fbpx
อ่านเมือง กับ นิรมล กุลศรีสมบัติ

คำต่อคำ 101 One-on-One | ep.06 “อ่านเมือง” กับ นิรมล กุลศรีสมบัติ

หากนึกถึงเมืองที่ดี คุณนึกถึงเมืองแบบไหน ?

เชื่อว่าคนเมืองส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ คงเคยชินกับปัญหาสารพันที่ต้องพบเจอในเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถติด น้ำท่วมขัง อากาศเสีย กระทั่งปัญหาจุกจิกกวนใจอย่างทางเท้าที่เป็นหลุมเป็นบ่อ

แม้กรุงเทพฯ จะพอมีด้านที่น่าหลงใหลอยู่บ้าง แต่ก็นับว่ายังห่างไกลกับการเป็นเมืองที่ดี เมื่อเทียบคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง

เมืองที่ดีมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทิศทางการบริหารจัดการเมืองที่ยั่งยืนควรเป็นแบบไหน ปัญหาและข้อจำกัดของกรุงเทพฯ คืออะไร แล้วเราจะแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยวิธีการใดได้บ้าง

101 ชวน ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center : UddC) และอาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วม “อ่านเมือง” แบบเจาะลึก ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การสร้างเมืองสมัยใหม่ ไปจนถึงปัญหาและแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเมืองที่ประสบกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ อย่างกรุงเทพฯ

ต่อไปนี้คือบทสนทนาแบบคำต่อคำ ระหว่าง ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ กับ โตมร ศุชปรีชา และสารพัดคำถามจากผู้ชมในรายการ 101 One-one-One

ถ้าย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ เมืองอย่างปารีสและลอนดอน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของเมืองสมัยใหม่ (Modern City) มีจุดเริ่มต้นในพัฒนาเมืองมาตั้งแต่ช่วงไหน ผ่านกระบวนการอะไรบ้าง

หลายคนคงเคยดูหนังเรื่อง Oliver Twist ที่แปลงมาจากวรรณกรรมของ Charles Dicken หรือเรื่อง Les Misérables จากบทประพันธ์ของ Victor Hugo ซึ่งเราจะได้เห็นภาพเมืองที่มืดหม่น สกปรก ทางเดินอันคับแคบ เฉอะแฉะ ดูแล้วอึดอัด นั่นคือเมืองในยุคกลางประมาณศตวรรษที่ 16-17 ของยุโรป ไม่ว่าจะเป็นลอนดอนหรือปารีสก็ตาม

ต่อมาในศตวรรษที่ 18 สถานการณ์ของเมืองยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ลองนึกภาพเมืองในยุคกลางที่มีกำแพง ประตู หอรบ อยู่ล้อมรอบ แล้วเมืองก็ไม่ใหญ่มาก พอมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น มีโรงงานเกิดขึ้นมากมาย คนจากชนบทจำนวนมหาศาลก็หลั่งไหลเข้ามาหางานทำ ทำให้สภาพของเมืองแย่ลงมาก ทั้งด้านสุขภาวะ สุขอนามัย ในลอนดอนเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์บ่อยมาก

เคยอ่านบทความหนึ่งที่วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า จริงๆ แล้วเราเป็นหนี้โรคอหิวาต์ เพราะว่าระบบเมืองสมัยใหม่ หรือการวางผังเมืองแบบใหม่อย่างปัจจุบัน จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์ซ้ำๆ ซากๆ ในยุโรป องค์กรปกครองท้องถิ่นของอังกฤษในสมัยนั้นกลัวว่าถ้าเกิดการระบาดของโรคบ่อยๆ ปล่อยให้สุขพลานามัยประชาชนย่ำแย่แบบนี้ต่อไป ชนชั้นแรงงานอาจลุกฮือขึ้นมาได้ มันจึงนำมาซึ่งการยกระดับและคุณภาพชีวิตของเมือง ไม่ว่าจะเป็นย่าน Westminster ที่กลายมาเป็นใจกลางเมือง หรือย่านสลัมมืดๆ ที่ปรากฏในหนังสือ ก็เปลี่ยนมาเป็น Social Housing เป็นบ้านสำหรับแรงงาน มีแสงสว่าง มีอากาศถ่ายเท มีพื้นที่ส่วนกลางให้คนได้ปฏิสัมพันธ์กัน เช่น สวนสาธารณะ

