fbpx

Hack & Crack ผ่าแนวคิดเก่า – เปลี่ยนประชาชนเป็นคนทำนโยบาย

ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นชินกับการออกแบบนโยบายที่มีลักษณะ top-down หรือการออกแบบนโยบายจากบนลงล่าง ซึ่งหลายครั้งประชาชนไม่รู้ด้วยซ้ำว่านโยบายนั้นถูกออกแบบมาจากไหนและอย่างไร ที่สำคัญกลับพบว่าหลายนโยบายไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของคนในสังคมจริงๆ สิ่งนี้คือคือโจทย์สำคัญของ Thailand Policy Lab หรือห้องปฏิบัติการนโยบายประจำประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่ต้องการให้เกิดกระบวนการออกแบบนโยบายใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นนโยบายที่ถูกคิดขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นนั้นเอง

งาน Youth Mental Health Policy Hackathon จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดนี้ โดยมีโจทย์ที่จะดึงเยาวชนเข้ามาระดมสมองและคิดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญและเร่งด่วนซึ่งหนีไม่พ้นปัญหาสุขภาพจิตที่เยาวชนไทยมากเกินครึ่งกำลังเผชิญอยู่

ไอเดียจากกลุ่มเยาวชนจะถูกนำมาแชร์สู่สาธารณะให้คนทั่วไปสามารถเสนอแนะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้นโยบายเหล่านั้นครบถ้วนรอบด้านก่อนนำไปสู่กระบวนการทดลองนโยบาย และผลักดันให้ทำได้จริง

งานนี้จะทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้เห็นว่าเยาวชนก็สามารถที่จะคิดนโยบายซึ่งเป็นทางออกสำหรับปัญหาที่วัยอย่างพวกเขาต้องเจอได้ จนผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาบางท่านถึงขั้นต้องเอ่ยปากว่า “พวกเขาคือ change maker คนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศนี้

‘How Might We’ : ทางไปต่อของนโยบายในอนาคต

สารตั้งต้นของการระดมสมองในครั้งนี้เกิดจากการทำ social listening และ focus group จนพบว่าประเด็นสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่เยาวชนเห็นว่าเป็นปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลักคือ การป้องกัน (prevention) การเยียวยารักษา (protection) การสร้างความตระหนักรู้ (promotion) และอนาคตของการศึกษาและการเรียนรู้ที่ดีต่อสุขภาพจิตเยาวชน (future of learning)

จากการแบ่งเยาวชนออกเป็นกลุ่มตามประเด็นที่สนใจทำให้ได้มาทั้งหมด 7 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่การศึกษาข้อมูล นำข้อมูลทั้งหมดมาแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ก่อนจะเลือกว่าปัญหาใดที่สนใจและอยากออกแบบนโยบายใหม่ ขั้นแรกเริ่มต้นจากกระบวนการ ecosystem mapping ที่ให้แต่ละกลุ่มสรุปความเข้าใจเรื่องสถานการณ์ปัญหาและนโยบายในปัจจุบันเพื่อให้เห็นระบบนิเวศของนโยบายที่จะเลือกศึกษา หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมจะเข้าสู่ขั้นที่สอง empathize: problem analysis ที่นำข้อมูล คำถามและสิ่งที่ค้นพบมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ต่อมาขั้นที่สาม define: How Might We? แต่ละกลุ่มจะสรุปประเด็นปัญหาสำคัญของนโยบายแต่ละด้าน กำหนดปัญหา และร่วมกันคิดประโยค “How might we…?” สำหรับการออกแบบนโยบายต่อไป ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเป็นกระบวนการที่ทำให้ความเห็นของน้องๆ เยาวชนกลายเป็นข้อเสนอนโยบายที่ถูกคิดอย่างเป็นระบบ หลังจากที่แต่ละกลุ่มได้โจทย์เพื่อออกแบบนโยบายแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการระดมความเห็นเพื่อหาความเป็นไปได้ของโจทย์ที่ออกแบบไว้ ทดสอบแนวนโยบายที่ออกแบบกับเพื่อนๆ ต่างกลุ่ม และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และขั้นสุดท้ายคือนำเสนอการออกแบบนโยบายเพื่อฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการต่อไป

