fbpx
ร้องไม่ร้องก็ต้องเสี่ยง : แอบดูเบื้องหลังเสียงเพลงการเมืองของ โยชิ 300

ร้องไม่ร้องก็ต้องเสี่ยง : แอบดูเบื้องหลังเสียงเพลงการเมืองของ โยชิ 300

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ขอบคุณภาพจาก โยชิ 300

 

แอบดูลุงอยู่นะจ๊ะ แต่ลุงไม่รู้บ้างเลย บ่นลุงกันทั้งอาทิตย์ แต่ลุง ก็ยังเฉยเมย
เอาละเตรียมใจไว้หน่อย ไปปรับทัศนคติกัน Yeah Yeah Yeah
คนรักลุงก็เยอะนะ ดูได้จากโพลทั่วไป แต่ลุง ชอบทำหน้าเหมือนยักษ์ แล้วลุง ก็ไม่สนใจ
เอาละเตรียมใจไว้เถอะ ดูอะไรจะแพงขึ้นต่อไป Yeah Yeah Yeah

 

 

ทำนองเพลงติดหู บวกกับเนื้อเพลงที่ใครอ่านก็รู้ว่าหมายถึงอะไร ในเนื้อเพลงที่ยกมาข้างต้นนี้ มาจากเพลง คุกกี้เสี่ยงคุก ผลงานสร้างชื่อของ ‘โย – ธนมงคล จำปาเฟื่อง’ หรือ โยชิ 300 นักแปลงเพลงขวัญใจวัยรุ่น ที่แซวรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ยังไม่เปลี่ยนเป็น ‘รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง’

เนื้อหาหยอกเอิน แต่แฝงความไม่พอใจเล็กๆ นี้ ถูกประชาชนหลายคนแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อใช้แทนความในใจของตัวเอง การส่งเสียงในแบบของโยชิ 300 จึงทำให้บรรยากาศการเมืองในหมู่ประชาชนไม่เงียบเหงาเศร้าสร้อยเกินไปนัก

แต่ใครจะรู้ว่า ภายใต้เสียงเพลงอารมณ์ดี เขาต้องเจออะไรบ้าง

หลังจากนัดสัมภาษณ์กัน ผู้เขียนก็ได้รู้ความจริงอันน่าตกใจที่ว่า โยชิ 300 เคยเจอกลุ่มคนมา ‘เยี่ยม’ ที่บ้าน พร้อมตั้งคำถามว่า ‘ใครสั่งให้ทำ’

น่าเหลือเชื่อ ที่คนตัวเล็กๆ ร้องเพลงไม่กี่เพลงในโซเชียลมีเดียจะทำให้คนบางกลุ่มถึงกับต้องกังวลและเลือกจะคุกคามโยชิถึงหน้าบ้านเช่นนี้

ด้วยเหตุนี้ แม้ตัวโยชิเองจะรับมือเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยเสียงเพลงอารมณ์ดีราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ความเป็นมา และประสบการณ์ที่เขาได้เจอระหว่างแปลงเพลง คือสิ่งที่น่าค้นหา และต้องส่งเสียงให้ดัง ไม่แพ้เพลงแปลงของเขา ไม่แพ้การแสดงออกทางความคิดในสังคม บทสนทนาของเราจึงเริ่มต้นขึ้นและดำเนินไปอย่างอารมณ์ดี ท่ามกลางความผันผวนของการเมือง คล้ายกับบุคลิกและใจคอของเขาคนนี้ ‘โยชิ 300’

 

ก่อนจะมาเป็นโยชิ 300 คุณคือใครบนโลกใบนี้

เป็นเด็กติดเกมทั่วไปครับ ไม่ตั้งใจเรียน ไปโรงเรียนก็ไม่ถึงโรงเรียนเพราะโดดไปอยู่ร้านอินเทอร์เน็ต จนติด ร. ติด 0 เพื่อนกลุ่มเดียวกันทยอยเรียนจบไปหมด แต่เราต้องซ้ำชั้นตอน ม.3 ผมติดเกมขนาดที่ว่าขโมยเงินพ่อแม่ไปเล่น จนพ่อแม่มีแนวความคิดว่า เล่นเกมทำให้เป็นโจร ทำให้เสียคน มองมันเหมือนเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งเลย หลังจากนั้นผมก็เลยพยายามกลับไปเรียนให้มันผ่านๆ ไป

