fbpx

เครียด เหงา เศร้า : เยียวยาแผลใจวัยรุ่นยุคโควิดด้วยนโยบายสุขภาพจิตใหม่

“เมื่อสองวันที่แล้ว (17 พ.ค.) เกิดหนึ่งหมุดหมายสำคัญของช่วงโควิด คือการกลับมาเปิดเรียนของบรรดาโรงเรียนต่างๆ เด็กไทยได้กลับมาเรียนในห้องเรียนอีกครั้งในรอบหลายเดือน หลายคนแสดงความดีใจ แต่จากที่เราเห็นตามหน้าสื่อ – หลายคนก็ไม่รู้ว่าควรวางตัวอย่างไร จะทักทายด้วยการกอดกัน แปะมือไฮไฟว์กัน หรืออย่างไรดี”

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย เล่าถึงบรรยากาศการเปิดเทอมวันแรกของนักเรียนระดับชั้นต่างๆ บนเวทีเปิดตัวแพลตฟอร์มที่รวบรวมความคิดเห็นของเยาวชนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตบนโซเชียลมีเดียของห้องปฏิบัติการนโยบายประจำประเทศไทย หรือ Thailand Policy Lab (TPLab) ที่เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มในการออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของเยาวชนทั้งระบบ ผ่านกิจกรรมแฮ็กกาธอนที่ให้เยาวชนเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินใจเชิงนโยบาย ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองร่วมกับภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย
(ที่มา Thailand Policy Lab)

แม้เรื่องราวความยาวไม่กี่บรรทัดของเขาจะเป็นภาพน่าประทับใจที่แลดูเล็กน้อยสำหรับคนทั่วไป แต่เมแยร์กลับเชื่อเหลือเกินว่าสำหรับเด็กๆ ที่ได้พบปะเพื่อนและอาจารย์ในรั้วโรงเรียนครั้งนี้ – ต่อให้ทำได้แค่ยิ้มแย้มให้กันภายใต้หน้ากากก็ตามที – น่าจะมีความสุขยิ่งกว่าการเรียนออนไลน์เป็นไหนๆ สองปีมาแล้วที่พวกเขาต้องจมจ่อมอยู่กับหน้าจอเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ได้แต่ฟังเสียงบทเรียนผ่านลำโพง จินตนาการถึงเสียงกระซิบกระซาบกับเพื่อนๆ หลังห้อง รสชาติของขนมที่แอบแบ่งกันกินระหว่างคาบ และอีกหลากความรู้สึกที่การเรียนออนไลน์ไม่อาจทดแทนกันได้

แผนการเรียนการสอนในสถานการณ์ ‘ฉุกเฉิน’ ที่กินเวลายาวนานนับปีส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นอย่างใหญ่หลวง หลายคนไม่อาจก้าวออกจากห้องแคบๆ ที่โต๊ะเรียนห่างจากเตียงไม่ถึงสามก้าว หลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ในสายตาของผู้ปกครองตลอดทั้งวัน และอีกหลายคนก็กระทบกระทั่งกับสมาชิกในครอบครัว ในภาวะอันแสนอัดอั้นตันใจและออกไปผ่อนคลายที่ไหนไม่ได้ โซเชียลมีเดียดูเหมือนจะเป็นประตูสู่โลกกว้างใหญ่ เป็นที่ที่พวกเขาจะได้ระบายเพื่อบรรเทาทุกข์ให้ใครสักคนได้รับฟัง

ท่ามกลางกระแสข้อมูลและมวลอารมณ์ที่ไหลวนอยู่บนหน้าไทม์ไลน์วันละหลายแสนคำ TPLab ได้ใช้เครื่องมือ Social listening กวาดจับข้อความจากโซเชียลมีเดียของเยาวชนไทยกว่า 100,000 ข้อความ และโซเชียลมีเดียเอนเกจเมนต์อีกกว่า 10 ล้านครั้ง จนพบว่าวัยรุ่นกำลังประสบปัญหา ‘เครียด’ ‘เหงา’ ‘นอนไม่หลับ’ ‘ไม่มีความรู้’ มากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา โดยเสียงของวัยรุ่นระบุว่าหนึ่งในสาเหตุหลักมาจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งความเหลื่อมล้ำ การเมือง และระบบการศึกษาที่ไม่เสมอภาค

ยังไม่นับว่ามีคำอื่นๆ ที่น่าตกใจอีก ทั้ง ‘วิตกกังวล’ ‘เบื่อ’ และ ‘อยากฆ่าตัวตาย’ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของจอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ที่ขึ้นกล่าวลำดับถัดมาจากเมแยร์ว่า 1 ใน 7 ของเยาวชนอายุ 10-19 ปีทั่วโลกกำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต และมีอีกหลายคนที่มีพฤติกรรมติดเหล้าเมายา ทำร้ายตัวเองไปตลอดชีวิตเพราะปัญหาทางใจรุมเร้า

คำถามคือเราควรจะทำอย่างไรต่อไปในเมื่อผู้ใหญ่ได้สดับรับฟังเสียงความทุกข์ของเด็กๆ สะท้อนก้องทั่วโซเชียลมีเดียแล้วเช่นนี้

