fbpx

จากเสื่อผืนหมอนใบ สู่รถโรลส์-รอยซ์ : มองวิวัฒนาการทุนจีนในไทยและเอเชียอุษาคเนย์ กับ ‘ยศ สันตสมบัติ’

ยศ สันตสมบัติ

อาจไม่เกินเลยแต่อย่างใดหากกล่าวว่าในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา มหาอำนาจเช่นจีนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตรวดเร็ว และแผ่ขยายอิทธิพลสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียอุษาคเนย์ ชนิดที่ว่ากลายเป็นคู่ค้าและนักลงทุนรายสำคัญในกาลปัจจุบัน

ในทางที่ดี นี่คือพ่อค้าหรือ ‘เจ้าสัว’ รายใหญ่ ผู้มาพร้อมการยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) การจัดตั้งธนาคาร AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) และการเปิดโอกาสทางการค้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอีกมากมายนับไม่ถ้วน

แต่ในด้านกลับของเหรียญเดียวกัน อิทธิพลของทุนจีนก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเหลือคณานับ ทั้งผลกระทบจากมลภาวะของการทำอุตสาหกรรมและการเกษตร การฉวยใช้ทรัพยากรธรรมชาติและที่ดิน รวมถึงเม็ดเงินที่หมุนเวียนเฉพาะในกิจการของคนจีน ตั้งแต่การจ้างแรงงานจีน ผลิตโดยคนจีน เพื่อขายแก่คนจีน

เราเห็นตัวอย่างเหล่านี้ได้ในแบบที่ชัดเจนบนหน้าสื่อ เช่น กรณีสวนกล้วยย้ายที่ของลาว การสร้างสีหนุวิลล์ในกัมพูชา และแบบที่ไม่ชัดแจ้ง อาจจะแนบเนียน แต่ชวนให้ตะหงิดใจ เฉกเช่นในไทย ที่เราคงสังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นของชุมชนชาวจีนในเมืองใหญ่ ธุรกิจห้างร้านของผู้ประกอบการจีนงอกเงยราวดอกเห็ด กระทั่งพาดหัวข่าวอุบัติเหตุในชีวิตประจำวันอย่างกระบะซิ่งชนท้ายรถโรลส์-รอยซ์ราคา 30 กว่าล้านของสาวจีนกลางเมืองใหญ่ ก็แสดงให้เห็นว่าทุกวันนี้ เรามีประชากรชาวจีนในสังคมมากกว่าที่เราคิด และอาจกำลังหลั่งไหลเข้ามาสู่ไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอิทธิพลของทุนจีนและความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสองประเทศ

จริงอยู่ที่การเข้ามาตั้งรกรากทำการค้าของชาวจีนจะไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าสังคมเรามีชาวจีนล่องสำเภาในสภาพเสื่อผืนหมอนใบมาสร้างเนื้อสร้างตัวในไทยหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แน่นอนว่าลักษณะการเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเป้าประสงค์ด้านเศรษฐกิจของชาวจีนในพื้นที่ประเทศไทยย่อมแปรเปลี่ยนด้วย

101 จึงชวน ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.ยศ สันตสมบัติ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือ ‘ใต้เงามังกร การขยายอิทธิพลทุนจีนในไทยและอุษาคเนย์’ ร่วมมองเส้นทางวิวัฒนาการของทุนจีนในภูมิภาคอาเซียนถึงไทย ประวัติศาสตร์การเติบโตของเศรษฐกิจแดนมังกร และความท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนนโยบายกับชาติมหาอำนาจเสียใหม่ – เพื่อรู้เท่าทันการขยายอิทธิพลของ ‘พี่ใหญ่’ ในบ้านตัวเอง


ภาพจาก ยศ สันตสมบัติ


อาจารย์เป็นนักมานุษยวิทยาที่สนใจศึกษาประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การมองเศรษฐกิจด้วยกรอบมานุษยวิทยา สังคมวิทยาต่างไปจากกรอบการมองแบบเศรษฐศาสตร์อย่างไร

สำหรับมานุษยวิทยา เรามีหลักการง่ายๆ อยู่ 2 ข้อด้วยกัน หนึ่ง คือเราเคารพความหลากหลายของมนุษย์ ความหลากหลายของวัฒนธรรม และเราเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิ่งนี้ทำให้เราต่างไปจากสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ เมื่อเราเน้นเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม มานุษยวิทยาแต่ไหนแต่ไรมาจึงเน้นศึกษาคนกลุ่มเล็กๆ คนตัวเล็กตัวน้อยตามซอกหลืบของโลก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ แต่การศึกษาที่ผ่านมามักเจอปัญหาข้อหนึ่ง คือคนเหล่านี้ถูกเบียดขับจากอำนาจ กลายเป็นคนที่เราเรียกกันว่าด้อยสิทธิ ด้อยโอกาส ทำให้มานุษยวิทยามีมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง คือมักปกป้องคนที่ด้อยโอกาส ศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งศาสตร์สาขาอื่นอาจไม่ได้สนใจประเด็นพวกนี้

ถ้าลดระดับมาดูในบ้านเรา จะเห็นได้ว่าเวลานักมานุษยวิทยาทำความเข้าใจกับประเด็นปัญหาต่างๆ ส่วนใหญ่มักลงเอยที่ปัญหาเดียวเลย นั่นคือปัญหาการพัฒนา ไม่ว่าจะศึกษาเรื่องของชาติพันธุ์ สังคมชาวนา การจัดการทรัพยากร ทั้งหมดกลายมาเป็นปัญหาเดียว คือปัญหาของการพัฒนาและเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งตรงนี้เราก็มองต่างจากเศรษฐศาสตร์ เพราะมันเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากอคติ เวลาเรานำจุดยืนแบบนี้ไปมองเรื่องเศรษฐกิจ เลยทำให้เกิดมุมมองจากล่างขึ้นบนเป็นส่วนใหญ่ งานมานุษยวิทยามักสะท้อนปัญหาของชาวบ้านมากกว่าการใช้ตัวเลข หรือว่าใช้มุมมองเชิงนโยบายเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา


ในยุคที่ระบบเศรษฐกิจหลักของหลายประเทศทั่วโลกคือระบบทุนนิยมเสรี จากสายตาของนักมานุษยวิทยาอย่างอาจารย์เห็นความแตกต่างหลากหลายของทุนนิยมที่ต่างๆ มากน้อยแค่ไหน

ต่างแน่นอนครับ สิ่งที่เราเรียกว่าทุนนิยม ภาษาวิชาการเรียกว่าเป็น Global Form เป็นรูปแบบสากล เมื่อรูปแบบสากลนี้เข้าไปในท้องถิ่นแต่ละประเทศ มันเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับบริบทของท้องถิ่น จนกระทั่งเกิดรูปแบบขององค์กรทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางการผลิต ความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นรูปแบบเฉพาะ เพราะฉะนั้น ทุนนิยมไม่เหมือนกันทั่วโลก ทุนนิยมจีนไม่เหมือนทุนนิยมตะวันตกแน่นอน ทั้งหมดอาจจะมีความเหมือนอยู่บ้าง ถ้าเราเชื่อตามเดวิด ฮาร์วีย์ (David W. Harvey) ซึ่งเป็นนักสังคมศาสตร์มาร์กซิสต์ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เขาจะบอกว่าสาระของเสรีนิยมใหม่คือการยึดทรัพย์ เข้าไปที่ไหนก็ไปยึดทรัพย์ผู้คนที่นั่น อันนี้อาจเป็นลักษณะที่เหมือนกันหมด


ทำไมอาจารย์ถึงสนใจศึกษาเรื่องจีนและทุนจีนเป็นพิเศษ

ผมไม่ได้สนใจจีนนะ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจีน ผมสนใจปัญหาการพัฒนาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นเป็นต้นไป แต่เมื่อผมสอนหนังสือ ได้เจอเด็กจากที่อื่นๆ เป็นคนพม่า คนลาว คนเขมร คนเวียดนามมาเรียน ผมต้องออกไปดูพื้นที่ ของนักศึกษา เลยเริ่มเห็นผลกระทบของชุมชนท้องถิ่น และกลายเป็นงานวิจัยของเราซึ่งเน้นปัญหาการพัฒนาเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนพื้นที่ พัฒนาแนวคิดมาเรื่อยๆ

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราเห็นชัดว่าอิทธิพลจีนไหลเข้ามาในภูมิภาคของเรา เราจึงจำเป็นต้องสนใจจีน เป็นไฟลต์บังคับ ไม่สนใจไม่ได้  คำถามที่เราต้องถามคนอื่นคือทำไมคุณจะไม่สนใจจีนล่ะ ทั้งที่เขามีผลกระทบต่อบ้านเราเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนตัวเล็กตัวน้อย กับชาวบ้าน กับชุมชน กับท้องถิ่น ซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อยเมื่อเทียบกับพลังอำนาจมหาศาลของจีนที่เข้ามา