หนึ่งในขั้นตอนที่น่าสนใจของกระบวนการออกแบบนโยบายครั้งนี้คือ น้องๆ เยาวชนจะได้ผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยชี้ประเด็นการออกแบบนโยบายให้รอบด้านมากขึ้น โดยผ่านความช่วยเหลือของวิทยากรที่เชี่ยวชาญใน 3 ด้านที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบนโยบาย คือ ห้อง policy design กระบวนการออกแบบนโยบาย ห้อง psychology ความรู้ด้านจิตวิทยา และห้อง TP LAB การออกแบบนโยบายด้วยนวัตกรรมหรือวิธีคิดใหม่ๆ เพื่อให้น้องๆ สามารถเข้าใจปัญหาได้มากขึ้นและเพิ่มมุมมองให้คมชัดขึ้น

หลังกระบวนการให้คำปรึกษาทั้งหมด ทุกกลุ่มต้องเลือกมาแค่หนึ่งหัวข้อที่จะตอบคำถามว่า ‘เราน่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร …?’ เพื่อให้เยาวชนคิดนอกกรอบเกี่ยวกับทางแก้ไขปัญหา หรือการลองสวมหมวกเป็นผู้ออกนโยบาย

กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลในตอนเริ่มต้นนั้นนำมาสู่โจทย์สำคัญของนโยบายแต่ละด้าน โดยน้องๆ เริ่มต้นด้วยการกำหนดปัญหาและตอบคำถามที่ว่า How might we? เพื่อเป็นคำถามตั้งต้นในการคิดต่อยอดเพื่อหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในอนาคต

Hack & Crack – เปลี่ยนคำถามเป็นนโยบายสร้างสรรค์

การตอบคำถาม How might we? ได้อย่างชัดเจนและถูกต้องเป็นกระบวนการสำคัญเพราะนั่นจะทำให้การออกแบบนโยบายสามารถตอบโจทย์ปัญหาได้อย่างแท้จริง เช่น กลุ่ม Future of Learning 1 หรือกลุ่มที่เลือกประเด็นอนาคตของการศึกษา ได้จัดทำแบบสอบถามว่านักเรียนในช่วงมัธยมศึกษานั้นมีความเครียดในเรื่องใดมากที่สุด ผลปรากฏว่า นักเรียนมีความเครียดเรื่องการสอบเข้าศึกษาต่อมากที่สุดซึ่งต้นเหตุมาจากการที่เด็กไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรและไม่รู้จักตัวเอง เพราะการเรียนในปัจจุบันมุ่งเน้นทางวิชาการมากกว่าการปฏิบัติ ซึ่งทำให้การสอบเข้าในชั้นที่สูงขึ้นเป็นเรื่องยากในชีวิตการเป็นนักเรียน

กลุ่ม Future of Learning 1 จึงคิดนโยบายการฝึกงานระหว่างเรียนทุกสายชั้น โดยทุกเดือนจะมีการสอบถามพูดคุยและแบ่งกลุ่มนักเรียนไปตามสายอาชีพที่ตนเองสนใจ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการฝึกงานที่เหมือนทำงานจริงทั้งแบบ online และ onsite และมีการเปลี่ยนสายงานทุกเดือนเพื่อให้นักเรียนที่ค้นพบระหว่างฝึกงานว่าตนเองไม่ได้ชอบสิ่งที่เลือกไว้มีโอกาสได้ทดลองจนกว่าจะค้นพบอาชีพที่ตนเองชอบ

หลังจากกลุ่มเยาวชนได้นำเสนอนโยบายให้กับคณะกรรมการรับฟังแล้ว ทางคณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแวดวงทั้งผู้กำหนดนโยบาย ภาคการศึกษา จิตวิทยาเด็ก จึงให้ความเห็นและความเป็นไปได้ในการนำข้อเสนอนโยบายไปผลักดันต่อ

สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หนึ่งในคณะกรรมการให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายการฝึกงานระหว่างเรียนทุกสายชั้นว่า ผู้ใหญ่มักอยากให้ลูกหลานรู้จักตัวเองเร็วที่สุดโดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกมากนัก ปัญหาคือใครจะเป็นคนบอกลูกหลานของเรา แต่เดิมคิดว่าคงเป็นหน้าที่ครูแนะแนว ซึ่งความรู้ทางจิตวิทยาอย่างเดียวคงไม่พอต้องเพิ่มเรื่องการรู้จักเด็กและเข้าใจเด็กไปด้วย ดังนั้นควรมีกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์ของครูกับเด็กอย่างต่อเนื่องซึ่งในการฝึกวิชาชีพคุณครูก็ต้องเรียนรู้ไปด้วยเพื่อให้กระบวนการแนะแนวอย่างมีประสิทธิภาพเกิดขึ้นในโรงเรียน