เมแยร์กล่าวไว้ก่อนวางไมค์ว่า “เราไม่ควรทำแค่พูดถึงมัน แต่เราควรถามถึงหน้าตาของนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขา” และ “การเปิดเรียนออนไซต์ไม่ได้หมายความว่าปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลายหมดไป” งานเสวนา ‘“เปิดหน้าปัญหาสุขภาพจิตคนรุ่นใหม่” โลกไปไกล นโยบายไทยต้องปรับตาม’ จึงเกิดขึ้นในเวทีเดียวกันเพื่อพูดคุยและหาทางออกให้กับปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นที่กำลังเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง กับวิทยากรรับเชิญจากหลากหลายองค์กร ทั้ง ศิริรัฐ ชุณศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาวัยรุ่น UNICEF THAILAND ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพงศ์ปณต ดีคง ผู้ช่วยด้านนวัตกรรมสังคมและนโยบาย Thailand Policy Lab

(ที่มา Thailand Policy Lab)

เสียงจากโลกออนไลน์ สะท้อนแผลใจในโลกจริง

 “ก่อนจะพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตของเยาวชน ผมอยากพูดถึงการออกแบบนโยบายสาธารณะของประเทศไทยก่อน” พงศ์ปณตเกริ่นเป็นลำดับแรก

“เราต้องยอมรับว่าการออกแบบนโยบายสาธารณะของประเทศไทยตอนนี้ค่อนข้าง top-down หมายความว่ามีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ออกแบบนโยบาย โดยที่เยาวชนหรือประชาชนทั่วไปยังไม่ได้มีส่วนร่วมมากนัก”

แม้ที่ผ่านมา ภาครัฐจะพยายามออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วมแบบต่างๆ ทั้ง Co-Create นำคนทั่วไปมาร่วมออกแบบกับผู้กำหนดนโยบาย, Public Hearing ทดลองฟังความเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบาย หรือออกแบบสำรวจให้คนทำแบบสอบถาม แต่พงศ์ปณตมองว่าถึงเวลาที่ต้องเสาะหาเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพิ่มเติม

“ทีนี้ มีเครื่องมือหนึ่งคือ Social listening เราไปจับเทรนด์ของโซเชียลมีเดีย เพราะเรารู้ว่าปัจจุบันเยาวชนแอคทีฟในโซเชียลมีเดียมาก ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรืออินสตราแกรม ซึ่งการจับเทรนด์เราอาจจะเห็นในภาคธุรกิจเพื่อทำกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ เยอะ แต่การออกแบบนโยบายยังมีองค์กรที่ใช้น้อย” TPLab จึงริเริ่มนำมาใช้เพื่อสำรวจว่าประเด็นปัญหาเรื่องไหนของวัยรุ่น ที่ตัววัยรุ่นเองคิดเห็นว่าต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“ตอนเราได้โจทย์นี้มา เราไม่ได้เลือกปัญหาสุขภาพจิตนะครับ” พงศ์ปณตกล่าว เขาเล่าว่าจากข้อมูลที่ได้มาด้วยเครื่องมือ Social listening และการทำแบบสอบถามเพิ่มเติม พบว่ามีสามปัญหาสำคัญที่เยาวชนไทยพูดถึงมากที่สุด คือสุขภาพจิต การศึกษา และความหลากหลายเพศ โดยโจทย์สุขภาพจิตมาเป็นอันดับหนึ่ง จึงเป็นประเด็นที่พงศ์ปณต ในฐานะตัวแทนจาก TPLab อยากชวนคุยถึงการวางแนวนโยบาย 4 ด้าน ได้แก่ การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต (prevention) การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต (protection) การส่งเสริมความเข้าใจด้านสุขภาพจิต (promotion) และอนาคตของการศึกษาที่เข้าใจสุขภาพจิตของผู้เรียน (future of education) เมื่อการศึกษาคือตัวแปรสำคัญของสุขภาพจิตเด็กไทย

พงศ์ปณต ดีคง
(ที่มา Thailand Policy Lab)

ด้านศิริรัฐอ้างถึงรายงานการสำรวจสุขภาพจิตของวัยรุ่นทั่วโลกในช่วงแรกเริ่มของโรคระบาดของ UNICEF ว่า “7 ใน 10 ของวัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตย่ำแย่ในช่วงโควิด” ซึ่ง “สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของกลุ่มเด็กและเยาวชน ผลกระทบที่เขาได้จากสังคมรอบตัว ณ ช่วงของความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นโควิด”

ศิริรัฐอธิบายเพิ่มเติมว่าท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด สิ่งที่กระทบต่อจิตใจวัยรุ่นไม่ใช่แค่ความกังวลเรื่องติดโรคเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจของครอบครัว และอื่นๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าเด็กไทยก็เช่นเดียวกัน เธอเล่าว่าถ้าเราดูข้อมูลจาก ‘MENTAL HEALTH CHECK IN’ แบบประเมินสุขภาพใจโดยกรมสุขภาพจิต จะพบว่ากลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเครียดมากกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่นๆ ถึงห้าเท่า และขณะที่การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ของเยาวชนอายุ 15-19 ปีทั่วโลก ในไทยกลับกลายเป็นสาเหตุอันดับที่ 3 แล้ว