ดังที่อาจารย์เกริ่นมาก่อนหน้านี้ ทุนนิยมของจีนมีลักษณะเฉพาะตัว แตกต่างจากทุนนิยมในโลกตะวันตกอย่างไร

ทุนนิยมจีนไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ที่พัฒนาขึ้นเหมือนอย่างตะวันตก ในหนังสือของแม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ชื่อจิตวิญญาณของทุนนิยม (The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism) พยายามอธิบาย โต้เถียงกับมาร์กซ์ว่าทุนนิยมเกิดขึ้นเพราะสังคมมีความพร้อมเชิงวิธีคิด คำถามที่เวเบอร์ถามคือ จีนทำการค้ามาตั้งแต่ 2,000-3,000 ปีก่อน ทำไมทุนนิยมไม่เกิดในจีน ข้อสรุปของเวเบอร์ คือจีนไม่เคยเป็นทุนนิยม เพราะจีนไม่มีลัทธิคาลวิน ไม่มีโปรเตสแตนต์ ซึ่งมีวิธีคิดเกี่ยวกับการสะสมความมั่งคั่ง การสร้างสวรรค์บนโลก หล่อหลอมให้คนฝักใฝ่เรื่องความมั่งคั่ง ซึ่งอันนี้ก็เถียงกันได้ว่าจริงหรือเปล่าที่จีนไม่ฝักใฝ่เรื่องความมั่งคั่ง แต่ถ้านำบทวิเคราะห์ของเวเบอร์ไปมองจีน จะเห็นว่าจีนแทบไม่มีการพัฒนาของภาคเอกชนขึ้นมาในยุคของราชวงศ์ การค้าเล็กๆ น้อยๆ มีอยู่ แต่การค้าขนาดใหญ่ถูกผูกขาดโดยราชวงศ์เสมอมา แล้วแต่ละราชวงศ์ก็มีนโยบายที่แตกต่างกันออกไป อย่างสมัยราชวงศ์หมิง คุณทำการค้าได้ แต่พอมาถึงราชวงศ์ชิง คุณทำอะไรไม่ได้เลย อย่างนี้เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุนนิยมเกิดช้ามากในจีน หลังจากการปฏิวัติปี 1911 จีนก็ตกอยู่ในสงครามกลางเมืองมาโดยตลอด ตอนหลังก็มีสงครามระหว่างก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งปี 1949 ประเทศเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ จีนก็ยังไม่ใช่ทุนนิยมอีก สิ่งที่เราเรียกว่าทุนนิยมจีนจริงๆ เกิดหลังปี 1978 เมื่อเกิดเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก เติ้งเสี่ยวผิงก็รับกระแสเสรีนิยมใหม่ พูดง่ายๆ คือยอมรับกลไกตลาด ซึ่งตอนนั้นที่อังกฤษก็มีลัทธิแทตเชอร์ (Thatcherism) ที่อเมริกาก็มีโรนัลด์ เรแกน มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะครับที่ผู้นำสามคนที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกช่วงนั้นสมาทานวิธีคิดแบบเดียวกัน มันทำให้โลกทั้งใบเปลี่ยนไปในแนวเสรีนิยมเหมือนกันหมด

เมื่อจีนเปลี่ยนไปเป็นเสรีนิยม ช่วงแรกๆ ก็เน้นเรื่องของการกระจายอำนาจ คนส่วนใหญ่อาจมองว่าเหมาล้มเหลวในด้านเศรษฐกิจ แต่ผมมองตรงกันข้าม ผมคิดว่าประธานเหมาสร้างพื้นฐานของวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นเยอะมาก พอประเทศเปิดเสรี เงินไหลเข้ามา วิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็งด้านการผลิตในท้องถิ่นก็สามารถผลิตสินค้าออกไปได้อย่างรวดเร็ว สิ่งนี้กลายเป็นพื้นฐานของการเติบโตของจีนด้วยซ้ำไป มาเปลี่ยนตอนปี 1990 ที่เริ่มรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น

ทีนี้ ทุนนิยมจีนมี 3 ส่วนที่เราต้องพิจารณา ส่วนที่หนึ่ง คือความเป็นไปที่เกิดขึ้นในจีนหลัง 1978 ส่วนที่สองที่พัฒนามานานแล้ว คือทุนนิยมจีนนอกประเทศ ตรงนี้หมายถึงองค์กรทางเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นโดยคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่มาก ถ้าไปดูทั่วเอเชียอุษาคเนย์ เราจะเห็นแบบแผนเดียวกันเลยว่าพ่อค้าจีนสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา กลายเป็นเจ้าสัว เป็นผู้กุมบังเหียนทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ในกัมพูชา พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม อาจมีความแตกต่างในแง่รูปแบบการจัดองค์กร แต่เหมือนกันในด้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือเจ้าสัวในแต่ละประเทศกลายเป็นผู้คุมนโยบายทางเศรษฐกิจเกือบจะเหมือนกันไปหมด

ส่วนที่สาม คือหลังจากปี 1990 เมื่อจีนเริ่มเติบโตเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ จีนไม่ได้เป็นฝ่ายรับการลงทุนจากภายนอกเท่านั้น แต่ออกไปลงทุนข้างนอกด้วยนะครับ ตามนโยบาย Going Out Policy ของรัฐบาลจีน ก็ปรากฏว่า ทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลมณฑล และภาคเอกชนของจีนที่เติบใหญ่ขึ้นมา ออกไปข้างนอกอย่างมากมาย พอออกไปก็ไปลงทุนร่วมกับจีนโพ้นทะเลในประเทศต่างๆ ซึ่งก็มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว เป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างทุนจีนด้วยกัน


กระแสเสรีนิยมและทุนนิยมในจีนจุดติดช้ากว่าประเทศต่างๆ ในยุโรป แต่อะไรคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ทุนจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะ มันเป็นเรื่องที่เขาเตรียมตัวมานาน อย่างที่ผมบอก สมัยเหมา เขาพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาอุตสาหกรรมมาเป็นระยะเวลา 20-30 ปี เหมาเน้นเรื่องของอุตสาหกรรมเหล็กนะครับ ทำให้ท้องถิ่นมีความสามารถในการผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร ของตัวเอง แล้วนโยบายของรัฐบาลหลังปี 1978 ที่ผมบอกว่าเป็นนโยบายกระจายอำนาจ เปิดโอกาสให้สิ่งที่เราเรียกว่า TVE – Township and Village Entrepreneur หรือผู้ประกอบการในระดับเมืองและหมู่บ้านสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา กลายเป็นพื้นฐานสำคัญมากสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงแรกยุค 80s นโยบายตรงนี้ทำให้การกระจายตัวของเศรษฐกิจจีนแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมด ไม่ใช่แค่เฉพาะเมืองใหญ่

พอเศรษฐกิจโตขึ้นมากแล้ว ยุค 90s รัฐบาลเริ่มเปลี่ยนมาใช้ระบบรวมศูนย์อำนาจ เน้นทุนนิยมที่มีรัฐเป็นตัวนำ เน้นสร้างวิสาหกิจของรัฐ แบบที่เราเห็น china railway ออกไปสร้างทางรถไฟ เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนทั้งนั้น พอเน้นเรื่องพวกนี้ รัฐบาลก็สามารถกุมอำนาจเหนือทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ผู้นำจีนไปไหนต้องหิ้วกระเป๋าไปด้วย พกโครงการไปด้วย เพื่อไปเซ็นสัญญา ไปปล่อยกู้ ไปลงทุนร่วมกับประเทศต่างๆ ผู้นำของเขาไม่ใช่แค่ผู้นำทางการเมือง แต่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจด้วย แล้วภาคเอกชนต้องอยู่ภายใต้การกำกับเชิงนโยบายของรัฐบาล ไปหืออือไม่ได้นะครับ แม้แต่แจ็ก หม่า ที่ไปกล้าหาญชาญชัยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและพรรคก็ถูกเรียกมาปรับทัศนคติ คือคุณจะยิ่งใหญ่ทางการค้าอย่างไรก็ต้องอยู่ใต้พรรค


มองอิทธิพลด้านเศรษฐกิจของจีนที่แผ่เข้ามาในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียอุษาคเนย์ อาจารย์เห็นพัฒนาการการลงทุนจากจีนอย่างไรบ้าง มีเหตุการณ์อะไรเป็นหมุดหมายสำคัญไหม