พอถึงช่วงที่ต้องเข้า ม.ปลาย ผมไม่ยอมสมัครเข้าเรียน พ่อก็บอกว่า ถ้าไม่เรียนก็ต้องทำงาน เลยไปทำงานที่อู่ต่อรถบัสของพ่อ ช่วยพ่อบ้าง แวบออกมาบ้าง  มีอยู่วันหนึ่งไม่อยากทำงาน ไม่อยากฟังพ่อบ่น เลยหนีไปที่ The Mall โคราช ผมได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังเต้น B – boy กันอยู่ มันเท่ดี เลยเข้าไปคุยเพราะอยากรู้อยากเห็น หลังจากนั้นเลยได้คลุกคลีกับการเต้น B – boy มีชื่อในวงการว่า ‘โยชิมิสึ’ ในวงการต้องมีชื่อน่ะครับ ชื่อยิ่งยาวยิ่งเท่

ช่วงนั้นซ้อมเต้นเอาจริงเอาจัง กลับบ้านดึกทุกวัน กลายเป็นปัญหาใหม่สำหรับที่บ้านอีก เขาคิดว่าไม่เรียนหนังสือแล้วยังกลับบ้านดึกอีก ไปทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า โดนกล่าวหาว่าติดยาบ้าง บวกกับความคิดของคนยุคสมัยนั้นที่ว่า เต้นกินรำกินมันจะได้ดีได้อย่างไร สุดท้ายผมเลยเลือกไม่บอกความจริง เพราะกลัวจะไม่ได้เต้นอีก

เต้นมาเรื่อยๆ จนปี 2550 ผมกับทีมได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ของภาคอีสาน ได้ไปแข่งระดับประเทศเพื่อหาตัวแทนไประดับโลก เราก็เอาถ้วยมาให้แม่ดูว่าเนี่ย…ไปแข่งมานะ พ่อแม่ก็เริ่มไม่บ่น เพราะเห็นสิ่งที่เราทำ

 

 

ดูจะไปได้ดีกับการเต้น แล้วจุดเปลี่ยนหรือจุดเริ่มต้นของการแปลงเพลงคืออะไร

หลังปี 2554 ผมกับทีมได้รองแชมป์ประเทศไทย แล้วก็หยุดเต้นกันไปเพราะเริ่มรู้สึกเบื่อ คนเก่งๆ ในวงการเต้นเริ่มเยอะขึ้น เพื่อนๆ เองต่างแยกย้าย บางคนไปมีครอบครัว บางคนต้องทำงาน ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง ไม่ค่อยมีเวลาซ้อม ในช่วงเดียวกัน น้าผมคนนึงชวนให้ไปทำงาน art กองถ่าย ผมเลยทำงานวิ่ง props อยู่เบื้องหลังบ้าง ไปเล่น MV ให้บ้าง

แต่ด้วยความที่อาทิตย์นึงจะได้ออกกองแค่ประมาณ 2-3 วัน เวลาอยู่ว่างๆ ก็เบื่อ เลยลองลิปซิงค์เพลง กวนตีน ของ Mad Pack It เล่นๆ แล้วก็อัปโหลดลงเฟซบุ๊กแบบไม่ได้ตัดต่ออะไรเลย ปรากฏว่ามันดัง เราก็งง ตอนนั้นยังไม่มีเพจเลย คนส่งคำขอเป็นเพื่อนมาทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเยอะมาก

พอมีคลิปแรกก็ต้องมีคลิปที่สอง เพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กส่งคลิปเพลงแปลงชื่อ ไอ้ขี้งก – Win Collins จากเพจ ‘แปลงซะเสีย’ ’มาให้ บอกว่าลิปซิงค์เพลงนี้ให้ดูหน่อย ก็เลยเอาของเขามาลิปซิงค์ แล้วตั้งแคปชั่น ว่า ‘ขอคืนได้มั้ยเงิน 300’ คลิปนี้ก็เปรี้ยงมาก ดังจนคนเข้าใจผิดว่าเป็นเพลงของผมเอง โทรทัศน์ช่อง 7 เอาไปลงข่าว เจ้าของเพลงแปลงตัวจริงก็แชร์ไป

ทีนี้ผมกับเจ้าของเพลงมีโอกาสไปออกรายการวิทยุด้วยกัน ทีมงานก็แนะนำว่าผมควรทำช่องยูทูปนะ น่าจะสร้างเพจเอาไว้ จากที่ทำเอาสะใจ เลยตัดสินใจไปต่อ สร้างเพจขึ้นมา

ผมไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อเพจว่าอะไรดี เลยนึกถึงเวลาไปไหนมาไหนคนจะเรียกเราว่า ไอ้คนที่ร้องเพลงทวงเงิน ‘300’ ไง ส่วนคนวงการเต้นก็จะบอกต่อกันว่า ไอ้โยชิไง ‘โยชิมิสึ’ ที่เต้น B-boy ก็เลยเอามารวมกันเป็น ‘โยชิ 300’

 

คิดว่าทำไมคนถึงชอบและแชร์คลิปเรา

ผมว่าเพราะเนื้อหามันฮาและเสียงของผมตลก บวกกับจังหวะบังเอิญ คือหลังจากสร้างเพจเราไม่อยากลิปซิงค์แล้ว เลยเริ่มแปลงเพลงเอง เขียนเนื้อขึ้นมาใหม่ เริ่มด้วยเพลง In The End ของ Linking Park แปลงเป็นเพลง ตังค์ ยาย เจน (In The End)  แต่เผอิญว่าตอนนั้น Chester Bennington นักร้องนำของวง Linking Park เขาเสียชีวิตเพราะโรคซึมเศร้าพอดี คนก็เข้ามาคอมเมนต์เยอะ จากที่ตลกๆ กลายเป็นด่าแบบไม่ให้ผมได้ผุดได้เกิดเลย มันเป็นความบังเอิญที่ผมไม่ตั้งใจ ผมอัปโหลดคลิปลง channel ก่อนที่จะมีข่าว Chester ฆ่าตัวตายแค่ 2 ชั่วโมง

เราแปลงเพลงครั้งแรกก็โดนด่าจนเรารู้สึกท้อเลย เลยหายไปอาทิตย์ สองอาทิตย์

 

YouTube video

 

หายไปเพราะจะเลิก ?

หายไปแต่งเพลงแปลงมาครับ… ชื่อเพลง (ห้อง) น้ำ แปลงมาจากเพลง NUMB ของ Linking Park นี่แหละ ผมอยากรู้ว่าจะโดนอีกมั้ย สรุปว่ารอบนี้ไม่โดนด่า ก็พอเข้าใจว่าสังคมโซเชียลในไทยคือขอแค่ให้ได้ด่า ถ้าชั้นมีโอกาสได้ด่า จะด่าให้ถึงที่สุด ด่าตามกระแสก็เยอะ

 

ก่อนหน้าเพลงคุกกี้เสียงคุก สนใจข่าวลุงตู่ ข่าวการเมืองขนาดไหน เคยพูดถึงทัศนคติทางการเมืองของตัวเองผ่านโซเชียลบ้างไหม

สนใจนะครับ แต่ไม่ได้พูดออกสื่อเท่าทุกวันนี้  ในช่วง 5 ปี เราไม่รู้ว่าจะแสดงออกทางการเมืองอย่างไร ส่วนใหญ่จะพูดคุยกับเพื่อน หรือโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวมากกว่า และมักจะพูดในเชิงเหน็บแนม พูดให้ดูอ้อมที่สุด ขณะเดียวกันก็ทำให้รู้สึกว่ามันคือเรื่องการเมืองมากที่สุด การได้แสดงออกมันรู้สึกโล่งนะ แต่ถ้าจะให้โล่งกว่านี้ก็อยากทำเพลงของตัวเองด้วย ผมคิดว่าไอ้เพลง คุกกี้เสี่ยงคุก นี่แหละที่จะพูดแทนเราได้ เลยจัดการแปลงเนื้อเพลงเป็นเรื่องการเมือง หลังจากนั้นก็ทำเพลงที่เสียดสีสังคมมาตลอด จนคนติดภาพว่า ไอ้นี่ร้องเพลงล้อเลียนรัฐบาล เสียดสีสังคม

 

คุกกี้เสี่ยงคุก เป็นเพลงแปลงเพลงแรกของโยชิ 300 ที่พูดถึงการเมือง ทำไมตัดสินใจทำประเด็นนี้