ดังนั้น “โควิดเป็นเพียงตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้สิ่งที่เราอาจจะไม่เคยคำนึงถึงผุดขึ้นมาอยู่เหนือน้ำให้เห็นชัดเจนขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าในเหตุการณ์ทั่วไป หรือหลังจากนี้เมื่อโควิดดีขึ้น ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กจะลดลง สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนโควิดมานาน แต่มันอยู่ใต้น้ำ กว่าเราจะเห็น หลายครั้งก็เกิดความสูญเสียขึ้นมาแล้ว” ศิริรัฐกล่าว

“ในเชิงนโยบาย ถ้าเรารอตั้งรับ รอจนกว่าจะเกิดเหตุ มันอาจจะสายเกินไป สิ่งหนึ่งที่เราต้องเร่งทำและต้องทำให้ได้คือการสร้างทักษะความรู้ติดตัวเด็กและครอบครัว สามารถช่วยให้เด็กเกิดความยืดหยุ่น มีความสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นเบื้องต้น หรือง่ายที่สุดคือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน จากใคร” 

การศึกษาไทย – ระบบที่ไม่เคยดีต่อใจเด็ก?

แม้การเรียนออนไลน์ติดต่อกันในช่วงโควิดจะทำให้เห็นภาพวัยรุ่นประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แต่คำถามคือการเรียนออนไลน์คือบ่อเกิดของปัญหาจริงหรือไม่ – หรือตัวระบบการศึกษาไทยต่างหากที่มีปัญหา

อรรถพล จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ต่อให้ไม่มีโรคระบาด “การศึกษาไทยก็มีปัญหาด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว”

“ก่อนโควิด ผมคิดว่าบรรยากาศของแวดวงการศึกษาก็รับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน อย่างผมสอนในมหาวิทยาลัย ก่อนโควิดก็มีสัญญาณเรื่องอาการซึมเศร้า (depression) ของเด็กมากขึ้น ชัดขึ้น มีรายงานทุกปี

“แต่สองปีในช่วงโควิด สถานการณ์มันหนักขึ้น”

อรรถพลกล่าวว่า 6 ระลอกของการระบาดของโควิดส่งแรงสะเทือนต่อวงการศึกษาแตกต่างกัน สำหรับระลอกแรกๆ กระทบต่อนักศึกษาเป็นหลัก เนื่องจากมหาวิทยาลัยเลือกปิดและปรับมาเรียนออนไลน์อย่างรวดเร็ว แต่นักเรียนมัธยมเพิ่งจะมารับแรงกระแทกจริงจังเมื่อเกิดการระบาดระลอกที่ 3 4 5 หลายโรงเรียนเลือกเรียนออนไลน์ตลอดปีการศึกษา เราจะได้เห็นข่าวเด็กเครียด ความรุนแรง และการทำร้ายตัวเองปรากฏบนหน้าสื่อจำนวนมากในช่วงนี้

“สถานการณ์ความเครียดเกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์อยู่คนเดียวในหอพักและที่บ้าน บ้านของแต่ละคนไม่ได้มีความพร้อมในเชิงกายภาพในการรองรับเรื่องนี้ และบ้านไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน แม้แต่เราเป็นผู้ใหญ่อยู่บ้านทำงานตลอดสองปียังกระทบกระทั่งกับสมาชิกในบ้านเลย ยิ่งธรรมชาติช่วงวัยรุ่น การอยู่ในสายตาผู้ใหญ่ 24 ชั่วโมงยิ่งเป็นเรื่องที่หนักมาก ต้องอยู่ไกลจากเพื่อน เรียกว่าฝืนธรรมชาติทุกอย่าง”

การระบาดระลอกที่ 5 และ 6 บังเอิญประจวบเหมาะกับช่วงปิดเทอมพอดี และมีแนวโน้มคลี่คลายจนเราได้เห็นภาพเด็กกลับไปเรียนในโรงเรียนอย่างที่รอคอยมานาน

อรรถพล อนันตวรสกุล
(ที่มา Thailand Policy Lab)

“แต่ภายใต้รอยยิ้มก็มีปัญหาที่ต้องขบคิด” อรรถพลย้ำ เขาแสดงความกังวลถึงทักษะทางสังคม การสื่อสาร กระทั่งทักษะการเขียนอ่านที่หายไปเมื่อนักเรียนต้องเรียนออนไลน์มากว่าสองปี ที่สำคัญ เราต้องไม่หลงลืมว่าในสถานการณ์ฝุ่นตลบที่ผ่านมา ระบบการศึกษาล้มเหลวในการช่วยเหลือนักเรียนซึ่งมีปัญหาสุขภาพจิตหลายครั้งหลายครา

อรรถพลอธิบายว่าในภาพใหญ่ แต่ละโรงเรียนอาจจะมีครูแนะแนวไว้คอยช่วยเหลือก็จริง แต่ปัจจุบันครูแนะแนวถือว่ามีจำนวนน้อยมาก ดูแลนักเรียนได้ไม่ทั่วถึง ยิ่งเป็นการเรียนออนไลน์ยิ่งไม่ทั่วถึง และการทำงานของครูแนะแนวร่วมกับนักจิตวิทยาวัยรุ่นก็ไม่เข้มแข็งทุกพื้นที่เพราะมีนักจิตวิทยาจำนวนไม่พอ แม้แต่ในมหาวิทยาลัย นักจิตวิทยาที่พร้อมให้คำปรึกษาก็น้อยชนิดนับนิ้วได้