การมีชนชั้นใหม่เข้ามาอยู่ในเมือง ซึ่งแต่ละคนมีความต้องการและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต่างกันออกไป ส่งผลให้มีการจัดตั้ง Cultural Facilities ต่างๆ มากขึ้น เช่น โรงละคร ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการระบาดของโรคอหิวาต์

ข้ามมาดูทางฝรั่งเศส ประมาณช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ขึ้นครองราชย์ มีการมอบหมายให้บารอน โอสมานน์ (Baron Haussman) ซึ่งเป็นมือขวา จัดวางผังกรุงปารีสใหม่ทั้งหมด นโปเลียนที่ 3 เติบโตที่ลอนดอน จึงได้รับอิทธิพลของการฟื้นฟูเมืองลอนดอนมาพอสมควร พอมามีอำนาจที่ปารีส ก็เลยบอกโอสมานน์ให้ช่วยปฏิรูปฟื้นฟูเมือง จากสภาพเมืองที่แออัดกันเหมือนในเรื่อง Les Misérables ก็มีการรื้อโครงสร้างเมืองยุคกลางออกแล้วตัดถนนยกใหญ่ สร้างอพาร์ทเมนต์แบบใหม่ ข้างล่างเป็นร้านขายของ ส่วนข้างบนเป็นที่อยู่อาศัย มีการสร้างสวนสาธารณะ อย่างเช่น Bois de Boulogne ก็เป็นต้นแบบให้สวนลุมพินีบ้านเรา มีโรงละคร โรงโอเปร่า มีการปรับปรุงพวกถนนหนทางต่างๆ ให้ชนชั้นกลางออกมาใช้ชีวิตกัน

แต่อีกด้านหนึ่ง แผนการฟื้นฟูเมืองของโอสมานน์ก็มีราคาของมัน การได้มาซึ่งถนนใหญ่ๆ ในย่านเมืองที่คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ส่งผลให้คนจำนวนมากต้องย้ายไปอยู่ชานเมืองเหมือนกัน ต้องอย่าลืมว่าฝรั่งเศสยุคนั้นยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยมากนัก ถ้าเป็นสมัยนี้คงไม่มีใครทำแบบนั้นได้ คุณจะไปไล่รื้อชุมชนที่มีคนอยู่กันเป็นแสนครอบครัวไม่ได้แล้ว

 

แล้วถ้าย้อนกลับมาดูเมืองกรุงเทพฯ ตอนนี้ ถือเป็นเมืองที่ดีรึเปล่า

ถ้ามองในกรอบของ Inclusiveness ก็ไม่ค่อยดีเท่าไร เรายังต้องปากกัดตีนถีบทุกวัน ตื่นก่อนหกโมงเช้า รีบออกจากบ้านก่อน 6 โมง 15 เพื่อเลี่ยงรถติด ซึ่งเดี๋ยวนี้เวลานั้นก็เริ่มติดแล้ว ใช้เวลาเดินทางยาวนานมาก มาถึงก็นั่งทำงาน ไม่ได้ออกไปไหน จะทานข้าวก็ซื้ออะไรฝากท้องใกล้ๆ อย่างเมื่อเช้าก็ต้องฝากท้องกับร้านสะดวกซื้อ จะทำกินเองก็ไม่ได้ อยากกลับบ้านเร็วก็ยังกลับไม่ได้ ต้องฆ่าเวลาแถวที่ทำงานจนถึงสี่ทุ่ม

