fbpx

เมื่อวิธีคิดแบบราชการเป็นปัญหา : ‘เส้นด้าย’ กับคำเตือนก่อนสาธารณสุขจะล่มสลาย

ภาวะระบบสาธารณสุขล้นทำให้ชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 ในสังคมไทยถูกผลักเข้าไปใกล้ความตายเร็วขึ้นและง่ายขึ้น เมื่อระบบให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินของภาครัฐล้มเหลว สายด่วนต่างๆ ยากที่จะโทรติด การหาเตียงในสถานการณ์ปัจจุบันแทบเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการหนัก จนเกิดภาพผู้คนนอนเสียชีวิตอยู่ริมทาง บางคนเสียชีวิตที่บ้านโดยไม่เคยเข้าถึงการรักษาใดๆ

ท่ามกลางความหดหู่สิ้นหวัง สิ่งที่ประชาชนพอจะทำได้คือช่วยเหลือกันเองเพื่อผ่อนหนักเป็นเบา

หนึ่งในองค์กรที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดมาอย่างต่อเนื่องคือ เส้นด้าย จากกลุ่มอาสาสมัครที่เริ่มต้นทำหน้าที่เฉพาะรับส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ผ่านมาสามเดือน เส้นด้ายทำงานรอบด้านยิ่งขึ้น ช่วยประสานผู้ป่วยกับหน่วยงานภาครัฐ ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน ลงพื้นที่ตรวจเชื้อ เอ็กซเรย์ปอด จนถึงจับมือองค์กรอื่นๆ เพื่อทำศูนย์รอยต่อรับผู้ป่วยอาการหนัก

การทำงานภาคประชาชนกลายเป็นส่วนที่สำคัญมากในภาวะที่ระบบของภาครัฐพึ่งพาไม่ได้ เกิดช่องว่างมากมายที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงโอกาสและทรัพยากร สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งเร่งให้จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูง

101 พูดคุยกับ คริส โปตระนันทน์ และ ภูวกร ศรีเนียน สองผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย ถึงการทำงานของพวกเขาและปัญหาเชิงระบบที่พวกเขามองเห็น อันเป็นอุปสรรคที่ทำให้การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทุกวันนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก

แน่นอนว่าการทำงานของเส้นด้ายไม่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคนได้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงจะไม่หยุดตราบใดที่ภาครัฐยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดในการแก้ปัญหา อันเป็นห้วงเวลาที่สมควรรวบรวมทรัพยากรและบุคลากรจากทุกภาคส่วนของสังคมมาให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยและปลดล็อกกฎระเบียบที่กีดกันผู้คนออกจากการรักษาพยาบาล

ซึ่งนั่นจะเป็นภาพที่เกิดขึ้นไม่ได้ หากรัฐบาลยังไม่ยอมสบตากับวิกฤตอย่างตรงไปตรงมา กำจัดวาระซ่อนเร้นต่างๆ ออกไปและเห็นชีวิตประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด

คริส โปตระนันทน์ และ ภูวกร ศรีเนียน

เส้นด้ายเริ่มต้นขึ้นอย่างไร

ภูวกร : เช้าวันที่ 24 เม.ย. 2564 ผมเห็นข่าวการเสียชีวิตของคุณอัพ-กุลทรัพย์ วัฒนพล (อดีตนักกีฬาอีสปอร์ต) แล้วสงสัยว่าทำไมเขาจึงเข้าไม่ถึงการรักษา เพื่อนของเราเป็นเพื่อนกับคุณอัพอีกที ผมเลยโทรไปหาคริสว่าน่าจะไปงานศพเขา คริสก็ไปเจอแม่คุณอัพที่งานและรู้ว่าแม่ยังไม่ได้ตรวจโควิด เลยพาไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน เถียงกันนานมากกว่าจะยอมตรวจ ทั้งที่ตอนนั้นเตียงยังไม่เต็มและลูกเขาเพิ่งเสียชีวิต แต่ตอนนั้นมีกฎแล้วว่าโรงพยาบาลไหนตรวจต้องรับรักษาด้วย เวลานั้นโรงพยาบาลเอกชนยังไม่มีความมั่นใจในการเบิกจ่ายจากรัฐ เราจึงรู้ปัญหาและอยากทำเรื่องนี้

คริส : หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์แท็กซี่สีชมพูรับผู้ป่วยโควิดขึ้นรถ มีผู้ป่วยพยายามหารถไปโรงพยาบาล เขาติดต่อให้ผมไปส่ง แต่สุดท้ายเขาขึ้นแท็กซี่ไปก่อน ทำให้แท็กซี่มีความเสี่ยง ผมประกาศตามหาแท็กซี่คันนั้นและช่วยเหลือเรื่องการกักตัว จึงพบว่าการขนส่งสำหรับผู้ป่วยขาดแคลน

ช่วงนั้นมีการพูดถึงการใช้อภิสิทธิ์เข้าถึงการรักษาก่อน กรณีคุณอัพก็เสียชีวิตเพราะหารถไปโรงพยาบาลไม่ได้ หาจุดตรวจไม่ได้ โทรไปที่ไหนก็ไม่รับตรวจ โทรไปคอลเซ็นเตอร์ของรัฐก็ไม่ติด เราจึงคิดเรื่องรถ การตรวจเชื้อ และคอลเซ็นเตอร์ เราเอารถกระบะใส่หลังคามาไว้รับส่ง มีที่กั้นระหว่างคนขับและคนนั่ง ส่วนเรื่องจุดตรวจตอนนั้นมีที่เข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ต เราเอาโทรศัพท์เก่าๆ ที่ประกาศขอมาจากคนอื่น 5-10 เครื่องมาตั้งเป็นคอลเซ็นเตอร์ เปิดวันแรกก็มีคนใช้บริการวิ่งไปสิบกว่าเที่ยว

ภูวกร : ที่มาของชื่อ ‘เส้นด้าย’ เราคิดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนมีเส้นจึงจะเข้าถึงโอกาสต่างๆ ตอนแรกคริสคิดว่าจะใช้ชื่อ ‘ได้’ หมายความว่าใครมาหาเราก็ได้หมด ลูกสาวแนะนำว่าใช้สองพยางค์ดีไหม คำว่า ‘เส้นด้าย’ จึงเกิดขึ้นในหัวผมทันที คำนี้ในสถานการณ์อื่นจะฟังดูธรรมดามาก แต่พอใช้ในสถานการณ์นี้เป็นชื่อที่ทรงพลังคือ ‘เส้น’ ของคนที่ไม่มีเส้น และ ‘ได้’ โดยไม่ต้องใช้เส้น