เมื่อรวมกับระบบการศึกษาไทยที่อรรถพลนิยามว่า “เป็นเหมือนตะแกรงร่อนคน เอาเฉพาะคนที่คู่ควรขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นมันจึงเครียดทุกคน คนตกตะแกรงก็เครียด คนที่รอดจากตะแกรงก็เครียด เป็นการศึกษาที่แบกความทุกข์กันถ้วนหน้า” จึงไม่น่าแปลกใจที่ระบบการศึกษาเช่นนี้จะไม่มีทั้งผู้แพ้หรือผู้ชนะ ทุกคนไม่รอดจากเงื้อมมือของความกดดันและความเคร่งเครียดกันทั้งนั้น

“การเรียนออนไลน์แค่เป็นบรรยากาศที่ซ้อนทับเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง” อรรถพลสรุปสั้นๆ ก่อนมอบเวทีให้กับ ศุภวุฒิ ตัวแทนวัยรุ่นที่ผ่านช่วงเวลาการเรียนออนไลน์มานับตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 5 จวบจนขึ้นมหาวิทยาลัยปี 1

ศุภวุฒิชวนทุกคนมองภาพผลกระทบจากการศึกษาในยุคโควิดต่อนักเรียนซึ่งแบ่งออกเป็นหลายด้าน – สำหรับตัวเด็กเอง ภาวะที่ต้องอยู่ในพื้นที่แคบๆ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน ย่อมทำให้เกิดความเครียดเป็นปกติ ยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องห่างจากแวดวงสังคมเพื่อน ถึงจะปรับตัวมาใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ดิสคอร์ด โอเพนแชท เพื่อฟังเพลงเล่นเกม พูดคุยกับเพื่อนฝูงบ้าง แต่ก็เป็นการบรรเทาความเหงาที่พอให้ใช้ชีวิตผ่านไปได้ในแต่ละวันเท่านั้น

ด้านปัญหาระหว่างเด็กและครอบครัว ศุภวุฒิมองว่าผู้ปกครองหลายคนยังไม่เข้าใจธรรมชาติของการเรียนออนไลน์มากนัก จึงเกิดอาการ “เรียนๆ อยู่โดนเรียกไปกรอกน้ำ” หลายครั้ง ณ จุดนี้ เขาไม่ได้คาดหวังนโยบายที่จะเข้ามาแทรกแซงวิถีการอยู่ร่วมกันของแต่ละบ้าน เพียงแค่ต้องการสื่อสารให้ผู้ปกครองรับฟังบุตรหลาน และเข้าใจความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับเด็กมากขึ้น

ส่วนปัญหาระหว่างนักเรียนและครู นอกจากประเด็นการดูแลสุขภาพจิตไม่ทั่วถึงที่อรรถพลได้กล่าวไปแล้ว ดูเหมือนเหตุการณ์ครั้งนี้จะสะท้อนว่าครูบางส่วนยังไม่มีความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) เพียงพอในการสอนออนไลน์แก่เด็ก หรือต่อให้ครูสามารถสอนได้ดี ก็ยังมีปัญหาที่เนื้อหาหลักสูตร เพราะ “ระบบของเราออกแบบมาฝืนธรรมชาติของเด็กมาตั้งแต่แรก เราคาดหวังให้เด็กจบมาตรงกับตลาดแรงงาน ระบบการศึกษาจึงถูกออกแบบมาให้ตอบรับระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกทีหนึ่ง จนเราลืมไปหรือเปล่าว่ามนุษย์คนหนึ่งเกิดมาไม่ต้องแบกรับความคาดหวังขนาดนั้นก็ได้ เขาควรจะได้เป็นตัวเองอย่างที่เขาเป็น ไม่ต้องเรียนแปดวิชา ไม่ต้องเอาคอนเทนต์ใส่หัวขนาดนั้น มันไม่ใช่การเรียนรู้ที่เฮลท์ตี้ต่อมนุษย์แต่แรก”

ยิ่งไปกว่านั้น บางโรงเรียนยังเพิ่มภาระให้เด็กด้วยการออกกฎระเบียบที่ศุภวุฒิกล่าวว่า ‘ขัดต่อธรรมชาติ’ เช่น ให้สวมชุดเครื่องแบบเรียนออนไลน์ ให้ตื่นเช้ามาเพื่อเคารพธงชาติพร้อมกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับและหลักสูตรการเรียนหลายอย่างถูกกำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเรียนหลายคนจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ประท้วงเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน โซเชียลมีเดียก็มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อเด็กคนหนึ่งกับสังคมภายนอก เขาได้รับรู้ว่าปัญหาการศึกษาช่วงโควิดเกิดขึ้นทั่วโลก และเกิดประเด็นอะไรขึ้นบ้าง การเห็นตัวอย่าง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวต่างชาติ ทำให้เด็กไทยย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงทิศทางของการศึกษาไทย

ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม
(ที่มา Thailand Policy Lab)

ทั้งนี้ ศุภวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัญหาการศึกษาไทยไม่ได้เป็นปัญหาที่ตั้งอยู่เดี่ยวๆ มันร้อยเรียงเชื่อมโยงกับปัญหาต่างๆ” ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม กระทั่งการเมือง ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ ข้อมูลจากการทำ Social listening ยังไม่ชัดนัก