อย่างออฟฟิศของ UddC ตั้งอยู่ในเขตปทุมวัน ก็เคยคุยกับเพื่อนร่วมงานว่าหลังเลิกงาน ถ้าไม่ไปห้างจะมีที่อื่นให้ไปมั้ย มันก็น้อยมาก เหมือนว่าชีวิตหลังเลิกงานหรือเลิกเรียนมันแทบไม่มีทางเลือกอื่นๆ ให้เราได้ใช้ชีวิตเลย จะกลับบ้านก็ยังไม่ได้เพราะรถติด ฉะนั้นคุณภาพชีวิตดีๆ ที่คนเมืองอื่นเขามีกัน เราก็ยังไม่มี เป็นชีวิตที่ต้องดูแลตัวเอง

 

อะไรเป็นอุปสรรคให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

อย่างหนึ่งคือเรื่องผังเมือง พูดง่ายๆ ว่ากว่าเราจะมีการวางผังเมืองอย่างจริงจังก็ตอนที่เมืองมันเริ่มขยายขึ้นมากแล้ว แล้วจากประสบการณ์ที่ทำงานมา 4 ปี พบว่าปัญหาสำคัญของกรุงเทพฯ คือมันโตเร็วเกินไป ขณะที่โครงสร้างการบริหารจัดการกลับไม่สามารถรับมือกับความใหญ่ของเมืองได้เลย ถ้าลองเปรียบเทียบกับกรุงปารีส ซึ่งมีพื้นที่ 150 ตร.กม. แต่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1500 ตร.กม. คือใหญ่กว่าสิบเท่า แต่ในปารีสมีการเลือกตั้ง 2 ระดับ คือระดับเมือง และระดับเขต สมมติเราอยู่ในเขตปทุมวัน เราก็เลือกตั้งนายกเทศมนตรีของเขตได้ หรืออย่างในโตเกียวซึ่งใหญ่กว่ากรุงเทพฯ มีทั้งหมด 23 เขต ก็มีการเลือกตั้ง 2 ระดับเหมือนกัน

สาเหตุที่เขาเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ก็เพราะมันใหญ่จนจัดการไม่ได้ เขาจึงต้องกระจายอำนาจมากขึ้นในหน่วยที่เล็กลง ให้คนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของเมือง มีส่วนร่วมในการส่งเสียงถึงปัญหา ขณะที่ผู้แทนก็อยู่ในระยะที่ใกล้ มองเห็นและเข้าใจปัญหา ที่สำคัญคือมีอิสระในการบริหารจัดการ

ในกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 50 เขตก็จริง แต่เลือกตั้งแค่ระดับเดียว คือเลือกผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะกับขนาดเมืองที่ใหญ่และอุ้ยอ้ายอย่างมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเราอยู่ในเขตปทุมวัน เราอยากให้มีการปรับปรุงทางเท้าในบริเวณนี้ หรืออยากให้มีแผงลอยบางส่วนสำหรับขายอาหารที่ราคาไม่แพงและหลากหลาย แต่เราไม่สามารถส่งเสียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะอำนาจการตัดสินใจต้องมาจาก กทม. อย่างเดียว ซึ่งห่างไกลมากและยากที่จะเข้าถึง

จริงๆ แล้วยังไม่ต้องไปเทียบกับลอนดอน ปารีส หรือโตเกียวหรอกค่ะ แค่ลองเทียบกับเชียงใหม่หรือขอนแก่นดู ก็เห็นภาพชัดแล้ว เขามีเทศบาล มี อบต. พอมีปัญหาเกิดขึ้น เขารู้เลยว่าต้องเดินไปหาใคร มันอยู่ในขอบเขตที่บริหารจัดการได้ แต่ของกรุงเทพฯ ไม่ใช่แบบนั้น

 

หมายความว่ารากของปัญหาหลายๆ อย่างในกรุงเทพฯ มาจากโครงสร้างการกระจายอำนาจที่ยังไม่ทั่วถึงใช่ไหม

