วต้องเพิ่มบทลงโทษคนที่ลักลอบมาทำงานให้มากขึ้น เพื่อดึงคนเข้ามาในระบบให้มากที่สุด สิ่งสำคัญคือเพื่อทราบข้อมูลที่ภาครัฐจะต้องจัดการสาธารณูปโภค การจัดเก็บภาษี และฐานข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อ ซึ่งรัฐต้องลดขั้นตอนในการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน เชิญชวนทุกวิถีทางเพื่อให้เข้ามาในระบบ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save