“ผมรู้สึกว่าเด็กด่ารัฐบาลเยอะกว่าด่าการศึกษา เรื่องของม็อบนักเรียนหรือการท้าทายผู้มีอำนาจ จริงๆ เป็นเรื่องแปรผันตรงกับสุขภาพจิตเลย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจอีกทีหนึ่ง

“การที่เขาพยายามพูดถึงปัญหาอื่นๆ ที่อาจไม่ได้เป็นเรื่องการศึกษาโดยตรงขึ้นมา ผมคิดว่าน่าจะต้องให้ความสำคัญด้วย”

ฝ่ายณัฐยา ในฐานะตัวแทนจาก สสส. ก็เห็นพ้องกับศุภวุฒิว่าปัญหาสุขภาพจิต “ไม่ใช่ปัญหาของเด็กคนหนึ่ง หรือเด็กหลายคน แต่เป็นปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่แค่ระบบการศึกษา ทั้งระบบสังคมที่ครอบครัวใช้ชีวิตมา ระบบ การเมืองการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารงบประมาณ” พร้อมระบุว่า “ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่เห็นล่วงหน้ากันมานานแล้ว”

เธอเล่าย้อนประสบการณ์ว่าครั้งหนึ่ง สสส. เคยทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ทดลองจัดระบบดูแลสุขภาพจิตนักเรียนโดยให้ครูแนะแนวและนักจิตวิทยาทำงานร่วมกัน ผลการวิจัยนำร่องคราวนั้นสรุปว่าได้ผลดี โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียนจำนวนหลักร้อย และนักเรียนโตพอที่จะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง ทว่า ในความเป็นจริงการกระจายระบบดังกล่าวให้ทั่วถึงทุกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการต้องมีงบประมาณ ระบบการจัดการ และต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาผลิตนักจิตวิทยาออกมาให้เพียงพอ สุดท้าย โครงการนำร่องก็จบลงโดยไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมา

ความน่ากังวลคือช่วง 4-5 ปีมานี้ ณัฐยาได้ยินว่าครูแนะแนวกำลังลดจำนวนลง โรงเรียนไม่รับคนใหม่เพราะคิดว่าไม่จำเป็น “เมื่อนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนไม่มี ครูแนะแนวลดจำนวนลง วิชาแนะแนวยังมีอยู่ไหม ไม่แน่ใจ มีแค่ระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียนเข้ามาแทนที่ คือครูต้องออกไปเยี่ยมบ้าน ทำความรู้จักเด็ก ครอบครัวของเด็ก นี่คือระบบช่วยเหลือที่ประเทศเรามีอยู่ เด็กๆ ในโรงเรียนมีอยู่ ซึ่งทุกคนก็คงตอบได้ว่าไม่เพียงพอ”

อนึ่ง ณัฐยาเสนอว่าถ้าต้องการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น การใช้ Social listening ของ TPLab เป็นแนวทางที่น่าสนใจ บางทีเราอาจจะต้องฟังเสียงผู้เรียนว่าอะไรคือที่มาความเครียดของพวกเขา และจัดหา “มาตรการเฉพาะเรื่องเพื่อถอนปัจจัยคุกคามความสุข” แก้ไขทีละเรื่องทีละขั้น

แต่สำหรับระยะกลางและระยะยาว การวางนโยบายรับมือปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องเชิงระบบที่ต้องร่วมมือกันหลายองค์กร “เราต้องคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง มิฉะนั้นเราจะมีเจเนอเรชันที่มีแผลในหัวใจ มีรูกลวงในหัวใจ เมื่อเจอแรงกระแทกเข้ามา ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรอีก โรคอุบัติใหม่ Climate Change ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หนี้สินครัวเรือนพุ่งสูง มันจะกระแทกอะไรเข้ามา แล้วหัวใจเด็กที่มีรูกลวงจะรับมือได้ยังไง” ณัฐยากล่าว

สร้างระบบดูแลจิตใจ ในครอบครัว-โรงเรียน-สังคม

หากเราพูดถึงแนวทางบรรเทาคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นไทย ดูเหมือนผู้เล่นสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ คือผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ล้วนมีโจทย์เฉพาะของตนเอง

เริ่มต้นที่ผู้ปกครอง – โจทย์สำคัญที่ณัฐยาต้องการเน้นย้ำได้แก่การให้ความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของลูก การปรับตัวเข้ากับยุคสมัย และวิธีสื่อสารเชิงบวกกับวัยรุ่น เพราะ “เรารู้ว่าเลี้ยงลูกยุคนี้จะไปเอาความรู้เดิมที่เคยทำมา หรือที่รุ่นปู่ย่าตายายเคยเลี้ยงมาใช้ไม่ได้ 100%”

โดยณัฐยายกตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการ ‘คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน’ ของ สสส. ร่วมกับ Toolmorrow ที่เคยเปิดห้องเรียนทางไลน์ให้สอนวิธีสื่อสารกับลูกให้พ่อแม่ผู้กลุ้มใจเรื่องลูกติดเกม ติดมือถือ มาถอดบทเรียนว่า “เราอาจจะคุยกันเรื่องห้องเรียนของพ่อแม่มาเยอะ แต่การเรียนแบบนี้ต้องแมตช์กับไลฟ์สไตล์ของคนด้วย” เพราะพ่อแม่ยุคนี้ทำงานหนักมาก ถ้าไม่ใช้วิธีการที่เข้าถึงง่าย เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างไลน์ แม้คนจะสนใจ แต่อาจจะไม่สะดวกเข้าร่วมก็เป็นได้