ระบบการทำงานของกลุ่มเป็นอย่างไร มีคนทำงานกี่คน

คริส : ตอนตั้งต้นเราลองถามเพื่อนๆ ว่ามีใครเก่งในเรื่องนี้บ้าง มีทั้งอาสากู้ภัย หมอ อดีตข้าราชการ นักธุรกิจ แพทย์แผนไทย ศิลปิน และเริ่มจากการมีแอดมินคนเดียว พวกผมขับรถกันเอง แต่พอเคสเริ่มเยอะก็ขับเองไม่ไหว เลยเริ่มใช้รูปแบบจ่ายเบี้ยเลี้ยงพอยังชีพให้อาสาสมัคร (paid volunteer) มีคนขับรถจากชุมชนใกล้ๆ ที่เขาอยากช่วย ตอนแรกในออฟฟิศมีประมาณ 10 คน และอยู่ตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ อีก 20 คน เมื่อเราช่วยคนเยอะขึ้นก็มีคนอยากมาร่วมงานกับเรามากขึ้น ตอนนี้ออฟฟิศมีคนทำงานประจำ 8 คน มีอาสาสมัครคอลเซ็นเตอร์ 5-10 คน คนขับรถ 5 คน มีรถอยู่ประจำ 5 คัน ถ้ารถไม่พอเราก็ใช้รถของอาสาสมัครแล้วให้เงินรายเที่ยว มีเครือข่ายอยู่ประมาณ 25 คัน

เราทำรถขนส่งเพื่อพาคนไปตรวจ แล้วช่วยจับคู่ผู้ป่วยกับโรงพยาบาล เราเหมือนแท็กซี่ที่วิ่งจนรู้จักร้านอาหาร สามารถเจรจากับร้านได้ว่าคุณต้องการเคสแบบไหน เพราะบางทีคนไข้กับโรงพยาบาลไม่เจอกันด้วยหลายสาเหตุ จับคู่ได้แล้วเราก็เอารถไปส่งคนรักษา

พอทำมาแล้วเราเจอเคสประหลาดๆ จากการทำงานแปลกๆ ของรัฐ เพราะความไม่มีประสิทธิภาพหรือเขาลืมออกแบบระบบการรักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มเปราะบาง เช่น คนแก่ติดเตียง คนพิการ ผู้ป่วยจิตเภท แม่ท้องแก่ติดโควิดแต่ลูกไม่ติด คนกลุ่มนี้ต้องการมากกว่าโรงพยาบาลสีเขียว สีเหลือง สีแดง เพราะเราไม่สามารถเอาเด็กอายุ 5 เดือนที่ติดโควิดไปส่งโรงพยาบาลที่ไหนก็ได้ เคสเหล่านี้ต้องอาศัยความสัมพันธ์กับโรงพยาบาลต่างๆ ว่าเขารับเคสแบบนี้ได้หรือไม่และต้องการอะไรเพิ่ม

พอทำแล้วเราจะเห็นว่าตรงไหนเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ก็ติดต่อหน่วยงานของรัฐ หรือทีมชุดตรวจของเราไปตรวจในชุมชนทีละ 400 คน พอรู้ว่าใครติดเชื้อก็ให้คนในชุมชนสอบสวนโรคแล้วพาคนที่สัมผัสผู้ป่วยไปตรวจ ก็จะหยุดการระบาดได้จำนวนมาก พอเกิดคลัสเตอร์ คนเข้าถึงอาหารสิ่งของจำเป็นได้ลำบาก เราก็ช่วยชี้เป้าให้ผู้ที่อยากช่วยเหลือ

ภูวกร : พวกเราไม่ได้เก่ง แต่เรื่องโควิดเรารู้มากกว่าทุกคน แต่ละคนจะรู้เฉพาะเรื่องของตัวเอง เราทำจนต้องรู้เรื่องของทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยเปราะบาง เพราะหน่วยงานราชการจะมีกฎกติกาที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถทำเกินขอบเขตหน้าที่ได้ จึงเกิดช่องว่างในการแก้ไขเคสเหล่านี้

ในทีมมีคนติดโควิดไหม พูดคุยกันอย่างไรเรื่องการป้องกันและความเสี่ยงในการทำงาน

ภูวกร : ยังไม่มีคนที่ติดจากการทำงาน แต่มีคนที่ติดจากที่อื่นจนหายแล้วมาเป็นอาสาสมัครให้เรา ทุกสัปดาห์เราจะสุ่มตรวจกันเอง ถ้าในวันหน้ามีคนในทีมติดเชื้อ ผมคิดว่าจะไม่ใช่มาจากการทำงาน แต่คงเป็นนอกเวลาที่ไปเดินข้างนอกแล้วติดเชื้อ เพราะระหว่างทำงานเป็นช่วงที่เราจะระวังสูงสุด

เป็นการทำงานที่ใช้งบประมาณมาก งบที่ทำงานตอนนี้เอามาจากไหน

คริส : เราใช้งบเยอะ ช่วงแรกผู้ร่วมก่อตั้งวางเงินกันเอง เพราะคิดว่าจะทำ 2-3 เดือน ไม่คิดว่าจะไปไกล ใครมีโทรศัพท์มีรถก็เอามาช่วยกัน บางคนบอกว่าช่วงนี้พนักงานที่บริษัทไม่ได้ทำงานก็เอามาให้เรายืม พอสถานการณ์ยาวกว่าที่คิด เราจึงคิดโมเดลใหม่ เส้นด้ายไม่เคยเปิดรับบริจาค ทุกอย่างที่เราทำเป็นสินค้าและบริการ ถ้าคุณอยากสนับสนุนก็ซื้อเที่ยวรถของเรา เที่ยวละ 1,000 บาท คุณจะซื้อให้ตัวเองหรือให้คนอื่นก็ได้ บางคนบอกว่าซื้อ 1 เที่ยวให้ตัวเองล่วงหน้า แล้วอีก 99 เที่ยวเขาซื้อให้คนอื่น

จากจุดเริ่มต้นที่ช่วยรับส่งผู้ป่วยจนตอนนี้ทำหลายอย่างมาก มองพัฒนาการทำงานของเส้นด้ายว่าสะท้อนสถานการณ์อย่างไรบ้าง

คริส : สะท้อนว่าสถานการณ์โควิดยังต้องการอีกหลายอย่างนอกจากสิ่งที่รัฐออกแบบไว้ ในการบริหารจัดการโควิด รัฐมองว่าตัวเองคนเดียวจะทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่การตรวจเชื้อ ฉีดวัคซีน การรักษารัฐก็จะจ่ายทุกเคส หลังจากทำเรื่องโควิดมาสามเดือนผมกล้ายืนยันว่ามันไม่เวิร์ก เพราะมัดกล้ามในสังคมไทยมีพลังอยู่อีกหลายภาคส่วน