มันเป็นพัฒนาการซึ่งค่อยๆ มานะครับ ในช่วง 80s จีนแทบไม่ได้เข้ามาเลย จีนรับการลงทุนจากภายนอกมาโดยตลอด เขาเริ่มมาในยุค 90s ปลายๆ ด้วยซ้ำไป ก่อนหน้านั้น มีแค่คนจีนรายเล็กรายน้อยที่เข้ามาบ้าง ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้ารายย่อย มาขายกล้ายางในลาว มาทำแปลงผักในลาว เป็นกรรมกรมาขายเครื่องมือต่างๆ การลงทุนใหญ่ๆ เพิ่งมาหลังปี 1990 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปี 1997 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจที่อื่นแย่ แต่จีนตอนนั้นเข้มแข็งมาก แล้วจีนก็แสดงบทบาทการเป็นพี่ใหญ่ให้ความช่วยเหลือประเทศแถบนี้ ในขณะที่ญี่ปุ่น อเมริกา ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่บ้านเราเท่าที่ควร แล้วอย่าลืมว่าภูมิภาคของเรากลัวจีนมาตลอดนะครับ ตั้งแต่เป็นคอมมิวนิสต์ ปี 1950-1970 เรากลัวจีนเพราะได้รับอิทธิพลข่าวสารของอเมริกา สมัยก่อนไม่มี ม.112 ตัวที่ใช้กำจัดคู่ต่อสู้ทางการเมืองคือ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ แต่ตอนนี้เราไม่กลัวคอมมิวนิสต์แล้ว เพราะคอมมิวนิสต์เป็นพี่ใหญ่ เป็นมิตรที่ดี อีกหน่อยเราก็อาจจะไม่กลัว ม.112 เหมือนกันก็ได้ครับ

ทีนี้ ถ้าถามว่า มันจะส่งผลอย่างไรต่อภูมิภาคเรา ส่งผลเยอะมากครับ ที่เห็นได้ชัดคือเกิดสภาวะพึ่งพิงจีนมากขึ้น ในกรณีของลาว ประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงมาก การผลิตอยู่ในระดับย่ำแย่ การพึ่งพิงจีนไม่ได้ทำให้ประเทศลาวเข้มแข็งขึ้น กัมพูชา พม่าก็เหมือนกัน สามประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่พึ่งพิงจีนในระดับต้นๆ ของภูมิภาค อยู่ในสถานะที่ง่อนแง่นแตกต่างกันออกไป และสถานะการพึ่งพิงจีนนี้จะลามมาสู่ประเทศอื่นๆ ด้วย หากไม่มีจุดยืนหรือแนวนโยบายที่ชัดเจน ซึ่ง 8-9 ปีที่ผ่านมา ก็บอกได้เลยว่า ไทยเราไม่มีนโยบายรับมือเลย คนที่กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าสัว ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าสัวต้องเอนไปทางจีน เพราะนั่นคือผลกำไรของเขา


หลังจากที่อาจารย์ศึกษาการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอุษาคเนย์ สามารถเข้าใจเบื้องหลังความคิด-การตัดสินใจของจีนมากขึ้นไหม ว่าชาติมหาอำนาจนี้มองพื้นที่เอเชียอุษาคเนย์ของเราอย่างไร

โอ้ อันนี้ชัดเจนมาก คือเขามองเราว่าเป็นตัวปิดล้อมเขา ช่วงที่อเมริกาเป็นใหญ่ในสงครามเวียดนาม อุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นมิตรสหายผู้ซื่อสัตย์ของอเมริกา เป็นที่ตั้งฐานทัพของอเมริกา ซึ่งมีหน้าที่เดียวเลยคือปกป้องคอมมิวนิสต์ไม่ให้ขยายตัว เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปิดล้อมจีนเพราะฉะนั้นเมื่อจีนเข้มแข็งขึ้นมา ภูมิภาคนี้จึงเป็นเป้าหมายแรกของจีนที่จะต้องยึดให้ได้ ไม่ใช่การยึดในเชิงทหารนะครับ แต่ใช้วิธียึดกุมอำนาจทางเศรษฐกิจหรือการเมือง เป็นนโยบายหลักของเขาเลย แต่ทำได้สำเร็จหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


กล่าวได้ว่าภูมิภาคเอเชียอุษาคเนย์เป็นประตูด่านแรกไปสู่โลกกว้างของจีนด้วย

ใช่ครับ จีนไม่เคยมองเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลักนะ ประเด็นหลักของจีน คือประเด็นความมั่นคง การคุมอำนาจ การควบคุมพลเมืองให้อยู่ใต้กรอบของพรรค ไม่ก้าวล่วงไปนอกลู่นอกทาง ไม่กระด้างกระเดื่อง ถ้านักศึกษาออกมาประท้วงอย่างที่เราเห็นที่เทียนอันเหมิน เขาใช้กำลัง ใช้ปืนกลไล่ยิงเลยนะครับ เรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องใหญ่ของจีน เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องรอง แต่ว่าตอนนี้ปัญหาเศรษฐกิจของจีนอาจทำให้การควบคุมพลเมืองทำได้ยากขึ้น เพราะตอนนี้การลงทุนจากภายนอกลดลง มีวิกฤตความเชื่อมั่น นักลงทุนไม่ค่อยมา GDP ของจีนเคยโต 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ในช่วง 80s-90s เริ่มลดลงมา หลัง 2008 เหลือ 7-8 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าต่ำมาก ที่สำคัญคือคนตกงานเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กวัยรุ่น ตกงาน 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน อสังหาฯ พัง เกิดฟองสบู่ การส่งออกก็ลด เพราะเจอปัญหากับยุโรป ญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ

ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศจึงเป็นสิ่งที่จีนเริ่มกังวล เมื่อเกิดปัญหาภายใน ผมคิดว่าจีนจะยิ่งทุ่มทุนออกไปข้างนอกมากขึ้น มันจะสวนทางกับตรรกะทางเศรษฐกิจโดยปกติที่คนมักมองว่าต้องดึงทุนกลับประเทศ แต่จีนจะยิ่งลงทุนข้างนอกมากขึ้น เพราะนอกประเทศเขาได้เปรียบมากกว่า


หมายความว่ายิ่งจีนออกไปลงทุนข้างนอก ได้ผลตอบแทนดี เศรษฐกิจภายในประเทศก็จะดีขึ้นเอง?

เราต้องไม่ลืมว่าส่วนหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจจีนเกิดจากประชาชน ไม่ใช่เกิดจากความสำเร็จของรัฐวิสาหกิจจีน คนจีนชนชั้นกลางที่เกิดและเติบโตมาในช่วง 80s-90s กลายเป็นชนชั้นกลางที่รวยมาก แล้วคนพวกนี้ออกไปลงทุนทำการค้าข้างนอกประเทศในฐานะปัจเจกเยอะมาก ปีหนึ่งประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่มีใครยืนยันได้ชัดเจนว่าเท่าไหร่นะครับ แต่ว่าประเมินง่ายๆ แค่ในเมืองไทย เราก็เห็นคนจีนเต็มเมืองไปหมด ไม่ว่าจะเป็นคนที่มาตั้งบริษัททำการท่องเที่ยว เปิดร้านอาหาร ทำการส่งออก การค้าออนไลน์อะไรต่างๆ คนเหล่านี้เป็นคนที่สร้างเศรษฐกิจให้จีน เพราะว่าเขาส่งเงินกลับบ้านนะครับ เขาระดมทุนจากญาติพี่น้อง ออกมาข้างนอกประเทศ หากำไร แล้วก็ส่งเงินกลับบ้าน

ดังนั้น เศรษฐกิจจีนส่วนหนึ่งเกิดจากจีนข้ามชาติพวกนี้ ซึ่งเป็นคนมีการศึกษาสูง มีความเชี่ยวชาญด้านแอปพลิเคชัน เป็นคนที่มีทักษะด้านการค้า เป็นผู้ประกอบการที่เก่ง ยังไม่ต้องพูดถึงความขยันหมั่นเพียร ซึ่งเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้ คนอื่นมักบอกว่าคนจีนขยัน อยู่ที่ไหนก็รอด แต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ เพราะเขามีความรู้ ถูกฝึกมาดีต่างหาก


ภาพจาก ยศ สันตสมบัติ


นอกจากการประเด็นความมั่นคง ปัจจัยเรื่องทรัพยากรในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียอุษาคเนย์ ส่งผลต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจของจีนบ้างไหม อย่างไร

แน่นอนครับ เมื่อจีนยิ่งขยายการลงทุนภายในประเทศ  ขยายอุตสาหกรรมมาก ก็ยิ่งต้องการความมั่นคงเชิงทรัพยากร และเขาไม่ต้องการพึ่งพิงตะวันตก ดังนั้นถ้าคุณไปเวียดนามเหนือ คุณจะเห็นรถ 18 ล้อ วิ่งกันทั้งวันทั้งคืนตั้งเเต่ด่านเปิดจนด่านปิด เพื่อขนทรัพยากรกลับไปจีน เขาลงทุนด้านทรัพยากรในพม่า และที่ไป แอฟริกาก็ด้วยเหตุผลเรื่องทรัพยากรเช่นเดียวกัน