“เราต้องหาอะไรย่อยง่าย เข้าใจง่าย ที่สำคัญได้ลงมือทำ” ณัฐยาเพิ่มเติมอีกว่างานให้ความรู้เช่นนี้ควรตีโจทย์ให้หลากหลาย เพราะครอบครัวแต่ละบ้านมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะบริบทครอบครัวปัจจุบันมีวัยรุ่นที่อาศัยกับปู่ย่าตายายจำนวนมาก ภาครัฐต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการขยายผลให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม และอย่าลืมว่าต้องมีการติดตาม ประเมินผลโครงการเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในคราวต่อไป

ณัฐยา บุญภักดี
(ที่มา Thailand Policy Lab)

ถัดมาในมุมของครูและโรงเรียน – อรรถพลเริ่มด้วยการตั้งคำถามถึงระบบครูแนะแนวว่า “ครูแนะแนวควรจะมีหน้าที่อย่างไร” พร้อมเล่าว่าโดยทั่วไป งานของครูแนะแนวมีสี่เรื่อง หนึ่งคือสอนกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตในห้องเรียน ทำความรู้จักเด็กรายบุคคล และทำให้เด็กจดจำครูได้ เพื่อนำไปสู่หน้าที่ที่สอง คือจัดชั่วโมงให้คำปรึกษารายบุคคลในเรื่องต่างๆ

หน้าที่ที่สาม ช่วยเหลือนักเรียนเรื่องการเรียนต่อ ค้นพบเส้นทางความฝันของตนเอง เข้าใจลักษณะอาชีพต่างๆ และหน้าที่ที่สี่ ดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตของนักเรียน พร้อมจัดหาทุนการศึกษาที่เหมาะสมให้

“ตอนนี้โรงเรียนให้ครูแนะแนวแวะหาแหล่งทุนมากที่สุด และให้คำแนะนำเรื่องการศึกษามากกว่า ทำให้งานหลักสองงานแรกไม่ได้ทำอย่างที่ควรจะเป็น” ดังนั้นสถานศึกษาต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ปรับภาระงานให้ครูแนะแนวกลับมาเป็นที่ปรึกษาของนักเรียนได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ อรรถพลยังเสนอถึงระบบที่ครูแนะแนวทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาเด็ก ผ่านการวางนโยบายที่ชัดเจน จัดกลุ่มโรงเรียนทั่วประเทศ 30,000 กว่าแห่งเข้าด้วยกันกลุ่มละ 5-6 โรงเรียน กำหนดให้แต่ละกลุ่มมีนักจิตวิทยาคอยทำงานกับครูแนะแนว ครูประจำชั้น และมีเวลาเข้างานประจำที่โรงเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตได้

“ต้องเข้าใจก่อนว่านักจิตวิทยาโรงเรียนจะไม่ได้ดูแลแค่เด็ก แต่ดูแลครูด้วย ให้คำปรึกษากับพ่อแม่ด้วย เพราะฉะนั้นการเตรียมครูแนะแนวและการเตรียมนักจิตวิทยาโรงเรียนจะไม่เหมือนกัน” อีกทั้งนักจิตวิทยาโรงเรียนอาจจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ร่วมด้วย การวางรากฐานของระบบช่วยเหลือดังกล่าวจึงควรพัฒนาไปพร้อมกับกลไกสหวิชาชีพในพื้นที่นั้น

ที่สำคัญ อรรถพลย้ำว่าสถานศึกษาและกระทรวงควรจัดให้มีระบบช่วยเหลือคุณครูมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติแก่ครูเมื่อพบว่านักเรียนประสบปัญหาสุขภาพจิต หรือการอัปเดตความรู้ เพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ระบบเพื่อที่ครูจะได้ปรับตัวตามสถานการณ์ทัน

และถ้าให้ดีไปกว่านั้น อรรถพลยังเสนอให้ลดขนาดโรงเรียนลง เนื่องจากบทเรียนจากช่วงโควิดแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าโรงเรียนขนาดใหญ่นักเรียนหลักพันคน ครูไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ต่างกับโรงเรียนขนาดกลางนักเรียน 600-700 คนที่ครูจะรู้จักหน้าค่าตาเด็กได้ครบ และเข้าประกบเมื่อเกิดปัญหาได้ง่ายกว่า

“การศึกษาเป็นเรื่องการเมือง เราต้องกำหนดเพดานบนของโรงเรียนได้แล้วว่าขนาดต้องไม่เกินกี่คน โรงเรียนหนึ่งมีนักเรียน 2,000 คนนี่ถือว่ามหัศจรรย์แล้ว แต่โรงเรียนพิเศษบางโรง 4,500 คนก็มี การดูแลเด็กจะไม่มีทางทั่วถึงเลย”

นอกจากการเจาะจงถึงผู้เล่นหน้าสำคัญรอบตัววัยรุ่นข้างต้น ด้านศิริรัฐ ตัวแทนจากยูนิเซฟยังไม่ลืมชี้ให้เห็นว่าภายในพื้นที่โรงเรียนมีองคาพยพอื่นที่สามารถป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนได้ไม่แพ้นักจิตวิทยาหรือครูแนะแนว ทั้งหมดต้องพัฒนาไปพร้อมกันตามแนวคิด Whole School Approach