อีกตั้วอย่างคือกลุ่ม Future of Learning 3 ที่ตั้งโจทย์ว่าจะแก้ปัญหาให้เด็กสามารถเข้าถึงนักจิตวิทยามากขึ้น สมาชิกในกลุ่มจึงคิดแพลตฟอร์มกลางที่ชื่อว่า ‘Break out Room’ ที่จะรวมนักเรียน โรงเรียน นักจิตวิทยาและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทั้งรัฐและเอกชนมาไว้ด้วยกัน โดยส่วนของโรงเรียนจะมีคุณครูแนะแนวที่เป็นด่านหน้าทำงานใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุด แบ่งเป็นการแนะแนวการศึกษาและการให้คำปรึกษาเบื้องต้นทางจิตวิทยาแต่ไม่วินิจฉัยโรค โดยครูสามารถส่งต่อข้อมูลที่ได้จากนักเรียนไปยังแอปพลิเคชันส่วนกลางเพื่อส่งให้นักจิตวิทยารับไปดูแลและวินิจฉัยต่อได้ ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เช่น กรมสุขภาพจิตหรือหน่วยงานเอกชน อย่างสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกที่สามารถสนับสนุนในรูปแบบของเงินทุนหรือค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ต่อนักจิตวิทยารวมถึงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญได้อีกด้วย

การมีแพลตฟอร์มส่วนกลางที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกโรงเรียนจะทำให้เห็นปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนในภาพรวมได้ ซึ่งหากพบว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบระดับกว้างและเร่งด่วนก็สามารถส่งเรื่องไปยังกระทรวงศึกษาธิการได้ทันทีเพื่อแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง ความเห็นของคณะกรรมการเสริมว่า ข้อเสนอของน้องๆ กลุ่มนี้คือนวัตกรรมทางความคิดที่นักเรียนสามารถเข้าถึงคำแนะนำทางจิตวิทยา ลดปัญหาความเครียดและทำให้เกิดการสื่อสารสองทางที่ทำให้ครูเข้าใจปัญหาเด็ก ส่วนเด็กก็ได้เรียนรู้วิธีคิดแบบผู้ใหญ่ด้วย

ขณะที่กลุ่ม Protection 1 นำเสนอนโยบายทั้งระบบ ตั้งแต่การสร้างการตระหนักรู้ การป้องกัน จนถึงการเยียวยา โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นทั้งในและนอกโรงเรียน โดยมีนโยบายทั้ง 3 ระดับ ระดับแรก student well-being support บริการให้คำปรึกษาภายในโรงเรียนที่จะจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแบบส่วนตัว

ระดับที่สอง กิจกรรมดูแลเยียวยาใจจากความเครียดและเพิ่มการเคารพตัวเอง (self esteem) ให้กับนักเรียน เช่น กิจกรรม ‘week of action’ ที่ในแต่ละสัปดาห์จะออกไปทำกิจกรรมอาสาเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน หรือกิจกรรมดนตรีบำบัดรวมถึงการล้อมวงพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพทางจิตและความเครียดกับเพื่อนในชมรม และระดับที่สาม การสร้างความตระหนักรู้ที่ไม่จำกัดแค่ในโรงเรียนแต่เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเมื่อเขากลับบ้านหรือกลับไปอยู่ในชุมชนโดยการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับคนในชุมชน ไอเดียนี้ถูกชื่นชมจากผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาว่าเป็นไอเดียที่เชื่อมทุกๆ ขาเข้าด้วยกันทั้งการป้องกัน เยียวยา และการสร้างความตะหนักรู้ซึ่งไม่จำเป็นต้องคิดแยกออกจากกันเสมอไป

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มองว่าเป็นการเปลี่ยนผู้ที่เกี่ยวข้อง (stakeholder) ให้กลายเป็นผู้เล่น (actor) ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาของทุกคนและชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคมที่ดี ขณะที่คณะกรรมการท่านอื่นๆ มีความเห็นว่าความท้าทายของนโยบายนี้คือจะทำอย่างไรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งอาจจะเริ่มจากให้มีความร่วมมือระหว่างเยาวชนก่อน จากนั้นค่อยขยายผลสู่ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านอื่นๆ