อีกแง่หนึ่ง พื้นที่ของเอเชียอุษาคเนย์มีที่ดินราคาถูก เราอาจมองว่า เฮ้ย เศรษฐกิจสมัยใหม่ไม่สนใจเรื่องของการยึดครองพื้นที่แล้ว ไม่จริงครับ จีนให้ความสนใจกับพื้นที่มาก เราเห็นการเข้ามายึดครองพื้นที่เพาะปลูกในลาว จีนเข้ามาลงทุนปลูกผลไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาง กล้วย แตงโม ตอนนี้มาข้าว มะม่วง แทบจะยึดไปครึ่งประเทศแล้ว แล้วก็ลามไปในรัฐกะฉิ่นของพม่า ไปกัมพูชา แล้วก็พยายามจะเข้าไทยด้วย เพียงแต่เกษตรกรของเรายังค่อนข้างเข้มแข็ง เข้ายาก

การเข้ามาของจีนคือการแย่งชิงทรัพยากรและเข้ามาควบคุมผ่านกลไกตลาด อย่างเช่น เราอาจเห็นว่าทุเรียน  เมื่อ 3 ปีที่แล้ว 3 โลร้อย ตอนนี้คุณกินทุเรียนไม่มี 3 โลร้อยแล้วนะครับ โลเดียวร้อยกว่า เพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งของล้งจีนไปแล้ว ลำไยก็เป็นล้งจีน อีกหน่อยผลไม้ต่างๆ จะไม่อยู่ในการควบคุมของไทยแล้วนะครับ ทั้งๆ ที่ปลูกโดยคนไทย บนแผ่นดินไทย แต่กำไรเป็นของจีน นี่เป็นลักษณะการยึดกุมทางเศรษฐกิจซึ่งเราจะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ


แล้วปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรมในพื้นที่นี้ที่มีความใกล้เคียงกับจีนถือว่าหนึ่งในปัจจัยดึงดูดการลงทุนไหม

นั่นเป็นการมองแบบโลกสวย จริงๆ เขาเข้ามาเพราะว่ามันซื้อง่าย วัฒนธรรมร่วมของลาว กัมพูชา พม่า ไทย ก็คือคอรัปชันเยอะ เจ้าหน้าที่รัฐของเราสามารถซื้อได้ ในสิงคโปร์ไม่เกิดปัญหาประเภทนี้นะครับ เพราะกฎหมายเขาเข้มข้น คุณไปละเมิดกฎหมายไม่ได้ แต่ว่าในลุ่มน้ำโขง การละเมิดกฎหมายเกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงที่ผ่านมา เราถึงได้เห็นทุนสีเทามากขึ้น ซึ่งไม่ได้มากขึ้นเฉพาะในบ้านเรา ในพม่า กัมพูชา ลาว ก็เยอะขึ้น สถานการณ์ของ 4 ประเทศนี้น่ากลัวมาก ในคาสิโนของพม่า กัมพูชา กลายเป็นที่ตั้งของพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งรัฐบาลจีนบอกว่าเขาไม่เกี่ยวและไม่ได้สนใจทำอะไร ตราบใดที่พลเมืองจีนไม่เดือดร้อน แก๊งพวกนี้ไม่ล่อลวงคนจีน เขาก็คิดว่าไม่ใช่ปัญหาของเขา พวกทุนสีเทาพวกนี้ก็จะระมัดระวังไม่ให้สะเทือนคนจีน ไม่อย่างนั้นรัฐบาลจีนจะเข้ามาจัดการ


เราสามารถพูดได้ไหมว่าระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมในภูมิภาคนี้ ก็ส่งผลสนับสนุนให้จีนเข้ามาสนใจลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย

ได้ครับ แต่อย่าลืมนะครับว่าจีนเข้าเมืองไทยครั้งแรก สมัยคุณทักษิณเป็นนายกฯ ไปเซ็น FTA ถ้าเรามองว่าตอนนั้นพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ก็เป็นประชาธิปไตยที่เอื้อจีน คุณอาจจะมองว่า โอ้ เป็นการมองการณ์ไกลไปค้ากับจีน แต่ผลที่เกิดจาก FTA ครั้งนั้น ทำให้เกษตรกรที่ปลูกผักอะไรต่างๆ เจ๊งกันหมด เพราะสู้ราคาผลผลิตของจีนไม่ได้ ตอนนี้ แครอท หอมใหญ่ กระเทียม บล็อกโคลี่มีให้กินทั้งปี สมัยก่อนต้องรอหน้าหนาวถึงจะมีบล็อกโคลี่กิน สินค้าเกษตรมาจากจีนเยอะมาก แล้วเรายังจะโม้ว่าไทยจะเป็นครัวโลกอีก ทั้งที่ซื้ออาหารจากจีน

เราจำเป็นต้องมองปัญหาเศรษฐกิจในมิติของความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้ชัดกว่านี้ มองที่ตัวเลขการเติบโตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองว่าใครเป็นคนกุมนโยบาย ใครเป็นคนกุมกลไกตลาด แล้วใครที่ได้รับผลกระทบ ทำอย่างไรให้ปกป้องคนตัวเล็กตัวน้อยได้ พวกรัฐเผด็จการที่คุณว่ามาทำให้ดุลอำนาจในภูมิภาคเราสั่นคลอนด้วย เพราะประเทศเล็กๆ อย่างบ้านเราจำเป็นต้องสร้างดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจ เราไม่สามารถเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง เลือกข้างไม่ได้ การเลือกข้างคือความอ่อนแอ แต่ดูเหมือนว่าหลายประเทศถูกบังคับให้เลือกข้างไปแล้ว และไทยเราก็มีแนวโน้มเลือกข้างมาหลายปีแล้ว


ในอดีต พื้นที่เอเชียอุษาคเนย์เป็นพื้นที่ต่อสู้แย่งชิงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐมาตลอด แต่ภายหลังมีความโน้มเอียงมาทางจีนมากขึ้น เป็นเพราะอะไร

ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ไปสนใจสงครามก่อการร้าย สนใจตะวันออกกลาง อัฟกานิสถานมากจนเกินไป กระทั่งละเลยภูมิภาคของเรามานานมาก ทำให้จีนแผ่อำนาจเข้ามาโดยไม่มีแรงเสียดทาน ประกอบกับจีน พอสนใจอะไร เขาจะมีนโยบายที่ชัดเจนมาก จีนมีนโยบายชัดเจนว่าจะเข้าหาแต่ละประเทศอย่างไร จนสุดท้ายกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเกือบทุกประเทศในภูมิภาคนี้ สามารถส่งคนเข้ามายึดครองพื้นที่ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งการยึดครองพื้นที่ก็เป็นนโยบายหลักของจีนที่ทำมาหลายสิบปี ตั้งแต่ส่งคนจีนคนฮั่นลงไปยึดครองพื้นที่ทางภาคใต้ของจีน ส่งคนฮั่นเข้าไปในทิเบต ส่งคนฮั่นเข้าไปในซินเจียง แล้วก็ส่งคนฮั่นกลับเข้ามาในเอเชียอุษาคเนย์


สิ่งที่ตามมาของการลงทุนจากจีนในประเทศแถบนี้คือการเบียดเบียนคนในท้องถิ่น แต่ผลกระทบดังกล่าวถือเป็นปกติของนายทุนชาติมหาอำนาจอยู่แล้วหรือไม่ หรือจีนมีลักษณะการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ

โดยปกติ เรามีระบบกฎหมายที่อ่อนแอ ระบบราชการที่อ่อนแอ และคอร์รัปชันอยู่แล้ว แต่ว่ามันมีปัญหามากขึ้นเมื่อเจอกับจีน เพราะเขาซิกแซกเก่ง มุดเก่ง ตรงไหนมีช่อง เขาจะมุด เพราะประเทศของเขากฎเกณฑ์เยอะ เขาก็ต้องถนัดในการมุด ถนัดสร้างเส้นสาย ระบบเส้นสายอยู่ในวัฒนธรรมจีนมาโกฏิปีแล้วครับ ฉะนั้นเมื่อทุนจีนเข้ามาในประเทศเราเยอะ ก็เกิดการลอดระเบียบอะไรต่างๆ ทำให้อาจมีการคอรัปชันมากขึ้น