ศิริรัฐ ชุณศาสตร์
(ที่มา Thailand Policy Lab)

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรามองเห็นภาพว่าชีวิตของเด็กคนหนึ่งเกี่ยวพันกับพื้นที่ภาคส่วนใดบ้าง โจทย์คือ “จะทำยังไงให้บริบทพื้นที่ที่เด็กหนึ่งคนต้องใช้ชีวิตอยู่มาทำงานด้วยกัน” โดยไม่ใช่แค่ที่บ้านหรือโรงเรียน ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรเดียวอย่างสาธารณสุขหรือการศึกษา แต่ทั้งระบบสวัสดิการ หน่วยงานด้านการคุ้มครองเด็ก และอื่นๆ ต้องมาร่วมขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพจิต เกิดการทำงานแบบบูรณาการกัน

“สุขภาพจิตไม่ใช่ประเด็น Stand Alone มันเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เข้ามาด้วยกัน และในความน่ากังวลก็มีโอกาส ถ้าเราสามารถเชื่อมมันเข้ากับหน้างานปกติที่ทำอยู่แล้ว”

อนึ่ง ในระยะยาวเธอเสนอว่าเราต้องทำให้สังคมไทยมีลักษณะเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน “ถ้าทำให้สุขภาพใจกลายเป็นเรื่องเหมือนสุขภาพกาย จะทำให้เกิดการส่งเสริมป้องกัน พูดคุยได้ง่ายขึ้น และยอมรับได้ว่าต่อให้มีสุขภาพใจที่ดี แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น สุขภาพใจก็มีปัญหาเกิดขึ้นบางช่วงได้ และกระบวนการจัดการได้เช่นกัน” โดยทิ้งท้ายด้วยอินไซต์เล็กๆ จากประสบการณ์ทำงานของตนเองว่าวัยรุ่นหลายคนมองว่าไม่อยากพูดคุยเรื่องสุขภาพจิต เพราะไม่อยากเพิ่มภาระให้คนรอบข้าง ทำให้คนรอบตัวไม่สบายใจ เป็นสิ่งที่ศิริรัฐอยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันสนับสนุน เปลี่ยนทัศนคติของเด็กๆ มาสื่อสารกันมากขึ้น

เปลี่ยนวัฒนธรรมฐานราก เพื่อวางรากฐานการสร้างนโยบายในอนาคต

ประเด็นสุดท้ายของวงสนทนา คือการกล่าวถึงภาพกว้างระยะยาวของแนวทางการวางนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพจิตวัยรุ่นในอนาคต ซึ่งณัฐยา จาก สสส. เริ่มด้วยการแสดงความเห็นว่า “ต้องเปลี่ยนวิธีกำหนดนโยบาย จากเดิมใช้นักวิชาการ มืออาชีพมานั่งเขียน ใช้การสั่งการแบบ Top-down ในยุคใหม่เราต้องเปลี่ยน ต้องเอาเครื่องมือใหม่ๆ อย่าง Social Listening เข้ามาช่วยเปลี่ยน เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการพัฒนานโยบายให้เป็นลักษณะฟังเสียงประชาชน ไปกำหนดนโยบายที่ใช่ ย้อนกลับลงมาใช้”

ในสายตาเธอ ประเทศไทยเต็มไปด้วย ‘สุสาน innovation’ กล่าวคือมีโครงการนำร่องมากมายที่ประสบผลดี แต่ไม่มีโอกาสถูกนำไปขยายผลต่อ เป็นไปได้ไหมที่ต่อจากนี้จะช่วยฟื้นคืนชีวิตให้กับนวัตกรรมเหล่านั้น ไม่เกิดหลุมศพใหม่ไร้คนเหลียวแลเพิ่มขึ้นอีก และถ้าให้ดี ณัฐยาเสนอว่าอยากชวนผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมทำ Policy Sandbox หรือ Policy Hackathons ร่วมกับคนรุ่นใหม่ รวมถึงสานต่อให้กลายเป็นวัฒนธรรมการทำงาน

ฝั่งแวดวงการศึกษาอันเป็นตัวแปรสำคัญต่อสุขภาพจิตวัยรุ่น อรรถพลได้ฝากไปถึงกระทรวงศึกษาธิการและผู้มีอำนาจว่า “อยากบอกให้เลิกทำบางอย่าง มากกว่าต้องทำบางอย่าง” เพราะที่ผ่านมาบ่อเกิดความเครียดของครูและนักเรียนเกิดจากนโยบายที่สั่งแบบ Top-down ตลอดเวลา ยิ่งในช่วงโควิดยิ่งสะท้อนชัดเจนว่ากระทรวงไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเรื่องการศึกษาหนักข้อขึ้นเลย ไม่ได้ช่วยให้โรงเรียนเกิดความพร้อมในการเรียนออนไลน์ และยังใช้วัฒนธรรมราชการเข้ามาครอบการเรียนการสอน บังคับให้ครูต้องรายงานว่าทำอะไรไปบ้าง นำมาสู่การสั่งงานนักเรียนอย่างหนักหน่วงเป็นทอดๆ