คือช่วงนั้น BNK48 กำลังดัง เขาปล่อยเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ออกมา แล้วในช่วงเดียวกันนี่แหละ โซเชียลมีเดียมีแฮชแท็ก #คุกกี้เสี่ยงคุก ถูกพูดถึงเยอะมาก เรื่องราวมาจากว่าในวง BNK48 สมาชิกเป็นเด็กผู้หญิงซะส่วนใหญ่ คนที่ชอบก็จะโดนล้อว่าเสี่ยงคุกๆ

พอเลื่อน news feed ลงมาอีก เรื่องที่เป็นประเด็นสูสีกันคือ ข่าวลุงตู่ไปอเมริกา คนวิจารณ์ที่เขาได้ทั้งเรือ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ไก่งวง หมู อะไรต่อมิอะไรกลับมา คำว่าคุกกี้เสี่ยงคุกในความนึกคิดผมเลยมีความหมายอีกแบบ เวลาได้เห็นบางข่าว บางเหตุการณ์ เราก็เกิดคำถามว่า ‘เฮ้ย อะไรวะ อะไรของพวกมึงวะ’ พอมีคำถามเกิดขึ้น เพลงมันก็จะลอยออกมาเอง

เด็กบางคนที่เข้ามาคอมเมนต์ในเพจเขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องด่าลุงตู่ด้วย แล้วก็จะมีลูกเพจเข้ามาอธิบายว่าเรื่องมันเป็นแบบนี้นะๆ เด็กบางคนก็ได้รู้เรื่องการเมืองมากขึ้น บางคนก็ชอบเราเพราะชอบเพลงต้นฉบับมาก่อน พอมันมารวมกับเรื่องการเมืองเลยกลายเป็นเรื่องสนุก

 

ตอนปล่อยเพลงคุกกี้เสี่ยงคุก คิดว่าคนจะเห็นด้วยกับเราไหม

ผมก็คิดครึ่งๆ กลางๆ นะ มันต้องมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แล้วก็จริง คนชอบก็มี แต่คอมเมนต์บางส่วนด่าลามไปขนาดว่าผมเหยียดชาติ (หัวเราะ) เราก็คิดไว้อยู่แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่เพลงนี้มันเบาที่สุดแล้วนะ เทียบกับเพลงอื่นของผม

 

 

เป็นคนสาธารณะที่วิจารณ์การเมือง แถมชาวเน็ตแชร์ต่อเยอะด้วย ในยุคที่คนถูกปิดตาปิดปาก ถูกควบคุมการแสดงออกแบบนี้ ไม่กลัวหรอ

ผมว่าผมไม่กลัวนะ ถ้าเขาห้ามพูด ห้ามแสดงออก แล้วจะให้ทำยังไง คือถ้าเราเดือดร้อน มีปัญหา และต้องการความช่วยเหลือ เราก็ต้องแสดงออกใช่ไหม

อย่าลืมว่าในสมัยก่อนเราสามารถติดตามข่าวได้แค่ หนังสือพิมพ์ ข่าวภาคเช้า ภาคเที่ยง และภาคค่ำ กว่าจะรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น เวลาก็ผ่านไปแล้ว แต่สมัยนี้มีอะไรเกิดขึ้นปุ๊บก็สามารถเป็นข่าวได้เลยในไม่กี่นาทีเท่านั้น ถึงเราไม่พูด ไม่แปลงเพลง การกระทำของเขาก็ฟ้องอยู่แล้ว มีคนมากมายที่เปิดประเด็นอยู่แล้ว

 

ในเมื่อมีข่าวมาก่อนแล้ว ไปติดตามหรือดูข่าวก็ได้ ทำไมต้องมาฟังเพลงแปลง

อย่างน้อยมันก็ไม่เครียด มันจี้จุดแบบบันเทิงๆ หน่อย เราพยายามทำให้ซอฟท์มากที่สุด พยายามไม่ให้รุนแรง แต่บางครั้งก็หลุดไปบ้าง เพราะบางสิ่งบางอย่างที่ลุงเขาทำมันเหลื่อมล้ำเกินไปนิ้ดดดดนึง (เสียงสูง)

 

บางครั้งชาวเน็ตก็เป็นอะไรที่น่าพิศวง เคยมีคนมาตำหนิทำนองว่า โยชิ 300 ปลุกปั่น ปลุกระดม ให้คนเกลียดลุงตู่บ้างไหม