ส่วนตัวคิดว่าต้องทำไปสองส่วนพร้อมๆ กัน ทั้งภาพใหญ่และภาพเล็ก แต่ปัญหาคือภาพเล็กของเรายังไม่มีเลย ตอนนี้มันเหมือนเป็นโครงสร้างบริหารจัดการที่กดทับความเป็นพลเมือง เราจะได้ยินบ่อยๆ ว่าให้หลับหูหลับตาอยู่ไปก่อน เก็บเงินได้แล้วค่อยไปตายที่อื่น คนมากมายอยากไปสร้างบ้านที่ต่างจังหวัด เพราะเขาไม่มีความรู้สึกว่ากรุงเทพฯ เป็นบ้าน ไม่มีความรู้สึกว่าเมืองเป็นของเรา

ทุกคนเป็นปัจเจกอยู่ในเมือง และเขตซึ่งควรจะเป็นหน่วยการเมืองที่มีความแอคทีฟ ก็ไม่มีความแอคทีฟใดๆ อย่างในโตเกียวหรือปารีส ทุกเขตของเขาจะมีความแอคทีฟมาก ผู้ว่าแต่ละเขตจะขยันทำงาน มีนิตยสารออกมาบอกว่าฉันเป็นเทศมนตรีนะ ฉันทำอะไรไปแล้วและจะทำอะไรอีกบ้าง แต่ถ้าย้อนกลับมาถามว่าเรารู้จัก ผอ.เขตกันไหม แทบไม่มีใครรู้จัก

 

เมื่อกี้อาจารย์บอกว่าฝรั่งเศสเขาปรับปรุงเมืองโดยการตัดถนนใหญ่ๆ ทำให้คนต้องย้ายออกไปบางส่วน ถ้าเป็นสมัยก่อนยังทำได้ แต่ก็มีความเจ็บปวดของมัน แล้วถ้าเป็นสมัยนี้ล่ะครับ ถ้าเราอยากจัดการเมืองให้ดูดี สวยงาม แต่ต้องมีคนเดือดร้อน เราจะทำยังไง

เรื่องนี้ขอยกตัวอย่างโครงการปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำแซน ในปารีส ซึ่งเคยผิดพลาดมาก่อนเหมือนกัน นั่นคือการพัฒนาที่เอารถยนต์เป็นตัวนำ ทำให้เมืองขยายไปไกล คนหันมาขับรถกันเยอะ มีการสร้างทางด่วนริมแม่น้ำแซนที่ชื่อว่า George Pompidou Express Way ซึ่งทัศนวิสัยก็ไม่ได้สวยงาม จนกระทั่งช่วงปี 2000 เริ่มมีการพูดถึง Walkable City คือทำให้เมืองมันเดินได้ เพื่อที่จะลดมลภาวะต่างๆ ในการเดินทาง ส่งเสริมให้คนเดินเท้ามากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

แม้ว่าเขาจะเห็นว่าปารีสเป็นเมืองที่เดินได้ แต่ในความเป็นจริง คนยังขับรถกันเยอะ คนที่อยู่ชานเมืองก็เยอะ ต้องเข้าใจว่าคนอยู่ชานเมืองบางทีก็ทำงานกันสาย แล้วคนพวกนี้ไม่เห็นด้วยกับการปิดทางด่วนให้เป็นทางเดินเรียบแม่น้ำ ดีเบตกันยาวมาก คุยกันบนพื้นฐานข้อมูลและผลประโยชน์ส่วนรวม แต่แน่นอนว่าถ้าคุณจะไม่ให้คนขับรถเลียบแม่น้ำอีกต่อไป คุณก็ต้องมีการออกแบบให้คนเหล่านี้ไม่เดือดร้อนจนเกินไป

สิ่งสำคัญคือเขามีแพล็ตฟอร์มในการรับฟังความคิดเห็น มีการเปิดหน้าคุย 30 กว่าครั้ง และมีระบบ Open data ให้คนไปกรอกข้อมูลออนไลน์ได้เลย จนสามารถทำเป็น Consensus ได้