ระบบสาธารณสุขไทยแบ่งเป็นสองระดับ คนชั้นกลางและคนชั้นสูงจะใช้โรงพยาบาลเอกชน ส่วนคนที่มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไปจะใช้โรงพยาบาลรัฐ อยู่ดีๆ รัฐไม่สามารถทำให้คนทุกกลุ่มได้ เพราะรัฐจะทำได้ไม่พอ โรงพยาบาลรัฐในเวลาปกติก็มีผู้ป่วยแทบจะเต็มความสามารถในการรองรับอยู่แล้ว พอเกิดโควิดรัฐออกแบบว่าจะทำเองทุกอย่าง ผมคิดว่าเป็นการบริหารจัดการที่ผิดที่ผิดทางและทำให้เราก้าวมาสู่วิกฤตตอนนี้

เวลาพูดกันว่าระบบสาธารณสุขวิกฤตแล้วหรือถึงขนาดล่มสลาย ถ้าพูดให้เห็นภาพจริงๆ ตอนนี้เป็นอย่างไร

คริส : จริงที่ว่ามันเต็มแล้ว แต่ล่มสลายหรือยัง ผมคิดว่าจะถึงจุดนั้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ทำได้แต่รัฐยังไม่ทำ ตอนนี้ไม่มีใครสามารถไปโรงพยาบาลด้วยเหตุฉุกเฉินแบบเมื่อก่อนอีกแล้ว สมัยก่อนเป็นหลอดเลือดสมองตีบ (Stroke) กด 1669 จะต้องมีคนมารับภายใน 15 นาที ตอนนี้กด 1669 ก็ไม่ติด ต่อให้เอาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบไปหน้าห้องฉุกเฉินเขาก็ให้เข้าไปเลยไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นโควิดหรือเปล่า โควิดทำลายระบบสาธารณสุขส่วนนี้ ทุกอย่างต้องกลายเป็นห้องความดันลบ ตอนนี้ห้องฉุกเฉินเต็มเกือบหมด หลายที่ปิดไปเลย แล้วบอกว่าปิดเพราะบุคลากรติดเชื้อ แต่ผมทราบมาว่าบางที่ปิดเพราะกลัวคนพาคนไข้โควิดระดับสีแดงวิ่งเข้ามา

ตอนนี้จะนัดหมอติดตามอาการหรือการผ่าตัดชนิดที่รอได้ก็ไม่มีในโรงพยาบาลแล้ว ต้องรอหมด ภาพระบบสาธารณสุขกำลังเปลี่ยน และเราไม่รู้จะเปลี่ยนไปทางไหน

ภูวกร : ปัจจุบันเหมือนเขื่อนที่แตกไปแล้ว ถ้าเรามีวัคซีนที่เร็ว ทางเลือกที่ดีกว่าและเร็วกว่านี้ มีงบประมาณสร้างสถานพยาบาล ขยายบุคลากร หรือพื้นที่รองรับไว้ล่วงหน้า เขื่อนจะยังแข็งแรงอยู่ แต่ ณ นาทีนี้ เขื่อนแตกไปแล้ว ตอนนี้เป็นเรื่องการกู้ภัยคนจมน้ำ ใครแข็งแรงก็พอประคองตัวได้ ใครสามารถกู้ภัยคนอื่นได้ก็ทำสิ่งนั้นไป

จนถึงตอนนี้เรื่องการหาเตียงผู้ป่วยโควิดยังเป็นไปได้อยู่ไหม

คริส : ตอนนี้เตียงสีเขียวเต็มหมด แต่มีการหมุนเวียนของเตียงเร็ว เพราะเป็นผู้ป่วยสีเขียวที่รักษาหาย เตียงฮอสพิเทลมีค่อนข้างเยอะ พอจะรับได้บ้าง เตียงสีเหลืองเต็ม เพราะบางคนต้องอยู่นานถึงสามอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน ส่วนสีแดง ปกติไอซียูก็เต็มอยู่แล้ว พอเกิดโควิดยิ่งไปกันใหญ่

ตอนนี้ถ้าไม่ทำอะไรเลยระบบสาธารณสุขจะล่มสลาย แต่ถ้ารัฐกล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง เริ่มสร้างโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองอย่างรวดเร็ว สร้างไอซียูสนามรับผู้ป่วยสีแดงอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยจึงจะไปต่อได้

ภูวกร : ย้อนไปช่วงเดือน พ.ค. สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายก่อนจะเกิดวิกฤตเตียงเต็ม ตอนนั้นความมั่นใจของโรงพยาบาลเอกชนต่อการเบิกจ่ายจากรัฐเริ่มมีมากขึ้น ฮอสพิเทลเริ่มรับผู้ป่วยสีเขียวมากขึ้น ช่วงนั้นโทรไปหาเบอร์รัฐ ช้าสุด 3 วันก็ได้เข้าสถานพยาบาลแล้ว

ตอนนี้เกิดวิกฤตเตียงเต็ม คนติดเชื้อโทรหาเส้นด้ายก่อนจะโทรหารัฐ แต่คนก็เริ่มโทรหาเรายากแล้ว หนึ่งนาทีมีโทรเข้ามา 3-4 สาย ถ้าเรารับสายใดก็จะมีสายที่เราไม่ได้คุยด้วย เบอร์รัฐ 1669 ผมไม่โทษเจ้าหน้าที่ แต่โทษผู้บริหารว่าทำไมไม่จ้างคนสัก 400 คน มารับโทรศัพท์เป็นหมื่นสาย

ตอนนี้คนส่วนที่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้ ก็เข้าถึงได้ช้ากว่าเดิม คือราว 3-7 วัน แต่ผู้ป่วยเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง คนท้อง เด็กเล็กที่ไม่มีแม่ กลุ่มนี้ยังเป็นทางตันอยู่

คนที่อยู่ในเขตโรงพยาบาลต้นสังกัดที่รวดเร็วในการทำ home isolation ก็ดีไป มีผู้ป่วยติดเตียงคนหนึ่งที่ผมไปเยี่ยมมาไม่ถูกส่งตัวเข้าสถานพยาบาลใดๆ ยังดีว่าโรงพยาบาลที่ดูแลเขตนั้นส่งยามาที่บ้านรวดเร็ว หลังจากนั้นเขาอาการดีขึ้นเพราะได้ยาต้านเชื้อมากินที่บ้าน ดอกไม้บานไม่พร้อมกัน ที่ไหนดอกไม้บาน ที่นั่นก็ลดการสูญเสียได้

วันนี้เรื่องที่เป็นอุปสรรคและความยากลำบากที่สุดในการให้ความช่วยเหลือคืออะไร

คริส : อุปสรรคมีทั้งแบบที่เราเห็นกัน เช่น เครื่องมือไม่พอ เตียงไม่พอ แต่อุปสรรคอีกประเภทหนึ่งคือการบริหารงานของรัฐ ตอนนี้การทำ home isolation ต้องกด 1330 และกด 14 ให้ติด ทั้งที่ทุกแล็บที่ตรวจเชื้อจะต้องส่งข้อมูลให้รัฐอยู่แล้ว ทำไมรัฐไม่สามารถบังคับให้เขากรอกข้อมูลเข้าระบบได้ กลายเป็นว่ารัฐไม่รู้ว่าใครติดบ้างในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่รัฐบางท่านบอกว่าต้องรอหลายวัน เอกชนไม่ยอมกรอกข้อมูล ซึ่งอาจมีเรื่องผลประโยชน์