มี แต่ถ้าผมปลุกระดมจริงๆ นะ ผมไม่อยู่ตรงนี้หรอก ผมออกไปเดินไหนต่อไหนแล้ว คนที่พูดแบบนี้ได้แสดงว่าเขาต้องมีความคิดที่รุนแรงอยู่นะ เจตนาของเราแค่อยากแซว เพื่อที่จะกระตุ้นให้คิดถึงการกระทำของลุงตู่ เคยมีคนเข้ามาด่าว่ามึงจะแซวอะไรหนักหนา ใครจะได้เป็นายกก็ช่างแม่งเถอะ สุดท้ายมึงก็ต้องทำมาหาแดกเองอยู่แล้ว ผมชอบคอมเมนต์แบบนี้ด้วยซ้ำไป คิดในใจว่าบางสิ่งบางอย่างมันยังไม่เห็นผล แต่เดี๋ยวมึงก็รู้สึก

บางคนอาจจะบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่สำหรับผม ไม่อยากรู้หน่อยหรอว่าเขาเอาเงินของมึงไปทำอะไรบ้าง เสียเงิน เสียภาษี ให้เขามาพัฒนาบ้านเมือง เราจำเป็นต้องรู้ว่าทุกบาททุกสตางค์ของเราถูกเอาไปลงทุนหรือพัฒนาตรงส่วนไหน

 

 

ถ้าหากการแสดงออกแบบโยชิ 300 ไม่น่ากังวล แล้วแบบไหนน่ากังวล

คนไทยสมัยนี้มีความครีเอทสูงมาก สร้างข่าวปลอม ข่าวเท็จ ทำได้ทุกอย่าง คนบางคนที่ไม่รู้ความจริงก็จะแชร์ เหมือนพวกข้อความลูกโซ่สมัยก่อนเลย สิ่งที่น่ากลัวที่สุดเริ่มจากตรงนี้ รวมไปถึงการเอาสิ่งที่ผ่านไปแล้วมาผูกเข้ากับเรื่องราว และโยงให้มาถึงปัจจุบัน

 

กลัวบ้างมั้ยว่าการที่เราแต่งเพลงแซวจะมีคนมาแปะป้ายเราว่าเป็นฝ่ายไหน

จริงๆ ผมตั้งใจจะแซวทุกฝ่ายเลยนะ อย่างเพลงล่าสุดที่กำลังทำ ผมก็ตั้งใจจะล้อธนาธรเหมือนกัน ผมไม่มีฝ่ายอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่ผมทำ ผมทำตามเสียงของประชาชนที่ขอมา หากลองสังเกตจะเห็นว่าเพลงของผมไม่ได้ล้อรัฐบาลอย่างเดียว แต่ยังมีคนอื่นด้วย  ถ้ายูทูปเร็วกว่านี้สัก 7 ปี ทุกรัฐบาลโดนผมแซวหมด

 

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวที่ว่าแอดมินเพจต่างๆ ถูกเรียกเข้าไปปรับทัศนคติ เราพอรู้ข่าวพวกนี้บ้างไหม

รู้ครับ รู้อยู่ แต่เราก็ไม่คิดว่ามันจะมาถึงเราจริงๆ

 

มันมาถึงโยชิ 300 ในรูปแบบไหน

มีคนใส่ชุดสีดำ 3 คน เข้ามาที่บ้าน เขามาถามว่า “ใครใช้ให้ทำ” ผมก็ตอบไปว่า “ผมทำเอง ทำเอาฮา อย่าคิดไรมาก” ผมตอบไปหน้าเจื่อนๆ แต่ก็คิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด ผมก็ถามว่าพวกพี่เป็นใคร เขาตอบว่า “เขาสั่งให้มา เขาก็แค่ให้มาถามว่าทำทำไม ใครสั่งให้ทำ” พวกนั้นเน้นมากเลยนะตรงคำถามที่ว่า “ใครสั่งให้ทำ” แล้วก็ปิดท้ายว่า “อย่าทำอีกนะ”

ผมเคยได้ยินจากคนอื่นมาบ้างว่า มีคนถูกเชิญออกไปจากที่พัก นั่งรถไปด้วยกัน ให้พาไปกินกาแฟแล้วต้องจ่ายค่ากาแฟให้คนพวกนั้นด้วยนะ ไม่รู้ว่ามีเพจไหนโดนแบบนี้บ้าง

 

หลังเหตุการณ์นี้ เราทำยังไงกับเพจ ปล่อยเลยไหม

ครับ ผมก็ปล่อยเพลงแปลงของ BLACKPINK ต่อเลย ชื่อ เพลง Tuu-Tu Tuu-Tu

 