 

แล้วคนที่ขับรถเขาได้รับการดูแลอย่างไรบ้าง

ระบบการจราจรใหม่ก็มีการหันเหไปทิศทางอื่นๆ แต่ก็ตัดสินกันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นกระบวนการประชาธิปไตย เท่าที่ศึกษาคือเขาก็พยายามออกแบบแผนรองรับคนที่ต้องใช้รถอยู่ด้วย แม้จะเป็นคนส่วนน้อยก็ได้รับการดูแล ไม่ใช่ว่าถูกลบออกไปเลย อันนี้คือตำนานของแม่น้ำแซนฝั่งซ้าย

อีกเคสที่เป็นกรณีศึกษา ซึ่งเป็นเคสที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของท้องถิ่นจริงๆ ก็คือการเรียกร้องของคนในพื้นที่เขต 6 ทางตะวันตกของปารีส ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนรวย ว่าไม่อยากให้มี Social Housing หรือบ้านพักแรงงาน มาอยู่ในเขตของเขา

อย่างที่บอกไปว่าปารีสมีการเลือกตั้ง 2 ระดับ คือระดับเขต และระดับเมือง ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา รัฐบาลฝรั่งเศสผ่านกฎหมาย Social Housing ซึ่งกำหนดว่าทุกๆ เมืองและเขตต้องมี Social Housing ประมาณ 20% ในพื้นที่ รัฐบาลท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลสวัสดิการสังคมส่วนนี้ ถ้าทำไม่ถึงก็ต้องเสียค่าปรับ ไม่ว่าจะเป็นภาษีหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งจะไปกระทบกับประชาชนด้วย

แล้วจากผลเซอร์เวย์ที่ออกมา ปรากฏว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในปารีสทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก ไม่มีปัญหา ทำได้เข้าเป้าหรือมากกว่าเป้าด้วยซ้ำ ยกเว้นซีกตะวันตกซึ่งเป็นย่านคนรวย เคยมีความพยายามจะสร้าง Social Housing ในย่าน Bois de Boulogne ซึ่งเป็นย่านที่สวยมาก มีแต่คนรวยอยู่ ปรากฏว่าพอเขารู้ว่าจะมีการสร้าง Social Housing ในพื้นที่นี้ คนท้องถิ่นก็ไม่พอใจ ประท้วงกันระเบิดเถิดเทิงมาก เถียงกันเผ็ดร้อนมาก ยังไงประชาชนในเขต 6 ก็ไม่ยอมเด็ดขาด ผลก็คือรองนายกเทศมนตรีเขต 6 ตัดสินใจยื่นฟ้อง City of Paris ซึ่งเป็นคนออกมาตรการ Social Housing ที่ว่านี้ สุดท้ายผลปรากฏว่าแพ้ ต้องยอมให้สร้าง ตอนนี้กำลังมีการก่อสร้างกันอยู่ จุดที่น่าสนใจคือรองนายกรัฐมนตรีคนนี้เขาให้สัมภาษณ์ว่า ที่เขาตัดสินใจสู้แบบนี้ เพราะเขาต้องรับผิดชอบคนที่เลือกเขาเข้ามา

 

หน้าตาของเมืองในโลกอนาคตจะเป็นแบบใดบ้าง

ต้องถามว่าเป็นในกลุ่มประเทศแบบไหน ประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้ว ถ้าเป็นประเทศพัฒนาแล้วเราจะเห็นอัตราการเกิดลดลง จำนวนคนแก่เพิ่มมากขึ้น อย่างในญี่ปุ่น ก็แทบจะไม่มีปัญหาการขยายตัวของประชากรอย่างไม่สิ้นสุดแบบที่เคยประสบเมื่อ 50 ปีที่แล้ว มันไม่มีอุปสงค์ที่จะเข้ามาในเมืองแล้ว โจทย์ก็คือจะทำยังไงให้เมืองไม่ตาย ทำยังไงที่จะดึงประชากรมารักษาพลังของเมืองเอาไว้ เมืองในยุโรปก็เช่นกัน