อรรถพลเพิ่มเติมอีกว่าขณะที่หลายประเทศมีรายงานการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในช่วงโควิดเผยแพร่ออกมามากมาย ประเทศไทยกลับหารือเรื่องแนวทางหรือตัวอย่างการสอนที่ประสบความสำเร็จน้อยมาก รายงานแทบไม่มีเลย หลายโรงเรียนได้แต่หยิบยืมแนวคิดของประเทศอื่นมาใช้ พอพบว่าไม่เหมาะกับสังคมไทยก็เลิกไป ไม่มีการถอดบทเรียน

“ผมคิดว่าสิ่งที่ควรทำมากๆ คือกระบวนการหารือเชิงนโยบาย (Policy dialogue) เพราะจะทำให้คนเรียนรู้ไปด้วยกัน” ที่สำคัญ อรรถพลกล่าวว่าต้องเปิดโอกาสให้แต่ละโรงเรียนออกแบบนโยบายการเรียนการสอนของตนเอง ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงโควิดหรือไม่ก็ตามแต่ เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งล้วนต่างกันด้วยขนาด ภูมิหลังเด็กนักเรียน และบริบททางสังคมอื่นๆ จึงไม่อาจให้คนนอกเข้าไปคิดหรือสั่งการแทน อย่างมากเป็นได้เพียงเพื่อนชวนคิดชวนคุยเท่านั้น

ในทำนองเดียวกัน อรรถพลเห็นด้วยกับณัฐยาว่าหลายครั้งนโยบายทดลองที่ออกมาไม่ควรทำแล้วจบไป แต่ควรนำมาถกเถียงกันจนตกผลึกเป็นนโยบายใหม่ที่ดีกว่าเดิม

“การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาวๆ เพราะบริบทเปลี่ยนทุกวัน” เขากล่าว ก่อนศุภวุฒิจะเข้ามาเสริมว่าเห็นด้วยเรื่องกระบวนการหารือเชิงนโยบาย (Policy dialogue) เพราะนอกจากช่วยเรื่องการเรียนรู้ได้แล้ว การจัดวงสนทนาที่ประกอบไปด้วยคนหลากหลายฝ่าย หลายช่วงอายุ ย่อมช่วยเรื่องช่องว่างระหว่างเจเนอเรชัน (generation gap) ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ศุภวุฒิมองระบบช่วยเหลือดูแลสุขภาพจิตนักเรียนในปัจจุบันว่า “เกิดมาเพื่อชดเชยระบบการศึกษาไทยที่ไม่ได้ออกแบบมาดีตั้งแต่แรก การศึกษาไทยออกมาแบบเพื่อเพิ่มจีดีพี ไม่ได้เพิ่มความสุข มันน่าเศร้าและแห้งแล้งมากๆ ที่เด็กคนหนึ่งต้องเรียนเพื่อออกมาเป็นแรงงานเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสัก 1%” ถ้าเป็นไปได้ เขาอยากให้เน้นกิจกรรมอื่นๆ อย่างการเลือกตั้งประธานนักเรียน ไม่เน้นวิชาการมากเกินไป เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะชีวิตและการศึกษามีความเป็นมนุษย์มากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม “ตัวนโยบาย[การศึกษา]เอง สุขภาพจิตเอง จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าประเทศยังไม่มีประชาธิปไตย” ศุภวุฒิยืนยันอย่างหนักแน่น “มันเป็นหนึ่งจุดที่เยาวชนพยายามเรียกร้องกันมาสักพักแล้ว เราไม่ได้ต้องการแค่สิทธิและเสรีภาพ แต่การมีประชาธิปไตยคือการทำให้ทุกพื้นที่มีสิทธิ์ในเสียงของตัวเอง มีอิสระในการทำงานของตัวเอง เกิดการกระจายอำนาจ ดังนั้นเราต้องมีประชาธิปไตยเต็มใบก่อน”

(ถึงตรงนี้อรรถพลคว้าไมค์กล่าวอีกเสียงว่าใช่ จากประสบการณ์ตรงของเขา “ตรงไหนที่อำนาจล้วงมือไปยุ่งน้อยๆ ตรงนั้นความคิดสร้างสรรค์กับนวัตกรรมจะเกิด”)

ปิดท้ายด้วยพงศ์ปณต ซึ่งมองความท้าทายในอนาคตว่า การวางนโยบายเรื่องสุขภาพจิตวัยรุ่น มีความยากอยู่ที่การทำงานกับภาครัฐหลายองค์กร “เราไม่สามารถทำงานกับกรมสุขภาพจิตองค์กรเดียวได้ เราต้องทำงานกับกระทรวงศึกษา และองค์กรอื่นๆ ที่ออกนโยบายเรื่องการศึกษาด้วย ความยากคือเรารู้อยู่แล้วว่าองค์กรเหล่านี้ทำงานเป็นไซโล”

แม้ต้องรอดูกันต่อไปว่าวัฒนธรรมใหม่ในการสร้างนโยบายสุขภาพจิตจะเกิดขึ้นได้ไหม ประชาธิปไตยเต็มใบจะมาถึงเมื่อไหร่

แต่อย่างน้อยในวันนี้ เราก็ได้เห็นการขยับเคลื่อน  ที่หวังว่าจะส่งแรงกระเพื่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Thailand Policy Lab ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง UNDP กับสภาพัฒน์ฯ และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save