พอประกาศว่าต่อไปนี้ให้ทำ home isolation ไม่ต้องใช้ผลตรวจ RT-PCR แล้ว ก็เป็นการประกาศจากข้างบน แต่คนที่อยู่ตรงกลางกับข้างล่างงงงวยไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนนี้คนจะเข้า home isolation ต้องกด 1330 และกด 14 ให้ติด เมื่อเข้าไปแล้วก็จะตกอยู่ในห้วงอันเคว้งคว้าง โทรติดแล้วก็ยังไม่มีเจ้าภาพว่าใครจะเป็นโรงพยาบาลต้นสังกัด ถ้ามีคนติดเชื้อ 14,000 คนทุกวัน ก็ต้องหาโรงพยาบาลต้นสังกัดมารองรับคนจำนวนนี้ทุกวัน ถ้าโชคดีได้ไปอยู่โรงพยาบาลอย่างโรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลรามาฯ ที่ดูแล home isolation ดีมากก็จะเยี่ยมเลย แต่ถ้าโชคร้ายไปอยู่โรงพยาบาลที่ทำ home isolation ไม่ค่อยเป็น ไม่รู้จะส่งยาส่งข้าวอย่างไร ไม่ได้สต็อกออกซิเจนกับปรอทไว้ ผู้ป่วยก็จะซวย กด 1330 แล้วกด 14 แล้วก็นอนรอต่อไปโดยไม่มีใครโทรมาหาคุณอีกเลย

นอกจากนี้มีเรื่องระเบียบปฏิบัติหลายอย่าง เจ้าหน้าที่แต่ละคนจะมีอำนาจเฉพาะในส่วนตัวเองแล้วเชื่อมกันไม่ติด การแก้ปัญหาโควิดต้องใช้การบูรณาการ ต้องหาคนเป็นเจ้าภาพกล้าทุบโต๊ะสั่ง ซึ่งตรงนี้ไม่มี เส้นด้ายต้องวิ่งไปขอให้คนนั้นคนนี้ทำอะไร บางครั้งก็สำเร็จ บางครั้งก็ไม่สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จ ช่องว่างนั้นก็ยังอยู่ และทำให้คนเสียชีวิต

ภูวกร : เราเคยเจอเนอร์สซิ่งโฮมแห่งหนึ่ง เขาดูแลคนแก่แล้วส่วนมากจะให้นอนรวมกัน พอมีคนติดเชื้อ ไม่กี่วันก็ลามไปติดหมดเลย พอเป็นแบบนี้เจ้าของก็หายตัว กว่าจะรวบรวมคนจัดการได้ใช้เวลา 3 วัน 3 คืน เพราะโรงพยาบาลหนึ่งก็ช่วยได้แค่คนเดียว ผู้ป่วยติดเตียงบางคนมีโรคไต ในสถานการณ์แบบนี้จะไปฟอกไตยังยากเลย พอโรงพยาบาลกล้ารับผู้ป่วยติดเตียง เป็นฮีโร่ในเวลานั้น แต่การดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นสิบคนในภาวะที่บุคลากรขาดแคลนไม่ใช่เรื่องง่าย ปรากฏว่าเกิดการสูญเสีย กลุ่มญาติกับโรงพยาบาลก็มองหน้ากันไม่ติด

ความเข้าใจของคนในสังคมก็เป็นปัญหาที่สำคัญมาก คนไม่ป่วยระวังและระแวง หลายครั้งมองผู้ป่วยเป็นเชื้อโรคอย่างรังเกียจ มีการกีดกันขับไล่ ช่วงหลังหลายคนอยากช่วยเหลือด้วยการเอาพื้นที่ส่วนตัวเปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม แต่แทบทั้งหมดจะถูกกีดกันจากคนรอบข้าง กลัวว่าจะมีจุดพักคอยคนติดเชื้ออยู่ใกล้บ้าน ทั้งที่ไม่ได้แพร่กันง่ายขนาดนั้น

การทำงานส่วนไหนที่ต้องประสานกับภาครัฐบ้าง อะไรคือเรื่องที่ดีและไม่ดีที่เจอมา

ภูวกร : ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าการมีอยู่ของเราเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือส่วนเกินในการทำงานของภาครัฐหรือเปล่า กลุ่มของเราเป็นคนที่หลากหลาย ต้องระวังว่าการทำงานของเราจะไปกระทบกระเทือนระบบที่เขาสร้างไว้ แม้จะมีเสียงเซ็งแซ่ทั้งแผ่นดินอยู่แล้วว่าระบบห่วย แต่เราพยายามเข้าใจผู้ปฏิบัติงานว่าไม่มีใครเจตนาให้เป็นอย่างนั้น การทำงานของเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ ที่ผ่านมาสามเดือน เกิดความผิดพลาดจากทางเราที่ทำให้ผิดขั้นตอนของเขาอยู่แค่สองครั้ง เนื่องจากเรามีอาสาสมัครเยอะไม่ทันได้เตือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลกระทบถึงความสูญเสีย

หลายครั้งเราถูกตำหนิจากหน่วยงานรัฐ แต่ถูกตำหนิเพราะเราถูกหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งไหว้วาน แต่ไปถึงก็โดนอีกหน่วยงานตำหนิว่าเรามาทำไม มันผิดขั้นตอน เราเจอข้าราชการที่ทำงานวันหยุด เราเจอข้าราชการที่เป็นห่วงคนไข้ เราเจอข้าราชการที่เปิดใจกับเรา ชอบเรา และเราเจอคนที่ปิดประตูใส่เราเหมือนกัน

มีเคสหนึ่งหัวหน้าแคมป์คนงานโทรมาว่าในแคมป์มีแรงงานต่างชาติติดเชื้อเยอะ สาธารณสุขไปตรวจแล้วทำอะไรไม่ได้ คนไทยยังไม่มีที่รักษาเลย แรงงานต่างชาติก็พยายามดูแลตัวเองกัน เพราะเข้าใจว่าถ้าดูแลตัวเองดีๆ ก็คงไม่ตายหรอก แต่มีแม่ลูกชาวกัมพูชาคู่หนึ่ง ลูกอายุสี่เดือน ซึ่งผมคิดว่าโอกาสได้รับอนุมัติสู่การรักษายากมาก ผมส่งชื่อไปรวมกับคนอื่นๆ ปรากฏว่าหมอรับแม่ลูกคู่นี้ไปรักษา ทั้งที่ไม่มีผลตรวจ แต่ผมลงพื้นที่ถ่ายวิดีโอส่งไปพร้อมข้อมูลให้พิจารณา แม่ลูกแรงงานต่างชาติคู่นี้ในเวลาปกติเป็นคนไม่มีตัวตนในสังคมไทย แต่ผมประทับใจที่ครั้งนี้เขาได้รับการช่วยเหลือ