ส่วนเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งข้อมูลหลายๆ ที่ก็ตรงกันหมด ชี้ว่าประมาณปี 2030 ภูมิศาสตร์ของโลกจะเปลี่ยน ไป เมืองใหญ่ๆ แบบ Global City จะไปตั้งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา อย่างกรุงเทพฯ ถ้าให้ลองประเมินว่าในอนาคตจะเป็นยังไง ตราบใดที่ยังไม่มีการกระจายอำนาจ การจัดการปัญหาต่างๆ ยังต้องผ่านกระบวนการที่เข้ายากแบบนี้ ก็คงมีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ

ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศ เริ่มมีการปฏิรูปการเมืองท้องถิ่น เช่น บราซิล และอีกหลายๆ ประเทศแถบละตินอเมริกา เขามีความพยายามพลิกเมืองที่เมื่อก่อนเคยพึ่งพารถยนต์เป็นรถยนต์เป็นหลัก มาสู่การขยายในแนวราบมากขึ้น ให้เป็นเมืองที่คนหันมาเดินและใช้จักรยานกัน มีการสร้าง Social Housing เพื่อรองรับคนในเมืองมากขึ้น

 

อาจารย์คิดว่ากรุงเทพฯ มีปัญหาอะไรบ้าง ที่เป็นรูปธรรมชัดๆ เลย

เรื่องจราจรค่ะ ถ้าไปถามใครก็ตาม เราคิดว่าร้อยทั้งร้อยก็คงตอบเรื่องรถติด ขนาดตอนนี้บ้านเราไม่ได้อยู่ไกลจากที่ทำงานมากนัก แต่วันไหนที่เอารถมาก็ติดเอาเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้อาจยังแก้ไม่ได้ในระยะสั้น เพราะมันต้องมีระบบราง มีการพัฒนาระบบอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเสริม แต่เรื่องที่สามารถทำได้เลยก็คือการเคลื่อนที่ของคน เรื่องการเดินเท้า หรือการใช้จักรยาน ยังอยู่ในวิสัยที่ทำได้

เรามีข้อมูลตัวเลขที่บอกว่าแต่ละเขตใช้งบในการพัฒนาทางเท้าแต่ละปียังไงบ้าง พบว่าจริงๆ แล้วค่าเฉลี่ยของ 50 เขต มีงบที่เกี่ยวกับการเดินทางปีละประมาณ 43 ล้านบาท แต่เราเอามาใช้กับทางเท้าแค่ประมาณ 1-2 ล้านบาท ซึ่งน้อยมาก และเป็นคำตอบว่าทำไมเราถึงมีทางเท้าที่ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ  ซึ่งก็วนกลับไปเรื่องเดิม คือโครงสร้างทางการเมือง

 

ถ้าอาจารย์ได้เป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ เรื่องแรกที่อาจารย์จะทำคืออะไร

แก้เรื่องเขตนี่แหละค่ะ จริงๆ มันไม่ได้อยู่ในวิสัยที่ผู้ว่าจะทำได้หรอก แต่สิ่งที่ควรจะทำคือการทำให้เขตสามารถเลือกตั้งได้

เมื่อนานมาแล้ว กทม.เคยมีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่ได้ชื่อว่าทันสมัยมาก แต่ในปัจจุบัน หลายๆ โครงการที่ UddC ทำ เช่น ทางเดินริมน้ำ ถ้าอยู่ในเทศบาลเชียงใหม่หรือขอนแก่น ก็คงจะเสร็จไปนานแล้ว และงบประมาณก็ไม่ได้มากเกินกว่าที่เทศบาลจะทำได้ แต่การทำสิ่งเดียวกันในกทม. ยังมีความสลับซับซ้อนมาก เลยคิดว่าเรื่องเขตเป็นสิ่งที่อยากทำมากที่สุด และส่วนตัวมองว่าเขตสามารถเป็นแพล็ตฟอร์มที่ตอบรับกับคนในพื้นที่ได้ คนในพื้นที่สามารถช่วยเขตแก้ปัญหาได้ จะได้ให้ปัญหาได้ถูกจุด แต่ตอนนี้มันไม่มีกระบวนการรับฟังด้วยซ้ำ