ผลกระทบคือเราจะเห็นทุนสีเทา ทุนผูกขาดที่แข็งแกร่ง เพราะจีนมีทั้งเจ้าสัวที่เป็นคนพื้นเมือง มีทั้งการระดมทุนร่วมกับองค์กรของจีนมากขึ้น การเอารัดเอาเปรียบ ผูกขาดด้านการลงทุนทำให้ SME ท้องถิ่นจะอ่อนแอลง นี่เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งคนมองไม่ค่อยเห็นกัน เราคิดแต่ว่า โอ้ เศรษฐกิจจะดี เพราะมีการลงทุนเพิ่ม แต่พวกเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว โชห่วย ร้านรายเล็กรายย่อยเจ๊งกันไปเท่าไหร่ คนไทยตกงานเพราะแข่งสู้ผู้ประกอบการรายย่อยของจีนไม่ได้ อีกหน่อยเราอาจเห็นเศรษฐกิจรากหญ้าอยู่ในผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคนจีน อย่างที่เราเห็นในห้วยขวาง สันกำแพง เชียงใหม่ ก็เอิกเกริกมาก ร้านจีนผุดขึ้นมามากมาย การท่องเที่ยวก็อยู่ในมือคนจีน เรามักคิดว่าการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของไทย แต่ผมพูดมาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วว่าเวลาคนจีนเข้ามา เขาบินสายการบินจีน พักที่พักที่คนจีนเป็นเจ้าของหรือเช่าเขามา กินร้านอาหารจีน ซื้อของร้านจีน ไทยไม่ได้อะไรเลย แม่ค้าอาจจะขายของได้มากขึ้นนิดหน่อยเท่านั้นเอง แต่ไม่คุ้มทุนเลย

ภาคการท่องเที่ยวเราสูญเสียอำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิง ในท้องถิ่นที่เชียงใหม่ มีแม้กระทั่งบริษัททัวร์จีนไปเช่าวัดที่ดอยสะเก็ดซึ่งเป็นย่านของคนลื้อ เพื่อให้ทัวร์จีนมาเที่ยว เอาสินค้าที่ทำในจีนมาขาย แต่ชาวบ้านเข้าไปใช้ไม่ได้ แล้วคนได้กำไรจากนักลงทุนการท่องเที่ยวของจีนคือเจ้าอาวาส ชาวบ้านไม่ได้

การลงทุนในภาคเกษตรก็สร้างมลภาวะเยอะมาก ผมทำงานศึกษาเรื่องสวนกล้วยในลาว เห็นชัดเจนมากเลยว่าที่ดินที่ถูกเช่าทำสวนกล้วยเกิดมลภาวะเยอะมาก ตอนนี้ใครรับผิดชอบ เขาเช่าระยะสั้น เสร็จแล้วก็ไป คนที่แบกรับมลภาวะพวกนี้คือชาวบ้าน จะมารื้อฟื้นปรับสภาพใหม่ใช้เงินเท่าไหร่ยังไม่รู้เลย


มีคนตั้งข้อสังเกตว่าความเคลื่อนไหวกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ที่ออกมาลงทุนนอกประเทศด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลจีน มีลักษณะเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนเข้ามาในประเทศกำลังพัฒนา นัยหนึ่งคล้ายการแผ่อำนาจเชิงการล่าอาณานิคมยุคใหม่มากกว่าจะเป็นนักธุรกิจ อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร 

อันนี้เป็นการตีความจนเกินเลยไปนะครับ ผมคิดว่าคนที่ออกมาจากประเทศจีน เขาก็มองผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก เขาอาจจะมีความจงรักภักดีต่อประเทศมากกว่าคนชาติอื่นอยู่บ้าง เพราะว่าเขาถูกสอนประวัติศาสตร์มาว่า ร้อยปีที่ผ่านมา ประเทศเราเจอกับความอับอาย เราถูกญี่ปุ่นมารุกราน เราถูกไอ้ฝรั่งหัวแดงซึ่งเป็นอนารยชนมาทำลายอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศเรา เรามีหน้าที่ต้องกู้ชาติบ้านเมือง เวลาที่บอกว่าคนจีนรักชาติจึงมีความจริงอยู่บ้าง แต่คนที่ออกมาส่วนใหญ่ เขาอยากจะเอาตัวรอด เอาลูกมาเรียนหนังสือ มาสร้างสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่มั่นคง เพราะว่าข้างในประเทศแข่งกันมากจนเกินไป เขาสู้ไม่ไหว ถ้าสู้แล้วมันเหนื่อย มาแข่งในไทย ในลาว มันง่าย มันสบายกว่า

อันที่จริง ถ้าเขาเลือกได้ก็ไม่อยากมาบ้านเราหรอกครับ เดี๋ยวนี้คนจีนอยากไปยุโรป อยากไปอเมริกา ที่เชียงใหม่ ผมเจอหลายรายเลยที่บอกว่าไปอเมริกาแล้วผิดหวัง เพราะสังคมไม่ฟรีจริง ไม่เป็นประชาธิปไตยจริง เขาถูกกีดกัน ถูกรังเกียจ ถูกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน บางคนเจอความรุนแรงด้วยนะครับ เจอคนมาทำร้ายข้างถนน ไล่เขากลับ หลายคนบอกผมว่าเขาอยู่ในอเมริกาไม่ได้ จะกลับจีนก็ไม่ได้ เพราะว่าธุรกิจอยู่ข้างนอกประเทศแล้ว ก็หันมาลงทุนในเมืองไทย มาอยู่เมืองไทยมากขึ้น ซึ่งเราอาจจะต้องฉกฉวยโอกาสจากปัญหาเศรษฐกิจจีนตกต่ำ ไปดึงคนจีนที่ออกมาลงทุนในบ้านเราให้คิดเรื่องการอยู่แบบถาวรมากขึ้น ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะคิดแบบนี้บ้างหรือเปล่านะครับ เพราะรัฐบาลไทยส่วนใหญ่ก็ช้าไปสิบปีตลอด


จีนเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจของไทยมานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าในช่วงที่ผ่านมา หลายคนในไทยเริ่มกังวลถึงการลงทุนของธุรกิจจีนและเริ่มเกิดความรู้สึกปฏิเสธจีนขึ้น อาจารย์วิเคราะห์ภาพปรากฏการณ์นี้ในประเทศไทยอย่างไร

ผมไม่เชื่อว่าคนจะปฏิเสธจีนจริงๆ นะ ผมคิดว่าคนไทยอาจจะบ่น ระบายความในใจ แต่คงไม่ทำอะไร เหมือนกับคนด่าทัวร์จีนมากมาย แต่ไกด์ไทยก็ไม่ได้ทำอะไร ไม่คิดจะแข่งขันกับเขา แทนที่จะสร้างความเป็นศัตรูกัน ประเด็นที่สำคัญกว่าคือมันสะท้อนชัดว่าเราไม่มีแผนรับมือ ไม่มีความรู้เท่าทัน ผมเคยคุยกับหอการค้าทางภาคเหนือตั้งแต่ช่วงแรกๆ ว่าทุนจีนเข้ามาแล้ว กำลังจะมาทำล้งจีน คุณจะทำอย่างไร ไม่เคยมีใครในหอการค้าบอกผมเลยว่าเรามีมาตรการรับมือแบบไหน

นี่คือปัญหาใหญ่ เรายอมแพ้ตั้งแต่ต้น เราไม่เชื่อเรื่องของการแข่งขันเสรี เพราะอยู่ในระบบอุปถัมภ์มาจนเคยชิน ตอนนี้เราเลยปล่อยให้จีนกลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์เรา กัมพูชา ลาวก็เหมือนกัน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้คนกัมพูชา คนลาวก็มองว่าประเทศตัวเองน่าจะกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของจีนไปแล้ว ไทยจะเอาด้วยไหมล่ะ อาจจะดีก็ได้นะ จะได้ไม่ต้องห่วงเรื่องใครจะเป็นนายกคนต่อไป


หากเปรียบเทียบลักษณะระหว่างชาวจีนรุ่นเก่าที่เข้ามาตั้งรกรากในไทย กับจีนข้ามชาติรุ่นใหม่ เห็นความแตกต่างกันอย่างไร

มีความต่างชัดเจนมากนะครับ ยุคจีนโพ้นทะเล คุณต้องเจียมเนื้อเจียมตัว มาถึงต้องหมอบกราบกับทหาร กับเจ้านาย กับข้าราชการ สร้างความเป็นพันธมิตร เพราะคุณรู้ดีว่าคุณเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แม้คุณจะรวยขึ้นมา คุณก็ยังต้องพึ่งพาพวกผู้มีอำนาจเหล่านี้ ถึงคนจีนบางส่วนจะกลายมาเป็นนักการเมือง แต่ยังไงก็ต้องสู้ไปกราบไป แต่คนจีนรุ่นใหม่ เขามาพร้อมกับเงิน พร้อมกับปริญญา เรียนมาสูงกว่าคนไทย มีความเชี่ยวชาญเรื่องการใช้แอปพลิเคชัน มีเครือข่ายรัฐบาลที่เข้มแข็งยืนอยู่ข้างหลัง และพร้อมจะช่วยเขาด้วย

เพราะฉะนั้น จีนรุ่นใหม่ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ต้องมาพินอบพิเทาให้ใคร คุณจะสังเกตเห็นว่าคนพวกนี้มีลักษณะเกรี้ยวกราดมากกว่าจีนรุ่นเก่านะครับ เขาจะล้งเล้งมากกว่าเมื่อเจอความอยุติธรรม บางทีโดนตำรวจจับก็ด่าตำรวจด้วยซ้ำไป แล้วภายในไม่กี่ชั่วโมง เจ้าหน้าที่สถานทูตจะไปช่วยเขาให้หลุดการจับกุม การเป็นพลเมืองของประเทศที่เป็นมหาอำนาจของโลก ทำให้สถานะของคนจีนในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ แน่นอนทำให้คนไทยหลายๆ คนหมั่นไส้นะครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะกลัว

ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าลูกจีนรุ่นใหม่หันมามีความภาคภูมิใจในความเป็นจีนมากขึ้น และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะจีนทุ่มเงินเยอะมากในการฟื้นความสัมพันธ์ รัฐบาลจีนมีนโยบายพาลูกหลานที่เกิดนอกประเทศกลับไปเรียนภาษาจีน ไปดูบ้านเกิดของปู่ย่าตายาย ดูความเจริญ ความสำเร็จในประเทศ สร้างความรู้สึกดีๆ กับคนจีนนอกบ้าน เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งผมคิดว่าได้ผล สมัยหนึ่งการเป็นลูกจีนเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยพูดกัน แต่เดี๋ยวนี้ออกมายอมรับแบบหน้าชื่นตาบานเลยว่าฉันเป็นลูกจีน  

ฝั่งรัฐบาลจีนเขามีนโยบายชัดเจนมากครับว่าคนจีนอยู่ที่ไหนก็เป็นคนจีน รัฐบาลจีนจะปกป้อง แล้วเขาก็ทำจริง ไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียว จำเรื่องลูกเรือจีนถูกฆ่ากลางแม่น้ำโขงได้ไหมครับ รัฐบาลจีนส่งทีมมาไล่ล่าหน่อคำ ซึ่งเป็นราชายาเสพติด ถึงจะใช้เวลาเป็นเดือนๆ ก็ล่าได้ แล้วสุดท้ายพากลับไปตัดสินโทษที่คุนหมิง ผิดกฎหมายข้ามชาติทุกข้อ เขาพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณรังแกคนจีนไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เขาจะมีหน่วยงานคอยปกป้อง แล้วถ้าคุณไปตามสมาคมจีนในประเทศตอนนี้ จะเห็นป้ายอันหนึ่งเขียนว่าศูนย์ช่วยเหลือคนจีน ซึ่งรัฐบาลจีนสนับสนุน ถ้าคนจีนเดือดร้อนเรื่องการเงินหรือเรื่องใดๆ ไปที่สมาคมพวกนี้ในท้องถิ่น ไปขอความช่วยเหลือได้เลย รัฐบาลดูแลประชาชนของเขาขนาดนี้ คุณจะไม่พอใจกับความเป็นพลเมืองเหรอ ถ้าผมมีสถานะคนจีน ผมก็ภูมิใจในความเป็นพลเมืองของผม เพราะว่าผมได้รับการดูแล ประเทศอื่นต่างหากที่ไม่ค่อยดูแลประชาชนของตัวเอง


การเข้ามาของจีนข้ามชาติรุ่นใหม่ ส่งผลกระทบอย่างไรต่อชุมชนคนจีนที่อยู่ในประเทศไทยแต่เดิมบ้างไหม

ตอนที่คนจีนเข้ามาใหม่ๆ ยุค 90s มันสร้างการแข่งขันมากขึ้นในหมู่คนจีนโพ้นทะเล ผมยกตัวอย่าง ถ้าคุณเคยไปเที่ยวเชียงใหม่ จะมีพวกทหารจีนคณะชาติเก่า พวกก๊กมินตั๋ง เรียกกันว่าจีนฮ่อ อยู่ตามดอยแม่สลอง บ้านรักไทย บ้างอยู่ที่แม่ฮ่องสอน พวกนี้ได้อานิสงส์จากไต้หวันจึงมีความจงรักภักดีต่อก๊กมินตั๋งมาโดยตลอด แต่ถ้าคุยกับลูกหลานของคนจีนเหล่านี้ อาจจะเป็นรุ่นสองรุ่นสาม เขาเห็นดีเห็นงามกับจีนแผ่นดินใหญ่เยอะขึ้น และเกิดการทะเลาะวิวาทกับคนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าจะด่าลูกว่าพวกมึงไม่จงรักภักดีต่อไต้หวัน ทั้งๆ ที่เขาส่งลูกหลานไปเรียนที่นั่น แต่คนจีนรุ่นใหม่จะบอกว่าจีนแผ่นดินใหญ่คืออนาคต มีแนวโน้มไปคบค้ากับคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ ปรับตัวเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น เกิดความขัดแย้งที่ชัดเจนมากครับระหว่างในกลุ่มจีนโพ้นทะเลรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่

ส่วนเจ้าสัวในบ้านเรา โอบกอดนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่แบบครึกครื้นเลย เขาป็นเหมือนสะพานเชื่อมไมตรีกับรัฐบาลไทยให้เสร็จสรรพ อำนวยความสะดวกให้ เชื้อเชิญให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น ตอนนี้ไต้หวันเองก็แข่งสู้ไม่ได้แล้ว เพราะเงินจากจีนมีเยอะกว่า


คนจีนหลายคนที่มาตั้งรกรากในไทยอาจกลืนกลายอัตลักษณ์ตัวเองกลายเป็นไทยไปหมดแล้ว การเข้ามาของจีนยุคหลังที่มีความชาตินิยม ภาคภูมิใจในความเป็นจีนมาก เป็นไปได้ไหมว่าอาจส่งผลให้เกิดการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ในกลุ่มจีนรุ่นก่อน

อิทธิพลของวัฒนธรรมจีนมันซึมลึกนะครับ ที่เราเคยเชื่อว่าคนจีนกลืนกลายเป็นคนไทย มันจริงบางส่วนเท่านั้น วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง อัตลักษณ์คือสิ่งที่เราใช้บอกว่าเราเป็นใคร แล้วเรามักจะบอกว่าเราเป็นใคร ก็ต่อเมื่อเราได้ประโยชน์สูงสุดกับการเป็นอะไร บางเวลามันอาจเป็นประโยชน์มากกว่าหากเราจะบอกว่าฉันเป็นจีน แล้วอย่าลืมว่าลูกจีนเองก็ไม่ได้ทิ้งวัฒนธรรมนะครับ เชงเม้งก็ยังทำ ยังไหว้เจ้า ยังเก็บภาษาไว้ได้ในระดับหนึ่ง เก็บเครือข่ายการค้าไว้ได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ไม่ใช่เรื่องยาก

ตอนนี้รัฐบาลจีนก็เข้ามามีบทบาทกำกับสมาคมหลายอย่างในบ้านเรา สมาคมที่เคยเป็นแซ่ตระกูลเริ่มลดความสำคัญลง สมาคมที่เคยเป็นชาติพันธุ์อย่างเช่นสมาคมแต้จิ๋ว สมาคมไหหลำ พวกนี้จีนรุ่นใหม่ไม่เอาเลย สมาคมจีนเดี๋ยวนี้ละลายเชื้อชาติออกไปหมด เพื่อให้ความเป็นจีนมาก่อน ในอดีตคนจีนไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นจีนนะครับ เขาจะบอกว่าฉันเป็นแต้จิ๋ว ฉันเป็นไหหลำ ความเป็นจีนมาทีหลัง แต่ตอนนี้ ความเป็นจีนต้องมาก่อน แล้วเขาได้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพ่อค้า


ภาพจาก ยศ สันตสมบัติ


มีคนตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่าวิธีการเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนมักมาในรูปแบบของ ‘ปฏิบัติการ’ เช่น การขยายสถาบันขงจื่อ มากกว่าจะส่งออกวัฒนธรรมผ่านสื่อหรือรูปแบบอื่นๆ ที่ประเทศส่วนใหญ่มักทำ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นแนวคิดรัฐบาลจีนอย่างไร

จีนก็ทำนะครับเรื่องการส่งออกภาพยนตร์อะไร ตั้งแต่ปี 2001 คุณเคยเห็นหนังเรื่อง ‘ฮีโร่’ (Hero) ไหม ที่เจ็ต ลี เล่น เป็นเรื่องของนักฆ่าที่ได้รับคำสั่งไปฆ่าจิ๋นซีฮ่องเต้ นั่นเป็นครั้งแรกที่จีนพยายามรื้อฟื้นคอนเซ็ปต์เรื่องเทียนเซี่ย (Tianxia) หรือการอยู่ใต้ปกครองของอำนาจนำ การเป็นปึกแผ่น ซึ่งเป็นนโยบายหลักของจีนที่ใช้อยู่  ตอนนี้