เส้นด้ายมีรถตรวจปอดไปตามชุมชน เห็นจุดบอดในระบบจากเรื่องนี้อย่างไร

ภูวกร : ผมคิดว่ารถตรวจปอดจะทำให้ไม่ต้องเถียงกันเรื่องการเข้าสู่ระบบการรักษา โดยเฉพาะคนที่มีผลตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) เรื่องนี้เริ่มจากชุมชนสามพระยาซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่มีคนติดเยอะ ตรวจ ATK 200 กว่าคน เจอติดเชื้อ 40 กว่าคน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำทุกคนไปตรวจ RT-PCR ได้ทันที ต้องทยอยไปตรวจ ทำให้ผู้ป่วยต้องคอยไปอีก

โควิดสำคัญว่าเชื้อลงปอดหรือไม่ ถ้าเราตรวจปอดเลยก็ไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าออกซิเจนเหลือเท่าไหร่ หายใจเป็นอย่างไร เราเลยเอารถไปเอกซเรย์ปอด เจอคนที่เชื้อลงปอด 7 คน จาก 40 กว่าคน พอทราบก็สามารถจัดการให้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น แม้ไม่มี RT-PCR

อีกเรื่องที่กำลังทำคือศูนย์รอยต่อ ตอนนี้ความคืบหน้าเป็นอย่างไร

ภูวกร : กลุ่มเราเริ่มคิดสิ่งนี้เพราะมีหมออาสามาช่วยงานเราแล้วมองว่ามีแต่ศูนย์พักคอยผู้ป่วยสีเขียว เราควรมีศูนย์ที่มีเครื่องมือฉุกเฉินสำหรับยื้อชีวิตคนที่จะตายข้างถนนหรือตายคาบ้านเพราะไม่มีโรงพยาบาลไป พามาที่ศูนย์นี้แล้วช่วยกัน ศูนย์รอยต่อไม่ใช่โรงพยาบาล แต่จะช่วยพยุงคนก่อนที่จะสามารถหาห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลเพื่อส่งตัวไปได้ นี่คือสิ่งที่เรากำลังจะทำโดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย คาดว่าจะเปิดได้ต้นเดือนสิงหาคม

ทาง พม. บอกว่ามีพื้นที่ที่คลองหก มีหลายฝ่ายเข้ามาช่วย ทั้งสื่อใหญ่ โรงพยาบาลเอกชน เส้นด้ายเป็นตัวกลางดึงทุกคนมาคุยกัน เบื้องต้นมองว่ามี 30 เตียง เป้าหมายคือผู้ป่วยสีเหลืองจัดๆ หรือเคสฉุกเฉินจริงๆ อย่างน้อยต้องมีความพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างที่สุด ดีกว่าไม่มีใครเข้าไปช่วยเลย

ในเวลาที่สถานพยาบาลต่างๆ เตียงเต็ม บุคลากรก็ไม่พอ แต่มีอะไรที่ภาครัฐพอจะทำได้อีก

คริส : ถ้าเตียงไม่พอก็สร้างไป อุปกรณ์ก็นำเข้ามา เรื่องเตียงและอุปกรณ์ใช้เงินแก้ปัญหาได้ รัฐได้เงินจาก พ.ร.บ.งบประมาณ และ พ.ร.ก.เงินกู้ เงินไม่ควรเป็นปัญหา อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายเป็นปัญหา คนมีเงินแต่ไม่ใช้หรือใช้ได้น้อยจะเป็นปัญหา เพราะติดระเบียบการใช้จ่ายราชการทำให้หลายอย่างออกมาไม่เวิร์ก ศูนย์พักคอยในกรุงเทพฯ แต่ละศูนย์ที่กำลังจะเปิดได้งบแห่งละ 3-4 แสนบาท งบน้อยทำออกมาก็ได้ศูนย์พักคอยที่หน้าตาและสภาพไม่ค่อยดี ถ้าที่ไหนสภาพดีก็รู้เลยว่าไม่ได้มาจากงบราชการแต่มาจากเงินบริจาคหรือมีผู้สนับสนุน

เรื่องบุคลากรทางการแพทย์ไม่พอนั้นหมายถึงบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐ แต่ยังมีหมอและพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก หมอที่ไปทำธุรกิจ พยาบาลเกษียณ ต้องหาวิธีดึงเขากลับมาช่วยกัน เส้นด้ายกำลังพยายาม retrain เพื่อนำหมอที่ไม่ได้รักษาคนไข้กลับเข้ามา เพราะเราสามารถเอามาทำงานร่วมกับวอร์ดโควิดของโรงพยาบาลได้ โควิดน่ากลัวแต่เป็นการรักษาที่มีแพตเทิร์น การเรียนรู้ไม่ซับซ้อน

อาสาสมัครหลายคนอยากช่วยแต่ไม่มีความรู้ ก็ต้องหาทางอบรม ถ้าทำได้เราจะมีบุคลากรเพิ่มอีกจำนวนมาก ถ้าไทยใช้บุคลากรหมดแล้วยังหยุดการระบาดไม่ได้ สิ่งที่ต้องคิดคือการเปิดวีซ่าทำงานให้หมอหรือพยาบาลต่างชาติจากประเทศที่โควิดไม่หนักหนา เรื่องนี้อาจมีการต่อต้านจากสมาคมวิชาชีพแต่ต้องคุยกัน ผมคุยกับอาจารย์หมอหลายท่านก็เห็นด้วย

เราต้องเริ่มคิด ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ต้องกล้าแก้ไขกฎระเบียบ นี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ

ส่วนอื่นๆ โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากไม่มั่นใจในการเบิกจ่ายจากรัฐ ถ้าเราจะแก้วิกฤตครั้งนี้ รัฐจะคิดว่าตัวเองเป็นพระเอกคนเดียวไม่ได้ เอกชนเป็นหน่วยงานที่สำคัญ เขามีกำลังมาก ต้องจูงใจให้เขาเข้ามาทำ ตอนนี้เอกชนแย่งกันรักษาผู้ป่วยสีเขียวเพราะมันกำไร แต่เราต้องการให้เอกชนแย่งกันรักษาผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง รัฐต้องดูว่าตอนนี้เราเบิกจ่ายให้ผู้ป่วยสีเหลืองและแดงเท่าไหร่ ต้องสร้างความมั่นใจว่า ถ้ารักษาเขาจะได้เงินแน่ๆ

โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งบอกผมว่า เขาเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลจากค่ารักษาจำนวนมาก บางครั้งก็จ่ายไม่เต็ม ระเบียบกติกาซับซ้อน บางอย่างทำไปแล้วเบิกไม่ได้ ทำให้เอกชนไม่กล้ายื่นมือเข้ามาช่วยในวิกฤตครั้งนี้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทำได้เลย ถ้าทำได้จะมีคนช่วยอีกเยอะ

ภูวกร : สถานการณ์เตียงวิกฤตเกิดมาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว สิ่งที่ควรทำตั้งนานแล้วคือรัฐน่าจะรับอาสา โดยเฉพาะคนที่เป็นโควิดและหายแล้ว คนกลุ่มนี้มีภูมิต้านทานสูงกว่าคนปกติ ตอนนี้คนตกงานเยอะ ถ้ามีงบประมาณให้เราจะได้กำลังคน อบรมเบื้องต้นให้เขาเป็นผู้ช่วยพยาบาล

คริส : เส้นด้ายมีโครงการแบบนี้เหมือนกัน เราเรียกว่า ‘นักรบเส้นด้าย’ ตอนนี้ระบบ home isolation ไม่ได้ถูกออกแบบไว้ ถ้าผู้ป่วยเปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลือง หรือเหลืองเป็นแดง ก็จะไม่มีคนไปช่วยเขา เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราส่งคนที่เคยติดโควิดมาก่อนให้ไปที่หน้างาน ให้เขาแบกถังออกซิเจนเข้าไป เราเริ่มทำแล้วและคนที่ไปทำก็ไม่มีคนที่ป่วยกลับมา

วิธีคิดแบบราชการเป็นปัญหาอย่างไรบ้างต่อสถานการณ์

คริส : เป็นปัญหามาก ระบบราชการเชื่อมั่นในความถูกต้อง ทุกอย่างต้องเป๊ะ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การทำงานช้า เรายึดมั่นการตรวจ RT-PCR เพราะเชื่อว่ามันแม่นกว่า ATK ซึ่งแม่นกว่าไม่มาก แต่รัฐกลัวว่าจะใช้งบประมาณไปรักษาคนที่ผลตรวจผิดพลาด เราติดหล่ม RT-PCR มาเป็นปีและทำให้มีปัญหามาก เพราะช้าและแพง กระบวนการยุ่งยาก ปริมาณการตรวจทำได้น้อย

รัฐกลัวผิดจุดเล็กๆ ทำให้ทุกอย่างผิดพลาดไปหมด เขากลัวเกิดเคส false positive มารักษา และกลัวเกิด false negative ถ้าคนแหย่จมูกตัวเองไม่เป็นแล้วออกไปเดินเพ่นพ่าน เลยไม่ใช้ ATK สรุปแล้วคนติดก็เดินเพ่นพ่านอยู่ดี และเกิดการระบาดไปทั่ว เพราะเราอยากใช้สิ่งที่เพอร์เฟ็กต์ที่สุด

การรักษาผู้ป่วยโควิดยังต้องใช้ผลตรวจ RT-PCR อยู่ เป็นเอกสารสำคัญว่าคนนี้ติดจริงและรัฐให้ความสำคัญมาก เพราะกลัวว่ารัฐจะถูกโกง คนป่วยต้องวิ่งหาผลตรวจวุ่นไปหมด วิธีคิดแบบนี้ทำให้คนเข้าสู่การรักษาได้น้อย การแก้ไขปัญหาก็ไม่เท่าทัน

ภูวกร : มีเคสที่แฟลตดินแดง ผู้ป่วยโควิด 6-7 คนติดเชื้อแล้วไม่มีรถไปรับสักที เขาอยู่ในห้องเล็กๆ กับครอบครัวก็กังวลใจจึงมานั่งรวมกันที่ด้านล่างแฟลต เพราะคิดว่าเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเท คิดว่าจะไม่มีปัญหา ทีมเส้นด้ายก็พยายามคุยกับผู้ดูแลพื้นที่คือการเคหะฯ หัวหน้าเขาพยายามแก้ปัญหาให้ โดยหาห้องให้ไปอยู่ชั่วคราว แต่ตอนนั้นเป็นเย็นวันอาทิตย์ สั่งลงมาแล้วแต่ไม่มีคนไปหาห้อง เราเลยต้องเอาเตียงไปกางให้ผู้ป่วยเอง

จากการทำงานช่วยเหลือมา เรื่องผลตรวจ RT-PCR เป็นอุปสรรคในการช่วยชีวิตคนแค่ไหน

ภูวกร : ผมคิดว่าตัวเลขคนติดเชื้อจริงมีมากกว่าที่ประกาศทุกวันนี้อยู่ 2-3 เท่า เกือบครึ่งหนึ่งของคนที่โทรมาหาผมไม่มีผลตรวจแต่มีอาการแล้ว คนเหล่านี้ไม่อยู่ในตัวเลขที่ประกาศออกโทรทัศน์ทุกเช้า พวกเขาเดินอยู่เต็มไปหมดในสังคม เขาไม่มีผลตรวจ ไปต่อไม่ได้

ไม่นานมานี้ผมไปชุมชนมุสลิมแถวหนองจอก มีผู้หญิงคนหนึ่งอาการหนักนอนซมอยู่ มีอาการเหนื่อยอ่อนไม่ค่อยอยากคุย พี่สาวเขาเพิ่งเสียชีวิตไปหนึ่งวันก่อนหน้า ตัวเขาไปตรวจแล้วแต่ยังไม่ได้เอกสาร อาการอยู่ระดับเหลืองแต่ยังส่งตัวรักษาไม่ได้ ผมจึงให้ญาติไปย้ำโรงพยาบาลว่าอาการหนัก ยังดีที่โรงพยาบาลอยู่ใกล้และยืนยันว่าถ้าฉุกเฉินให้พาตัวไปได้ แต่ถ้าพาไปตอนนั้นเลยจะไม่มีที่อยู่ อย่างดีก็ให้ไปนอนกลางสนาม เพราะโรงพยาบาลเต็มจริงๆ ไม่เหลือพื้นที่ที่มีหลังคาให้นอนรอ เขาเลยเลือกที่จะอยู่บ้าน

ตั้งแต่ให้ความช่วยเหลือมา เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง ฐานะมีส่วนแค่ไหนในการเข้าถึงการรักษา

คริส : เรื่องฐานะมีส่วนมาก การตรวจ RT-PCR กับเอกชนอยู่ที่ 3,500-4,000 บาท หรือประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือนของคนไทย คนรวยไม่มีปัญหาในการเข้าถึงการตรวจ แต่คนจนเข้าถึงไม่ได้ ต้องไปต่อคิวตามจุดตรวจเชิงรุก จึงเห็นภาพคนต่อคิวตั้งแต่ 3 ทุ่มเพื่อรอตรวจพรุ่งนี้ตอน 8 โมงเช้า นั่นคือความเหลื่อมล้ำในการตรวจ