 

ถ้าเราใช้ Big Data มันจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของเมืองได้อย่างไร (พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ถาม)

โครงการอย่าง ‘Goodwalk : เมืองเดินได้ เมืองเดินดี’ ที่เราทำอยู่ ก็เกี่ยวข้องกับ Big Data คือมีการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ โครงการนี้คือความพยายามทำให้กรุงเทพฯ มีความ inclusive มากขึ้น ผ่านการเดิน เพราะการเดินมันช่วยหลายๆ อย่าง ช่วยกระจายรายได้ ร้านค้าเล็กๆ ข้างทางก็อยู่ได้ ช่วยให้สุขภาพคุณดีขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อย่างตอนที่เราไปอยู่ฝรั่งเศสก็แทบไม่ต้องจ่ายค่าเดินทางเลยเพราะเดินหรือขี่จักรยานแทน ที่สำคัญคือการเดินมันทำให้เรารู้จักพื้นที่ รู้จักคนในย่าน เป็นการสั่งสมทุนทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งสำคัญต่อความเป็นชุมชนเมือง ทำให้เรามีความรู้สึกว่าเป็นพลเมืองมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี การจะทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองเดินได้ในทุกพื้นที่นั้นอาจจะยาก เราจึงใช้ Big Data เข้ามาช่วยประมวลผลด้วยว่าพื้นที่ตรงไหนมีศักยภาพที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ ทำให้พบว่ามีพื้นที่ชั้นในประมาณ 60% ที่ไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่นำมาใช้ต่อยอดได้ ทำให้เรามาคิดกันต่อว่าสุดท้ายแล้วสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดิน มันควรจะเป็นยังไง อันนี้เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของการใช้ Big Data ซึ่งช่วยเราให้เข้าใจมิติที่สลับซับซ้อนของเมืองมากขึ้น

 

จะมีวิธียังไงที่ทำให้คนในเมืองเข้าใจบริบทการพัฒนาเมืองที่ถูกต้อง และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา รวมถึงผู้บริหารเมืองด้วย (สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ถาม)

จากการศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของเมืองมา ผู้บริหารจะเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อมีการเรียกร้องจากคนในเมือง แต่ในกรุงเทพฯ ปัญหามันเยอะไปหมด จนเราไม่สามารถแยกแยะหรือวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาสำคัญคืออะไร อะไรเป็นเรื่องสำคัญ อะไรเป็นเรื่องปลีกย่อย ความเข้าใจต่อเมืองมันแทบจะไม่มี

ถามว่ามีคนกรุงเทพฯ สักกี่คนที่เข้าใจว่าการจัดหาที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้ เป็นหน้าที่ของกทม. นี่คือเรื่องของการขาดข้อมูลความรู้พื้นฐาน ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากความบกพร่องของระบบเขตที่ไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้ ถามว่าแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร เราคิดว่าการจัดทำ ‘Open Data’ น่าจะช่วยเสริมการแก้ปัญหาจุดนี้ได้ ทำให้คนเข้าใจเมืองและผู้อาศัยในเมืองมากขึ้น

ตอนนี้ก็มีคนริเริ่มทำ Open Data หลายคน คนในเมืองสามารถเข้าไปให้ข้อมูลได้และเป็นภาคประชาสังคมทำเอง ถ้าเป็นหัวหอก Open Data แบบ full-scale ก็มีที่อเมริกา ภาครัฐเป็นเจ้าของแพล็ตฟอร์ม มีการเปิดเผยข้อมูลด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องการเคลื่อนย้าย บริการสาธารณะต่างๆ การจัดเก็บขยะ คนในเมืองสามารถเข้าไปดูและทำความเข้าใจเมืองที่ตัวเองอยู่ได้ ที่สำคัญคือมันมีแพล็ตฟอร์มให้คนเข้าไปร้องเรียนได้