จีนสร้างภาพยนตร์จำนวนมาก ทุ่มเงินไปเยอะ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จแบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยประสบความสำเร็จในช่วง 70s และเกาหลีในปัจจุบัน จึงหันมาใช้วิธีขายตรง ลงไปในชุมชนจีนในประเทศต่างๆ แล้วติดต่อคนเหล่านี้ ดึงลูกหลานกลับมาประเทศจีน ให้รัฐบาลมณฑลเชิญคนที่ประสบความสำเร็จกลับไปเพื่อเชิดชูเกียรติ เอาชื่อเข้าไปบันทึกในหอเกียรติยศของมณฑล บอกว่านี่เป็นตัวอย่างของคนจีนที่ไปอยู่ต่างประเทศ ทั้งที่ๆ คนนั้นอาจเกิดนอกประเทศ ไม่รู้จักความเป็นจีนเลย พูดจีนก็ไม่ได้ แต่เรื่องหน้าตาสำหรับคนจีนเป็นเรื่องใหญ่ เขาเลยเกิดความรู้สึกดีกับความเป็นจีนของเขาขึ้นมา

จีนใช้ยุทธวิธีสร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวจีนหลายด้านมาก เวลาพูดถึงเส้นทางสายไหม จีนจะไม่ได้พูดถึงเรื่องการค้าอย่างเดียวนะครับ แต่พูดถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมจีน ความยิ่งใหญ่ของเจิ้งเหอซึ่งเป็นแม่ทัพเรือของจีน ความยิ่งใหญ่ทางการค้าที่จีนเคยมีมาก่อน บอกว่าเราเป็นพี่ใหญ่ในแถบทะเลจีนใต้มานานแล้ว เราช่วยเหลือทุกคน มีระบบระเบียบชัดเจน ในอดีตเราทำมาแล้ว เราทำอยู่ แล้วเราจะทำต่อ นี่คือสิ่งที่จีนพยายามบอกแก่คนทั่วโลกและลูกจีนทั่วโลกว่าเราคือรัฐแห่งอารยธรรม ซึ่งประเด็นพวกนี้ จีนทำได้ดีกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีเสียอีก


อะไรคือจุดตั้งต้นที่ทำให้จีนเริ่มสนใจจัดตั้งหน่วยงานดูแลลูกหลานจีนในต่างประเทศอย่างแข็งขันขนาดนี้

มันเป็นมิติทางประวัติศาสตร์ครับ จีนรู้ว่าคนจีนข้ามชาติมีประโยชน์มาตั้งแต่โกฏิปีแล้ว อย่าลืมว่าช่วงหนึ่งจีนส่งออกแรงงาน คนจีนไปขุดทองที่แคลิฟอร์เนีย เมื่อ 200 ปีที่แล้ว บ้างมาขุดคลองรังสิตที่บ้านเรา พวกนี้ส่งเงินกลับบ้าน สมัยจีนคณะชาติ ซุนยัตเซนก็มาเรี่ยไรเงินที่เยาวราช เขาเห็นมาโดยตลอดว่าคนจีนที่อยู่ทั่วโลกเป็นประโยชน์ต่อบ้านเกิดเมืองนอน จากประสบการณ์สั่งสมเป็น collective wisdom ทำให้เขารู้ว่าต้องดึงคนพวกนี้ให้กลับมาเป็นคนจีนให้ได้ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ทอดทิ้ง และจะพัฒนาเทคนิคในการดึงกลับมามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมคิดว่าบางส่วนก็ประสบความสำเร็จจริง


หากคนจีนรุ่นใหม่เข้ามาตั้งรกรากชุมชนในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏการณ์เหล่านี้มีโอกาสกลายเป็นประเด็นความมั่นคงในประเทศบ้างไหม

ประเด็นความมั่นคงทางการเมืองกับทางการทหารคงไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เพราะเราตามจีนมาตลอดอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงรัฐบาลลุงตู่ยิ่งเป็นเด็กดี ผมมองว่าจะเป็นประเด็นท้าทายทางเศรษฐกิจมากกว่า เพราะอย่าลืมว่าคนจีนที่มาบ้านเราเป็นผู้ประกอบการระดับล่างนะ พวกมือหนึ่งไปยุโรป อเมริกาหมด ถ้าคุณยังแข่งขันกับคนเหล่านี้ไม่ได้ จะไปแข่งกับคนอื่นก็ยากแล้ว

พูดในฐานะคนเป็นครู ไทยล้มเหลวด้านการศึกษาอย่างชัดเจนเลย เด็กไทยจบไปแข่งกับใครไม่ได้ คิดแต่จะเป็นลูกจ้างเขา เพราะระบบการศึกษาของเราสอนคนให้เป็นลูกจ้าง แต่จีนสอนคนให้เป็นผู้ประกอบการ ในโลกยุคปัจจุบันคุณต้องสามารถสร้างงานได้ด้วยตัวเอง แต่คนในบ้านเราไม่ค่อยคิดถึงเรื่องนี้กัน เราจึงไม่สามารถแข่งกับใครในโลกได้

นอกจากระบบการศึกษาเราล้มเหลว วิจัยเราก็ล้มเหลวมาโดยตลอด ตอนนี้ข้าวของเราให้ผลผลิตต่ำมาก ปีหนึ่งเรามีงานวิจัยด้านเกษตรกันเท่าไหร่ แต่ทำไมผลผลิตข้าวของเราต่ำ แพ้แม้กระทั่งเวียดนาม กัมพูชา ซึ่งมีงานวิจัยน้อยกว่าเรา มันเห็นชัดว่าศักยภาพในการแข่งขันของเราไม่ได้รับการวางแผนให้ดี ไม่ได้รับการเตรียมพร้อม ถ้าจะพูดถึงประเด็นจีนต้องเชื่อมโยงให้ถึงมิติการศึกษาและความรู้เหล่านี้ว่าเราจะปรับตัวอย่างไร จะรีสกิล อัปสกิลอย่างไร ไม่อย่างนั้นเราจะสู้ไม่ได้เลย


เท่าที่อาจารย์เห็น รัฐไทยมีแผนรับมือทุนนิยมจีนอย่างไร มีอะไรที่น่ากังวลบ้าง

เราไม่มีนโยบายชัดเจนว่าทิศทางการพัฒนาของเราจะไปทางไหน เรายึดมั่นอยู่กับการเป็นแรงงานรับจ้างผลิต แต่เราไม่มี Know-How หรือพัฒนาแบรนด์ของตัวเอง อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์เรารับจ้างผลิตอย่างเดียว แต่มาเลเซียที่รับเข้ามาพร้อมๆ กับเรามีแบรนด์เป็นของตัวเองแล้ว

เราไม่มีความพร้อม ไม่เคยคิดที่จะเป็นผู้ผลิตหรือเพิ่มประสิทธิภาพความรู้ของตัวเอง ในทางกลับกัน เราเลือกทำลายความรู้เดิมไปเรื่อยๆ เช่น เรื่องเกษตร เราเคยมีทุเรียนหลายสายพันธุ์ ตอนนี้เหลือไม่กี่สายพันธุ์ เพราะถูกทำลายไปพร้อมกับเมืองนนท์ที่เป็นแหล่งเชื้อพันธุ์ทุเรียนแหล่งใหญ่ของประเทศ เหลือสวนไม่กี่แห่งที่อยู่รอดได้ บ้างย้ายที่เพาะปลูกแล้วก็ปลูกได้แค่ไม่กี่สายพันธุ์ ข้าวก็เหมือนกัน ตอนนี้เราปลูกอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ ทั้งที่แต่ก่อนชาวนาไทยเป็นนักพันธุศาสตร์นะครับ ข้าวที่ดีที่สุดในประเทศอย่างข้าวหอมมะลิก็มีต้นตอมาจากชาวบ้านผลิตขึ้นมา มะม่วงพันธุ์ดีๆ ก็มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว รอกรมวิชาการเกษตรทำให้ตลอด การศึกษาสมัยใหม่แทบจะไม่ได้สร้าง input อะไรเท่าไหร่ รัฐไม่ได้ลงไปดูจุดแข็งจุดอ่อน สร้างนโยบายที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ เราตามและเลือกเป็นผู้ตามตลอด ตรงนี้ทำให้เราไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน


ที่ผ่านมา รัฐบาลจากการรัฐประหารมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน และดึงดูดการลงทุนจากจีนสูงขึ้นมากใน หากประเทศมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นฝั่งประชาธิปไตย แนวโน้มความใกล้ชิดและการลงทุนจากจีนจะเปลี่ยนไปไหม

วันนี้เรามีรัฐบาลประชาธิปไตยยังนะ (ยิ้ม) ผมคิดว่าคนไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปเยอะ เริ่มมองเห็นว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น ตอนนี้การเมืองอาจจะยังเป็นการเมืองแบบเก่า การเมืองแบบที่พูดถึงการแยกขั้วและการสลายขั้ว ซึ่งจริงๆ มันไม่มีขั้ว ทั้งหมดคือขั้วเดียวกัน คือขั้วบ้านใหญ่ เป็นการการเมืองแบบที่ไม่เคยเห็นหัวประชาชน ยกเว้นช่วงเลือกตั้งที่จะออกไปใช้เทคนิคในการหาเสียง หลอกให้ประชาชนมาลงคะแนนให้ แต่หลังจากนั้นแล้วมึงไม่ต้องมายุ่ง เรื่องของกู