ส่วนการรักษา คนจนไม่มีหนทางรักษาอื่นนอกจากต้องรอสิทธิ UCEP คือสิทธิเบิกจาก สปสช. แต่มีปัญหาว่า UCEP ต้องรอเบิกจ่ายจากรัฐ ซึ่งเบิกได้ช้า โรงพยาบาลจึงจัดคนไข้ UCEP ไว้อีกกลุ่มหนึ่ง แต่หากคุณมีประกันของเอกชนเขาเชิญเข้าเลย ทั้งที่เบิกได้เท่ากัน แต่ประกันเอกชนเบิกจ่ายเร็ว อีกประเภทหนึ่งคือผู้ป่วยเงินสด แต่ถ้าเงินไม่มากพอเขาก็ไม่รับ โรงพยาบาลเอกชนกลัวว่ารักษาไปแล้วไม่จ่าย ผู้ป่วยที่อยากใช้เงินสดตอนนี้ต้องเอาเงินไปวางก่อนเป็นแสนเป็นล้านบาท รักษาเสร็จแล้วขาดเหลือค่อยคืนเงินหรือเก็บเพิ่ม สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำแบบสุดๆ ในโลกยุคโควิด

โควิดแพร่กระจายมาจากกลุ่มคนรวยและคนชั้นกลาง แต่คนที่ได้รับผลกระทบกลายเป็นคนที่เป็นมัดกล้ามของสังคมไทย เป็นกลุ่มคนรายได้น้อย การระบาดส่วนใหญ่เกิดในชุมชนแออัด เพราะเขาไม่มีที่กักตัว นี่เป็นปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้ว แต่โควิดถลกหน้ากากให้เราเห็นว่ามันมีอยู่จริง

คนที่มีฐานะเข้ามาขอความช่วยเหลือจากเส้นด้ายบ้างไหม

ภูวกร : มีครอบครัวหนึ่งย่านบางบอน น้าเป็นเจ้าของโรงงาน แล้วน้า ลูกจ้าง และหลานชายอายุ 39 ที่ทำงานด้วยกันก็ติดเชื้อ หลานชายอาการรุนแรง หายใจลำบาก เกิดความเครียดจนกระโดดตึกตายเพื่อหนีโรคร้าย คืนก่อนตายทราบว่าถังออกซิเจนหมดกลางดึก เขาหายใจไม่ออกและมีความเครียดอยู่แล้ว พอกลายเป็นประเด็นเราจึงได้เข้าไปและรู้ว่าครอบครัวเขามีฐานะพร้อมจ่ายแต่เข้าไม่ถึงการรักษา ครอบครัวเขาบอกว่าทำใจแล้วว่าเข้าไม่ถึงสถานพยาบาล แต่ต้องการเข้าถึง home isolation ช่วงวันที่ 20 ก.ค. เขาพยายามติดต่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบแต่ก็ไม่เข้าไม่ถึง สุดท้ายเคสนี้ รพ.บุษราคัมเห็นว่ามีการสูญเสียถึงฆ่าตัวตาย ต้องมีการเยียวยาจิตใจ จึงรับตัวไป

มีเคสไหนที่ติดต่อมาหาเส้นด้ายแล้วจดจำได้ดีที่สุด

ภูวกร : มีเคสที่ผมคิดว่าเรื่องนี้จะอยู่กับผมไปตลอดชีวิต ช่วงก่อนหน้านี้เรายังไม่ถูกคาดหวังว่าจะช่วยชีวิตเขาได้ ช่วงแรกเรายังทำแค่การรับส่งผู้ป่วย เราไม่ใช่การแพทย์ฉุกเฉิน เรายืนยันว่าเราช่วยไม่ได้ แต่ในวันที่หน้างานเริ่มเปลี่ยนไป ความคาดหวังเริ่มมาที่เรา แต่เราไปช่วยไม่ได้ทุกคนอยู่แล้ว

คืนแรกของการเคอร์ฟิวรอบล่าสุด เรายังไม่รู้ว่าออกไปทำงานตอนกลางคืนได้แค่ไหน เป็นคืนที่อุปกรณ์สิ่งของหลายอย่างของเราหมด มีโทรศัพท์มาหาผมตอน 5 ทุ่ม ปลายสายเป็นเสียงผู้หญิงที่ผมฟังแล้วหดหู่ เขาบอกว่าอากงป่วย ช่วยหน่อยได้ไหม ไม่มีใครช่วยได้เลย หายใจไม่ออก คืนนี้ทำอะไรได้ไหม ก่อนหน้านั้นก็มีคนขอความช่วยเหลือแบบนี้มาเรื่อยๆ เราทำเท่าที่ทำได้ ในเวลากลางวันจะจัดการง่ายกว่า แต่วันนั้นเคอร์ฟิววันแรก เราไม่พร้อมในหลายเรื่อง ผมจึงบอกว่าโทรมาใหม่ตอนเช้าได้ไหม ถ้ามีรถก็มาเอาของไปและถ้าเวลานั้นพวกผมไม่มีคนที่ทำเรื่องออกซิเจนเป็นก็ให้เอาสาธารณสุขในเขตไปช่วย พอถามเรื่องการตรวจเชื้อ เขาบอกว่าอากงตรวจไม่ได้เพราะไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีที่ไหนตรวจให้เลย

ช่วง 10 โมงวันต่อมาเขาโทรมาหาผม บอกแค่ว่าไม่เป็นไรแล้ว แค่อยากให้ได้ตรวจแค่นั้นเอง ผมก็ให้คำแนะนำเรื่องการตรวจ อีกวันหนึ่งผมเห็นข่าวในโทรทัศน์ว่ามีอากงตาย เรื่องราว สถานที่และเวลาตรงกับคนที่โทรมาหาผม แต่ไม่แน่ใจว่าใช่เขาหรือเปล่า (นิ่ง) คืนนั้นเขาโทรหาผม แล้วผมไม่ได้ไป นั่นเป็นเสียงที่ผมจะจำไปตลอด ถ้าผมไปคงไม่ต้องคิดแบบนี้

สิ่งที่เป็นความทุกข์ที่สุดคือเราถูกคาดหวังจากผู้คนเยอะมากในความเป็นความตาย ความจริงคือเราช่วยไม่ได้ทุกคน เส้นด้ายไม่มีทางไปหาทุกคนที่ร้องขอได้ เราไปตามกำลังที่มีและพยายามทำให้ประเด็นนั้นถูกจุดขึ้นมาในสังคม ทำให้การไปของเรามีคุณค่าที่สุด เราไม่ได้ช่วยแค่ 1-2 ชีวิตตรงหน้า แต่เราทำเพื่อให้เกิดเสียงในสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับทุกๆ คน