อย่างที่นิวยอร์ก มีเคสไฟริมถนนแตก เวลาเดินตอนกลางคืนมันจะมืดและเสี่ยงต่อเป็นอันตราย ตามปกติเคสนี้จะใช้เวลา 30 วันจึงจะซ่อมเสร็จ แต่หลังจากที่มีการจัดทำ Open Data ให้คนเข้าไปดูข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ใช้เวลาเพียง 5 วันในการเปลี่ยนไฟ แพล็ตฟอร์มแบบนี้ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเร็วขึ้น พอมีคนร้องเรียนเขาก็สามารถเข้าไปจัดการได้ทันที

ทีนี้ถ้าย้อนกลับมาที่กรุงเทพฯ เรารู้ว่าแพล็ตฟอร์มของเขตมันยังเป็นไปได้ยาก ตอนนี้ก็เลยลองคิดค้นแพล็ตฟอร์มอื่นๆ ขึ้นมาแทน เราเชื่อว่าการทำ Open Data น่าจะมีศักยภาพมากพอ ขณะที่แนวคิดเรื่อง Open Government ก็อาจเป็นกลไกที่เติมเต็มและทำให้คนในเมืองเข้าใจปัญหา และอาจนำไปสู่การเรียกร้องเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ และลงมาแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น

 

อยากฟังข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาจาก UddC ว่า กทม. ควรแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง (ประยุกต์ ถาม)

แก้ไขเรื่องการเดินทางให้มี mobility มากกว่านี้ เรื่องทางเดินเท้าเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด ซึ่ง กทม.ก็ทำอยู่ แต่อาจมีการดำเนินงานล่าช้า และข้อมูลอาจยังไม่มากพอ ถ้าให้แนะนำก็อยากให้ปรับปรุงเรื่องการเดินทาง ให้คนสามารถต่อรถต่อเรือได้สะดวกมากขึ้น

อย่างปีนี้โตเกียวได้รับการโหวตว่าเป็นเมืองที่ดีที่สุดในโลก เหตุผลก็คือมันมีความคล่องตัวของการเดินทางที่ไร้รอยต่อจริงๆ เดินต่อรถ ต่อจักรยาน และเดินต่อไปทำงานได้ มี mobility ที่ดีมากๆ

 

UddC จะมีโครงการอะไรต่อไปบ้าง

โครงการที่อยากประชาสัมพันธ์คือเรื่องของ Open Data สำหรับการสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งมากขึ้น เป็นเมืองสำหรับทุกๆ คน โดยเราจะนำร่องที่เขตปทุมวัน เพราะเป็นย่านเปลี่ยนผ่านที่สำคัญและก็อยู่กลางเมือง คนที่อยู่ก็มีความหลากหลายจริงๆ เรามองว่าย่านนี้เป็นย่านของผู้มีรายได้ระดับสูง มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มาก แต่จริงๆ แล้วแรงขับเคลื่อนธุรกิจบริการต่างๆ คือแรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกนับรวม มีนักเรียนตั้งแต่ประถมยันมหาวิทยาลัย มีผู้ป่วยมากมาย ที่อยู่อาศัยก็หลากหลาย ทั้งบ้าน ชุมชน หอพัก คอนโดมิเนียมราคาแพง

เราเลยสร้างแพล็ตฟอร์มในการให้คนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลได้ มีทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน น่าจะกลางปีหน้าหรือก่อนหน้าที่จะเริ่มเปิดตัว

 


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “อ่านเมือง” ฉบับเต็ม โดย ผศ.ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ  ดำเนินรายการโดย โตมร ศุขปรีชา ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ทาง The101.world

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save