แต่ว่าในอนาคตอันใกล้ ผมคิดว่าการเมืองเปลี่ยนแน่นอน นี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ที่การเมืองแบบบ้านใหญ่จะอยู่ได้ แล้วการเมืองใหม่จะเป็นการเมืองที่ตอบสนองต่อความคิดเห็น ความต้องการของประชาชนมากขึ้น หนึ่งในสิ่งที่ผมอยากเห็นนักการเมืองพูดถึงคือการสร้างอำนาจต่อรอง การต่างประเทศของเราต้องสร้างองค์กรภูมิภาคที่เป็นปึกแผ่น มีนโยบายชัดเจน ไทยเราเคยเป็นผู้นำอาเซียนนะครับ เราเป็นคนตั้งอาเซียนขึ้นมาสมัยคุณถนัด คอมันตร์ แต่ตอนนี้เราไม่ใช่แล้ว เรากลายเป็นผู้ตาม

ในช่วงรัฐบาลลุงตู่ กระทรวงการต่างประเทศของไทยสูญเสียศักยภาพไปเยอะมาก ผมคิดว่าสมัยก่อน การต่างประเทศของเราสามารถชี้นำทิศทางของภูมิภาคได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าในช่วงหลังๆ พูดง่ายๆ ว่าฮุนเซนเสียงดังกว่าเราอีก เราเลือกจะไม่ทำอะไรกับกรณีรัฐบาลทหารพม่า ทั้งที่กรณีนี้จะสร้างเกียรติภูมิให้กับเรา แล้วเราจะกลายเป็นผู้นำ สร้างดุลอำนาจ ต่อรองกับมหาอำนาจได้อย่างไร

ตอนนี้อเมริกากลับมาสนใจลุ่มน้ำแม่โขง สนใจภูมิภาคของเราอย่างเต็มรูปแบบ แต่เรายังไม่ได้ใช้โอกาสที่ดีนี้ฟื้นนโยบายแบบ active engagement เรายังเป็น passive engagement ใต้อาณัติจีน ทำให้อยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ แล้วจีนเป็นประเทศได้คืบจะเอาศอก ถ้ามีคนเพลี่ยงพล้ำปุ๊บ เขารุกทันที เห็นลาวไหมครับ ตอนนี้อยู่ใต้อาณัติจีนเต็มรูปแบบ เพราะไปพึ่งพิงเขามากจนเกินไป กัมพูชาซะอีกที่ยังมีความพยายามรักษาระยะห่างและสร้างอำนาจต่อรอง โดยเฉพาะกับยุโรปมากขึ้น พม่านี่ไม่ต้องพูดถึง เพราะถูกโลกประณามอยู่ ส่วนไทยแทนที่จะมีความเป็นตัวของตัวเอง กลับเลือกยืนแบบพม่า อันนี้แปลกมาก


ในสายตาของอาจารย์ รัฐบาลควรเริ่มเข้ามาแก้ไขหรือปรับความสัมพันธ์กับจีนจากส่วนไหน

มันต้องทำหลายอย่างพร้อมกันครับ คือนโยบายต่างประเทศต้องชัดเจน นโยบายเศรษฐกิจต้องชัดเจน ระบบกฎหมายต้องชัดเจน กับจีนถ้าย่อหย่อนเมื่อไหร่ เขารุกเข้ามาตลอด คุณลองไปดูที่ระยอง ทิ้งกากสารเคมีเลวร้ายมาก ทำลายประเทศตลอด เป็นผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเลวร้ายที่สุด คุณจะต้องใช้เงินอีกกี่ล้านล้านเพื่อมาเยียวยาสิ่งสกปรกจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ คุณใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบมักง่าย เอาคนเข้ามาลงทุน แล้วก็เอาเศษเงินไปเท่านั้นเอง นโยบายแบบนี้ต้องเลิก แต่จะเลิกยังไงในเมื่อทุนผูกขาดยังติดอยู่กับรัฐบาล ตอนนี้เราแทบจะมองไม่เห็นหนทางไปไหนต่อเลย ยกเว้นว่ารัฐบาลใหม่ตั้งใจจะมาแก้ไขประเด็นนี้จริงๆ ซึ่งส่วนตัวผมก็ไม่คาดหวังเท่าไหร่ เพราะใครอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม ใครอยู่กระทรวงพลังงาน เราก็เห็นอยู่ว่าหน้าเก่าทั้งนั้น

นักวิชาการก็เป็นเหมือนกับหมาน้อยเห่าช้าง เขาไม่ค่อยฟังกันหรอก เวลาผมไปพูดเรื่องจีน ก็ถูกสถานทูตจีนห้ามขึ้นเวทีงานเสวนาหลายครั้ง งานไหนที่เขาเป็นเจ้าภาพ เขาจะให้เอาชื่อผมออก บอกว่าผมพูดเรื่องอ่อนไหว เกี่ยวพันกับภาพลักษณ์ของจีน ซึ่งผมบอกว่าผมไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบภาพลักษณ์ของจีน ถ้าคุณทำอะไรนอกประเทศแล้วเกิดผลกระทบ คุณไม่รับผิดชอบ ผมมีหน้าที่ต้องพูดและทำให้คนอื่นเห็น เวลาพูดเรื่องสวนกล้วยจีนในลาว เรื่องผลกระทบของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องทุนจีนในพม่า คุณเอาแต่ปฏิเสธ บอกว่ารัฐบาลจีนไม่เกี่ยวข้อง แต่อย่าลืมว่าทุนพวกนี้มาภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลจีนตลอด รัฐบาลจีนปฏิเสธที่ต้องรับผิดชอบไม่ได้หรอกครับ

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์เขา เราต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของเราด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน แต่ที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่ตรงนี้กันน้อย อันนี้เป็นปัญหา


ปัจจุบัน จีนดูเหมือนเป็นตัวร้ายในสายตาใครหลายคน เราจะอยู่ร่วมกับทุนจีนต่อไปอย่างไร

ผมไม่ได้มองจีนเป็นตัวร้ายนะ ผมมองจีนเป็นพ่อค้าที่ดี ที่เก่ง แล้วก็เป็นผู้ประกอบการที่ถนัดในการสร้างโอกาส สร้างความได้เปรียบ ถ้ามองในแง่ร้ายจนเกินไป เราจะเกิดการต่อต้านจีน ซึ่งเป็นผลเสีย เพราะคุณไม่มีทางสู้จีนได้ ในทางเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าไม่มีประเทศไหน คนกลุ่มไหนแข่งขันกับจีนได้

ดังนั้นในฐานะที่เป็นประเทศเล็ก สิ่งที่เราทำได้ไม่ใช่การไปเกลียดเขา แต่ควรเรียนจากเขา แสวงหาโอกาสในการเรียนรู้เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของตัวเราเองให้ดีขึ้น ผูกมิตรกับเขาในสิ่งที่ถูกและควร แต่ไม่เปิดโอกาสให้จีนเข้ามาฉกฉวยโอกาส สร้างความได้เปรียบจนเกินไป

เราอาจปรับนโยบายชวนให้คนจีนเข้ามาทำการค้าและอยู่ในบ้านเราอย่างถาวรมากขึ้น ผมอยากชี้ชวนให้เห็น สิงคโปร์ ซึ่งทำนโยบายดีมาก เขาให้คนจีนเข้าประเทศมาเป็นล้านคนนะครับ ทั้งที่พลเมืองสิงคโปร์มีแค่สาม ล้าน แล้วคนสิงคโปร์ ลึกๆ แล้วเกลียดคนจีน มองว่าคนจีนมาแย่งงาน มาเป็นคู่แข่ง แต่นโยบายของรัฐบาลพยายามเชิญชวนให้คนจีนเข้ามาอยู่ อนุญาตให้ตั้งรกรากแบบถาวร เพื่อมาทำการค้า สร้างรายได้และเสียภาษีให้กับประเทศของเขา แล้วสิงคโปร์กลายเป็นคนที่ไปร่วมทุนกับจีนในการออกไปลงทุนที่อื่นๆ ด้วย

เราควรเรียนรู้จากสิงคโปร์อย่างยิ่ง ต้องปรับเปลี่ยนท่าที คิดแบบผู้ประกอบการให้มากขึ้น เราจะไปคิดแบบชาตินิยมโบราณไม่ได้ พื้นที่เนี่ย ถ้าไม่สร้างรายได้ ใครจะเอาไปก็ปล่อยให้เอาไปเถอะ เราต้องคิดถึงโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับคนของเรามากขึ้น นี่เป็นจุดที่ผมคิดว่าไทยต้องตั้งสติให้ได้ ปรับตัวทั้งในเชิงนโยบาย การศึกษา กฎระเบียบ มีแนวทางการพัฒนาให้ชัดเจน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save