สำหรับกลุ่ม Prevention 2 ที่เสนอให้นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1-6 สามารถเข้าถึงกระบวนการรักษาสุขภาพจิตได้มากขึ้น จึงเสนอระบบคัดกรองด้านสุขภาพแก่เด็กและเยาวชนเพื่อลดภาระแก่ผู้เชี่ยวชาญและทำให้การรักษาด้านสุขภาพจิตทั่วถึงมากขึ้น โดยระบบการคัดกรองจะมี 4 ระดับ คือ 1. ระดับสังเกตการณ์โดยทำแบบสอบถามประเมินตนเอง 2. ระดับให้คำปรึกษาจากอาจารย์แนะแนว ซึ่งมีครูแนะแนวต่อนักเรียน 1:500 คน 3. ระดับให้คำปรึกษาออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญเชิงลึก และ 4. ระดับส่งต่อการรักษาให้โรงพยาบาล โดยนักเรียนที่ผ่านการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญและประเมินว่ามีความรุนแรงของโรคจะถูกส่งตัวเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ฝากโจทย์เพื่อคิดต่อว่า ตอนนี้ระบบคัดกรองจะทำผ่านระบบครูเป็นหลัก แต่มีกระบวนการผ่านเด็กและเยาวชนน้อย โจทย์คือทำอย่างไรให้เด็กแต่ละโรงเรียนมีความเข้มแข็งขึ้นมาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากบนลงล่างตลอดเวลา ให้เกิดการเข้าถึงนักเรียนโดยตรงเพื่อให้เขาดูแลตัวเองได้

หรือกลุ่ม Promotion 2 ที่เสนอนโยบายเรื่องการผลิตสื่อที่ส่งเสริมความเข้าใจด้านสุขภาพจิต การเปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตสื่อปรึกษาข้อมูลด้านเนื้อหากับผู้เชี่ยวชาญ และการกำหนดกติกาการเผยแพร่สื่อที่ควรมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ โดยในประเด็นนี้ ดร.วีระศักดิ์ สะท้อนมุมที่น่าสนใจว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเมื่อพูดถึงการรับสื่อที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต หลายกรณีเนื้อหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตถูกสอดแทรกเข้ามาที่อาจไม่สามารถคัดกรองได้ ในขณะที่การกำกับดูแลเนื้อหาโจทย์สำคัญคือเนื้อหาและคุณภาพที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยควรเป็นอย่างไร

Change Maker: พลังของผู้เปลี่ยนแปลง

สุริยนต์ กล่าวถึงกลุ่มเยาวชนว่า ตนเองเชื่ออย่างหมดข้อสงสัยว่าเยาวชนมีศักยภาพเพียงพอที่จะวิเคราะห์ปัญหาและมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายที่สำคัญของประเทศได้ ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะเมื่อเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา ซึ่งต้องเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ออกความเห็น แต่เขาต้องทำการบ้านมาด้วยซึ่งจะเป็นต้นแบบในการออกแบบนโยบายแบบมีส่วนร่วม โจทย์คือจะปรับกระบวนการทำนโยบายระดับประเทศ ระดับกระทรวงหรือท้องถิ่นอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

จิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในฐานะคนทำงานออกแบบนโยบายมาสามสิบปีว่าจากการระดมความเห็นทุกครั้งก็จะได้เห็นได้เห็นกลไกใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากเยาวชนเสมอและเป็นไอเดียที่สามารถใช้ได้จริงซึ่งเป็นอะไรที่ทั้งน่าตื่นเต้นและอยากให้เกิดกระบวนการแบบนี้อีกในมาตรการสำคัญระดับชาติ

ในขณะที่ตัวแทนจาก Thailand Policy Lab ปิดท้ายว่า เยาวชนทุกคนมีจิตวิญญาณของผู้เปลี่ยนแปลงซึ่งเราต้องการคนแบบเยาวชนกลุ่มนี้ที่ลุกขึ้นมาทำอะไรโดยไม่ต้องรอภาครัฐ แต่เราลุกขึ้นมาสร้างเอง สิ่งนั้นคือจิตวิญญาณของ change maker และเราจะผลักดันทั้ง 7 นโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Thailand Policy Lab ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง UNDP กับสภาพัฒน์ฯ และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save