YouTube video

 

โกรธไหมที่เจอแบบนี้

ก็เคืองๆ นะ เพราะว่าตอนนี้เขาจำกัดสิทธิการแสดงออกของประชาชนมากเกินไป ผมไม่รู้ว่าใครส่งมา ผมไม่สนใจ แต่การกระทำแบบนี้มันห่วยแตกมากๆ เพราะถือว่าถ้าเราพูดอะไรไม่ได้เลย เจตนาคืออะไร ถ้าจะปิดกั้นถึงขนาดนี้ก็บล็อกโซเชียล ปิดประเทศ ให้มองแต่หน้าผู้นำไปเลย แต่ถ้าอยากให้ประเทศเจริญ ก็ต้องรับฟังความคิดที่แตกต่างด้วย

 

หลายคนมองว่า โยชิทำเพลงการเมืองเกาะกระแส

ถ้าถามว่าเกาะกระแสไหม ก็มีส่วนนะ แต่ในช่วงนี้ถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องรัฐบาลแล้วใครจะพูด ทุกวันนี้จะมีกลุ่มคนที่เป็น ‘ไทยเฉย’ คนที่คอยบอกว่ามันจะอะไรหนักหนา ทำไมต้องทำให้วุ่นวาย ผมรู้สึกว่ายิ่งไม่มีใครพูดมันก็จะเป็นแบบนี้ต่อไป คือตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลหรอก แต่ในระยะยาวเห็นผลแน่ๆ ใครจะด่าว่าผมเกาะกระแสก็แล้วแต่

 

เวลาเจอคอมเมนต์แย่ๆ ทำยังไง ชี้แจงหรือปล่อยผ่าน

ส่วนมากผมจะเป็นประเภทปั่นมา ก็ปั่นกลับ สมมตินะครับ ถ้ามีคนมาปั่น เราก็จะจุดประเด็นแล้วให้ลูกเพจของเราเป็นคนอธิบาย บางทีถ้าเค้าไม่เข้าใจเราก็จะอธิบายเอง แต่ก็จะมีประเภทที่อยากจะเอาชนะเหลือเกิน เราก็จะเข้าไปตอบว่า “จ้า (ลากยาว)” เพราะเถียงไปก็เท่านั้นแหละ

 

เคยได้ feedback จากเจ้าของเพลงตัวจริงบ้างไหม

มีครับ อย่างน้อง BNK48 เขาก็จำเราได้ ผมไม่รู้ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบ แต่เขาไม่ได้ว่าอะไร เวลาไปงานจับมือเขาก็จำได้ อย่างวง Retrospect ก็รู้จักกัน เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร หรือเพลง ANTI จุด จุด จุด (Younggu)  Youngohm ก็แชร์ไป แต่ผมก็ไม่รู้นะว่าเชาแชร์เพราะชอบหรือไม่ชอบเพลงผม แต่ก็ขอบคุณที่ไม่ด่า เพราะเมื่อก่อนช่วงหนึ่งผมมีคนตั้งฉายาให้ผมว่า “นักทำลายเพลงต้นฉบับแห่งประเทศไทย”

 

ยังคิดจะทำเรื่องการเมืองไปเรื่อยๆ ไหม

มันก็อยู่ที่ว่าเราอยากจะทำหรือไม่อยากจะทำแล้ว การพูดเรื่องการเมืองซ้ำๆ เดิมๆ ก็มีอยากเปลี่ยนไปทำอะไรใหม่ๆ บ้างเหมือนกัน บางทีเราก็อยากทำอย่างอื่นแล้วค่อยกลับมาการเมืองใหม่ เช่น เปลี่ยนไปแต่งเพลงรัก อย่างเพลง คำหลอกลวง แต่คนก็ยังจำผมในด้านการเมืองอยู่ดี

 

TOP 3 เพลงการเมืองที่ต้องฟัง คำร้องโดย โยชิ 300 ร้องโดย โยชิ 300 แนะนำโดย โยชิ 300

อันดับที่ 1 — คุกกี้เสี่ยงคุก

 

YouTube video

 

อันดับที่ 2 — มนต์รักนักกินเมือง

 

YouTube video

 

อันดับที่ 3 — ANTI จุด จุด จุด

 

YouTube video

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save