ในฐานะคนที่ได้ทำงานสัมผัสผู้ป่วย เวลาเห็นแผนการฉีดวัคซีนที่ยืดเยื้อเชื่องช้าของรัฐบาลแล้วรู้สึกอย่างไร

คริส : เห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพและช้าเกินไป ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าสถานีกลางบางซื่อมีคนต่อคิวแออัดแล้วรัฐก็จะสั่งชะลอการฉีด ผมตกใจมาก วิธีแก้ปัญหาถ้ามีคนมาต่อคิวเยอะคือต้องเพิ่มจุดฉีด แล้วไม่รู้ว่าใครแนะนำให้เอาทุกคนมาฉีดที่สถานีกลางบางซื่อ ทั้งที่การฉีดวัคซีนที่ไหนก็ฉีดได้ โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกก็ฉีดได้

สิ่งที่รัฐต้องทำวันนี้คือต้องฉีดวัคซีนให้เร็ว สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการฉีดต้องเอาออกให้หมด รัฐอย่าเชื่อว่าตัวเองเป็นพระเอก รัฐจะฉีดเองทุกคนไม่ได้ ในต่างประเทศมีให้ฉีดวัคซีนตามร้านขายยา ไม่อย่างนั้นทำไม่ทันจะยิ่งเกิดการระบาดมากขึ้น ประชาชนจะยิ่งล้มตายมากขึ้น เขาบอกว่าวัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มี แต่วัคซีนที่มีก็ยังไม่ได้ฉีด จะยิ่งแย่ไปใหญ่

ทำงานมาต่อเนื่องหลายเดือน ในภาพใหญ่มองว่าอะไรคือปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้

คริส : ความประมาทและการที่รัฐไม่ได้วางแผนคือหนทางสู่ความฉิบหาย เรามีเวลาดูการระบาดที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั่วโลกเป็นเวลาหนึ่งปี แล้วศึกษาโมเดลของทุกคนว่าควรทำอย่างไร ควรจัดการโรคระบาดแบบไหน ควรฉีดวัคซีนอย่างไร แต่ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครวางแผนเลย วันนี้ไทยเข้าสู่ท็อปเท็นของโลกในสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน จากวันที่บอกว่าไทยทำได้ดีที่สุดในโลกมีผู้ป่วยศูนย์คนต่อวัน วันนั้นเราเป็นโมเดลที่ทุกคนอยากทำตาม แต่อาจมัวเมาความสำเร็จแล้วประมาท คิดว่าทางที่ตัวเองทำเป็นทางที่ถูกต้อง

ตอนนี้ต้องยอมรับว่าท่านทำผิด แล้วเปลี่ยนแปลงแก้ไขนโยบาย ถ้ารัฐประกาศนโยบายที่ใช่ โรงพยาบาลเอกชนพร้อมขานรับ เส้นด้ายและอาสาสมัครพร้อมช่วยเหลือ แต่รัฐต้องกล้ายอมรับว่าตัวเองผิดแล้วเปิดให้เอกชนเข้าไปช่วยกันทำจะดีกว่านี้เยอะ

ภูวกร : ผู้บริหารประเทศนี้มีคำตอบอยู่แล้วถ้าเปิดใจฟังและเข้าใจ มันถูกบอกล่วงหน้ามาตั้งแต่ต้นปีแล้วว่าระวังสิ่งนี้จะเกิดขึ้น แต่การไม่ฟังกัน มองกันเป็นอื่น ไม่เชื่อกัน แค่นั้นเองที่ทำให้เราเดินมาถึงจุดนี้

เราจะออกจากสถานการณ์นี้กันอย่างไร อะไรเป็นเงื่อนไขปัจจัยที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

คริส : สำหรับผมคือการส่งชุดตรวจ ATK ไปทุกบ้านฟรี ให้ทั่วทุกคน คนละ 4 ชุด จึงจะหยุดการระบาดได้ ตรวจครั้งแรกถ้าติดเชื้อก็ต้องหาวิธีกักตัวเลย ถ้ายังไม่ติดอีก 7 วันต้องตรวจครั้งที่ 2 เมื่อรู้แล้วว่าใครติดก็จัดการผู้ป่วยกลุ่มนั้นให้หมด ตอนนี้คนเริ่มเข้าถึง ATK ได้มากขึ้น แต่ราคาชุดละ 300-600 บาท ยังแพงอยู่เมื่อเทียบกับรายได้วันละ 300 บาท บางครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงได้จริงๆ ต้องส่งไปให้ที่บ้าน ทำแบบนี้สองรอบ เราจะรู้ว่าโรคอยู่ที่ไหนแล้วหยุดการระบาดได้ แล้วต้องคิดว่าจะรักษาแบบไหน ถ้าใช้ home isolation การส่งยาจะทำอย่างไรให้ถึงทุกคน ถ้าคิดไม่ออกก็ไม่ต้องทำ เปิดเสรีให้มีการนำเข้าฟาวิพิราเวียร์อย่างถูกกฎหมาย ให้สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา จะมีเอกชนจำนวนมากวิ่งไปซื้อฟาวิพิราเวียร์จากจีน อินเดีย ใครใคร่ซื้อ…ซื้อ ใครใคร่ค้า…ค้า แล้วรัฐค่อยจัดการประชาชนรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงยา รัฐไม่ต้องจัดการทุกคน จัดการเฉพาะคนที่อยู่ข้างล่าง จะลดภาระรัฐได้มาก

เมื่อจัดการเรื่องยาสำเร็จ เราจะหยุดผู้ป่วยสีเขียวที่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ ผู้ป่วยสีเหลืองกับแดงจะเริ่มคงที่แล้วเราจะเห็นว่าต้องสร้างโรงพยาบาลสนามอีกเท่าไหร่ ก็สร้างตามจำนวนนั้น ผมว่าจบได้

ที่สำคัญคือวัคซีน ถ้าวันนี้ยังไม่เริ่มคิดเรื่องเปิดเสรีวัคซีน ยังค่อยๆ นำเข้าแล้วมีคอขวดว่ารัฐจะแบ่งสรรอย่างไร ก็ไม่มีทางที่เราจะจัดการโรคระบาดได้ ต้องยอมปล่อยให้ระบบตลาดเดินแล้วรัฐค่อยดูแลคนที่เข้าไม่ถึงวัคซีนในตลาด

ภูวกร : พอเขื่อนแตกแล้วเหลือแต่การกู้ภัย เส้นด้ายเป็นแค่กลุ่มคน มีทรัพยากรแค่นี้ ไม่มีอำนาจ แต่ตั้งใจทำขนาดนี้ ถ้าอะไรดลบันดาลใจให้คนที่มีอำนาจ มีกำลัง มีทุกอย่าง มีความคิดแบบเรา ผมว่ามันจะแย่น้อยกว่านี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save